ชุมชนชนบทที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและเกษตรกรรม แหล่งรวมศรัทธา "ม่อนประทีป"
เนื่องด้วยสมัยนั้นพื้นที่บ้านป่าไม้เป็นพื้นที่ที่อยู่ในการควบคุมดูแลของกรมป่าไม้ พร้อมทั้งเป็นพื้นที่ที่มีป่าไม้เยอะ จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านป่าไม้” มาจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนชนบทที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและเกษตรกรรม แหล่งรวมศรัทธา "ม่อนประทีป"
บ้านป่าไม้ หมู่ 10 เดิมทีเป็นบ้านวาก หมู่ 4 ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องด้วยท้องที่บ้านวากมีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก ทำให้การจัดสรรงบประมาณมีได้ไม่ทั่วถึง จึงได้มีการแยกออกมาเป็นหมู่บ้านป่าไม้ หมู่ 10 ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ และเนื่องด้วยสมัยนั้นพื้นที่บ้านป่าไม้เป็นพื้นที่ที่อยู่ในการควบคุมดูแลของกรมป่าไม้ พร้อมทั้งเป็นพื้นที่ที่มีป่าไม้เยอะ จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านป่าไม้” มาจนถึงปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2537 กระทรวงมหาดไทยได้แบ่งท้องที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอแม่ออน” ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2537 และ ในปี 2542 ตำบลออนกลางได้แยกตัวออกมาจากตำบลออนเหนือ ยกระดับจากสภาตำบลขึ้นมาเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลออนกลาง ปัจจุบันมีทั้งหมด 11 หมู่บ้าน ซึ่งรวมกับบ้านป่าไม้ หมู่ 10 มีผู้นำหมู่บ้าน ร่วมมาแล้ว 6 คน รวมกับคนปัจจุบัน ซึ่งนายประดิษฐ์ ทองหล่อ ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านป่าไม้ หมู่ 10 อยู่ ณ ปัจจุบัน
จากการสัมภาษณ์ นายจันทร์ทิพย์ ฝั้นตา ประธานผู้สูงอายุบ้านป่าไม้ หมู่ 10 และนางกาหลง ฝั้นตา ภรรยา กล่าวว่าเมื่อปี 2522 ขณะที่ตนและภรรยามาสร้างบ้านอาศัยอยู่นั้นพื้นที่ยังรวมเป็นของบ้านวาก หมู่ 4 อยู่ขณะนั้นพื้นที่หมู่ 10 ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ เป็นป่าเสื่อมโทรม ไม่ค่อยมีบ้านคน ต้องถางป่าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินเอง ในปี พ.ศ. 2524 มีโครงการพระราชดำริให้หน่วยงานทางราชการเข้ามาจัดสรรพื้นที่ป่าไม้ นำโครงการโดย นายวิริยะ ช่วยบำรุง โดยการถางป่าแบ่งพื้นที่ที่อยู่อาศัยให้ชาวบ้านเป็นล็อค ล็อคละ 5 หลังคาเรือน หลังคาเรือนละประมาณ 200 ตารางวา จนประมาณปี 2526 จึงเริ่มมีผู้คนทะยอยเข้ามาสร้างรกรากและอยู่อาศัย
ชุมชนบ้านป่าไม้เป็นชุมชนชนบท พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบติดภูเขา มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,600,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 1,000 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ชุมชนประมาณ 200 กว่าไร่ และพื้นที่ป่าประมาณ 800 ไร่ อาณาเขตของหมู่ที่ 10 ตั้งอยู่ในตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากอำเภอแม่ออนไปทาง ทิศเหนือ ประมาณ 11 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 44 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ การเดินทางมาบ้านป่าไม้ หมู่ที่ 10 เริ่มจากสามแยกโรงเรียนวัดเปาสามขาตรงมาบนถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 1229 ไปทางทิศใต้ 1.21 กิโลเมตร ซึ่งตั้งแต่พื้นที่นี้ก็เข้าสู่พื้นที่ของหมู่บ้านป่าไม้ หมู่ 10
บ้านเรือนส่วนใหญ่ในชุมชนจะเป็นบ้านส่วนตัว มีทั้งบ้านปูนชั้นเดียว บ้านไม้ และเป็นครึ่งปูนครึ่งไม้ บ้านส่วนใหญ่มีอาณาเขตหรือรั้วบ้านกั้น จากการลงพื้นที่สอบถามข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่ผู้คนในชุมชนจะใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน แต่ให้ความร่วมมือในกิจกรรมของชุมชน บ้านที่อยู่ภายในรั้วเดียวกัน ส่วนใหญ่จะมีบ้านหลายหลัง ซึ่งเป็นเครือญาติเดียวกันที่มีความสนิทสนมกัน
ทิศเหนือที่ติดกับหมู่บ้านวาก หมู่ที่ 4 ซึ่งมีจุดตัดบริเวณศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของหมู่ 10 เมื่อเดินทางเข้ามาในหมู่บ้านจะเห็นทั้งสองฝั่งถนน มีบ้านเรือนสลับกับพื้นที่ว่างเปล่า มีทั้งร้านค้า ร้านอาหาร และร้านซ่อมรถ ทางทิศใต้ที่ติดกับทางไปอำเภอแม่ทา มีจุดตัดบริเวณสถานีควบคุมไฟป่าบ้านตะไคร้ ภายใต้ถนนทั้งสองข้างจะเป็นป่าและพื้นที่ว่างสลับกัน นอกจากนี้พื้นที่ของบ้านป่าไม้หมู่ 10 ด้านตะวันออกเป็นพื้นที่ของหมู่บ้านทุ่งเหล่า หมู่ 1 ทิศตะวันตกจะติดกับหมู่บ้านวาก หมู่ 4 และหมู่บ้านป่าไม้แบ่งออกเป็น 2 โซน โซนฝั่งซ้ายมือของถนนหลักหมู่บ้านป่าไม้ และโซนฝั่งขวามือของถนนหลักหมู่บ้านป่าไม้ ภายใน 2 โซนก็ยังแบ่งออกเป็นซอยอีกจำนวน 15 ซอย
จากการสำรวจและศึกษาผังเครือญาติของหมู่บ้านป่าไม้ หมู่ที่ 10 ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรที่ได้รับการสำรวจส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยสูงอายุ อยู่ในช่วงอายุ 60-64 ปี และ 65-69 ปี มากที่สุด และมีสัดส่วนประชากรเพศชายมากกว่าเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 52.10 และ 47.90 ตามลำดับของประชากรที่สำรวจทั้งหมด ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จำนวน 306 คน คิดเป็นร้อยละ 99.03 ของประชากรที่สำรวจทั้งหมด รองลงมาคือศาสนาอิสลาม จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 0.65 และนับถือศาสนาคริสต์ จำนวน 1 คน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เป็นร้อยละ 34.00 และสำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา คิดเป็นร้อยละ 47.11 ของประชากรที่สำรวจทั้งหมด
พบว่ามีตระกูลที่เก่าแก่คือนามสกุล “นางเมาะ” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากในชุมชน นามสกุล "นางเมาะ” เป็นตระกูลที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นจำนวนมาก ทั้งที่อาศัยอยู่จริงและอาศัยอยู่นอกพื้นที่ โดยจากการสัมภาษณ์ นางจันดี นางเมาะ และนางผง นางเมาะ ซึ่งเป็นสมาชิกในตระกูล พบว่ามี นายคำมี นางเมาะ และ นางเขียว นางเมาะ เป็นต้นตระกูล มีการแต่งงานขยายครอบครัว มีลูกหลานสืบทอดมา 5 รุ่น จนเป็นครอบครัวขนาดใหญ่จากการวิเคราะห์พบว่าตระกูล “นางเมาะ” มีลักษณะเป็นทั้งครอบครัวขยายและครอบครัวเดี่ยว มีการแต่งงาน เปลี่ยนนามสกุล เช่น แต่งเข้าครอบครัวฝ่ายชาย และแต่งเข้าครอบครัวฝ่ายหญิง และมีการไปตั้งครอบครัวหรือทำงานต่างถิ่น
ชุมชนบ้านป่าไม้ หมู่ที่ 10 ตำบลแม่ออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ หมู่บ้านป่าไม้ประกอบด้วยโครงสร้างความสัมพันธ์ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยบริบทของชุมชนเป็นชุมชนชนบท มีนายประดิษฐ์ ทองหล่อ ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านและผู้นำชุมชน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรและรับจ้างทั่วไป ส่วนใหญ่จะพบโครงสร้างองค์กรชุมชนที่เป็นทางการ แต่กลุ่มประกอบไปด้วยประธาน รองประธาน เลขานุการ เหรัญญิก และกรรมการที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการโดยแต่ละกลุ่มมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งมีรายละเอียดของบทบาทหน้าที่ และการดำเนินการ ดังนี้
กลุ่มองค์กรชุมชนที่เป็นทางการ
- กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน
- กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน (เงินล้าน)
- กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำบ้าน (อสม.)
- กลุ่มสตรีประจำหมู่บ้าน
- กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์
- กลุ่มวิสาหกิจชุมชน
- ชมรมสูงอายุ
- กลุ่มผู้ใช้แก๊สชีวภาพ
กลุ่มองค์กรชุมชนที่ไม่เป็นทางการ
- กลุ่มผู้ใช้แก๊สชีวภาพ จากการสัมภาษณ์นายประดิษฐ์ ทองหล่อ และนายประวิชย์ ธะนะคำ หรืออดีตผู้ใหญ่บ้าน (เก็บข้อมูลเดือนตุลาคม 2565) พบว่า เป็นกลุ่มที่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2543 เนื่องจากหมู่บ้านป่าไม้เป็นหมู่บ้านที่คนส่วนใหญ่ทำงานเกษตรกรเลี้ยงหมู ซึ่งต่อมาการเลี้ยงหมูภายในหมู่บ้านเกิดมีปัญหาเรื่องกลิ่นขี้หมู ส่งผลทำให้ชาวบ้านร้องเรียนกลิ่นขี้หมูเป็นจำนวนมากขึ้น นายประวิทย์ ธนาคำหรืออดีตผู้ใหญ่บ้านได้ทำการศึกษาเรื่องการนำขี้หมูมาทำเป็นแก๊สชีวภาพ โดยนำงบเศรษฐกิจพอเพียงมาลงทุนแต่จำนวนยังเงินยังไม่เพียงพอ จึงมีการประชุมหมู่บ้านเรื่องการทำแก๊สชีวภาพจากขี้หมู ชาวบ้านในหมู่บ้านจึงได้สบทบเงินตามกำลังที่มา ในปัจจุบันหมู่บ้านยังมีการใช้แก๊สชีวภาพเป็นแก๊สหุงต้มในการทำอาหาร โดยหมู่บ้านป่าไม้มีประชาชนเข้าร่วมใช้แก๊สชีวภาพ 55 หลังครัวเรือน และมีการเก็บเงินออมเฉพาะผู้ที่ใช้เดือนละ 80บาท/หลังครัวเรือน ซึ่งจะเก็บเงินออมไว้เป็นกองกลางของหมู่บ้าน โดยผู้ดูแลกลุ่มผู้ใช้แก๊สชีวภาพจะเป็นผู้นำชมุชนและคณะกรรมการหมู่บ้าน มีทั้งหมด 11 คน
- กลุ่มเหล้าตอง จากการสัมภาษณ์เจ้าของร้านกาหลงการค้า (เก็บข้อมูลเดือนตุลาคม 2565) พบว่า เป็นกลุ่มที่ชาวบ้านพากันมาสร้างสรรค์ดื่มผ่อนคลายในช่วงตอนเย็นหรือหลังทำงานเสร็จ ชาวบ้านในหมู่บ้านจะดื่มเหล้าตองกันในช่วงเย็นเวลา 16.00 น. - 20.00 น. และส่วนน้อยที่จะดื่มในตอนเช้า ซึ่งส่วนใหญ่จะดื่มเหล้าตองที่ร้านกาหลงการค้า รองลงมาคือ ร้านลาบหลู้ฮิมตางสาขา 2 และสุดท้ายคือ พิยดาการค้า กลุ่มคนที่มาดื่มเหล้าตองส่วนมากจะเป็นชาวบ้านที่เป็นผู้ชาย และกลุ่มคนงานจะพากันดื่มบริเวณหน้าร้านละข้างร้านมีการดื่มเหล้าตองกันเป็นกลุ่มมีการพูดคุยสร้างสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน ส่วนผู้หญิงจะพบน้อย เพราะส่วนใหญ่ไม่ดื่มหน้าร้านจะซื้อดื่มไปที่บ้าน
1. นายหนานมูล วงศ์แดง หรืออุ้ยหนาน
นายหนานมูล วงศ์แดง หรืออุ้ยหนาน อายุ 93 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่บ้านเลขที่ 45 บ้านป่าไม้ ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ อุ้ยหนานมูล เกิดเมื่อปี 2474 ปัจจุบันไม่ได้ประกอบอาชีพ อาศัยอยู่กับภรรยาชื่อ นางผง วงศ์แดง และลูกชาย 1 คน ชื่อ นายบุญทา นางเมาะ โดยนายหนานมูล วงศ์แดงเป็นผู้พิการที่พยายามช่วยเหลือตัวเองเพื่อไม่ให้เป็นภาระของครอบครัว และครอบครัวของอุ้ยหนานมูล
ถอดบทเรียนจากการสัมภาษณ์นายหนานมูล วงศ์แดง โดยนิทานเรื่อง “ยังมีแสงสว่างในความมืดมิด”
นายหนานมูล วงศ์แดง หรือ อุ้ยหนาน เกิดเมื่อปี 2474 ซึ่งเกิดในครอบครัวที่มีฐานะยากจน หาเช้ากินคำเพื่อความอยู่รอด แต่ทางครอบครัวก็ได้ให้ความรัก ความเอาใจใส่ และสอนให้เป็นคนดีตั้งแต่เด็ก ๆ พอเริ่มเข้าสู่วัยเรียน ครอบครัวได้ส่งอุ้ยหนานเข้าไปเรียนที่โรงเรียนเปาสามขา และในตอนอายุ 7 ขวบอุ้ยหนานไปเป็นเด็กวัด ได้ตามหลวงตาจันทร์ ไปบิณฑบาตในทุก ๆ เช้า หลวงตาก็จะแบ่งอาหารให้อุ้ยหนานไปทานและแบ่งเผื่อไปให้ครอบครัวเป็นประจำ หลังจากตามหลวงตาจันทร์เสร็จ ก็จะไปเรียนตามปกติ หลังจากเลิกเรียนบางวันก็ไปรับจ้างเก็บใบยาสูบ เพื่อหารายได้เสริม อุ้ยหนานทำแบบนี้เป็นประจำจนกระทั่งจบ ป.4 พออุ้ยหนานอายุได้ 13 ปี หลวงตาจันทร์ได้ขอให้มาบวชเรียน ด้วยความที่อุ้ยหนานมีความนับถือหลวงตาเป็นอย่างมาก รวมกับทางครอบครัวสนับสนุน อุ้ยนานจึงเริ่มบวชเรียนตั้งแต่อายุ 13 ปี โดยมีหลวงตาจันทร์เป็นคนสอนบวชเรียน โดยอุ้ยหนานเรียนจบธรรมตรี ธรรมโท และยังไม่จบธรรมเอก อุ้ยหนานก็ศึก ด้วยเหตุผลที่ว่า แม่ล้มป่วย จึงศึกออกมาเพื่อช่วยงานที่บ้านตอนอายุ 22 ปี หลังจากศึกอุ้ยหนานได้ทำไร่ ทำสวน โดยการปลูกข้าว ปลูกแตงกวาง และผักต่าง ๆ โดยที่ที่ทำสวนเป็นที่ของญาติที่ให้ทำ แต่ทุกอย่างที่อุ้ยหนานทำไม่ได้ทำให้ครอบครัวมีฐานะที่ดีขึ้น แต่สามารถมีกินมีใช้ตลอด อุ้ยหนานและครอบครัวไม่เคยที่จะย่อท้อ เพราะมีการพูดคุยและให้กำลังใจกันอย่างเสมอ ทำให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ในทุก ๆ วัน
เมื่ออุ้ยหนานอายุได้ 25 ปี ได้แต่งงานกับนางผง วงศ์แดง หรือแม่ผงซึ่งเป็นภรรยาคนปัจจุบัน ผ่านไปหลายปีพ่อ แม่อุ้ยหนานก็เสียชีวิตไป (ไม่ทราบปี พ.ศ.) หลังจากพ่อแม่เสีย อุ้ยหนานได้ออกไปรับจ้างทั่วไปเป็นประจำ และเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัวเป็นหลัก ซึ่งอุ้ยหนานมีลูกทั้งหมด 8 คน เสียชีวิต 5 คน อีก 2 คนแยกไปอยู่กับครอบครัวใหม่ เหลือกันอยู่ 3 คน คือ อุ้ยหนาน แม่ผง และนายบุญทา และแล้วช่วงที่เลวร้ายที่สุดก็มาถึง พออุ้ยหนานอายุ 80 ปี ได้ตรวจพบว่าตัวเองเป็นต้อหิน อุ้ยหนานได้ไปรักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์โดยการไปสลาย ซึ่งครั้งแรกในการไปรักษาได้ติดรถแถวบ้านไป หมอได้นัดให้อุ้ยหนานไปทำซ้ำอีกครั้ง แต่อุ้ยหนานก็ไม่ได้ไป อุ้ยหนานได้บอกว่า ตอนนั้นไม่มีเงินที่จะจ้างรถไป และก็ไม่มีเงินพอที่จะรักษา ลูกก็ไม่ได้มีฐานะที่จะพาตัวเองไปได้ และในตอนนั้น ตาก็ยังมองเห็นเลยปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไม่ไปตามนัด หลังจากนั้นการมองเห็นก็เริ่มลดลงเรื่อย ๆ จนมองอะไรไม่เห็นเลยในช่วงอายุ 85 ปี พอทางผู้ใหญ่บ้านและ อสม. ทราบจึงได้พาอุ้ยหนานไปโรงพยาบาล ซึ่งคำตอบของหมอคือ ไม่สามารถที่จะรักษาได้แล้ว ต้องสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ณ ตอนนั้นที่อุ้ยหนานได้ยินคำพูดของหลวงตาจันทร์ก็โผล่ขึ้นมาว่า “อย่าใช้ชีวิตด้วยความประมาท จงมีสติในการใช้ชีวิตอยู่เสมอ” อุ้ยหนานจึงถามหมอไปว่า ควรทำอย่างไรต่อ ซึ่งหมอก็บอกคร่าว ๆ ว่า ต้องพยายามปรับตัว เราต้องใช้การสัมผัสแทน เพื่อเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ หลังจากกลับมาถึงบ้าน พอบอกครอบครัว ภรรยาได้บอกว่าค่อย ๆ ปรับตัวไปนะ ยังไงก็ไม่ทิ้งไปไหนแน่นอน ด้วยความที่ไม่อยากเป็นภาระแก่ครอบครัว อุ้ยหนานจึงเริ่มเรียนรู้ที่จะจำ และสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ว่าอยู่ตรงไหน โดยในช่วงแรกมี ภรรยาและลูกชายคอยช่วยเหลือ และหลัง ๆ มา หลานก็เริ่มมาหาและให้ความช่วยเหลือมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้อยู่กับอุ้ยหนานเป็นประจำ ในที่สุด อุ้ยหนานก็สามารถปรับตัวได้ สามารถทำกิจวัตรต่าง ๆ เช่น กินข้าว อาบน้ำ แต่งตัว ทานยาได้เอง และอุ้ยหนานได้บอกว่า ตอนนี้ไม่ได้คิดมากอะไรแล้ว เพราะถึงแม้จะมองไม่เห็นแต่ก็ยังทำสิ่งต่าง ๆ ได้อยู่ โดยมีครอบครัวคอยอยู่เคียงข้างเสมอ และไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวก็พอแล้ว ......... จบบริบูรณ์
จากการที่ได้ไปสัมภาษณ์ นางกาหลง ฝั้นตา ได้บอกว่าเหตุผลที่ฐานะทางบ้านของอุ้ยหนานยากจน เพราะว่า ตอนหนุ่ม อุ้ยหนานทำงานหาเลี้ยงครอบครัวอยู่คนเดียว ส่วนภรรยาเป็นแม่บ้านอยู่บ้านคอยทำอาหาร หรือทำงานบ้านต่าง ๆ ไม่เคยเห็นออกไปทำงานเลย เลยทำให้สร้างตัวได้ยากในสมัยนั้น แต่ทุกครั้งที่ไปหาอุ้ยหนานก็เห็นว่าทั้ง 2 คนมีการรักใครกันดี ไม่เคยได้ยินข่าวคือเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน ส่วนลูกที่แยกไปมีครอบครัวใหม่ก็ไม่รู้ว่ามาหาอุ้ยหนานเป็นประจำหรือไม่แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเห็นได้มา
สิ่งที่อยากจะฝากถึงคนรุ่นเดียวกันหรือรุ่นลูก ๆ หลาน ๆ
- อยากให้ทุกคนใส่ใจสุขภาพตัวเองมากกว่านี้ หากมีเงินไปก็ควรไปตรวจ อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปจนแก้ไขอะไรไม่ได้
- ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำมันก็จะผ่านมันไปได้
ภาษาไทยและภาษาเมือง (เหนือ)
ในปี พ.ศ 2527 ต.ออนกลาง และหมู่ 4 เริ่มมีไฟฟ้าเข้ามาใช้ โดยได้ขยายเขตมาจากบ้านเปาสามขาแล้วต่อมาที่บ้านวาก หมู่ 4 ในปี พ.ศ. 2531 สมัยของผู้ใหญ่บ้านประจักษ์ บุญมาแก้ว (อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4) ได้เห็นหมู่บ้านอื่นมีน้ำประปาภูเขาใช้ จึงได้นำหลักการที่ได้ไปเห็นนำมาพัฒนาภายในหมู่บ้านของตนเอง โดยใช้งบพัฒนาชุมชนนำไปซื้อท่อแล้วต่อเพื่อรับน้ำจากห้วยไม้งุ้นและห้วยบงนำมาใช้ภายในหมู่บ้าน ในปี พ.ศ. 2533 เนื่องด้วยพื้นที่บ้านวากมีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก ทำให้การจัดสรรงบประมาณมีได้ไม่ทั่วถึง ทางคณะกรรมการหมู่บ้านกับพ่อหลวงบ้านวาก หมู่ 4 (พ่อหลวงชำนาญ วุฒิวงศ์คำ) จึงได้มีการประชุมกัน ซึ่งขณะนั้นอดีตพ่อหลวงประวิตร ธนคำ ยังดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านวาก หมู่ 4 อยู่ หลังจากการประชุมและมีการลงมติกับชาวบ้าน เสียงส่วนใหญ่ลงมติให้มีการแยกหมู่บ้าน ดังนั้นจึงได้มีการแยกตัวออกจากบ้านวาก หมู่ 4 มาเป็นบ้านป่าไม้ หมู่ 10 โดยการมีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรลงชื่อโดยกำนัน พ่อหลวงคนแรกของบ้านป่าไม้ หมู่ 10 คือ พ่อหลวงมานิต ถาใจ หลังจากแยกหมู่บ้านก็เริ่มมีการขยายอาณาเขตของน้ำประปาและไฟฟ้าเข้ามาภายในบ้านป่าไม้ หมู่ 10
ในปี พ.ศ. 2546 มีนายทุนเข้ามาสร้างฟาร์มหมูบริเวณทางใต้ของหมู่บ้าน โดยได้มีการขออนุญาติการสร้างจากทางสภาตำบลอย่างถูกต้องเรียบร้อย จึงทำให้มีบางครัวเรือนประกอบอาชีพเลี้ยงสุกร
ในปี พ.ศ. 2547 สมัยพ่อหลวงสมัย หวันทิพย์ ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านป่าไม้ หมู่ 10 เกิดปรากฏการณ์ภัยแล้ง ทำให้น้ำไม่พอใช้ภายในหมู่บ้าน จึงได้มีการขุดสระของหมู่บ้านขึ้นบริเวณหลังศาลาประชาคม 1 สระ และทางด้านเหนือของหมู่บ้าน 1 สระ โดยใช้งบประมาณของหมู่บ้านเพื่อไว้สำหรับสำรองน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง แต่ขณะนั้นยังมีปัญหาในเรื่องของการแจกจ่ายน้ำคือยังไม่สามารถแจกจ่ายได้ไม่ทั่วถึง โดยประชาชนที่อยู่บนพื้นที่สูงขึ้นไปจะได้รับน้ำไม่เพียงพอ ปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวดีขึ้นหลังจากขุดสระ
ในปี พ.ศ. 2551 จากการสอบถาม นายจันทร์ทิพย์ ฝั้นตา ให้ประวัติว่ามีผู้เฒ่าผู้แก่มักพบเห็นแสงสว่าง ณ บริเวณยอดเขานั้น ร่วมกับได้มีพระธุดงธ์รูปหนึ่งมาปักกลด ณ บ้านวากหมู่ 4 และได้บอกกับชาวบ้านว่าที่ ณ บริเวณนั้นเป็นที่ดินศักดิ์สิทธิ์จึงทำให้ชาวบ้านเกิดศรัทธาเลื่อมใส พระครูวราคมเจ้าอาวาสวัดบ้านวากร่วมกับสามเณร มัคทายก คณะกรรมการวัดบ้านวากและชาวบ้าน ได้เริ่มมีการขึ้นไปปัดกวาด มีการสวดมนต์ ปฏิบัติธรรมในเทศกาลสำคัญต่าง ๆ และเวลาต่อมาได้เริ่มมีการจัดผ้าป่าและนำเงินที่ได้ไปสร้างเป็นสำนักสงฆ์เชิงอนุรักษ์ พระพุทธรูป เจดีย์ จุดชมวิว และอื่น ๆ หลังจากที่ได้ไปขออนุญาติจากทางกรมป่าไม้แล้ว และได้ตั้งชื่อว่า “ม่อนประทีป” (ม่อน=ดอยหรือเขา , ประทีป=แสงสว่าง) และบูรณะเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเชียงใหม่. (ม.ป.ป.). ข้อมูลการสำรวจชุมชน. เชียงใหม่: สาขาวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.
ประวิตร ธนคำ, สัมภาษณ์
จันทร์ทิพย์ ฝั้นตา, สัมภาษณ์
กาหลง ฝั้นตา, สัมภาษณ์