Advance search

ชุมชนบ้านขี้นาค ชุมชนโบราณที่ก่อตั้งชุมชนมีอายุมากกว่า 121 ปี เป็นชุมชนชาวกูยที่อพยพโยกย้ายมาตั้งรกรากจนเกิดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่น่าสนใจ

หมู่ที่ 6
บ้านขี้นาค
ตูม
ปรางค์กู่
ศรีสะเกษ
สุพิชญา สุขเสมอ
2 พ.ค. 2023
สุพิชญา สุขเสมอ
2 พ.ค. 2023
บ้านขี้นาค

สาเหตุที่ได้ชื่อว่า "ขี้นาค" เพราะปรากฏว่ามีตัวนาคกินปลามาขี้ทิ้งไว้บริเวณชุมชนเป็นจำนวนมาก จึงได้ชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านขี้นาค"


ชุมชนบ้านขี้นาค ชุมชนโบราณที่ก่อตั้งชุมชนมีอายุมากกว่า 121 ปี เป็นชุมชนชาวกูยที่อพยพโยกย้ายมาตั้งรกรากจนเกิดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่น่าสนใจ

บ้านขี้นาค
หมู่ที่ 6
ตูม
ปรางค์กู่
ศรีสะเกษ
33170
14.916997
104.018125
องค์การบริหารส่วนตำบลตูม

ความเป็นมาของชุมชน

บ้านขี้นาค มีความสัมพันธ์ภายในชุมชนระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน โดยเริ่มต้นก่อตั้งบ้านขี้นาค เมื่อ พ.ศ2435 ในส่วนวัดนาครินทร์ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2445 ปีขาล ด้านโรงเรียนบ้านขี้นาค สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2482 ปีเถาะ จากคำบอกเล่า กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2438 ยายละครได้ย้ายถิ่นฐานมาจากบ้านจังเกา บ้านอาเราหรือบ้านรำปง อำเภอ ศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ หรือ บ้านมะออม อำเภออุทุมพรพิสัย เร่ร่อนมาตามริมห้วยวะ ยายละครถูกขับไล่ออกมาจากหมู่บ้านเพราะเขาลือกันว่ายายละครเป็นผีปอบ ในส่วนผู้เฒ่าผู้แก่เชื่อว่าได้อพยพมาจากหมู่บ้านมะออม อำเภออุทมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ และได้มีคนอื่น ๆ อพยพติดตามมาอยู่ด้วยรวม 5 หลังคาเรือน จึงได้ตั้งถิ่นฐานภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านขี้นาค

การอพยพย้ายถิ่น

เดิมทีบ้านขี้นาคมี 5 หลังคาเรือน ต่อมาปี พ.. 2442 มีการขยายตัวของครัวเรือนเพิ่มขึ้นจำนวนประมาณ 27 หลังคาเรือน โดยมีแผนผังครัวเรือนในการก่อตั้งชุมชนบ้านขี้นาค ในยุคแรก (ภาพประกอบ)

เหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นในชุมชน

  • พ.ศ. 2438 : ยายละคร โยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณบ้านขี้นาคปัจจุบัน
  • พ.ศ. 2445 : ชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งวัดบ้านขี้นาคขึ้น โดยมีเจ้าอธิการนนท์ เตชปญฺโญ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
  • พ.ศ. 2482 : ก่อตั้งโรงเรียนบ้านขี้นาค โดยมีนายเส็ง มุ่งหมาย ตำแหน่งครูใหญ่คนแรก
  • พ.ศ. 2498 : เกิดภัยแล้งขึ้นในชุมชนบ้านขี้นาค ผลผลิตข้าวไม่ได้ผล ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานและบุกเบิกที่ดินทำกินแห่งใหม่ที่บ้านหนองย่างหมู อำเภอลำปลายมาศ (อำเภอหนองหงส์ในปัจจุบัน) จังหวัดบุรีรัมย์ ผลจากการเกิดภัยแล้งในปีนั้น ชาวบ้านบางส่วนได้ไปขอข้าวกินกับญาติมิตรในชุมชนอื่น ๆ ถึงอำเภอขุขันธ์ และอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
  • พ.ศ. 2499 : ชาวบ้านขี้นาคได้มีผู้คนอพยพไปที่บ้านโคกปรือ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อบุกเบิกพื้นที่ทำกินใหญ่ และหนีภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง
  • พ.ศ. 2504 : อำเภอปรางค์กู่ ได้แยกตัวมาจากอำเภอขุขันธ์ ยกระดับมาเป็นกิ่งอำเภอ อำเภอปรางค์คู่ บ้านขี้นาค แยกจากตำบลพิมาย มาสังกัดตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่
  • พ.ศ. 2510 : ชาวบ้านขี้นาคได้อพยพถิ่นฐานอีกครั้ง เพื่อไปบุกเบิกพื้นที่ทำกิน ไปอยู่บ้านร่มเย็น อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
  • พ.ศ. 2518 : รัฐบาลสมัยนายกคึกฤทธิ์ ปราโมช ดำเนินนโยบายเงินผัน สนับสนุนงบประมาณให้ชุมชนชาวบ้านขี้นาคดำเนินการขุดลองคลองส่งน้ำไปห้วยวะ ระยะทาง 800 เมตร เรียกว่า คลองคึกฤทธิ์ถึงปัจจุบัน
  • พ.ศ. 2519 : บ้านขี้นาค ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการให้เป็นหมู่บ้านพัฒนาดีเด่น มีการส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนา การส่งเสริมการเลี้ยงหม่อนไหม และได้รับรางวัลหมู่บ้านดีเด่น ระดับจังหวัด ในปีดังกล่าว
  • พ.ศ. 2530 : บ้านขี้นาค มีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรก โดยชาวบ้านสมทบเงิน 700 บาท ต่อครัวเรือนเพื่อใช้ไฟฟ้าดังกล่าว
  • พ.ศ. 2537 : รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณมิยาซาว่า เพื่อขุดลองคลองลำห้วยวะ ตั้งแต่ฝ่ายบ้านตรอก ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จนถึงฝ่ายบ้านขี้นาค โดยชาวบ้านได้บริจาคพื้นที่ให้มีการขุดลองหัวยวะ ขยายเขตห้วยวะให้กว้างขวางขึ้น เพื่อรองรับการใช้น้ำเพื่อการเกษตรในชุมชน
  • พ.ศ. 2537 : รัฐบาลได้สร้างถนนลาดยางวิ่งผ่านอำเภอห้วยทับทัน-ปรางค์กู่ ส่งผลให้การสัญจรมีความสะดวกสบายขึ้น
  • พ.ศ. 2540 : รัฐบาลจัดสรรงบประมาณโครงการกองทุนแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ) งบประมาณ 280,000 บาท ให้แก่ชุมชนบ้านขี้นาค เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนในการแก้ไขปัญหาความยากจนในหมู่บ้าน
  • พ.ศ. 2544 : รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณเงินกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 1 ล้านบาท
  • พ.ศ. 2545 : เกิดอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ในพื้นที่บ้านขี้นาค น้ำท่วมขึ้นจนถึงถนนใหญ่ สายห้วยทับทัน-ปรางค์ภู่
  • พ.ศ. 2547 : ชาวบ้านขี้นาคร่วมกันก่อตั้งวิทยุชุมชนคนปรางค์ 107.25 เมกเฮริต ที่ตั้งศาลาประชาคมบ้านขี้นาค ในปี พ.ศ 2555 ไห้ย้ายมาออกอากาศที่ อาคารวรรสารศาสน์ วัดนาครินทร์
  • พ.ศ. 2552 : ชาวบ้านเริ่มปลูกยางพารา มันสำปะหลังและอ้อย เพราะโรงน้ำตาลสุรินทร์มาขยายสาขาในพื้นที่ ตำบลข้างเคียง

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านขี้นาค ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอปรางค์กู่ระยะทางแยกมาจาก ทางหลวงชนบทหมายเลข 3103 เส้นทางปรางค์กู่-ห้วยทับทัน ถึงกิโลเมตรที่ 10 ห่างจากที่ว่าการอำเภอปรางค์กู่ 10 กิโลเมตร อยู่ห่างจากจังหวัดศรีสะเกษ 70 กิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อ บ้านหาด อำเภอห้วยทับทัน
  • ทิศใต้ ติดต่อ บ้านตะเภา อำเภอปรางค์ภู่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อ บ้านขี้นาค อำเภอปรางค์กู่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อ ลำห้วยวะ และบ้านโพธิ์สามัคคี ตำบลพิมายเหนือ อำเภอปรางค์กู่

สภาพนิเวศพื้นที่

สภาพนิเวศของหมู่บ้านขี้นาค เป็นหมู่บ้านที่ตั้งราบลุ่ม ลักษณะพื้นที่มีความแตกต่างกันบ้าง จำแนกเป็นที่ลุ่ม ที่โคก ซึ่งมีลักษณะการใช้ประโยชน์พื้นที่แตกต่างกันไป จากด้านทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก โดยจะมี

  • ลำห้วยวะ เป็นลำห้วยสายสำคัญ เป็นเส้นเลือดใหญ่ของชุมชนบ้านขี้นาค ชาวบ้านใช้ประโยชน์ลำห้วยในด้านการเป็นแหล่งอาหาร หาปลา และพืชผักอื่น ๆ ในด้านการเลี้ยงสัตว์ เป็นพื้นที่สำหรับโค-กระบือ และเป็นแหล่งน้ำอุปโภคแหล่งน้ำสำหรับผลิตประปาหมู่บ้าน ทางด้านการเกษตรมีการทำนาปรังโดยใช้น้ำจากลำห้วยวะ
  • พื้นที่ทำนาของชาวบ้านขี้นาค ซึ่งส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าวหอมมะลิเป็นหลัก ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย เป็นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่ผลผลิตข้าวเฉลี่ยไร่ละ 300 กิโลกรัม ชาวบ้านขี้นาคส่วนมากนิยมทำนาหว่านและใช้สารเคมี
  • พื้นที่โคก หรือเดิมเป็นป่าหัวไร่ปลายนา ป่าครอบครัวหรือพื้นที่ป่าที่มีเจ้าของจับจองแล้ว แต่ยังคงเป็นพื้นที่ซึ่งชุมชนยังคงมีการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าสาธารณะประโยชน์ ป่าดอนปู่ตา เป็นพื้นที่ที่คนในชุมชน มาร่วมประกอบพิธีกรรม การเซ่นไหว้ปู่ตาประจำปีๆละ 2 ครั้ง
  • พื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านขี้นาค ทั้ง 7 คุ้ม ลักษณะการตั้งบ้านเรือนเรียงรายไปตามความยาวของถนนสองข้างทาง ตั้งบ้านเรือนค่อนข้างห่างกัน อยู่บนพื้นที่ส่วนของตนเองหลังบ้านทุกครัวเรือน จะมีการปลูกพืชผักสวนครัว สมุนไพร เพื่อบริโภคในครัวเรือน
  • พื้นที่ทำนาของชาวบ้านขี้นาค ในพื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่ทำนาที่เป็นที่ดอนแตกต่างจากพื้นที่ทำนา ซึ่งเป็นนาลุ่มติดลำห้วย นาดอนในบางปีถ้าฝนไม่ตกตามฤดูกาล ก็จะได้ผลผลิตต่ำ เนื่องจากขาดน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าวหอมมะลิเป็นหลัก ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย เป็นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่ผลผลิตข้าวเฉลี่ยไร่ละ 300 กิโลกรัม ชาวบ้านขี้นาคส่วนมากนิยมทำนาหว่านและใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต

ลักษณะที่ตั้งหมู่บ้าน

ในส่วนที่ตั้งในหมู่บ้านได้แบ่งการปกครองออกเป็น 7 คุ้ม โดยให้แต่ละคุ้มมีโครงสร้างคณะกรรมการในการจัดการคุ้มของตนเองในทุก ๆ ด้าน ลักษณะการตั้งบ้านเรือนเรียงรายไปตามความยาวของถนนสองข้างทาง ตั้งบ้านเรือนค่อนข้างห่างกัน อยู่บนพื้นที่สวนของตนเอง โดยบ้านขี้นาคประกอบด้วยบ้านย่อย 3 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านขี้นาค บ้านดู่ บ้านดง 

ประชากร

จากข้อมูลจำนวนประชากรและจำนวนหลังคาเรือน จำแนกเป็นรายอำเภอและรายตำบล จังหวัดศรีสะเกษ ณ เดือนธันวาคม พ.. 2553 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ประชากรในตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ มีจำนวนประชากรทั้งหมด 6,191 คน เพศชาย 3,093 คน เพศหญิง 3,098 คน และมีการตั้งบ้านเรือน 1,301 ครัวเรือน

กลุ่มเครือญาติ

ระบบเครือญาติในชุมชนบ้านขี้นาค จากการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่บ้านขี้นาค จะมีสายตระกูลเดียวกันเป็นญาติพี่น้องกันเกือบทั้งหมู่บ้าน เนื่องจากในอดีตจะแต่งงานกันในชุมชนเป็นส่วนใหญ่ โดยมีกลุ่มนามสกุลสำคัญจำนวน 4 นามสกุล คือ กลุ่มนามสกุลชัยวิเศษ ไชยภา นาคนวล และทวีชาติ 

กูย

ชาวบ้านชุมชนบ้านขี้นาค มีอาชีพหลักทำนา ปลูกอ้อยและเริ่มมีการปลูกยางพารา วิถีการผลิตของชุมชนปรับเปลี่ยนสู่การผลิตในระบบสมัยใหม่ ทำการเกษตรแบบพึ่งพาสารเคมีมากขึ้น ใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน ชุมชนมีการรวมกลุ่มองค์กร ตามระบบการจัดตั้งของรัฐ มีบางกลุ่มที่ยังขาดการบริหารจัดการที่ดี แต่อย่างไรก็ตามชุมชนยังคงร่วมมือในกิจกรรมการทำนุบำรุงกิจการทางพระพุทธศาสนา โดยมีวัดนาครินทร์เป็นศูนย์กลางในการรวมพลังทางจิตใจของชุมชน

วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ลักษณะอัตลักษณ์ของชุมชนกูย บ้านขี้นาค

ชุมชนบ้านขี้นาค เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี และมีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาจาก หมู่บ้านชาวกูยในอำเภอศรีขรภูมิ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ โดยเป็นชุมชนชาวกูยที่สืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ วิถีการดำรงอยู่จากอดีตถึงปัจจุบัน ใช้ชีวิตโดยการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เนื่องจากทรัพยากรมีความอุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่ประกอบทำนา ในอดีตทำนาโดยการปักดำและใช้แรงงานควายในการไถนา ชาวกูยเคร่งครัดในเรื่องการตอบแทนบุญคุณ เช่น วันสงกรานต์ ลูกหลานต้องหาบน้ำไปให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายายอาบ พร้อมทั้งหาเสื้อผ้าใหม่ๆ ให้ผลัดเปลี่ยนเป็นประจำทุกปี เชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดามารดา ไม่ประพฤตินอกรีตนอกรอย การกินอยู่ของชาวกูยไม่นิยมกินของสุก ๆ ดิบ ๆ กินของปรุงสุกแล้วเป็นความเชื่อต่อ ๆ กัน ส่วนใหญ่กินข้าวสวย ไม่นิยมกินข้าวเหนียว

ด้านการแต่งกาย สตรีชาวกูยบ้านขี้นาคนิยมสวมใส่ผ้าไหมลายลูกแก้วซึ่งเรียกขานเป็นภาษากูยว่า ฮับแก็บ นิยมย้อมผ้าสีดำโดยมีกระบวนการย้อมผ้าโดยสีธรรมชาติ ย้อมมะเกลือ และนำสมุนไพรมาอบเสื้อให้มีกลิ่นหอมตามแบบฉบับของสตรีชาวกูยซึ่งเป็นกลิ่นที่หอมเย็นชื่นใจ ในหมู่สตรีผู้สูงอายุนิยมปรุงแต่งกลิ่นสมุนไพรสำหรับอบเสื้อให้หอมอยู่ตลอดเวลา ในด้านผ้านุ่ง นิยมนุ่งผ้าที่เป็นผ้าไหมทอมือที่มีความประณีตสวยงาม เรียกเป็นภาษากูยว่า ฉิกระวี สำหรับผู้ชายจะแต่งกายด้วยโสร่ง ซึ่งโสร่งลายเอกลักษณ์ชาวกูยนั้นต้องเป็นโสร่งที่มีสีสันเข้ม นิยมทอด้วยผ้าสีแดง น้ำเงิน ลายตัดคล้ายตาหมากรุกและสวมใส่เสื้อผ้าไหมทอมือสีขาว การแต่งกายของชาวกูยในปัจจุบัน มีการแต่งกายตามสมัยนิยม เมื่อมีงานจะมีการแต่งกายผ้าไหมหรือผ้าถุงบางส่วน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น

ชุมชนชาวกูยบ้านขี้นาคมีวัฒนธรรมประเพณีเฉพาะกลุ่มที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ประเพณีวัฒนธรรมชุมชนบ้านขี้นาคเป็นวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนชาวกุย ที่มีการสืบทอดส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น เป็นความเชื่อที่บรรพบุรุษถือปฏิบัติจากอดีตถึงปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากพราหมณ์บ้าง จากผีบ้าง โดยฮีตสิบสองหรือจารีตประเพณีประจำสิบสองเดือนที่สมาชิกในสังคมได้มีโอกาสร่วมชุมนุมกันทำบุญเป็นประจำเดือนทุก ๆ เดือนของรอบปี "ฮีต" มาจากคำว่า "จารีต" ถือเป็นจรรยาของสังคม ถ้าฝ่าฝืนมีความผิด เรียกว่า ผิดฮีต หมายถึง ผิดจารีต ซึ่งมีทั้งฮีตสิบสอง ในด้านความเชื่อในชุมชนชาวกูยเชื่อเรื่องผี เทวดา มาเกี่ยวข้องซึ่งมีข้าวจ้ำ ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการดำเนินพิธีกรรมต่าง ๆ ข้าวจ้ำ หมู่บ้านจะพิจารณาจากผู้อาวุโสในชุมชนที่ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นผู้มีคุณธรรมมีความรอบรู้ ทั้งนี้มีกิจกรรมในการเซ่นไหว้บวงสรวงในเทศกาลเกี่ยวกับความเชื่อของชุมชนชาวกูย

การแซนญะจูกส์ (ไหว้ปู่ตา) ปู่ตาเปรียบเสมือนผู้ปกปักรักษาหมู่บ้านให้อยู่ยืนเป็นสุขซึ่งหมู่บ้านขี้นาคมีศาลปูตาตั้งอยู่ทางค้านทิศเหนือของหมู่บ้านและบริเวณป่าชุมชนบ้านขี้นาค อีกหนึ่งแห่ง การเซ่นไหว้ปู่ตาจะทำให้หมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล การเซ่นไหว้ปู่ตา จะมีพิธีกรรมอยู่ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 และครั้งที่ 2 ในวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 6 ของทุกปี รำแกลมอ หรือ รำมอ แกลมอ เป็นพิธีกรรมเรียกตามภาษากูย ตรงกับพิธีกรรมการรำผีฟ้าของวัฒนธรรมของชาวอีสานเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งของชาวกูยที่ยังมีความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณ โดยเชื่อว่าผีมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก เชื่อว่าผีมอหรือผีบรรพบุรุษมีอำนาจในการควบคุมพฤติกรรม ซึ่งไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าผีมอจะทำให้อะไรเกิดขึ้นแก่ครอบครัวบ้างโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับความเจ็บป่วยได้ไข้ของคนในสายตระกูล

ภูมิปัญญาชาวกูย ความรู้ของชุมชนชาวกูย มีอยู่อย่างหลากหลายเป็นความรู้ที่ชุมชนสืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น ได้แก่ ภูมิปัญญาด้านสมุนไพรพื้นบ้าน การจักสาน อาหารพื้นบ้าน ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้ กำลังลดน้อยลง และผู้รู้ครูภูมิปัญญาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้น จึงเห็นว่าภูมิปัญญาในบางด้านสมควรให้มีการสืบสานถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจ เพื่อรักษาให้คงอยู่อย่างเหมาะสมกับยุคสมัย ตลอดจนต่อยอดให้เกิดการสร้างมูลค่าและเกิดรายได้ในทางเศรษฐกิจให้แก่คนในชุมชน

ด้านการใช้ภาษาของชาวบ้านขี้นาค มีการใช้ภาษากูย สถานการณ์การใช้ภาษากูยในชุมชนปัจจุบัน พบว่า ภาษากูยใช้มากในกลุ่มผู้สูงอายุและเริ่มลดน้อยลงในวัยเด็ก เนื่องจากปัจจุบันพ่อแม่มักสอนให้ลูกใช้ภาษาไทยเป็นหลัก เพื่อฝึกในการพูดก่อนวัยเรียน จะทำให้ลูกเข้าใจภาษาไทยได้ง่ายทั้งนี้กลุ่มผู้คนที่ใช้ภาษากูย เป็นพื้นฐานในการสื่อสารพูดคุย จะใช้ส่วนมากในช่วงอายุ 30 ปี ขึ้นไป และที่ใช้ประจำคือ ผู้สูงอายุ ในส่วนกลุ่มที่มีได้พูดภาษากูย ได้แก่ ช่วงอายุ คือ 3-6 ปี สาเหตุที่กลุ่มเด็กไม่สื่อสารโดยใช้ภาษากูยเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากผู้ปกครองและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ส่วนใหญ่เด็กมักจะจำคำศัพท์ภาษากูยไม่ได้จึงทำให้มีการพูดภาษาไทยปนกับภาษากูยการใช้ภาษากูยในชุมชนปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 60 ของประชากรในชุมชน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สรรณ์ญา กระสงข์. (2556). โครงการศึกษารูปแบบการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟู ภาษา ภูมิปัญญา วัฒนธรรมชาวกูย โดยกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกูย บ้านขี้นาค ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2566, จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2553). จำนวนประชากรและบ้าน จำแนกเป็นรายอำเภอ และรายตำบล จังหวัดศรีสะเกษ ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2553. ค้นจาก http://service.nso.go.th/nso/