ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่มีวิวัฒนาการการสร้างรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรที่มีอยู่ในท้องถิ่นสู่พืชเศรษฐกิจหลักที่มีชื่อสียงของชุมชน
ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่มีวิวัฒนาการการสร้างรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรที่มีอยู่ในท้องถิ่นสู่พืชเศรษฐกิจหลักที่มีชื่อสียงของชุมชน
ประวัติการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของประชากรบ้านไร่ในนั้น พบว่า ประชากรส่วนใหญ่มีภูมิลำเดิมมาจากจังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา อุดรธานี พัทลุง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพังงา โดยวัตถุประสงค์ในการเคลื่อนย้ายเข้ามาสร้างบ้านเรือนที่บ้านไร่ในนั้นก็เพื่อเข้ามาหาพื้นที่ทำกินและทำสวนกาแฟเป็นหลัก ช่วงแรกเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านนั้นนับได้ว่าค่อนข้างอัตคัดและยากลำบากทั้งการคมนาคม เศรษฐกิจและวิถีชีวิต เนื่องจากยังไม่มีถนน ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกประเภท น้ำสำหรับดื่มกินก็ต้องพึ่งพาน้ำจากลำคลอง อาศัยตะเกียงน้ำมันก๊าดให้แสงสว่าง และหาอาหารจากธรรมชาติเพื่อประทังชีพ
บ้านไร่ในมีพื้นที่กว่า 15,985 ไร่ ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาระหว่างแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา และอุทยานแห่งชาติแหลมสน ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา บริเวณโดยรอบถูกปลกคลุมด้วยป่าไม้หนาแน่น มีคลองนาคาและคลองเรือเป็นลำน้ำธรรมชาติสายสำคัญไหลผ่าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ชาวบ้านนำมาใช้ในการการเกษตร โดยเฉพาะไร่กาแฟ สภาพภูมิอากาศแบ่งเป็น 2 ฤดูกาล คือ ฤดูฝน และฤดูร้อน
ในชุมชนมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม คือ สำนักสงฆ์บ้านไร่ใน เป็นสถานศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญของคนในชุมชน นักท่องเที่ยวที่มาถึงจะไปกราบนมัสการหลวงปู่ทวดเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ ภายในชุมชนยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ศูนย์เรียนรู้พลับพลึงธาร แหล่งสำรวจและกระจายพันธุ์พลับพลึงธาร ศึกษาวิธีการขยายพันธุ์ การเพาะเลี้ยง วัสดุเพาะชำ วิธีการเก็บรักษาพันธุกรรม ทั้งในและนอกถิ่นอาศัย รวมถึงการศึกษารูปแบบการปลูกและทดลองปลูกต้นกล้า เพื่อฟื้นฟูคืนชีวิตและเพิ่มจำนวนพลับพลึงธารกลับคืนสู่ธรรมชาติ รวมถึงจุดอนุรักษ์พลับพลึงธารคลองเรือ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เป็นจุดชมพลับพลึงธารและให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมกันปลูกและฟื้นฟูต้นพลับพลึงธาร
รายงานสิถิติจำนวนประชากรองค์การบริหารส่วนตำบลนาคา หมู่ที่ 7 บ้านไร่ใน ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 157 ครัวเรือน 470 คน ประชากรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 นับถือศาสนาอิสลามและร้อยละ 20 นับถือศาสนาพุทธ
ปัจจุบันชาวบ้านไร่ในส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก พืชเศรษฐกิจ คือ กาแฟสายพันธุ์โรบัสตา โดยการปลูกกาแฟของชาวบ้านไร่ในนั้นมักจะทำบนพื้นที่ที่มีความราบเรียบเสมอกัน และบางส่วนมักจะปลูกแซมในสวนที่มีการปลูกพืชชนิดอื่นอยู่ก่อนแล้วในลักษณะของการทำสวนแบบผสมผสาน เช่น ยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน และเพื่อให้ต้นกาแฟเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ จะมีกรรมวิธีการปลูกเฉพาะ คือ จะต้องปลูกในระยะห่าง 3x3 เมตร จะทำให้ต้นกาแฟได้ผลผลิตที่มีคุณภาพในปริมาณสูงสม่ำเสมอทุกปี
อนึ่ง นอกเหนือจากเมล็ดกาแฟสดแล้ว บ้านไร่ในยังมีเมล็ดกาแฟคั่วหลากหลายรูปแบบกรรมวิธี ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดโทนคั่วด้วยแก๊ส เมล็ดโทนคั่วด้วยถ่าน คั่วด้วยแก๊สบรรจุถุง คั่วด้วยถ่านบรรจุถุง กรองคั่วด้วยถ่านบรรจุถุงกระดาษ ซึ่งการคั่วเมล็ดกาแฟแต่ละแบบจะมีราคาขายที่แตกต่างกัน ดังนี้
- ผลิตภัณฑ์แบบเมล็ดโทนคั่วด้วยแก๊ส ราคา 135 บาท/ถุง
- ผลิตภัณฑ์แบบเมล็ดโทนคั่วด้วยถ่าน ราคา 125 บาท/ถุง
- ผลิตภัณฑ์แบบคั่วบดด้วยแก๊ส บรรจุถุง ราคา 175 บาท/ถุง
- ผลิตภัณฑ์แบบคั่วบดด้วยถ่าน บรรจุถัง ราคา 125 บาท/ถุง
- ผลิตภัณฑ์แบบกรองคั่วด้วยถ่าน บรรจุถุงกระดาษ ราคา 450 บาท/ถุง
สำหรับช่องทางการจำหน่ายและตลาดสำหรับรองรับผลผลิตกาแฟบ้านไร่ในนั้น กาแฟคั่วบดจะมีกลุ่มลูกค้าใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยทํางานในชุมชน หน่วยงานราชการ แบบถุงชงจะขายกับลูกค้าทั่วไปทั้งในและนอกพื้นที่ สำหรับชื้อเป็นของฝาก ส่วนผลิตภัณฑ์แบบถุงชงจะฝากขายตามร้านขายของชำ หน่วยงานราชการ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรอำเภอสุขสำราญ
การมีไร่กาแฟ และการแฟคั่วบดเกิดขึ้นในชุมชน ส่งผลให้เกิดการก่อสร้างร้านกาแฟเป็นที่พักผ่อนหน่อยใจแก่ผู้ชื่นชอบการดื่มกาแฟ เชื่อมโยงเครือข่ายการท่องเที่ยวในการจำหน่ายสินค้า เกิดรายได้จากการขาย สมาชิกกลุ่มผู้ปลูกกาแฟมีงานทำนอกเหนือจากฤดูกาลการปลูกเมล็ดกาแฟ นับว่าเป็นการนำวัตถุดิบที่มีภายในชุมชนมาเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้และมีงานทำ
บ้านไร่ในมีประเพณีสำคัญที่จะต้องจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ งานวันกตัญญู งานประเพณีลากพระ (ชักพระ) ซึ่งจัดในช่วงวันออกพรรษา ประเพณีแห่เทียนพรรษา และงานประเพณีรับส่งตา–ยาย
- ประเพณีสงกรานต์ ในวันนี้จะมีการทำบุญตักบาตรถือว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเอง และอุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญแบบนี้มักจะเตรียมไว้ล่วงหน้า นำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่สำนักสงฆ์บ้านไร่ใน นอกจากนี้ยังการสรงน้ำพระ และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า วันกตัญญู
- ประเพณีลากพระ (ชักพระ) ประเพณีลากพระหรือชักพระเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวใต้ที่ยึดถือปฎิบัติกันมาอย่างยาวนาน โดยการที่พุทธศาสนิกชนพร้อมใจกันอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่วางอยู่บนพาหนะ เช่น เรือ รถ หรือล้อเลื่อนที่เรียกว่า “พนมพระ” แล้วพากันแห่แหนชักลากไปตามถนนหนทาง
- ประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นงานประเพณีที่รวมความผูกพันของชุมชน เริ่มตั้งแต่การที่ชาวบ้านร่วมบริจาคเทียนเอามาหลอมหล่อเป็นเทียนเล่มใหญ่เล่มเดียวกัน เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่คณะไปในตัว การสรรหาภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีฝีมือทางช่าง มีความรู้ ความชำนาญในเรื่องการทำลวดลายไทย การแกะสลักลวดลายลงบนต้นเทียน การทำเทียนให้เป็นลายไทยแล้วนำไปติดบนต้นเทียน การประดับด้วยผ้าฝ้าย ผ้าไหม ดอกไม้สด ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของช่างในท้องถิ่น
- งานประเพณีรับส่งตา–ยาย หรือเรียกว่า ประเพณีสารทเดือนสิบ จะมีการจัดงานทั้งสิ้น 2 วัน คือ วันรับ (วันหมฺรับเล็ก) ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และวันส่ง (วันหมฺรับใหญ่) ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 วันรับตายายลูกหลานจะต้องเตรียมปิ่นโต ข้าวปลาอาหาร ของคาว ของหวาน และดอกไม้ ธูปเทียน ผลไม้ ไปทำบุญที่วัด สิ่งที่ต้องเตรียมเป็นพิเศษเพื่อรับตายาย คือ ถาดบิน ซึ่งในถาดประกอบด้วยอาหารคาวหวาน ผลไม้ ดอกไม้ ธูปเทียน วันส่งตายายลูกหลานต้องเตรียม ปิ่นโต ข้าวปลาอาหาร ของคาว ของหวาน และดอกไม้ ธูปเทียน ผลไม้ ไปทำบุญที่วัด และสิ่งของสำหรับส่งตายาย มีข้าวสาร กะปิ น้ำตาล น้ำปลา เกลือ ของแห้งต่าง ๆ และเงินจำนวนหนึ่ง ในวันนี้ลูกหลานบางคนจะถือโอกาสนำกระดูกผู้ล่วงลับไปสวดบำเพ็ญกุศล หลังจากนั้นอาจมีการทอดผ้าป่าสามัคคี ซึ่งกิจกรรมนี้อาจมีหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับความศรัทธาของแต่ละบุคคล
ภูมิปัญญาการผลิตกาแฟบ้านไร่ใน
- การเพาะปลูก จะปลูกกาแฟในที่ราบเสมอกัน โดยจะมีทั้งที่ปลูกแซมในสวนผลไม้ในลักษณะของการทำสวนผสม ปลูกในที่ดินข้างบ้าน และที่ปลูกในไร่ขนาดใหญ่โดยเฉพาะ กาแฟจะปลูกในระยะห่างคือ 3x3 เมตร เพื่อให้ต้นกาแฟเจริญเติบโตอุดมสมบูรณ์ใส่ปุ๋ยเคมีสลับกับปุ๋ยชีวภาพ ตัดแต่งกิ่งให้สวยงามอยู่ตลอด หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
- วิธีการเก็บเกี่ยว จะเลือกเก็บเกี่ยวเฉพาะลูกที่สุกแดงจัด นํามาล้างน้ำ แยกเมล็ดที่ลอยน้ำออกต่างหาก ตากไว้บนลานปูนที่สะอาด หรือตากไว้บนร้านไม้ไผ่ที่จัดเตรียมไว้
- การเก็บรักษา การเก็บสารเมล็ดกาแฟจะเก็บใส่กระสอบป่านไว้กระสอบละ 100 กิโลกรัม เพื่อความสะดวกเวลาจําหน่าย วางไว้ในที่แห้งโดยนําไม้มารองกระสอบประมาณ 6 นิ้ว กันกาแฟในกระสอบชื้น
- วิธีการนําเล็ดกาแฟมาคั่ว นําเมล็ดกาแฟสดที่ตากแห้งแล้วมาคั่ว จะต้องคัดแยกเล็ดกาแฟก่อนโดยใช้ตะแกรงร่อน จะได้เมล็ดกาแฟ 2 ขนาด ได้แก่ ขนาดใหญ่ใหญ่และขนาดเล็ก เพื่อความสม่ำเสมอในขั้นตอนการคั่วตามความต้องการ จากนั้นนํามาบดด้วยเครื่องบดให้ละเอียดแล้วต้มด้วยกาต้มชงดื่ม
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
การปลูกกาแฟโรบัสตาในประเทศไทย
การปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสตามีต้นกําเนิดจากคนไทยผู้ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามคนหนึ่ง ชื่อนายดีหมุน ได้มีโอกาสไปแสวงบุญ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้นําเมล็ดพันธุ์กาแฟมาเพาะปลูกที่บ้าน คือ ตําบลบ้านโหนด อําเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ. 2447 ปรากฏว่ากาแฟที่นํามาเป็นพันธุ์โรบัสตา และการปลูกได้ผลดีพอสมควร จึงได้มีการขยายพันธุ์และมีการส่งเสริมการปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสตานี้ออกไปอย่างกว้างขวางในภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะสุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช พังงา และจังหวัดกระบี่
กาแฟโรบัสต้าพันธุ์ไทยเป็นชนิดที่มีคุณภาพดี และมีการยอมรับอย่างกว้างขวางในตลาดการส่งออก ระดับนานาชาติหลักของประเทศไทย คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา แถบยุโรป ประเทศญี่ปุ่น และประเทศสิงคโปร์ในตลาดท้องถิ่น อีกทั้งกรรมวิธีและเทคโนโลยีการการคั่วกาแฟแบบใหม่ในปัจจุบันสามารถทําให้กาแฟโรบัสตาพันธุ์ไทยเป็นกาแฟที่มีรสชาติกลมกล่อมและมีคุณภาพดี โดยประเทศไทยได้ส่งเสริมให้กาแฟเป็นพืชปลูกสลับในสวนยางพารา ถือเป็นรายได้สํารองจากการกรีดยางพารา ในปัจจุบันการปลูกกาแฟในภาคใต้ได้มีการพัฒนาการอย่างมากมาย และสามารถเป็นพืชเศรษฐกิจหลักสร้างรายได้แก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก ดังเช่นที่บ้านไร่ใน ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ที่มีกาแฟสายพันธุ์โรบัสตาเป็นแหล่งรายได้หลักของชาวบ้านในชุมขนมาอย่างยาวนาน
ลำยอง ขนาบแก้ว. (2559). โครงการศึกษารูปแบบการพัฒนากระบวนการผลิตกาแฟคั่วบดมือโดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและเพิ่มช่องทางการตลาดของกาแฟคั่วบดมือบ้านไร่ใน หมู่ที่ 7 ต.นาคา อ.สุขสำราญ จ.ระนอง (รายงานการวิจัย). สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม.
Tanthika Thanomnam. (2565). ชุมชนคุณธรรมบ้านไร่ใน จังหวัดระนอง. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://jk.tours/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2566].