Advance search

บ้านท่าเดื่อ

ชุมชนบ้านท่าเดื่อโดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำปิงไหลผ่านซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่หล่อเลี้ยงชุมชนในตำบลสันผีเสื้อ ทำให้เกิดภูมิทัศน์ที่สวยงามตลอดเส้นทางที่น้ำปิงไหลผ่านชุมชน

หมู่ที่ 6
บ้านท่าเดื่อ
สันผีเสื้อ
เมืองเชียงใหม่
เชียงใหม่
สิรวิศ อุ่นบ้าน
7 พ.ค. 2023
พิมพ์ใจ อุ่นบ้าน
3 พ.ค. 2023
พิมพ์ใจ อุ่นบ้าน
7 พ.ค. 2023
บ้านท่าเดื่อ

จากการศึกษาประวัติของหมู่บ้านท่าเดื่อและสอบถามจากผู้อาวุโสของหมู่บ้าน มีประวัติที่เล่าสืบ ๆ ทอดกันมาว่าประมาณหลายร้อยปี ในสมัยนั้นยังเป็นที่รกร้าง เป็นที่ดินที่มีแต่ป่าต้นมะเดื่อ และมีท่าน้ำอยู่ริมน้ำ ชาวบ้านสมัยนั้นจึงได้ตั้งชื่อบ้านว่า "บ้านท่าเดื่อ" ตั้งแต่นั้นมา


ชุมชนบ้านท่าเดื่อโดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำปิงไหลผ่านซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่หล่อเลี้ยงชุมชนในตำบลสันผีเสื้อ ทำให้เกิดภูมิทัศน์ที่สวยงามตลอดเส้นทางที่น้ำปิงไหลผ่านชุมชน

บ้านท่าเดื่อ
หมู่ที่ 6
สันผีเสื้อ
เมืองเชียงใหม่
เชียงใหม่
50120
เทศบาลตำบลสันผีเสื้อ โทร. 0-5385-4380
18.84189
98.98952
เทศบาลตำบลสันผีเสื้อ

ในสมัยอดีตหมู่บ้านท่าเดื่อยังไม่มีไฟฟ้าใช้ สิ่งที่ให้แสงสว่างในยามค่ำคืนแก่ชาวบ้าน คือ การจุดตะเกียง และเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2510 เริ่มมีไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมไฟฟ้ามาติดตั้งไฟฟ้าในหมู่บ้านจนมาถึงในปัจจุบันทุกครัวเรือนให้หมู่บ้านมีไฟฟ้าใช้ทุกหลังคาเรือน

น้ำถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตของทุกชีวิต ชาวบ้านบ้านท่าเดื่อก็เช่นเดียวกัน จากการสอบถามชาวบ้านในอดีตน้ำดื่มน้ำใช้ของคนในหมู่บ้าน คือ น้ำบาดาล ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีประปาหมู่บ้านเกิดขึ้น ชาวบ้านบางส่วนก็ได้เปลี่ยนจากการใช้น้ำบาดาลมาใช้น้ำประปา ส่วนน้ำที่ใช้ดื่มก็เริ่มมีน้ำดื่มบรรจุขวดเข้ามาขายในหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านซื้อน้ำบรรจุขวดมาดื่ม และยังมีการใช้น้ำบาดาลที่กรองแล้วด้วย

ในปี พ.ศ. 2520 ได้เริ่มมีการขุดดินขึ้นมาถมทำเป็นถนน เป็นทางล้อเดิน เนื่องจากในสมัยนั้นชาวบ้านไม่มีถนนในการสัญจร เดินทางไปมา ใช้คันนาลัดเลาะจากหัวบ้านไปยังท้ายบ้าน นั่งเรือข้ามแม่น้ำไปตลาด ไปโรงพยาบาล และเริ่มถนนลาดยางเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2535 

ในเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บนั้น ถือว่าเป็นปัญหาสุขภาพของคนในหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านท่าเดื่อก็เช่นกัน จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ภายในหมู่บ้านพบว่า ในสมัยก่อนนั้นไม่เคยมีโรคระบาด ส่วนใหญ่ก็จะเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยจะไปรักษากับหมอพื้นบ้านประจำหมู่บ้าน และในปัจจุบันการรักษาโรคของคนในชุมชนอาศัยการแพทย์สมัยใหม่ โดยจะไปใช้บริการรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือคลินิก เป็นต้น

หลังความเจริญเข้ามาในพื้นที่บ้านท่าเดื่อ ก็ถูกนายทุนและคนฐานะดีต่างถิ่นเข้ามาซื้อพื้นที่สำหรับสร้างบ้านและประกอบธุรกิจน้อยใหญ่ พื้นที่ส่วนใหญ่จึงกลายของคนต่างถิ่น เปลี่ยนสภาพจากผืนนา กลายเป็นบ้านจัดสรร เปลี่ยนวิถีชีวิตจากชาวนา กลายมาเป็นรับจ้าง หรือพนักงานประจำในโรงงาน ใครที่ขายที่ดินได้ในราคาดี ก็สร้างบ้านพักให้เช่า สร้างบ้านจัดสรรให้อยู่ ทำให้พื้นที่สำหรับการประกอบอาชีพเกษตรหายไป จนในปัจจุบันชาวบ้านบ้านท่าเดื่อมีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมลดลง

บ้านท่าเดื่อแต่เดิมสมัยอดีตจะอยู่แบบต่างคนต่างอยู่ เมื่อมีการสร้างหมู่บ้านเกิดขึ้นทำให้คนในหมู่บ้านมีการพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้น และเมื่อมีหมู่บ้านก็ย่อมที่จะมีผู้นำที่จะคอยควบคุมดูแลความสงบของคนในหมู่บ้าน จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนพบว่าหมู่บ้านท่าเดื่อมีผู้ใหญ่บ้านมาแล้วรวมทั้งหมด 6 คน กำนันคนแรกชื่อพ่อกำนันมา ไชยมูล ต่อมาก็มีผู้ใหญ่บ้านแทนที่กันมาตลอดและได้ลำดับผู้ใหญ่บ้านบ้านท่าเดื่อดังนี้

  1. พ่อหลวงแว่น กันธา  ไม่ทราบปีที่ได้รับตำแหน่ง
  2. พ่อกำนันสนิท ไชยสอน  ไม่ทราบปีที่ได้รับตำแหน่ง(ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลท่าหลุก)
  3. พ่อหลวงบุญเสริฐ สิงห์คำ  ไม่ทราบปีที่ได้รับตำแหน่ง - ปี พ.ศ. 2547
  4. พ่อหลวงทองคำ ทองทวี  ปี พ.ศ. 2547 - ปี พ.ศ. 2551
  5. พ่อหลวงเสรี คำแหลง  ปี พ.ศ. 2551 - ปัจจุบัน    

ชุมชนบ้านท่าเดื่อ หมู่ 6 ตำบลท่าหลุก อำเภอสันผีเสื้อ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีระยะห่างจากตัวอำเภอเมือง ประมาณ 12 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินที่ 3029 ถนนสมโภช 700 ปี อยู่ในเขตรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลสันผีเสื้อ มีพื้นที่ในเขตการปกครองทั้งหมดประมาณ 0.77 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำปิงไหลผ่านซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่หล่อเลี้ยงชุมชนในตำบลสันผีเสื้อ

ที่ตั้งและอาณาเขตของหมู่บ้านท่าเดื่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ เขตพื้นที่หมู่ที่ 5 บ้านขัวโก ตำบลสันผีเสื้อ
  • ทิศใต้ ติดกับ เขตพื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านท่าหลุก ตำบลสันผีเสื้อ
  • ทิศตะวันออก ติดกับ เขตพื้นที่หมู่ที่ 5, 7 ตำบลสันผีเสื้อ
  • ทิศตะวันตก ติดกับ เขตพื้นที่บ้านท่อ ตำบลป่าตัน เทศบาลนครเมืองเชียงใหม่ 

เขตตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีทั้งหมดด้วยกัน 9 หมู่ หนึ่งในนั้น ก็คือ ชุมชนหมู่ 6 บ้านท่าเดื่อ ชุมชนนี้เป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท เนื่องจากอยู่ใกล้เขตเมือง ดังนั้นบ้านเรือนที่นี่จึงมีความเป็นอยู่คล้ายกับชุมชนเมือง บ้านแต่ละหลังจะมีขอบรั้วสูงชัดเจน แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังมีความเป็นอยู่แบบชุมชนชนบท

อาณาเขตติดต่อกับหมู่ 6 คือ ทิศเหนือ เริ่มจาก หัวสะพานบ้าน ท่าเดื่อ ซอย 1 ติดต่อกับเขตพื้นที่หมู่ที่ 5 บ้านขัวโก ตำบลสันผีเสื้อ ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตพื้นที่หมู่ที่ 5 , 7 ตำบลสันผีเสื้อ ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตพื้นที่บ้านท่อ ตำบลป่าตัน เทศบาลนครเมืองเชียงใหม่ และทิศใต้ สิ้นสุดที่บ้านท่าเดื่อ ซอย 11 ติดต่อกับเขตพื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านท่าหลุก ตำบลสันผีเสื้อ

เริ่มจากบ้านท่าเดื่อ ซอย 1โดยจะเริ่มที่บ้านเลขที่ 1 ถัดไปจะพบบ้านอีก 3 หลัง จากนั้นเดินสำรวจอีก 50 เมตร จะพบว่ามีบ้านจัดสรร ชื่อว่า บ้านเมืองทองซิตี้โฮม ภายในมีบ้านที่สร้างลักษณะคล้ายกันอยู่หลายหลัง อีกฝั่งด้านตรงข้ามก็คือ บ้านดีไลท์โฮม ซึ่งก็เป็นบ้านจัดสรรเช่นเดียวกัน และจากนั้นจะมีสะพานเล็กข้ามผ่านลำน้ำ เชื่อมต่อระหว่างบ้านจัดสรรและอีกฝั่งของสะพานคือบ้านคนในชุมชนภายนอก และเมื่อเราข้ามสะพานไป ก็จะพบกับร้านค้าเล็ก ๆ ซึ่งเป็นร้านขายของชำ ด้านหลังของร้านจะเป็นบ้านของเจ้าของร้าน จากนั้นก็จะเป็นพื้นที่โล่งเป็นส่วนใหญ่ มีหญ้าขึ้นสูง ด้านตรงข้ามของที่โล่ง ก็จะเป็นบ้านที่คนอาศัยอยู่แต่จะไม่อยู่ใกล้ชิดกันมากนัก ตลอดเส้นทางของถนนนั้นยังคงเป็นเปิดร้านและมีธุรกิจส่วนตัวเล็ก ๆ เช่น ร้านขายของชำ อู่ซ่อมรถ รับซื้อของเก่า ร้านเสริมสวยและร้านเหล้าตอง โดยตลอดเส้นทางจะมีบ้านของคนในชุมชนสลับกันบ้านหลังใหญ่ มีขอบรั้วสูง อยู่ด้วยกัน ซึ่งจากการสอบถามจากชาวบ้าน ก็พบว่าบ้านเหล่านั้น ส่วนใหญ่เจ้าของบ้านจะเป็นชาวต่างชาติหรือคนกรุงเทพฯ แต่ปลูกบ้านไว้ที่นี่ มาพักเพียงครั้งคราว มีเพียงคนดูแลเท่านั่น และเมื่อเข้าไปสำรวจในชุมชนของคนในหมู่บ้านก็พบว่ายังมีการอาศัยกันแบบคนในชุมชน ก็คือ ภายในรั้วเดียวกัน จะมีบ้านอยู่ด้วยกันหลายหลัง และจะอยู่กันแบบเครือญาติ ซึ่งขณะสำรวจพบว่า ภายในละแวกบ้านเหล่านี้จะมีการเลี้ยงไก่ชนประมาณ 7-8 ตัว อยู่ในเล้า

จากบริเวณนี้ไปอีก 100 เมตร จะพบโรงแรมรวี วารี ลักซูรี่ เป็นโรงแรมขนาดปานกลาง สำหรับพักค้างคืน ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด ข้างหน้าโรงแรมยาวประมาณ 80 เมตร และถัดจากโรงแรมจะเป็นถนนสมโภช 700 ปี เป็นถนนใต้สะพานข้ามแม่น้ำปิง ยาวประมาณ 200 เมตร หลังจากขับผ่านใต้สะพานมาแล้ว ก็จะพบห้องเช่าเรียงแถวกัน ประมาณ 5-6 ห้อง ซึ่งจะเป็นร้านค้าต่าง ๆ ได้แก่ ร้านขายอาหารสัตว์ ร้านเสริมสวย ร้านขายเสื้อผ้า ร้านอาหารและร้านกาแฟ ทางด้านตรงกันข้ามจะเป็นบ้านหลังใหญ่ รั้วสีขาว มีอาณาเขตพื้นที่กว้าง มีคนพักอาศัยอยู่ สำรวจไปอีกประมาณ 80 เมตร จะพบว่ามีห้องแถวเช่า เรียงกันเป็นแนวยาว เข้าไปในซอย ยาวประมาณ 80 เมตร จะพบว่ามีสะพานเล็ก ๆ ข้ามไป เป็นหมู่บ้านลัดดารมย์ เป็นหมู่บ้านจัดสรร มีอาณาเขตกว้างประมาณ 4 ไร่ และมีบ้านจัดสรร จำนวน 132 หลัง 

เมื่อข้ามผ่านสะพานไป ก็จะมีถนนเล็ก ๆ ที่ทอดขนานกับถนนหลวงเส้นใหญ่ เมื่อเดินสำรวจเข้าไปอีกประมาณ 100 เมตร ก็จะพบกับที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 โดยละแวกนั้นจะมีบ้านพักอาศัยอยู่ด้วยกันจำนวนมาก ไม่มีขอบรั้วชัดเจน ลักษณะบ้านส่วนใหญ่จะเป็นบ้านปูนชั้นเดียว โดยจะเป็นเครือญาติเดียวกัน จากการสังเกต ช่วงตอนเย็นจะมีการจับกลุ่มนั่งพูดคุยบริเวณหน้าบ้าน ถัดจากที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 จะมีศาลาอเนกประสงค์และศาลพ่อบ้าน จากนั้นไปอีก 30 เมตรก็จะพบกับบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูน 2 ชั้นขนาดใหญ่ ซึ่งมีอาณาเขตภายในบ้านประมาณ 4 ไร่ จะทำธุรกิจเกี่ยวกับการปลูกสวนดอกไม้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นดอกหน้าวัวและดอกพุทธรักษา โดยจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อดอกไม้และการปลูกดอกไม้นี้จะมีการใช้ยาฆ่าแมลง แต่ก็มีการป้องกันตัวจากสารเคมีเป็นอย่างดี ไม่มีการส่งกลิ่นไปยังละแวกบ้านใกล้เคียงและทางด้านตรงกันข้ามบ้านหลังนี้ จะพบวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพหัตถกรรมบ้านท่าเดื่อ ซึ่งจะให้ชาวบ้านเป็นสมาชิก และมีการร่วมกันทำผลิตภัณฑ์กระดาษสาเป็นของที่ระลึก เช่น โมบาย ร่ม เป็นต้น โดยจะนำไปขายที่ถนนคนเดินท่าแพ วันอาทิตย์ รายได้ประมาณ เดือนละ 6,000-7,000 บาท และยังมีการทำโรงเพาะเห็ดร่วมด้วย จะมี 2-3 โรง มีทั้งเห็ดนางฟ้า เห็ดลมและเห็ดเป๋าฮื้อ ซึ่งจะมีรายได้ประมาณ 5,000 ปี

จากนั้น ถัดไปอีกประมาณ 30 เมตร ก็จะพบโรงเรียนชุมชนบ้านท่าเดื่อ เป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้านมีขนาดเล็ก มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ไปจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และห่างจากโรงเรียนบ้านท่าเดื่อไปทางทิศตะวันออก จะเป็นวัดท่าเดื่อ และจากบริเวณหน้าวัดท่าเดื่อ ไปจนถึงถนนเส้นหลักของหมู่บ้าน ประมาณ 150 เมตร ทางซ้ายมือจะพบบ้านไม้ 2 ชั้นหลังหนึ่ง เป็นบ้านไม้ที่มีสภาพทรุดโทรม มีน้ำขังมาก ขณะที่สำรวจเห็นว่ามีคนมาช่วยกันถางหญ้าและขุดดินเพื่อ ระบายน้ำที่ขังออก และถัดจากบ้านหลังนี้ก็เป็นอาคารพาณิชย์ที่กำลังก่อสร้าง จากการสอบถามชาวบ้านก็พบว่าเมื่อก่อนบริเวณที่สร้างนี้เป็นที่โล่ง แต่เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ก็มีนายทุนคนกรุงเทพมาซื้อและสร้างอาคารเหล่านี้ และทางด้านตรงข้ามของอาคารพาณิชย์ ก็จะพบบ้านจัดสรร ชื่อว่า บ้านพาโชค ซึ่งภายในจะมีบ้าน 6 หลัง กำลังก่อสร้างเช่นเดียวกัน จากนั้นก็เดินสำรวจต่อไปอีกประมาณ 500 เมตร โดยตลอดทางนี้ได้พบกับบ้านอยู่ติดกันมีขอบรั้วชัดเจน มีทั้งบ้านหลังใหญ่และหลังเล็กสลับกัน และบริเวณหน้าบ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้า ประชากรมักจะมีการเปิดร้านขายของชำเล็ก ๆ และขายอาหาร เช่น ร้านส้มตำ ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขายเสื้อผ้า ซึ่งเป็นธุรกิจเล็ก ๆ ของครอบครัว และภายหลังร้านค้าก็จะเป็นบ้าน และเมื่อสิ้นสุดก็จะพบตลาดบ้านท่าเดื่อ เป็นตลาดประจำชุมชน มีเฉพาะตอนเช้า มีการขายอาหารพื้นเมือง ขายผักและผลไม้ กับข้าวก็จะมีราคาไม่แพง โดยแม่ค้าและลูกค้าที่มาซื้อของที่ตลาดก็ล้วนเป็นคนในชุมชนหมู่ 6 ทั้งสิ้น ถัดจากตลาดบ้านท่าเดื่อ อีก 30 เมตรก็จะพบสามแยก ซึ่งเป็นทางแยกสะพานข้ามแม่น้ำปิง เป็นสะพานขนาดใหญ่ หากข้ามสะพานไป ประมาณ 100 เมตร จะพบตลาดบ้านท่อ และเมื่อสำรวจตรงไปอีก 150 เมตร ก็จะพบซอยท่าเดื่อ ซอย 11 มีร้านซัก อบ รีด ก็ถือว่าสิ้นสุดหมู่ 6 บ้านท่าเดื่อ

การจัดทำผังเครือญาติของบ้านท่าเดื่อ หมู่ 6 ในครั้งนี้ เราได้เลือกครอบครัวตระกูลศรีวิชัย เนื่องจากต้นตระกูลเป็นคนในพื้นที่และคนในครอบครัวส่วนมากยังอาศัยอยู่ในหมู่ 6 บ้านท่าเดื่อ ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนในชุมชน ผู้ให้ข้อมูลครั้งนี้ คือ ตาคำอ้าย ศรีวิชัย ตาคำอ้ายเป็นบุตรของ พ่อชื่อนายทา ศรีวิชัย แม่ชื่อนางซิว ศรีวิชัย ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วทั้งสองคน

จากการศึกษาผังเครือญาติของศรีวิชัย พบว่าคนในตระกูลส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้และเป็นจำนวนมากเกินกว่าครึ่ง ความสัมพันธ์เชิงเครือญาติมีความแน่นแฟ้นดี ลูก ๆหลาน ๆ ไปมาหาสู่กันตลอดเว้นแต่คนที่ไปทำงานต่างจังหวัดจะไม่ค่อยได้ติดต่อกัน ส่วนการช่วยเหลือซึ่งกันและกันมีมากทั้งในยามสุขสบายและยามเจ็บไข้ได้ป่วย และสมาชิกหลายคนมีความสัมพันธ์มีบทบาทหน้าที่สำคัญหลากหลายในชุมชนแตกต่างกัน

เป็นการรวมตัวขององค์กรที่ได้มาจากรัฐบาล โดยอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในชุมชนที่มีความสัมพันธ์กันมารวมกลุ่มกัน ทั้งนี้เพื่อพัฒนาชุมชนซึ่งบ้านท่าเดื่อ หมู่ 6 ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีองค์กรที่เป็นทางการทั้งหมด 10 กลุ่มดังนี้
  1. กลุ่มผู้นำชุมชน
  2. กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน
  3. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
  4. กลุ่มผู้สูงอายุ
  5. กลุ่มแม่บ้าน
  6. กลุ่มฌาปนกิจ
  7. กลุ่มกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
  8. กลุ่มกองทุนพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน (SML)
  9. กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน
  10. กลุ่มกองทุนสัจจะออมทรัพย์

กลุ่มผู้นำชุมชน

กลุ่มผู้นำชุมชนเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการจากกระทรวงมหาดไทย เป็นการเข้ามาปฏิบัติงานโดยผ่านการเลือกตั้งโดยคนในชุมชนเอง เป็นผู้รักษาหรือประสานให้สมาชิกของชุมชนอยู่ด้วยกัน จะต้องอยู่ใกล้ชิดกับชุมชนมีความสัมพันธ์คนในชุมชนและเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน ทำให้มีความสามัคคีกลมเกลียวกันในชุมชน

ภารกิจ/กิจกรรม

ด้านเศรษฐกิจ

  • ส่งเสริมอาชีพที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน

ด้านการบริหารจัดการ

  • ควบคุมดูแลสมาชิกในชุมชนให้มีความปลอดภัย
  • สร้างความสมานสามัคคีภายในหมู่บ้าน
  • จัดประชุมสมาชิกในชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจในงานราชการ กฎหมาย ระเบียบแบบแผนจากทางราชการ รวมถึงการมอบหมายหน้าที่ให้แก่คนในชุมชน
  • แก้ไขปัญหาหรือช่วยเหลือจากการร้องเรียนของสมาชิกในชุมชน โดยแจ้งต่อหน่วยงานราชการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง

ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน

  • บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน
  • สร้างเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ชุมชน

ด้านสาธารณสุข

  • จัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสุขภาพจากการมีส่วนร่วมของชุมชน
  • ส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนดูแลสุขภาพตนเอง

ด้านศาสนาวัฒนธรรมและประเพณี

  • ทำนุบำรุงศาสนาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน
  • อนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน

ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย

  • การรับแจ้งข่าวเกี่ยวกับสาธารณภัย อาชญากรรม
  • ควบคุมดูแลชาวบ้านให้ปฏิบัติหน้าที่กระทำตามกฎหมาย
  • ร่วมมือกับฝ่ายปกครองในตำบลช่วยเหลือในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับความมั่นคง และการรักษาความสงบเรียบร้อย

ด้านเศรษฐกิจ

การประกอบอาชีพของประชาชนบ้านท่าเดื่อส่วนใหญ่มีอาชีพหลักที่สำคัญ คือ อาชีพรับจ้าง เนื่องจากบ้านท่าเดื่อเป็นชุมชนกึ่งเมือง ชาวบ้านในพื้นที่จะเข้าไปทำงานในพื้นที่อื่นหรือรับจ้างในอำเภอเมืองเชียงใหม่เป็นส่วนใหญ่ มีการทำธุรกิจส่วนตัว ได้แก่ เปิดอู่ซ่อมรถ ร้านซักอบรีด และร้านขายของชำ เป็นต้นและค้าขาย ซึ่งชาวบ้านจะนำของไปขายที่ตลาดท่าเดื่อ มีบางส่วนรับราชการและทำงานรัฐวิสาหกิจ

ด้านวัฒนธรรม/สังคม

ประเพณี/วัฒนธรรมของบ้านท่าเดื่อ โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะคล้ายคลึงกับหมู่บ้านอื่น ๆ ซึ่งประเพณี/วัฒนธรรมที่สำคัญ เช่น งานขึ้นปีใหม่ ประเพณีวันมาฆบูชา วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา-ออกพรรษา ประเพณีลอยกระทง เป็นต้น เป็นประเพณีที่ประชาชนบ้านท่าเดื่อทำร่วมกัน โดยมีเทศบาลและวัดเป็นแกนนำหลัก สำหรับประเพณีอื่น ๆ เช่นประเพณีทำบุญข้าวใหม่(4 เป็ง) เนื่องจากชาวบ้านจะเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงเดือนมกราคม จึงได้ทำบุญข้าวใหม่เพื่อเป็นสิริมงคลแก่คนในครอบครัว ประเพณีสมโภชพระเจ้าแสนแซ่ (6 เป็ง) ชาวบ้านจะร่วมกันสงน้ำพระ พร้อมทั้งทำบุญสืบชะตา และวันปล่อยผี (12 เป็ง) ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าทั้ง 3 โลก คือ สวรรค์ มนุษย์ และนรกเชื่อมต่อกัน ทำให้คนที่เสียชีวิตไปนานแล้วกลับมาบ้าน ชาวบ้านก็จะทำบุญให้

ด้านสาธารณสุข

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครประจำหมู่บ้านท่าเดื่อ ได้มีการให้บริการเชิงรุกและเชิงรับแก่ประชาชนบ้านท่าเดื่อ ดังนี้

  1. รณรงค์ตรวจคัดกรอง มะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก ช่วงเดือนกุมภาพันธ์
  2. รณรงค์ป้องกันพิษสุนัขบ้า ช่วงเดือนมีนาคม
  3. รณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกช่วง เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนสิงหาคมหรือแล้วแต่ช่วงการระบาดมากน้อย โดยมีการแจกทรายอะเบทกำจัดลูกน้ำยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และพ่นหมอกควัน
  4. รณรงค์ป้องกันโรคเอดส์ ในเดือนมกราคม

นอกจากนี้ยังมีการประชุมกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข ทุก ๆ เดือน เพื่อร่วมกันวางแผนและแก้ไขปัญหาสุขภาพของคนในชุมชนและในตำบล รวมทั้งประเมินผลการปฏิบัติงาน

1. นายคำอ้าย ศรีวิชัย หรือ “พ่ออ้าย” ประธานอาสาสมัคร (อสม.) ของบ้านท่าเดื่อหมู่ที่ 6 ตำบลสันผีเสื้อ พ่ออ้ายเป็นคนเชียงใหม่แต่กำเนิด ชีวิตในวัยเด็กมีพี่น้องทั้งหมด 10 คน พ่ออ้ายเป็นคนที่ 3 บิดาของพ่ออ้ายมีภรรยา 2 คน ซึ่งภรรยาคนแรกที่เป็นแม่ของพ่ออ้าย ได้เสียชีวิตเมื่ออายุ 34 ปี โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่เชื่อว่าเป็นโรคลมผิดเดือน (เป็นโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารแสลง ทำให้ร่างกายอ่อนแอลงเรื่อย ๆ และมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ไม่สามารถรักษาให้หายได้) ซึ่งในขณะพ่ออ้ายอายุได้ประมาณ 10 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นบิดาของพ่ออ้ายจึงได้มีภรรยาใหม่อีกคน และมีลูกด้วยกันอีก 5 คน ซึ่งทุกคนก็อาศัยอยู่ด้วยกันและคอยดูแลกันตลอด ไม่มีปัญหาใด ๆ ในครอบครัว ปัจจุบันพ่ออ้ายอาศัยอยู่บ้านกับภรรยาสองคน และมีครอบครัวของลูกชายอาศัยอยู่บ้านข้าง ๆ

พ่ออ้ายเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนวัดท่าเดื่อจนกระทั่งจบชั้น ป.4 จากนั้นจึงไปศึกษาต้อที่วิทยาลัยเทคนิค จนกระทั่งถึงชั้น ม.2 แล้วจึงเลิกเรียน มาช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา และได้แต่งงานกับนางคำมูล ศรีวิชัย และมีบุตรชายด้วยกัน 1 คน ระหว่างนั้นช่วงปี 2519 พ่อคำอ้ายได้เปลี่ยนมาทำงานเป็นช่างซ่อมทั่วไปในโรงพยาบาลลานนาจนกระทั่งเกษียณ หลังจากนั้นพ่ออ้ายก็กลับมาอยู่ที่บ้านและทำอาหารพื้นเมืองขายที่ตลาดท่าเดื่อทุกเช้ากับภรรยา จนกระทั่งช่วงปี 2545 พ่อหลวงของหมู่บ้านได้มาชวนพ่ออ้ายให้เข้าร่วมเป็น อสม. พ่ออ้ายได้ตกลงและเมื่อเข้าร่วมก็ได้รับการแต่งตั้งประธาน อสม. ทันที

พ่ออ้ายเล่าว่างานของ อสม. ส่วนใหญ่ก็จะช่วยงานตามแผนงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) คอยดูแลชาวบ้านในโซนที่ได้รับมอบหมาย หากมีการเกิดโรคระบาดก็จะเข้าไปดูแลติดตาม เช่นช่วงนี้มีโรคไข้เลือดออกระบาด พ่ออ้ายก็จะมีหน้าที่คอยสำรวจลูกนำยุงลาย คอยเป็นแกนนำในการคว่ำภาชนะที่มีน้ำขังทุก 7 วัน ถ้าเป็นช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาดก็จะไปช่วยรณรงค์ให้ชาวบ้านรู้จักป้องกันตัวเองอีกทั้งยังต้องทำรายงานส่งทาง รพสต. อีกด้วย เมื่อถามพ่ออ้ายว่ารู้สึกยังไงที่ต้องทำงานนี้ พ่ออ้ายบอกว่า งานนี้ก็ถือว่าเป็นจิตอาสา เราเข้ามาทำก็ไม่ได้โดนบังคับ เข้ามาทำด้วยใจ ถือว่าได้ช่วยเหลือชาวบ้าน รู้สึกสบายใจ แต่ก็มีเหนื่อยบ้าง ช่วงที่มีงานเข้ามาติด ๆ กันมาก ๆ ทุกวันนี้ก็อยากจะลาออกแต่ทุกคนก็ขอให้อยู่ช่วยกันก่อน ก็ตั้งใจว่าจะทำงานไปเรื่อย ๆ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหว 

แพทย์พื้นบ้าน 

จากการสอบถามและสัมภาษณ์พบว่าในหมู่บ้านท่าเดื่อ มีหมอพื้นบ้านที่รักษาชาวบ้านทางด้านไสยศาสตร์ เป่ามนต์คาถา ซึ่งชาวบ้านที่เคยรักษา บอกเล่ากันว่า หมอพื้นบ้านคนนี้รักษาผู้ป่วยที่กระดูกหัก ข้อเท้าแพลงผื่นจากโรคงูสวัด ผื่นคันต่าง ๆ เป็นต้น หลังรักษาแล้วหายทุกรายจึงแนะนำบอกต่อ ๆ กันไปรักษากับหมอพื้นบ้านท่านนี้คือ นายมนูญ  คำมา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หมออ้ายเดิม

หมออ้ายเดิมเป็นคนตำบลเหมืองจี๋ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน จนปี พ.ศ. 2499 ย้ายมาสร้างครอบครัวที่จังหวัดเชียงใหม่ มีบุตรสาว 2 คน โดยหมออ้ายเริ่มมีความสนใจและเรียนรู้การรักษาแบบเป่ามนต์คาถา และการดามกระดูกจากอาจารย์ 2 ท่าน คือ ครูบาคำปันและตาแอ๊ดที่เป็นหมอเมืองเหมือนกันและศึกษาจากตำราภาษาบาลีของอาจารย์ ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว หมออ้ายเป็นหมอพื้นบ้านมาประมาณ 20 ปี (ปัจจุบันอายุ 76 ปี ) ชาวบ้านส่วนใหญ่จะรักษาเมื่อตนเองได้รับการเจ็บป่วยหรือเมื่อหลังรักษาจากโรงพยาบาลแล้วไม่หาย เช่น กระดูกหัก ข้อเท้าแพลงผื่นจากโรคงูสวัด ผื่นคันต่าง ๆ เป็นต้น

จากสอบถามพบว่ามีวิธีการรักษาผู้ป่วย คือ อันดับแรก ผู้ป่วยจะต้องทำการขึ้นขันครู โดยในขันครูจะประกอบด้วย ดอกไม้สีขาว เหล้า 2 ขวด กรวยดอกไม้ กรวยเทียนอย่างละ 4 กรวย และเงินที่ใส่ตามความต้องการของผู้ป่วยแต่ละราย จากนั้นหมออ้ายจะกล่าวคำบูชาอาจารย์และกล่าวขอให้ปกปักษ์รักษาผู้ป่วย จากนั้นสอบถามผู้ป่วยตามอาการและอาการแสดงนั้น ๆ เพื่อนำมาสู่การรักษาแต่ละวิธี เช่น หากผู้ป่วยมีกระดูกหักและดามกระดูกจากโรงพยาบาลมา หมออ้ายจะสอบถามความต้องการที่จะรักษาแบบวิธีหมอพื้นบ้าน หากผู้ป่วยยอมรับจะทำการถอดเฝือกที่ดามกระดูกของโรงพยาบาลออก แล้วรักษาโดยเป่าคาถาใส่ในเหล้า จากนั้นนำมาทาบริเวณที่กระดูกหักแล้วใช้มือนวดคลึงพร้อมกับเป่าคาถาไปด้วย จากนั้นใช้น้ำมันงาทำเหมือนวิธีข้างต้น ต่อมาจะใช้การประคบด้วยสมุนไพรที่มีส่วนผสมของกานพลูตามด้วยการพันผ้าพันแผล (Elastic bandage) ทำวันเว้นวันหรือแล้วแต่กรณี หมออ้ายบอกว่าจะแนะนำให้ผู้ป่วยลองหัดเดินหรือขยับบริเวณที่หักบ่อย ๆ จะทำให้เอ็นหรือกระดูกได้มีการเคลื่อนไหวและยืดขยายซึ่งวิธีนี้จะแตกต่างจากหมอในโรงพยาบาลที่แนะนำให้ผู้ป่วยลดการเคลื่อนไหวบริเวณอวัยวะที่หักไว้ หมออ้ายคิดว่า จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยหายกลับมาเคลื่อนไหวได้ช้ากว่าเดิม หากไม่มีการเคลื่อนไหวบริเวณที่หัก สำหรับผู้ป่วยที่มารักษาแล้วหายเป็นปกติซึ่งอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเดือน เมื่อผู้ป่วยหายแล้วจะรดน้ำดำหัวและหมออ้ายจะทำการปลดขัน

ส่วนผู้ป่วยที่มาด้วยอาการผื่นจากโรคงูสวัดหรือผื่นต่าง ๆ จะใช้วิธีการรักษาโดยการใช้แป้งข้าวจ้าวผสมน้ำมนต์นวดเป็นก้อนกลมแล้วคลึงบริเวณที่มีผื่น พร้อมกับเป่าคาถา หมออ้ายบอกว่าส่วนมากผู้ป่วยจะหายภายใน 2-3 วัน หากเป็นตุ่มหนองจะใช้วิธีข้างต้นแต่จะมีการเพิ่มใช้หนามที่มาจากต้นไม้จิ้มลงบนตุ่มเพื่อให้หนองไหลออกมา จากนั้นผื่นจะแห้งเอง ไม่ใช้ยาแต่จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารพวก ไข่ ไก่ อาหารทะเล ของหมักดอง เป็นต้น หมออ้ายบอกว่าผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่ตนเองหายทุกราย จึงมักจะต้องเดินทางไปรักษาผู้ป่วยในหมู่บ้านต่าง ๆ ทั้งในและต่างจังหวัด

คำเมือง สำเนียงล้านนาตะวันตก ราชการไทยเรียก ภาษาถิ่นภาคพายัพ เป็นภาษาถิ่นของชาวไทยวนทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ซึ่งเป็นอาณาจักรล้านนาเดิม ได้แก่ เชียงใหม่ เป็นต้น คำเมืองมีไวยากรณ์คล้ายกับภาษาไทยกลางแต่ใช้คำศัพท์ไม่เหมือนกันและไวยากรณ์ที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่เดิมใช้คู่กับอักษรธรรมล้านนาซึ่งเป็นตัวอักษรของอาณาจักรล้านนาที่ใช้อักษรมอญเป็นต้นแบบ รัฐไทยในช่วงรัชกาลที่ 7-9 ได้สั่งห้ามใช้อักษรธรรมล้านนาและคำเมืองในที่สาธารณะ และให้เผาตำราเรียนในภาษาล้านนา เพื่อทำลายรากเหง้าท้องถิ่นหลังผนวกล้านนาเข้ากับตน แต่คำเมืองยังคงได้ใช้งานในชีวิตประจำวันสืบ ๆ มา


การทำมาหากิน อาชีพแต่ก่อน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ในช่วงปี พ.ศ. 2520 ชาวบ้านเลิกจากการทำนา มาเป็นการปลูกดอกแอดเตอร์ ซึ่งมีราคาดี กิโลละ 50 บาท ชาวบ้านจึงนิยมปลูกมาเรื่อย ๆ ถึง พ.ศ. 2527 และได้เปลี่ยนจากการปลูกดอกแอสเตอร์มาปลูกดอกบัวสวรรค์แทน ในปี พ.ศ. 2530 ได้มีการเข้ามาของนายทุน การสร้างบ้านจัดสรร ไม่มีที่ดินในการเพาะปลูก ปัจจุบันมีการเจริญมากขึ้นชาวบ้านมีการประกอบ รับจ้าง ค้าขาย พนักงานบริษัท เป็นส่วนใหญ่


ในเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บนั้น ถือว่าเป็นปัญหาสุขภาพของคนในหมู่บ้าน ซึ่งจากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ภายในหมู่บ้านพบว่า ในสมัยก่อนนั้นไม่เคยมีโรคระบาด ส่วนใหญ่ก็จะเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อยๆ โดยจะไปรักษาที่หมอพื้นบ้านประจำหมู่บ้าน และในปัจจุบันการรักษาโรคของคนในชุมชนอาศัยการแพทย์สมัยใหม่ โดยจะไปใช้บริการรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือคลินิก

ด้านวัฒนธรรมประเพณี ชาวบ้านศรัทธาและเข้าร่วมทำกิจกรรม พิธีกรรมทางพุทธศาสนาร่วมกันกับวัดบ้านท่าเดื่อมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ประเพณีในหมู่บ้านในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีพิธี 6 เป็ง คือการสมโภชพระเจ้าแสนแซ่ พิธี 4 เป็ง คือทำบุญข้าวใหม่ เข้าพรรษา ฟังเทศน์ ออกพรรษา ลอยกระทง เป็นต้น

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. (2554). วิถีชุมชน: เครื่องมือ 7 ชิ้น ที่ทำให้งานชุมชนง่าย ได้ผล และสนุก. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุขศาลา

เทศบาลตำบลสันผีเสื้อ. (2566). ข้อมูลทั่วไป. ค้นหาจาก : https://sanphisua.go.th/