Advance search

ชุมชนจัดตั้งใหม่โดยหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น เป็นชุมชนชาติพันธุ์ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชาติพันธุ์ตนเอง รวมถึงการรวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนจักสานบ้านคลองโอน เพื่อการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญา

หมู่ที่ 4
คลองโอน
นนทรีย์
บ่อไร่
ตราด
ภัททิรา สอนจันทร์
3 พ.ค. 2023
ภัททิรา สอนจันทร์
3 พ.ค. 2023
บ้านคลองโอน


ชุมชนจัดตั้งใหม่โดยหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น เป็นชุมชนชาติพันธุ์ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชาติพันธุ์ตนเอง รวมถึงการรวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนจักสานบ้านคลองโอน เพื่อการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญา

คลองโอน
หมู่ที่ 4
นนทรีย์
บ่อไร่
ตราด
23140
12.552088
102.579478
องค์การบริหารส่วนตำบลนนทรีย์

ประวัติการตั้งถิ่นฐาน

หมู่บ้านคลองโอนเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในโครงการหมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดน (ปชด.) เดิมเป็นพื้นที่ของป่าไม้ มีกองกำลังของทหารเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาจัดการดูแล เดิมชาวบ้านมีการตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายกันในเขตพื้นที่ป่าและบริเวณชายแดน แต่ในเวลาต่อมาทางหน่วยงานภาครัฐเล็งเห็นว่าควรต้องมีการจัดสรรที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้านใหม่ จึงดำเนินการย้ายชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายกันนั้นมาอยู่ในพื้นที่จัดสรรเป็นแปลง ๆ เพื่อก่อสร้างบ้านเรือน โดยแบ่งเป็น บ้านละ 1 ไร่ ลักษณะของหมู่บ้านคลองโอนจึงมีลักษณะที่ค่อนข้างมีสัดส่วนของชุมชนแบบที่ดินจัดสรร แบ่งพื้นที่เป็นซอยย่อย ๆ เป็น 4 ซอย มีถนนคอนกรีตผสามราดยาง

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ

งานจักสานคลุ้มเริ่มทำกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย โดยเริ่มจากการสานตะแกรงร่อนพลอย กระด้งผัดข้าว กระบุงโรยข้าว และได้มีการทำสืบต่อมารุ่นลูกหลาน จึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้น เพื่อทำเครื่องจักสานและเป็นการอนุรักษ์เครื่องจักสานให้คงอยู่ในปัจจุบัน โดยสมาชิกภายในกลุ่มเป็นแม่บ้านและเยาวชนในหมู่บ้าน และได้ช่วยกันระดมความคิดพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาดในปัจจุบัน วัตถุดิบได้แก่ ต้นคลุ้ม ไม้ชี้ และหวาย วัตถุดิบที่ใช้ในการจักสานก็เป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ทำให้ในปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านจักสานบ้านคลองโอน หมู่ 4 ตำบลนนทรีย์ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มจักสานคลุ้มบ้านคลองโอน ด้วยศักยภาพของการทำงานทำให้มีการดำเนินกิจการกลุ่มไปได้อย่างดี และยังมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาให้การส่งเสริมและสนับสนุนต่าง ๆ

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

บ้านเรือนของชาวบ้านแต่เดิมตั้งอยู่ตามป่าและบริเวณชายแดน รัฐจึงเข้ามาดูแลเพื่อให้อยู่ในพื้นที่จัดสรรเป็นแปลง ๆ เพื่อก่อสร้างบ้านเรือน โดยแบ่งเป็น บ้านละ 1 ไร่ ลักษณะของหมู่บ้านคลองโอนจึงมีลักษณะที่ค่อนข้างเป็นสัดส่วนของชุมชนแบบที่ดินจัดสรร แบ่งพื้นที่เป็นซอยย่อย ๆ เป็น 4 ซอย มีถนนคอนกรีตผสามราดยาง ส่วนตัวอาคารบ้านเรือนในชุมชน โดยบ้านดั้งเดิมมักสร้างด้วยไม้ยกพื้นสูง ผนังกั้นด้วยไม้แบ่งเป็นห้อง ๆ ปัจจุบันรูปแบบบ้านมีการเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จึงมีการสร้างบ้านปูนชั้นเดียวมากขึ้น หรือบ้านสองชั้น โดยชั้นบนยังเป็นไม้แต่ชั้นล่างเป็นปูน

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรบ้านคลองโอน จำนวน 108 หลัง ประชากรรวมทั้งหมด 328 คน แบ่งเป็นประชากรชายได้ 154 คน แบ่งเป็นประชากรหญิงได้ 174 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2565)

ชาวซำเรอาศัยกันอยู่แบบครอบครัวเดี่ยว มีพ่อเป็นหัวหน้าครอบครัวและมีระบบการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว เมื่อมีครอบครัวถึงจะแยกออกไปอยู่อีกที่หนึ่ง ลูก ๆ จะดูแลพ่อแม่เมื่อยามแก่เฒ่า การสืบสายสกุล เป็นแบบปัจจุบันคือ ผู้ชายเป็นผู้สืบสกุล

ซำเร

องค์กรชุมชน

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานบ้านคลองโอน ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2550 โดยใช้งบ SML มาจัดซื้ออุปกรณ์ในการผลิต ซึ่งเป็นการรวมกันเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านให้อยู่คู่ชุมชน ผลิตภัณจักสานได้จดทะเบียนวิสาหกิจแล้ว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 และยังได้ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับสามดาว ได้รับมาตรฐานการผลิตอุตสาหกรรม ประเภทผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่และคลุ้ม เมื่อปี พ.ศ. 2553 และ 2555

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานบ้านคลองโอน มีนางจิตรา พวงกัน เป็นประธานกลุ่ม ขณะนั้นมีการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ไม่กี่ชนิดเช่น ตะกร้า กระด้ง กระบุง ต่อมาชาวบ้านได้รวมกลุ่มเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาขึ้นมาใหม่เพื่อให้อยู่คู่ชุมชนต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และส่วนราชการทั้งในและนอกพื้นที่ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายรูปแบบเพื่อออกจำหน่าย ทั้งนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานบ้านคลองโอน ได้มีความตั้งใจจะสืบทอดภูมิปัญญาสู่รุ่นลูกหลาน โดยมีการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านเพียงหลวง 6 หมู่ 3 ตำบลนนทรีย์ อำเภอบ่อไร่ และผู้ที่สนใจอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีโครงการปลูกคลุ้มทดแทนในท้องถิ่น เพื่อเป็นการรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติไว้อย่างยั่งยืน

ในปัจจุบันกลุ่มอาชีพสตรีผลิตภัณฑ์จักสาน ได้ดำเนินการจักสานโดยใช้สถานที่เป็นอาคารอเนกประสงค์ของหมู่บ้าน หากหมู่บ้านมีกิจกรรมกลุ่มสตรีก็จะหยุดการดำเนินงาน เพื่อให้ทางหมู่บ้านใช้สถานที่ อีกทั้งเตาที่ใช้ในการต้มตอก และย้อมสี มีขนาดเล็กทำให้ต้มและย้อมได้ครั้งละน้อยจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้จักสานผลิตไม่ทันตามความต้องการของตลาด

ปฏิทินชุมชน

  • มกราคม : เป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ จะมีการนวดข้าว มีเทศกาลเผาข้าวหลามกิน และเป็นช่วงที่หาหวายสะเดาและหวายพวนในป่า

  • กุมภาพันธ์-มีนาคม : เริ่มเข้าสู่ช่วงหน้าแล้งจึงมีการเข้าป่าเพื่อหาของป่า และมีประเพณีเล่นไหว้ผีแม่มด

  • เมษายน : มีเทศกาลสำคัญของคนไทยคือ ประเพณีสงกรานต์ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย จะมีการรดน้ำดำหัวให้ผู้สูงอายุ และสรงน้ำพระรวมถึงความสนุกสนานจากการสาดน้ำของผู้คน

  • พฤษภาคม : เริ่มเข้าสู่ช่วงหน้าฝน ชาวบ้านจะเริ่มมีการหว่านข้าว มีประเพณีเซ่นศาลเจ้าที่ ศาลพระภูมิ ไหว้ผีเรือน เพื่อเป็นการขอให้ปกปักรักษาลูกหลานภายในเรือนนั้น ๆ

  • มิถุนายน : หลังจากหว่านข้าวไว้จะเป็นของการช่วงดำนา ไถนา และเริ่มทำการเกษตรต่าง ๆ

  • กรกฎา-สิงหาคม : ช่วงหน้าฝนจะมีการทำการเกษตร เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่

  • ตุลาคม : ช่วงปลายฝน หลังจากมีการทำการเกษตรไปก่อนหน้า ช่วงนี้จะเป็นการเก็บผลผลิต และมีวันสำคัญทางพุทธศาสนาคือ วันออกพรรษาชาวบ้านจะมีการตักบาตรเทโว และทำข้าวเม่ากับกระยาสารท

  • พฤศจิกายน-ธันวาคม : เป็นช่วงเข้าไร่ เข้านาชาวบ้านจะทำการเกี่ยวข้าวและฟาดข้าว

วิถีชีวิต

อดีตชาวบ้านในชุมชนมีการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม คือมีการทำสวน ทำนา ทำไร่ อาศัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการทำมาหากิน อีกทั้งทรัพยากรได้มาจากธรรมชาติ ดังนั้นต้นคลุ้มจึงเป็นพืชที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ อยู่บริเวณแหล่งน้ำ ลำธารที่ลุ่ม ที่ชื้น และสามารถขึ้นได้ทุกสภาพอากาศ มีลักษณะลำต้นกลม สูง มีความคงทน สามารถใช้งานได้นาน ซึ่งนำมาจักสานทำเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น กระบุง กระด้ง ตะกร้ากระจาด ตะแกรงรูปทรงที่หลากหลาย และเครื่องใช้อื่น ๆ ลำต้นที่จะนำมาใช้ประโยชน์จะต้องเป็นต้นที่มีความยาว 2 เมตรขึ้นไป จึงสามารถนำมาใช้งานได้ เนื่องจากในพื้นที่อำเภอบ่อไร่ พื้นที่ทางธรรมชาติยังมีความอุดมสมบูรณ์  และมีต้นคลุ้มอยู่เป็นจำนวนมาก หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ปกติชาวบ้านในหมู่บ้านจะมีการทำจักสานคลุ้มใช้ในครัวเรือนเป็นประจำ ต่อมามีญาติพี่น้องที่มาจากต่างจังหวัดกลับมาเยี่ยมบ้านได้ซื้อไปใช้และมีการบอกต่อ ทำให้ผลิตภัณฑ์จักสานคลุ้มได้รับความสนใจจากบรรดาพ่อค้าแม่ค้า จึงเข้ามาติดต่อเพื่อซื้อไปจัดจำหน่าย ชาวบ้านเห็นช่องทางการเพิ่มรายได้และเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าจากวัสดุที่มีในท้องถิ่นอีกด้วย จึงมีการจัดจำหน่ายเกิดขึ้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

ชาวซำเรในหมู่บ้านมีประเพณีที่ปฏิบัติสืบกันมาแต่โบราณ คือ ผีแม่มด เป็นประเพณีการเซ่นไหว้ผี ตามความเชื่อที่ว่าผีอยู่รอบตัว ซึ่งมีทั้งผีดีที่คอยปกปักรักษา เช่น ผีเรือน และผีที่ทำให้เจ็บป่วยหรือโชคไม่ดี เช่น ผีร้าย เสือสมิง จึงต้องมีการเซ่นไหว้ผี ซึ่งจะมีการประกอบพิธีกรรมในตอนกลางคืน เมื่อทำพิธีเสร็จแล้วจะเชื่อว่าสามารถปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากตัวและชุมชนได้ จัดช่วงเดือน 2 และ 3 ของทุกปีตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งถือเป็นประเพณีที่แสดงออกทางวัฒนธรรมของคนในชุมชน และมีบรรยากาศที่สนุกสนานรื่นเริง

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานบ้านคลองโอนถือเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการสร้างอาชีพหลักให้กับผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีการประกอบอาชีพเสริม มีการสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และลดการละทิ้งถิ่นฐานเพื่อหางานทำ และเป็นการนำวัตถุดิบทางธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำเอาต้นคลุ้มที่ขึ้นตามธรรมชาติในพื้นที่ตำบลนนทรีย์ อำเภอบ่อไร่ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จักสาน ส่วนด้านการตลาดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานบ้านคลองโอน หมู่ที่ 4 ตำบลนนทรีย์ จำหน่ายสินค้าผ่าน ที่ทำการกลุ่มอาชีพสตรีผลิตภัณฑ์จักสานคลุ้มบ้านคลองโอน ร้านของฝากภายในจังหวัดตราด ร้านสวนสวรรค์ตะวันออก อำเภอเขาสมิง ออกบูธงาน OTOP เมืองทองธานี งาน OTOP ประจำปี งานกาชาดประจำปี และงานมหกรรมภาครัฐและเอกชน เป็นต้น

ภาษาที่ใช้พูด :  ภาษาซำเร (Samre) จัดอยู่ในภาษาศาสตร์สาขาเพียริก (Pearic) หมวดภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer) กลุ่มตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic) และใช้ภาษาไทยในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก


บ้านคลองโอนซึ่งมีประชากรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ซำเรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากจากการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตน แต่ในเรื่องของวัฒนธรรมทางด้านภาษากลับอยู่ในขั้นวิกฤติ เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้ภาษาไทยมากกว่าภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ อย่างที่โรงเรียนก็ใช้ภาษาไทยในการเรียน รวมถึงการจำกัดให้พูดได้แค่ภาษาไทยในโรงเรียนเพราะกลัวเด็กพูดไม่ชัด ทำให้เป็นการพูดคุยภาษาท้องถิ่นของตนแค่เฉพาะในกลุ่มเท่านั้น ทำให้สมาชิกในชุมชนบางครอบครัวก็เลิกพูดภาษาท้องถิ่นของตนและใช้เป็นภาษาไทยแทน เหตุนี้ทำให้วัฒนธรรมทางด้านภาษาของชาวบ้านในหมู่บ้านคลองโอนอาจมีโอกาสที่จะสูญหายได้ในช่วง 1-2 อายุคน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ดำรงพล  อินทร์จันทร์. (2559). พลวัตทางชาติพันธุ์ของคนพลัดถิ่นชายแดนตะวันออก กรณีศึกษา กลุ่มชาติพันธุ์ กะซอง และซำเร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และพรสวรรค์ พลอยแก้ว. (2548). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย : กะซองและซำเร. ค้นจาก https://www.sac.or.th/databases/ethnicredb/

สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/