Advance search

บ้านขุนสถาน

นาน้อยมะขามหวาน ขุนสถานกะหล่ำปลี อากาศดีที่ดอยจอก ชมดอกชมพูภูคาที่ศูนย์วิจัย
หมู่ที่ 3
บ้านขุนสถาน
สันทะ
นาน้อย
น่าน
หทัยชนก จอมดิษ
2 ธ.ค. 2022
หทัยชนก จอมดิษ
7 มี.ค. 2023
บ้านขุนสถาน

ชื่อหมู่บ้านเป็นชื่อที่เรียกตามล้าห้วยขุนสถาน ซึ่งเป็นขุนน้้า หรือต้นน้ำขุนสถาน คำว่า “สถาน” มาจากค้าเดิมว่า “สระถ่าน” มีตำนานเล่าว่าสมัยก่อนคนนิยมเผาถ่านในหลุมดิน โดยขุดดินเป็นหลุมกว้างยาวและลึก ประมาณ 1-2 ลูกบาศก์เมตร เมื่อเอาถ่านออกไปใช้ไม่ได้ฝังกลบหลุม ท้าให้เวลาฝนตกมีน้ำขังเต็มหลุม เมื่อทัพม่าน(พม่า) ยักทัพมาพักที่บ้านทัพม่าน พวกคนไทยก็หลบไปตีมีด ดาบ เพื่อมารบกันกับทหารพม่า โดยไปชุบคมมีดที่สระถ่านที่มีน้ำขังไว้ มีคนถามว่าไปตีมีด ดาบที่ไหน ก็บอกว่าไปตีมีดดาบที่ห้วยสระถ่าน ต่อมาจึงเรียกว่า ห้วยสระถ่าน หรือห้วยถ่าน หรือห้วยสถาน ชาวบ้านมาอาศัยอยู่จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านขุนสถาน” จนถึงทุกวันนี้


นาน้อยมะขามหวาน ขุนสถานกะหล่ำปลี อากาศดีที่ดอยจอก ชมดอกชมพูภูคาที่ศูนย์วิจัย
บ้านขุนสถาน
หมู่ที่ 3
สันทะ
นาน้อย
น่าน
55150
อบต.สันทะ โทร. 0-81950-4280
18.28467770783994
100.48966561219268
องค์การบริหารส่วนตำบลสันทะ

หมู่บ้านขุนสถาน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ หมู่ที่ 3 ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน เป็นหมู่บ้านเก่าแก่มีอายุมากกว่า 200 กว่าปี เป็นชาวเขาเผ่าม้งเข้ามาอาศัยทำมาหากิน บริเวณต้นน้ำลำห้วยขุนสถาน ประมาณราว พ.ศ. 2335 ได้มีบุคคลแรกที่เข้ามาอยู่ คือ นายหนู่เปา แสนย่าง ต่อมามีนายเปา แสนโซ้ง และนายตงกูล แซ่ม้า และชาวบ้านประมาณ 200 ครัวเรือน มาอาศัยอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2445 ในปี พ.ศ. 2547 ทางราชการได้แยกออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือบ้านขุนสถานเดิมและบ้านแสนสุขที่แยกออกใหม่ มีผู้ใหญ่บ้านทั้งหมด 8 คน ได้แก่

  1. นายตู้ แสนโซ้ง
  2. นายหนู่เปา แสนโซ้ง
  3. นายวัง แสนโซ้ง
  4. นายวิชัย แสนโซ้ง
  5. นายซิวเปา แสนย่าง
  6. นายประกอบ เพชรวัชรนันท์
  7. นายธวัชร แสนโซ้ง (ปัจจุบัน)

บ้านขุนสถาน หมู่ที่ 3 ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน เป็นที่สูงล้อมรอบด้วยป่า และอยู๋ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนสถาน มีพื้นที่หมู่บ้าน 5,300 ไร่

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแสนสุข หมู่ที่ 9 ตำบลสันทะ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอนาหมื่น
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ป่าไม้อุทยานแห่งชาติบ้านส้าน หมู่ที่ 8 ตำบลสันทะ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านห้วยเอียด อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่

ที่ตั้งของหมู่บ้านขุนสถานนี้ ลักษณะการตั้งบ้านเรือนจะตั้งลดหลั่นกันลงมาตามทางลาดจากสันเขาที่แบ่งเขตจังหวัดแพร่ น่าน และเรียงรายกันอยู่ในหุบเขาที่มีลักษณะเป็นก้นกระทะ ทางทิศใต้ของหมู่บ้านเป็นทางลาดขึ้นเขา การตั้งหมู่บ้านอยู่ในหุบเขานั้นทำให้ไม่ต้องถูกลมหนาวพัดอย่างรุนแรง และสะดวกต่อการตักน้ำ สำหรับการใช้ในการบริโภคและอุปโภค ใกล้ ๆ หมู่บ้านมีโรงเรียน จัดขึ้นโดยตำรวจภูธรชายแดนได้เลือกเป็นที่ตั้งโรงเรียนเพื่อใช้สอนภาษาไทยให้แก่เด็ก ๆ ที่อยู่ในบริเวณบ้านขุนสถาน

อากาศที่หมู่บ้านนี้อยู่ในเกณฑ์อบอุ่นตลอดปี จะไม่ร้อนจนเกินไป แบ่งได้ 2 ฤดู คือ ฤดูฝน กับฤดูหนาว ฤดูฝนจะมีประมาณ 8 เดือน เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงตุลาคม ต่อจากนั้นก็จะเริ่มเข้าฤดูหนาวและจะหนาวจัดในระหว่างเดือนธันวาคม - มกราคม ต่อจากนั้นอากาศจะค่อยอบอุ่นขึ้นจนกระทั่งเดือนมีนาคม - เมษายน อากาศจะเย็นสบายไม่ร้อนจัดเหมือนอุณหภูมิในพื้นที่ราบ

บ้านขุนสถานมีประชากรทั้งสิ้น จำนวน 625 คน แบ่งเป็นชาย 312 คน หญิง 313 คน และมีจำนวนครัวเรือน 260 ครัวเรือน ประชากรที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านขุนสถาน อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีการนับถือชายเป็นใหญ่ ชายผู้มีอาวุโสสูงสุดเป็นหัวหน้าครอบครัว สมาชิกในครอบครัวต้องเชื่อฟัง ลูกชายต้องอยู่กับพ่อแม่ ถ้ามีภรรยาต้องนำมาอยู่ด้วย ส่วนลูกสาวหากแต่งงานออกไปจะต้องไปอยู่กับฝั่งครอบครัวของสามีถือว่าเป็นคนนอกตระกูล

ม้ง

ลักษณะการปกครอง หมู่บ้านขุนสถานมีการนับถือผู้อาวุโสในหมู่บ้าน การปกครองในหมู่บ้านปกครองกันเองในชนเผ่าโดยมีลักษณะการปกครองคล้ายประชาธิปไตยมีการเลือกตั้งโดยเสรีแต่ต้องเป็นไปตามความคิดเห็นของผู้อาวุโส (น่าจือเหว่าอูเจ) ในการเลือกผู้นำหมู่บ้านส่วนใหญ่ ผู้ที่ลงสมัครจะมาจากสกุลที่มีจำนวนสมาชิกในครอบครัวมากที่สุดในหมู่บ้านซึ่งการเลือกหัวหน้าหมู่บ้านมาจากสมาชิกในหมู่บ้าน และถ้าหัวหน้าหมู่บ้านมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็นผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายการปกครองได้ทางราชการจะไม่มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาซ้อนกับหัวหน้าหมู่บ้านที่ชาวบ้านได้เลือกตั้งไว้ คงให้หัวหน้าหมู่บ้านเป็นผู้ปกครองหมู่บ้านเพียงผู้เดียว และในหมู่บ้านจะมีการประชุมของหมู่บ้าน โดยสมาชิกในหมู่บ้านจะมีหน้าที่กำหนดนโยบายหรือกิจกรรมให้หัวหน้าหมู่บ้านปฏิบัติ จะต้องเป็นไปตามจารีตประเพณีและมิติของที่ประชุมและความคิดเห็นจากผู้อาวุโส

ลักษณะทางสังคม ในหมู่บ้านขุนสถาน สังคมแม้วเป็นสังคมแบบปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่ ฐานะของผู้หญิงถือว่าด้อยกว่าผู้ชายจะต้องเป็นคนรับใช้ผู้ชายตลอดเวลา มีการตีราคาผู้หญิงและสามารถซื้อขายเป็นภรรยาได้ ในหมู่บ้านหากมีการประชุมหมู่บ้านสตรีจะไม่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุม ลักษณะของการปกครองตัวเอง ในระดับท้องถิ่นของชุมชนแม้วนั้น ปกครองกันโดยชาวแม้ว โดยจะมีการประชุมร่วมกัน ที่เรียกว่า “จือเป้เส่งชั่วเต่อ” คือการประชุมหมู่บ้านเพื่อลงคะแนนเลือกตั้งผู้ที่เหมาะสมดำรงตำแหน่ง หัวหน้าหมู่บ้าน หรือ“โหล่วย่าว” ให้ทำหน้าที่ปกครองของบ้านขุนสถาน ถ้าผู้นำการปกครองหมู่บ้านที่มีลักษณะการปฎิบัติดีทางราชการพิจารณา เพื่อแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านตามกฏหมายได้ หรือ “คุ๊เฮ่าเหย่า” ตามกฎหมายลักษณะปกตรองท้องที่ พ.ศ.2457 แต่ในทางปฏิบัติทางราชการจะไม่แต่งตั้ง “ตุ๊เฮ่าเหย่า” ขึ้นมาซ้อนกับ “โหล่วย่าว” ซึ่งถ้ามีการแต่งตั้งซ้อนกันซึ่งหากจะเกิดปัญหาในทางบริหาร การปกครองของ “โหล่วย่าว” ต้องเป็นไปตามเสียงข้างมากของที่ประชุม การประชุมหมู่บ้านจะมีเฉพาะประชากรชาวแม้วผู้ชายที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเท่านั้น ซึ่งในสังคมแม้วสำหรับสตรีทุกคนไม่มีสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุม แต่ยังมาร่วมประชุมเพื่อรับฟังข่าวสารและข้อกำหนดต่าง ๆ แต่ตามปกติจะไม่ค่อยปรากฎว่ามีสตรีเข้าร่วมประชุมไม่มีสิทธิ์ออกเสียง และในอำนาจในการปกครองส่วนใหญ่จะมาจากจารีตประเพณี ชาวบ้านถือว่าจารีตประเพณีนั้น “ตรั้งคู้” หรือผีฟ้า เป็นผู้บัญญัติขึ้น จารีตประเพณีของแม้วนี้ เป็นกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติของชาวแม้วให้อยู่ด้วยกันด้วยความสงบสุข

การประกอบอาชีพ ชาวบ้านขุนสถานเป็นชุมชนชาติพันธุ์ม้ง อากาศเย็นสบายทั้งปีมีการประกอบอาชีพตามฤดูกาล เช่น การทำไร่ข้าวโพด ปลูกผลไม้เมืองหนาว เช่น สตรอเบอรี่ เครฟฟรุตเบอรี่ ลิ้นจี่ องุ่น ขิง พืชสวน เช่น กะหล่ำปลี ผัดกาดดอย (ผักกาดจอ) ต้นหอม พริกหวานหลายสี มะเขือเทศหลายพันธุ์ ผู้หญิงมักปักผ้าและทำชุด นอกจากนี้มีเครื่องจักสานจากไม้ไผ่ และยาสมุนไพร ใช้ประโยชน์จากพื้นที่โดยเฉพาะที่ลาดไหล่เขา จะปลูกพืชทุกชนิด เมื่อออกผลจะเป็นพื้นที่ชมวิวและถ่ายภาพของนักท่องเที่ยว

ชุมชนบ้านขุนสถานส่วนใหญ่ในหมู่บ้านจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ชีวิตประจำวันของชาวบ้าน คือการออกไปทำการเกษตรด้วยการทำไร่ หากมีการประชุมที่หมู่บ้าน ชาวบ้านทุกคนก็จะไปรวมตัวกันที่ศาลากลางของหมู่บ้านเพื่อฟังเกี่ยวกับการดำเนินงานและกิจกรรมของหมู่บ้าน

สังคมมีความเชื่อและนับถือผี ตามความเชื่อของม้งมีผีอยู่หลายระดับ ระดับสูงสุดได้แก่ ผีฟ้า ผีฟ้ามีฐานะสูงสุดในบรรดาผีทั้งหลายที่นับถือ เชื่อว่าผีฟ้าเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งหลาย มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ ระดับรองลงมาจากผีฟ้าได้แก่ ผีหมู่บ้าน ในหมู่บ้านหนึ่งจะมีผีหมู่บ้านเป็นผู้คุ้มครองให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ผีระดับต่ำที่สุด คือ ผีบรรพชนหรือผีเรีอน ซึ่งเป็นผีของคนครอบครัวหนึ่ง ๆ ที่ล่วงลับไปแล้ว เชื่อว่าผีนี้จะคอยปกปักรักษาให้คนในครอบครัวมีความสุขจะมีการบวงสรวงประจำทุกปี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัฒนธรรม ผ้าทอกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง  เครื่องจักสานจากไม้ไผ่ และยาสมุนไพร นอกจากนี้ยังมีลานกว้าง ลานวัฒนธรรมวิถีชาติพันธุ์ม้งขุนสถาน สำหรับจัดกิจกรรมในชุมชน

อากาศและภูมิประเทศ ชาวบ้านขุนสถาน มีอากาศเย็นสบายทั้งปี พืชที่สามารถปลูกได้จึงเป็นพืชเมืองหนาว และเป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น สตรอเบอรี่ เครฟฟรุตเบอรี่ ลิ้นจี่ องุ่น

สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติขุนสถาน ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ระหว่างทางมีวิวทิวทัศน์ที่สะดุดตากับ “ซากุระเมืองไทย” หรือ “ดอกพญาเสือโคร่ง”  ซึ่งจะออกดอกบานสะพรั่งเป็นสีชมพูเต็มไปทั่วทั้งบริเวณในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี นอกจากมีดอกพญาเสือโคร่งให้ชมแล้วยังมีดงต้นสน 3 ใบ อายุเกือบ 100 ปี สวนกาแฟอราบิก้า พร้อมกาแฟสด รสหอม  มีฝูงกวางให้ชมตอนกลางคืนในช่วงเดือนมีนาคม- เมษายน ฝูงกวางจะมากินผลบ๊วย นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวได้ทั้งปี

ภาษาที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ในการสื่อสารกันจะเป็นภาษาของม้ง แต่ถ้าหากติดต่อกับคนต่างพื้นที่จะใช้ภาษาไทยไว้ใช้ในการสื่อสาร       

ภาษาที่ใช้พูด : ภาษาม้ง

ภาษาที่ใช้เขียน : มีลักษณะผสมระหว่างอักษรไทยกับอักษรจีน และอักษรไอโอโล ปัจจุบันชาวม้ง ส่วนใหญ่เขียนภาษาด้วยอักษรละติน ดัดแปลงที่ประดิษฐ์โดย มิชชันนารี วิลเลียม สมอลเลย์ เมื่อ พ.ศ. 2493 ซึ่งการเขียนแบบนี้กำหนดเสียงวรรณยุกต์ด้วยพยัญชนะท้าย


ขุนสถาน
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภักดี ชมภูมิ่ง. (2510). สถาบันผู้นำและการปกครองตัวเองของชนเผ่าแม้ว:บทศึกษาเฉพาะแม้วที่บ้านขุนสถาน อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน.วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

ศศช.บ้านขุนสถาน. (2562). ประวัติหมู่บ้านขุนสถาน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2567 จาก https://kunsatannfe.blogspot.com/

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน. (2562). หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านขุนสถาน หมู่ที่ 3 ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2567 จาก https://district.cdd.go.th/nanoi/

Nation Story. (2564, 3 มกราคม). พญาเสือโคร่งบานสะพรั่งทั่วสถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. เนชั่น. ค้นจาก https://www.nationtv.tv/