ชุมชนบ้านเกาะมุกด์เป็นชุมชนประมงที่มีการจัดการด้านท่องเที่ยวทางทะเลในทะเลอันดามัน ชุมชนสามารถผสานวิถีชุมชน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการดำเนินธุรกิจ ในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้อย่างกลมกลืนกัน
ความเป็นมาของชื่อเกาะมุกด์ เกี่ยวข้องกับตำนานอย่างน้อย 3 สำนวน ดังต่อไปนี้
สำนวนที่ 1 เฒ่าเมง แห่งหมู่บ้านชายทะเล มีลูกสาวชื่อ นางมุก บุตรชายพระยาลันตามาสู่ขอ นางมุก และตกลงกำหนดวันแต่งงาน ถึงวันแต่งขบวนเรือขันหมากยกมาถึงทำพิธีต่าง ๆ เสร็จแล้ว เจ้าบ่าวก็พาเจ้าสาวกลับเกาะลันตา ระหว่างทางถูกโจรสลัดปล้น ผู้คนในกระบวนเรือบ่าวสาวร่วมกันต่อสู้ แต่สู้ไม่ได้ล้มตายไปหลายคนรวมทั้ง เฒ่าเมง และ นางมุก ร่างของทั้งสองคนกลายเป็นเกาะกลางทะเล ส่วนข้าวของในเรือก็กระจัดกระจายไปเป็นเกาะต่าง ๆ เช่น เกาะกระดาน เกาะไหเกาะเชือก เกาะแหวน เกาะม้า (วรรณา นาวิกมูลและคณะ, 2547)
สำนวนที่ 2 เกาะมุกตามตำนานเป็นชื่อของผู้หญิงสวยคนหนึ่งที่เกิดจากครอบครัวยากจนแล้วหนีพ่อแม่ไปได้สามีร่ำรวย เมื่อพ่อแม่ทราบข่าวว่าลูกจะมาก็ดีใจเตรียมข้าวของไว้ต้อนรับ แต่ลูกแกล้งทำเป็นไม่รู้จักพาครอบครัวแล่นผ่านบ้านพ่อแม่เพราะกลัวสามีจะรู้ว่าตนเองมีฐานะยากจน พ่อแม่เลยเสียใจร้องไห้และสาปแช่งว่า ถ้าผู้หญิงคนนี้ไม่ใช่ลูกของตนก็ขอให้เรือแล่นไปด้วยความโชคดีแต่ถ้าผู้หญิงคนนี้เป็นลูกของตนก็ขอให้เรือจงพบความวิบัติ เมื่อเรือแล่นไปก็เกิดพายุถล่มจนเรือจมข้าวของเครื่องใช้ที่อยู่ในเรือก็เกิดเป็นหมู่เกาะต่าง ๆ คือ เกาะมุก
สำนวนที่ 3 สมัยก่อนมีการติดต่อค้าขายกันโดยเรือสำเภา คนยากจนมักสมัครไปเป็นลูกน้องของเรือสำเภาเพราะค่าแรงดี นายลิบงก็ได้ไปสมัครด้วยเช่นกันทำงานบนเรือติดตามเรือไปทุกหนแห่ง จนเวลาผ่านไปหลายปี นายลิบงก็ได้แต่งงานกับลูกเจ้าของเรือสำเภา อยู่กันอีกนานหลายปี จนกระทั่งเจ้าของเรือสำเภาเสียชีวิต กิจการทุกอย่างจึงตกอยู่ในความดูแลของนายลิบง เรือสำเภาแล่นมาเรื่อย ๆ จนถึงบ้านเกิดของนายลิบง ฝ่ายพ่อแม่ของนายลิบงเมื่อรู้ว่าลูกชายกลับมาจึงหาข้าวปลาอาหารมาให้ลูกชายด้วยความคิดถึง เมื่อมาถึงเรือสำเภาก็กวาดสายตาหาลูกชาย ฝ่ายนายลิบงเมื่อเห็นพ่อแม่แต่งตัวซอมซ่อมอซอจึงอับอายนางมุกภรรยาและลูกน้องที่มีพ่อแม่ยากจน
ฝ่ายพ่อแม่เมื่อเห็นนายลิบงจึงเข้าไปกอดแต่กับถูกนายลิบงผลักจนล้มลง แล้วด่าว่าไม่รู้จักพูดจาดูถูกสารพัด แล้วชวนนางมุกขึ้นเรือกลับ ฝ่ายบิดาเมื่อเห็นเรือออกไปด้วยความโกรธ จึงชี้ไปที่เรือสำเภาแล้กล่าวว่า ถ้าคน ๆ นั้นเป็นลูกชายของตนจริงขอให้เรือจงอับปรางแต่ถ้าไม่ใช่จงแล่นไปด้วยดี
เรือสำเภาเมื่อแล่นถึงกลางทะเลก็เกิดพายุใหญ่ ทำให้เรือจมลงกลางทะเล เกิดเป็นหมู่เกาะต่าง ๆ นายลิบงเมื่อเสียชีวิตก็กลายเป็นเกาะลิบง ส่วนนางมุกตอนนั้นท้องแก่ใกล้คลอดแล้ว เมื่อเสียชีวิตก็กลายเป็นเกาะมุก ทำให้ลักษณะของเกาะมุกมีลักษณะคล้ายคนท้องนอนอยู่ ส่วนหมูก็กลายเป็นเกาะหมูหรือเกาะสุกร เชือกผูกเรือก็กลายเป็นเกาะเชือก ไหงก็ลอยไปกลายเป็นเกาะไหง แก้วแหวนเงินทองก็กลายเป็นเกาะแหวน ซากเรือสำเภาก็กลายเป็นเกาะเภตรา ส่วนกระดานเรือก็กลายเป็นเกาะกระดาน ส่วนม้าก็กลายเป็นเกาะม้าส่วนเกาะเหลาเหลียงไม่ทราบแน่ชัด ส่วนรอกที่อยู่บนเรือก็กลายเป็นเกาะรอก
ส่วนของที่พ่อแม่ของนายลิบงนำมาก็เกิดปรากฎการณ์ต่าง ๆ เช่น มะม่วงที่เขวี้ยงไปตอนสาปแช่งก็กลายเป็นต้นมะม่วงกิ่งที่ยื่นออกทางทะลมีรสชาติเปรี้ยวหมายถึงพ่อที่มีแต่ความโกรธ ส่วนกิ่งที่ยื่นมาทางฝั่งมีรสชาติหวานหมายถึงแม่ที่ยังรักยังห่วงลูกและสถานที่แห่งนั้นจึงเรียกว่าพระม่วงสืบมาจนทุกวันนี้
ชุมชนบ้านเกาะมุกด์เป็นชุมชนประมงที่มีการจัดการด้านท่องเที่ยวทางทะเลในทะเลอันดามัน ชุมชนสามารถผสานวิถีชุมชน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการดำเนินธุรกิจ ในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้อย่างกลมกลืนกัน
ชาวเล เป็นคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินในพื้นที่บ้านเกาะมุกด์ ราว 100 - 150 ปี ก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มชาวเลมาจากเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ตั้งถิ่นฐานบริเวณหัวแหลม เนื่องจากเป็นจุดที่ออกทะเลสะดวกและปลอดภัยในช่วงฤดูมรสุมต่อมามีชาวมาลายูหลายครอบครัวอพยพมาจากไทรบุรี เปอร์ลิส กลันตัน หนีภัยสงครามมาตั้งถิ่นฐาน ประมาณ 30 ครัวเรือน บริเวณอ่าวควน หรือ ตะโล๊ะลีเมา โดยอยู่ร่วมกับชาวเลที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว นอกจากนี้ชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่นี้ด้วยเช่นกัน ชาวจีนกลุ่มแรกเริ่มบุกเบิกการทำสวนและมีการติดต่อค้าขายกับฝั่งอำเภอกันตัง ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญในสมัยนั้น จากเดิมที่มีการตั้งบ้านเรือนชิดติดกันเป็นกลุ่มบริเวณหาดด้านตะวันออกของเกาะ เมื่อบริเวณหัวแหลมมีประชากรอาศัยหนาแน่นมากขึ้น มีการกระจายตัวไปตามอ่าวต่าง ๆ และเริ่มขยายกลุ่มเครือญาติอาศัยอยู่ในอ่าวเดียวกัน
ตั้งแต่อดีต ชุมชนบ้านเกาะมุกด์ มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติหลากหลาย ทำให้คนหลากหลายกลุ่มทั้งคนจีน ไทยพุทธ ไทยมุสลิม กลุ่มลูกเรือประมง ต่างอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ เมื่อมีกลุ่มคนหลากหลายจึงจำเป็นต้องมีการจัดองค์กรชุมชน ทั้งที่เป็นโครงสร้างที่จัดขึ้นโดยรัฐและผู้นำตามธรรมชาติ สมัยก่อนผู้ที่ได้รับเลือกเป็นผู้นำส่วนใหญ่เป็นคนกว้างขวาง มีพรรคพวกเพื่อนฝูงมากมาย อาทิ ผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ติดต่อข้อมูลข่าวสารกับหน่วยงานราชการ ผู้นำทางศาสนา หรือ โต๊ะอิหม่าม คือ ผู้นำทางจิตวิญญาณ คอยดูแลตักเตือนให้คนมุสลิม ปฏิบัติตามหลักศาสนา ผู้นำตามธรรมชาติ คือ ผู้ที่ได้รับการยอมรับนับถือจากคนในชุมชน มีบารมีในการแก้ปัญหาต่าง ๆ สามารถไกล่เกลี่ยสร้างความเข้าใจระหว่างคู่กรณี โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย เช่นเดียวกับปัจจุบันเว้นแต่เป็นโทษหนัก ประกอบกับชุมชนเกาะมุกด์ในอดีตห่างไกลจากที่ตั้งอำเภอ การเดินทางค่อนข้างลำบาก จึงต้องใช้การจัดการภายในเป็นหลัก โดยเหตุที่มีจำนวนประชากรน้อยเพียงไม่กี่ครอบครัวจึงรู้จักกันหมด
การพักผ่อนหย่อนใจของชุมชนเกาะมุกด์ เคยมีโรงภาพยนตร์ 2 โรง ได้แก่ โรงหนังโกแท่ง กับ โรงหนังโกลึก จะมีคณะหนังเร่ของคณะเทพนภาและคณะสาครมาฉาย โดยจะภาคเสียงเอง นอกจากนี้มีลิเกจากเพชรบุรี ชื่อคณะสมศักดิ์ศิลป์ รองเง็งของเกาะมุกด์หัวหน้าคณะชื่อบาหยัน มีรำวงชื่อมุกดาโชว์มีนางงาม 12 คน ในอดีตเกาะมุกด์เคยปลูกข้าวกินกันเองภายในเกาะด้วยการทำไร่บนเนินควนและทำบริเวณที่ราบบางส่วน ซึ่งสามารถหล่อเลี้ยงคนในเกาะได้จำนวนหนึ่ง (มยุรา ปะลาวัน, 2550)
เหตุการณ์คลื่นสึนามิซัดเข้าชายฝั่งบ้านเกาะมุกด์ วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของชุมชนเป็นอย่างมาก พื้นที่บริเวณริมฝั่งได้รับความเสียหายมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ บ้านเรือนและทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก รวมถึงเครื่องยนต์เรือ เครื่องมือประมง ชุมชนได้รับผลกระทบ 29 ครัวเรือน จำนวน 909 คน เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบอย่างความเสียหายข้างเคียง คือ ด้านการประกอบอาชีพต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมและซื้อหาเรือใหม่เกือบทั้งหมด เป็นช่วงเวลาที่แต่ละครอบครัวต้องแบ่งภาระอย่างมากสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือนริมชายฝั่งเสียหาย ด้านจิตใจสมาชิกชุมชนมีความวิตกและหวาดผวากับเหตุการณ์ (มยุรา ปะลาวัน, 2550)
บ้านเกาะมุกด์ หมู่ที่ 2 ตำบลลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอกันตัง ห่างจากฝั่งกันตังราว 40 กิโลเมตร เนื้อที่ 6,635 ไร่ เกาะมุกด์ล้อมรอบด้วยทะเลอันดามัน ด้านตะวันออกของเกาะเป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน ลักษณะพื้นที่เป็นผืนดินรูปสามเหลี่ยมยื่นไปในทะเล บริเวณขอบพื้นที่ล้อมรอบด้วยหาดทรายขาวตลอดแนว ด้านตะวันตกเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล คือ ถ้ำมรกต เกิดจากการยุบตัวของเพดานถ้ำหินปูน ทำให้เกิดลักษณะถ้ำทะเล แคบยาวประมาณ 80 เมตร แต่เมื่อเข้าไปภายในเป็นหาดทรายขาวซ่อนตัวภายในถ้ำ ด้านบนเพดานถ้ำเปิดโล่งเพราะเกิดการยุบตัวของลักษณะภูมิประเทศแบบคาสต์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน
ชุมชนบ้านเกาะมุกด์ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุรตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงเดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม ในช่วงนี้เป็นฤดูมรสุม และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ราวเดือนกุมภาพันธ์ - ต้นเดือนพฤษภาคม ช่วงนี้อาศัยค่อนข้างร้อนอบอ้าว
ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย รายงานสถิติจำนวนประชากร บ้านเกาะมุกด์ หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เดือนธันวาคม 2566 ประกอบด้วย จำนวนหลังคาเรือน 701 หลังคาเรือน จำนวนประชากรชาย 943 คน จำนวนประชากรหญิง 932 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 1,845 คน
ชุมชนบ้านเกาะมุกด์ ประกอบอาชีพหลักคือ การทำการประมงพื้นบ้านและอาชีพเกษตรกรรม ปลูกยางพารา นอกจากนี้มีการค้าขายและการรับจ้าง รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากการท่องเที่ยวในชุมชน บริเวณท้องทะเลรอบ ๆ เกาะมุกเป็นพื้นที่ที่ประมงพื้นบ้านออกหาสัตว์ทะเล ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลเกาะมุกด์ ทำให้อุดมด้วยทรัพยากรทางทะเลมากมาย เช่น กุ้ง หอย ปู ปลาชนิดต่าง ๆ หมึก ซึ่งการประกอบอาชีพประมงก่อเกิดภูมิปัญญาการทำเครื่องมือการประมง เช่น ลอบหมึกหรือไซส์หมึก อวนปลาทู อวนปู อวนลอย อวนปลากระบอกใหญ่ อวนปลากระบอกเล็ก อวนปลาทราย เหล็กแทงโวยวาย เป็นต้น
บ้านเกาะมุกด์ เป็นชุมชนประมงดังนั้น วัฒนธรรมวัฒนธรรมความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับอาชีพประมง จึงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างขวัญและกำลังใจในการออกทะเลให้แก่สมาชิกของชุมชน พิธีกรรมได้แก่ พิธีปูหยาเรือ หรือ เรียกขวัญเรือเป็นการทำบุญเลี้ยงข้าว มีแกงแพะ ข้าวเหนียวเหลือง ข้าวเหนียวขาว และผูกผ้าสีที่หัวเรือ พิธีปูหยาเล เรียกของในทะเล โดยการทำพิธีเซ่นไหว้ท้องทะเล และให้ทุกคนหยุดทำการประมง หยุดจับสัตว์น้ำทุกชนิดเป็นเวลา 3 วัน พิธีตาเลาะบาหลา หรือ พิธีลอยเรือเป็นการตกแต่งหรือให้สวยงามประดับด้วยดอกไม้ อาหารคาวหวาน เงินทอง ตัดเล็บตัดผม ใส่เรือลอยทิ้งไปในทะเลถือเป็นการปล่อยเคราะห์ให้ออกไป
สมาชิกชุมชนบ้านเกาะมุกด์นับถือศาสนาอิสลาม วัฒนธรรมอิสลามจึงเป็นวิถีชีวิตของชุมชน การปฏิบัติตนตามหลักคำสอนของศาสนาเป็นสิ่งที่สมาชิกของชุมชนดำเนินอย่างไม่บกพร่อง วัฒนธรรมอิสลามของชุมชนประกอบด้วย การละหมาดประจำสัปดาห์ พิธีเข้าสุหนัต นิกะห์ การถือศีลอด วันฮารีรายอ
ภาษาถิ่นใต้ เกาะมุกด์ จังหวัดตรัง
มยุรา ปะลาวัน. (2550). การดำรงอยู่ของกลุ่มอาชีพในชุมชนผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิ : กรณีศึกษากลุ่มเครื่องแกงตำมือบ้านเกาะมุกด์ ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง. ม.ป.ท.
วรรณา นาวิกมูล, เสาวณิต วิงวอน, กุลวดี มกราภิรมย์, อิราวดี ไตลังคะ และ วัชราภรณ์ อาจหาญ. (2547). ชื่อบ้านนามเมืองจังหวัดตรัง: รายงานการวิจัย. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาวรรณคดี.
เกาะมุกด์ชาวเลทัวร์ ตรัง ถ้ำมรกต ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์. (2012). ประวัติความเป็นมาชื่อเกาะต่าง ๆ. ค้นจาก : http://www.kohmookhomestaytour.com
องค์การบริหารส่วนตำบลกันตังใต้. (2562). สภาพและข้อมูลพื้นฐาน. ค้นจาก : http://www.kohlibong.go.th/general1.php