ชาวบ้านบ้านอาแยเป็นชาวอาข่าที่มีองค์ความรู้ในการจัดเก็บและการเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืชมาอย่างเนิ่นนาน ซึ่งในการทำเกษตรของชาวอาข่าจะมีพิธีกรรม ความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้พืชผลทางการเกษตรมีความเจริญงอกงามสมบูรณ์
ชื่อหมู่บ้าน อาแย เป็นชื่อที่เรียกตามชื่อของผู้นำที่ชาวบ้านแต่งตั้งให้เป็นผู้นำหมู่บ้าน ทางราชการจึงเรียก "บ้านอาแย" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ชาวบ้านบ้านอาแยเป็นชาวอาข่าที่มีองค์ความรู้ในการจัดเก็บและการเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืชมาอย่างเนิ่นนาน ซึ่งในการทำเกษตรของชาวอาข่าจะมีพิธีกรรม ความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้พืชผลทางการเกษตรมีความเจริญงอกงามสมบูรณ์
ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2523 ชาวบ้านอาแยได้อพยพมาจากจังหวัดเชียงราย โดยการนำของผู้เฒ่า "อาบอเดอ" สาเหตุของการอพยพเนื่องจากหมู่บ้านเก่ามีการแตกแยกไม่สามัคคีกัน ต่างคนต่างแย่งกันเป็นใหญ่ ชาวบ้านบางส่วนรับสภาพที่เกิดขึ้นนั้นไม่ไหวก็เลยอพยพมาอยู่บ้านอาแยในปัจจุบัน พื้นที่ตั้งหมู่บ้านอาแยในปัจจุบันนั้น ก่อนที่อาบอเดอจะนำพาลูกบ้านมาอยู่ เคยเป็นหมู่บ้านของเผ่าลีซูก่อนแล้ว ชนเผ่าลีชูตั้งหมู่บ้านมากี่ปีนั้นไม่มีใครทราบแน่ชัด ทราบแต่ว่าชนเผ่าลีซูอยู่ไม่นานก็ย้ายหมู่บ้านไปอยู่ที่อื่นกันหมด และตอนที่ผู้เฒ่าอาบอเดอมาสำรวจเพื่อจะตั้งหมู่บ้านนั้นไม่มีใครอาศัยอยู่แล้ว ผู้เฒ่าอาบอเดอจึงเห็นว่าพื้นที่ที่ตั้งหมู่บ้านอาแยในปัจจุบันเหมาะที่จะตั้งเป็นหมู่บ้านก็จึงได้ไปชักชวนชาวบ้านคนอื่น ๆ มาอยู่ด้วยกัน หลังจากที่ผู้เฒ่าอาบอเดอได้มาตั้งหมู่บ้านอาแย มีชาวบ้านบางส่วนจากที่อื่น ๆ ย้ายมาสมทบอีกเป็นบางส่วน ปัจุบันบ้านอาแยตั้งหมู่บ้านมาแล้ว 25 ปี มีผู้นำหมู่บ้านมาแล้ว 2 คน คือ
- นายอาแย แลเชอร์ ปัจจุบันได้เสียชีวิตไปแล้ว
- นายไกรสร แลชอร์ และนายอายี่ กูซื่อ เป็นผู้นำหมู่บ้านอาแยคนปัจจุบัน
ที่ตั้งและลักษณะทางภูมิศาสตร์
บ้านอาแยตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา หมู่ที่ 3 ตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ตัวหมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณหุบเขา ใกล้ลำห้วยเล็ก ๆ ในหมู่บ้านอากาศค่อนข้างเย็นตลอดทั้งปี ในฤดูหนาวอากาศจะหนาวมาก
สภาพดินทั่วไปยังอยู่ในสภาพที่ใช้ได้ หมายถึง สภาพดินยังไม่เสื่อม ยังอยู่ในสภาพที่การเพาะปลูกพอจะได้ผล ส่วนเรื่องแหล่งน้ำนั้นค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ และสภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร ยังมีสัตว์เล็กและสัตว์ขนาดกลางเช่น กวาง เก้ง และหมูป่าอาศัยอยู่บ้าง ในหมู่บ้านมีกฎเกณฑ์รักษาป่า โดยแบ่งเป็นป่า 2 ประเภท คือ
- ป่าอนุรักษ์ ไม่ว่าใครก็ตามไปตัดไม้ในบริเวณนี้ไม่ได้เป็นอันขาด
- ป่าใช้สอย ป่าเขตนี้สามารถใช้สอยได้เฉพาะคนในชุมชนเท่านั้น ห้ามคนอื่นหรือคนภายนอกชุมชนไปตัดไม้และห้ามตัดขายอย่างเด็ดขาด มีคณะกรรมการหมู่บ้านกำกับดูแลเป็นอย่างดี นอกจากป่าดังกล่าวแล้ว ในอดีตชุมชนยังมีการรักษาป่าอนุรักษ์ตามจารีตประเพณี ที่นับถือความเชื่อดั้งเดิม คือ ป่าที่อยู่ในบริเวณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน ห้ามใครไปรบกวนหรือตัดไม้ในบริเวณดังกล่าว เช่น ประตูศักดิ์สิทธิ์ (ล้อ ข่อง) ศาลพระภูมิหมู่บ้าน (มี้ ฆ้อง) ป่าช้า (หล่อ พยุ้ม) และบ่อน้ำบริสุทธิ์ (อี๊ ซ้อ ล้อ เขาะ) สถานที่เหล่านี้ชาวอาข่าถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ไม่สามารถจะเข้าไปตัดไม้ได้ จึงเป็นป่าอนุรักษ์ของชุมชนโดยปริยาย ปัจจุบันชุมชนได้ปรับเปลี่ยนความเชื่อจากนับถือดั้งเดิม ไปเป็นศาสนาคริสต์ คาทอลิกและศาสนาพุทธ ซึ่งสภาพพื้นที่ป่ายังมีการดูแลรักษาเหมือนเดิม แต่ไม่มีพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิม
สถานที่สาธารณะ
- สนามกีฬา
- ศาลาหมู่บ้าน
- ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน
- อาคารอเนกประสงค์
แหล่งน้ำธรรมชาติ มีลำห้วยขนาดเล็กหลายแหล่งใกล้ ๆ หมู่บ้าน ชาวบ้านต่อน้ำด้วยท่อพีวีซี เข้ามาตามบ้านของตัวเอง และพอเพียงในการอุปโภคและบริโภค มีปัญหาในเรื่องของฝุ่นละอองที่เจือปนมากับแหล่งน้ำเส้นทางคมนาคม
ถนนเข้าหมู่บ้านอาแยนั้นเข้าได้ 3 เส้นทาง คือ
- เส้นทางจากอำเภอพร้าวขึ้นไปตามเขา ซึ่งชันมาก เป็นถนนลูกรังเป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนค่อนข้างแคบ วิ่งได้เลนเดียว หน้าแล้งจะมีฝุ่นเยอะมาก หน้าฝนรถขับเคลื่อนธรรมดาเข้าไปไม่ได้เลย มีแต่รถขับเคลื่อน 4 ล้อและคนขับต้องชำนาญในการขับบนดอยและตามไหล่เขาถึงจะขับเข้าไปหมู่บ้านได้ ระหว่างทางจากอำเภอพร้าว ไปถึงหมู่บ้านอาแยนั้นจะผ่านหมู่บ้านบ้านเหล่า ซึ่งเป็นหมู่บ้านหลักของบ้านอาแย (คนเมือง) และบ้านป่าหญ้าไทร (อาข่า คะฉิ่น กะเหรี่ยง และละหู่) ระยะทางจากอำเภอพร้าว ถึงบ้านอาแย ประมาณ 25 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาในการเดินด้วยรถยนต์ 1 ชั่วโมง ในฤดูธรรมดา แต่ถ้าเป็นฤดูฝนจะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง
- เส้นทางจากอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ขึ้นจากปากทางแม่ต๋ำ ขึ้นไปตามเขา และจะผ่านหมู่บ้านพี่น้องชนเผ่าหลายหมู่บ้าน มีทั้งพี่น้องลาหู่ พี่น้องอาข่า พี่น้องคนจีน ถนนก็ไม่ต่างอะไรจากเส้นทางจากพร้าวขึ้นบ้านอาแยมากนัก และใช้เวลาในการเดินทางก็พอ ๆ กัน
- เส้นทางจากอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ขึ้นจากปากทางเวียงป่าเป้าไป อำเภอพร้าวขึ้นไปตามเขา และจะผ่านหมู่บ้านขุนแจ๋ (ชนเผ่าลีชู) และหมู่บ้านแม่ปูนหลวง(ชนเผ่าละหู่ และหมู่บ้านห้วยทราย (บ้านสิบหลังอาข่า) ถนนก็ไม่ต่างอะไรจากเส้นทางจากพร้าวขึ้นบ้านอาแยมากนัก และใช้เวลาในการเดินทางก็พอ ๆ กัน
ประชากร ประชากรบ้านอาแยมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 37 หลังคาเรือน 44 ครอบครัว ในหมู่บ้านประชากรทั้งหมด 266 คน เป็นชาย 132 คน เป็นหญิง 134 คน
สายตระกูลในหมู่บ้าน หมู่บ้านอาแยมีสายตระกูลทั้งหมด 9 ตระกูล ตระกูลที่มีจำนวนมากที่สุดคือ เลเชอ รองลงมา มาเยอะ เยเปียง วุ่ยยื่อ เลเสาะ เชอหมื่อ กูซื่อ หมื่นแล และเมอแล
อ่าข่า
แต่เดิมมีการประกอบอาชีพทำไร่ข้าว ในระบบไร่หมุนเวียน จะใช้พื้นที่ปลูกข้าวไว้บริโภคและปลูกข้าวโพดไว้เลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชผักหลากหลายชนิด เช่น แตงกวา แตงไทย เดือย งาดำ ดอกทานตะวัน พริก มะเขือ ถั่ว ผักต่าง ๆ ชาวบ้านบางส่วนยังมีการปลูกฝิ่น ต่อมามีนโยบายปราบปรามยาเสพติด ชุมชนจึงเลิกปลูกฝิ่นนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน การเกษตรบ้านอาแย เริ่มปลูกกาแฟเนื่องจากราคากาแฟสูงขึ้นและปัจจุบันชาวอาข่าในประเทศไทยรวมถึงบ้านอาแย ได้รับการส่งเสริมพืชเพื่อการค้า เช่น ชา กาแฟ ข้าวโพด ไม้ผลเมืองหนาวและผักต่าง ๆ ประชากรบ้านอาแยในปัจจุบันส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างในโครงการพระราชดำริร่วมด้วย ชาวบ้านจะทำงานโครงการพระราชดำริครอบครัวละ 1 คน โดยทำตั้งแต่วันจันทร์ ถึงวันศุกร์
ศาสนาและความเชื่อ
หมู่บ้านอาแยในอดีตนับถือศาสนาดั้งเดิมหรือนับถือบรรพบุรุษทั้งหมด ภายหลังมีชาวบ้านหันไปนับถือศาสนาคริสเตียน คาทอลิก และพุทธบ้างบางส่วน และปัจจุบันจึงไม่มีผู้ที่นับถือศาสนาดั้งเดิมเหลืออยู่ แต่แม้ว่าหมู่บ้านอาแยจะมีความเชื่อที่หลากหลาย ชาวบ้านต่างก็ยังคงสามัดคีช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่ และประเพณีสำคัญ ๆ ของชาวอ่าข่าดั้งเดิม ก็ยังคงไว้ เช่น ประเพณีชนไข่แดง ประเพณี โล้ชิงช้า และประเพณีการเล่นลูกข่าง ส่วนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหลือไว้เพียงบางส่วน เช่น ประตูหมู่บ้านหรือประตูศักดิ์สิทธิ์ โล้ชิงช้า ส่วนสถานศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ที่ต้องทำพิธี เช่น บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ศาลพระภูมิ นั้นไม่มีแล้ว สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงในด้านความเชื่อและศาสนานั้นมีหลายสาเหตุ บ้างก็เป็นไปตามสังคมเมืองที่เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตมากขึ้น บางครอบครัวอยากคงไว้แต่เมื่อเห็นคนส่วนใหญ่เปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนตามเนื่องจากไม่มีคนที่จะทำพิธีกรรม เป็นต้นผู้เฒ่าผู้แก่ หรือ คนที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ยังมีความเชื่อดั้งเดิมหลงเหลืออยู่ในความคิด เพียงแต่ไม่มีการทำพิธีกรรมเหมือนแต่ก่อนเท่านั้น เห็นได้จาก เวลาไม่สบาย ไปหาหมอก็ไม่หายก็จะกลับมาทำพิธีขอขมาจากสิ่งศักดิ์สิทธ์หรือเรียกขวัญคล้ายความเชื่อเดิม หรือกระทั้งการคงไว้ซึ่งโครงสร้างการปกครองโดยนับถือจารีตประเพณีแบบดั้งเดิมเป็นต้น
การศึกษา
ในอดีตหมู่บ้านอาแย มีศูนย์การเรียนรู้บนพื้นที่สูง 1 โรง มีคุณครูของกรมการศึกษานอกโรงเรียน 2 คน เป็นชาย 1 หญิง 1 ที่คอยสอนให้เด็กในหมู่บ้านอ่านออกเขียนได้ และถ้าใครอยากได้วุฒิการศึกษาประถมศึกษา มัธยมปลายก็จะต้องไปสอบเทียบในโรงเรียนในเมืองพร้าว ปัจจุบันเด็กในหมู่บ้านจะไปเรียนในเมืองตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 คือ 5-6 ปี ในชุมชนจึงเหลือแต่ผู้ปกครอง ผู้เฒ่าผู้แก่ และเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุประมาณ 4 ปี
รายละเอียดข้อมูลด้านการศึกษาในชุมชนบ้านอาแย มีดังนี้
- มีผู้อ่านออกเขียนภาษาไทยได้ 111 คน
- มีผู้อ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ 159 คน
ด้านสุขภาพอนามัย
หมู่บ้านอาแยจะใช้บริการด้านสุขภาพที่อนามัยป่าไหน่ ปัจจุบันเด็กที่เกิดในหมู่บ้านไม่มีแล้ว ส่วนใหญ่จะไปฝากครรภ์และรับวัคซีนกันที่อนามัยป่าไหน่ หรือโรงพยาบาลพร้าวในตัวอำเภอ ที่หมู่บ้านมีเด็กพิเศษอยู่ 2 คน เป็นชาย 1 หญิง 1 คน เด็กผู้หญิง เป็นออทิสติค เด็กชายเป็นใบ้ 1 คน ทางอนามัยได้มีการสร้างห้องน้ำให้กับทุกครัวเรือน บางครัวเรือนยังมีปัญหาในเรื่องของท่อที่จะต่อห้องน้ำ ทางอนามัยยังแจกไม่ทั่วถึงน้ำที่ใช้บริโภคยังไม่ค่อยสะอาดเนื่องจากไม่ได้ทำการกรองน้ำจึงมีฝุ่นละอองเจือปนอยู่มาก ถ้าจะใช้บริโภคต้องต้มน้ำให้สุกเสียก่อน
เศรษฐกิจ
ประชากรบ้านอาแยในปัจจุบันส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างในโครงการพระราชดำริ เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องที่ดินที่ทำกินเพราะอาศัยอยู่ในเขตป่าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา จึงจะต้องระมัดระวังกับการถูกจับดำเนินคดี จากอาชีพที่มีการเปลี่ยนไปทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนตามด้วย ชาวบ้านจะทำงานโครงการพระราชดำริครอบครัวละ 1 คน ทำตั้งแต่วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ มีรายได้วันละ 100 บาทต่อวัน ทำตั้งแต่ 8.00 น - 16.00 น. เช้าๆ จึงเป็นเวลาที่รีบเร่งของชาวบ้าน บางคนก็เดิน บางคนก็นั่งรถจักรยานยนต์ จึงเป็นที่มาของการที่ชาวบ้านต่างพากันซื้อรถจักรยานยนต์เกือบทุกหลังคาเรือน เพื่อไว้ไปทำงานและทำธุระส่วนตัวในเมืองหรือที่อื่น ๆ รายได้หลักของชาวบ้านจึงมาจากการรับจ้างที่ โครงการพระราชดำริและโดยบริบทของหมู่บ้านทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไปเกือบทั้งหมู่บ้านไปโดยปริยาย และรูปแบบการทำไร่หมุนเวียนก็ห่างหายไปจากชุมชน แม้ว่าในชุมชนยังมีการทำไร่หมุนเวียนอยู่ก็ตาม ซึ่งในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่ง ผลกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิตของชุมชนจากกระแสภายนอกที่เข้ามาสู่ในชุมชน จึงทำให้ชุมชนหันกลับมาทำไร่หมุนเวียนแบบดั้งเดิมมากขึ้นโดยเน้นพืชพลัก คือ ข้าว ข้าวโพด ขิง และผักชนิดต่าง ๆ เพื่อยังชีพ ถ้าเหลือก็แบ่งขาย ส่วนพืชผลที่เป็นรายได้ของชุมจน คือ บ๊วย ท้อ เชอรี่ และปัจจุบันก็เริ่มปลูกกาแฟเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี
สถิติของการปลูกกาแฟและรายได้จากการขายผลผลิตกาแฟในรอบ 3 ปี คือ 2555-2557
- จำนวนครัวเรือนที่ชาวบ้านอาแยปลูกกาแฟ คือทั้งชุมชน รวมโดยประมาณ 70,000 ต้น
- ในรอบปี 2555 ชุมชนมีรายใด้จากการขายกาแฟ โดยประมาณ 100,000 บาท
- ในรอบปี 2556 ชุมชนมีรายได้จากการขายกาแฟ โดยประมาณ 140,000 บาท
- คาดว่าในปีหน้าหรือปี 2557 จะมีรายได้จากการขายกาแฟ โดยประมาณ 200,000 บาท
ทุนกายภาพ
เนื่องจากแหล่งธรรมชาติบริเวณพื้นที่ของชาวบ้านบ้านอาแยมีความอุดมสมบูรณ์จึงทำให้มีเมล็ดพันธุ์พืชมากมายที่เกิดจากการเก็บรักษาของชนเผ่าอาข่า อาทิ เช่น ข้าวขาว, แฉ่ ซา, หง่า พู มา, ข้าวโพดสาลีสีลาย, ถั่วลาย, นือ เดอ เดอ มา, ถั่วฝักยาวสีขาว และพันธุ์พืชอื่น ๆ ที่มีมากกว่า 100 สายพันธุ์
ทุนภูมิปัญญาท้องถิ่น
ชาวบ้านบ้านอาแยจะมีองค์ความรู้ในการเพาะปลูกและการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์พืชในแต่ละเดือนของชาวอาข่า ตลอด 12 เดือน
บ้านอาแยเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในการปกครองของบ้านเหล่า หมู่ 3 ตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ และตั้งอยู่ในพื้นที่การดำเนินงานของโครงการพระราชดำริดอยม่อนล้าน ทางผู้ใหญ่บ้านบ้านเหล่าได้แต่งตั้งผู้นำหมู่บ้าน 1 คน ผู้ช่วยผู้นำหมู่บ้าน 1 คน ที่ได้จากการคัดเลือกโดย ผู้นำหมู่บ้านคนปัจจุบัน คือ นายอายี่ กูซื่อ และยังมีกรรมการหมู่บ้านอีกหนึ่งชุดมีสมาชิกทั้งหมด 3 คน เพื่อสะดวกในการปกครองลูกบ้านให้อยู่อย่างสงบสุข บ้านอาแยปัจจุบันยังมีการใช้กฎหมู่บ้าน หรือกฎจารีตประเพณีในการปกครองหมู่บ้านอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีการลักเล็กขโมยน้อย สัตว์เลี้ยงเข้าไปทำความเสียหายในพื้นที่ทำกินของชาวบ้านการทะเลาะวิวาทของคนภายในชุมชน ทางผู้นำหมู่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน ชาวบ้าน และผู้เฒ่าผู้แก่จะใช้กฎหมู่บ้านหรือกฎจารีตประเพณี ตัดสินคดีความ แต่ถ้าหากมีความรุนแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกายจนสาหัส หรือถึงขั้นมีคนเสียชีวิต ทางผู้นำหมู่บ้านก็จะส่งให้กับตำรวจตามกฎหมายบ้านเมืองต่อไป
หมู่บ้านอาแยมีการปกครองแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ การปกครองแบบทางการและการปกครองแบบจารีตประเพณี
- การปกครองแบบทางการ คือระบบการจัดการปกครองโดยองค์กรของรัฐหรือระบบราชการ โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นคนพื้นราบเป็นคนปกครองและแบ่งการปกครองโดยคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ เนื่องจากบ้านอาแยเป็นหมู่บ้านบริวารของหมู่บ้านคนเมือง ยังไม่เป็นหมู่บ้านทางการ ผู้นำทางการและคณะกรรมการยังเป็นคนพื้นราบหมด ทางชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองแบบทางการ
- การปกครองแบบจารีตประเพณี หรือแบบไม่เป็นทางการ คือการปกครองกันเองในหมู่บ้าน โดยทางหมู่บ้านเลือกผู้นำชุมชนขึ้นมา 1 คน ให้นำหมู่บ้าน และมีผู้นำด้านศาสนา 1 คน เอาไว้สำหรับตัดสินปัญหาของหมู่บ้านเวลามีเรื่องเล็กน้อย ในหมู่บ้านจะเรียกผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านมาตัดสินอาจจะปรับเป็นเงินหรือให้ทำพิธี โดยการฆ่าหมูหรือไก่และเรียกผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านมากิน ถ้าปรับเป็นเงินจะเอาเงินเข้าเป็นกองกลางในหมู่บ้าน การปกครองวัฒนธรรมชนเผ่านั้นยังมีการเชื่อฟังผู้อาวุโสในหมู่บ้านกันอยู่ค่อนข้างดี เพราะผู้อาวุโสในหมู่บ้านนี้ค่อนข้างที่จะแน่นในเรื่องวัฒนธรรม กลุ่มคนรุ่นใหม่ยังไม่มีการต่อต้านกับผู้อาวุโสใด ๆ ทั้งสิ้น และหากทางราชการต้องการตัวแทนหมู่บ้านให้ไปติดต่อเรื่องกับราชการผู้นำหมู่บ้านและชุมชนจะทำการเลือกบุคคลที่เหมาะสมไปรับนโยบาย
ศรีลานนา
เจษฎา แลเชอร์ และคณะ. (2556). คู่มือวิธีการเก็บรักษาและการเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืชของชนเผ่าอาข่า บ้านอาแย. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research