
น้ำประปาใสใช้ดื่มกิน ถิ่นของป่าภูมิปัญญาจักสาน สร้างงานในท้องถิ่น อยู่กินอย่างพอเพียง
การตั้งถิ่นฐานอยู่เชิงเขา ของเขตอุทยานดอยหลวง เริ่มต้นมาตั้งหมู่บ้านเป็นหมู่เป็นเหล่า รวมกลุ่มกัน เนื่องจากมีสัตว์ป่าชุกชุม ต้องตั้งบ้านเรือนใกล้ ๆ กัน จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชน
น้ำประปาใสใช้ดื่มกิน ถิ่นของป่าภูมิปัญญาจักสาน สร้างงานในท้องถิ่น อยู่กินอย่างพอเพียง
พ.ศ. 2330 กองทัพพม่าซึ่งมีอะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพใหญ่ได้เข้ามารุกรานไทยและสามารถยึดหัวเมืองล้านนาได้ 6 เมืองคือ เมืองเชียงราย เมืองพะเยา เมืองฝาง เมืองปุ เมืองสาดและเมืองปาย ทำให้ชาวเมืองพะเยาจำนวนมากต้องอพยพถิ่นฐานครั้งใหญ่เพื่อหนีภัยสงครามไปอยู่ที่บ้านปงสนุก จังหวัดลำปาง สภาพภายในเมืองร้างผู้คนจนกระทั่งต้องตกเป็นเมืองร้างไปนานถึง 56 ปี
พ.ศ. 2386 ชาวเมืองพะเยาได้มีการอพยพถิ่นฐานครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเมืองพะเยาและแต่งตั้งเจ้าพุทธวงศ์ น้องของพระยานครอินทร์ เจ้าหลวงเมืองลำปางมารับตำแหน่งเป็น "พระยาประเทศอุดรทิศ"เจ้าผู้ครองเมืองพะเยาองค์แรกพร้อมกับได้มีการเกณฑ์คนจากลำปางจำนวน 1,500 คน (ส่วนใหญ่เป็นชาวเมืองพะเยาที่อพยพหนีภัยสงครามมาอยู่ที่ลำปาง) ให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองพะเยาโดยเฉพาะผู้ที่เป็นเลกฉกรรจ์ (แรงงานชายฉกรรจ์) จำนวน 300 คนแบ่งไปไว้ที่เมืองงาว ส่วนเลกฉกรรจ์ที่เหลือจำนวน 600 คนไปไว้ที่เมืองพะเยา
พ.ศ. 2400-2449 หมู่บ้านเหล่าเริ่มก่อตั้ง แรก ๆ เป็นพื้นที่ป่ามีเสือมีสัตว์ต่าง ๆ อาศัยอยู่มีชาวบ้านมาถางป่าทำเป็นที่อยู่อาศัยและมีการตั้งบ้านเรือนประมาณ 5 หลังคาเรือน ต่อมาก็มีจำนวนหลังคาเรือนเพิ่มมากขึ้น โดยมีลักษณะของหมู่บ้านสองกลุ่มหมู่บ้านรวมกันคือ บ้านเหล่าและบ้านม่อนแก้วซึ่งทั้งสองกลุ่มบ้านอยู่ห่างกันไม่มากนักประมาณ 300-400 เมตร โดยขณะนั้นตำบลบ้านตุ่นยังไม่แบ่งแยกเป็นตำบลบ้านสาง เดิมแต่ก่อนพื้นที่บ้านเหล่าเป็นพื้นที่ทำไร่ ทำสวน ปลูกพืชเกษตรกรรม และทำสวนคา ในสมัยก่อนชาวบ้านใช้ใบคามุงหลังคาบ้าน ตูบ หรือที่อยู่อาศัย มีการทำสวนคาเพื่อประโยชน์จำนวนมาก จึงเรียกว่า เหล่าสวนคา ชื่อหมู่บ้านจึงเรียกว่า “บ้านเหล่า”ตั้งแต่นั้นมา
จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุหลายท่านในหมู่บ้านว่า เมื่อก่อนมีเสือโคร่งอาศัยอยู่ป่าใกล้หมู่บ้าน หลังจากที่ชาวบ้านเริ่มแผ้วถางป่า ก่อสร้างบ้านเรือน จึงทำให้ในช่วงเวลากลางคืนเสือโคร่งจะออกมาขโมยกินสัตว์ของชาวบ้าน เช่น วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ เป็นต้น ชาวบ้านได้ช่วยกันแผ้วถางบริเวณใกล้เคียงรอบหมู่บ้านและนำเอาต้นไผ่รวกมาปลูกตามทางเข้าและรอบ ๆ หมู่บ้านและปลูกไว้ล้อมคอกวัว คอกควาย เพื่อป้องกันเสือมาลักลอบกินสัตว์เลี้ยงในช่วงกลางคืน และชาวบ้านมีการจุดไฟ(จุดขะญ้า)อยู่เวรยามเฝ้าระวังตลอดทั้งคืน มีปางวัว ปางควายประมาณ 5-10 หลัง ต่อมาเกิดอุทกภัย (น้ำท่วม) อย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2448 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 1 ค่ำเดือน 11 (เดือนเกี๋ยงเหนือ) เกิดเหตุการณ์สำคัญคือ ในช่วงกลางคืนท้องฟ้ามีสีแดงและมีเมฆหนาทึบ เสียงฟ้าร้องดังมาก สัตว์ป่าทั้งกวาง เก้ง เลียงผา วิ่งเข้ามาในหมู่บ้าน ต่อมามีฝนตกตลอดทั้งคืนน้ำป่าได้พัดเอาต้นไม้ เศษไม้เข้ามาที่หมู่บ้าน ชาวบ้านไม่ทันระวังน้ำป่าไหลเชี่ยวกรากได้ไหลเข้าท่วมหมู่บ้านอย่างรวดเร็วและพัดเอาบ้านเรือน (ตูบ) ไปตามกระแสน้ำ มีชาวบ้านถูกน้ำพัดจนเสียชีวิต จำนวน 16 คน เพราะเป็นช่วงกลางคืนชาวบ้านอพยพหนีน้ำไม่ทันเนื่องจากมีลำห้วยไหลผ่านหมู่บ้าน 2 สาย คือ ลำห้วยตุ่นและลำห้วยสาง
จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุหลายท่านในหมู่บ้านบอกว่าเมื่อก่อนมีเสือโคร่งอาศัยอยู่ป่าใกล้หมู่บ้านหลังจากที่ชาวบ้านเริ่มถางป่าก่อสร้างบ้านเรือนจึงทำให้ในช่วงเวลากลางคืนเสือโคร่งจะออกมาขโมยกินสัตว์ของชาวบ้าน เช่น วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ เป็นต้นชาวบ้านจึงได้ช่วยกันถางบริเวณใกล้เคียงรอบหมู่บ้านและนำเอาต้นไผ่รวกมาปลูกตามทางเข้าและรอบ ๆ หมู่บ้านและปลูกไว้ล้อมคอกวัว คอกควาย เพื่อป้องกันเสือมาลักลอบกินสัตว์เลี้ยงในช่วงกลางคืน นอกจากนี้ชาวบ้านมีการจุดไฟเผาหญ้า อยู่เวรยามเฝ้าระวังตลอดทั้งคืน มีปางวัว ปางควายประมาณ 5-10
ต่อมาเกิดอุทกภัยน้ำท่วมอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2448 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 เดือนเกิดเหตุการณ์สำคัญ คือ ในช่วงกลางคืนท้องฟ้ามีสีแดง และมีเมฆหนาทึบเสียงฟ้าร้องดังมากสัตว์ป่า ทั้งกวาง เกง เลียงผา วิ่งเข้ามาในหมู่บ้านต่อมามีฝนตกตลอดทั้งคืน น้ำป่าได้พัดเอาต้นไม้เศษไม้เข้ามาในหมู่บ้านชาวบ้านไม่ทันระวังน้ำป่าไหลซึ่งเชี่ยวกรากได้ไหลเข้าท่วมหมู่บ้านอย่างรวดเร็วและพัดเอาบ้านเรือน (ตูบ) ไปตามกระแสน้ำมีชาวบ้านถูกน้ำพัดจนเสียชีวิตจำนวน 16 คนเพราะเป็นช่วงกลางคืนชาวบ้านอพยพหนีน้ำไม่ทันเนื่องจากมีลำห้วยไหลผ่านหมู่บ้านสายคือลำห้วยตุ่นและลำห้วยสาง
พ.ศ. 2450 มีการเลือกตั้งผู้นำในหมู่บ้านมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ นายแก้วหนู
พ.ศ. 2456 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดให้มีการตั้งนามสกุลโดยให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลเมื่อ 22 มีนาคม 2455 มีผลบังคบใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2456 นายแก้วหนู ผู้ใหญ่บ้านคนแรกจึงได้ใช้นามสกุล สิริสุข
พ.ศ. 2495 สมัยผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 (นายอินแก้ว จิน๊ะ) ได้เริ่มมีการขุดถนนภายในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2517 ได้มีการก่อตั้งสำนักผดุงครรภ์ตำบลบ้านตุ่นขึ้น โดยที่รัฐบาลเห็นสำควรให้การสงเคราะห์แก่มารดาและทารกเพื่อลดอัตราการตายของทารกคาดว่า เริ่มในปี พ.ศ. 2497 ได้มีการอบรมนักเรียนผดุงครรภ์ ชั้น 2 ขึ้นโดยให้ไปตั้งเป็น “สำนักงานนางผดุงครรภ์ชั้นสอง“ ที่บ้านกำนัน
พ.ศ. 2520 มีรถจักรยานยนต์ใช้เป็นคันแรกของหมู่บ้าน
พ.ศ. 2521 สมัยผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 (นายศรีนวล ปิงเทพ) เริ่มมีไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้านและมีโทรทัศน์เครื่องแรกในหมู่บ้าน ขณะนั้นละคร “แก้วหน้าม้า” กำลังเป็นที่โด่งดังชาวบ้านต่างพากันมาดูละครที่บ้านของนายศรีนวล ปิงเทพ ต่อมาเมื่อปี
พ.ศ. 2522 ได้เกิดโรค Anthrax ระบาดภายในหมู่บ้านทำให้มีวัว ควายล้มตายเป็นจำนวนมากและส่งผลให้มีชาวบ้านเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวประมาณ 10 กว่าคน หลังจากที่มีการระบาดของโรค Anthrax เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลพะเยาและกรมควบคุมโรคได้เข้ามาตรวจสอบและให้การรักษาแก่ชาวบ้านที่เจ็บป่วยและได้สอนวิธีการป้องกันโรค การปฏิบัติตัวและสอนวิธีการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นแก่ชาวบ้านที่ไม่ได้เจ็บป่วย
พ.ศ. 2525 ชาวบ้านได้ช่วยกันทำฝายกั้นน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เมื่อยามจำเป็นและเพื่อใช้ในการเกษตร
พ.ศ. 2527 ได้มีการแบ่งแยก ต.บ้านตุ่น ซึ่งมีทั้งหมด 17 หมู่บ้าน เป็น ต.บ้านสาง เพื่อเป็นอีกตำบลหนึ่ง ซึ่งมีการแยกบ้านม่อนแก้วเป็น หมู่ที่ 9 ของตำบลบ้านสาง ส่วนบ้านเหล่าก็เป็นบ้านเหล่าหมู่ที่ 9 ของตำบลบ้านตุ่น และได้เปลี่ยนจากสำนักผดุงครรภ์ตำบลบ้านตุ่นเป็นสถานีอนามัยตำบลบ้านตุ่น
พ.ศ. 2528 ได้เริ่มมีการก่อตั้งกลุ่ม อสม.ตามแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาต ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 - 2524) ที่มีนโยบายให้จัดตั้ง อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.)
พ.ศ. 2530 มีโทรศัพท์เครื่องแรกของหมู่บ้านโดยองค์การโทรศัพท์ของ TOT ได้มาติดตั้งสายโทรศัพท์ให้ที่บ้านของนายศรีนวล ปิงเทพ อีกเช่นกัน โดยในสมัยนั้นนายศรีนวล คิดค่าบริการนาทีละ 3 บาทซึ่งก็มีชาวบ้านมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก และมีรถยนต์ใช้เป็นคันแรกของหมู่บ้านซึ่งเป็นรถของพ่อสุเทพ
พ.ศ. 2532 พบผู้ป่วย AIDS 2 คนแรกของหมู่บ้านโดยชาย 2 คนแรกที่ป่วยด้วยโรค AIDS ได้ไปทำงานที่ กทม. และรับเชื้อ HIV มาจึงกลับมาบ้านเพื่อรักษาตัวเองที่บ้าน และสุดท้ายไม่นานก็เสียชีวิตไป ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านจึงรู้จักโรค AIDS กันมากขึ้น แต่ก็มีการเข้าใจผิดเกี่ยวกับการติดต่อของเชื้อนี้และเกิดการรังเกียจผู้ติดเชื้อ ต่อมาเมื่อชาวบ้านมีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับโรคนี้จึงมีทัศนคติที่เปลี่ยนไปและสามารถดำเนินชีวิตร่วมกับผู้ป่วยได้
พ.ศ. 2535 ได้มีการก่อตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้น
พ.ศ. 2538 เริ่มมีการขุดเจาะบ่อบาดาลภายในหมู่บ้านเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค
พ.ศ. 2542 มีน้ำประปาเข้าสู่หมู่บ้านในช่วงปี พ.ศ. 2525-2534 ซึ่งเป็นช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 และฉบับที่ 6 ที่ได้มีมติกำหนดให้เป็นช่วงของทศวรรษการจัดหาน้ำสะอาดและสุขาภิบาลในประเทศไทยขึ้นและในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการถ่ายโอนอำนาจไปยังองค์กรปกครองท้องถิ่นซึ่งหนึ่งในภารกิจดังกล่าวคือการให้มีน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคบริโภคแก่ประชาชนด้วย
พ.ศ. 2544 ภายในหมู่บ้านได้ก่อตั้งกลุ่มกองทุนเงินล้านขึ้น จากกระบวนทัศน์ใหม่ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 และความต่อเนื่องของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 กับปรัชญาของนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในการเสริมสร้างสำนึกความเป็นชุมชนและท้องถิ่นโดยชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคตและจัดการหมู่บ้านและชุมชนด้วยคุณค่าและภูมิปัญญาของตนเองและเกื้อกูลประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาสในหมู่บ้านและชุมชนเสริมสร้างการเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชนราชการเอกชนและประชาสังคมรวมถึงการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยพื้นฐานและวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุน 1 ล้านบาท เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านและชุมชนเมืองสำหรับการลงทุน เพื่อพัฒนาอาชีพสร้างงานสร้างรายได้ หรือเพิ่มรายได้การลดรายจ่าย การบรรเทาเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนและสำหรับการนำไปสู่การสร้างกองทุนสวัสดิการที่ดีแก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชน
พ.ศ. 2545 ได้มีการก่อตั้งกลุ่มจักสานและกลุ่มผักตบชวาขึ้นในหมู่บ้านซึ่งสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก
พ.ศ. 2546 ได้มีถนนลาดยางเข้าสู่หมู่บ้านหลังจากนั้นชาวบ้านเริ่มมีการคมนาคมติดต่อกับหมู่บ้านอื่นได้สะดวกเริ่มมีการเดินทางไปสถานที่ต่างโดยรถจักรยานรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ส่วนตัวและได้เริ่มมีการเดินทางไปยังสถานบริการด้านสุขภาพเช่นสถานีอนามัยโรงพยาบาลมากขึ้น
พ.ศ. 2548 ได้รับการยกย่องให้เป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติด
พ.ศ. 2550 ได้มีการก่อตั้งธนาคารข้าวในหมู่บ้านขึ้นและเกิดโรคไข้เลือดออกระบาดในหมู่บ้านมีชาวบ้านป่วย 2 คนจึงมีการรณรงค์ของอสม. ในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย
พ.ศ. 2551 ได้มีการก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อการผลิตขึ้น
พ.ศ. 2552 มีการสร้างโรงกลั่นสุราแห่งแรกขึ้นในหมู่บ้านเป็นของครอบครัวจังวัง
พ.ศ. 2553 ได้มีการก่อตั้งกลุ่มแม่บ้านสมุนไพรขึ้น
พ.ศ. 2555 ได้ยกระดับจากสถานีอนามัยตำบลบ้านตุ่น เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านตุ่น และประชาชนต่างเข้ารับบริการทางด้านสุขภาพได้สะดวกมากขึ้น และการให้บริการที่สร้างความประทับใจแก่ประชาชนบ้านเหล่าเป็นอย่างมากและได้มีการซ่อมแซมถนนลาดยางทางเข้าหมู่บ้านในปีเดียวกัน
พ.ศ. 2556 สร้างฝายดักตะกอนและชะลอการไหลของน้ำจำนวน 4 ฝ่ายโดยประชาการในหมู่บ้านร่วมกัน
พ.ศ. 2556-2557 ได้มีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยแนวทางการจัดการสุขภาพเพื่อการพึ่งพาตนเองโดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนบ้านเหล่าหมู่ ๙ ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
พ.ศ. 2559 ได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ ชื่อ นายสมศักดิ์ ใหม่นา
พ.ศ. 2561 ได้สร้างโรงน้ำของหมู่บ้าน
พ.ศ. 2562 ผู้ใหญ่บ้าน สมศักดิ์ ใหม่นาได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และได้เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ นาย ผัด วิทูล และดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านในปัจจุบัน
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านม่อนแก้ว หมู่ 1 ตำบลบ้านสาง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านดอกบัว หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านตุ่นกลาง หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านห้วยหม้อ หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
บ้านเหล่าหมู่ที่ 9 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กมีจำนวนครัวเรือนจำนวน 81 หลังคาเรือน (ตามทะเบียนบ้าน) มีประชากร 308 คน แบ่งได้ดังนี้ เพศหญิงจำนวน 148 คน เพศชายจำนวน 160 คน อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว มีบางครอบครัวที่อยู่เป็นแบบครอบครัวขยาย ส่วนใหญ่แต่ละบ้านจะเป็นบ้านของ ญาติพี่น้องปลูกบ้านไว้ใกล้เคียงกัน หรืออยู่ในบริเวณรั้วเดียวกัน รอบ ๆ หมู่บ้านจะมีต้นไผ่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปากทางเข้าสู่หมู่บ้านและท้ายหมู่บ้าน พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นทุ่งนา หมู่บ้านจะมีลำน้ำ 3 สายไหล ผ่านคือลำน้ำแม่ตุ่น ลำน้ำเล็ก (ฮ่องเหมืองเล็ก) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ฮ่องเหมือง” (สำรวจข้อมูลโดยนักศึกษาพยาบาลศาสตรบัณฑิตชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 30 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 บ้านเหล่า หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา)
ประชากร ส่วนใหญ่เพศชายอยู่ในช่วง อายุ 35-39 ปี ร้อยละ 5.84 รองลงมาอยู่ในช่วง อายุ 50-54 ร้อยละ 5.19 และส่วนน้อยของเพศชายคือช่วงอายุ 75-79 ปี และ 80 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 0.97 ส่วนใหญ่เพศหญิงอยู่ในช่วงอายุ 35-39 ปี และ 50-54 ปี คิดเป็นร้อยละ 4.87 รองลงมาอยู่ในช่วง อายุ 60-64 ปี คิดเป็นร้อยละ 4.55 และส่วนน้อยของเพศหญิง คือ ช่วงอายุ 75-79 ปี และ 80 ปีขึ้นไปร้อยละ 0.65 (ตามปิรามิดประชากร)
องค์กรในชุมชน
บ้านเหล่าหมู่ที่ 9 ตำบลบ้านตุ่นอำเภอเมืองจังหวัดพะเยา มีองค์กรในการบริหารจัดการดูแลภายใน หมู่บ้าน โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้านในการดำเนินการเป็นหลักมีนาย ผัด วิทูลเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านเหล่าหมู่ที่ 9 ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในชุมชนซึ่งคนในชุมชนให้ความยอมรับนับถือและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ภายในหมู่บ้านก็ยังมีการรวมกลุ่มของชุมชนดังนี้
กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน
- ผู้ใหญ่บ้าน
- ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
- สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล
- คณะกรรมการ
- สมาชิกกลุ่มอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
- กลุ่มผู้สูงอายุ
- กลุ่มแม่บ้าน
- กลุ่มรักบ้านเหล่า
- การปกครอง (หัวหน้าคุ้ม)
- กลุ่มกิจกรรม/อาชีพ (กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์, กลุ่มการผักตบชวา, กลุ่มจักสานไม้ไผ่)
- กองทุนหมู่บ้าน (กองทุนหมู่บ้าน, กลุ่มผู้ใช้น้ำ, กลุ่มปราชญ์ชาวบ้าน)
- กลุ่มป้องกันไฟป่า
- กลุ่ม อปพร. (อาสาสมัครป้องกันภัย ฝ่ายพลเรือน)
- กลุ่ม ชรบ. (ชุดรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน)
- สตบ. (อาสาตำรวจบ้าน)
บ้านเหล่าหมู่ที่ 9 แบ่งการปกครองออกเป็นคุ้ม จำนวน 4 คุ้ม ดังนี้
- คุ้มเหนือริมทุ่ง
- คุ้มทานตะวัน
- คุ้มสันติสุข
- คุ้มสุขสันต์สำราญทอง
หมู่บ้านอยู่ติดชายป่าที่มีป่าชุมชน จึงหากินกับป่าและแนวไผ่ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติทำให้มีอาชีพจักสานไม้ไผ่ เช่น สุ่มไก่ เข่ง ส่งขายที่พ่อค้าต่างจังหวัดและในจังหวัดเข้ามารับซื้อ
1. พ่อแก้ว ใจยืน (หมอเมืองในหมู่บ้าน)
นายแก้ว ใจยืน เกิดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2477 (ปีจอ) เป็นบุตรของนายมูล ใจยืน และแม่จี๊ด ใจยืน (เสียชีวิตแล้วทั้งสองท่าน) มีพี่น้อง 5 คน ซึ่งเป็นชาย 2 คน หญิง 3 คน ได้แต่งงานกับนางปี๋ ใจยืน มีบุตรด้วยกัน 6 คน ชาย 4 คน หญิง 2 คน ลูกชายได้เสียชีวิต 1 คน เหลือ 5 คน ลูกทั้ง 4 คนได้มีครอบครัวและย้ายออกไปอยู่กับครอบครัว ปัจจุบันพ่อแก้วอาศัยอยู่กับลูกชายคนเล็ก เพราะภรรยาของพ่อแก้วได้เสียชีวิตไปเมื่อช่วงเดือนมกราคม 2555 ด้วยโรคเบาหวาน ในวัยเด็กพ่อแก้วได้เล่าเรียนหนังสือถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พ่อแก้วมีชีวิตอยู่กับสมุนไพรต่าง ๆ ตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากบรรพบุรุษมีความรู้และเชี่ยวชาญด้านสมุนไพรต่าง ๆ พ่อแก้วได้เรียนรู้การใช้สมุนไพรจากบรรพบุรุษโดยในตอนเป็นหนุ่ม พ่อแก้วมักจะเข้าป่าไปหาสมุนไพรกับบิดาอยู่เสมอจนรู้จักสมุนไพรหายากต่าง ๆ หลายชนิด และพ่อแก้วได้นำต้นกล้าสมุนไพรจากในป่ามาขยายพรรณไว้ที่บ้านมากมายหลายชนิด เพื่อง่ายในการนำมาใช้และเป็นการขยายพันธุ์สมุนไพรที่หายาก รวมทั้งเพื่อให้คนที่สนใจได้ซื้อหานำไปไว้ในบ้านของตัวเอง บริเวณบ้านของพ่อแก้ว เต็มไปด้วยต้นสมุนไพรต่าง ๆ
ในปัจจุบันพ่อแก้วไม่ได้เข้าป่าเพื่อไปหาสมุนไพรเอง แต่ได้สอนให้ลูกชายเป็นคนเข้าไปหาเมื่อเวลาว่างจากงาน สมุนไพรของพ่อแก้วส่วนใหญ่เป็นยาต้ม ยาหม้อ ยาอบ ที่มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย แก้ปวดเมื่อยตามร่างกายต่าง ๆ และรักษาโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคดความดัน โรคเบาหวาน หรือใช้รักษาโรคนิ่วได้ ยาสมุนไพรของพ่อแก้วได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นต่างหมู่บ้าน หรือต่างจังหวัด พ่อแก้วบอกว่าลูกค้าของพ่อแก้วมีทั้งจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย โดยลูกค้ามักจะมาซื้อยาของพ่อแก้วมารับประทานครั้งละ 10-20 ชุด พ่อแก้วบอกว่าลูกค้าบางคนรับประทานยาต้มของพ่อแก้วแล้วหายจากโรคที่เจ็บป่วยแล้วก็มี เช่น โรคเบาหวานแต่ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องกัน พ่อแก้วเองก็ต้มยากินเองที่บ้านเมื่อปวดเมื่อยตามร่างกาย และก็ได้ผลดี พ่อแก้วบอกว่าสมัยที่ยายยังมีชีวิตอยู่พ่อแก้วก็ต้มยาสมุนไพรให้ยายรับประทานเป็นประจำ พ่อแก้วบอกว่าทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายก็ได้เชิญพ่อแก้วไปเป็นวิทยากรให้ความรู้เเก่นักศึกษาในเรื่องสมุนไพร และล่าสุดพ่อแก้วก็ได้รับใบประกอบโรคศิลป์ สาขาการแพทย์ทางเลือก เมื่อปี พ.ศ. 2555
ประวัติการอบรม
- อบรมคณะกรรมการสภาตำบล วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2516 จากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย
- เครือข่ายหมอเมือง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนจังหวัดพะเยา วันที่18 สิงหาคม 2528 จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- อบรมหลักสูตรแพทย์แผนไทย วันที่ 17 ธันวาคม 2545 จากโรงเรียนลานนานวนแผนไทย
- ผู้เข้าร่วมเสนอองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในลานวัฒนธรรม วันที่ 5 กันยายน 2547 จากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก
- ได้รับการฝึกอบรมพัฒนาบทบาทและไทยฐานะของหมอเมือง สาขาพะเยา วันที่ 21 ตุลาคม 2548 จากวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฎ-เชียงราย
- โครงการประชุมวิชาการการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านไทย การแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 5 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 จากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
- อบรมการใช้กวาวเครือใช้กับสมุนไพรในเขต อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา วันที่ 20 พฤษภาคม 2551 จากมหาวิทยาลัยนเรศวร
ประวัติการทำงาน
- สมาชิกกลุ่มอาสาสมัครกำจัดกรวดล้างไข้มาลาเรีย วันที่ 20 มกราคม 2418 จากโครงการกำจัดไข้มาลาเรียแห่งชาติ
- กรรมการศึกษาประจำตำบลบ้านตุ่น วันที่ 3 มีนาคม 2425 จากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย
- เป็นกรรมการพัฒนาหมู่บ้านและได้ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรของกรรมการพัฒนาชุมชน วันที่ 20 พฤษภาคม 2523 จากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
- อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมูบ้าน วันที่27 มี.ค 2528 จากกระทรวงสาธารณสุข
พื้นที่ทำการเกษตร 562 ไร่ แบ่งเป็น
- พื้นที่ทำการเกษตร 250 ไร่
- พื้นที่ทำนา 270 ไร่
- พื้นที่ทำสวน 27 ไร่
- พื้นที่ทำการเกษตรอื่นๆ 10 ไร่
- พื้นที่การเกษตรในเขตชลประทาน 5 ไร่
- พื้นที่ป่าชุมชน 80 ไร่
ภาษาพื้นเมืองล้านนา
ในอดีตการดูแลสุขภาพเป็นลักษณะธรรมชาติ การรับประทานอาหารต่าง ๆ มาจากอาหารที่หาได้จากธรรมชาติในหมู่บ้าน ในป่าและแหล่งน้ำ มีการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหารโดยไม่ได้ซื้อขายกัน เมื่อเกิดการเจ็บป่วยก็จะดูแลกันภายในครอบครัว เครือญาติ ในช่วงแรก ๆ ในหมู่บ้านจะมีหมอรักษาทางไสยศาสตร์ หมอพื้นบ้าน ที่รักษาโดยสมุนไพรต่าง ๆ และมีพิธีกรรมในการรักษา เช่น การเป่า การแหก การสะเดาะเคราะห์ สืบชะตา เลี้ยงผี การรับบริการจากสถานบริการสาธารณสุขมีน้อยมาก เพราะการคมนาคมไม่สะดวก และอยู่ไกลจากตัวเมือง
ปัจจุบันชาวบ้านเล่าว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อมีการคมนาคมสะดวกขึ้น การได้รับข่าวสารเพิ่มมากขึ้น ทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป อาหารการกินเริ่มเปลี่ยนแปลงมีการซื้อขายกันมากขึ้น มีอาหารแปลก ๆ ใหม่ที่ไม่เคยรับประทานเริ่มเข้ามามากขึ้น เริ่มมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ใช้สารเคมีต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นในการทำการเกษตร จึงทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยด้วยโรคใหม่ ๆ มากขึ้น และประกอบกับการที่ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการร่วมกิจกรรมในชุมชนมากขึ้นทำให้การดื่มสุราเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากการที่ปัจจุบันภายในหมู่บ้านได้มีโรงกลั่นสุราก่อตั้งขึ้นในหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่ดื่มสุราตามเทศกาลต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น มะเร็ง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนการเกิดโรคเหล่านี้จำนวนน้อยมาก จากการสำรวจและสัมภาษณ์พบว่าสิ่งที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชนคือ
อาหาร พบประชากรมีการปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานกันเองที่บ้าน และมีการปรุงอาหารรับประทานเองเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งวัตถุดิบก็ซื้อมาจากร้านค้า ตลาดสดในหมู่บ้าน เช่น เนื้อสัตว์ ในการปรุงอาหารส่วนใหญ่จะมีการใช้เครื่องปรุงรสต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก จากการสอบถามและสังเกตพบว่ามีการใช้เครื่องปรุงรสเกือบทุกครัวเรือน เช่นผงชูรส รสดี ซอส ซุปไก่ก้อน น้ำมันหมู เกลือ การบริโภคน้ำดื่มจะมีการซื้อน้ำบรรจุขวดมาดื่ม ซึ่งประธาน อสม. คนปัจจุบันคือนางสุชาดา จันแก้ว เป็นผู้จำหน่ายภายในหมู่บ้าน หรือใช้น้ำดื่มจากบ่อน้ำตื้น และมีบางบ้านที่ดื่มน้ำประปาซึ่งน้ำประปาของหมู่บ้านเป็นน้ำที่มาจากประปาภูเขาซึ่งเป็นน้ำที่ได้รับรางวัลแหล่งต้นน้ำสีเขียว น้ำใสสะอาดและบริสุทธิ์ ปราศจากสารเคมีปนเปื้อน สามารถใช้ดื่มกินได้
การออกกำลังกาย พบว่าประชากรในหมู่บ้านเหล่า จะมีอาชีพเกษตรกรรม จะไม่ได้ออกกำลังกายในช่วงฤดูทำนา และเมื่อว่างเว้นจากการทำนาจะมีรวมกลุ่มกันภายในหมู่บ้านมาเต้นรำวงย้อนยุค กันที่ศาลาประชาคม ในตอนเย็น
ความเชื่อทางไสยศาสตร์ พบว่า ในปัจจุบันนี้การรักษาโรคทางไสยศาสตร์นั้นยังคงมีอยู่ ซึ่งส่วนมากจะมีการรักษาโรคทางไสยศาสตร์ก็ต่อเมื่อรักษาโรคทางแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่หาย ซึ่งความเชื่อที่ชาวบ้านนิยมทำกันคือ ถามเมื่อถามหมอตาม (ร่างทรง) เมื่อร่างทรงบอกสาเหตุที่ทำให้เจ็บป่วย ทักท้วงว่าไม่ดีก็จะบอกวิธีแก้ให้ ตามความเชื่อดั้งเดิมของบรรพบุรุษ และมีพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อเรียกขวัญกลับคืนสู่ร่างของเจ้าของ ส่วนใหญ่หลังทำพิธีดังกล่าวแล้วผู้ที่เจ็บป่วยก็จะมีอาการดีขึ้น
สถานบริการ เมื่อมีการเจ็บป่วยส่วนใหญ่จะนิยมรับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนบ้านตุ่น เป็นอันดับแรก และถ้าอาการหนักก็จะไปรักษาที่โรงพยาบาลพะเยา เนื่องจากอยู่ใกล้กับหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่เป็นกันเอง มีความใกล้ชิดสนิทสนมรู้จักกันดี สัมพันธภาพดี การเดินทางสะดวก ไม่เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการเข้าถึงสถานพยาบาลของชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง)
กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เมื่อถึงเวลาว่างงานตอนเย็น ๆ ชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันเต้นรำวงย้อนยุคซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มแม่บ้านมาเต้นรำวงกันที่ศาลาประชาคมของหมู่บ้าน โดยมีผู้นำในการเต้น ซึ่งชาวบ้านต่างมีความสุขเมื่อได้มาพบปะพูดคุยกันและได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
จากข้อมูลระบบสุขภาพชุมชนจะพบว่า มีปัจจัยเชิงบวกในเรื่องของการออกกำลังกาย ปลูกพืชผักสวนครัวอยู่ในบ้าน การรับประทานอาหารต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะหาได้จากแหล่งธรรมชาติ มีการใช้พิธีทางไสยศาสตร์บ้าง เพื่อช่วยเหลือทางด้านจิตใจร่วมกับการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบัน แต่พบปัจจัยทางลบคือ การรับประทานอาหารเกือบทุกหลังคาจะใช้เครื่องปรุงรสในการประกอบอาหาร เช่น ผงชูรส รสดี ซอส ซีอิ้ว เป็นต้น และชาวบ้านส่วนใหญ่ดื่มสุราเป็นประจำ ซึ่งอาจทำให้เป็นปัญหาต่อสุขภาพ สมควรได้รับการแก้ไขต่อไป
Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านเหล่า (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps
ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/
พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.
บุญศิริ สุขพร้อมสรรพและอาทิตย์ ลิมปิยากร. (2564). ภูมินาม-ภาพสะท้อนเมืองพะเยา. วารสารวิชาการเพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่. 2(1). 88 – 94.
พระครูโสภณปริยัติสุธี, รศ.ดร. ถิรธมฺโม. ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอแม่ใจ.
บุญเลิศ ครุฑเมือง. (2537). ผีปู่ย่า : ศรัทธาแห่งล้านนาไทย. สารคดี “ฮีตฮอยเฮา”. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
ราชกิจจานุเบกษา. (2481). พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอ ดอกคำใต้ อำเภอเม่ใจ อำเภอจุน ฯลฯ. เล่ม 82 ตอนที่ 59. 27 กรกฎาคม 2508.
นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 30. (2565). รายงานการวินิจฉัยชุมชนบ้านเหล่า หมู่ 9 ตำบลบ้านตุ่น อ.เมือง จ.พะเยา. พะเยา : วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา