Advance search

บ้านไม้ฝาดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ชุมชนมีการจัดการท่องเที่ยวสัมผัสวิถีประมงพื้นบ้าน วิถีชีวิตคนทำสวนยาง และการท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน

หมู่ที่ 3
บ้านไม้ฝาด
ไม้ฝาด
สิเกา
ตรัง
ธำรงค์ บริเวธานันท์
3 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 พ.ค. 2023
บ้านไม้ฝาด

บ้านไม้ฝาด ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง มีประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน เล่าต่อกันมาว่า หมู่บ้านนี้มีต้นไม้ใหญ่อยู่ที่บริเวณท่าเรือ ต้นไม้ใหญ่ต้นนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน ชาวบ้านเรียกว่า “ต้นไม้ฝาด” และชาวบ้านเรียกท่าเรือแห่งนี้ว่าท่าเรือไม้ฝาด ต้นไม้ฝาด เนื้อไม้มีรสฝาดนำมาทำยารักษาโรคได้ ต่อมาเมื่อมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจึงเรียกเป็นชื่อบ้านว่า “บ้านไม้ฝาด”


ชุมชนชนบท

บ้านไม้ฝาดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ชุมชนมีการจัดการท่องเที่ยวสัมผัสวิถีประมงพื้นบ้าน วิถีชีวิตคนทำสวนยาง และการท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน

บ้านไม้ฝาด
หมู่ที่ 3
ไม้ฝาด
สิเกา
ตรัง
92150
7.541763283
99.352431
องค์การบริหารส่วนตำบลไม้ฝาด

หมู่บ้านไม้ฝาดมีต้นไม้ใหญ่อยู่ที่บริเวณท่าเรือ ต้นไม้ใหญ่ต้นนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของ หมู่บ้าน ชาวบ้านเรียกว่า “ต้นไม้ฝาด” และชาวบ้านเรียกท่าเรือแห่งนี้ว่า ท่าเรือไม้ฝาด ต้นไม้ฝาดมีรสชาติฝาดคุณประโยชน์สามารถนํามาทํายารักษาโรค เมื่อมีผู้คนมาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจึงเรียกเป็นชื่อบ้านว่า “บ้านไม้ฝาด” หมู่ที่ 3 ตําบลไม้ฝาด อําเภอสิเกา จังหวัดตรัง

หมู่บ้านไม้ฝาดเป็นที่ตั้งของวัดไม้ฝาด ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่และสำคัญของชุมชน สร้างเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2394 โดยหลวงพ่อทองเป็นผู้สร้าง ในระยะแรกสร้างเป็นที่พักสงฆ์ ภายในวัดโดยมีอุโบสถที่สวยงามและเป็นที่ตั้งรูปเคารพสักการะของพระเกจิอาจารย์หลวงพ่อสุด สังขรัตน์ (พระครูสุตกิจวิจารณ์) ซึ่งประวัติพอสังเขปของหลวงพ่อสุด สังขรัตน์ หรือพระครูสุตกิจวิจารณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เกิดที่บ้านฉาง หมู่ที่ 1 ตำบลโคกยาง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2427 บิดาชื่อ สังข์ ได้รับฐานันดรศักดิ์เป็น ขุนสุภมาตรา มารดาชื่อ ซิ้น มีพี่น้อง 3 คน เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาที่วัดโคกยางต่อมาจึงย้ายไปจำพรรษาที่วัดตรังคภูมิพุทธาวาส เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ปี พ.ศ. 2480 สอบความรู้ลักษณะปกครองคณะสงฆ์หน้าที่เจ้าอาวาสได้ชั้นโท ซึ่งนอกจากมีความรู้ทางธรรมแล้ว พระครูสุตกิจวิจารณ์ศึกษาวิชาความรู้ทางเวทยาอาคม เลขยันต์ หมอดู วิชาช่างก่อสร้างและศิลปะฝีมือต่าง ๆ ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ได้รับแต่งตั้งเป็นที่พระปลัด ฐานานุกรม ในพระครูวิมลศีลขันธ์(ซ้วน) เจ้าคณะอำเภอสิเกา และในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ “พระครูสุตกิจวิจารณ์” และได้ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคโลหิตในสมองอุดตัน เมื่อวันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 อายุได้ 84 ปี พรรษา 58

นอกจากนี้วัดไม้ฝาดเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดไม้ฝาด ทำหน้าที่บ่มเพาะความรู้ให้แก่เยาวชนในพื้นที่มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 22476 โดยเปิดเรียนครั้งแรกเมื่อ วันที่ 1 ตุลาคม 2476 มีพระครูปลัดสุด จทรสโส เจ้าอาวาส เป็นประธาน นายเต้ง ช่วยธานี กำนันตำบลไม้ฝาด นายมาก แสงศรีจันทร์ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลไม้ฝาด และราษฎร จำนวน 50 คน ได้ใช้ศาลาวัดเป็นสถานที่เรียนชั่วคราว มีนักเรียน 20 คน เป็นเด็กในบังคับ 17 คน เด็กนอกบังคับ 3 คน ปัจจุบันโรงเรียนย้ายออกจากพื้นที่ของวัดมาสร้างโรงเรียนในที่ราชพัสดุ มีขนาด 8 ไร่ 2 งาน 22 ตารางวา เปิดสอนระดับอนุบาล - ชั้นประถมปีที่ 6

การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ปี พ.ศ. 2533 มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการศึกษาในชุมชน เพราะชุมชนเริ่มสนับสนุนบุตรหลานด้านการศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาต่อในชุมชนมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันคณะที่เปิดในมหาวิทยาลัยฯ ประกอบด้วย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง วิทยาลัยการโรงแรมและการท่องเที่ยว คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันวิจัยและพัฒนา และสถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

บ้านไม้ฝาด หมู่ที่ 3 ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสิเกา ประมาณ 10 กิโลเมตร และห่างจากศาลากลางจังหวัดตรัง ประมาณ 40 กิโลเมตร ลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา และที่ราบชายฝั่งทะเล

อาณาเขตติดต่อ (ตำบลไม้ฝาด)

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง       
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน

จำนวนประชากร ชุมชนบ้านไม้ฝาด จากการสำรวจข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2566 รายงานจำนวนประชากรบ้านไม้ฝาด หมู่ที่ 3 ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ประกอบด้วย จำนวนประชากรชาย 818 คน จำนวนประชากรหญิง 815 คน จำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,633 คน จำนวนหลังคาเรือน 1,251 หลังคาเรือน          

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนบ้านไม้ฝาด นับถือพุทธศาสนา ฉะนั้นวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นจึงสัมพันธ์กับวันสำคัญทางศาสนา และเทศกาลงานรื่นเริงที่พบในสังคมภาคใต้ ประกอบด้วย เทศกาลสงกรานต์ การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ การทำบุญวันสำคัญทางศาสนาหรือวันพระใหญ่ วันสารทเดือนสิบ ประเพณีลากพระ วันลอยกระทง

1. นายสมยศ เหนือคลอง ภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทย หมอยาหม้อ จัดยาหม้อต้มกินด้วยสมุนไพร อาศัยอยู่ 169/2 หมู่ 3 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง ช่วงปี พ.ศ. 2538 ศึกษายาสมุนไพร การจัดหายาสมุนไพร การจับเส้น การต้มยาหม้อ จาก หมอเซียน แสงสีจันทร์ ผู้เป็นลุง กรทั่งมีทักษะการรักษาผู้ป่วยด้วยการจัดยาหม้อ ต่อมาราวปี พ.ศ. 2549 - 2550 หมอเซียน แสงสีจันทร์ เสียชีวิต จึงทำการรักษาผู้ป่วยแทนและได้นำตำรา และยาสมุนไพรชนิดต่าง ๆ มารักษาที่บ้านของตนเอง จนถึงปัจจุบัน นายสมยศสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนและสังคมโดยการรักษาผู้ป่วยทั้งในชุมชนหมู่บ้านและต่างจังหวัดและเป็นการรักษาในแบบที่ไม่ต้องการให้ผู้ป่วยเสียค่าใช้จ่ายมากเกินความจำเป็น

ทุนชุมชนบ้านไม้ฝาด

1. ทุนทรัพยากรการท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นทุนที่สำคัญของชุมชนบ้านไม้ฝาด ชุมชนนำทุนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรมาสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ชุมชน ในท่ามกลางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่กำลังให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่น ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านไม้ฝาด ผสานคุณค่าของชุมชนกับมูลค่าทางเศรษฐกิจออกแบบกิจกรรมเพื่อเรียนรู้ทุนของชุมชน ดังนี้

  • ปั่นจักรยานชมวิถีชีวิตชุมชน
  • สัมผัสวิถีประมงพื้นบ้านของคนในชุมชน
  • สัมผัสวิถีชีวิตคนทำสวนยาง
  • กราบมนัสการหลวงพ่อสุด และเยี่ยมชมโบสถ์ ณ วัดไม้ฝาด
  • ท่องเที่ยวในหาดราชมงคลและพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำราชมงคลตรัง 

2. ทุนคติชนสุภาษิตท้องถิ่น คติชนแต่ละท้องถิ่นเป็นการสะท้อนอุดมการณ์ โลกทัศน์ ของสมาชิกในชุมชน ชุมชนบ้านไม้ฝาดมีสุภาษิต คำสอนที่บ่งบอกเป็นนัย ทำหน้าที่ในการขัดเกลาทางสังคมให้แก่สมาชิกในชุมชน ทุนคติชนสุภาษิตท้องถิ่นบ้านไม้ฝาดสามารถจัดประเภท ภาษิตที่มีเนื้อความเกี่ยวกับมนุษย์ ภาษิตที่มีเนื้อความเกี่ยวกับพืช ภาษิตที่มีเนื้อความเกี่ยวกับสัตว์ ภาษิตที่มีเนื้อความเกี่ยวกับสิ่งของ ภาษิตที่มีเนื้อความเกี่ยวข้องระหว่างมนุษย์กับพืช ภาษิตที่มีเนื้อความเกี่ยวข้องระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ภาษิตที่มีเนื้อความเกี่ยวข้องระหว่างมนุษย์กับสิ่งของ

ภาษิตที่มีเนื้อความเกี่ยวกับมนุษย์

ภาษิตคำศัพท์ความหมาย
พูดทิ่มเข้าทิ่มออก 
  • ทิ่ม หมายถึง ตำ 
พูดกลับกลอก
ฉีกขากลวมเปรว
  • ฉีกขา หมายถึง ถ่างขาออก 
  • กลวม หมายถึง สวม
  • เปรว หมายถึง ป่าช้า 

ปิดบังความไม่ดีไว้ ไม่ให้ผู้อื่นรู้ กันท่าผู้อื่น
คนมาทีหลัง กินดังเหนียว
  • ที หมายถึง ครั้ง
  • เหนียว หมายถึง ข้าวเหนียว

คนทำงานล่าช้าย่อมเสียเปรียบผู้อื่น
เน่งเข้าว่าโม่ ครั้งโฉเขาว่าบ้า
  • เน่ง หมายถึง นิ่ง
  • โม่ หมายถึง โง่
  • โฉ หมายถึง เสียงดัง

ถ้านิ่งเฉยไม่พูดเปรียบเสมือนคนโง่

ถ้าพูดเสียงดังก็เปรียบเสมือนคนบ้า

ชื่อได้ข้า หน้าได้พี่เณร
  • ข้า หมายถึง บ่าวไพร่

การทำงานในบางครั้ง

ความเหนื่อยยากลำบากเกิดขึ้นกับผู้ที่กระทำการ

แต่คำยกย่องสรรเสริญกลับเกิดขึ้น

กับคนที่เป็นเจ้านายหรือคนที่มีตำแหน่งใหญ่โตกว่า

ภาษิตที่มีเนื้อความเกี่ยวกับพืช

ภาษิตคำศัพท์ความหมาย

ผักดีปลาดีหาชีวัดนอก 

ขี้เยี่ยวไม่ออกหาชีวัดใน

  • เยี่ยว หมายถึง ฉี่
  • ชี หมายถึง แม่ชี

ตอนที่มีความทุกข์หรือเจอความลำบากก็มาปรึกษาหารือ

แต่ยามเป็นสุขกลับไม่เคยนึกถึงไม่ไปมาหาสู่

ขมิ้นยังไม่ทันหล่นจากหัว
  • หัว หมายถึง เหง้า

คนที่ยังไม่มีความรู้ความสามารถมากมายแต่วางตัวเป็นผู้รู้

น้ำเต้าล่ามาขี้พร้าล่า
  • น้ำเต้า หมายถึง ฟักทอง

  • ขี้พร้า หมายถึง ฟักเขียว
  • ล่า หมายถึง เลื้อย

การพึ่งพาอาศัยกันช่วยเหลือกันหรือ 

หมายถึงการที่บุคคลที่มีนิสัยทำงานชักช้า เฉื่อยช้า ทำงานร่วมกัน

ใหญ่พร้าว ท้าวลอกอ 
  • ลอกอ หมายถึง มะละกอ
  • พร้าว หมายถึง มะพร้าว

กล่าวถึงคนที่มีอายุมากแต่ลักษณะนิสัยการทำงานความรับผิดชอบไม่ดีเท่าที่ควร

ภาษิตที่มีเนื้อความเกี่ยวกับสัตว์

ภาษิตคำศัพท์ความหมาย
กินน้ำตาคางคก การค้นหาคำตอบโดยการสอบถามพูดคุย
ขันนอกเปาะ
  • ขัน หมายถึง เสียงไก่ร้องยามเช้าตรู่
  • เปาะ หมายถึง ภาชนะ
คนที่มีนิสัยไม่โอ้อวด
ลายมือเขียนขี้หอย
  • หอย หมายถึง สัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง
  • ขี้ หมายถึง อุจจาระ
คนที่มีลักษณะนิสัยเป็นคนดีน่าคบ
แมงป่องม่ายเหล็กใน
  • ม่าย หมายถึง ไม่

คนที่ไม่มีอาวุธ หรือความเด็ดเดี่ยวในการทำสิ่งต่าง ๆ อ่อนแอไม่มีความกล้าหาญ

นกเสียบไส้ขี้ตามช้าง
  • นกเสียบไส้ หมายถึง นกชนิดหนึ่งมีถิ่นที่อยู่อาศัยในภาคใต้
ทำกิจการใหญ่โตแต่ไม่มีทุนทรัพย์

ภาษิตที่มีเนื้อความเกี่ยวกับสิ่งของ

ภาษิตคำศัพท์ความหมาย
ผีตายโหง โรงไม้ยาง

คนที่นิสัยไม่ดี ใช้ชีวิตร่วมกันแต่ทำสิ่งไม่ดีไม่ควรคบหา

ควัดด้งเปรา
  • ควัด หมายถึง การนำกระด้งมาใส่ของแล้วใช้มือยกขี้นลงโดยไม่ให้ของในกระด้งตกหล่น
  • ด้ง หมายถึง กระด้ง

การกระทำสิ่งก็ก็ตามอย่างตั้งใจแต่มิได้เกิดความสำเร็จ

กล้าหน้าหม้อ การทำงานเอาหน้า

ภาษิตที่มีเนื้อความเกี่ยวข้องระหว่างมนุษย์กับพืช

ภาษิตคำศัพท์ความหมาย
ตื่นสายให้สร้างสนพร้าว ตื่นเช้าให้สร้างสวนยาง
  • พร้าว หมายถึง มะพร้าว
การเลือกอาชีพให้เหมาะสมกับอุปนิสัย

ภาษิตที่มีเนื้อความเกี่ยวข้องระหว่างมนุษย์กับสัตว์

ภาษิตคำศัพท์ความหมาย
เข้าบ้านคนอื่นต้องหดหางการกระทำสิ่งใดต้องมีความเกรงใจไม่ว่าจะทำกับใครหรือใช้ชวิตอยู่แห่งไหน
เขเต่า แบกไอ้โต้
  • เข หมายถึง ขี่
  • ไอ้โต้ หมายถึงมีด
คนที่ไม่ฉลาดโง่เขลา เชื่องช้าทำงานช้า
ถือฆ้องให้เพื่อตี ตรันวานหมีให้เพื่อนเล่น
  • ตรัน หมายถึง ผลัก
  • วาน หมายถึง ก้น
ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น แต่ตัวเองต้องเหน็ดเหนื่อยและอาจได้รับอันตราย

ภาษิตที่มีเนื้อความเกี่ยวข้องระหว่างมนุษย์กับสิ่งของ

ภาษิตคำศัพท์ความหมาย
ผู้เฒ่าบอดนอนกอดตำรา
  • เฒ่า หมายถึง ผู้สูงอายุ
บุคคลที่หวงวิชา
ผูกเรือกับหญ้าปล้อง ลอยปักหลังบนกองแกลบ
  • แกลบ หมายถึง ส่วนเปลือกของเมล็ดข้าว
บุคคลที่ทำอะไรไม่มุ่งมั่นไม่จริงจัง
กินข้าววัด นอนหลาห่มผ้าผี
  • หลา หมายถึง ศาลา
บุคคลที่ไม่มีงานทำไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน

ภาษิต ข้างต้นเป็นตัวอย่างพอสังเขป อย่างไรก็ดีภาษิตทั้งหมดมิได้มีการใช้ในการอบรมสั่งสอนหรือถ่ายทอดทางสังคมแก่สมาชิกในชุมชนเฉพาะพื้นที่บ้านฝาด หมู่ที่ 3 เท่านั้น แต่เป็นภาษิตที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของสมาชิกทั้งหมดในชุมชนตำบลบ้านฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง

ภาษาถิ่นใต้ จังหวัดตรัง


สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ได้แก่ สวนยางพารา สวนปาล์มและการประมง รายได้หลักมาจากการทําสวนยางพารา ในหมู่บ้านมีตลาดนัดขายสินค้าสัปดาห์ละ 1 วัน ปัจจุบันคนรุ่นเดิมยังประกอบอาชีพการ ทําสวนยางพาราและทําการประมง อย่างไรก็ดีรุ่นลูกหลานมีการรับราชการ ทํางานบริษัท ลูกจ้างในส่วนราชการ ส่วนคนรุ่นกลางและคนรุ่นใหม่มีการประกอบอาชีพค้าขาย ดังการขยายวันนัดหรือขยายตลาดนัด เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 6 วัน เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยราชมงคลตั้งอยู่ในพื้นที่ ฉะนั้นจํานวนนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นทําให้เศรษฐกิจในชุมชนมีการขยายตัวนอกจากการเกษตร นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ในชุมชนและนอกชุมชนมีการลงทุนเปิดหอพักและบ้านเช่ามากขึ้นทําให้เศรษฐกิจในชุมชนมีความเคลื่อนไหว สมาชิกในชุมชนมีการประกอบอาชีพหลัก อาชีพรองและอาชีพเสริม เป็นการส่งเสริมรายได้และชุมชนมีแหล่งงานใกล้บ้าน


ประชากรในชุมชนมีรูปแบบครอบครัวแบบขยาย โดยมีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นสถานที่ในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ทางศาสนาและประเพณี ชุมชนยังคงความสัมพันธ์แบบระบบเครือญาติ มีลักษณะนิสัยประนีประนอมยังคงพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ดีครอบครัวเริ่มมีขนาดเล็ก และขนาดกลาง ความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่เริ่มสูง และมีการส่งเสริมให้บุตรหลานมีการศึกษาสูงขึ้น


การตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ปี พ.ศ. 2533 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาในชุมชน เพราะชุมชนเริ่มสนับสนุนบุตรหลานด้านการศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาต่อในชุมชนมากยิ่งขึ้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เจตนา อินยะรัตน์. (2557). ภาษิตชาวบ้านตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง. รายงานการวิจัย. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย.

ผ่องศรี พัฒนมณี. (2554). การศึกษาวิถีชีวิตของชุมชน : กรณีศึกษาครอบครัวชุมชนบ้านไม้ฝาด ตําบลไม้ฝาด อําเภอสิเกา จังหวัดตรัง. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย.

องค์การบริหารส่วนตำบลไม้ฝาด. (2562). ข้อมูลพื้นฐาน. https://www.maifad.go.th/

Kittiporn Choosan. (2563, ก.ค. 6). เที่ยวหาดราชมงคล. [วิดิโอ]. https://www.youtube.com/