Advance search

อ่างเก็บน้ำแม่ปืมคือชีวิต แหล่งผลิตข้าวพันธุ์ดี ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ นบพุทธบาทโป่งเกลือ งดงามเหลือพุทธรูปหินทราย ท่องเที่ยวหลากหลายที่อุทยานแห่งชาติแม่ปืม
หมู่ที่ 8 ถนนพหลโยธิน (สายเอเซียหมายเลข1)
สันต้นผึ้ง
แม่ปีม
เมืองพะเยา
พะเยา
กิตติมา หวังพัฒน์
10 เม.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
24 เม.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
3 พ.ค. 2023
บ้านสันต้นผึ้ง

บริเวณหมู่บ้านมีต้นผึ้งอายุหลายร้อยปี มีผึ้งมาอาศัยอยู่จำนวนมาก จนบรรพบุรุษที่ก่อตั้งหมู่บ้าน ตั้งชื่อ “บ้านสันต้นผึ้ง” ซึ่งมาจากผึ้งหลวงทำรังอาศัยอยู่ต่อเนื่องมาหลายร้อยปี


อ่างเก็บน้ำแม่ปืมคือชีวิต แหล่งผลิตข้าวพันธุ์ดี ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ นบพุทธบาทโป่งเกลือ งดงามเหลือพุทธรูปหินทราย ท่องเที่ยวหลากหลายที่อุทยานแห่งชาติแม่ปืม
สันต้นผึ้ง
หมู่ที่ 8 ถนนพหลโยธิน (สายเอเซียหมายเลข1)
แม่ปีม
เมืองพะเยา
พะเยา
56000
19.298923
99.852273
เทศบาลตำบลแม่ปืม

พ.ศ. 2386 พระยานครลำปางน้อยอินทร์กับพระยาอุปราชมหาวงศ์ เมืองเชียงใหม่ ได้ลงไปเฝ้าทูลละองธุลีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กราบถวายบังคมทูลของตั้งเมืองเชียงรายขึ้นกับเมืองนครเชียงใหม่ และขอตั้งเมืองพะเยา และเมืองงาว ทั้งสองเมืองนี้ขึ้นกับเมืองนครลำปาง ฝ่ายเมืองพะเยาทรงตั้งนายพุทธวงศ์ น้องคนที่ 1 ของพระยานครอินทร์ เป็นเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา

พ.ศ. 2387 เจ้าเมืองพะเยาคนแรก ในสมัยรัตนโกสินทร์คือ เจ้าพุทธวงศ์ เจ้าหลวงวงศ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ แต่ประชาชนมักจะเรียกตามนามเดิม เช่นเจ้าหลวงวงศ์ และเป็นตำแหน่งประจำของเจ้าหลวงเมืองพะเยา ในเวลาต่อมา ต่อนั้นก็แบ่งครอบครัวชาวเมืองลำปางให้ไปอยู่เมืองพะเยา ส่วนลูกหลานพวกที่อพยพหนีพม่า จากที่เมืองพะเยาเป็นเมืองร้างไปถึง 56ปี พากันอพยพกลับสู่เมืองพะเยา

พ.ศ. 2464 ขุนปืม ประชากิจ (วงศ์จันทร์) กำนันตำบลแม่ปืม ในสมัยนั้นเริ่มก่อตั้งโรงเรียนบ้านแม่ปืม ครั้งแรกในระยะเริ่มแรกได้อาศัยศาลาวัดแม่ปืม เป็นสถานที่เรียน ปัจจุบันคือวัดแม่ปืม หมู่ที่ 5 ตำบลแม่ปืม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยมีครูคนแรกคือ นายอินตา วงศ์จันทร์

พ.ศ. 2465 เดิมได้มีประชากรอพยพมาจากอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง สามารถทำนา และการเกษตรได้ จึงอพยพเข้ามา โดยเดินทางด้วยเกวียน หาแหล่งทำการเกษตร ซึ่งเห็นว่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ จึงได้ตั้งรากฐาน และทำการเกษตร และประชากรบางส่วนเดินทางไปยังจังหวัดเชียงราย ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เป็นบริเวณสันดอน มีต้นไม้ใหญ่ และมีผึ้งมาสร้างรังจำนวนมากนับร้อยรัง ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า “บ้านสันต้นผึ้ง” ได้ก่อตั้งวัด ศิลาปราการ (ปัจจุบันคือ วัดกำแพงหิน) โดยมีเจ้าอาวาสคือ พระกะบะ และพระครูบาศรีวิชัย และครูบาแก้ว คนธวโส ร่วมกับชาวบ้าน บูรณะพระธาตุโป่งเกลือ มีการค้นพบบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และรอยพระพุทธบาท บริเวณป่าทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน

พ.ศ. 2466 นายจันต๊ะ วงศ์จันทร์ กำนันตำบลแม่ปืม ผู้มีส่วนช่วยสร้างบ้านพักนายอำเภอพะเยา เนื่องจากไฟไหม้เสียหาย ซึ่งกำนันตำบลแม่ปืมได้สร้างผลงานการช่วยเหลือราชการไว้เป็นที่ประจักษ์ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนปืมประจำกิจ” และ ได้ย้ายโรงเรียนแม่ปืมมาเปิดสอนที่วัดป่าคา ปัจจุบันคือวัดหมู่บ้านที่ 2 ตำบลแม่ปืม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา 

พ.ศ. 2470 จึงได้ย้ายโรงเรียนมาตั้งที่สถานที่ปัจจุบัน คือหมู่บ้านสันต้นผึ้ง หมู่ที่ 8 ตำบลแม่ปืม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยสร้างเป็นอาคารเรียนชั่วคราวขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมานายอุ่น ฟองศรี ศึกษาธิการอำเภอเมืองพะเยาสมัยนั้น เป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างอาคารเรียนถาวรขึ้นเป็นหลังแรก เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2470 เกิดอัคคีภัยไฟไหม้อาคารเรียนทำให้เกิดความเสียหายหมดทั้งหลัง จึงต้องก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้นใหม่อีกครั้ง เพื่อเป็นสถานที่เรียนทดแทนขึ้น

พ.ศ. 2493 ชาวบ้านหมู่บ้านสันต้นผึ้งได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษจากหมอในตัวเมืองที่มาฉีดให้ชาวบ้าน มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรก ชื่อ นายปั๋น ค้าสม

พ.ศ. 2500 มีการระบาดของโรคห่า (อหิวาห์ตกโรค) กับประชาชนในหมู่บ้าน รักษาโดยหมอเมืองโดยการใช้ใบตองรองนอนและใช้ใบลูกยอต้มให้ดื่ม ผู้เจ็บป่วยเดินทางโดยล้อเกวียนไปโรงพยาบาลพะเยาโดยผ่านเส้นทางแม่ปืมไปพะเยา และมีการสร้างเมรุเผาศพ เนื่องจากก่อนหน้านี้จะชาวบ้านจะเผาศพผู้เสียชีวิตในที่โล่งแจ้ง

พ.ศ. 2501 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 นายเป็ง ไฝเครือ

พ.ศ. 2502 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2502 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตร และเปลี่ยนชื่อ เป็น “วัดกำแพงหิน”

พ.ศ. 2503 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 นายมี ตาลดี

พ.ศ. 2507 มูลนิธิมิตรภาพไทยอเมริกัน ได้สมทบเงินก่อสร้างอาคารเรียน ที่ได้จากการกระโดดร่มดิ่งพสุธา ที่สนามจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงมีการเพิ่มชื่อเป็น โรงเรียนบ้านแม่ปืม (มิตรภาพ 16)

พ.ศ. 2510 ได้เริ่มก่อตั้งเป็นสำนักงานผดุงครรภ์แม่ปืม ณ บ้านสันต้นผึ้ง ตำบลแม่ปืม อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย ในขณะนั้น โดยได้รับการบริจาคที่ดินจาก กำนันจันทร์ วัชรกุลปรีชาชาติ มีเนื้อที่ทั้งหมด จำนวน 3 ไร่ 36 ตารางวา มีเจ้าหน้าที่คนแรกที่ปฏิบัติงานคือ นางวาสนา พรหมชัยสูรย์ ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์

พ.ศ. 2519 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 นายประเสริฐ ไฝเครือ รัฐบาลได้จัดงบประมาณสร้างถนนลาดยางในหมู่บ้าน

พ.ศ. 2520 วันที่ 28 กรกฎาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยาตาม พระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก อำเภอแม่ใจ เมื่อแยกจากจังหวัดเชียงรายมาขึ้นยังจังหวัดพะเยา นายอำเภอแม่ใจขณะนั้นคือ นายเพชร ดิฐธาตรี (พระวิมลธรรมโมลี. 2546 : 138)

พ.ศ. 2520 ด้านสาธารณสุขกระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มโครงการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในระยะแรกเป็นไปในลักษณะโครงการทดลองใน 20 จังหวัด โดยดำเนินการทดลองในทุกอำเภอ อำเภอละ 1 ตำบลและเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2522 คณะรัฐมนตรีลงมติอนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้เปลี่ยนคำ ว่า การสาธารณสุขเบื้องต้น เป็นสาธารณสุขมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายที่จะให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานและพัฒนาสาธารณสุข จึงได้นำเอาการสาธารณสุขมูลฐานมาเป็นกลวิธีหลักในการพัฒนาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (2520-2524) เป็นต้นมา โดยสนับสนุนให้มีการดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐานครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและส่งเสริมให้ชุมชนตระหนักในความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของชุมชนเอง ซึ่งมีตัวจักรสำคัญในการดำเนินงานคือ ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดย อสม.รุ่นแรกของหมู่บ้าน คือ ประสิทธิ์ พรมวงค์ ชวน ไฝเครือ ใจ อิ่นเเก้วสิทธิกร วันเเรม และสุพรรณ สุขเจริญ

พ.ศ. 2521 จากการบอกเล่าของผู้อาวุโสในหมู่บ้านสันต้นผึ้ง ให้ข้อมูลว่า มีการสร้างสถานที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ในที่ดินของนายสมบูรณ์ ไฝเครือ

พ.ศ. 2522 จากการบอกเล่าของผู้อาวุโสในหมู่บ้านสันต้นผึ้ง ให้ข้อมูลว่า เริ่มมีไฟฟ้าใช้งานในหมู่บ้าน และมีโทรทัศน์เครื่องแรกที่ บ้านเลขที่ 45 ซึ่งเป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้านในปัจจุบัน

พ.ศ. 2523 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5 นายเม็ด เย็นจุรีย์

พ.ศ. 2526 ทางสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาจังหวัดพะเยาโดยนายประสงค์ เทพศิริ ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดพะเยา ได้ริเริ่มฟื้นฟูกิจการลูกเสือขึ้น โดยพัฒนาค่ายลูกเสือกลุ่มโรงเรียนแม่ปืม ขึ้นเป็นค่ายลูกเสือจังหวัดพะเยา ก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ แบบ 205/26 เพื่อใช้สำหรับกิจกรรมลูกเสือและใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือ บริเวณค่ายลูกเสือแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนบ้านแม่ปืม (มิตรภาพที่ 16) อยู่ในเขตบ้านสันต้นผึ้งหมู่8

พ.ศ. 2527 สำนักสำนักงานผดุงครรภ์แม่ปืม ต่อมาได้มีการยกฐานะเป็นสถานีอนามัยชั้น 2 หรือเรียกว่า “สุขศาลา”

พ.ศ. 2528 มีการใช้ส้วม ตามเป้าหมายของการสาธารณสุขมูลฐาน (สสม.)

พ.ศ. 2530 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 6 นายสมจิตต์ คำดี

พ.ศ. 2532 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 7 นายเม็ด เย็นจุรีย์ จากการบอกเล่าของผู้อาวุโสในหมู่บ้านสันต้นผึ้ง ให้ข้อมูลว่า มีการขยายถนนเข้าในหมู่บ้านสันต้นผึ้ง

พ.ศ. 2533 โรคAIDs เริ่มระบาดในพะเยา ชาวบ้านวิตกกังวลและกลัวติดโรคจึงงดเที่ยวกลางคืน ซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแผนที่ 6 ปี (2530-2534) ตามนโยบายมีอนามัยควบคุมการแพร่กระจายโรค และมีระบบประปา

พ.ศ. 2536 ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา เพื่อขอรับการพระราชทานนามเปลี่ยนชื่อเป็น“สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี แม่ปืม” เพื่อเทิดพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสครบรอบ 60 พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ

พ.ศ. 2538 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 8 นายจำปา เรือนมูล

พ.ศ. 2539 เดิมทีตำบลแม่ปืม มีสภาตำบลแม่ปืมและในปี พ.ศ.2539 ได้มีประกาศจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ปืมตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ประกาศ ณ วันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2539 (ตามราชกิจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนที่ 9 ง 30 มกราคม 2539 หน้าที่ 132) เป็นต้นไป

พ.ศ. 2541 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 9 นายใจ อิ่นแก้ว

พ.ศ. 2544 มีการก่อตั้งกองทุนหมู่บ้านขึ้น

พ.ศ. 2545 มีการก่อสร้างโรงสีข้าวที่บ้านพ่อหลวงเกรียงไกร กัลยา ซึ่งได้ปิดกิจการลงเมื่อ ปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา

พ.ศ. 2546 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 10 นายเกรียงกมล ไกลถิ่น มีการทำถนนไปทุ่งนาในหมู่บ้าน

พ.ศ. 2548 มีการสร้างยุ้งฉางชุมชน ตามโครงการ SML ขนาด 6*3 เมตร ปริมาตร 8,000 ก.ก. งบประมาณ 50,000 บาท

พ.ศ. 2551 องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ปืม ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลแม่ปืม ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ปืม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เป็นเทศบาลตำบลแม่ปืม ลงวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 มีผลตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป

พ.ศ. 2553 มีการขุดเจาะน้ำบาดาลในหมู่บ้านสันต้นผึ้ง

พ.ศ. 2556 ยุบโรงเรียนแม่ปืม (มิตรภาพที่ 16) ไปเรียนร่วมกับ โรงเรียนบ้านห้วยบง

พ.ศ. 2557 จากการสอบถามชาวบ้านในหมู่บ้านสันต้นผึ้ง ให้ข้อมูลตรงกันว่า ได้เริ่มมีการซื้อน้ำดื่มรับประทานจากกองทุนน้ำดื่มประจำหมู่บ้านหรือจากชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำน้ำดื่มขาย

พ.ศ. 2560 มีการสร้างศาลาอเนกประสงค์ประจำหมู่บ้าน

พ.ศ. 2561 เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกในหมู่บ้าน อสม.และชาวบ้านช่วยกันรณรงค์และป้องกันการเกิดโรค

พ.ศ. 2562 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 12 นายนพรัตน์ เรือนมูล ซึ่งดำรงตำแหน่งถึงปัจจุบัน เริ่มเกิดวิกฤตภัยแล้ง ทำให้น้ำไม่เพียงพอสำหรับการทำการเกษตร ภัยแล้งเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ต้องมีการเลื่อนการทำเกษตร เช่น การปลูกข้าว แต่ได้รับการช่วยเหลือจากทางราชการ ซึ่งมีงบประมาณเข้ามาในหมู่บ้าน เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ได้มีการประปาส่วนภูมิภาคเข้ามาในหมู่บ้าน และมีการจัดตั้งทำน้ำดื่มของหมู่บ้าน และมีที่กดน้ำของหมู่ทำให้ชาวบ้านมีน้ำสะอาดดื่ม และมีชาวบ้านบางส่วนได้ทำอาชีพกรองน้ำใส่ขวดแล้วส่งขายภายในหมู่บ้าน

สภาพในหมู่บ้าน

บ้านสันต้นผึ้ง หมู่ที่ 8 ตำบลแม่ปืม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา มีบ้านเรือนทั้งหมด 202 หลังคาเรือน มีจำนวนประชากรทั้งหมด 649 คน โดยแบ่งเป็นชาย 335 คน หญิง 314 คน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม นอกจากนี้บางครัวเรือนยังมีอาชีพรับราชการ ค้าขาย และมีอาชีพเสริม เช่น ช่างก่อสร้าง ปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์ หรือรับจ้างทั่วไป ประชาชนในหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธหมดทุกหลังคาเรือน ซึ่งประชาชนให้ความสำคัญในการทำนุบำรุงพุทธศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา ณ วัดกำแพงหิน มีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนในชุมชน

หมู่บ้านมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3,555 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 205 ไร่ พื้นที่ทางการเกษตร ประมาณ 1,250 ไร่ พื้นที่ทำนา 1,160 ไร่ พื้นที่ทำไร่ 30 ไร่ พื้นที่ทำสวน 60 ไร่ และชลประทาน 850 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านแบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและบริเวณที่ตั้งของชุมชน บ้านเรือนจะอยู่กันเป็นกลุ่ม ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ โดยชั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างเป็นปูน บ้านเรือนแต่ละหลังล้อมรอบด้วยรั้ว สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติจะตั้งบ้านเรือนใกล้กันหรืออยู่ภายในคุ้มเดียวกัน ซึ่งจะมีทั้งหมด 6 คุ้ม คือ คุ้มธวัชชัยพัฒนา, คุ้มชุมชนบ้านสันต้นผึ้ง, คุ้มกองทรายพัฒนา, คุ้มเจ้าพ่อหัวดง, คุ้มซอย 7 พัฒนา และคุ้มซอย 14 ส่วนใหญ่มีการปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหาร ได้แก่ ไก่ไข่ และสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อความเพลิดเพลิน ได้แก่ สุนัข แมว

การคมนาคม

บ้านสันต้นผึ้ง หมู่ที่ 8 ตำบลแม่ปืม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี แม่ปืม อยู่ในเขตชุมชนบ้านสันต้นผึ้ง และห่างจากตัวเมืองจังหวัดพะเยา ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ปัจจุบันสามารถเดินทางได้สะดวก มีถนนลาดยางสองช่องทาง ในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีต ไฟข้างทางยังไม่เพียงพอหากเดินทางตอนกลางคืน ประชากรส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์หรือรถจักรยานในการเดินทาง

มีบ้านเรือนทั้งหมด 202 หลังคาเรือน มีจำนวนประชากรทั้งหมด 649 คน โดยแบ่งเป็นชาย 335 คน หญิง 314 คน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม นอกจากนี้บางครัวเรือนยังมีอาชีพรับราชการ ค้าขาย และมีอาชีพเสริม เช่น ช่างก่อสร้าง ปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์ หรือรับจ้างทั่วไป ประชาชนในหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธหมดทุกหลังคาเรือน ซึ่งประชาชนให้ความสำคัญในการทำนุบำรุงพุทธศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา ณ วัดกำแพงหิน มีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนในชุมชน

หมู่บ้านมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3,555 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 205 ไร่ พื้นที่ทางการเกษตร ประมาณ 1,250 ไร่ พื้นที่ทำนา 1,160 ไร่ พื้นที่ทำไร่ 30 ไร่ พื้นที่ทำสวน 60 ไร่ และชลประทาน 850 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านแบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและบริเวณที่ตั้งของชุมชน บ้านเรือนจะอยู่กันเป็นกลุ่ม ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ โดยชั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างเป็นปูน บ้านเรือนแต่ละหลังล้อมรอบด้วยรั้ว สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติจะตั้งบ้านเรือนใกล้กันหรืออยู่ภายในคุ้มเดียวกัน ซึ่งจะมีทั้งหมด 6 คุ้ม คือ คุ้มธวัชชัยพัฒนา, คุ้มชุมชนบ้านสันต้นผึ้ง, คุ้มกองทรายพัฒนา, คุ้มเจ้าพ่อหัวดง, คุ้มซอย 7 พัฒนา และคุ้มซอย 14 ส่วนใหญ่มีการปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหาร ได้แก่ ไก่ไข่ และสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อความเพลิดเพลิน ได้แก่ สุนัข แมว

บ้านสันต้นผึ้ง หมู่ที่ 8 ตำบลแม่ปืม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา มีองค์กรในการบริหารจัดการ ดูแลภายในหมู่บ้าน ซึ่งมีคณะกรรมการหมู่บ้านในการดำเนินการเป็นหลัก โดยมีนายนพรัตน์ เรือนมูล เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านสันต้นผึ้ง หมู่ที่ 8 เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในชุมชน ซึ่งคนในชุมชนให้ความยอมรับนับถือและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ภายในหมู่บ้านก็ยังมีการรวมกลุ่มของประชาชนในหมู่บ้านดังนี้

  • ผู้ใหญ่บ้าน : 1 คน
  • ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปกครอง 2 คน
  • คณะกรรมการหมู่บ้าน 19  คน
  • อาสาพัฒนาชุมชน (อช.) 4  คน
  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำบ้าน (อสม.) 21 คน
  • อาสาสมัครเกษตร 3  คน
  • ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร 3  คน
  • ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน 1 คน
  • ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรม 2 คน
  • ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม 5 คน                   
  • กองทุนหมู่บ้าน (กองทุนเงินล้าน) 3 คน
  • กลุ่มฌาปนกิจ สมาชิกทุกหลังคาเรือน
  • กลุ่มณาปนกิจสงเคราะห์ 2 คน
  • กลุ่มพลังแม่บ้าน 4 คน                                     
  • กลุ่มโรงเรียนผู้สูงอายุศูนย์สามวัย 2 คน                 
  • กลุ่มพัฒนาความสามัคคี 3 คน
  • กลุ่มกรรมการแม่บ้านสตรี 7 คน

ปฏิทินทางเศรษฐกิจ

  • เดือนมกราคม : ปลูกข้าวโพด และทำอาชีพเสริม ได้แก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว
  • เดือนกุมภาพันธ์ : ปลูกข้าวโพดและทำอาชีพเสริม ได้แก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว
  • เดือนมีนาคม : ชาวบ้านบ้านสันต้นผึ้งจะประกอบอาชีพเกษตรกร ได้แก่ ปลูกข้าวโพดและทำอาชีพเสริม ได้แก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว
  • เดือนเมษายน : เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร คือ ข้าวโพด และนำไปจำหน่ายเพื่อนำรายได้เข้าครัวเรือน และทำอาชีพเสริม ได้แก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว
  • เดือนพฤษภาคม : เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร คือ ข้าวโพด เพื่อนำไปจำหน่าย นำรายได้เข้าครัวเรือน และทำอาชีพเสริม ได้แก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว และในช่วงกลางเดือนชาวบ้านในชุมชนจะเริ่มทำการเกษตร คือ ไถนาเตรียมหว่านข้าว
  • เดือนมิถุนายน : ในช่วงต้นเดือนชาวบ้านเริ่มหว่านข้าว ในช่วงปลายเดือนเริ่มปลูกข้าวนาปี ชาวบ้านจะเริ่มลงนาเนื่องจากเป็นฤดูฝน และรอเกี่ยวในเดือน พฤศจิกายน และธันวาคม และทำอาชีพเสริม ได้แก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว
  • เดือนกรกฎาคม : ชาวบ้านในชุมชนจะเริ่มลงนาเนื่องจากเป็นฤดูฝน และมีการปลูกข้าวนาปี เพื่อรอเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม และทำอาชีพเสริม ได้แก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว
  • เดือนสิงหาคม : ชาวบ้านในชุมชนรอเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีในเดือนพฤศจิกายน ธันวาต่อไป และเริ่มมีการเก็บลำไยขายในบางครัวเรือน และทำอาชีพเสริม ได้แก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว
  • เดือนกันยายน : ชาวบ้านในชุมชนมีการดูแลต้นข้าวโดยการใส่ปุ๋ย พ่นยา เพื่อรอเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีใน เดือนพฤศจิกายนและธันวาคมต่อไป และทำอาชีพเสริม ได้แก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว
  • เดือนตุลาคม : ชาวบ้านในชุมชนยังคงมีการดูแลต้นข้าวโดยการใส่ปุ๋ย พ่นยา เพื่อรอเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีใน เดือนพฤศจิกายนและธันวาคมต่อไป และทำอาชีพเสริม ได้แก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว
  • เดือนพฤศจิกายน : ชาวบ้านในชุมชนจะเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร คือ การเก็บข้าวนาปี นำไปจำหน่ายเพื่อนำรายได้เข้าครัวเรือน และบางส่วนเก็บไว้รับประทานเอง และมีหาของป่ามารับประทาน ได้แก่ เห็ด และทำอาชีพเสริม ได้แก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว
  • เดือนธันวาคม : ชาวบ้านเริ่มปลูกมันสำปะหลังตั้งแต่ต้นเดือนและมีการดูแลระยะยาวตลอดปีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำตลอดทั้งปี ได้แก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว แลทำมันสำปะหลัง

ปฏิทินวัฒนธรรม

  • เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : วันขึ้นปีใหม่, กลางเดือนจัดทำพิธี “ตานข้าวใหม่” ตานขันข้าวที่วัดกำแพงหิน
  • เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : เก็บส้มป่อยศักดิ์สิทธิ์ เป็นการเก็บในวันที่สำคัญของวันใดวันหนึ่งของเดือนเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ในการนำส้มป่อยในประกอบพิธีต่าง ๆ, บวงสรวงศาลเจ้าบ้าน, ทำบุญข้าวจี่ เป็นการทำบุญเนื่องในวันมาฆบูชา ประชาชนบ้านสันต้นผึ้งจะนึ่งข้าวเหนียว และนำข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนเอาไม้เสียบย่างไฟ เมื่อข้าวสุกเกรียมแล้วก็เอาไข่ซึ่งตีไว้แล้วทาแล้วย่างซ้ำอีกกลายเป็นไข่เคลือบข้าวเหนียว เสร็จแล้วก็จะนำข้าวจี่ไปถวายพระ หลังจากพระฉันแล้วก็จะนำมาเลี้ยงกินกันเอง
  • เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : ประเพณีขึ้นธาตุไหว้พระธาตุโป่งเกลือ
  • เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ปีใหม่เมือง ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ โดยวันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่นบอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์) วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น วันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี วันที่ 15 เมษายน “วันพญาวัน” วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันข้าว” นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ เลี้ยงผีปู่ย่าในวันนี้ ส่วนวันที่ 16 เมษายน “วันปากปี” เป็นวันแรกของปี มารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน พิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่าง ๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว นอกจากนี้ยังมีประเพณีไหว้บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ จัดในช่วงเดือนเมษายนก่อนที่ประชาชนจะทำนา จะมีพิธีไหว้บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาล มีน้ำเพียงพอใช้ในการทำการเกษตร
  • เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : ทำบุญประเพณีแปดเป็ง (วันวิสาขบูชา), เลี้ยงผีเจ้าที่
  • เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : เลี้ยงผีเจ้าบ้าน เป็นประเพณีที่ชาวบ้านบ้านสันต้นผึ้งจัดขึ้นเพื่อสักการะ ขอพร ปกป้องให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข, ประเพณีเลี้ยงผีป่า เจ้าที่นาเลี้ยงโดยเหล้าไห ไก่คู่ เป็นการเลี้ยงเจ้าที่ก่อนลงทำนาเพื่อให้การทำนาราบรื่นและได้ผลผลิตดี
  • เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญเข้าพรรษา ทำบุญ ตักบาตร ถวายเทียนพรรษาที่วัดกำแพงหิน, เลี้ยงผีปู่ย่า เป็นประเพณีที่ชาวบ้านในแต่ละบ้านมีไว้เพื่อสักการะ ปกป้องให้คนในบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ไม่เจ็บไม่ป่วย
  • เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ช่วงเดือนนี้จะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา มีการทำบุญตักบาตร
  • เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ปล่อยเปรตปล่อยผี ทำบุญให้กับคนที่ล่วงลับไปแล้ว และร่วมกันทำบุญให้แก่ผีไร้ญาติ, ตานก๋วยสลาก ช่วงเดือน 12 ล้านนาถึงเดือนยี่ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
  • เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ทำบุญออกพรรษา ตักบาตรเทโวที่วัดกำแพงหิน อยู่ในช่วงตานก๋วยสลาก สิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ
  • เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ทอดกฐิน มีเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยง (เดือนเกี๋ยงดับ) จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ, ประเพณียี่เป็ง
  • เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : มีการร่วมกันเก็บเกี่ยวข้าว ลงแขกเอามื้อ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพื้นเมืองล้านนา


ในปัจจุบันความเชื่อในการรักษาทางไสยศาสตร์ยังคงมีอยู่ แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่กระจายของเชื้อ COVID 19 ทำให้ชาวบ้านมีการรักษาทางไสยศาสตร์ลดลง ชาวบ้านจะรักษาการแพทย์สมัยใหม่ควบคู่กับการแพทย์พื้นบ้าน เช่น เมื่อมีคนในบ้านไม่สบายคนหนุ่มคนสาวจะเลือกเข้ารับการรักษาที่สถานบริการด้านสุขภาพเป็นอันดับแรก แต่ผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้านก็จะไปบนบานศาลกล่าวให้

ความเชื่อที่ชาวบ้านนิยมทำกัน คือ การเป่าคาถาอาคม หรือที่เรียกว่า หมอเป่า เช่น การเป่าตาแดง การเป่างูสวัด เป่าพิษตัวบุ้ง เป็นต้น การสู่ขวัญเมื่อลูกหลานจะไปทำงาน ไปเรียน หรือกลับเข้าบ้าน หรือทำเมื่อคนในบ้านไม่สบาย ได้รับอุบัติเหตุ การสืบชะตา สะเดาะเคราะห์ต่ออายุ เลี้ยงผีปู่ย่า บนบานศาลกล่าว ขอพรให้หายเจ็บป่วย การสอบเข้าโรงเรียน เข้ามหาลัย สมัครงานของบุตรหลาน 

ออกกำลังกาย

ชาวบ้านที่เป็นวัยทำงานส่วนใหญ่จะไม่ออกกำลังกาย เพราะถือว่าการทำงานหนัก มีเหงื่อออกเป็นการออกลังกายอย่างหนึ่ง แต่ผู้สูงอายุของบ้านสันต้นผึ้ง หมู่ที่ 8 จะออกกำลังกายจะออกกำลังกายทุกเช้า โดยการเดิน เดินแกว่งแขน ปั่นจักรยาน วันละประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง แต่หากวันไหนฝนตกก็จะหยุดออกกำลังกายไปก่อน

Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านสันต้นผึ้ง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps

ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.

บุญศิริ สุขพร้อมสรรพและอาทิตย์ ลิมปิยากร. (2564). ภูมินาม-ภาพสะท้อนเมืองพะเยา. วารสารวิชาการเพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่. 2(1). 88-94.

พระครูโสภณปริยัติสุธี, รศ.ดร. ถิรธมฺโม. ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอแม่ใจ.

บุญเลิศ ครุฑเมือง. (2537). ผีปู่ย่า : ศรัทธาแห่งล้านนาไทย. สารคดี “ฮีตฮอยเฮา”. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ. เล่ม 80 ตอน ที่ 14. 5 กุมภาพันธ์ 2506.

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอดอกคำใต้ อำเภอเม่ใจ อำเภอจุน ฯลฯ. เล่ม 82 ตอนที่ 59. 27 กรกฎาคม 2508