ชุมชนชาติพันธุ์ลาหู่ที่มีการพึ่งพิงธรรมชาติ มีการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อบริโภคในครัวเรือน และเพื่อการค้าขายกับภายนอก
ตั้งชื่อตามผู้นำชุมชนในอดีตคือ นายจะบูสี
ชุมชนชาติพันธุ์ลาหู่ที่มีการพึ่งพิงธรรมชาติ มีการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อบริโภคในครัวเรือน และเพื่อการค้าขายกับภายนอก
ชาวลาหู่บ้านจะบูสี เป็นกลุ่มชาวลาหู่ที่เร่ร่อนเคลื่อนย้ายถื่นฐานที่อยู่ และทำมาหากินในอาณาบริเวณนี้มา 3-4 ชั่วอายุคน โดยในอดีตชาวลาหู่กลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานที่อยู่และทำมาหากินในเขตต้นน้ำแม่คำ ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกองทัพประเทศญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังพลผ่าน อำเภอแม่จัน และมุ่งหน้าเข้าสู่เขตต้นน้ำแม่คำ เพื่อไปเมืองตูม เมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า หัวหน้าบ้านลาหู่ คือ นายจะบูสี จึงอพยพครอบครัวออกจากเขตต้นน้ำแม่คำ เพื่อหลบหนีเส้นทางเดินทัพของกองทัพญี่ปุ่น โดยอพยพข้ามสันเขามาอยู่หมู่บ้านฮาโกโมในเขตต้นน้ำแม่สลอง และหลังจากนั้นประมาณปี พ.ศ. 2504-2505 จึงอพยพบ้านเรือนมาอยู่บนฝั่งน้ำแม่จันหมู่บ้านจะบูสี และดำเนินชีวิตพึ่งพิงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยการล่าสัตว์เก็บของป่า ชาวลาหู่ยังบุกเบิกพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่พริก ไร่ข้าวและไร่ข้าวโพด โดยผลผลิตบางส่วนมีการนำไปขายให้กับพ่อค้าชาวไทยพื้นราบอีกด้วย
ต่อมานายจะบูสีซึ่งเป็นผู้นำหมู่บ้านเดินทางไปประเทศพม่า และเสียชีวิตที่พม่า ในขณะเดียวกันที่หมู่บ้านจะบูสีมีโจรบุกเข้าปล้นบ้านนายจะบูสี และฆ่าภรรยาของนายจะบูสีเสียชีวิต เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวบ้านเสียขวัญและหวาดกลัวเป็นอย่างมาก ชาวบ้านจึงตัดสินใจอพยพออกจากหมู่บ้านไปอยู่ที่ใหม่ ชาวจะบูสีอพยพไปอยู่ที่ใหม่ประมาณ 20 ปี ก็เกิดปัญหาขึ้นใหม่เนื่องจากสถานที่ตั้งหมู่บ้านแห่งใหม่ อยู่ใกล้กับที่ทำกินของหมู่บ้านพนาสวรรค์ หมูของชาวบ้านจะบูสี ซึ่งจะเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ ได้เข้าไปบุกรุกกัดกินพืชผลของชาวบ้านพนาสวรรค์โดยตลอด จนวันหนึ่งชาวบ้านพนาสวรรค์อดทนต่อไปไม่ไหว จึงใช้ปืนยิงหมูของชาวบ้านจะบูสีตาย และนำเอาหมูไปกิน ด้วยเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้ชาวจะบูสี ตัดสินใจอพยพกลับมาอยู่ที่เดิมจนถึงปัจจุบัน (สุวิทย์ นิยมมาก, 2547)
ขณะที่ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์และสืบประวัติอายุผู้นำ โดยคุณอมรรัตน์ รัตนาชัย (ประธานกลุ่มโฮมสเตย์บ้านจะบูสี) คาดการณ์ว่า คนในชุมชนบ้านจะบูสีอาศัยอยู่ ณ ดอยแม่สลองมากกว่าร้อยปีแล้ว หรือก่อนหน้า พ.ศ. 2450 โดยมีรายละเอียดที่มาชุมชน ดังนี้
หมู่บ้านจะบูสี ในแรกเริ่มนั้น คนทั่วไปบนดอยแม่สลองจะรู้จักหมู่บ้านนี้ในนาม "หมู่บ้านจะคะต่อ" ซึ่งตั้งตามผู้นำคนแรกของหมู่บ้าน ไม่มีใครทราบที่มาของหมู่บ้านของหมู่บ้านนี้ว่าตั้งเพราะเหตุใด ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีหมู่บ้านอื่น ๆ บนดอยแม่สลองมากนัก นับว่าเป็นหมู่บ้านแรก ๆ ที่มาตั้งอยู่ ณ ดอยแม่สลองแห่งนี้ แม้แต่ชุมชนแม่สลองเองก็มีบ้านคนอยู่ไม่กี่หลัง รวมทั้งยังไม่มีพื้นที่ใดที่มีไฟฟ้า
ต่อมานายจะคะต่อเสียชีวิตลง และมีนายจะบูสีเป็นผู้นำหมู่บ้านคนถัดมา จึงได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น "บ้านจะบูสี" ทำให้ในเวลานั้นหมู่บ้านมีสองชื่อ คือ "จะบูสี" และ "จะคะต่อ" หลังจากนั้นประมาณ 15 ปี เกิดเหตุการณ์ปล้นและยิงต่อสู้กันเกิดความสูญเสียอย่างร้ายแรง ทำให้คนในชุมชนส่วนหนึ่งหวาดกลัวย้ายไปอยู่ที่อื่น เช่น ห้วยลุ และประเทศพม่า อีกส่วนหนึ่งอพยพไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งที่เรียกว่า "ซึเด" ที่มีความหมายว่า "ป่าคา" ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของ 3 หมู่บ้าน คือ บ้านพนาสวรรค์ บ้านป่าคาสุขใจ และบ้านจะบูสี
ชุมชนบ้านจะบูสีอยู่ ณ ดอยซึเด หรือที่คนในชุมชนเรียกว่า "บ้านจะบูสีเก่า" นั้น อยู่ได้เพียง 10 ปี ก็เกิดความขัดแย้งกับหมู่บ้านพนาสวรรค์เรื่อง การทำมาหากินรุกล้ำที่ดินระหว่างหมู่บ้าน ผู้นำโดนใส่ร้ายและเสียชีวิต ทางชุมชนบ้านพนาสวรรค์จึงชักชวนให้คนในชุมชนย้ายไปอยู่ที่บ้านพนาสวรรค์ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการไป จึงมีการประชุมกันให้ย้ายกลับมาพักอาศัยอยู่ที่เดิมที่เคยถูกโจรปล้นเพราะเหตุการณ์สงบลงแล้ว เพื่อลดข้อขัดแย้งดังกล่าว ซึ่งนั่นก็คือ ที่ตั้งของหมู่บ้านจะบูสีในปัจจุบัน ดอยซึเดแห่งนั้นจึงเป็นที่เรียกขานกันว่า "บ้านจะบูสีเก่า" จนถึงทุกวันนี้
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น หมู่บ้านจะบูสีก็อยู่อย่างสงบสุขเรื่อยมา ไม่มีเหตุการณ์ใดที่ทำให้ต้องย้ายถิ่นฐานอีกเลย ซึ่งมีผู้นำดูแลหมู่บ้านต่อมาอีกหลายคน ดังนี้ นายยะบู, นายจะแป๊ะ, นายจะต๋อย, นายจะก่า, นายยะกู จะแขะ, นายจะบู แสนภู และคนปัจจุบัน คือ นายจะหวะ อาลุโก โดยบ้านจะบูสีในปัจจุบันเป็นบ้านบริวารของบ้านป่าคาสุขใจ หมู่ที่ 5 ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มีผู้ใหญ่บ้านที่เป็นทางการ ประกอบด้วย 1.นายชลดล เบียะผะ 2.นางกาญจนา จันทร์หอมสกุล 3.นายหล่อป้อง อายีกู่ 4.นายล่อแอ่ อายีกู่ 5.นายรชต เกษมสุขใจ และคนปัจจุบัน นายอาเจอะ หม่อโปกู่ (อมรรัตน์ รัตนาชัย, 2567)
ชุมชนบ้านจะบูสี มีพื้นที่อยู่ในตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มีอาณาเขตติดกับบ้านป่าคาสุขใจ บ้านพนาสวรรค์ บ้านอาแบ และมีเส้นทางลัดลงสู่อำเภอแม่จันผ่านบ้านเล่าฝู่ โป่งป่าแขม เส้นทางเข้าหมู่บ้านจากหน้าโรงเรียนบ้านสันติคีรีเป็นระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นทางซีเมนต์ ถนนเสริมคอนกรีต ภายในชุมชนมีสัญญาณโทรศัพท์
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ชุมชนบ้านบูจะสี ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นแหล่งต้นน้ำแม่คำ ต้นน้ำแม่สลอง และต้นน้ำแม่จัน อยู่บนภูเขา สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี มีป่าไม้ธรรมชาติเป็นป่าต้นก่อ ต้นจำปา ต้นไทร และป่าไผ่ ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าธรรมชาติ
บ้านจะบูสีตั้งอยู่ในหุบเขาบนดอยคอปาเน พื้นที่หมู่บ้านประมาณ 4-6 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านพนาสวรรค์ และบ้านป่าคาสุขใจ อ.แม่ฟ้าหลวง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านโป่งป่าแขม และบ้านโป่งขม อ.แม่จัน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านอาแบ อ.แม่ฟ้าหลวง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านรวมใจ อ.แม่จัน
การคมนาคม จากเส้นทางดอยแม่สลองเข้าสู่ชุมชน การคมนาคมมีความลำบากและอยู่ห่างไกล จึงไม่มีรถประจำทางเข้าถึงหมู่บ้าน ต้องใช้การเดินเท้าประมาณสองชั่วโมง รถยนต์ส่วนตัว หรือรถจักรยานยนต์รับจ้าง เพื่อเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน
สถานที่ราชการ จำนวน 1 แห่ง คือ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง"
ชุมชนบ้านจะบูสีเป็นชุมชนชาติพันธุ์ลาหู่แดง ประกอบด้วยจำนวนครัวเรือน 27 ครัวเรือน จำนวนประชากรประมาณ 171 คน แบ่งเป็นเพศชายจำนวน 87 คน เพศหญิงจำนวน 84 คน ไม่มีสัญชาติไทย 15 คน
ระบบครอบครัวและเครือญาติ
รูปแบบครอบครัวในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว มีขนาดของครอบครัวประมาณ 3-5 คน มีครอบครัวขยายเพียง 2 ครอบครัว โดยมีสมาชิก 5-7 คน โดยครอบครัวขยายมักอยู่ในตระกูลของฝ่ายหญิง ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมของชาวลาหู่ ที่หลังจากแต่งงานแล้ว ฝ่ายชายต้องไปอยู่ร่วมกับตระกูลของฝ่ายหญิง
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวนั้น ถือได้ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดแทบทุกหลังคาเรือน เนื่องจากมีการแต่งงานกันระหว่างตระกูล ทั้งหมู่บ้านจึงมีความผูกพันและเป็นเครือญาติกัน โดยสามารถแบ่งกลุ่มตระกูลใหญ่ ๆ ในหมู่บ้านได้ 3 ตระกูล คือ ตระกูลมูเซอ ตระกูลแสนคำ และตระกูลอากุโล โดยตระกูลมูเซอเป็นตระกูลที่มีอิทธิพลและมีบทบาทกับหมู่บ้านมากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มตระกูลผู้นำหมู่บ้าน
นอกจากนี้ชาวลาหู่ ยังยึดถือระบบอาวุโสเป็นหลัก โดยที่ทุกคนในชุมชนต้องให้ความเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโส
ลาหู่ชุมชนบ้านจะบูสีส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ ปลูกข้าวไร่ ปลูกข้าวโพด ส่วนอาชีพรองลงมา มีอาชีพรับจ้างทั่วไป หาของป่าตามฤดูกาล อีกทั้งชุมชนบ้านจะบูสีมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และชุมชนยังคงรักษาไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม มีชีวิตที่เรียบง่าย มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน จึงเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ดูงานให้กับชุมชนอื่น ๆ พร้อมกันนั้นก็ยังเป็นกรณีตัวอย่างของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน โดยชุมชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการป่าชุมชน ซึ่งอนุมัติโดยอธิบดีกรมป่าไม้ ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ประเด็นเรื่องคนอยู่กับป่า และเผยแพร่วิถีชีวิตชนเผ่าให้คนภายนอกรับรู้และมีทัศนคติที่ถูกต้องและยอมรับว่ากลุ่มชาติพันธุ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นพลเมืองไทย
ในอีกด้านหนึ่งการท่องเที่ยวก็เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนในชุมชน พัฒนาทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม การกล้าแสดงออกและการติดต่อประสานงานกับภายนอก ชุมชนได้เรียนรู้ วิเคราะห์ศักยภาพของตนเอง พัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับจุดเด่น พร้อมทั้งสร้างความเข้มแข็งด้านอื่น ๆ เช่น ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการติดต่อประสานงาน การประชาสัมพันธ์ และความเข้าใจเกี่ยวกับระบบทัวร์ มีความสามารถในการติดต่อ เจรจากับบริษัททัวร์ เป็นต้น
ชุมชนชาติพันธุ์ลาหู่ที่นี่นับถือผีบรรพบุรุษและอื่อซา กิจกรรมทางศาสนาคล้ายคลึงศาสนาพุทธ และยังนับถือศาสนาคริสต์
ภายในชุมชนมีศาสนสถานและสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเพณีพิธีกรรม ดังนี้
- มีสถานที่ทำพิธีที่บ้านโตโบ ซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาของลาหู่ภายในชุมชน
- ป่าช้า
- ต้นน้ำหรือป่า ทำพิธีทางศาสนาเมื่อมีอาการเจ็บป่วย
- หิ้งบูชาในบ้าน ในทุก ๆ บ้านต้องจุดธูปเทียนบูชาทุกวันศีล (วันพระ)
- สถานที่สร้างศาลาและก่อทรายถวาย (แซะก่อเว)
- ลานเต้นรำในเทศกาลปีใหม่ลาหู่ (ป้อยเตกึ่)
1.แม่หลวงกาญจนา จันทร์หอมสกุล ผู้ใหญ่บ้านป่าคาสุขใจ ซึ่งต้องรับผิดชอบดูแลหมู่บ้านจะบูสีด้วย เนื่องจากหมู่บ้านจะบูสีเป็นกลุ่มบ้านบริวารของหมู่บ้านป่าคาสุขใจ
2.นายจะต๋อย แสนคำ เป็นผู้นำหมู่บ้าน มีความรู้ในการพูดและฟังภาษาไทยได้พอสมควร สามารถติดต่อกับคนไทยรู้เรื่อง เป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้าน
3.นายอาเบ ยาผ่า เป็นผู้ช่วยผู้นำหมู่บ้าน มีความรู้เรื่องยาสมุนไพร และเป็นคนเดียวในหมู่บ้านที่มาจากเผ่าลีซอ
ทุนทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
1.การทำพิธีกรรมต่าง ๆ ที่บ้านโตโบ “โตโบ” หรือ “ปู่จอง” คือผู้นำชุมชนที่สมาชิกชุมชนให้ความเคารพนับถือ ด้วยเชื่อว่าเป็นผู้ที่ติดต่อสื่อสารกับพระเจ้า ผี หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือธรรมชาติได้ โตโบจึงเป็นผู้นำในการทำพิธีกรรมต่าง ๆ ตามประเพณีของชาวลาหู่ รวมถึงให้การเยียวยารักษาความเจ็บป่วยของชนเผ่าที่มีมานานตามแบบแผนโบราณ (การสะเดาะเคราะห์ การใช้คาถาปัดเป่า ควบคู่ไปกับการรักษาจากโรงพยาบาล) อันเป็นการรักษาทางจิตใจ ดูแลเยียวยาจิตใจผู้ป่วยรวมถึงญาติพี่น้องให้มีกำลังใจเข้มแข็งขึ้น มีสติ และตระหนักถึงแก่นธรรมมากขึ้น โตโบจะได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้และวัตรปฏิบัติจากโตโบคนก่อนหน้านี้ ดังนั้นส่วนใหญ่การสืบทอดตำแหน่งจึงมักจะสืบทอดโดยเชื้อสายของโตโบรุ่นก่อน แต่การแต่งตั้งนั้นจะต้องได้รับการโหวตยอมรับจากสมาชิกในชุมชนด้วย
2.การตำข้าวปุกดอย เดิมทีจะตำข้าวปุกแค่ปีละครั้งใน "ประเพณีกินวอ" เทศกาลปีใหม่ของชาวลาหู่ที่จัดขึ้นหลังจากเก็บเกี่ยวราวเดือนตุลาคม เฉลิมฉลองให้กับความอุดมสมบูรณ์ คนในครอบครัว ญาติพี่น้องจะมารวมตัวทำอาหารกินข้าวร่วมกันเสมือนวันรวมญาติเช่นเดียวกับเทศกาลสงกรานต์ และตำข้าวปุกไหว้บรรพบุรุษ โดยจะตำข้าวปุกปั้นเป็นก้อนใหญ่ 1 ก้อน เป็นสัญลักษณ์แทนครอบครัวที่สมบูรณ์ ล้อมรอบด้วยข้าวปุกก้อนเล็ก ๆ ที่เปรียบเป็นสมาชิกในครอบครัว ข้าวปุกในพิธีนี้จะนำมากินได้หลังเสร็จสิ้นพิธีก็จะนำมาแบ่งให้ลูกหลานกิน ทั้งกินสด หรือหมกขี้เถ้าจนเกรียมหอม แล้วเอาออกมาเคาะขี้เถ้าก็จะได้ข้าวปุกอุ่นทั่วกันทั้งก้อน เพิ่มความหอมอร่อยเหมาะกับอากาศหนาวเย็น ปัจจุบันชาวลาหู่ปรับเปลี่ยนประเพณีให้ยืดหยุ่น ตำข้าวปุกกินนอกพิธีได้ ตามคำเรียกร้องของทุกคนที่อยากกินข้าวปุกได้บ่อย ๆ เพียงแต่ต้องอยู่ในกรอบเวลาการตำที่กำหนดคือให้พ้นปีใหม่ไปก่อน
3.ภูมิปัญญาอื่น ๆ การทำอุปกรณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น กล้องยาสูบ การทำไม้กวาดก๋ง การทำหน้าไม้ สานเสื่อ เย็บผ้า หายาสมุนไพร ตีมีด ทำหน้าไม้การเล่นดนตรีชนเผ่า เช่น แคนลาหู่ ซึง ขลุ่ยแบบไม่มีลิ้น และใบไม้ เป็นเพลงชนเผ่า
สำหรับภาษาพูดของลาหู่จัดว่าเป็นภาษาหนี่งในตระกูลพม่า-ธิเบต ตามการจัดแบ่งของนักชาติพันธุ์วิทยา ถือเป็นทำนองเดียวกันกับภาษาพูดของลีซอและอาข่า นอกจากนี้ยังมีการยืมคำจากภาษาจีน และภาษาไทยอีกด้วย และในการติดต่อระหว่างลาหู่กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จะใช้ภาษาลาหู่เป็นภาษากลาง
ในปัจจุบันการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนในชุมชน พัฒนาทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม การกล้าแสดงออก และการติดต่อประสานงานกับภายนอก ชุมชนได้เรียนรู้ วิเคราะห์ศักยภาพของตนเอง พัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับจุดเด่น พร้อมทั้งสร้างความเข้มแข็งด้านอื่น ๆ เช่น ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการติดต่อประสานงาน การประชาสัมพันธ์ และความเข้าใจเกี่ยวกับระบบทัวร์ มีความสามารถในการติดต่อ เจรจากับบริษัททัวร์ เป็นต้น
โปรแกรมท่องเที่ยวชุมชนบ้านจะบูสี
- โปรแกรม 1 กินอิ่มนอนอุ่น (ที่พัก 1 คืน อาหาร 2 มื้อ) พักโฮมสเตย์บ้านไม้ไผ่ ร่วมรับประทานอาหารพื้นบ้านและผูกข้อมือรับขวัญจากผู้อาวุโส ชมวิถีความเป็นอยู่ชาวลาหู่
- โปรแกรม 2 สัมผัสวิถีชุมชนลาหู่ (ที่พัก 2 คืน อาหาร 5 มื้อ เวิร์คชอปเลือก 1 กิจกรรม) พักโฮมสเตย์บ้านไม้ไผ่ ตามวิถีลาหู่แดง ร่วมรับประทานอาหารพื้นบ้านและผูกข้อมือรับขวัญจากผู้อาวุโส ชมวิถีความเป็นอยู่ เรียนรู้หัตถกรรมท้องถิ่น เดินเที่ยวน้ำตกแม่กิ๊ก
- โปรแกรม 3 เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ตามวิถีคนอยู่กับป่า (ที่พัก 2 คืน อาหาร 5 มื้อ) มีให้เสือกสรรทั้งเส้นทางเดินป่าชุมชน สืบเสาะหาวัตถุดิบน้ำผึ้งป่า ผลหมากรากไม้ เห็ด หน่อไม้ สมุนไพรพื้นบ้าน ส่วนเส้นทางการเกษตร จะพาไปชมวิถีการทำไร่บนดอย การเกษตรตามฤดูกาล และเส้นทางหาปลาธรรมชาติ ในแม่น้ำจันและการทำอาหารโดยใช้กระบอกไม้ไผ่
กฎระเบียบชุมชน
- นักท่องเที่ยวแต่งกายสุภาพ
- เคารพกฎ กติกาของชุมชน
- รับบริการและเชื่อฟังผู้นำเที่ยวในชุมชน
- ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย
- เมื่อเดินป่า ต้องมีไกด์ท้องถิ่นร่วมเดินทางด้วย
- ใช้เส้นทางเดินป่าเพื่อป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าจากบุคคลภายนอก และป้องกันไฟป่า
ติดต่อสอบถาม นางสาวอมรรัตน์ รัตนาชัย (นาซึขะ) ประธานกลุ่มโฮมสเตย์บ้านจะบูสี
โทรศัพท์ : 08-1021-3992
Email : nasuka56@gmail.com
ธงชัย พุ่มพวง. (2554). ชนเผ่าลาหู่จะบูสี หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่แม่สลอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566. จาก https://soclaimon.wordpress.com/
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน. (2555). บ้านบูจะสี. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566. จาก https://thaicommunitybasedtourismnetwork.wordpress.com/
สุวิทย์ นิยมมาก. (2547). กระบวนการปรับเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนในการจัดการลุ่มน้ำแม่สลอง บ้านจะบูสี อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
นิพนธ์ เพิ่มพูลบุญ. (2555). โฮมสเตย์บ้านบูจะสี เชียงราย. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566. จาก http://mycity.tataya.net/
อมรรัตน์ รัตนาชัย. (2567). เอกสารประกอบแนะนำชุมชน. เชียงราย : กลุ่มโฮมสเตย์บ้านจะบูสี