Advance search

บ้านป่าตัน

ชุมชนชนบทที่อยู่ในตำบลออนกลาง ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างและเป็นเกษตรกรเลี้ยงโคนม ภายใต้โครงการโคนมในพระราชดำริ

หมู่ที่ 6
ออนกลาง
แม่ออน
เชียงใหม่
ปุลวิชช์ ทองแตง
1 พ.ค. 2023
ปุลวิชช์ ทองแตง
17 พ.ค. 2023
ปุลวิชช์ ทองแตง
3 พ.ค. 2023
บ้านป่าตัน

ชื่อ บ้านป่าตัน มีการตั้งสมมุติฐานว่าพื้นที่เดิมในชุมชนมีต้นพุทรา (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ต้นบ่าตัน) เป็นจำนวนมากจึงมีการเรียกและตั้งชื่อหมู่บ้านตามป่าพุทรา


ชุมชนชนบทที่อยู่ในตำบลออนกลาง ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างและเป็นเกษตรกรเลี้ยงโคนม ภายใต้โครงการโคนมในพระราชดำริ

หมู่ที่ 6
ออนกลาง
แม่ออน
เชียงใหม่
50130
อบต.ออนกลาง โทร. 0-5310-6780
18.76547337
99.25943077
องค์การบริหารส่วนตำบลออนกลาง

บ้านป่าตันมีประวัติก่อตั้งมานาน นับ 100 ปี พบว่ามีการอพยพย้ายถิ่นมาจากเมืองเชียงตุงของรัฐฉานประเทศพม่าซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขินแรกเริ่มมีการตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านป่าตัน โดยมีการตั้งสมมุติฐานว่าพื้นที่เดิมในชุมชนมีต้นพุทรา (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ต้นบ่าตัน) เป็นจำนวนมากจึงมีการเรียกและตั้งชื่อหมู่บ้านตามป่าพุทรา จึงได้ชื่อว่า บ้านป่าตัน ในปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยของราษฎรในหมู่บ้าน เดิมทีเป็นหมู่ที่ 10 ของตำบลออนเหนือ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเรียกว่าหมู่บ้านทุ่งเหล่าป่าตัน

ในปี พ.ศ. 2537 กระทรวงมหาดไทยได้แบ่งท้องที่อำเภอสันกำแพงจังหวัดเชียงใหม่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอแม่ออนตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2537 และ ในปี 2542 ตำบลออนกลางได้แยกตัวออกมาจากตำบลออนเหนือและยกระดับจากสภาตำบลขึ้นมาเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลออนกลางและมีการก่อสร้างที่ทำการอำเภอออนกลาง สถานีตำรวจภูธรแม่ออน กองร้อยรักษาดินแดนอำเภอแม่ออน พ.ศ. 2551 ได้ทำการก่อสร้างองค์การบริหารส่วนตำบลออนกลางในพื้นที่ของหมู่ 9 ซึ่งในอดีตสภาตำบลตั้งอยู่บริเวณที่ตั้งของ รพ.สต. ออนกลางในปัจจุบัน จากนั้นในปี พ.ศ. 2557 จึงมีการก่อสร้างอาคารใหม่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลออนกลาง ปัจจุบัน มีทั้งหมด 11 หมู่บ้าน ซึ่งรวมกับ บ้านป่าตันหมู่ที่ 6 ตำบลออนกลาง มีผู้นำหมู่บ้าน ร่วมมาแล้ว 7 คน ซึ่ง นายจรัญ กองแก้ว เป็นผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่ปกครองหมู่ 6 บ้านป่าตัน ณ ปัจจุบัน

จากการสัมภาษณ์ นายสมปราญ วงค์ตาคำ อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านป่าตัน หมู่ 6 ปี 2553-2560 กล่าวว่า สมัยก่อนที่มีการอพยพของชาวไทเขิน พวกเขาก็เริ่มทำไร่ทำสวนทำนา ใช้ชีวิตอยู่กินกับธรรมชาติเพื่อดำรงชีวิตอยู่ ทำการเกษตรเป็นหลัก ต่อมา ปี 2517 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จมาหมู่บ้านสหกรณ์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีการแบ่งเขต ได้ให้ริเริ่มโครงการโคนมในพระราชดำริ ซึ่งชาวบ้านได้เลี้ยงโคนมมาถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังคงทำอาชีพเกษตรกรอยู่และมีการรับจ้าง ทำอาชีพอื่น ๆ ร่วมด้วย เนื่องจากว่าการทำโคนมถึงจะมีรายได้ดี แต่ต้นทุนสูง รายจ่ายก็มีมากจึงต้องทำอาชีพอื่นเพื่อนำเงินมาหมุนใช้ 

ในปี 2527 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้มีการนำไฟฟ้าเข้ามาใช้ในพื้นที่ ตำบลออนเหนือ แต่ในหมู่บ้าน หมู่ 6 ตอนนั้นยังมีไฟไม่เพียงพอ ท้องถนนยังมีความมืด และอันตราย อดีตผู้ใหญ่บ้านชื่อนายประสิทธิ์ ชัยวงค์ ปี 2543 เล็งเห็นปัญหานี้มานาน จึงได้ใช้งบส่วนตัวในการติดไฟกิ่งในหมู่บ้าน เสริมในถนนที่ไฟไม่เพียงพอหรือเข้าไม่ถึง ต่อมาในปี 2548 ได้มีการเจาะบ่อบาดาลขึ้นเนื่องจากว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ใช้น้ำประปาภูเขาซึ่งน้ำไม่พอใช้ และไม่สะอาด ต้องกรองตลอด หลังจากเจาะบ่อบาดาลก็ยังมีปัญหาที่ว่าน้ำไม่สะอาดและไม่พอใช้ ระหว่างปี 2555-2556 ศูนย์พัฒนาห้วยห้องไคร้ (อ.ดอยสะเก็ด) มีการสนับสนุนงบในการทำฝายห้วยเลาหลวง และปรับปรุงและพัฒนาอ่างเก็บน้ำให้ดีขึ้น จึงเป็นน้ำประปาหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน เข้าสู่ปี 2557 มีงบจากโครงการ SML นายสมปราญ วงค์ตาคำ จึงจัดสรรมาสร้างเป็นประปาภูเขาแห่งที่ 2 ของหมู่บ้าน ที่ห้วยเลาหลวง และทำถังเก็บน้ำ หากหน้าร้อนน้ำจากประปาภูเขาไม่พอใช้จะใช้น้ำจากบ่อบาดาลแทน จนมาถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีการสร้างโรงน้ำดื่มของหมู่บ้าน ยังไม่มีงบสนับสนุน ส่วนตัวคิดว่าอาจเป็นเพราะน้ำยังไม่สะอาด ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่เขากำหนด ให้สร้างโรงน้ำดื่ม ปัญหาน้ำไม่สะอาดยังคงมีมาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ชาวบ้านก็มีน้ำใช้เพียงพอสำหรับอุปโภคและบริโภค 

บ้านป่าตัน หมู่ที่ 6 ตั้งอยู่ในตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ทั้งหมด 1,571 ไร่ / ตารางกิโลเมตร พิกัด WGS 84 Zone 47 N ห่างจากอำเภอแม่ออน ไปทางทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือ ระยะ 2.1 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ ไปทางทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือ ระยะ 43 กิโลเมตรมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านออนกลาง หมู่ 8 ตำบลออนกลาง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านป่าตัน หมู่ที่ 5 ตำบลออนกลาง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เขตป่าสงวน , ตำบลบ้านทา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านออนกลาง หมู่ที่ 7 ตำบลออนกลาง

ลักษณะภูมิประเทศ

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสลับภูเขา สภาพดินเป็นดินร่วนผสมลูกรัง เอื้ออำนวยต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เศรษฐกิจส่วนใหญ่เกิดจากผลผลิตทางการเกษตร เช่น ทำนา เลี้ยงโคนม พืชไร สวนผักผลไม้ และปศุสัตว์ ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านจะเป็นบ้านปูนชั้นเดียว มีฟาร์มโคนมอยู่ 11 แห่ง เส้นทางคมนาคมในหมู่บ้านเป็นทางคอนกรีตและทางลูกรัง

จากการรวบรวมข้อมูลเอกสารทุติยภูมิของบ้านป่าตัน หมู่ 6 ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2564 พบว่ามีครัวเรือนทั้งหมดจำนวน 178 ครัวเรือน ซึ่งมีจำนวนประชากรทั้งหมด 525 คน และจากการลงพื้นที่สำรวจของนักศึกษา ระหว่างวันที่ 9-14 ธันวาคม 2564 สำรวจได้ 100 ครัวเรือน จาก 178 ครัวเรือน ซึ่งมีประชากรจำนวน 296 คน จากจำนวนทั้งหมด 525 คน (ข้อมูลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลออนกลาง 18 ธันวาคม 2564) ประชากรบ้านป่าตัน หมู่ที่ 6 ตำบลออนกลาง ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 50 - 54 ปี (ร้อยละ 14.2) รองลงมาอยู่ในช่วงอายุ 55-59 ปี (ร้อยละ 11.8) ส่วนใหญ่ประชากรเป็นเพศหญิง (ร้อยละ 52.4) ส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา (ร้อยละ 45.6) รองลงมา คือ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา (ร้อยละ 16.9) ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป (ร้อยละ 29.4)

จากการศึกษาเพิ่มเติมโดยนักศึกษาพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเชียงใหม่ พบว่าชาวบ้านในบ้านป่าตัน เดิมเป็นชาวไทเขิน มีถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเชียงตุง จังหวัดเชียงรายและได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาที่เมืองเชียงใหม่ เนื่องจากเมืองเชียงตุงของชาวไทเขินได้ถูกพม่าโจมตี เพื่อต้องการให้เมืองเชียงตุงเป็นเมืองขึ้น ในครั้งนั้น “เจ้ามหาขนาน” ซึ่งเป็นกษัตริย์ของชาวไทเขินได้ขอความช่วยเหลือจากเมืองเชียงใหม่ “พระเจ้ากาวิละ” เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จึงให้ “พระเจ้าพุทธวงศ์” (พระยาพุทธวงศ์ ซึ่งต่อมาให้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 4) คุมกำลังยกกองทัพไปช่วยเจ้ามหาขนานเพื่อขับไล่พม่าที่เมืองเชียงตุง แต่ทำไม่สำเร็จ ดังนั้นจึงได้ถอยทัพมารออยู่ที่เมืองยอง โดยมีกองทัพของ “เจ้ามหาอุปราชธรรมลังกา” (พระยาธรรมลังกา ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 2) และเจ้านายอื่น ๆ จึงถอยทัพกลับมายังเชียงใหม่ ซึ่งเจ้ามหาขนาน กษัตริย์ของชาวไทเขิน ก็ได้นำชาวไทเขินส่วนหนึ่งที่สมัครใจ จากหมู่บ้านต่าง ๆ ของเมืองเชียงตุงอพยพติดตามเจ้ามหาขนานลงมากับกองทัพเมืองเชียงใหม่ ลงมาตั้งถิ่นฐานทางด้านทิศตะวันออกของตัวเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันคือ บ้านออนกลาง-ป่าตัน ตำบลออนกลาง ที่แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 หมู่ด้วยกัน คือ หมู่ 5, 6 (บ้านป่าตัน) หมู่ 7, 8, 9 และ 11 (บ้านออนกลาง) 

จากการสำรวจและสอบถามผังเครือญาติของบ้านป่าตัน หมู่ที่ 6 ต.ออนกลาง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ พบว่ามีตระกูลเก่าแก่หลายนามสกุล เช่น “กันตีมูล” “จิโนบัว” และ “นางเมาะ” เป็นที่รู้จักกันมากในชุมชน นามสกุล “กันตีมูล” ซึ่งเป็นตระกูลที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นจำนวนมาก ทั้งที่อาศัยอยู่จริงและอาศัยอยู่ นอกพื้นที่ โดยจากการสัมภาษณ์ นางชญาดา กันตีมูล และนางบัวคำ กันตีมูล ซึ่งเป็นสมาชิกในตระกูล พบว่ามี นายอุ่น กันตีมูล และ นางเขียว กันตีมูล เป็นต้นตระกูล มีการแต่งงานขยายครอบครัว มีลูกหลานสืบทอดมา 6 รุ่น จนเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ จากการวิเคราะห์พบว่าตระกูล “กันตีมูล” มีลักษณะเป็นทั้งครอบครัวขยายและครอบครัวเดี่ยว มีการแต่งงาน เปลี่ยนนามสกุล เช่น แต่งเข้าครอบครัวฝ่ายชาย และแต่งเข้าครอบครัวฝ่ายหญิง และมีการ ไปตั้งครอบครัวหรือทำงานต่างถิ่น

ไทขึน

จากการสำรวจชุมชนและเก็บรวบรวมข้อมูล พบว่า บ้านป่าตัน หมู่ 6 ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัด เชียงใหม่ มีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ 

กลุ่มองค์กรทางการ ได้แก่ กองทุนศูนย์จัดการกองทุน, กองทุนศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบริหารจัดการหนี้ (กลุ่มออมไก่), กองทุนแก้ไขปัญหายากจน (กขคจ.), กองทุนเงินล้าน, คณะกรรมการหมู่บ้าน, อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 

กลุ่มองค์กรไม่เป็นทางการ ได้แก่ กลุ่มแม่บ้าน, กลุ่มผู้สูงอายุ

บ้านเรือนของประชาชนส่วนใหญ่อยู่ติดกันหรือตั้งอยู่ภายในรั้วเดียวกัน มีความสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งจากโครงสร้างทางสังคมจะเห็นได้ว่าแต่ละกลุ่มขององค์กรจะมีสมาชิกบางส่วนภายในกลุ่มของแต่ละองค์กรเป็นบุคคลเดียวกัน บทบาทหน้าที่ของแต่ละองค์กร พบว่า ประธาน รองประธาน หรือคณะกรรมการ ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนๆ เดียวกันในหลายๆ องค์กร 

ด้านเศรษฐกิจและสังคม

จากการประเมินชุมชนด้านเศรษฐกิจและสังคมบ้านป่าตัน หมู่ที่ 6 ต.ออนกลาง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ พบว่าประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร มีการปลูกพืชหมุนเวียนตลอดทั้งปี ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดอ่อน ยาสูบและข้าว นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ โดยเริ่มต้นปีชาวบ้านจะมีการปลูกข้าวโพดสัตว์ ข้าวโพดยอดอ่อน ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม โดยมีการปลูก 2 ครั้งเก็บเกี่ยวผลผลิต 2 ครั้งต่อปี ในชุมชนชาวบ้านส่วนใหญ่จะปลูกข้าวนาปีมีส่วนน้อยที่ปลูกข้าวนาปรังเนื่องจากขาดแคลนน้ำในการทำนา โดยนาปีชาวบ้านจะเริ่มหว่านข้าวในช่วงเดือนกรกฎาคม เดือนถัดมาช่วงเดือนสิงหาคมจะมีการปลูกข้าว เก็บเกี่ยวข้าวในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน นอกจากนี้ยังมีพืชผลทางการเกษตรและสัตว์เศรษฐกิจที่มีการดูแลตลอดปี ได้แก่ 1.ปลูกต้นยาสูบ โดยมีนายหน้าที่รับซื้อนำต้นยาสูบมาให้คนในชุมชนปลูกและขายกับนายหน้าเมื่อถึงฤดูเก็บ ใบยาสูบสามารถปลูกและเก็บผลผลิตได้ตลอดปี 2.หญ้าสำหรับเลี้ยงโค เป็นหญ้าที่ปลูกไว้เพื่อใช้เลี้ยงโคนมและโคเนื้อ โดยจะทำการเก็บตลอดเวลา 3.สัตว์เศรษฐกิจ ได้แก่ ไก่ หมู โคเนื้อ โคนม ส่วนใหญ่ในชุมชนจะนิยมเลี้ยงโคนม โคเนื้อ เลี้ยงไว้เพื่อทำการเก็บน้ำนมวัวส่งให้กับสหกรณ์โคนมของหมู่บ้าน โดยทำการเก็บเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงเช้าประมาณตี 4 และอีกครั้งช่วงบ่าย ส่วนโคเนื้อเป็นการเลี้ยงมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นการเลี้ยงเพื่อทำการขายซึ่งราคาขึ้นอยู่กับโคเนื้อ นอกจากนี้ ประชาชนบ้านป่าตัน หมู่ที่ 6 มีการเย็บผ้า เย็บกระเป๋า แคดดี้สนามกอล์ฟ พนักงานโรงงานปูนซีเมนต์ สำหรับการเย็บผ้าในชุมชนเริ่มจากการที่มีคนในชุมชนนำผ้าเข้ามาและจ้างคนในหมู่บ้านทำ จึงทำให้มีการเย็บผ้าเป็นการสร้างรายได้ นอกจากนี้มีการทำงานเป็นแท็ดดี้ในชุมชน เนื่องจากชุมชนอยู่กับสนามตีกอล์ฟซึ่งห่างหมู่บ้านประมาณ 7-8 กิโลเมตรและมีการทำงานเป็นพนักงานโรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานอยู่ใกล้ชุมชน ค่าแรงมีราคาสูง 300-350 บาท คุ้มค่ากับค่าแรงทำให้ส่วนใหญ่คนในชุมชนไปทำงานโรงงานปูนซีเมนต์ 

ด้านวัฒนธรรม

จากการประเมินและสอบถามภายในชุมชนบ้านป่าตัน หมู่ 6 เกี่ยวกับด้านวัฒนธรรมของหมู่บ้านพบว่าประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนา จะไปรวมตัวกันที่วัดและทำบุญร่วมกัน โดยมีกิจกรรมตามวันเวลาปฏิทิน ดังนี้

1. ปีใหม่ไทย คนในหมู่บ้านจะทำการกินเลี้ยงตามบ้านของตนเองและสวดมนต์ข้ามปีที่วัด

2. ตานข้าวใหม่ การทำบุญให้กับคนตายโดยการนำข้าวที่ได้เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนตุลาคม พฤศจิกายน โดยชาวบ้านส่วนมากจะรอนำข้าวใหม่มาทำบุญก่อนจะมีการรับประทานกันเองภายในครอบครัว และภายในหมู่บ้านจะมีการนำข้าวสารไปถวายวัด เมื่อนำไปถวายที่วัดจะมีการทำบุญ หลังจากการทำบุญพระจะมีการขายข้าวสารให้สำหรับคนที่อยากซื้อข้าว เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปเป็นค่าใช้จ่ายในวัด

3. สงกรานต์ 13-16 เมษายน จะมีการเรียกตามวันและมีกิจกรรมตามแต่ละวัน ดังนี้

  • สังขารล่อง ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปีชาวบ้านจะเริ่มจากการตื่นเช้ามาทำความสะอาดบ้าน ซักผ้า อาบน้ำและใส่ชุด ใหม่เพื่อต้อนรับวันปีใหม่เมือง หลังจากนั้นจะทำความสะอาดหอพ่อบ้านพ่อปู่อินทร์ร่วมกันทั้งหมู่บ้าน อีกส่วนจะทำการขนทรายเข้าและก่อทรายพร้อมทั้งเอาตุงปัก
  • วันเนา ตรงกับวันที่ 14 เมษายนของทุกปี เป็นวันฆ่าสัตว์ที่ใช้สำหรับทำบุญในวัดพญาวัน หรือเตรียมของสำหรับทำบุญ นอกจากนี้ยังเป็นวันที่ห้ามทุกคนพูดในสิ่งที่ไม่ดี เนื่องจากมีความเชื่อว่าการพูดไม่ดีออกไปสิ่งเหล่านั้นจะย้อนกลับเข้ามาที่ตัวเอง
  • วันพญาวัน ตรงกับวันที่15 เมษายนของทุกปี เป็นวันทำบุญใหญ่ ซึ่งชาวบ้านจะตื่นเช้า นำสิ่งของที่เตรียมในวันเนาไปถวายที่วัดออนกลาง หลังจากที่ทำบุญวัดเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะแยกย้ายกันไปรดน้ำดำหัวผู้แก่ผู้เฒ่าตามบ้านของตนเอง และกินเลี้ยงกันตามบ้านของตนเอง
  • วันปากปี ตรงกับวันที่ 16 เมษายนของทุกปี เป็นวันหลังจากวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันที่สงเคราะห์บ้านหรือปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากบ้าน โดยแต่ละบ้านจะทำการปั่นรูปสัตว์ตามปีเกิดตามปีเกิดของคนในบ้านทุกคนแล้วนำไปใส่ที่รองซึ่งทำจากไม้ไผ่ให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมสำหรับใส่รูปปั้นเหล่านี้ จากนั้นจะนำไปไว้ที่ศาลเจ้าพ่อปู่อินทร์ จะมีผู้ใหญ่เป็นคนนำไหว้ขอขมา ขอพรในการดูแลปกป้องรักษาหมู่บ้านป่าตันให้คลาดแคล้วปลอดภัยจากสิ่งไม่ดี มีแต่ความสงบสุขตลอดปี แล้วให้พระสงฆ์สวดปัดเป๋าสิ่งชั่วร้าย แล้วนำมาไว้ตามสี่ทิศของหมู่บ้าน นอกจากนี้แต่ละบ้านจะได้รับสายสิญจน์มาไว้ที่บ้านอีกด้วย

4. วิสาขบูชา เป็นวันที่ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตรที่วัดออนกลางในช่วงเช้า ในช่วงตอนเย็นจะมีการเวียนเทียน

5. เข้าพรรษา มีการทำบุญที่วัดออนกลางโดยชาวบ้านจะไปเข้าร่วมทำบุญในตอนเช้าในช่วงตอนเย็นจะมีการเวียนเทียน

6. สลากภัต ทำในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม หรือวันพระใหญ่ โดยจะเป็นการทำทานให้กับบรรพบุรุษที่เสียไปแล้วตามแต่ละครอบครัว โดยทุกบ้านจะทำต้นสลากที่วัด

7. ออกพรรษา มีการทำบุญที่วัดออนกลางในช่วงเช้า ในช่วงตอนเย็นจะมีการเวียนเทียน

8. 12 เป็ง ตรงกับวันพระใหญ่ เป็นวันปล่อยผี ให้มารับของทาน โดยชาวบ้านจะตื่นเช้าไปทำบุญใส่ขันดอก จุดธูปเทียนที่วัดออนกลาง ในการทำทานพระจะให้ทำทานทีละครอบครัว หากชาวบ้านคนไหนที่ไม่ว่างก็มักจะกลับหลังจากทำทานเสร็จ ส่วนคนที่ว่างหรืออยากอยู่ต่อจะนั่งฟังธรรมต่อถึงบ่าย 

9. ยี่เป็ง ชาวบ้านจะไปทำบุญด้วยกันที่วัดออนกลางช่วงเช้า จากนั้นในช่วงเย็นจะมีการจัดงานลอยกระทงในหมู่บ้านบริเวณสะพานทางไปบ้านโต้ง โดยมีกิจกรรมประกวดทำกระทง ชกมวยในน้ำ บั้งไฟ โดยชาวบ้านมาร่วมตัวทำกิจกรรมร่วมกัน

10. สรงน้ำพระธาตุ เป็นประเพณีที่ทำขึ้นทุกปีโดยเวลาจะไม่แน่นอน มักจะทำในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยจะนับจากปฏิทินเมือง โดยจะใช้ในเดือน 8 เป็งหรือเดือน 9 เป็งซึ่งจะเป็นวันพระที่พระจันทร์เต็มดวง โดยประเพณีนี้จะทำเพื่อสรงน้ำพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์

11. เลี้ยงหอบ้าน เป็นประเพณีที่ทำเป็นประจำทุกปี โดยจะทำปีละ 1 ครั้ง โดยชาวบ้านจะช่วยกันนำอาหารเช่น ไก่ ข้าว ไข่ต้ม ผลไม้ ไปไหว้เพื่อขอบคุณและบูชาเจ้าบ้านที่คอยปกปักรักษาหมู่บ้านให้อยู่ในความสงบ

1.นายจรัญ กองแก้วหรือพ่อหลวงแอ๊ค ผู้นำชุมชน บ้านป่าตัน หมู่ที่ 6

  • เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2526
  • พ.ศ. 2557 เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านป่าตัน หมู่ที่ 6
  • พ.ศ. 2560 เป็นผู้ใหญ่บ้านป่าตัน หมู่ที่ 6 จนถึงปัจจุบัน

จากการสัมภาษณ์ นายจรัญ กองแก้วหรือพ่อหลวงแอ็ค ให้ความร่วมมือในการตอบคำถามเป็นอย่างดี และจากการสนทนาสอบถามเรื่องราวพ่อหลวงแอ็คจากชาวบ้านป่าตันหมู่ที่ 6 กล่าวถึงว่าเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ยังหนุ่มใหม่ไฟแรงคนเข้าถึงได้ง่าย อารมณ์ดี ไม่ถือตัว มีจิตสาธารณะ มีหลักการในการทำงานเป็นขั้นตอนรับผิดชอบหน้าที่ตนเองได้ดี โดยนายจรัญ กองแก้ว เดิมเป็นคนบ้านป่าตัน หมู่ที่ 6 โดยกำเนิด พ่อหลวงแอ๊ค ได้เล่าเส้นทางของการมาเป็นผู้ใหญ่บ้านโดย เมื่อปี พ.ศ. 2557 ได้มีนายสมปัน วงตาคำ อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านป่าตัน หมู่ 6 เชิญชวนมาเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเพราะเห็นเป็นหนุ่มไฟแรงมากประสบการณ์ด้านการทำงานช่วยเหลืองานภายในชุมชนดี ไม่ว่าจะช่วยในงานบ้านศพ เทศการงานบุญต่าง ๆ ก็จะเห็นพ่อหลวงแอ็คค่อยช่วยเหลือตลอด ในตอนแรกพ่อหลวงแอ็คได้ปฏิเสธไปแต่ด้วยความที่ผู้ใหญ่ยื่นโอกาสให้และทำงานใกล้บ้านจึงได้ออกจากงานอาชีพไกด์นำเที่ยวมาสมัครเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจนดำเนินมาในช่วงปี พ.ศ. 2560 นายสมปัน วงตาคำ อดีตผู้ใหญ่บ้าน ได้สละตำแหน่ง ชาวบ้านและนายสมปัน วงตาคำ อดีตผู้ใหญ่บ้าน เชิญชวนให้มาเป็นผู้ใหญ่บ้านทั้งนี้ด้วยมีความอยากแก้ไขปัญหาช่วยเหลือคนภายในชุมชนจึงตัดสินใจในการลงสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้านและจากผลการคัดเลือกได้รับการเป็นผู้ใหญ่บ้านจนดำเนินมาถึงปัจจุบัน ซึ่งจากการสัมภาษณ์พ่อหลวงแอ็คได้บอกว่าการใช้ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นจากปกติทำงานเป็นไกด์เข้าสู่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและมาเป็นผู้ใหญ่บ้านอย่างเต็มตัวเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนไม่ว่าเวลาการตื่นทำงานขั้นตอนการทำงานที่แตกต่างกัน อย่างเช่นการทำงานจากไกด์เวลาทำงานไม่แน่นอน พบปะผู้คนเยอะ สถานที่ทำงานสิ่งแวดล้อม สังคมที่ทันสมัยตามสไตล์คนในเมือง ซึ่งแตกต่างจากการที่กลับมาทำงานที่บ้านโดยเริ่มเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่บ้านอย่างเต็มตัวสไตล์ก็แตกต่างคือไม่วุ่นวายพบปะผู้คนตามหมู่บ้าน การทำงานเป็นอย่างระบบตามขั้นตอนขึ้น

ปัญหาอุปสรรคที่พบในการทำงาน

การจัดหางบประมาณในการจัดทำแต่ละโครงการในหมู่บ้าน เป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุดในการทำงานเป็นผู้ใหญ่บ้าน โดยการแก้ไขปัญหาอุปสรรคนี้ผู้หลวงแอ็คจะค่อยเข้าการอบรมพูดคุยสัมนาการจัดงบประมาณเพื่อวางแผนในการทำโครงการต่อ

แนวคิดในการทำงาน

จากการสัมภาษณ์ นายจรัญ กองแก้ว ได้พูดถึงมุมมองความคิดจากการเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและการเป็นผู้ใหญ่บ้านมีความแตกต่างกันตรงกระบวนการทำงานเป็นขั้นเป็นตอนมีความรับผิดชอบมากขึ้น เนื่องจากการเป็นผู้ใหญ่บ้านต้องดูแลคนทั้งหมู่บ้าน ทั้งนี้ด้วยความเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ยังประสบการณ์ยังน้อยดำรงตำแหน่งมาได้เพียง 4 ปี ทำให้ต้องมีความกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อคนภายในชุมชน สำหรับงานที่ท้าทายที่สุดในการเป็นผู้ใหญ่บ้านนั้นจะเป็นการจัดงบประมาณให้เทียบเท่าเกณฑ์จัดหางบ ซึ่งต้องค่อยจัดแก้ไข พัฒนาชุมชน ให้การสนับสนุน ส่งเสริมอำนวยความสะดวกแก่ชาวบ้าน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาไทยกลางและคำเมือง (ภาษาเหนือ)


บ้านป่าตัน หมู่ 6 เป็นชุมชนที่มีฐานะปานกลาง พอกินพอใช้ ส่วนมากมีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 1-5,000 บาท มีวิถีชีวิตเรียบง่าย บ้านส่วนใหญ่อยู่รวมกัน ไม่มีอาณาเขตหรือรั้วบ้าน อาศัยอยู่ร่วมกันแบบญาติพี่น้อง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในส่วนของสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจทางศาสนาใช้ร่วมกับหมู่ 7


ประชาชนบ้านป่าตัน หมู่ 6 ส่วนมากมีอาชีพหลัก คือ เกษตรกร ทำนา เลี้ยงโคนม พืชไร สวนผักผลไม้ และปศุสัตว์ และมีการรับจ้างรายวัน เช่น มุงหลังคาซีแพคและรับจ้างเย็บผ้า แคดดี้สนามกอล์ฟ ซึ่งได้รับค่าจ้างแบบเป็นรายวัน วันละ 300-400 บาท แต่จากในช่วงสถานการณ์โควิด ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านตกงานไม่มีงานทำ จึงไม่ค่อยมีรายได้ อยู่บ้านว่างงานเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเริ่มมีนักท่องเที่ยวและผู้รับบริการกลับมาทำให้เศรษฐกินกระเตื้องขึ้น


ประชาชนบ้านป่าตัน หมู่ 6 ส่วนมากมีการใช้ยานพาหนะ เช่น จักรยายนต์ รถยนต์ ของตนเอง ในการเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ เช่น การเดินทางไปทำงาน การเดินทางมารับมาที่โรงพยาบาล ในหมู่บ้านป่าตัน จะมีการใช้น้ำที่ใช้บริโภคเป็นน้ำดื่มจากโรงผลิตน้ำ และน้ำอุปโภคจะเป็นน้ำที่มาจากประปาหมู่บ้านและน้ำประปาบนดอย ซึ่งน้ำประปาเป็นน้ำประปาของหมู่ 5 เพราะน้ำประปาของหมู่ 6 น้ำไม่สะอาด การระบายน้ำแต่ละบ้านจะระบายลงสู่พื้นดินบ้านของตนเอง และจากการประกอบอาชีพเกษตรกรฟาร์มโคนมทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งรบกวนบ้านที่อยู่ใกล้เคียง การกำจัดขยะโดย อบต.จะมีรถจาก อบต. มาเก็บขยะโดยใช้ถุงขยะของเทศบาลเท่านั้น ประชาชนในหมู่ 6 ส่วนใหญ่ประกอบอาหารเพื่อรับประทานกันเอง โดยในชุมชนมีร้านขายของชำจำนวน 4 ร้าน ซึ่งเปิดร้านตั้งแต่เวลาประมาณ 06.00 น. ร้านขายอาหารปรุงสุกจำนวน 2 ร้าน เปิดขายอาหารในช่วงเวลาเช้าและกลางวัน มีร้านขายเครป และขายลูกชิ้นทอด เปิดขายตั้งแต่เวลา 16.00 น. และร้านเหล้าตอง 1 ร้าน เปิดตั้งแต่เวลา 17.00 น.

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเชียงใหม่. (2564). ข้อมูลการสำรวจชุมชนบ้านป่าตัน หมู่ที่ 6 ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: สาขาวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.