ชุมชนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ซำเรอาศัยอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานอย่าง “การเล่นผีแม่มด”
เดิมหมู่บ้านนี้ชาวบ้านเรียกว่า “บ้านซอก” ซึ่งแปลว่า มะม่วง จึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านมะม่วง” จนถึงปัจจุบัน
ชุมชนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ซำเรอาศัยอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานอย่าง “การเล่นผีแม่มด”
ดั้งเดิมบ้านมะม่วงเป็นหมู่บ้านที่คนสืบเชื้อสายชาวชอง อพยพมาจากประเทศกัมพูชา ช่วงที่มาตั้งถิ่นฐานยังมีคนไม่มากนัก แต่ในตอนหลังมีคนต่างถิ่นเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินทำให้มีผู้คนมากขึ้น เดิมชาวบ้านเรียกว่า “บ้านซอก” แปลว่า มะม่วง ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านมะม่วง จนถึงปัจจุบัน
พื้นที่ทำกินส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สวนซึ่งเป็นของคนนอกพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่ของบรรพบุรุษชาวบ้านมะม่วงได้ขายไป 50 กว่าปีที่แล้ว จึงเหลือเพียงพื้นที่แถวข้างบ้านเท่านั้น สมาชิกส่วนใหญ่ในหมู่บ้านหาของป่าและรับจ้างทั่วไป เมื่อลูกหลานในหมู่บ้านมีที่ดินทำกินน้อยจึงออกไปหาทำกินในเมือง ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวแตกแยก ไม่มีอาชีพที่มั่นคงรองรับ คณะกรรมการหมู่บ้านจึงดำเนิน “โครงการอยู่ดีมีสุข” เพื่อขออนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อปลูกป่า ในพื้นที่เสื่อมโทรมให้เป็นป่าชุมชนและปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยาง ไม้หอม ปาล์ม ไว้ให้ลูกหลานในชุมชนทำกินต่อไป เนื่องจากส่วนหนึ่งของพื้นที่ป่าบริเวณรอบหมู่บ้าน ซึ่งเป็นป่าเสื่อมโทรมอยู่ในเขตป่าสงวนป่าอนุรักษ์และแหล่งกำเนิดต้นน้ำ ชาวบ้านจึงอยากริเริ่มโครงการป่าชุมชนและไม้เศรษฐกิจเพื่อจะทำให้ลูกหลานไม่ต้องไปรับจ้างนอกหมู่บ้าน ชุมชนจะได้มีความเข้มแข็งและจัดการแบ่งแนวเขตให้ชัดเจนเพื่อป้องกันหน่วยงานของรัฐขัดแย้งกับชาวบ้านในชุมชน
ชุมชนบ้านมะม่วง มีพื้นที่ทั้งหมด 7,426 ไร่ เขตชุมชนบ้านมะม่วงมีพื้นที่ทำกิน 6,122 ไร่ และมีระยะทางห่างจากจังหวัดตราดประมาณ 47 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 318 ไปทางอำเภอคลองใหญ่ประมาณ 4 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตามถนนสายตราด-บ่อไร่ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3157 ประมาณ 42 กิโลเมตร เลี้ยวขวาที่สี่แยกบ้านนนทรี ไปถึงบ้านมะม่วงประมาณ 3 กิโลเมตร หรือเดินทางจากจังหวัดตราดไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 318 ประมาณ 16 กิโลเมตร ถึงอำเภอเขาสมิง และเลี้ยวขวาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3159 ประมาณ 30 กิโลเมตร ถึงบ้านมะม่วง
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านคลองโอน หมู่ที่ 4 ตำบลนนทรีย์ และบ้านตากแว้ง หมู่ที่ 4 ตำบลบ่อพลอย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านนนทรีย์ หมู่ที่ 1 ตำบลนนทรีย์ และบ้านทุ่งตอง หมู่ที่ 5 ตำบลนนทรีย์
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ประเทศกัมพูชา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านนนทรีย์ หมู่ที่ 1 ตำบลนนทรีย์ และบ้านสระใหญ่ หมู่ที่ 2 ตำบลนนทรีย์
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
สภาพพื้นที่เป็นป่าเขามีทั้งสมบูรณ์และเสื่อมโทรม มีต้นไม้หนาแน่นตามแนวชายแดนบริเวณเทือกเขาบรรทัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขาและเนินเตี้ย มีลำคลองหลายสายมาบรรจบกับแม่น้ำเขาสมิง ห่างจากชายแดนประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นป่าเสื่อมโทรม
สาธารณูปโภค
ชุมชนบ้ามะม่วง มีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ครบทุกครัวเรือน เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์
สถานที่สำคัญ
วัดบ้านมะม่วง, โรงเรียนบ้านมะม่วง, สถานีอนามัย, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านมะม่วง, องค์การบริหารส่วนตำบลนนทรีย์, ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดตราด, ตำรวจชุมชนตำบลนนทรีย์, ศาลาประชาคมบ้านมะม่วง
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรบ้านมะม่วง จำนวน 578 หลัง ประชากรรวมทั้งหมด 1441 คน แบ่งเป็นประชากรชายได้ 726 คน แบ่งเป็นประชากรหญิงได้ 715 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2565)
ซำเรกลุ่มอาชีพ
ชุมชนบ้านมะม่วงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร เช่น รับจ้างสวนปาล์ม เพาะพันธุ์กล้าไม้ กฤษณา (ไม้หอม) สวนยางพารา สวนผลไม้ และอาชีพเก็บของป่าขาย และมีบางส่วนที่รับจ้างทั่วไปทั้งในหมู่บ้านหรือออกไปหางานทำในเมือง
ชาวซำเรในหมู่บ้านมะม่วงส่วนใหญ่อาศัยการเก็บของป่าแถบเทือกเขาบริเวณใกล้เคียง บางคนเก็บผลผลิตจากป่าเพื่อขายให้กับพ่อค้าที่อาจจะเข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน เช่น ล่าสัตว์ประเภท หมูป่า ไก่ป่า ผู้ชายมีหน้าที่ทำกับดักไม้ไผ่เพื่อจับสัตว์ขนาดเล็ก เช่น นก ปลา ผู้หญิงรับผิดชอบในการดูแลบ้านเรือน เตรียมกับข้าว ทำอาหาร ชาวซำเรบ้านมะม่วงบางครอบครัวทำเกษตร เพาะปลูกทำไร่ สับปะรด ปลูกมะม่วง กล้วย พริก และผลไม้ ตลอดจนพืชผักอื่น ๆ บางคนออกไปทำงานรับจ้างเป็นแรงงานในสวน บางรายที่มีที่ดินตนเองก็จะทำการเกษตร ทำสวนยางพารา ทำสวนผลไม้มากขึ้น ส่วนน้อยที่จะมีอาชีพอื่น ๆ เช่น ครู การรับราชการ ตลอดจนเจ้าของกิจการ
ทุนวัฒนธรรม
ชาวบ้านในชุมชนบ้านมะม่วงนับถือภูตผีวิญญาณ เชื่อในเรื่องผี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผีที่เกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษ จะมีการประกอบพิธีบูชาผี โดยมีการเซ่นไหว้ด้วยอาหารและเหล้า จะมีการทำพิธีเซ่นไหว้บูชาผีทุกปีในช่วงเดือน 4 ถึงเดือน 6 (ตามปฏิทินจันทรคติ) เพื่อขอให้ผีบรรพบุรุษปกป้องคุ้มครองลูกหลาน และขอพรจากบรรพบุรุษ และนอกจากการนับถือผีแล้วยังมีการนับถือพุทธศาสนาอีกด้วย
ประเพณีปฏิบัติที่สืบต่อกันมาอย่างช้านาน คือ ผีแม่มด ซึ่งเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการเซ่นไหว้ผีโดยเฉพาะ ตามความเชื่อที่ของชาวบ้านว่ามีผีอยู่รอบตัว ซึ่งผีบางชนิดอาจทำให้ร่างกายชาวบ้านเจ็บป่วยได้ เช่น ผีร้าย ผีสมิง ถ้าหากเกิดว่ามีการเจ็บป่วย จะต้องมีการทำพิธีเซ่นไหว้ผี หรือผีตนนั้นต้องการเพื่อนหรือต้องการมาเล่นกับคน ชาวบ้านเรียกพิธีนี้ว่า เล่นผีแม่มด มีการทำพิธีกรรมในเวลากลางคืน เมื่อมีการทำพิธีแล้วเสร็จเชื่อว่าจะนำสิ่งที่ดีมาให้แกชุมชน หรือเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากชาวบ้าน มีการทำพิธีทุกปีในช่วงเดือน 2 ถึงเดือน 3 (ตามปฏิทินจันทรคติ) การทำพิธีส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มีเครื่องประกอบพิธีเซ่นไหว้วางอยู่เบื้องหน้า และมีการตีกลองประกอบร้องเพลงให้เข้ากับจังหวะในการเชิญผีเข้าร่างทรง เมื่อผีเข้าร่างทรงแล้วจะเริ่มแสดงอากัปกิริยา และเมื่อผีออกจากร่างทรงแล้วจะเชิญผีตนอื่นเข้ามาอีก โดยจะรวมกันทำแบบครอบครัว หรือบางกลุ่มอาจมีการแยกกันทำ
ภาษาพูด : ภาษากะซอง (Kasong) จัดอยู่ในภาษาศาสตร์สาขาเพียริก (Pearic) หมวดภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer) กลุ่มตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic) และใช้ภาษาไทยสื่อสารกับบุคคลภายนอก
ชาวซำเรในหมู่บ้านมะม่วงส่วนใหญ่มีลักษณะทางกายภาพที่ค่อนข้างเห็นความแตกต่างจากคนกลุ่มอื่นทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ มีผิวคล้ำกว่าคนไทยทั่วไป มีรูปร่างเล็กว่าคนพื้นถิ่น ริมฝีปากหนา และมีผมหยักศก แต่ในปัจจุบันค่อนข้างยากที่จะแยกด้วยลักษณะทางกายภาพว่าคนกลุ่มนี้ต่างจากคนอื่น เนื่องด้วยมีการแต่งงานข้ามกลุ่มของคนซำเรและคนไทยมากขึ้น แต่ยังพอปรากฏลักษณะเหล่านี้อยู่บ้างในผู้สูงอายุ หรือผู้อาวุโสในหมู่บ้าน
ดำรงพล อินทร์จันทร์. (2559). พลวัตทางชาติพันธุ์ของคนพลัดถิ่นชายแดนตะวันออก กรณีศึกษา กลุ่มชาติพันธุ์ กะซอง และซำเร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 27 เมษายน 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัยศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/