ท่าเรือโบราณบ้านทุ่งกิ่ว เครือข่ายประมงพื้นบ้านกว๊านพะเยา
ทางเข้าหมู่บ้านฝั่งทิศตะวันตกมีลำเหมืองลึก ซึ่งไม่สามารถระบุความลึกได้ แต่ทราบว่าถ้าช้างเดินลงไปในเหมืองจะไม่เห็นตัวช้างเนื่องจากมีความลึกมากและมีลักษณะขอดกิ่วตรงกลางของลำน้ำ จึงได้เริ่มคิดชื่อหมู่บ้านเป็น "เหมืองกิ่ว" ต่อมาไม่นานจึงเปลี่ยนเป็น "ทุ่งกิ่ว" เพราะเหมืองอยู่บริเวณทุ่งนา จึงเป็นชื่อหมู่บ้าน “ทุ่งกิ่ว”
ท่าเรือโบราณบ้านทุ่งกิ่ว เครือข่ายประมงพื้นบ้านกว๊านพะเยา
จากการสัมภาษณ์พ่อหนา อินปัน นักปราชญ์ด้านวัฒนธรรมและความเชื่อของหมู่บ้านทุ่งกิ่ว และการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุในหมู่บ้านรวมทั้งการค้นคว้าเอกสาร โดยบ้านทุ่งกิ่ว หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยาจัดตั้งขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2410 เดิมทีก่อนมีการก่อตั้งหมู่บ้านมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งอพยพมาจากเชียงของ น่าน แพร่ ลำปาง มาตั้งที่อยู่อาศัย จากนั้นเริ่มมีการรวมตัวกัน หมู่บ้านจึงมีการขยายมากขึ้น ประกอบกับทางเข้าหมู่บ้านฝั่งทิศตะวันตกมีเหมืองลึก ซึ่งไม่สามารถระบุความลึกได้ แต่ทราบว่าถ้าช้างเดินลงไปในเหมืองจะไม่เห็นตัวช้างเนื่องจากมีความลึกมากและมีลักษณะขอดกิ่วตรงกลางของลำน้ำ จึงได้เริ่มคิดชื่อหมู่บ้านเป็นเหมืองกิ่ว ต่อมาไม่นานจึงเปลี่ยนเป็นทุ่งกิ่วเพราะเหมืองอยู่บริเวณทุ่งนา จึงเป็นชื่อหมู่บ้าน “ทุ่งกิ่ว”
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเมื่อหมู่บ้านมีขนาดใหญ่ขึ้นและประกอบกับคนในหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ จึงคิดริเริ่มสร้างวัด จึงได้มีการไปปรึกษากับเจ้าอาวาสวัดสูง (วัดศรีอุโมงค์คำ) ต่อมามีการอนุญาตให้สร้างวัด ในปี พ.ศ. 2514 สร้างวัด สร้างศาลา กุฏิ โบสถ์ วิหาร บริเวณที่สร้างวัดมีดินและทรายที่ไหลมาจากดอยมารวมกันเป็นดอนและได้นำดินและทรายบริเวณนั้นสร้างวัดโดยไม่ได้ซื้อเมื่อแล้วเสร็จจึงตั้งชื่อ "วัดศรีดอนเรือง" โดยมีพระเป็ก เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาและวัดถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านและโดยในสมัยนั้นบ้านทุ่งกิ่วอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าเมือง โดยมีหัวหน้าการปกครองเป็นเจ้าขุน ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองโดยมีพระราชบัญญัติการปกครองท้องถิ่นเมื่อปี พ.ศ. 2457 โดยผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อว่านายขุนสิทธิ์ แท่งหมึก ดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2463 และชาวบ้านทุ่งกิ่วส่วนใหญ่ในสมัยนั้นมีอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก เลี้ยงสัตว์ และการประมง
โดยก่อนปี พ.ศ. 2484 จะมีน้ำมากเฉพาะในฤดูฝน คือ ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายนของทุก ๆ ปี ปริมาณน้ำจะมีมากที่สุด ทำให้บวกหรือหนองที่อยู่ติด ๆ กัน มีน้ำล้นไหลบรรจบกันเป็นผืนน้ำ กว้างใหญ่สองผืน ผืนแรกเรียกว่า “กว๊านน้อย” อยู่ทางทิศตะวันตกเป็นร่องลำรางน้ำขึ้นไปขาน้ำแม่ตุ่น และเยื้องไปหาชายบ้านสันเวียงใหม่ ตอนที่สองเรียกว่า “กว๊านหลวง” อยู่ทางทิศตะวันออก ใกล้กับลำน้ำแม่อิงฝั่งขวา มีร่องผ่านกลางเชื่อมติดกัน ชาวบ้านเรียกลำรางนี้ว่า “แม่ร่องน้อยห่าง” บริเวณรอบกว๊านจะมี บวก หนอง อยู่รอบ ๆ กว๊าน และมีลำรางน้ำเชื่อมติดต่อกันตลอดกับแม่น้ำอิง เรียกว่า “ร่องเหี้ย” ไหลเชื่อมกว๊านหลวงกับแม่น้ำอิง ร่องน้ำ หนอง บวก บริเวณรอบกว๊าน และร่องน้ำที่เป็นแม่น้ำลำธารที่ไหลมาจากภูเขาเรียกลำห้วย เมื่อพ้นฤดูฝนปริมาณน้ำจะลดลงเรื่อย ๆ เหลืออยู่แต่ลำคลองหรือแม่น้ำที่ไหลลงสู่กว๊านน้อย กว๊านหลวง และตาม บวก หนอง ร่องน้ำต่าง ๆ เท่านั้น ส่วนฝั่งกว๊านทางทิศใต้และทิศเหนือน้ำจะแห้งขอด ในพื้นที่รอบ ๆ กว๊านจะมีชุมชนและวัด ตั้งอยู่เป็นจุด ๆ มีระยะทางห่างกันประมาณ 1-2 กิโลเมตร ชาวบ้านสามารถเดินจากชุมชนเหล่านี้เลาะลัดไปตามแนวสันดิน เพื่อติดต่อระหว่างชุมชนต่าง ๆ และเข้าสู่ตัวเมืองพะเยา ชาวบ้านทุ่งกิ่วได้อาศัยน้ำจากหนอง ลำห้วยต่าง ๆ ในการอุปโภคและบริโภค การหาปลาจากแหล่งน้ำต่าง ๆ จากลำห้วย หนอง และบวกในบริเวณกว๊าน ในการก่อสร้างทำนบ และประตูระบายน้ำกั้นลำน้ำอิงนั้น กรมประมงได้เล็งเห็นว่า หนองกว๊านในช่วงฤดูแล้งจะแห้งขอด ชาวบ้านจึงได้พากันมาจับสัตว์น้ำโดยไม่มีการควบคุม
นอกจากนี้หนองยังมีความตื้นเขินทุก ๆ ปี เนื่องจากโคลนตมที่ถูกชะล้างมาจากการทำนาในบริเวณรอบ ๆ กว๊าน ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2482 กรมประมงจึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำ บริเวณด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเมือง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2484 ทำให้น้ำท่วมไร่นา บ้านเรือน วัด โบราณสถาน โบราณวัตถุต่าง ๆ เสียหายเป็นจำนวนหลายพันไร่ หนองน้ำธรรมชาติเปลี่ยนไปเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีพื้นที่เฉลี่ย 17-18 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณกว่า 12,000 ไร่ หลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลี มีความเห็นว่า “กว๊าน” คือ “กว้าน” เพราะกว้านเอาน้ำจากห้วยหนอง คลอง บึง และแม่น้ำลำธารต่าง ๆ มารวมไว้ในที่แห่งเดียว ในภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ตะวันออกเฉียงเหนือว่า “กว้าน” ความหมายหนึ่ง หมายถึง ศาลากลางบ้าน หอประชุม สถานที่เหล่านี้เป็นที่สาธารณประโยชน์ร่วมกัน
วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทหารญี่ปุ่นก็เข้าเมืองไทยทางสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสมุทรปราการ ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็เข้าโจมตีเกาะฮาวาย ฟิลิปปินส์ และส่งทหารขึ้นบกที่มลายู และโจมตีสิงคโปร์ทางเครื่องบิน เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นได้ขอร้องรัฐบาลไทย ให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย เพื่อไปโจมตีพม่า และมลายูของอังกฤษโดยหวังจะรวมดินแดนที่ส่งกองทัพเข้ายึดดินแดนที่มีทรัพยากรจำนวนมาก ได้แก่ แคว้นรัฐฉาน (เชียงตุง เมืองพาน) รัฐกะยา รวมไปถึงเมืองตองยีและครึ่งใต้ของเมืองมัณฑะเลย์ในเขตประเทศพม่าอีกด้วย และขอให้ระงับการต่อต้านของคนไทยเสีย คณะรัฐมนตรีโดยมีจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็อนุโลมตามความต้องการของญี่ปุ่น เพื่อรักษาชีวิตและเลือดเนื้อของคนไทย ไทยได้ทำกติกาสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 สงครามที่เกิดขึ้นในเอเชียนี้เรียกกันว่า สงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นมีวัตถุประสงค์ จะสร้างวงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา (The Greater East Asia Co-prosperity Sphere) ทั้งในทางวัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย โดยมีญี่ปุ่นเป็นผู้นำ
ด้วยเหตุการณ์นี้เองทำให้กว๊านพะเยาเป็นฐานทัพของกองทัพญี่ปุ่นในสมัยนั้นและได้มีทหารไทยและญี่ปุ่นจำนวนมากที่อาศัยในฐานทัพโดยมีทหารเสนารักษ์ที่ชื่อ นายมณี บุษเลิศ เป็นคนบางกอกน้อยเป็นทหารเสนารักษ์มาประจำการที่ฐานทัพกว๊านพะเยาได้พบรักกับแม่ค้าขายอาหารชื่อ นางสีบุตร บุษเลิศ เป็นชาวบ้านบ้านทุ่งกิ่วหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงแต่งงานกันและนายมณี บุษเลิศ ย้ายมาอยู่ที่บ้านทุ่งกิ่วและมีวิชาการรักษาโรคจากการเป็นทหารเมื่อชาวบ้านทุ่งกิ่วเจ็บป่วยไม่สบายก็จะมารักษาโรคกับหมอมณีบุษเลิศหรือ หมอทหาร ที่ชาวบ้านเรียกกัน
จากนั้นได้มีโรงเรียนแห่งแรก ปี พ.ศ.2495 เกิดขึ้นของบ้านทุ่งกิ่วรวมกับหมู่บ้านสันกว๊าน โดยโรงเรียนนี้ชื่อว่า โรงเรียนบ้านสันกว๊านทุ่งกิ่ว ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านสันกว๊าน หมู่ 8 บ้านสันกว๊าน ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยาและถูกปิดลงในปี 2556 ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการเนื่องจากมีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คน
ในปี พ.ศ. 2497 วัดศรีดอนเรืองได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ 13 มีนาคม 2497 โดยมีเขตวิสุงประมาณกว้าง20 เมตร ยาว 70 เมตร ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดทุ่งกิ่ว ตามชื่อของหมู่บ้านเนื่องจากเจ้าคณะภาคมีการประกาศให้ทุกหมู่บ้านใช้ชื่อหมู่บ้านของตนเองในการตั้งชื่อวัด จึงมีการเปลี่ยนจากวัดศรีดอนเรือง เป็น วัดทุ่งกิ่ว จนถึงปัจจุบัน
จากนั้นจึงมีการพัฒนาหมู่บ้านเรื่อยมาซึ่งความเจริญได้เข้ามาสู่หมู่บ้านจนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2498 สมัยของพ่อหลวงบ้าน นายมณี บุษเลิศ ได้มีการนำดินใส่ล้อลากดินมาถมเป็นถนนเพื่อใช้ในการเดินทางโดยใช้เกรียนจึงเกิดความสะดวกสบายในการเดินทางมากขึ้นและในปี พ.ศ. 2499 มีการขุดบ่อสำรองน้ำใช้ประจำหมู่บ้านเพื่อกักน้ำสำรองใช้ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวบ่อน้ำประจำหมู่บ้านซึ่งปัจจุบันก็ยังคงใช้บ่อน้ำนี้ในการเก็บสำรองน้ำใช้
ในปี พ.ศ. 2500 โรงพยาบาลพะเยาได้เปิดให้บริการโดยเกิดเนื่องมาจากหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเข้าสู่การขยายระบบรักษาพยาบาลครั้งใหญ่ “รัฐบาลขณะนั้นเห็นว่า ควรให้ความสำคัญกับงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข และต้องดำเนินการโดยเร็ว เนื่องจากมองว่าการแพทย์และสาธารณสุขเป็นการเพิ่มคุณภาพให้กับประชากร ให้มีสุขภาพที่ดี ตามแนวคิด “รัฐเวชกรรม” จึงควรจัดให้มีโรงพยาบาล สุขศาลา สถานีบำบัดโรค และรัฐจะเป็นผู้จ้างแพทย์ ผู้ช่วยแพทย์ ตลอดจนบุคลากรด้านสาธารณสุข เพื่อดูแลสุขภาพรวมถึงการรักษาโรคให้กับประชาชน” ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว และจะเห็นได้ว่างานด้านการแพทย์และสาธารณสุขเริ่มได้รับความสำคัญในช่วงขณะนั้น ซึ่งต่อมาในปี 2485 ยังได้มีการจัดตั้งกระทรวงสาธารณสุขขึ้นและได้เดินหน้านโยบาย “สร้างโรงพยาบาลใหม่ในทุกจังหวัด” ต่อเนื่อง โดยมีการเสนอ “โครงการจัดตั้งโรงพยาบาลและสุขศาลา” ที่มุ่งให้มีการขยายโรงพยาบาลตามจังหวัดต่าง ๆ และสุขศาลาอย่างแพร่หลาย เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับการบำบัดรักษาและป้องกันโรคอย่างทั่วถึง ซึ่งขณะนั้นยังมีจังหวัดที่ไม่มีโรงพยาบาลมากถึง 37 จังหวัดและต่อมาในปี พ.ศ. 2490 ซึ่งมีการเปลี่ยนรัฐบาล การก่อสร้างโรงพยาบาลให้ครบทุกจังหวัดยังคงเดินหน้า แต่ครั้งนี้ได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ช่วยกำชับไปยังข้าราชการประจำท้องถิ่น โดยเฉพาะในจังหวัดที่ยังไม่มีโรงพยาบาล ให้เร่งดำเนินการจัดตั้ง ซึ่งมีการตั้งเป้าก่อสร้างใน 41 จังหวัด ที่ยังไม่มีโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์จัดตั้ง “จากการเดินหน้าจัดตั้งโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ทำให้โครงการจัดตั้งโรงพยาบาลครบทุกจังหวัดเกิดขึ้นได้จริงก่อน ปี พ.ศ. 2500 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยมี 72 จังหวัด แต่มีโรงพยาบาลที่จัดตั้งขึ้น 77 แห่ง ด้วยความช่วยเหลือจาก “USOM : United States Operation Mission) ซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือจากประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมกันนี้ยังได้มีการกำหนดเป้าหมายการขยายสาธารณสุขชุมชนต่อไป คือการจัดตั้งโรงพยาบาลอำเภอ หรือโรงพยาบาลชุมชน ให้ครบทุกอำเภอทั่วประเทศ เป็นยุคที่การสาธารณสุขรุ่งเรือง โดยนายมานพ วงค์เปียง เล่าว่า ตนเป็นผู้คลอดที่โรงพยาบาลคนแรกของหมู่บ้านโดยมารดาได้นั่งเรือแจวข้ามฝากเมื่อเจ็บครรภ์คลอดเพื่อไปคลอดที่โรงพยาบาลพะเยา
ในปี พ.ศ. 2504 การฝังศพในหมู่บ้านจะใช้กว๊านพะเยาฝั่งทิศใต้ในการเผาศพ ย้ายจากกว๊านพะเยามาใช้พื้นที่ป่าช้าของหมู่บ้านในการเผาศพ เนื่องจากน้ำในกว๊านมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาท่วมบริเวณที่ฝังศพ ชาวบ้านกลัวว่าจะเกิดโรคระบาดจึงย้ายสถานที่และเปลี่ยนจากการฝังมาเป็นการเผา โดยเริ่มจาก การนำอิฐมาก่อ ต่อมาจึงเริ่มมีการสร้างเมรุและเปลี่ยนมาใช้เมรุจนถึงปัจจุบัน ความเจริญของหมู่บ้านยังคงพัฒนาเรื่อยมา จนในปี พ.ศ.2507 จากการเล่าของผู้อาวุโสในหมู่บ้านทุ่งกิ่วบอกว่า มีโทรทัศน์เครื่องแรกที่บ้านพ่อคำ โดยใช้เครื่องปั่นไฟเป็นเครื่องผลิตไฟฟ้าจะเก็บเงินคนที่มาดูคนละสลึงไปซื้อนั้นที่ตลาด ลิตรละ 2 บาท 50 สตางค์ และต่อมาในปี พ.ศ.2516 เกิดอุทกภัยที่จังหวัดพะเยา เกิดน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่และบ้านทุ่งกิ่วซึ่งติดกับกว๊านพะเยาเกิดความเสียหายอย่างหนักทำให้วิหารวัดทุ่งกิ่วเสียหายพังทลาย จึงมีการรื้อวิหารและสร้างใหม่โดยมีพ่อหลวงโบ ประทุมวงศ์ ที่ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านทุ่งกิ่ว ณ ขณะนั้นเป็นผู้นำผ้าป่าจากกรุงเทพฯ ร่วมสร้างกับชาวบ้านทุ่งกิ่ว
จากนั้นมีการสร้างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านตุ่น ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เริ่มเปิดให้บริการประชาชนในพื้นที่ เมื่อปี พ.ศ. 2517 โดยขณะนั้นยังมีสถานะเป็นสำนักงานผดุงครรภ์บ้านตุ่นลางโดยนายอินทร์ สอนเผ่า ได้บริจาคที่ดินให้แก่ทางราชการจำนวน 1 ไร่ 1 งาน เพื่อสร้างเป็นที่ทำการฯ ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ได้ยกฐานะจากสำนักงานผดุงครรภ์เป็นสถานีอนามัยตำบล บ้านตุ่นโดยได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารที่ทำการเป็นแบบตึกชั้นเดียว ให้บริการประชาชนในเขตรับผิดชอบเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ. 2542 ได้รับงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขให้ก่อสร้างสถานีอนามัยทดแทนเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 150 ตารางเมตร ในปีต่อ ๆ มาสถานีอนามัยตำบลบ้านตุ่นได้ร่วมมือกับ อสม. ผู้สูงอายุ ประชาชนทั่วไป ร่วมกันพัฒนาปรับปรุงอาคารและบริเวณโดยรอบ เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายแก่ผู้มารับบริการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและได้เปลี่ยนจากสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อปฏิรูปสุขภาพคนไทยตามนโยบายของ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
และในปี พ.ศ. 2520 เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในวันที่ 28 กรกฎาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยาตาม พระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2520
จังหวัดพะเยา ตั้งขึ้นในวันที่ 28 สิงหาคม 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก
จังหวัดพะเยาเจริญรุ่งเรืองมีการพัฒนาทางด้านต่าง ๆ โดยได้เริ่มนำรถจักรยานยนต์มาใช้ในหมู่บ้านซึ่งจักรยานยนต์คันแรกคือ Honda MC 50 CC ของครูเนตรและเริ่มมีไฟฟ้าใช้ โดยเสาไฟฟ้าในสมัยนั้น จะใช้ไม้มาทำเป็นเสาไฟฟ้าและได้เปลี่ยนเสาไฟฟ้าจากเสาไม้เป็นเสาหินในปี พ.ศ. 2525 เพื่อให้สะดวกในการใช้งานมากขึ้น รวมทั้งมีตลาดเกิดขึ้นในหมู่บ้านเป็นครั้งแรกมีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าในหมู่บ้านทำให้เศรษฐกิจภายในหมู่บ้านดีขึ้น
ด้านสาธาณสุขในปี พ.ศ. 2520 กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มโครงการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในระยะแรกเป็นไปในลักษณะโครงการทดลองใน 20 จังหวัด โดยดำเนินการทดลองในทุกอำเภอ อำเภอละ 1 ตำบลและเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2522 คณะรัฐมนตรีลงมติอนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้เปลี่ยนคำว่า การสาธารณสุขเบื้องต้น เป็นสาธารณสุขมูลฐาน จึงมีการคัดเลือกอาสาสมัครสาธารณสุขคนแรกของหมู่บ้าน ซึ่งทำหน้าที่ในการติดต่อสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและคนในชุมชนทำให้เข้าถึงระบบสุขภาพได้ง่ายขึ้น โดย อสม.คนแรกของหมู่บ้าน ชื่อนายมานพ วงค์เปียง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธาน อสม.จากการสัมภาษณ์นายมานพ วงค์เปียงและได้มีการสร้างศาลาแหล่งเรียนรู้ของบ้านทุ่งกิ่วขึ้นในปี พ.ศ. 2530 โดยนายบุญรวม การดีที่ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านทุ่งกิ่ว ณ ขณะนั้น โดยเป็นศาลาสำหรับการอ่านหนังสือพิมพ์ ศาลาพักผ่อนหย่อนใจ การพบปะพูดคุยของคนในหมู่บ้าน
และเมื่อมีความสะดวกสบายมากขึ้นในหลาย ๆ ด้าน ในปี พ.ศ. 2540 การคมนาคมทางบกสะดวกยิ่งขึ้น จึงเลิกใช้เรือในการคมนาคมเนื่องจากเริ่มมีการใช้ถนนลูกรังในการคมนาคมขนส่งทางบกมากกว่าทางน้ำการพัฒนายังคงมาอย่างต่อเนื่อง ปี พ.ศ. 2545 ได้เริ่มสร้างรางน้ำหน้าบ้าน และได้ซ่อมแซมถนน โดยราดถนนเป็นคอนกรีตเสริมไม้ไผ่ทำให้การคมนาคมดีขึ้นและจากการสืบค้นความเป็นมาและรูปแบบการบริหารระบบประปาชนบทได้มีการสร้างประปาชนบทขึ้นโดยเกิดจากการดำเนินงานจัดหาน้ำสะอาดในชนบทที่ได้เริ่มดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า น้ำเป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพอนามัยที่ดี การมีน้ำสะอาดไว้ดื่มและใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเพียงพอ รวมทั้งการมีการสุขาภิบาลที่ดี ย่อมเป็นพื้นฐานในการทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บอันเนื่องมาจากน้ำ โครงการจัดหาน้ำสะอาดด้วยระบบประปาหมู่บ้าน ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ระยะของแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510 - 2514) รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานของรัฐทำการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านแต่ยังไม่ทั่วถึง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ คือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งถือเป็นองค์กรที่เป็นนิติบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และในปี พ.ศ. 2542 มีพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการในการถ่ายโอนภารกิจ งบประมาณ และอัตรากำลังของราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งหนึ่งในภารกิจดังกล่าว คือการให้มีน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนด้วยจึงทำให้ในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการสร้างประปาชนบทขึ้นที่หมู่บ้านทุ่งกิ่วตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของหมู่บ้านเพื่อใช้อุปโภคจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านในหมู่บ้านจะไม่ใช้น้ำกว๊านเพราะชาวบ้านคิดว่าน้ำสกปรกจากความเจริญของเมืองและผู้คนทิ้งน้ำเสียลงกว๊านพะเยา และในปี พ.ศ. 2550 เริ่มทำถนนรอบกว๊าน ซึ่งเป็นถนนดินแดง และเมื่อพ.ศ.2554 มีการสร้างถนน โดยเปลี่ยนจากถนนดินแดงเป็นถนนลาดยางใช้ทำให้เพิ่มเส้นทางการคมนาคมอีกหนึ่งเส้นทางจนถึงปัจจุบันและในปีเดียวนั้นเอง
อบต.บ้านตุ่น ได้เล็งเห็นความสำคัญของท่าเรือโบราณแห่งนี้ จึงได้มีการฟื้นฟูท่าเรือแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ด้วยงบประมาณกว่า 1.8 ล้านบาท ในการปรับปรุงก่อสร้างท่าเรือ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และฟื้นฟูความทรงจำในอาชีพของบรรพบุรุษ อันจะส่งผลให้เกิดความภาคภูมิใจ และรักในถิ่นที่อยู่ของพี่น้องประชาชน ทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด และที่สำคัญยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 ด้วย
โดยนำเรือโบราณตั้งไว้ที่หน้าหมู่บ้านและจากป้ายประวัติเรือโบราณหน้าหมู่บ้านมีเรื่องเล่ามาว่าได้มีการสร้างเรือโบราณโดย พ่อหลวงขาวแสง และพ่อมูล เครือสาร ซึ่งตัวเรือโบราณทำมาจากไม้สักเคียนมีความยาว 8 วา โดยสมัยก่อนใช้เรือลำนี้ไว้รับส่งคนและขนส่งสินค้าข้าม ซึ่งมีเรื่องเล่าต่อ ๆ มาว่า วันหนึ่งเป็นวันที่มีลมแรง ทำให้เรือเกิดพลิกคว่ำ ผู้โดยสารที่อยู่ในเรือรวมถึงผู้ที่พายเรือได้เสียชีวิตทั้งหมด 13 คน และในเดือนใดที่มีข้างขึ้น 15 ค่ำ และข้างแรม 15 ค่ำ ต้องมีการบูชาเรือแม่ย่านางเครื่องเซ่นไหว้จะต้องใช้ข้าวดำ และข้าวแดง ถ้าเดือนใดไม่มีการบูชาเรือ ชาวบ้านบอกว่าเรือจะลอยออกจากฝั่งไปปักหัวเรือลงเองกลางกว๊านพะเยา ถ้าได้มีการบูชาแล้วเรือก็จะโน้มตัวเรือลงมาแล้วลอยกลับเข้าฝั่งเอง จึงเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้ประกอบอาชีพประมงและอีกทั้งเป็นการจารึกความทรงจำในอดีตที่บรรพบุรุษได้ใช้ท่าเรือแห่งนี้หารายได้เลี้ยงลูกหลานจนมีชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวกว๊านพะเยา
ในปี พ.ศ. 2558 เกิดน้ำอุปโภคไม่เพียงพอต่อคนในหมู่บ้านจึงมีการสร้างประปาบาดาลขึ้น ตั้งอยู่ที่ข้างวัดในปัจจุบันเพื่อใช้ในกรณีที่น้ำไม่พอใช้ในงานเทศกาลต่าง ๆ และมีการบูรณะวัดครั้งที่ 10 จากความร่วมมือร่วมใจของคนในหมู่บ้านและคณะผ้าป่าจากกรุงเทพฯ ผู้มีจิตศรัทธาของผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาบูรณะวัดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2559 มีการฉลองโบสถ์อย่างยิ่งใหญ่
จากการสัมภาษณ์พ่อหลวง นายบุญทิศ ไทยกุล ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2560 มีการเกิดน้ำท่วมหมู่บ้านบ่อยครั้งการกัดเซาะดินของเหมืองที่ตัดผ่านหมู่บ้านจึงมีการก่อสร้างผนังกั้นตลิ่งแบบหินเรียงยาวแนวบ้านทุ่งกิ่วโดยงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตุ่นและรัฐบาลได้สนับสนุนโครงการเพิ่มศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนเพื่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ (15,000 ล้าน) กองทุนหมู่บ้านละ 200,000 บาท ทำให้บ้านทุ่งกิ่วมีการก่อตั้งกองทุนน้ำดื่มหยอดเหรียญโดยนำเงินมาลงทุนติดตั้งตู้กดน้ำดื่มสะอาดหยอดเหรียญจำนวน 3 ตู้ ทำให้ชาวบ้านได้ดื่มน้ำสะอาดทุกครัวเรือน
ผู้นำหมู่บ้านทุ่งกิ่ว ได้แก่
1. นายขุนสิทธิ์ | แท่งหมึก | พ.ศ. 2463 - 2481 |
2. นายตั๋น | พันธ์ปัญญา | พ.ศ. 2482 - 2483 |
3. นายปั๋น | ไชยทอง | พ.ศ. 2484 - 2489 |
4. นายมณี | บุษเลิศ | พ.ศ. 2490 - 2502 |
5. นายสว่าง | ไชยทอง | พ.ศ. 2503 - 2511 |
6. นายมณี | บุษเลิศ | พ.ศ. 2512 - 2514 |
7. นายโบ | ประทุมวงศ์ | พ.ศ. 2515 - 2520 |
8. นายบุญรวม | การดี | พ.ศ. 2521 - 2542 |
9. นายน้อย | แท่งยา | พ.ศ. 2543 - 2552 |
10. นายสมบัติ | ทำทอง | พ.ศ. 2553 |
11. นายกฤษณะ | แรกข้าว | พ.ศ. 2553 - 2559 |
12. นายบุญทิศ | ไทยกุล | พ.ศ. 2559 - ปัจจุบัน |
รายชื่อเจ้าอาวาสวัดบ้านทุ่งกิ่ว (ข้อมูลจาก พ่อหนา อินปัน)
1. พร ะเป๊ก พ.ศ. 2414 เริ่มก่อสร้างวัด |
2. พระปุ้ย |
3. พระหลวง (พ่อหนานหลวง) |
4. พระแก้วมา |
5. พระหน่อม พ.ศ. 2485 |
6. พระคำตัน (บวร ตันติวัตร เจ้าคณะตำบล) |
7. พระไพฑูรย์ |
8. พระจันทร์ |
10. พระสงคราม (ฐีปเปโม) พ.ศ. 2549 – ปัจจุบัน |
สภาพภายในหมู่บ้าน
หมู่บ้านทุ่งกิ่ว หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยาเป็นหมู่บ้านขนาดกลางมีจำนวน 126 ครัวเรือน (ตามข้อมูล จปฐ.ปี 2560) ที่ตั้งของหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่มสันดอนริมน้ำกว๊านพะเยา มีพื้นที่อยู่อาศัย 117 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 680 ไร่ ลักษณะทั่วไปของหมู่บ้านมีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มซอยแต่ละซอย ส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้องกัน ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่จึงเป็นบ้าน 2 ชั้นเป็นบ้านไม้ทั้งหลังมีใต้ถุนบ้าน เพื่อใช้ในการทำงานและพักผ่อนแต่ละบ้านจะมีเก้าอี้ไม้หรือโต๊ะหน้าบ้านเพื่อมาพบปะพูดคุยกันและมีรั้วกันอาณาเขตแต่ละหลังชัดเจน สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคง มีน้ำใช้และบริโภคตลอดทั้งปีและหมู่บ้านทุ่งกิ่วมีความอุดมสมบูรณ์ ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพ ประมง เนื่องจากมีพื้นที่ของหมู่บ้านติดกว๊านพะเยา จึงสามารถหาปลาได้ตลอดทั้งปี อาชีพเสริม คือการทำนาซึ่งมีแหล่งต้นน้ำอยู่ที่เทือกเขาดอยหลวงและเส้นทางน้ำได้แยกเป็นสองสายโดยลำน้ำสายแรกไหลผ่านกลางหมู่บ้าน และลำน้ำอีกสายเลียบผ่านไปตามถนนที่ใช้สัญจรไปบ้านสันกว๊าน ลำน้ำทั้งสองสายจะไหลลงสู่กว๊านพะเยาที่บ้านทุ่งกิ่ว ชาวบ้านในหมู่บ้านส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำเหมืองกิ่ว2แห่งนี้และน้ำกว๊านพะเยาสำหรับทำการเกษตร การกำจัดขยะส่วนใหญ่จะให้รถขยะของภาคเอกชนมารับไปทิ้ง ถุงละ 10 บาท ทุกวันเสาร์ และนำขยะเปียกเลี้ยงสัตว์
บ้านทุ่งกิ่ว หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยาตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอเมืองพะเยาหรืออยู่อีกฝั่งหนึ่งของตัวเมืองพะเยาเส้นทางที่สามารถเดินทางไปบ้านทุ่งกิ่วมีทั้งหมด 5 เส้นทาง โดยจุดศูนย์กลาง คือ วัดทุ่งกิ่ว ดังนี้
การคมนาคม
- เส้นทางที่ 1 จากทางบ้านต่อมระยะทาง 9.7 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางโดยรถยนต์ 19 นาที หรือเดินทางโดยการเดินใช้เวลา 1 ชม 57 นาที หากขับรถมุ่งหน้ามาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไปตามถนนหมายเลข 1 เข้าสู่ถนนหมายเลข 1 1.3 กม. จะเป็นสามแยกไฟแดง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงชนบท พะเยา 1001 จากนั้นตรงไปเรื่อยๆ จะผ่านสะพาน ตรงมาประมาณ 1 กม. เลี้ยวซ้าย เป็นถนนลาดยางถนนจะคดโค้งเป็นแนวยาวตามแม่น้ำกว๊านพะเยา ขวามือเป็นทุ่งนาสลับกับบ้านเรือนประปราย ส่วนซ้ายมือจะเป็นแม่น้ำกว๊านพะเยา ประมาณ 1.6 กม. เบี่ยงซ้ายเล็กน้อย ประมาณ 3.2 กม.เลี้ยวซ้าย ขับไปเรื่อยๆอีก 2 กม. จะเจอร้านอาหารท่าเรือโบราณ จะอยู่ทางขวามือ จากนั้นขับตรงไปจะเจอบ้านแกะหนักขนาดทางด้านขวามือ ขับตรงมาเรื่อยๆจะเจอทางเข้าหมู่บ้านทุ่งกิ่ว
- เส้นทางที่ 2 มาจากเส้นทางบ้านสันกว๊าน มาทางท่าเรือโบราณ ใช้ระยะทาง 1.5 กม. .เวลาในการเดินทาง 4 นาที โดยขับรถมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปตาม พย. 4004 ประมาณ 50 เมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายตรงไป 400 ม. เลี้ยวขวา ขับต่อไปอีก 290 ม.เลี้ยวซ้าย ตรงไปเรื่อยๆอีก 750 ม. ทางด้านขวามือจะเป็นกว๊านพะเยา ขับตรงไปอีกเรื่อยๆจะเจอท่าเรือโบราณบ้านทุ่งกิ่วจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ จากท่าเรือโบราณ ถึงวัดทุ่งกิ่ว ระยะทาง 450 เมตร ผ่าน พย.4004 ใช้ระยะเวลาในการเดินทางโดย เดิน 6 นาที หรือ รถยนต์ 2 นาที
- เส้นทางที่ 3 จากบ้านสันกว๊าน ถึง วัดทุ่งกิ่ว ระยะทาง 750 เมตร ผ่าน พย.4004 ใช้ระยะเวลาในการเดินทาง โดย เดิน 9 นาที หรือ รถยนต์ 2 นาทีโดยเส้นทางจากบ้านสันกว๊านขับรถมุ่งตรงไปทางทิศเหนือไปตาม พย.4004 โดยสองข้างทางเป็นบ้านคน ตรงไป 90 ม. แล้วเลี้ยวขวาเพื่อวิ่งบน พย. 4004 จากนั้นตรงไปอีก 230 ม.แล้วเลี้ยวซ้าย เพื่อวิ่งบน พย. 4004 ขับไปอีก 400 เมตร แล้วเลี้ยวขวา ตรงไปอีก 60 เมตร จะเจอวัดทุ่งกิ่วอยู่ทางด้านขวามือ
- เส้นทางที่ 4 จากบ้านตุ่นใต้ ถึงวัดทุ่งกิ่ว ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร ผ่าน พย. 4004 ใช้เวลาในการเดินทางโดยเดิน 30 นาที หรือ รถยนต์ 5 นาทีเดินทางจากบ้านตุ่นใต้ ขับรถมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ตรงไป 700 ม. แล้วขับรถเบี่ยงซ้ายเล็กน้อย จากนั้นขับตรงไปอีก 1.7 กม.แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ พย. 4004 แล้วขับตรงไปอีก 110 ม. แล้วเลี้ยวขวา ตรงไปอีก 60 เมตร ส่วนมากสองข้างทางจะเป็นทุ่งนาเป็นส่วนใหญ่ จะเห็นป้ายหมู่บ้านทุ่งกิ่วเป็นทางเข้า ขับตรงไปอีกเจอศาลา และเจอวัดทุ่งกิ่วทางด้านขวามือ
- เส้นทางที่ 5 จากบ้านสันป่าม่วงถึงวัดทุ่งกิ่ว ระยะทาง 4.6 กิโลเมตร ผ่าน พย.4004 ใช้เวลาในการเดินทาง โดยเดิน 56 นาที หรือ รถยนต์ 9 นาที เดินทางจากบ้านสันป่าม่วงขับรถมุ่งไปทางทิศใต้ ไปตาม พย.4004 ขับตรงไป 2.5 กม. แล้วเลี้ยวซ้าย เพื่อวิ่งบน พย.4004 ขับไป 400 ม.แล้วเลี้ยวขวาเพื่อวิ่งบน พย. 4004 ตรงไปอีก 950 ม. แล้วเลี้ยวซ้ายเพื่อวิ่งบน พย.4004 ขับตรงไป700 ม. แล้วเลี้ยวซ้าย ตรงไปอีก 60 เมตร จะถึงวัดทุ่งกิ่วอยู่ทางด้านขวามือ
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านทุ่งกิ่วหมู่ที่ 10 มีครัวเรือนทั้งหมด 126 ครัวเรือน ซึ่งประชากรอาศัยที่บ้านทุ่งกิ่วเป็นคนพื้นชนเมือง พูดภาษาท้องถิ่นภาคเหนือ (คำเมือง) ในการติดต่อสื่อสาร มีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มตามเครือญาติ และสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การเพาะปลูก โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพประมง ถนนในหมู่บ้านทุ่งกิ่วเป็นถนนลาดยาง และถนนคอนกรีต ในหมู่บ้านมีถนนทั้งหมด 2 สาย รถยนต์สามารถออกได้สะดวก คนในชุมชนส่วนใหญ่ใช้จักรยาน และรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ (ที่มา: สำรวจโดยนักศึกษาพยาบาลศาสตรบัณฑิตชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลศาสตรบรมราชชนนี พะเยา ระหว่างวันที่ 29 มกราคม 2561 ถึง 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561หมู่บ้านทุ่งกิ่ว หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา)
มีพื้นที่อยู่อาศัย 117 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 680 ไร่ พื้นที่ทำนา 680 ไร่ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบ้านทุ่งกิ่ว หมู่ที่ 10 มีลักษณะดังนี้คือ ทรัพยากรป่าไม้ น้ำ ดิน ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้มีลักษณะระบบนิเวศที่สมดุล เนื่องจากมีการอนุรักษ์ป่าไม้ มีการบำรุงดิน มีการทำการเกษตรส่วนใหญ่คือการทำนา และมีอาชีพเสริมโดยดารหาปลา แต่ช่วงนี้คลานแคลนน้ำในการทำการเกษตร
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านทุ่งกิ่วหมู่ที่ 10 มีครัวเรือนทั้งหมด 126 ครัวเรือน ซึ่งประชากรอาศัยที่บ้านทุ่งกิ่วเป็นคนพื้นชนเมือง พูดภาษาท้องถิ่นภาคเหนือ (คำเมือง) ในการติดต่อสื่อสาร มีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มตามเครือญาติ และสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การเพาะปลูก โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพประมง ถนนในหมู่บ้านทุ่งกิ่วเป็นถนนลาดยาง และถนนคอนกรีต ในหมู่บ้านมีถนนทั้งหมด 2 สาย รถยนต์สามารถออกได้สะดวก คนในชุมชนส่วนใหญ่ใช้จักรยาน และรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ (ที่มา: สำรวจโดยนักศึกษาพยาบาลศาสตรบัณฑิตชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลศาสตรบรมราชชนนี พะเยา ระหว่างวันที่ 29 มกราคม 2561 ถึง 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561หมู่บ้านทุ่งกิ่ว หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา)
มีพื้นที่อยู่อาศัย 117 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 680 ไร่ พื้นที่ทำนา 680 ไร่ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบ้านทุ่งกิ่ว หมู่ที่ 10 มีลักษณะดังนี้คือ ทรัพยากรป่าไม้ น้ำ ดิน ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้มีลักษณะระบบนิเวศที่สมดุล เนื่องจากมีการอนุรักษ์ป่าไม้ มีการบำรุงดิน มีการทำการเกษตรส่วนใหญ่คือการทำนา และมีอาชีพเสริมโดยดารหาปลา แต่ช่วงนี้คลานแคลนน้ำในการทำการเกษตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านสันเวียงใหม่ หมู่ 4 ตำบลบ้านสาง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านสันกว๊าน หมู่ 8 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดกับ กว๊านพะเยา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านตุ่นใต้ หมู่ 1 และหมู่ 7 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
ลักษณะภูมิอากาศ แบ่งเป็น 3 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม และจะร้อนจัดในเดือนเมษายน
- ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคมจะมีปริมาณฝนตกมากในเดือนสิงหาคมและกันยายน
- ฤดูหนาว อยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์และจะหนาวจัดในเดือนธันวาคมและมกราคม
จำนวนประชากรบ้านทุ่งกิ่ว หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีจำนวน 126 ครัวเรือน มีประชากร 271 คน แบ่งได้ดังนี้ เพศหญิงจำนวน 118 คน เพศชาย 153 คน
ประชากรบ้านทุ่งกิ่ว หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา จำแนกตามเพศและอายุ ปี พ.ศ. 2560 พบว่าช่วงอายุที่มากที่สุดอันดับแรก คือ เพศหญิง อายุ มากกว่า 70 ปีและรองลงมาคือ ช่วงอายุ 60 -64ปี
จำนวนและร้อยละของประชากรบ้านทุ่งกิ่วหมู่ที่ 10 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา จำแนกตามสัดส่วนประชากรตามอายุ 0-14 ปี จำนวน 22 คน ร้อยละ 8.12 ,อายุ15– 59ปี จำนวน 142 คน ร้อยละ 52.4,อายุ60ปีขึ้นไป จำนวน 107 คน ร้อยละ 39.48
ชุมชนบ้านทุ่งกิ่ว หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา มีองค์กรในการบริหารจัดการดูแลภายในหมู่บ้าน ซึ่งมีคณะกรรมการหมู่บ้านในการดำเนินการเป็นหลัก โดยมีนายบุญทิศ ไทยกุล เป็นผู้ใหญ่บ้าน
สภาพทางเศรษฐกิจ
- อาชีพหลัก : ประมง, เกษตรกรรม
- อาชีพเสริม : เลี้ยงไก่ชน, จักสานผักตบชวา, ปลูกกระเทียม
- รายได้ของประชาชน : เงินจากลูกหลาน, ประมง, ทำนา, ปลูกกระเทียม, สานผักตบชวา, เบี้ยยังชีพ, ค้าขาย, รับจ้างทั่วไป, ข้าราชการ, เย็บผ้าโหล, ถักแห, ข้าราชการ
- รายจ่ายของประชาชน : ค่าอุปโภคบริโภค, ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าโทรศัพท์, ค่าน้ำมัน, กองทุน, ปุ๋ย, อาหารสัตว์,ค่าเช่านา, ค่าจ้างแรงงาน, ค่าหวย, หนี้สิน, ค่าเล่าเรียนบุตร, ผ่อนรถ, บุหรี่-สุรา
- หนี้สินประชาชน : หนี้กองทุนหมู่บ้านและหนี้ ธ.ก.ส.
พืชและสัตว์ที่ปลูกและเลี้ยง
- พืชที่ปลูกส่วนใหญ่ ได้แก่ หอมแดง กระเทียม ข้าว ผักสวนครัว
- สัตว์ที่เลี้ยงส่วนใหญ่ ได้แก่ ไก่ ปลา สุนัข หมู
ปฏิทินวัฒนธรรม ในรอบ 1 ปี ประชาชนบ้านทุ่งกิ่ว หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีกิจกรรมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน มีดังนี้
- เดือนมกราคม : โดยปกติชาวบ้านทุ่งกิ่วส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงและเกษตรกร ตามลำดับ โดยอาชีพดังกล่าวนั้นจะเป็นอาชีพหลักที่ชาวบ้านทำกันตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่ในเดือนมกราคมชาวบ้านจะมีกิจกรรมที่สำคัญทางเกษตร คือ จักสานแห ผักตบชวา ไก่ชน เย็บผ้าโหล ปลูกหอมแดง กระเทียม และเริ่มทำนาปัง ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ประกอบไปด้วยช่วงต้นเดือนเทศกาลวันขึ้นปีใหม่กลางเดือนจัดทำพิธี“ตานข้าวใหม่” คือการถวายข้าวที่เก็บเกี่ยวให้แก่พระสงฆ์
- เดือนกุมภาพันธ์ : ชาวบ้านในชุมชนก็ยังประกอบอาชีพส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรเช่นเดียวกับเดือนมกราคมคือ จักสานแห ผักตบชวา ไก่ชน เย็บผ้าโหล ปลูกหอมแดง กระเทียมและรอเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนมีนาคมต่อไป ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ประกอบไปด้วยทำบุญห้าเป็งชาวบ้านจะเข้าวัดทำบุญเอาข้าวไปวัดให้บรรพบุรุษ
- เดือนมีนาคม : ชาวบ้านในชุมชนก็ยังประกอบอาชีพส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรเป็นหลักในชุมชน ในช่วงนี้จะเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร คือ การเก็บกระเทียม นำไปรับประทานในครัวเรือนถ้าเหลือจึงจะนำไปจำหน่าย ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ประกอบไปด้วยทำบุญเลี้ยงผีมดผีแมงที่ศาลของหมู่บ้าน เอาหัวหมูมาเลี้ยงเพื่อให้ดูแลรักษาชาวบ้าน
- เดือนเมษายน : ชาวบ้านในชุมชนก็ยังประกอบอาชีพส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรเป็นหลักในชุมชน ในช่วงนี้จะเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร คือ การเก็บข้าวนาปัง นำไปรับประทานในครัวเรือนถ้าเหลือจึงจะนำไปจำหน่าย ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ประกอบไปด้วยประเพณีสงกรานต์รดน้ำดำหัว (ปีใหม่เมือง) ถือว่าเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ชาวบ้านจะเริ่มหยุดงานช่วงวันที่ 13-15เมษายนเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์พบปะญาติพี่น้องที่เดินทางมาเยี่ยมญาติ, ครอบครัวเพื่อรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่นอกจากนี้ยังมีพิธีสรงน้ำพระ
- เดือนพฤษภาคม : ชาวบ้านในชุมชนก็ยังประกอบอาชีพส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรและเริ่มหว่านไถกล้าและเริ่มปลูกข้าวนาปี ชาวบ้านจะเริ่มลงนากันเพราะเป็นฤดูฝน ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ประกอบไปด้วยทำบุญแปดเป็งชาวบ้านจะร่วมกันไปทำบุญที่วัดศรีโคมคำ
- เดือนมิถุนายน : ชาวบ้านในชุมชนก็ยังประกอบอาชีพส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรเช่นเดียวกับเดือนมกราคมคือ จักสานแห ผักตบชวา ไก่ชน เย็บผ้าโหล และรอเก็บเกี่ยวผลผลิตขาวนาปีในเดือนพฤศจิกายนต่อไป ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ประกอบไปด้วยประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า เจ้าที่นาเลี้ยงโดยเหล้าไห ไก่คู่ เป็นการเลี้ยงเจ้าที่ก่อนลงทำนาเพื่อให้การทำนาราบรื่นและได้ผลผลิตดี
- เดือนกรกฎาคม : ชาวบ้านในชุมชนก็ยังประกอบอาชีพส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรเช่นเดียวกับเดือนมกราคมคือ จักสานแห ผักตบชวา ไก่ชน เย็บผ้าโหล และรอเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีในเดือนพฤศจิกายนต่อไป ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ประกอบไปด้วยทำบุญเข้าพรรษา
- เดือนสิงหาคม : ชาวบ้านในชุมชนก็ยังประกอบอาชีพส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรเช่นเดียวกับเดือนมกราคมคือ จักสานแห ผักตบชวา ไก่ชน เย็บผ้าโหล และรอเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีในเดือนพฤศจิกายนต่อไป ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ประกอบไปด้วยทำบุญเข้าพรรษาชาวบ้านก็ยังคงเข้าวัดทำบุญทุกๆวันพระอย่างสม่ำเสมอ
- เดือนกันยายน : ชาวบ้านในชุมชนก็ยังประกอบอาชีพส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรเช่นเดียวกับเดือนมกราคมคือ จักสานแห ผักตบชวา ไก่ชน เย็บผ้าโหล และรอเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีในเดือนพฤศจิกายนต่อไป ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ประกอบไปด้วยทำบุญเข้าพรรษาและทอดกฐินเพื่อทำบุญร่วมกันในหมู่บ้าน
- เดือนตุลาคม : ชาวบ้านในชุมชนก็ยังประกอบอาชีพส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรเช่นเดียวกับเดือนมกราคมคือ จักสานแห ผักตบชวา ไก่ชน เย็บผ้าโหล และรอเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีในเดือนพฤศจิกายนต่อไป ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ประกอบไปด้วยทำบุญออกพรรษาและประเพณีตานก๋วยสลากประชาชนจะนำก๋วยสลากถวายแด่พระสงฆ์และมีการให้ศีลให้พรหยาดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับ
- เดือนพฤศจิกายน : ชาวบ้านในชุมชนก็ยังประกอบอาชีพส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรเป็นหลักในชุมชน ในช่วงนี้จะเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร คือ การเก็บข้าวนาปี นำไปรับประทานในครัวเรือนถ้าเหลือจึงจะนำไปจำหน่าย เดือนนี้จะเป็นเดือนที่หมู่บ้านคึกคักทั้งผู้คนที่ช่วยกันเกี่ยวข้าวและเศรษฐกิจการซื้อขายดีอีกด้วย ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ประกอบไปด้วยลอยกระทง (ยี่เป็ง) เป็นประเพณีลอยกระทงแบบล้านนาซึ่งหมู่บ้านทั่งกิ่วจะจัดงานลอยกระทงที่ท่าเรือโบราณเป็นงานประจำปีที่ใหญ่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
- เดือนธันวาคม : โดยปกติชาวบ้านทุ่งกิ่วส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงและเกษตรกร ตามลำดับ โดยอาชีพดังกล่าวนั้นจะเป็นอาชีพหลักที่ชาวบ้านทำกันตลอดทั้งปี ในช่วงนี้จะเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร คือ การเก็บข้าวนาปี นำไปรับประทานในครัวเรือนถ้าเหลือจึงจะนำไปจำหน่าย เดือนนี้จะเป็นเดือนที่หมู่บ้านคึกคักทั้งผู้คนที่ช่วยกันเกี่ยวข้าวและเศรษฐกิจการซื้อขายดีอีกด้วยและเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก็จะเริ่มกิจกรรมที่สำคัญทางเกษตร คือ จักสานแห ผักตบชวา ไก่ชน เย็บผ้าโหล ปลูกหอมแดง กระเทียม และเริ่มทำนาปัง
ประเพณีและความเชื่อ
- พิธี “ตานข้าวใหม่” : คือการถวายข้าวที่เก็บเกี่ยวให้แก่พระสงฆ์ เป็นพิธีที่ชาวบ้านร่วมกันนำเอาผลผลิตจากข้าวสารใหม่ ข้าวเปลือก ซึ่งเพิ่งเก็บเกี่ยวได้ รวมถึงอาหารที่ทำจากข้าวใหม่ ทั้งข้าวหลาม ข้าวจี่ ข้าวต้ม ข้าวเหนียว นำมาถวายพระประธานของหมู่บ้าน และร่วมทำบุญใส่บาตรแด่พระภิกษุสงฆ์ เป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมา โดยทำในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว โดยการตานข้าวใหม่นี้จะนำข้าวที่ได้จากการเก็บเกี่ยวครั้งนี้มารวมกันที่วัดเพื่อที่จะนำไปขายและนำเงินมาบูรณะและทำนุบำรุงวัด
- ประเพณีสงกรานต์รดน้ำดำหัว (ปีใหม่เมือง) : เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา การรดน้ำดำหัวจะทำในวันสงกรานต์ โดยลูกหลานจะกลับบ้านมา รดน้ำดำหัวปู่ ย่า ตา ยายหรือผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ซึ่งถือได้ว่าเป็นวันรวมญาติเป็นประเพณีที่แสดงถึงความเคารพนอบน้อมต่อบิดา มารดา ผู้ใหญ่ หรือผู้มีพระคุณ เป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวที ของผู้น้อย ขอขมาลาโทษที่ผู้น้อยอาจแสดงล่วงเกินผู้ใหญ่ อีกทั้งเป็นการขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อตนเอง ซึ่งจะมีการอาบน้ำจริง คือ อาบทั้งตัว และดำหัว คือ สระผมโดยสิ่งที่ใช้สระผมที่จะเป็นน้ำส้มป่อย หรือน้ำมะกรูด เป็นต้น การดำหัว ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นการชำระสะสางสิ่งที่สกปรกหรือสิ่งที่เป็นอัปมงคลในชีวิตให้หมดไป
- เข้าพรรษา : ชาวบ้านจะงดเหล้าเข้าพรรษาซึ่งเป็นการถือศีลตลอดการเข้าพรรษา และชาวบ้านถือโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังธรรมเทศนา ซึ่งสิ่งที่พิเศษกว่าวันอื่น ๆ คือ มีการถวายหลอดไฟ หรือเทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน แก่พระภิกษุสงฆ์ด้วย เพื่อสำหรับการอยู่จำพรรษา และห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อรณรงค์งดการดื่มสุราเข้าพรรษาวันออกพรรษา พระสงฆ์จำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบไตรมาส (3 เดือน ) จะมีการตักบาตรเทโว เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติ พร้อมกับทรงแสดงไตรโลกวิวรณปาฏิหาริย์
- ออกพรรษา : การถวายเทียนพรรษา เนื่องจากสมัยก่อนพระภิกษุสงฆ์ไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านจึงหล่อเทียนขึ้น เพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์จุดให้แสงสว่างในการปฏิบัติกิจวัตรต่างๆเป็นพุทธบูชาตลอดเวลา 3 เดือน
- ลอยกระทง (ยี่เป็ง) : เป็นประเพณีลอยกระทงแบบล้านนา โดยคำว่า ยี่ แปลว่า สอง ส่วน เป็ง แปลว่า เพ็ญ หรือ คืนพระจันทร์เต็มดวง ชาวบ้านจะทำกระทงไปลอยที่กว๊านเพื่อขอขมาเจ้าแม่คงคา ในช่วงวันยี่เป็งจะมีการประดับตกแต่งวัด บ้านเรือน ทำประตูป่า ด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ตุง ช่อประธีป และชักโคมยี่เป็งแบบต่างๆขึ้น เป็นพุทธบูชา และมีการจุดถ้วยประทีป (การจุดผางปะติ๊บ) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย และมีการจุดโคมลอยปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า มีความเชื่อว่า เพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนทรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
- ตานก๋วยสลาก : "ตานก๋วยสลาก" หรือ "สลากภัตร" ของชาวล้านนาจัดขึ้นในเดือนตุลาคมของทุกปีเพราะว่าเป็นช่วงที่ชาวบ้านได้ทำนากันเสร็จแล้วหยุดพักผ่อนส่วนพระสงฆ์ก็จำพรรษาอยู่วัด เมื่อต้นข้าวในนาเริ่มเขียวขจีชาวนาที่มีฐานะไม่ค่อยดีการดำรงชีวิตก็เริ่มขัดสนเมื่อข้าวในยุ้งก็หมดก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะมาถึงได้ดังนั้นการตานก๋วยสลากในช่วงนี้จึงเท่ากับว่าได้สงเคราะห์คนยากคนจนเป็นสังฆทานได้กุศลแรงซึ่งชาวล้านนาจึงสืบทอดประเพณีนี้กันต่อมาจนถึงปัจจุบัน
- ประเพณีเลี้ยงผีมดผีเม็ง : เดือนมีนาคม เป็นผีประจำตระกูล จัดอยู่ในเครือผีบรรพบุรุษ หรือผีปู่ย่า เป็นผีของคนเมืองที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเจ้านายและขุนนาง พิธีกรรมค่อนข้างซับซ้อน ตระกูลของผีมดผีเม็งมักสืบเชื้อสายไปได้ไกลและผีปู่ย่าของตระกูลผีมดผีเม็งจะมีชื่อเรียกขานเป็นชื่อเจ้านายอยู่ในตำนาน ซึ่งจะแตกต่างจากผีปู่ย่าทั่วๆไป ที่จะไม่มีชื่อเรียกขานเฉพาะ ผีมด หมายถึงผีของมดที่ชอบอยู่ตามบ้านเรือนคอยเฝ้ารักษาให้บ้านเรือนอยู่เป็นปกติสุข มีความอบอุ่น
- ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า ตายาย : เดือนมิถุนายน หมายถึงผีประจำตระกูล หรือที่เรียกกันว่าผีบรรพบุรุษ คือ ปู่ ย่า ตา ยาย ล่วงลับไปแล้วพวกลูกหลานก็จะสร้างหอไว้ทางเบื้องทิศหัวนอน หรือในสถานที่ที่เห็นว่าสมควร บนหอจะมีหิ้งวางเครื่องบูชา เช่น พานดอกไม้ ธูปเทียน น้ำต้น วางเอาไว้ เล่าสืบกันมาว่าการนับถือผีปู่ ย่า ตา ยาย เวลาพ่อ แม่ ตายลงไป ในสมัยก่อนลูกหลานไม่ได้กินได้ทานอุทิศส่วนกุศลให้ เพราะว่าอยู่ห่างวัด ลูกหลานมีความรักและความห่วงใยจึงสร้างศาลสูงเพียงตาขึ้น แล้วมีดอกไม้ ธูปเทียน อาหาร หวานคาว บวงสรวงอันเชิญดวงวิญญาณของพ่อแม่มาอยู่ในศาล เพื่อพิทักษ์รักษาลูกหลานตลอดจนเครือญาติที่จะต้องถือผีปู่ ย่า ตา ยาย อันเดียวอัน แล้วห้ามแต่งงานในวงศ์ที่ถือผีอันเดียวกัน
- ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าบ้านศาลพรมมินทร์ บุญนาค : ตั้งอยู่ศูนย์กลางของหมู่บ้าน ข้างถนนหลวง พย.4004 ชาวบ้านทุ่งกิ่วมีความเชื่อว่าเป็นศาลที่ชาวบ้านสร้างขึ้นมาเพื่อปกปักรักษาบ้านให้บ้านอยู่ร่มเย็น เป็นสุข ดูแลบ้านและคนในครอบครัวที่อยู่บ้านหลังนั้นให้พ้นจากอันตราย และโรคภัยหากคนในหมู่บ้านเกิดความเจ็บป่วย ไปทำการรักษาโรงพยาบาล แล้วเชื่อว่าหากมาขอพรจะช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรค หรือ ได้ออกจากโรงพยาบาลเร็วขึ้น นอกจากนั้นจะ ก็จะมีการขอพรอื่น ๆ เช่น การขอให้สอบติดข้าราชการ สอบเข้าเรียน เป็นต้น เมื่อสมหวังผู้ที่ขอพรจะนำ ไก่คู่ เหล้า หรือ ฟ้อนรำ นำมาถวาย แก่ศาลพรมมินทร์
- ศาลหอไจย : พ่อพญาแก้ว พ่อพญาหาญ เป็นศาลที่ชาวบ้านสร้างขึ้นมาเพื่อปกปักรักษาสุขภาพร่างกายและโรคภัยหากคนในหมู่บ้านเกิดความเจ็บป่วย ไปทำการรักษาโรงพยาบาล แล้วเชื่อว่าหากมาขอพรจะช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรค หรือ ได้ออกจากโรงพยาบาลเร็วขึ้นและคนในหมู่บ้านที่ไปทำงานต่างจังหวัดเมื่อเจ็บป่วยก็จะโทรมาบอกคนทางบ้านให้ไปขอศาลหอไจย พ่อพญาแก้ว พ่อพญาหาญให้หายจากอาการเจ็บป่วย เมื่อหายเจ็บป่วยก็จะมาถวาย หัวหมู ไก่ เหล้าและดนตรีบรรเลงสดให้ศาลศาลหอไจย พ่อพญาแก้ว พ่อพญาหาญของหมู่บ้าน
จุดอ่อนของหมู่บ้าน (ปัญหา/อุปสรรค)
- ด้านทรัพยากรบุคคล โดยในหมู่บ้านส่วนใหญ่มีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก ส่วนวัยทำงานได้ไปทำงานที่ต่างจังหวัด
จุดแข็งของหมู่บ้าน (ศักยภาพ =ความสามารถของหมู่บ้าน)
- ด้านบุคคล มีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ในการทำงาน การบริหารจัดการภายในชุมชน เช่น ผู้นำและประธานกลุ่มต่างๆ
- ด้านเศรษฐกิจ ชุมชนจึงมีการพัฒนาอยู่เสมอ เกษตรกรมีความรู้ในการพัฒนาผลผลิตของตนเองให้มีคุณภาพที่ดีตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงทำให้มีเงินรายได้หมุนเวียนในชุมชน ประชากรมีรายได้เพียงพอแก่การใช้จ่าย ทำให้ไม่เกิดหนี้สิน
- ด้านกลุ่ม/องค์กร (เศรษฐกิจและสังคม) มีกลุ่มอาชีพต่างๆ ภายในชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้านต่างๆ
- ด้านสังคม ประชากรในชุมชนมีการนับถือศาสนาเดียวกัน คือ ศาสนาพุทธ และเป็นสังคมชนบท มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและการ มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นระบบเครือญาติ ทำให้มีความสามัคคีกันในชุมชน
- ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแหล่งน้ำกว๊านพะเยาเลี้ยงชีวิต ไม่มีน้ำเน่าเสียที่จะทำให้เกิดมลพิษทางกลิ่น มีเชื้อโรคปนเปื้อน
- ด้านความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย มีกฎระเบียบหมู่บ้าน ที่ออกโดยชุมชนเอง เพื่อป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยและปัญหายาเสพติดภายในหมู่บ้าน มีอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยชุมชนเดือดร้อนดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย
- ด้านภูมิปัญญาชุมชน โดยมีการใช้สมุนไพรพื้นบ้านและมีการใช้ทรัพยากรในชุมชนให้เกิดประโยชน์
- ด้านบริหารจัดการ ประชาชนมีความสามัคคี ให้ความร่วมมือ ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น สามารถประสานงานด้วยกันได้ดี
- ด้านประเพณีวัฒนธรรม/กฎระเบียบ/ค่านิยมและความสัมพันธ์ของชุมชน ภายในพื้นที่เป็นลักษณะที่หล่อหลอมวัฒนธรรมค่านิยมมาจากประสบการณ์ จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อกำกับดูแลชุมชนให้ดำเนินชีวิตไปตามคุณค่าของชุมชนนั้น ๆ เป็นกฎระเบียบของหมู่บ้าน
"ท่าเรือโบราณ"... บ้านทุ่งกิ่วหมู่ที่ 10 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เรือโบราณของบ้านทุ่งกิ่วเรือโบราณมีอายุมากกว่า 70 ปีโดยมีพ่อรวย ขาวแสงและพ่อมูล เครือสาร ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านหมู่ที่ 8 บ้านสันกว๊าน ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ซึ่งปัจจุบันท่านทั้งสองได้เสียชีวิตแล้วเป็นผู้สร้างเรือโบราณลำนี้ ตัวเรือโบราณทำมาจากไม้สักเคียน มีความยาว 8 วา ในสมัยก่อนใช้เรือลำนี้ไว้เพื่อรับส่งผู้คนและใช้ขนส่งสินค้าข้ามฟากจากบ้านสันกว๊านไปยังตัวเมืองพะเยา
เดือนใดที่มีข้างขึ้น 15 ค่ำและข้างแรม 15 ค่ำ จะมีการบูชาแม่ย่านางเรือโบราณลำนี้โดยใช้เครื่องเซ่นไหว้เรือ ใช้ข้าวดำ ข้าวแดงในการบูชา
สวนบัว มีพื้นที่กว่า100 ไร่ ท่าเรือโบราณกว๊านพะเยาทุ่งกิ่ว เป็นพื้นที่ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ปลาส้มแม่ทองปอน"ปลาส้มไร้ก้างแม่ปอน"
พิมพ์พรรณ ศิลปะสุวรรณ. (2555). ทฤษฎี-ปรัชญาความรู้สู่การปฏิบัติในงานพยาบาลอนามัยชุมชน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
ราชกิจจานุเบกษา. (2549). ประกาศจังหวัดพะเยา เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน. เล่ม 123 ตอน พิเศษ 128 ง. 13 ธันวาคม 2549.
พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.
นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 28 (2563). รายงานการวินิจฉัยชุมชนบ้านทุ่งกิ่ว หมู่ 10 ตำบล บ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา.