หมู่บ้านชนเผ่าอาข่าที่ยังคงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อดั้งเดิมอยู่บนภูเขาสูง ใกล้แหล่งปลูกชา และกาแฟวาวี
หมู่บ้านชนเผ่าอาข่าที่ยังคงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อดั้งเดิมอยู่บนภูเขาสูง ใกล้แหล่งปลูกชา และกาแฟวาวี
บ้านห้วยขี้เหล็ก เป็นชุมชนเกษตรกรรรม และชุมชนชาติพันธุ์ของชาวอาข่า ลักษณะภูมิประเทศตั้งอยู่บนเนินเขาและไหล่เขาทอดยาว สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800 เมตร พื้นที่ชุมชนมีภูเขาล้อมรอบ มีป่าไม้ รวมทั้งเป็นแหล่งรวมของพืชพันธุ์สมุนไพรที่มีสรรพคุณยอดเยี่ยม มีเขตป่าอนุรักษ์และเขตป่าใช้สอย บ้านเรือนส่วนใหญ่ยังคงเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชาวอาข่า ตั้งอยู่กระจายโดยรอบชุมชน มีอาชีพทำเกษตรกรรมและป่าสมุนไพร
บ้านห้วยขี้เหล็กตั้งอยู่ที่ หมู่ 9 ตำบลวารี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ก่อตั้งขึ้นปี พ.ศ. 2508 โดยการโยกย้ายที่อยู่จากหมู่บ้านแสนเจริญ เข้ามาตั้งถิ่นฐานเหนือลำน้ำห้วยขี้เหล็ก สภาพภูมิศาสตร์ของชุมชนตั้งอยู่บนเนินเขาและไหล่เขาทอดยาวสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800 เมตร พื้นที่ชุมชนมีป่าไม้ล้อมรอบโดยมีป่าชุมชนประมาณ 5,000 ไร่ เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ท่ามกลางป่าชุมชนทำให้อากาศเย็นสบายตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงมีนาคมของทุกปี
บ้านห้วยขี้เหล็ก ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ห่างจากตัวอำเภอแม่สรวย 25 กิโลเมตร โดยมีถนนลูกรังสลับกับคอนกรีตแยกเข้าหมู่บ้านอีก 3.5 กิโลเมตร ลักษณะพื้นที่อยู่ในเขตภูเขา มีป่าชุมชนล้อมรอบ ตามคติความเชื่อเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพ เช่น เป็นแหล่งอาหาร ล่าสัตว์ ยาสมุนไพร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านดอยช้าง
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านห้วยมะซาง และบ้านเเสนเจริญ
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านดอยล้าน
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านแสนเจริญ บ้านห้วยซาง และบ้านขี้เหล็กใหม่
จากการสำรวจข้อมูลประชากรชุมชนบ้านห้วยขี้เหล็กพบว่า มีจำนวนครัวเรือน 200 ครัวเรือน แบ่งเป็นประชากรชาย 276 คน ประชากรหญิง 294 คน รวม 570 คน
กลุ่มชาติพันธุ์
ชาวอาข่าหรืออีก้อ หรือข่าก้ออาศัยอยู่ในมณฑลยูนาน แคว้นสิบสองปันนา และไกวเจา เมื่อถูกรุกรานจึงทยอยกันอพยพลงใต้ ไปยังแคว้นเชียงตุง ประเทศพม่า แคว้นหัวโขงและแคว้นพงสาลีในลาว กระจายไปตามจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตากกำแพงเพชร แพร่ ลำปาง และเพชรบูรณ์ อาข่าเป็นชนเผ่าที่สามารถสืบสาวรายนามบรรพบุรุษฝ่ายบิดาขึ้นไปถึงตัว "ต้นตระกูล" ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีการ ทั้งตำนาน สุภาษิต ได้เป็นอย่างดี อาข่า แปลว่า อา เป็นคำขึ้นต้นที่อาข่าใช้เรียกบุคคล ข่า แปลว่า ไกล-ห่างไกล มีความหมายว่า กลุ่มคนที่อาศัยอยู่บนดอยสูงซึ่งห่างไกลจากความเจริญ และไม่ชอบให้เรียก อีก้อ ด้วยถือเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งคำว่า อีก้อ แปลว่า หนึ่งคน หนึ่งกลุ่ม
อ่าข่าด้วยความร่ำรวยทางประเพณีที่สอดประสานไปกับวิถีชีวิตของชุมชน โปรแกรมการท่องเที่ยวจึงเน้นการเรียนรู้วิถีชีวิต 3 ด้าน ได้แก่ ด้านวัฒนธรรมประเพณี ด้านสิ่งแวดล้อมและป่าชุมชน ด้านการประกอบอาชีพเกษตรบนที่สูง ซึ่งกำหนดให้ตรงกับช่วงเวลาพิธีกรรมประเพณีของชุมชนเท่านั้นทั้งหมด 9 ครั้ง ดังนี้
- เดือนเมษายน : ชมปีใหม่พื้นบ้าน และเล่นชนไข่แดงในประเพณี ชนไข่
- เดือนเมษายน : ศึกษาประวัติการสร้างประตูหมู่บ้าน ในพิธีกรรมปลูก ประตูหมู่บ้าน
- เดือนพฤษภาคม : ร่วมบูชาแม่คงคาและปลูกข้าวแรกเริ่มในพิธีปลูกข้าว
- เดือนมิถุนายน : กินผักพื้นบ้าน และร่วมในพิธีเรียกขวัญไร่ข้าว
- เดือนสิงหาคม : ทดสอบกำลังใจ ชมการละเล่นในประเพณีโล้ชิงช้า
- เดือนกันยายน : ทำบุญรับบรรพชนในประเพณีถอนขนไก่
- เดือนกันยายน : ร่วมไล่ผีออกจากชุมชนในประเพณีไล่ผีอ่าข่า
- เดือนตุลาคม : เลือกวันดีและกินข้าวใหม่ในพิธีกรรมกินข้าวใหม่อ่าข่า
- เดือนธันวาคม : เพิ่มอายุตนเอง และร่วมแข่งหมุนลูกข่างในประเพณีปีใหม่ลูกข่าง
ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
นับถือความเชื่อเกี่ยวกับบรรพบุรุษ มีขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต ภาษา โครงสร้างการปกครองมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมากภายในชุมชน ทั้งยังได้แสวงหาวิธีการในการรักษาสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต เพื่อให้ชุมชนอยู่อย่างยั่งยืนและได้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน
บ้านห้วยขี้เหล็กเป็นหมู่บ้านที่มีหน่วยงานเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ เข้ามาเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อกระบวนการของงานวิจัย โดยการนำการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในเชิงเศรษฐกิจและสังคม การขยายตัวของการท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับหน่วยงานภายนอกที่เข้าสู่ชุมชน ซึ่งหากการทำงานของหน่วยงานภายนอกสิ้นสุดลง การขยายตัวของการท่องเที่ยวในชุมชนก็ย่อมหยุดลง การพัฒนาเชิงเศรษฐกิจโดยอาศัยการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือก็หยุดชะงักขาดความต่อเนื่องในการพัฒนาเช่นกัน
บ้านห้วยขี้เหล็กเป็นหมู่บ้านต้นแบบของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จากการร่วมกันของหน่วยงานรัฐและเอกชน ร่วมมือกับชาวบ้านในชุมชนทำการรวบรวมวัฒนธรรม ประเพณี และพิธีกรรม ของชนเผ่าอาข่า ซึ่งมีผลให้ผู้อาวุโส หนุ่มสาว และเยาวชน ของหมู่บ้านได้ร่วมมือกันฟื้นฟูอนุรักษ์วัฒนธรรมของอาข่า เช่น วัฒนธรรมการกินอยู่ และวัฒนธรรมการแต่งกาย เป็นต้น
บ้านห้วยขี้เหล็กตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขาซึ่งเป็นป่าชุมชนที่ได้รับการอนุรักษ์ ตามคติความเชื่อเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพ เช่น เป็นแหล่งอาหาร ล่าสัตว์ ยาสมุนไพร ทำให้ชุมชนจัดทำเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ชุมชนมีกิจกรรมในการอนุรักษ์ป่าชุมชน
อย่างไรก็ดีบ้านห้วยขี้เหล็กมีปัญหาในด้านการกำจัดขยะ ซึ่งชุมชนจะใช้วิธีการขุดหลุมฝังและเผาขยะ โดยที่ทางหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยกำจัดขยะไม่ได้จากปัญหาเส้นทางคมนาคมเข้า-ออก หมู่บ้านไม่สะดวกในการเดินทาง ชาวบ้านแต่ละครอบครัวจึงต้องกำจัดขยะด้วยตนเอง
เทศบาลตำบลขี้เหล็ก. (2565). ข้อมูลประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 จาก : http://keeleklocal.go.th/
ชุมชนห้วยขี้เหล็ก จังหวัดเชียงราย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566, จาก : http://mycity.tataya.net/
มูลนิธิโครงการหลวง. (2555). อาข่า. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก : https://www.royalprojectthailand.com/
ฤดีกร เดชาชัย. (2557). การจัดการผลกระทบจากการท่องเที่ยวโดยชุมชนเผ่าอาข่า จังหวัดเชียงราย. ดุษฎีนิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้
Mod Dum. (2553). วิถีแห่งอ่าข่า ณ บ้านห้วยขี้เหล็ก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566, จาก : https://www.tripchiangmai.com/
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน. (ม.ป.ป.). ห้วยขี้เหล็ก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก : https://thaicommunitybasedtourismnetwork.wordpress.com/