วัดปิยาราม สร้างโดยเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นเพื่ออุทิศให้โอรส มีพระพุทธรูปในโพรงของต้นไม้ใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่า วัดพระเจ้านั่งโกร๋น (นั่งโพรงไม้) ต่อมาทางราชการเวนคืนที่ชาวบ้าน ย้ายชาวบ้านมาอยู่ทางหน้าวัดและเรียกวัดใหม่ว่า วัดป่าแงะ
จากเรื่องเล่าที่เล่าต่อกันมา เมื่อราวก่อนปี พ.ศ. 2410 ขณะนั้นพระมหากษัตริย์ที่ปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ได้เดินทางผูกสัมพันธ์ไมตรีหรือยกทัพไปตีหัวเมืองต่าง ๆ ก็จะใช้วิธีการเดินทางด้วยเท้า พอพักแรมก็จะทำเครื่องหมายไว้เช่นกัน และในการเดินทางจะต้องมีพระพุทธรูปติดตัวไป พระเจ้านั่งโก๋น เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ พระมหากษัตริย์ในขณะนั้นเป็นผู้สร้างโดยเจาะต้นไม้ใหญ่ชื่อต้นกระบกภาษาเหนือมีชื่อว่าต้นบะมื้น ให้เป็นโพรงจนถึงตรงกลางต้นไม้ สูงขึ้นไปประมาณ 2 เมตร หรือเท่าหลังช้างและได้นำพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ข้างใน เพื่อให้ผู้เดินทางผ่านไปมาได้เคารพกราบไหว้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ (ปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งโรงพยาบาลนครพิงค์) ขณะนั้นได้ไปพบและเล่าต่อกันมาว่ามีพระพุทธรูปอยู่ในโพรงไม้มื้น ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นที่ทำนาและทำสวนไม่มีผู้คนอยู่อาศัย และเต็มไปด้วยป่าต้นไม้ชื่อไม้แงะ จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน
วัดปิยาราม สร้างโดยเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นเพื่ออุทิศให้โอรส มีพระพุทธรูปในโพรงของต้นไม้ใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่า วัดพระเจ้านั่งโกร๋น (นั่งโพรงไม้) ต่อมาทางราชการเวนคืนที่ชาวบ้าน ย้ายชาวบ้านมาอยู่ทางหน้าวัดและเรียกวัดใหม่ว่า วัดป่าแงะ
ประวัติบ้านป่าแงะ จากคำบอกเล่าและสันนิษฐาน บ้านป่าแงะ เป็นหมู่บ้านดั้งเดิมของตำบลดอนแก้ว เมื่อราวก่อนปีพุทธศักราช 2410 การเดินด้วยเท้าและมีช้าง ม้า วัว ควาย เป็นสิ่งสำคัญมาก และทางเดินเท้าในขณะนั้นได้แก่เส้นทางจาก นครเชียงใหม่ ไปเมืองไชยปราการ จะผ่านหมู่ต่าง ๆ คือ บ้านป่าตัน บ้านเมืองลัง บ้านท่อ บ้านแม่หยวก บ้านพระนอน บ้านศาลา บ้านดอนแก้ว บ้านแม่สา บ้านท่าวัง บ้านขอนตาล บ้านสบริม และขณะเดินทางตลอดสายจะมีพักแรม ซึ่งการพักแต่ละจุดนั้นจะทำเครื่องหมายไว้ ขณะนั้นพระมหากษัตริย์ที่ปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ได้เดินทางผูกสัมพันธ์ไมตรีหรือยกทัพไปตีหัวเมืองต่าง ๆ ก็จะใช้วิธีการเดินทางเช่นนี้เหมือนกัน พอพักแรมก็จะทำเครื่องหมายไว้เช่นกัน และในการเดินทางจะต้องมีพระพุทธรูปติดตัวไป จากประวัติศาสตร์นำมาอ้างอิง และจากคำบอกเล่าสืบต่อกันมานั้นพระเจ้านั่งโก๋น เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ พระมหากษัตริย์ในขณะนั้นเป็นผู้สร้างโดยเจาะต้นไม้ใหญ่ชื่อต้นกระบกภาษาเหนือมีชื่อว่าต้นบะมื้น ให้เป็นโพรงจนถึงตรงกลางต้นไม้ สูงขึ้นไปประมาณ 2 เมตร หรือเท่าหลังช้างและได้นำพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ข้างใน เพื่อให้ผู้เดินทางผ่านไปมาได้เคารพกราบไหว้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ (ปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งโรงพยาบาลนครพิงค์) ขณะนั้นได้ไปพบและเล่าต่อกันมาว่ามีพระพุทธรูปอยู่ในโพรงไม้มื้น ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นที่ทำนาและทำสวนไม่มีผู้คนอยู่อาศัย
พ.ศ. 2410 ก่อตั้งวัดสะหลีดอนชัย (ศรีดอนชัย) หรือวัดป่าแงะ (ปัจจุบันคือวัดปิยาราม) โดยมีเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นผู้ริเริ่มสร้างอุทิศให้โอรส ขณะนั้นมีพระพุทธรูปในโพรงของต้นไม้ใหญ่ ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดพระเจ้านั่งโก๋น (นั่งโพรงต้นไม้) ตั้งอยู่เลขที่ 104 บ้านป่าแงะ ถนนโซตนา หมู่ที่ 4 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา ต่อมาทางราชการเวนคืนที่ชาวบ้าน ย้ายชาวบ้านมาอยู่ทางหน้าวัดและเรียกวัดใหม่ว่า วัดป่าแงะ มีการสร้างฌาปนสถานป่าแงะ เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมณาปนกิจศพทางศาสนาพุทธ ปัจจุบันมีเมรุจำนวน 2 หลัง
พ.ศ. 2474 ยกฐานะหมู่บ้านดอนแก้ว (บ้านป่าแงะเป็นชุมชนในบ้านดอนแก้ว) ตำบลแม่สา เป็นตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และยกฐานะชุมชนป่าแงะเป็นหมู่บ้านลำดับที่ 4 ในตำบลดอนแก้ว คือ หมู่ที่ 4 บ้านป่าแงะ โดยมีพ่อหลวงแก้ว ริมไทร ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 เป็นคนแรก
พ.ศ. 2482 ในสมัยพ่อหลวงแก้ว ริมไทร ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ทางราชการขอเวนคืนที่ดินบริเวณป่าแงะ ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ในราคาไร่ละ 250 บาท เพื่อใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ก่อตั้งของหน่วยงานราชการจึงทำให้ชาวบ้าน อพยพถิ่นฐานมาตั้งที่อยู่อาศัยใหม่ ณ บริเวณใกล้กับณาปนสถานป่าแงะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทางราชการจัดสรรที่ดินให้หลังคาเรือนละ 1 ไร่ ชุมชนป่าแงะได้อยู่อาศัยร่วมกันในพื้นที่ใหม่มาเป็นระยะเวลา 65 ปี
พ.ศ. 2482 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กำหนดให้เปลี่ยนชื่อวัดป่าแงะเป็นวัดปิยาราม แปลว่า อารามอันเป็นที่รัก เพื่อระลึกถึงความรักที่เจ้าเมืองเชียงใหม่ มีต่อโอรสที่ถึงแก่พิราลัยโดยสร้างวัดแห่งนี้เป็นอนุสรณ์
พ.ศ. 2502 กรมทางหลวงเริ่มโครงการตัดถนนสายโชตนา (107 เชียงใหม่ฝาง) และก่อตั้งส่วนราชการต่าง ๆ เช่น ศูนย์ราชการ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 7 กองพันทหารพัฒนาที่ 3 กองพันสัตว์ต่างและโรงพยาบาลนครพิงค์ เป็นต้น
พ.ศ. 2513 ก่อตั้งตลาดสดป่าแงะโดยการนำของพ่อกำนันมูล ปัญญานาม ผู้ใหญ่บ้านป่าแงะหมู่ที่ 4 และกำนันตำบลดอนแก้ว
พ.ศ. 2520 เริ่มมีไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้าน ในระยะแรกมีเพียงไม่กี่หลังคาเรือนที่มีไฟฟ้าใช้ เพราะว่าในการติดตั้งไฟฟ้านั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินสายไฟและจ้างเจ้าหน้าที่ในการติดตั้งไฟฟ้า แต่เมื่อชาวบ้านเห็นว่ามีไฟฟ้าแล้วทำให้สะดวกสบายให้แสงสว่างมากกว่าตะเกียงหรือเทียน ชาวบ้านจึงเริ่มมีการใช้ไฟฟ้ากันเพิ่มมากขึ้น จนถึงปัจจุบันชาวบ้านในหมู่บ้านป่าแงะมีไฟฟ้าใช้ทุกหลังคาเรือน
พ.ศ. 2523 วัดปิยารามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร 8 เมตร
พ.ศ. 2536 สมัยที่พ่อหลวงใส บัวสุข ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ชุมชนเริ่มมีการขยายตัวและมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มมีกลุ่มข้าราชการเข้ามาตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ ซื้อที่ดินปลูกสร้างที่อยู่อาศัยมากขึ้น ทำให้การปกครองดูแลไม่ทั่วถึง จึงได้มีกลุ่มแกนนำในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสมาชิกดั้งเดิมของหมู่บ้านราว 35 ท่านร่วมกันดำเนินการขอแยกตัวหมู่บ้านออกจากบ้านป่าแงะ หมู่ที่ 4 เพื่อเป็นการแบ่งแยกอำนาจและง่ายต่อการพัฒนาตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ โดยได้ทำการดำเนินแยกหมู่บ้านที่อำเภอแม่ริม
พ.ศ. 2547 ได้รับให้ทำการอนุมัติให้ทำการแบ่งแยกหมู่บ้านออกจากบ้านป่าแงะ หมู่ที่ 4 สมัยที่พ่อหลวงสุทัศน์ บุญสูง ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านโดยตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ คือหมู่ที่ 10 บ้านพระเจ้านั่งโก๋น ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม เชียงใหม่
พ.ศ. 2554 พ่อหลวงสุทัศน์ บุญสูง ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านได้หมดวาระลงและ ได้จัดการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านท่านใหม่ ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง คือ ร้อยตรีพงษ์ศักดิ์ เงินปิง ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และได้รับคัดเลือกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านในตำบลดอนแก้วให้ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลดอนแก้ว
พ.ศ. 2562 พ่อหลวงพรพรต จะตุเทน ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน
บ้านป่าแงะ หมู่ที่ 4 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีเส้นทางการคมนาคมที่สะดวก โดยมีพื้นที่อาณาเขตที่กว้างขวาง แบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ บริเวณทางด้านทิศตะวันตกของบ้านป่าแงะส่วนมากจะเป็นสถานที่ราชการ ได้แก่ ศูนย์วิศวกรรมการแพทย์ที่ 6 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพักศาล บ้านพักสวัสดิการทหารบก หน่วยซ่อมบำรุงส่วนหน้าที่ 1 กองสรรพาวุธเบากองพลทหารราบที่ 4 อุทยานดาราศาสตร์ มูลนิธิขาเทียม วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่ สถานีวิทยุโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5 เชียงใหม่ และแขวงการทางหลวง เชียงใหม่
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดกับสำนักงานปราบปรามและป้องกันการทุจริตในภาครัฐ เขต 5
ทิศใต้ ติดกับโรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ
ทิศตะวันออก ติดกับเส้นทางหลวงหมายเลข 121 ถนนรอบเมืองเชียงใหม่ และมีลำน้ำคลองชลประทานขนานกับเส้น ทางหลวงตลอดสาย
ทิศตะวันตก ติดกับแนวเขาของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย
บริเวณพื้นที่ ตรงกลางที่อยู่ระหว่างเส้นทางหลวงหมายเลข 121 ถนนรอบเมืองเชียงใหม่ และเส้นทางหลวงหมายเลข 107 ถนน โชตนา (เชียงใหม่-ฝาง) บริเวณส่วนนี้จะเป็นสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ วัดปิยาราม โรงเรียนดอนแก้วเนรมิตปัญญา สถานสงเคราะห์เด็กชาย บ้านเชียงใหม่ สถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์ และสำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 6 โดยทางทิศเหนือบริเวณนี้จะติดกับโรงเรียนบ้านศาลและศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 3 ทิศใต้ติดกับโรงพยาบาลนครพิงค์
ส่วนที่เป็นชุมชน
ทิศเหนือ ติดกับหมู่ 3 บ้านศาลา
ทิศตะวันออก ติดกับหมู่ 7 บ้านสันเหมือง และมีเส้นทางหลวงหมายเลข 107 ถนนโชตนา (เชียงใหม่-ฝาง)
ทิศใต้ ติดกับหมู่ 10 บ้านพระเจ้านั่งโก๋น
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
บ้านป่าแงะมีสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบ บริเวณซอย 12 และซอย 13 มีลำน้ำสาธารณประโยชน์ยาวตลอดสายขนานกับเขตติดต่อหมู่บ้านพระเจ้านั่งโก๋น และบ้านสันเหมือง มีบ้านเรือนจำนวนมาก มีพื้นที่ป่ารกร้างเล็กน้อย ภายในหมู่บ้านป่าแงะมีถนนชนบทแบบลาดยางสามารถเดินทางไปมาอย่างสะดวกสบาย มีทั้งหมด 13 ซอย โดยแต่ละซอยจะประกอบไปด้วยบ้านของคนในท้องถิ่นเดิม บ้านเช่าและหอพักมีร้านขายของชำบางซอย แต่บริเวณพื้นที่ติดริมถนนหลวง ตั้งแต่ซอยที่ 1 ถึงซอยที่ 13 ส่วนมากเป็นบ้านเช่า หอพัก และอาคารพาณิชย์ที่เปิดเป็นร้านค้าขายของชำ ร้านอาหาร ร้านซ่อมปะยางรถ ร้านขายยาและคลินิกหมอรวมถึงยังมีบริษัทเอกชน เช่น เวิล์ดแก็ส LPG, car vision, บริษัท นิ่มซีเส็งลิสซิ่ง จำกัด, บริษัท เชียงแสน ฮอนด้า ออโตโมบิล จำกัด เป็นต้น ในหมู่บ้านป่าแงะมีแหล่งประโยชน์ในหมู่บ้าน คือ วัดปิยารามซึ่งเป็นแหล่งรวมจิตใจของประชาชนในหมู่บ้าน โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ โรงเรียนดอนแก้วเนรมิตปัญญา ฌาปนสถานบ้านป่าแงะซึ่งใช้ร่วมกันทั้ง 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 3 บ้านศาลา หมู่ 4 บ้านป่าแงะ หมู่ 7 บ้านสันเหมือง และ หมู่ 10 บ้านพระเจ้านั่งโก๋น ศาลากลางหมู่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ผู้สูงอายุนครพิงค์เชียงใหม่ ก.ศ.น ของหมู่บ้าน สถานีรถดับเพลิงและรถฉุกเฉิน ตลาดสดบ้านป่าแงะ และระยะทางจากองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว ถึงที่ว่าการอำเภอแม่ริม มีระยะทาง ประมาณ 7 กิโลเมตร ระยะทางจากองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้วถึงที่ว่าการอำเภอเมือง มีระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร
สภาพแวดล้อม
สภาพแวดล้อมโดยรอบ พบว่า ด้านสภาพอากาศมีฝุ่นละอองและควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ด้านเสียงมีเสียงรบกวน เช่น เสียงเครื่องยนต์ เสียงจากร้านเหล้า การรบกวนจากเพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดัง ด้านกลิ่นมีกลิ่นเหม็นจากควันท่อไอเสียรถยนต์ สถานที่กำจัดขยะ ทำให้ประชาชนบางส่วนได้รับผลกระทบในด้านการพักผ่อนนอนหลับและรบกวนการทำงาน
จากข้อมูลการสำรวจขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว ปี 2562 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านป่าแงะ จำนวน 100 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 344 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 162 คน หญิง 182 คน
เครือญาติตระกูลดั้งเดิม
ตระกูลปัญญานาม เป็นตระกูลดั้งเดิมที่อยู่ในหมู่บ้านป่าแงะ มาเป็นเวลามากกว่า 80 กว่าปี โดยเป็นตระกูลที่ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของบ้านป่าแงะ หมู่ที่ 4 มาตลอดตั้งแต่เริ่มสร้างหมู่บ้าน ได้เห็นถึงการย้ายถิ่นฐานจากเดิมคนในหมู่บ้านป่าแงะอาศัยอยู่ฝั่งเดียวกับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่ (ในปัจจุบัน) จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการเวนคืนที่ดิน คนในหมู่บ้านป่าแงะจึงย้ายถิ่นฐานมาตั้งที่หมู่บ้านป่าแงะในปัจจุบัน เป็นการสร้างหมู่บ้าน ตั้งแต่นั้นมา
คนในตระกูลที่มีหน้าที่และตำแหน่งทางสังคม ได้แก่ นางติ๊บ ปัญญานาม เป็นปราชญ์ชาวบ้านเรื่อง การทำบายศรีสู่ขวัญ การทำพิธีสืบชะตา พิธีพื้นเมืองต่างๆ และเป็นปราชญ์ในเรื่องความรู้ของประวัติศาสตร์ชุมชน ตั้งแต่การก่อตั้งชุมชน และมีอายุมากที่สุดในหมู่บ้าน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานชมรมผู้สู้งอายุบ้านดอนแก้ว ประธานชมรมวัฒนธรรมในหมู่บ้านดอนแก้ว และได้รับรางวัลคนดี ศรีดอนแก้ว รางวัลแม่ดีเด่นตำบลดอนแก้วรางวัลแม่ดีเด่นจังหวัดเชียงใหม่ รางวัลครอบครัวดีเด่นตำบลดอนแก้ว รางวัลผู้สูงอายุดีเด่น และรางวัลผู้สูงอายุสุขภาพดีตำบลดอนแก้ว ทำให้ตระกูลปัญญานาม เป็นที่รู้จักของคนในชุมชนเป็นที่รักของคนในชุมชน และได้รับการยกย่องของคนในหมู่บ้าน สมาชิกในตระกูลปัญญานาม มีความรักใคร่ปรองดองกัน คอยดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันและมีการรวมญาติหรือสมาชิก เมื่อมีวันสำคัญต่างๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น
โครงสร้างองค์กรชุมชนของบ้านป่าแงะ หมู่ที่ 4 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งในแต่ละองค์กรมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันทางสังคม โดยแต่ละองค์กรจะมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน ปัจจุบันชุมชนบ้านป่าแงะได้มีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ดังนี้
องค์กรที่เป็นทางการ
การรวมตัวขององค์กรที่ได้มาจากรัฐบาลและความร่วมมือจากกลุ่มประชาชนที่มีการรวมกลุ่มกันทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขของชุมชน ซึ่งหมู่บ้านป่าแงะมีกลุ่มที่เป็นทางการทั้งหมด 5 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มผู้นำหมู่ที่ 4 บ้านป่าแงะ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
- กลุ่มคณะกรรมการศูนย์อำนวยความเป็นธรรมบ้านป่าแงะ หมู่ที่ 4
- กลุ่มศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด หมู่ที่ 4
- กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำ หมู่บ้าน หมู่ที่ 4
- กลุ่มเครื่องซักผ้า/ตู้น้ำหยอดเหรียญ
องค์กรไม่เป็นทางการ
กลุ่มปราชญ์ชาวบ้าน
- นางติ๊บ ปัญญานาม คลังปัญญาด้านประวัติศาสตร์ชุมชนและพิธีกรรมล้านนา
- นายสมพร ต้นดี คลังปัญญาด้านพระพิมพ์และเครื่องปั้นดินเผา
กิจกรรมเหตุการณ์รวมทั้งประเพณีปฏิบัติของคนในชุมชนบ้านป่าแงะที่เกิดขึ้นในรอบปี ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ดังต่อไปนี้
วิถีชีวิตด้านสังคมและวัฒนธรรม
คนในชุมชนจะใช้ภาษาพื้นเมืองในการสื่อสาร ประชาชนจะแต่งกายให้เหมาะสมตามฤดูกาล ถูกต้องตามกาลเทศะ สำหรับวัฒนธรรมการรับประทานอาหารจะรับประทานข้าวเหนียวเป็นหลัก อาหารส่วนใหญ่จะเป็นอาหารพื้นเมือง โดยจะประกอบอาหารทานเอง ขนบธรรมเนียมประเพณี ประเพณีประจำเดือนหรือเทศกาลบ้านป่าแงะนั้นเหมือนกับชาวล้านนาทั่วไป โดยเริ่มต้นจาก เดือนมกราคม มีประเพณีที่น่าสนใจ ดั้งนี้
1. ทำบุญวันขึ้นปีใหม่ เป็นประเพณีที่ชาวบ้านไปทำบุญที่วัดในวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะเป็นการเริ่มต้นชีวิตที่ดีขึ้นในปี พ.ศ. ใหม่2. ตักบาตรวันพระ เป็นประเพณีที่ทำกันตลอดทั้งปี โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่จะทำบุญตักบาตรและฟังเทศน์ ฟังธรรมที่วัดในวันพระ
3. งานบุญเข้ากรรมป่าช้าหรือโสสานกรรม เป็นพิธีที่ให้ชาวบ้านได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไป และได้มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่ป่าช้าแห่งนี้ อีกทั้งยังเป็นการที่จะให้พระสงฆ์ได้รู้จักความทุกข์ยากลำบาก เพราะเข้าไปอยู่ในเขตหรือที่จำกัด เพื่อทรมานร่างกายให้หายจากกรรม หรือพ้นจากอาบัติที่ได้กระทำ และเป็นการชำระจิตใจให้หายจากความมัวหมอง
4. ทอดผ้าป่า เป็นประเพณีการทำบุญอีกอย่างหนึ่งของพุทธศาสนิกชน คล้ายกับการทอดกฐินแตกต่างที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลา ซึ่งสามารถทำได้ในทุกฤดูกาล ไม่จำกัดเวลา ทำได้ตลอดทั้งปี และในแต่ละปีจะจัดให้มีการทอดผ้าป่าที่วัดกี่ครั้งก็ได้เช่นกัน ผู้ปรารถนาจะทำเมื่อไรย่อมทำได้ตามกำลังศรัทธา ซึ่งอาจจะผสมผสานหรือผนวกเข้ากับเทศกาลประเพณีประจำท้องถิ่นอื่นๆ อีกทั้งยังไม่เจาะจงเกี่ยวกับพระภิกษุที่จะรับผ้าป่าแต่อย่างใด
5. วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันที่มีไว้เพื่อให้ระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทปาฏิโมกข์ แก่มหาสังมสันนิบาต
6. เวียนเทียนวันวิสาขบูชา เป็นประเพณีที่ทำกันในคืนวันวิสาขบูชา เพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ คือการเดินเวียนรอบปูชนียสถานสำคัญ เช่น อุโบสถ วิหาร หรือพระพุทธรูป เพื่อระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยในวันสำคัญต่างๆ โดยใช้ธูปเทียนและดอกไม้เป็นเครื่องสักการะบูชา ถือไว้ในมือแล้วเดินเวียน 3 รอบ ขณะที่เดินรอบนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบท "อิติปิโส" ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ
7. ประเพณีปีใหม่เมือง ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของชาวล้านนา มีความแตกต่างจากสงกรานค์ของชาวไทยภาคกลาง ทั้งระยะเวลา กิจกรรม ความเชื่อ และความมุ่งหมาย ดังนั้น ปีใหม่เมืองของชาวล้านนาจึงมีวันและกิจกรรมต่างๆ ที่ปฏิบัติกันมากกว่าสงกรานต์ของชาวไทยภาคกลาง ซึ่งประกอบด้วย วันสังขานต์ล่อง วันเน่า วันพญาวัน วันปากปี วันปากเดือน และวันปากยาม ปีใหม่เมืองของชาวล้านนา ตรงกับเดือนเมษายน ซึ่งอยู่ในฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาที่มีอากาศร้อนมาก และช่วงเวลาว่างจากการทำไร่และเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จึงถือเอาวันปีใหม่เป็นวันทำบุญใหญ่วันหนึ่งในรอบปี
8. ประเพณีเข้าพรรษา วันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) หรือเทศกาลเข้าพรรษา ถือได้ว่าเป็นวัน และช่วงเทศกาลทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญเทศกาลหนึ่งในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ในช่วงฤดูฝน
9. ประเพณีออกพรรษา ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ในวันออกพรรษานี้กิจที่ชาวบ้านมักจะกระทำก็คือ การบำเพ็ญกุศล เช่น ทำบุญตักบาตร จัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระที่วัด และฟังพระธรรมเทศนา ของที่ชาวบ้านนิยมนำไปใส่บาตรในวันนี้ก็คือ ข้าวต้มมัด และข้าวต้มลูกโยน และการร่วมกุศลกรรมการ "ตักบาตรเทโว"
10. ประเพณียี่เป็ง (ลอยกระทง) เป็นประเพณีลอยกระทงตามประเพณีล้านนาที่จัดทำขึ้นในวันเพ็ญเดือน 12 ของชาวล้านนา
11. ประเพณีทอดกฐิน ประเพณีการทอดกฐิน ในแต่ละปีกำหนดให้มีการจัดทอดกฐินขึ้น ภายใน 1 เดือน หลังประเพณีออกพรรษา
วิถีชีวิตด้านสุขภาพ
1. กิจกรรมการออกเยี่ยมบ้านทุกเดือน ในวันพุธแรกของเดือน เป็นการติดตามดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยติดบ้านและหญิงหลังคลอด ที่บ้านตลอดทั้งปีโดยมีการประสานงานกับอาสาสมัครสาธารสุขหมู่บ้านส่วนใหญ่ จะมีการออกเยี่ยมในช่วงที่ว่างเว้นจากงานที่โรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว
2. กิจกรรมรณรงค์การตรวจร่างกายประจำปี ตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน และความคันโลหิตสูง มีการดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎคม - สิงหาคมของทุกปี โดยโรงพยาบาลชุมชนดอนแก้วร่วมมือกับ อสม. ในการคัดกรองโรค
3. กิจกรรมรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลาย เพื่อรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก การทำโครงการนี้ ในช่วงฤดูฝนจนกระทั่งสิ้นสุดฤดูฝน คือเดือนสิงหา กันยายน จะทำกิจกรรม 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และในฤดูร้อนกับฤดูหนาวจะจัดกิจกรรม 1 ครั้งต่อเดือน โดยกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านและผู้ใหญ่บ้าน ประสานงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว ในการร่วมป้องกันและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย มีการสำรวจพื้นที่น้ำขัง คว่ำพาชนะที่เป็นน้ำขังและการแจกทรายอะเบทให้ชาวบ้านในชุมขุน
4. กิจกรรมการออกกำลังกาย มีการจัดตั้งกลุ่มรำวงย้อนยุคร่วมกับหมู่บ้านอื่นๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ชาวบ้านหันมาออกกำลังกาย โดยมีการออกกำลังกายทุกวัน เวลา 18.00 - 19.00 น. ณ ลานกิจกรรม โรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว ซึ่งจะมีการประกวดแข่งขันรำวงย้อนยุคในแต่ละปี
5. กิจกรรมอบรมเพื่อป้องกันเด็กจมน้ำ มีการจัดอบรมปีละ 1 ครั้ง ส่วนมากจะจัดกิจกรรมในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม เพราะเป็นช่วงที่มีประชากรเล่นน้ำเป็นจำนวนมาก โดยจะจัดอบรมให้แก่เด็กและ อสม. ในชุมชน
ปราชญ์ชาวบ้านด้านประวัติศาสตร์ชุมชน และด้านการทำบายศรีประวัติส่วนตัว
นางติ๊บ ปัญญานาม เกิดเมื่อวันอาทิตย์ อายุ 88 ปี เป็นบุตรนายอุ่น สิงห์เล็ก และนางป้อ ปัญญา มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ทั้งหมด 4 คน ปัจจุบันอยู่บ้านป่าแงะ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ สมรสกับนายมูล ปัญญานาม (อดีตกำนันตำบลดอนแก้ว) มีบุตรร่วมกันทั้งหมด 8 คน จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนชะเยือง ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ประวัติการทำงาน
พ.ศ. 2483 ประกอบอาชีพค้าขายอาหารเช่น ไข่ กล้วย ให้แก่ทหารญี่ปุ่น สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
พ.ศ. 2488 ประกอบอาชีพรับจ้างเก็บใบเมี่ยงขายที่อำเภอแม่แตง
พ.ศ. 2513 ประกอบอาชีพค้าขาย ได้เปิดร้านขายของชำในตลาดป่าแงะ เป็นระยะเวลา 18 ปี
พ.ศ. 2531 ประกอบอาชีพเสริม ได้แก่ รับทำเครื่องพิธีสืบชะตา พิธีบายศรี ทำหมอนรองมือ เป็นต้น
รางวัลที่ได้รับ
พ.ศ.2555 ได้รับโล่เชิดชูเกียรติ คนดีศรีดอนแก้ว
พ.ศ.2550 ได้รับเหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 3
พ.ศ.2551 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ประทานของที่ระลึก เนื่องในเสด็จทรงประกอบพิธตัดหวายลูกนิมิต ณ วัดลัฏฐิวัน ต.ริมใต้ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
พ.ศ.2552 ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประทานของที่ระลึก เนื่องในเสด็จเปิดอาคารฯ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ.2555 รางวัลแม่ดีเด่นตำบลดอนแก้ว
พ.ศ.2555 รางวัลแม่ดีเด่นจังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ.2555 รางวัลคนดีศรีดอนแก้ว
พ.ศ.2557 รางวัลผู้สูงอายุดีเด่น
ปราชญ์ชาวบ้านในด้านการทำบายศรี
นางติ๊บ ปัญญานาม เล่าว่า จุดเริ่มต้นในการทำบายศรีของตนเองเกิดจากการที่ตนเองนั้นเป็นคนที่ชอบเข้าสังคม ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลืองานต่างๆภายในหมู่บ้าน เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานทำขวัญ ในงานต่างๆเหล่านี้ก็จะมีการทำบายศรี ตนเองก็จะเข้าไปช่วยทำด้วย จนเกิดเป็นความรู้และทักษะงานฝีมือประจำตัว ไม่ได้มีการไปเรียนทำมาจากไหน อาศัยไปช่วยทำ ช่วยจัดงานต่างๆ เมื่อทำมากขึ้นก็เกิดเป็นความชำนาญติดตัว จนสามารถทำได้ หลังจากนั้นก็ทำบายศรีมาโดยตลอดมีผู้มาจ้างทำบายศรีอยู่เป็นประจำ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชุมชน จนถึงปัจจุบัน
ปราชญ์ชาวบ้านด้านทางศาสนา
ประวัติส่วนตัว
พระครูปิยอาวาสวัตร (ตุรงค์ ทันตฺจิตฺโต) อายุ 44 ปี เป็นบุตรคนเดียวของนายจันทร์ติ๊บ นางบัวเรียว ลี้ธรรม มีภูมิลำเนาอยู่ที่ 58/1 หมู่ 11 บ้านนาจลอง ตำบลแม่นาเติง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ประวัติการศึกษา
พ.ศ. 2530 จบการศึกษาระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 จากโรงเรียนบ้านนาจลอง ตำบลแม่นาเติง อำเภอปาย จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. 2538 สอบไล่ได้นักธรรมชั้น จากสำนักเรียนคณะจังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. 2539 สอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท จากสำนักเรียนคณะจังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. 2540 สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก จากสำนักเรียนคณะจังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. 2541 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 จากโรงเรียนธรรมราชศึกษา วัดพระสิงห์วรมหาวิหารจังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. 2546 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต สาขาสังคมศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่
ประวัติการทำงาน
พ.ศ. 2546 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปิยาราม
พ.ศ. 2547 ดำรงตำแหน่งเลขานุการเจ้าคณะตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. 2548 ได้รับการเรียนเชิญเป็นครูสอนวิชาพระพุทธศาสนา และวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ และได้รับการเรียนเชิญเป็นครูสอนศีลธรรม โรงเรียนดอนแก้วเนรมิตปัญญา
พ.ศ. 2549 ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่
พ.ศ. 2556 ดำรงตำแหน่งประธานหน่วยอบรมประชาชนประจำ ตำบลดอนแก้ว (2วาระ) สมณศักดิ์
พ.ศ. 2546 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญบัตรชั้นโท
พระครูปิยอาวาสวัตร เป็นผู้ที่มีความกตัญญูต่อ บิดา-มารดา โดยหลังจากจบประถมศึกษาปีที่ 6 พ.ศ. 2530 ได้ช่วยบิดา-มารดา ทำเกษตรกรรม ไม่ได้เรียนหนังสือเนื่องจากทางครอบครัวมีฐานะยากจน หลังจากบิดาเสีย พศ. 2535 จึงตัดสินใจขอมารดาไปบวช เนื่องจากอยากเรียนต่อ เพราะการบวชเรียนจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านการเรียน หลังจากบวชท่านพระครูปิยอาวาสวัตรจำวัดอยู่ที่วัดปิยาราม
ปีพ.ศ. 2546 ขณะเดียวกันเจ้าอาวาสวัดปิยาราม พระครูอะทิการมนตรี มรณภาพ ท่านพระครูปิยอาวาสวัตรจึงได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นเจ้าอาวาส วัดปิยาราม โดยหลังจากได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เช่น เลขานุการเจ้าคณะตำบล ครูสอนวิชาพระพุทธศาสนา เป็นต้น และบริหารจัดการงานภายในวัด โดยมีคำนิยามประจำใจว่า "ครองตน ครองคน ครองงาน" และ "ทำให้ถูกต้อง ไม่ใช่ทำให้ถูกใจ" พระครูปิยอาวาสวัตรเป็นแบบอย่างในด้านการดำรงศีลธรรม และการกตัญญูต่อบิดา - มารดา โดยมีหลักคำสอน คือ ให้ดูแลบิดา – มารดา ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ตอบแทนให้ท่านมีความสุข เช่น การพาไปเที่ยวในสถานที่ที่ท่าอยากไป การให้ท่านได้รับประทานอาหารที่ท่านชอบ เป็นต้น ซึ่งเป็นการทำให้บิดา - มารดามีความสุข และท่านสามารถรับรู้ ความสุขนั้นได้ และสอนว่าหากท่านเสียชีวิตจะได้ไม่ต้องมาเสียใจทีหลัง ว่าทำไมไม่ดูแลท่าน และควรทำดีเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ เพราะหากทำบุญไปให้ท่านไม่รู้ว่าท่านจะได้รับหรือไม่ จึงเป็นแบบอย่างในการดำรงศีลธรรม และ การกตัญญูต่อบิดา – มารดา
ปราชญ์ชาวบ้านด้านเครื่องปั้นดินเผา
ประวัติส่วนตัว
นายสมพร ต้นดี อายุ 64 ปี เป็นบุตรของนายสม และนางป้อ ต้นดี มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ทั้งหมด 5 คน ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านป่าแงะ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ สมรสกับนางสายหยุด ต้นดี มีบุตรร่วมกันทั้งหมด 2 คน พ.ศ. 2508 จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2510 จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนบ้านศาลา ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ประวัติการทำงาน
พ.ศ. 2512 ประกอบอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผา
พ.ศ. 2520 ประกอบอาชีพซ่อมพิมพ์ดีด
พ.ศ. 2525 ประกอบธุรกิจส่วนตัวทำเครื่องปั้นดินเผา
พ.ศ. 2528 เป็น อสม. ประจำหมู่บ้านป่าแงะ
พ.ศ. 2533 ประกอบอาชีพครูที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือ
พ.ศ. 2549 เป็นอาสาสมัครปศุสัตว์
พ.ศ. 2561 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
ปราชญ์ชาวบ้านในด้านเครื่องปั้นดินเผา
นายสมพร ต้นดี เป็นปราชญ์ชาวบ้านในด้านการทำเครื่องปั้นดินเผา การทำพระพิมพ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีภายในหมู่บ้านป่าแงะและหมู่บ้านใกล้เคียง โดยนายสมพร ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำเครื่องปั้นดินเผาของตนเอง ว่า เกิดจากหลังที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้สมัครหางานทำตามที่ต่างๆ จนได้ทำงานที่ร้านเครื่องปั้นดินเผาแห่งหนึ่งอยู่บริเวณหน้าโรงเรียนโกวิทธำรง เชียงใหม่ เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานเรื่อยๆ เกือบ 10 ปี จนสามารถทำได้เองทุกขั้นตอน และได้ลาออกมาทำเครื่องปั้นดินเผาและพระพิมพ์เป็นอาชีพของตนเอง ซึ่งทำที่บ้านเพียงคนเดียว เนื่องจากจ้างคนงานไม่คุ้ม วันหนึ่งนั่งทำ ปั้นหม้อได้ 3-4 ใบ ค่าแรง 300 บาท ไม่คุ้มก็เลยทำคนเดียว โดยงานที่ทำในปัจจุบันจะเป็นงานที่ทำตามดำสั่งซื้อของลูกค้า มีทั้งพระพิมพ์และเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ
ทุนวัฒนธรรม
ทุกคนในหมู่บ้านป่าแงะนับถือศาสนาพุทธ มีแหล่งที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในหมู่บ้าน คือ วัดปิยาราม โดยมีเจ้าเมืองเชียงใหม่ เป็นผู้สร้าง เพื่ออุทิศให้โอรสที่ถึงแก่พิราลัย ภายในวัดมีพระพุทธรูปในโพรงของต้นไม้ใหญ่ (พระเจ้านั่งโก๋น) เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นเป็นผู้สร้าง และจะมีกิจกรรมทางศาสนาทุกเทศกาล เช่น ประเพณีทำบุญวันขึ้นปีใหม่ ประเพณีตักบาตรวันพระ ประเพณีงานบุญเข้ากรรมป่าช้า เป็นต้น คนในชุมชนจะใช้ภาษาพื้นเมืองเป็นภาษาท้องถิ่นในการสื่อสาร
แพทย์พื้นบ้าน ประชาชนในหมู่บ้านยังมีความเชื่อเกี่ยวกับในรายที่ประสบอุบัติเหตุ เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ จะให้พ่อหมอเมืองหรือผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านไปทำพิธีส่งสางเลี้ยงผีในบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุ และเรียกขวัญของผู้ที่ประสบอุบัติเหตุนั้นมาประกอบพิธีทำขวัญและมัดมือที่บ้าน เพราะเชื่อว่าในขณะเกิดอุบัติเหตุจะทำให้ผู้ประสบเหตุนั้นขวัญเสียไป จึงทำการเรียกขวัญของผู้ประสบอุบัติเหตุกลับมา และประชาชนบางส่วนมีความเชื่อเกี่ยวกับการฝั่งเข็ม ว่าจะช่วยกระตุ้นร่างกายให้ปรับการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ให้เกิดความสมดุล ลดการเจ็บป่วย อีกทั้งยังมีประชาชนบางส่วนจะไปนวดและอบสมุนไพรในหมู่บ้านของป้าปึ้ง เพื่อลดอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ
คำเมือง สำเนียงล้านนาตะวันตก ราชการไทยเรียก ภาษาถิ่นภาคพายัพ เป็นภาษาถิ่นของชาวไทยวนทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ซึ่งเป็นอาณาจักรล้านนาเดิม ได้แก่ เชียงใหม่ เป็นต้น คำเมืองมีไวยากรณ์คล้ายกับภาษาไทยกลางแต่ใช้คำศัพท์ไม่เหมือนกันและไวยากรณ์ที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่เดิมใช้คู่กับอักษรธรรมล้านนาซึ่งเป็นตัวอักษรของอาณาจักรล้านนาที่ใช้อักษรมอญเป็นต้นแบบ รัฐไทยในช่วงรัชกาลที่ 7–9 ได้สั่งห้ามใช้อักษรธรรมล้านนาและคำเมืองในที่สาธารณะ และให้เผาตำราเรียนในภาษาล้านนา เพื่อทำลายรากเหง้าท้องถิ่นหลังผนวกล้านนาเข้ากับตน แต่คำเมืองยังคงได้รับการใช้งานในชีวิตประจำวันสืบ ๆ มา ประชากรในหมู่บ้านป่าแงะส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมือง จึงใช้ภาษาพื้นเมืองเป็นภาษาท้องถิ่นในการสื่อสาร
เดิมบ้านป่าแงะนั้นเป็นชุมชนเก่าแก่ของหมู่บ้านดอนแก้ว ต่อมาทางราชการขอเวนคืนที่ดิน ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน จึงมีการอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งที่อยู่อาศัยใหม่ ใกล้บริเวณกับฌาปนสถานป่าแงะ ต่อมาชุมชนเริ่มมีการขยายตัวและมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีกลุ่มข้าราชการเข้ามาตั้งบ้านเรือนในพื้นที่มากขึ้น ทำให้การปกครองดูแลไม่ทั่วถึง จึงมีกลุ่มแกนนำ 35 คน ในหมู่บ้านร่วมกันดำเนินการขอแยกตัวหมู่บ้านออกมา เพื่อเป็นการแบ่งแยกอำนาจและง่ายต่อการพัฒนา ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ประชากรในชุมชนบ้านป่าแงะ ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ค้าขาย รับราชการและธุรกิจส่วนตัว
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพและเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม คนในชุมชนที่มีบ้านเรือนติดกับถนนก็จะประสบปัญหาด้านภาพอากาศที่มีฝุ่นละอองและควันจากท่อไอเสียรถยนต์ มีเสียงดังจากรถยนต์ หรือระบบความคิดของคนรุ่นใหม่ในสังคม ส่งผลให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากอิทธิพลของระบบสื่อต่างๆ และการศึกษาสมัยใหม่ที่สอนให้คนเชื่อในหลักการทางวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและความเชื่อ
ในชุมชนบ้านป่าแงะ ยังมีจุดสนใจอื่นๆ เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวลุยสวน-ป่าแงะ ที่เป็นเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ ร้านครัวคุณละออ และร้านลูกทุ่งเรือนแพ
เกวรินทร์ รักมนุษย์, เจนจิรา นาคคำ, ฐิติกาญจน์ สิงห์ชัย, ณัฐริกา การวงษ์, บุญฑริกา รัตนัง, เพ็ญพิชชา ศิลปเสริฐ, รวินันท์ ปันจันทร์ และวันทนี เต๋จ๊ะนัง. (2562). รายงานการพัฒนาอนามัยชุมชน บ้านป่าแงะ หมู่ที่ 4 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. วิชาการพยาบาลชุมชน. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.