Advance search

ชุมชนบ้านคลองยาง มีการอนุรักษ์ป่าชายเลนของชุมชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน นำไปสู่ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนของชุมชน ซึ่งเป็นต้นทุนด้านอาหารและนำไปสู่การท่องเที่ยวชุมชนสร้างรายได้แก่ชุมชน

หมู่ที่ 2
บ้านคลองยาง
คลองยาง
เกาะลันตา
กระบี่
ธำรงค์ บริเวธานันท์
3 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 พ.ค. 2023
บ้านคลองยาง

ชื่อ บ้านคลองยาง มีที่มาจากที่ตั้งของหมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณ ปากคลอง และมีลำน้ำสาขาของคลองไหลผ่านเข้ามาในหมู่บ้าน ประกอบกับสมัยก่อนในพื้นที่มีต้นยางขึ้นมาก คนในพื้นที่จึงเรียกคลองนี้ว่า "คลองยาง" และเมื่อมีการตั้งหมู่บ้านในบริเวณนี้จึงตั้งชื่อหมู่บ้านคลองยาง 


ชุมชนชนบท

ชุมชนบ้านคลองยาง มีการอนุรักษ์ป่าชายเลนของชุมชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน นำไปสู่ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนของชุมชน ซึ่งเป็นต้นทุนด้านอาหารและนำไปสู่การท่องเที่ยวชุมชนสร้างรายได้แก่ชุมชน

บ้านคลองยาง
หมู่ที่ 2
คลองยาง
เกาะลันตา
กระบี่
81120
7.804765838
99.12131175
องค์การบริหารส่วนตำบลคลองยาง

อดีตบ้านคลองยาง เป็นชุมชนที่มีความเจริญ การสัญจรใช้เรือเป็นหลัก เพราะไม่มีเส้นทางคมนาคมทางอื่น การเดินทางไปยังแผ่นดินใหญ่ต้องใช้เรือแล่นไปท่าเรือคลองพน เส้นทางคมนาคมหลัก  ช่วงปี พ.ศ. 2517 มีการตัดถนนห้วยน้ำขาว - หัวหิน เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมสายหลักสู่ชุมชน การสัญจรทางน้ำจึงค่อย ๆ ลดความสำคัญ 

ชุมชนบ้านคลองยางเป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นด้านการจัดการป่าชายเลน โดยการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน กระทั่งนำไปสู่การสร้างมูลค่าจากคุณค่าของป่าชายเลน ประวัติศาสตร์ของชุมชนจึงมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ป่าชายเลนของชุมชน ดังนี้

  • พ.ศ. 2470 ก่อตั้งหมู่บ้านคลองยาง กำนันคนแรกชื่อ พันตาเยบ ข้าวงาม สมาชิกชุมชนประกอบอาชีพทำนา เผาถ่านไม้โกงกาง และการทำประมงชายฝั่ง  รวมทั้งหาสัตว์น้ำในป่าชายเลนเพื่อการยังชีพ การหาสัตว์น้ำเป็นการหาเพื่อนำมาบริโภคในครัวเรือนและแจกจ่ายญาติพี่น้อง

  • พ.ศ. 253 เริ่มมีการซื้อที่ดินจากคนภายนอกเพื่อทำนากุ้ง ช่วงนั้นมีการทำนากุ้งแพร่กระจายหลายพื้นที่บริเวณชายฝั่งอันดามัน บ่อกุ้งในพื้นที่มี 10 บ่อ แต่ละบ่อใช้พื้นที่ 3 ไร่ รวมถึงการเผาถ่านไม้โกงกางเพราะต้นโกงกางบริเวณนี้มีขนาดใหญ่

  • พ.ศ. 2533 กิจกรรมทางเศรษฐกิจการเผาไม้โกงกางและการประมงที่มีลักษณะล้างผลาญโดยใช้อวนรุน ส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำลดจำนวนอย่างรวดเร็ว การใช้ทรัพยากรอย่างปราศจากการควบคุมส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ และส่งผลกระทบต่อชุมชน

  • พ.ศ. 2546 เริ่มต้นการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนในชุมชน โดยสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลน ที่ 24 (กระบี่) เริ่มเข้ามาดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อการอนุรักษ์ โดยการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชน อาทิ การปลูกป่าในพื้นที่เสื่อมโทรม อบรมการเพาะชำกล้าไม้ มุ่งหมายเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ

  • พ.ศ. 2548 มีการฝึกอบรมหลักสูตรด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน กระทั่งเกิดกลุ่มอนุรักษ์ในชุมชนในการร่วมกันดูแลป่าชายเลน รวมทั้งหน่วยงานโครงการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติมาร่วมพัฒนากลุ่มเลี้ยงปูดำให้เป็นอาชีพเสริมสำหรับชุมชน

  • พ.ศ. 2549 การอบรมหลักสูตรด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนดำเนินต่อเนื่องมาในปีนี้ พร้อม ๆ กับการร่วมกำหนดพื้นที่ป่าชายเลนร่วมกับชุมชน เพื่อกำหนดให้เป็นเขตพิทักษ์ป่าชายเลนรักษ์สัตว์น้ำ และเกิดชุดปฏิบัติการพิทักษ์ทะเลและชายฝั่ง และยังมีการกำหนดการใช้เครื่องมือการทำการประมงพื้นบ้าน ห้ามใช้อวนรุน และเครื่องมือที่ส่งผลต่อสัตว์น้ำขนาดเล็ก การดำเนินการนี้ชุมชนก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำประมงด้วยเช่นกัน ผลจากการกำหนดแนวทางร่วมกันส่งผลให้ปริมาณป่าชายเลนและจำนวนสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่

  • พ.ศ. 2550 ชุมชนร่วมกันร่างระเบียบการใช้ประโยชน์ป่าชายเลน มีการแบ่งพื้นที่เพื่อการใช้ประโยชน์ แปลงใช้ประโยชน์ แปลงอนุรักษ์ พื้นที่สีแดง โดยมีคณะกรรมการป่าชายเลนหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชน

บ้านคลองยาง หมู่ที่ 2 ตำบลคลองยาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเกาะลันตาประมาณ 32 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดกระบี่ ประมาณ 52 กิโลเมตร บ้านคลองยางมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 3,000 ไร่

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ คลองยาง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านโคกยูงหมู่ที่ 3 ตำบลคลองยาง อำเภอเกาะลันตา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ คลองยาง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านเขาฝาก หมู่ที่ 1 ตำบลคลองยาง อำเภอเกาะลันตา

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่เป็นที่ราบเกิดจากตะกอนน้ำพัดพา และที่ราบลอนคลื่นมีความสูงราว 20 เมตร เหมาะแก่การเพาะปลูกทำการเกษตรกรรม พื้นที่บริเวณปากคลองมีพืชพรรณป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ขึ้นปกคลุมตลอดพื้นที่มีความสำคัญในการเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ชุมชนได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นฤดูฝนของพื้นที่ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน เดือนกุมภาพันธ์ ถึง ปลายเดือนเมษายน

ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รายงานสถิติจำนวนประชากรบ้านคลองยาง หมู่ที่ 2 ตำบลคลองยาง อำเภอเกาะลันตา เดือนมกราคม 2566  บ้านร่าหมาด ประกอบด้วย จำนวนหลังคาเรือน 288 หลังคาเรือน จำนวนประชากรชาย 567 คน จำนวนประชากรหญิง 522 ครัว รวมประชากรทั้งสิ้น 1,089 คน

ระบบความสัมพันธ์ของหมู่บ้านคลองยาง มีลักษณะแบบเครือญาติ นามสกุลของสมาชิกชุมชน มี 14 นามสกุล แต่หากสืบย่านสาวโยดของแต่ละตระกูล จะมีการแต่งงานข้ามไขว้กันในชุมชน นามสกุลที่พบในชุมชน ประกอบด้วย หมัดเหย่  ลูกหยี  นุ้ยขาว  บุญเทียม  หวันด้าเหร่  หลานอา  วิสาละ  หวังเสล่ แสล่หมัน  ข้าวงาม  อิสลามนุกูล  พลาสิน  สุภาพ  และบาเร็ม 

กลุ่มอาชีพและกลุ่มองค์กรในชุมชนมีทั้งกลุ่มที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือกันด้านอาชีพและกลุ่มด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน กลุ่มต่าง ๆ ดังนี้

1. กลุ่มด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

2. กลุ่มด้านอาชีพ ประกอบด้วย

  • กลุ่มข้าวซ้อมมือ เป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ของชุมชน คือ การผลิตข้าวซ้อมมือ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ของเกาะลันตา
  • กลุ่มอาชีพสตรี ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม คือ การทำไข่เค็มและน้ำพริก
  • กลุ่มคลองยางพัฒนา กิจกรรมของกลุ่ม คือ การเลี้ยงปลาในกระชัง
  • กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ กิจกรรมของกลุ่ม คือ การรวมกลุ่มผลิตปุ๋ยชีวภาพ

3. กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน

  • กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลและชายฝั่ง
  • ชมรมกลุ่มอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เตยปาหนัน

วัฒนธรรมอิสลาม

สมาชิกชุมชนบ้านคลองยางนับถือศาสนาอิสลาม  วัฒนธรรมอิสลามจึงเป็นวิถีชีวิตของชุมชน การปฏิบัติตนตามหลักคำสอนของศาสนาเป็นสิ่งที่สมาชิกของชุมชนดำเนินอย่างไม่บกพร่อง วัฒนธรรมอิสลามของชุมชนประกอบด้วย การละหมาดประจำสัปดาห์ พิธีเข้าสุหนัต นิกะห์ การถือศีลอด วันฮารีรายอ 

การประกอบอาชีพ

ชุมชนบ้านคลองยาง ประกอบอาชีพหลักคือ การทำการประมงพื้นบ้านและอาชีพเกษตรกรรม  ปลูกยางพารา ปลูกข้าว นอกจากนี้มีการค้าขายและการรับจ้าง รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากการท่องเที่ยวในชุมชน  บริเวณท้องทะเลรอบ ๆ เกาะมุกเป็นพื้นที่ที่ประมงพื้นบ้านออกหาสัตว์ทะเล ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน  ทำให้อุดมด้วยทรัพยากรทางทะเลมากมาย เช่น กุ้ง หอย ปู ปลาชนิดต่าง ๆ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บ้านคลองยาง หมู่ที่ 2 ตำบลคลองยาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มีทุนชุมชนหรือทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งชุมชนนำทุนเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในงานด้านการอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชน ทุนชุมชนบ้านคลองยางประกอบด้วย

  • ความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ความเป็นพวกเดียวกันเป็นเครือญาติกันในชุมชนทำให้รู้จักกันทั่วทุกหลังคาเรือน จึงสามารถเข้าถึงได้ง่ายเพื่อสื่อสารเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชุมชน หรือการให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่จะมีต่อชุมชน
  • ศาสนาอิสลาม สมาชิกชุมชนนับถือศาสนาอิสลาม วัฒนธรรมอิสลามเป็นหลักในการดำรงชีวิต เรื่องที่เป็นหลักคำสอนศาสนาสมาชิกจะให้ความร่วมมือยินดีปฏิบัติ ดังคำสอนเกี่ยวกับหน้าที่ที่นำมาเป็นแนวทางให้สมาชิกสำนึกต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คือ มุสลิม มีหน้าที่หลัก 3 ประการ คือ หน้าที่ต่อตนเอง ต้องทำตัวให้ดีก่อน หน้าที่ต่อครอบครัว และ หน้าที่ต่อสังคม ถ้าทุกคนปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์สังคมจะพัฒนาตลอดไป
  • ประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชน สมาชิกในชุมชนมีประเพณีของชุมชนร่วมกัน อาทิ งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ พิธีเข้าสุนัต วันถือศีลอด เป็นต้น ประเพณีและพิธีกรรมนำพาให้สมาชิกของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มีกิจกรรมของชุมชนที่เป็นหนึ่งเดียว กิจกรรมนำไปสู่การแบ่งงานกันทำตามความถนัดของแต่ละคน นำไปสู่ความสัมพันธ์ของชุมชน
  • โรงเรียนบ้านคลองยางเป็นศูนย์กลางของชุมชน ชุมชนบ้านคลองยางให้ความสำคัญกับโรงเรียนดังนั้นจึงเป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรมของชุมชน นอกจากทำหน้าที่ด้านการจัดการศึกษา ชุมชนร่วมมือโรงเรียนเพื่อเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ ด้านการอนุรักษ์ป่าชายเลนไปยังเด็ก ๆ และส่งต่อไปยังครอบครัวของเด็กนักเรียน ดังกรณี การเริ่มเผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์ป่าชายเลน ครูส่งความรู้ไปยังลูกหลานเพื่อไปสื่อสารกับผู้ปกครอง
  • ผู้นำชุมชน ในชุมชนทั้งผู้นำที่เป็นทางการและผู้นำที่ไม่เป็นทางการ อาทิ ผู้นำกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน

ภาษาถิ่นใต้ เกาะลันตา จังหวัดพังงา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กาญจนากร สามเมือง (2551). ทุนทางสังคมกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ชุมชนบ้านคลองยางหมู่ 2 อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.