Advance search

บ้านตุ้มไฮ่

ศาสนสถานสำคัญของชุมชน "วัดบ้านตุ้มไร่" ที่ได้มีการขุดค้นพบช้างที่ทำด้วยหินบริเวณลานวัดตรงซุ้มประตูทางเข้า ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อวัดใหม่นามว่า "วัดช้างหิน"          

หมู่ที่ 8 ถนน 1193 บ้านแม่ต๋ำ - อ.แม่ใจ
ตุ้มไร่
ท่าจำปี
เมืองพะเยา
พะเยา
ขวัญเรือน สมคิด
10 เม.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
17 เม.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
2 พ.ค. 2023
บ้านตุ้มไร่
บ้านตุ้มไฮ่

ลักษณะของพื้นที่เป็นตุ้ม (บึงหรือแอ่งน้ำ) และมีประชาชนทำไร่ ทำสวนกันรอบๆ ตุ้ม


ชุมชนชนบท

ศาสนสถานสำคัญของชุมชน "วัดบ้านตุ้มไร่" ที่ได้มีการขุดค้นพบช้างที่ทำด้วยหินบริเวณลานวัดตรงซุ้มประตูทางเข้า ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อวัดใหม่นามว่า "วัดช้างหิน"          

ตุ้มไร่
หมู่ที่ 8 ถนน 1193 บ้านแม่ต๋ำ - อ.แม่ใจ
ท่าจำปี
เมืองพะเยา
พะเยา
56000
19.26289981
99.82347921
เทศบาลตำบลท่าจำปี

จากเอกสารความเป็นมาของหมู่บ้านตุ้มไร่ หมู่ที่ 8 และการสัมภาษณ์ผู้อาวุโสของหมู่บ้าน (นางนงเยาว์ เทพองค์)

ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของบ้านตุ้มไร่หมู่ที่ 8 ตำบลท่าจำปี อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา จากการบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า มีชาวบ้านที่อพยพมาจากจังหวัดเชียงราย ลำปาง จับจองที่ทำกิน และได้มาค้างแรมเพื่อเฝ้าไร่ของตนเอง ต่อมาจึงปลูกบ้านเรือนอยู่เป็นหลักแหล่งโดยเข้ามาก่อตั้งเมื่อนานมาแล้ว (จำปี พ.ศ. ไม่ได้) บ้านตุ้มไร่แต่เดิมตั้งอยู่หมู่ที่ 13 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย ลักษณะของพื้นที่จะเป็นตุ้ม (บึงหรือแอ่งน้ำ) และมีประชาชนทำไร่ ทำสวนกันรอบๆ ตุ้ม ซึ่งได้ผลผลิตดี ซึ่งจากที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ราบลุ่ม อุดมสมบูรณ์ ประชาชนที่มาทำไร่ ทำสวน จึงจับจองพื้นที่และบอกให้ญาติ ๆ มาอยู่ด้วยกัน เพื่อมาทำมาหากินที่นี่จึงได้ใช้ชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านตุ้มไร่” ตั้งแต่นั้นมา โดยมีทำเนียบผู้ใหญ่บ้าน ดังนี้

  1. นายอ้าย ไม่ทราบนามสกุล
  2. นายปั๋น มั่นคง
  3. นายลาด ช้างหิน
  4. นายศูนย์ วันสาม
  5. นายสูง คำพู
  6. นายบุญเกียรติ สุขแก้ว
  7. นายสุทัศน์ ดวงดี
  8. นายพล เข่งค้า
  9. นายสวัสดิ์ ชัยชนะ
  10. นายณรงค์ฤทธิ์ ชำนาญยา
  11. นางนวลจันทร์ สิงห์แก้ว

ต่อมา พ.ศ. 2425 พระสีร่วมกับชาวบ้านก่อตั้งวัดตุ้มไร่ ขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านตุ้มไร่ หลังจากนั้นทางวัดได้ขุดค้นพบช้างหินเป็นช้างสีขาว เนื้อหินทราย (จำปี พ.ศ. ไม่ได้) จึงเปลี่ยนชื่อวัดจาก“วัดตุ้มไร่”เป็น“วัดช้างหิน” ผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือนายอ้าย ไม่ทราบนามสกุล (จำปี พ.ศ. ไม่ได้)

ประมาณปี พ.ศ. 2497 มีรถจักรยานยนต์คันแรก วันที่ 31 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2502 วัดช้างหิน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

พ.ศ. 2520 อำเภอพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็น จังหวัดพะเยา นับเป็นจังหวัดที่ 72 ของประเทศไทย โดยแยกพื้นที่อำเภอพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ ออกจากการปกครองจังหวัดเชียงราย รวมตั้งขึ้นเป็น จังหวัดพะเยา

พ.ศ. 2525 กรมอนามัยได้เจาะบ่อบาดาล และมีการปรับปรุงด้านการจัดสร้างระบบประปาอีกครั้ง โดยก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านในพื้นที่ที่อยู่นอกเขตเทศบาลและเขตสุขาภิบาลเพื่อให้ประชาชนในชนบทห่างไกลได้มีน้ำสะอาดจากระบบประปาใช้

พ.ศ. 2529 เริ่มมีไฟฟ้า

วันที่ 17 ตุลาคม 2529 ตั้งตำบลท่าจำปี แยกออกจากตำบลบ้านต๊ำ แยกมาจำนวน 7 หมู่บ้าน อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

พ.ศ. 2530 ได้เริ่มเปิดให้บริการอนามัยท่าจำปี

พ.ศ. 2535 มี อสม. คนแรกชื่อนายน้อยทอน ดวงดี และมีการรวมกลุ่มแม่บ้าน

พ.ศ. 2538 มีการสร้างถนนคอนกรีต

พ.ศ. 2541 มีการจัดตั้งกลุ่มจักสาน (กลุ่มจักสานหมวก)

พ.ศ. 2542 มีการจัดตั้งคมนาคมหมู่บ้าน

พ.ศ. 2543 มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ (กข.คจ.) จัดตั้งกลุ่มทำตุ๊กตาชาวเขา จัดตั้งกลุ่มเย็บผ้านวม

พ.ศ. 2545 มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ (กองทุนหมู่บ้าน) มีการจัดตั้งกลุ่มพัฒนาชุมชน (อส.)

พ.ศ. 2555 มีผู้ใหญ่บ้านผู้หญิงคนแรก นางนวลจันทร์ สิงห์แก้ว จนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2556 รพ.สต.ท่าจำปีย้ายมาอยู่หมู่ 3 ต.ท่าจำปี

อาณาเขตติดต่อ บ้านตุ้มไร่ หมู่ที่ 8 มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านร่องช้าง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านสัน หมู่ที่ 9 ตำบลท่าจำปี อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านห้วยบง ตำบลแม่ปืม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านตุ้มดง หมู่ที่ 7 ตำบลท่าจำปี อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

สภาพลักษณะภูมิประเทศ

สภาพลักษณะภูมิศาสตร์โดยทั่วไปของ บ้านตุ้มไร่ หมู่ที่ 8 ตำบลท่าจำปี อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ทิศตะวันตกมีพื้นที่ป่าไม้และภูเขาล้อมรอบ ทิศเหนือและทิศใต้เป็นที่ราบสูงสลับภูเขา บริเวณตั้งถิ่นฐานของหมู่บ้านเป็นพื้นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การทำนา เกษตรกรมีการปลูกพืชหลัก คือ ข้าวเหนียว และข้าวเจ้า มีลำน้ำอิงไหลผ่าน และมีน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตุ้ม เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคที่สําคัญ ไหลผ่านลำห้วยในหมู่บ้าน บ้านตุ้มไร่เป็นแหล่งชุมชนอุดมสมบูรณ์ จึงมีพื้นที่เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยตั้งถิ่นฐาน

สภาพพื้นที่และขนาดพื้นที่

บ้านตุ่มไร่ หมู่ที่ 8 มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด ในหมู่บ้าน 122 หลังคาเรือน ตามทะเบียนบ้าน มีจำนวน 96 หลังคาเรือน แบ่งเป็นหลังคาเรือนที่มีประชาชนอยู่จริง 117 หลังคาเรือน และมีบ้านว่าง 5 หลังคาเรือน ซึ่งบ้านที่ว่างเหล่านี้เจ้าของบ้าน ไปทำงานต่างจังหวัด และส่วนใหญ่มีคนดูแลบ้านให้ ซึ่งเป็นญาติพี่น้องกันหรือเป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียง (ข้อมูล : จากการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานของครัวเรือน) บ้านตุ้มไร่ หมู่ที่ 8 มีพื้นที่โดยรวม 1,000 ไร่ พื้นที่ 2 ใน 3 ของหมู่บ้านเป็นพื้นที่ ทำการเกษตร ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยและพื้นที่สาธารณประโยชน์

สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน เป็นบ้านสองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้ โดยชั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างเป็นปูน บ้านเรือนแต่ละหลังล้อมรอบด้วยรั้ว เพื่อแสดงขอบเขตของบ้านแต่ละหลังและมีบ้านบางหลังที่ ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ สภาพบ้านเรือนในปัจจุบันจึงมีความมั่นคงถาวรมีรั้วกั้นแสดงขอบเขตของแนวที่ดิน พื้นที่รอบบ้านแต่ละหลังส่วนใหญ่ จะมีพืชผักสวนครัวปลูกไว้รับประทานเอง จะมีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่จะเป็นวัว ไว้ภายในบริเวณบ้านโดยมีคอกสัตว์ขังไว้ ต้นไม้ที่นิยมปลูกในบริเวณบ้านส่วนใหญ่จะเป็น มะขาม มะม่วง ลำไย ซึ่งนิยมปลูกแทบจะทุกครัวเรือน การตั้งบ้านเรือนตั้งตามถนนภายในหมู่บ้านที่แบ่งเป็น 4 ซอย มีซอยที่ 1-4 ถนนภายในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กร่วมกับมีถนนดินลูกรังเป็นเส้นทางที่ใช้เข้าไปในทุ่งนา และมีไฟฟ้าภายในหมู่บ้านทำให้ประชาชนสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

ในอดีตประชาชน มีอาชีพเกษตรกร คือ การทำนาเป็นหลัก ในปัจจุบันประชาชนก็ยังคงทำนา และจะทำไร่ทำสวนตามฤดูกาล ประชาชนที่ไม่มีนา ก็จะรับจ้าง เช่น ก่อสร้าง เป็นต้น

การคมนาคม

การเดินทางจากอำเภอเมืองพะเยาเข้าสู่บ้านตุ่มไร่ ถนนสายหลัก คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1193 (แม่ต๋ำ-แม่ใจ) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1127 (แยกทางหลวงหมายเลข 1 ท่าเรือ-บ้านต๊ำ) อยู่ห่างจากอําเภอเมืองพะเยา ประมาณ 11 กิโลเมตร

การเดินทางเข้าหมู่บ้านตุ่มไร่ หมู่ที่ 8 ต.ท่าจาปี อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา การเดินทางเริ่มจากตัวเมืองพะเยาไปทางทิศเหนือ 550 เมตร ตามถนนสายเอเชีย (พหลโยธิน) เลี้ยวซ้ายทางแยกไฟแดงบ้านร่องห้าเข้าสู่ถนนสายเอเชีย (พหลโยธิน) 1 (AH2) 3 กิโลเมตรถึงบ้านท่าเรือ ทางแยกบ้านต๊ำ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนหมายเลข 1127 ไปอีก 4 กิโลเมตร ถึงสี่แยกบ้านต๊ำ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนหมายเลข 1193 ไปอีก 4 กิโลเมตร ก่อนถึงทางแยกเพื่อเลี้ยวเข้าหมู่บ้าน มีจุดสังเกตทางซ้ายมือ คือ ป้ายทางเข้าโรงเรียนชุมชนบ้านตุ่มท่า อ.ท่าจำปี เลี้ยวขวาจะพบจุดสังเกตคือป้ายบอกทางเข้าหมู่บ้านอีก 500 เมตร เมื่อมาถึงหมู่บ้านจะพบวัดช้างหิน

บ้านตุ่มไร่ หมู่ที่ 8 ตำบลท่าจำปี อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนถนนสาย 1193 บ้านแม่ต๋ำ อำเภอแม่ใจ การเดินทางภายในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตรอบหมู่บ้าน มีถนนดินลูกรังอยู่ท้ายหมู่บ้านติดต่อกับพื้นที่ในการทำการเกษตร การติดต่อภายในหมู่บ้านและการเดินทางไปสวนไร่นาประชาชนจะเดินและใช้รถจักรยานเป็นส่วนใหญ่ การเดินทางติดต่อกับหมู่บ้านข้างเคียงใช้ถนนภายในหมู่บ้านและถนนสายหลักหน้าหมู่บ้าน

บ้านตุ้มไร่ หมู่ 8 ตำบลท่าจำปี อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา พ.ศ. 2560 มีรายได้ระหว่าง 38,000 – 65,000 บาท/ปี มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 71.88 % รองลงมาคือ มีรายได้มากกว่า 65,000 บาท/ปี คิดเป็นร้อยละ 20.83 รายได้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 38,000 บาท/ปี น้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 7.29 ตามลำดับ

ชุมชนบ้านตุ่มไร่ หมู่ 8 ตำบลท่าจำปี อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา มีองค์กรในการบริหารจัดการดูแลภายในหมู่บ้าน ซึ่งมีคณะกรรมการหมู่บ้านในการดำเนินการเป็นหลัก โดยมี นางนวลจันทร์ สิงห์แก้ว เป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านตุ่มไร่ หมู่ 8 

ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเนื่องจากหมู่บ้านมีพื้นที่ติดทุ่งนา มีแอ่งน้ำในการทำการเกษตร 

  • รายได้ของประชาชน : การทำนา, ปลูกกระเทียม, ค้าขาย, เบี้ยยังชีพ, รับจ้างทั่วไป, เบี้ยยังชีพ, เงินจากลูกหลาน, หัตถกรรม (ไม้กวาดทางมะพร้าว), รับราชการ, พนักงานบริษัท, ปลูกลิ้นจี่, ขายลำไย, ขายไข่ไก่
  • รายจ่ายของประชาชน : ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าน้ำมัน, ค่าโทรศัพท์, ค่าเล่าเรียนบุตร, ค่าอุปโภคบริโภค, ค่าหวย, ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีทางการเกษตร, ค่าบุหรี่-สุรา
  • หนี้สินประชาชน : หนี้ ธกส. , หนี้กองทุนหมู่บ้าน

สภาพทางเศรษฐกิจ บ้านตุ้มไร่ หมู่ 8 ต.ท่าจำปี อ.เมือง จ.พะเยา

ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ ทำนา (ข้าวเหนียว กข 06, ข้าวหอมมะลิ 105), ทำสวน (ยางพารา), ทำไร่ (มันสำปะหลัง) ควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วัวพันธุ์ผสม, พันธุ์บรามัน, พันธุ์ชาโลเล่ และหมู นอกจากนั้นมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ค้าขาย และข้าราชการ ตามลำดับ ดังนั้นรายได้ส่วนใหญ่จึงได้มาจากการขายผลผลิตทางการเกษตร ส่วนอาชีพเสริมหลังช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทางเกษตรกรรม ได้แก่ อาชีพรับจ้างทั่วไป ผลิตภัณฑ์ชุมชนได้จากกลุ่มส่งเสริมอาชีพภายในชุมชน ได้แก่ กลุ่มผ้าเช็ดเท้า เปลนอน (โดยกลุ่มแม่บ้านและผู้สูงอายุ), กลุ่มจักสานหมวกไม้ไผ่ (โดยกลุ่มแม่บ้าน), กลุ่มเย็บกระเป๋าผ้า(โดยกลุ่มแม่บ้านและผู้สูงอายุ), โรงสีชุมชน (โดยชาวบ้านดำเนินการกันเอง) นอกจากนี้ยังมีรายได้จากส่วนอื่น ๆ เช่น หาของป่าขาย (หน่อไม้, ไข่มดแดง) หาสัตว์น้ำตามธรรมชาติแบ่งขาย เช่น ปลา รวมถึงการปลูกผักสวนครัวหากมีจำนวนมากเหลือกินก็จะแบ่งขาย

ในช่วงกลางวันประชาชนจะอยู่บ้านเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ออกไปรับจ้างทำงานนอกบ้าน เช่น กรรมกรก่อสร้าง ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ค่อยดีการทำมาค้าขายได้เงินน้อย ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ประชาชนมีภาระหนี้สิน ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรค่อนข้างสูง จึงใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 10,000-25,000 บาท/คน/ปี รายจ่ายของประชาชน คือค่าดำรงชีพ ค่าสาธาราณูปโภค ค่างานสังคม ค่าส่งเสียบุตรในการเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ หนี้สิ้นของประชาชน ส่วนใหญ่เป็นหนี้ของกองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน (กองทุนเงินล้าน, กองทุน กขคจ.) สหกรณ์การเกษตรและหนี้กู้ยืมของ ธกส. แหล่งเงินทุน คือ กองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน สหกรณ์การเกษตรและ ธกส.

ปราชญ์ขาวบ้าน

ปราชญ์ชาวบ้านด้านเกษตร

  • นางธัญญชล กูลธนะ  ชำนาญด้านเกษตรอินทรีย์

ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน

  • นายสวัสดิ์ สุขแก้ว  ชำนาญด้าน หมอเป่า

ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรม

  • นายใจ สีราช  ชำนาญด้าน การเรียกขวัญ

ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม

  • นางแก้วดี ใจเที่ยง  ชำนาญด้านจักสาน

แหล่งน้ำสาธารณะ

แหล่งน้ำสาธารณะมี 2 แหล่ง ประชาชนใช้ประโยชน์จากลำน้ำอิงและบวกแซะในการเกษตร ลำน้ำอิงจะไหลผ่านร่องนาเป็นลำน้ำยาว ซึ่งลำน้ำอิงมีลักษณะทางภูมิศาสตร์คือมีพื้นที่ 7,388 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 2 จังหวัดภาคเหนือตอนบน คือ พะเยาและเชียงราย ซึ่งมีเขตพื้นที่ในเขตอำเภอพาน อำเภอป่าแดด อำเภอเทิง อำเภอขุนตาล อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายและในเขตอำเภอแม่ใจ อำเภอเมือง อำเภอดอกคำใต้ อำเภอภูกามยาว อำเภอจุน อำเภอภูซางและอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา มีทั้งป่าต้นน้ำคือ ดอยหลวงและกว๊านพะเยาเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ รวมทั้งที่ราบสูงสลับกับที่ราบลุ่มบริเวณเทือกเขาดอยหลวง และที่ราบลุ่มรอบ ๆ บริเวณกว๊านพะเยา ลุ่มน้ำอิงตอนกลาง ลุ่มน้ำอิงตอนกลางเริ่มจากประตูระบายน้ำกว๊านพะเยาจนถึงอำเภอเทิง ในส่วนของบวกแซะเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ที่ประชาชนใช้ในการเกษตร เกิดจากเดิมบวกแซะเป็นแอ่งน้ำขนาดเล็กที่เป็นแหล่งน้ำดื่มของวัวที่ประชาชนได้นำไปเลี้ยง เมื่อเวลาผ่านไปแอ่งน้ำได้ขยายขนาดขึ้น จนเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้ในการเกษตรถึงปัจจุบัน

โรงสีชุมชน

โรงสีชุมชน 1 แห่ง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2559โดยได้รับงบประมาณจากกองทุนประชารัฐ เพื่อเป็นแหล่งประโยชน์ให้ประชาชนใช้ในการสีข้าว ทั้งข้าวสาร ข้าวกล้อง ซึ่งผู้ใหญ่บ้านให้ความสำคัญเรื่องการดูแลสุขภาพของประชาชนในหมู่บ้าน

วัดช้างหิน

วัดช้างหินตั้งอยู่เลขที่ 42 หมู่ 8 ตำบลท่าจำปี อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย ที่ดินตั้งวัด มีเนื้อที่ ตั้งวัด 2 ไร่ 3 งาน 25 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือ ประมาณ 35 วา ติดที่ดินเอกชน ทิศใต้ประมาณ 35 วา ติดถนนสาธารณะ ทิศตะวันออกประมาณ 30 วา ติดร่องน้ำ ทิศตะวันตกประมาณ 35 วา เอกชน ที่ธรณีสงฆ์จำนวน 40 แรง มีเนื้อที่ 1 ไร่ 4 งาน 5 ตารางวา อาคารเสนา สนะประกอบ พระอุโบสถ์ ศาลาปฏิบัติธรรมเก้าห้อง กุฏิสงฆ์ หอระฆัง ปูชนียวัตถุ มีพระพุทธรูปทอง ช้างหิน และเจดีย์ วัดช้างหินสร้างเมื่อ 2425พระสีร่วมกับชาวบ้านก่อตั้งวัดตุ้มไร่ ขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านตุ้มไร่ หลังจากนั้นทางวัดได้ขุดค้นพบช้างหินเป็นช้างสีขาว เนื้อหินทราย (จำปี พ.ศ.ไม่ได้) จึงเปลี่ยนชื่อวัดจาก“วัดตุ้มไร่”เป็น“วัดช้างหิน” และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2502

แหล่งบริการสาธารณสุข

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าจำปี เดิมตำบลท่าจำปีอยู่ในเขตการปกครองของตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 มีการแบ่งเขตการปกครองตำบลขึ้นมาใหม่ โดยตั้งชื่อว่า 

“ตำบลท่าจำปี” รับผิดชอบหมู่บ้านจำนวนทั้งสิ้น 11 หมู่บ้าน ในปี พ.ศ. 2530 ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างสถานีอนามัยตำบลท่าจำปีแห่งใหม่ บนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ซึ่งได้รับบริจาคที่ดินจาก นายคำตั๋น โตปินใจ และนางคำ มินบำรุง ทั้งนี้ได้เปิดให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2530 มีนางสาววรวรรณ คำดี เป็นหัวหน้าสถานีอนามัยตำบล ท่าจำปีคนแรก จนกระทั่งในปี 2554 ทางรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายในการยกฐานะสถานีอนามัยตำบลท่าจำปี ขึ้นเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อพัฒนาปรับปรุงหน่วยบริการให้มีคุณภาพมาตรฐานมากยิ่งขึ้นและเป็นที่ยอมรับของประชาชน ในปีเดียวกันทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าจำปี ได้ร่วมกับผู้นำชุมชน อสม. และประชาชนในพื้นที่รวมถึงผู้มีจิตศรัทธาจัดทำผ้าป่าสามัคคี รวบรวมเงินบริจาคจัดซื้อที่ดินแปลงใหม่ ซึ่งอยู่ติดกับเทศบาลตำบลท่าจำปีทางทิศเหนือ เนื้อที่จัดซื้อทั้งหมด 3 ไร่ 90 ตารางวา และได้รับงบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็งปี 2554 ในการก่อสร้างอาคารสำนักงานหลังใหม่ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2554 แล้วเสร็จในเดือน สิงหาคม 2555 สามารถเปิดให้บริการแก่พี่น้องประชาชนได้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2556 เป็นต้นมา ปัจจุบันตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าจำปี บ้านเลขที่ 102 หมู่ที่ 3 ตำบลท่าจำปี อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา การให้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าจำปีมุ่งเน้นการบริการในระดับปฐมภูมิ (Primary care) เป็นการให้บริการแบบผสมผสาน ทั้งด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเบื้องต้น การส่งเสริม การควบคุมและการป้องกันโรค

ภาษาพื้นเมืองล้านนา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จริยาวัตร คมพยัคฆ์. (2556). การพยาบาลชุมชนและการรักษาเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

พิมพ์พรรณ ศิลปะสุวรรณ. (2555). ทฤษฎี-ปรัชญาความรู้สู่การปฏิบัติในงานพยาบาลอนามัยชุมชน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

ราชกิจจานุเบกษา. (2549). ประกาศจังหวัดพะเยา เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน. เล่ม 123 ตอน พิเศษ 128 ง. 13 ธันวาคม 2549.

ราชกิจจานุเบกษา. (2556). ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลบ้านต๊ำ อำเภอ เมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. เล่ม 130 ตอนพิเศษ 45 ง. 5 เมษายน 2556.

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน - ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.

บุญศิริ สุขพร้อมสรรพและอาทิตย์ ลิมปิยากร. (2564). ภูมินาม-ภาพสะท้อนเมืองพะเยา. วารสารวิชาการเพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่. 2(1). 88-94.

นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 29. (2564). รายงานการวินิจฉัยชุมชนบ้านตัมไร่ หมู่ 8 ตำบลท่าจำปี อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา.