Advance search

ชุมชนเกษตรกรรม เพาะเห็ด เลี้ยงสัตว์และรับจ้างเย็บเสื้อผ้า

หมู่ที่ 5
ออนกลาง
แม่ออน
เชียงใหม่
ปุลวิชช์ ทองแตง
8 พ.ค. 2023
ปุลวิชช์ ทองแตง
18 พ.ค. 2023
ปุลวิชช์ ทองแตง
8 พ.ค. 2023
บ้านป่าตันใต้

แรกเริ่มมีการตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านป่าตัน โดยมีการตั้งสมมุติฐานว่าพื้นที่เดิมในชุมชนมีต้น พุทรา (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ต้นบ่าตัน) เป็นจำนวนมาก จึงมีการเรียกและตั้งชื่อหมู่บ้านตามป่าพุทรา จึงได้ ชื่อว่า "บ้านป่าตัน"


ชุมชนเกษตรกรรม เพาะเห็ด เลี้ยงสัตว์และรับจ้างเย็บเสื้อผ้า

หมู่ที่ 5
ออนกลาง
แม่ออน
เชียงใหม่
50130
18.76058577
99.25746068
องค์การบริหารส่วนตำบลออนกลาง

จากการรวบรวมข้อมูลโดยการศึกษาแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและเสริมสร้างความเข้มแข็งของ ชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ แผนชุมชน ปี พ.ศ. 2561 พบว่าบ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 เริ่มก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2350 ประมาณ 214 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการอพยพย้ายถิ่นมาจากเมืองเจียงตุง ของรัฐฉาน ประเทศพม่า ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขิน แรกเริ่มมีการตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านป่าตัน โดยมีการตั้งสมมุติฐานว่าพื้นที่เดิมในชุมชนมีต้นพุทรา (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ต้นบ่าตัน) เป็นจำนวนมาก จึงมีการเรียกและตั้งชื่อหมู่บ้านตามป่าพุทรา จึงได้ ชื่อว่า บ้านป่าตัน 

ในปี 2530 ได้จัดตั้งสภาตำบลออนกลาง ต่อมาในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ได้มีการแบ่งเขตท้องที่ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอแม่ออน” จากนั้นในปี พ.ศ. 2537 ตำบลออนกลางได้มีการแยกตัวออกมาจาก ตำบลออนเหนือ และได้มีการเปลี่ยนแปลงฐานะจากสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล มีที่ว่าการอำเภอออนกลาง สถานีตำรวจภูธรแม่ออน ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 จึงมีองค์การบริหารส่วนตำบลออนกลาง จากนั้นในปี พ.ศ. 2557 จึงมีการก่อสร้างอาคารใหม่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลออนกลาง บ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 ตั้งอยู่ในตำบลออนเหนือ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โดยอยู่ในความปกครองของ บ้านป่าตัน หมู่ 11 ตำบลออนเหนือ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาด้วยตำบลออนเหนือ ซึ่งมีเขตการปกครองที่กว้างขวาง ประกอบกับมีประชากรที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก จึงได้มีแบ่งเขตการปกครองเพิ่มเป็น ตำบลออนกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัด เชียงใหม่ โดยมีหมู่บ้านทั้งหมด 11 หมู่บ้าน

จากการสัมภาษณ์ นายวรศักดิ์ ตาลศรี อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 พบว่าในอดีตปี 2530 นำ โคนมมาเลี้ยงในหมู่บ้าน ต่อมาปี 2556 ประชาชนในหมู่บ้าน มีน้ำอุปโภค บริโภค จากประปาหมู่บ้าน ซึ่งทำให้ไม่เพียงพอต่อการใช้ในช่วงฤดูแล้ง ประมาณเดือน มีนาคม-เมษายน ของทุกปี ทำให้ท่านเล็งเห็นถึงความสำคัญของน้ำซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในขณะนั้น จึงขอความร่วมมือจากประชาชนในหมู่บ้าน จัดการประชุมหมู่บ้าน ในเรื่องการจัดการน้ำเพื่อเป็นประโยชน์ต่อหมู่บ้าน โดยการสร้างฝายแม้วบนห้วยลำน้ำโป่ง มากกว่า 20 ฝายบนภูเขาใกล้หมู่บ้าน ต่อมาได้สร้างโรงน้ำดื่มประจำหมู่บ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำบริโภคอย่างเพียงพอ ในปี 2557 เริ่มมีล้นฝาย มากเกินความจำเป็นต่อการใช้สอยในหมู่บ้าน จึงมีการประชุมเพื่อจัดการน้ำอีกครั้ง โดยได้ข้อสรุปว่าให้จัดทำประปาภูเขา เพื่อประโยชน์ทางด้านอุปโภคและการเกษตรจนถึงปัจจุบัน ต่อมาในปี 2558 ท่านได้รับคำสั่งจากทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ให้จัดคุ้ม ประจำหมู่บ้าน เพื่อให้ง่ายต่อการกระจายข่าวสาร ประสานงานและประชาสัมพันธ์ และมีกิจกรรมร่วมกัน เช่น งานลอยกระทง มีการแข่งประกวดซุ้มประตูประเพณีตามคุ้ม และหัวหน้าคุ้มจะต้องคอยดูแลรักษาความสงบใน แต่ละคุ้มของตนเอง 

ลักษณะทางกายภาพของบ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 เป็นพื้นที่ราบ ล้อมรอบด้วยภูเขา บรรยากาศเย็นสบาย โดยมีอาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ 6
  • ทิศใต้ ติดกับ หมู่ 4
  • ทิศตะวันตก ติดกับ หมู่ 4
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ไร่นาของหมู่บ้าน

บ้านเรือนของประชาชนบ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 มีการแบ่งเป็นคุ้ม มีทั้งหมด 3 คุ้ม คุ้มที่  1 ชื่อว่า สันติสุข คุ้มที่ 2 ชื่อว่าประชาชื่น คุ้มที่ 3 ชื่อว่าสามัคคีธรรม ส่วนใหญ่การปลูกสร้างบ้านเรือนของประชาชนจะอยู่ติดกันหรืออยู่ในรั้วเดียวกัน มีสัมพันธภาพที่ดีร่วมกันฉันท์พี่น้อง ไปมาหาสู่กัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งประชาชนในชุมชนมักออกมาพบปะกันในช่วงตอนเย็นหลังจากเลิกงานตรงบริเวณร้านขายของชำตามในหมู่บ้านหรือตอนที่มีการประชุมของหมู่บ้านประชาชนก็จะมารวมตัวกันตรงบริเวณศาลากลางหมู่บ้าน ในส่วนของสถานที่ยึดเหนี่ยวของจิตใจจะมีการใช้ร่วมกันกับหมู่ 11 เช่นวัด จะมีการมาฟังเทศน์ฟังธรรม ธรรมบุญตักบาตรในวันสำคัญต่าง ๆ เช่นวันเข้าพรรษา วันพระใหญ่ เป็นต้น

จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลบ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 11 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 โดยนักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่ และจากการศึกษาข้อมูลเอกสารทุติยภูมิ พบว่ามีครัวเรือนทั้งหมด 119 ครัวเรือน มีประชากรทั้งหมด 344 คน จากการสำรวจระหว่างวันที่ 11 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ครัวเรือน จำนวน 90 ครัวเรือน จาก 119 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 75.63 ของครัวเรือนทั้งหมด มีประชากร 312 คน คิดเป็นร้อยละ 90.69 ของประชากรทั้งหมดตามทะเบียน ราษฎร์ พบว่ามีรายชื่อแต่ไม่ได้อาศัยอยู่ 36 คน อาศัยอยู่จริง 276 คน ประชาชนส่วนใหญ่ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 40 - 44 ปี มากที่สุดรองลงมา อยู่ในช่วงอายุ 60 – 64 ปี มีจำนวนประชากรเพศชาย เป็นร้อยละ 51.9 ซึ่งมากกกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรส คิดเป็นร้อยละ 57.61 และส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาคิดเป็นร้อยละ 53.82

จากการสำรวจและสอบถามผังเครือญาติของบ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 ต.ออนกลาง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ พบว่ามีตระกูลเก่าแก่หลายนามสกุล เช่น “คำกันธา” “ปันฟอง” และ “กันตีมูล” ซึ่งเป็นที่รู้จักมากในชุมชน นามสกุล “คำกันธา” เป็นตระกูลที่มีสมาชิกในตระกูลเป็นจำนวนมาก ทั้งที่อาศัยอยู่จริงและอาศัยอยู่นอกพื้นที่ โดยจากการสัมภาษณ์นายศุภฤกษ์ ปัทมาภิรัตน์ และนางมุกดา คำกันธา ซึ่งเป็นสมาชิกในตระกูล พบว่ามี นาย กุย และนางเป็ง คำกันธา เป็นต้นตระกูล มีการแต่งงานขยายครอบครัวมีลูกหลานสืบทอดมา 4 รุ่น จนเป็น ครอบครัวขนาดใหญ่ จากการวิเคราะห์พบว่าตระกูล “คำกันธา” มีลักษณะครอบครัวแบบครอบครัวขยาย และครอบครัวเดี่ยว มีการแต่งงาน เปลี่ยนนามสกุล และลูกหลานแยกย้ายกันไปตั้งครอบครัวหรือทำงานต่างถิ่น

ไทขึน

บ้านเรือนของประชาชนจะอยู่ติดกันหรืออยู่ในรั้วเดียวกัน มีสัมพันธภาพที่ดีร่วมกันฉันท์พี่น้อง ไปมาหาสู่กัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ประชาชนบ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 ส่วนมากมีอาชีพหลักคือเป็นเกษตรกร เลี้ยงโคนม วัว ควาย ทำไร่ ทำสวน ปลูกข้าวในช่วงเดือนสิงหาคม และมีการปลูกข้าวโพด และมีการรับจ้างรายวัน เช่น มุงหลังคาซีแพคและรับจ้าง เย็บผ้า ได้ค่ารับจ้างเป็นแบบรายวัน วันละประมาณ 350 - 400 บาท แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงโควิดระบาดหนักทำให้ประชาชนในหมู่บ้านตกงานไม่มีงานทำจึงไม่ค่อยมีรายได้ อยู่บ้านว่างงานกันเป็นจำนวนมาก 

จากโครงสร้างทางสังคมจะเห็นได้ว่าแต่ละกลุ่มองค์กรจะมีสมาชิกบางส่วนในกลุ่มของแต่ละองค์กรเป็นบุคคลเดียวกันหรือเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือด นอกจากนี้บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งในหน้าที่ต่าง ๆ ในชุมชน มักได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนที่มาจากการเลือกตั้งในชุมชน จากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างองค์ชุมชน พบว่า บ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัด เชียงใหม่ มีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยในแต่ละองค์กรจะมีบทบาท หน้าที่ แตกต่างกันออกไป องค์กรในชุมชนเป็นองค์ที่ได้จากการเลือกตั้ง และมาจากการจัดตั้งขึ้นเอง ซึ่งปัจจุบันมีการจัดตั้งองค์กรต่าง ๆ ดังนี้

  1. ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้าน
  2. ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.)
  3. คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน
  4. อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.)
  5. คณะกรรมการน้ำประปาภูเขา
  6. คณะกรรมการน้ำดื่มสะอาดเพื่อชุมชน
  7. กลุ่มหัวหน้าคุ้มหมู่บ้าน
  8. ชมรมผู้สูงอายุ
  9. กลุ่มแม่บ้าน
  10. วัยรุ่นสังสรรค์สุรา
  11. เยาวชนเล่นกีฬา

จากการประเมินชุมชนด้านเศรษฐกิจและสังคมของบ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 พบว่าประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีการปลูกพืชหมุนเวียนตลอดทั้งปี ได้แก่ ข้าวโพดอ่อน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วลิสงและข้าว นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์และเพาะเห็ด โดยเมื่อเริ่มต้นปีจะเป็นการปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากมีการหว่านเมล็ดข้าวไว้ในช่วงของเดือนธันวาคม หลังจากนั้นเลยทำการปลูกข้าวในเดือนถัดมา โดยจะทำการปลูกไว้เป็นระยะเวลา 3 เดือน คือตั้งแต่เดือน มกราคม - มีนาคม จากนั้นจึงเก็บในเดือนเมษายน

หลังจากเก็บข้าวนาปรังแล้ว เป็นช่วงของการปลูกถั่วลิสง โดยการปลูกถั่วลิสง จะเป็นการปลูกเพื่อรักษาหน้าดินจากสารเคมีที่ใช้ในการทำข้าวและร่วมกับเป็นช่วงหน้าแล้งที่ไม่มีน้ำพอสำหรับทำนา จากนั้นจะทำการเก็บถั่วลิสงก่อนเดือนมิถุนายนเพื่อให้ได้มีการเตรียมนาให้พร้อมสำหรับการหว่านเมล็ดข้าว หลังจากนั้นจะทำการนำต้นกล้าข้าวมาปลูกในช่วงเดือนสิงหาคมและปล่อยทิ้งไว้ เป็น ระยะเวลา 3 เดือน แล้วทำการเกี่ยวข้าวในเดือนพฤศจิกายน

นอกจากนี้ ยังมีพืชผลทางการเกษตรและสัตว์ เศรษฐกิจที่มีการดูแลตลอดทั้งปี ได้แก่

1. ข้าวโพดอ่อน โดยข้าวโพดอ่อนคนในชุมชนจะทำการปลูกเพื่อ รับประทาน โดยเมื่อต้นข้าวโพดโตเต็มที่จะมีการเก็บฝักข้าวโพดแยกให้กับนายหน้าที่เข้ามารับซื้อ ในส่วนของต้นและเปลือกข้าวโพดจะนำไปใช้เลี้ยงสำหรับโคนมแทน

2. หญ้าสำหรับเลี้ยงโค เป็นหญ้าที่จะปลูกไว้เพื่อใช้ เลี้ยงโคนมและโคเนื้อ โดยจะทำการเก็บตลอดทั้งเวลา

3. สัตว์เศรษฐกิจ ได้แก่ กบ ไก่ โคเนื้อ โคนม โดยส่วน ใหญ่มักจะนิยมเลี้ยงโคนมและโคเนื้อ โคนม จะเลี้ยงเพื่อทำการเก็บนมวัวเพื่อส่งให้กับสหกรณ์โคนมของหมู่บ้าน โดยจะทำการเก็บเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเช้าประมาณตี 4 และอีกครั้งช่วงบ่าย ส่วนโคเนื้อ เป็นการเลี้ยงมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทำให้การสืบทอดต่อมาเรื่อย ๆ โดยจะเป็นการเลี้ยงให้โคโตเต็มที่และทำการขายไป โดยราคาจะขึ้นอยู่กับขนาดตัวของโค

4. เพาะเห็ด การเพาะเห็ดเกิดจากการที่มีคนในหมู่บ้านลองปลูกเห็ดขึ้นมาเพื่อใช้กิน แต่เมื่อทำไปมีชาวบ้านเห็นว่าสามารถปลูกได้ทั้งปีเลยมาศึกษาและขอซื้อหัวเชื้อในการปลูก โดยหัวเชื้อ 1 อัน ราคา 9 บาท นอกจากนี้แหล่งเพาะเห็ดยังเป็นศูนย์เรียนรู้ของหมู่บ้านหรือเมื่อมีบุคคลภายนอกเข้ามาดูงานและยังมีโครงการหลวงเข้ามาติดต่อเพื่อนำไปเป็นโครงการสำหรับหมู่บ้านอื่น ๆ อีกด้วย

ประชาชนในบ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 ยังมีการเย็บผ้าและเย็บกระเป๋า การเย็บผ้าในชุมชนเริ่มจากการที่มีคนในชุมชนนำผ้าเข้ามาและจ้างคนในหมู่บ้านทำ จึงมีการเย็บผ้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ต่อมามีคนในหมู่บ้านได้ติดต่อกับโรงงานเพื่อนำกระเป๋ามาเย็บในหมู่บ้านและทำการแจกให้กับชาวบ้านคนอื่น ๆ ในชุมชนด้วย ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงหันมาเย็บกระเป๋าขายแทน โดยกระเป๋า 1 ใบราคา 20 - 150 บาท ตามลักษณะของกระเป๋าที่เย็บ

ด้านวัฒนธรรม

จากการประเมินและสอบถามภายในชุมชนบ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 เกี่ยวกับด้านวัฒนธรรมของหมู่บ้าน พบว่าเมื่อประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เมื่อมีวันสำคัญทางศาสนามักจะไปรวมตัวกันที่วัดและทำบุญร่วมกัน โดยมีกิจกรรมตามวันเวลาปฏิทิน ดังนี้

1. ปีใหม่ไทย คนในหมู่บ้านจะทำการกินเลี้ยงตามบ้านตนเอง และสวดมนต์ข้ามปีที่วัด

2. ตานข้าวใหม่ จะเป็นวันที่พระสงค์ในวัดออนกลางจะทำการแจกถุงให้กับชาวบ้านทุกคนก่อนถึงวัน ตานข้าวใหม่ เพื่อใช้สำหรับใส่ข้าวสาร โดยใส่ข้าวสารจะใส่ตามจำนวนคนในบ้านหรือตามกำลังศรัทธา เช่น คน ในบ้านมีจำนวน 4 คน ใส่ข้าว 4 ลิตร เป็นต้น แต่หากบ้านหลังไหนไม่มีข้าวสารหรือไม่อยากใส่ข้าวสาร สามารถใส่เป็นเงินได้ จากนั้นให้นำไปถวายที่วัดร่วมกันในวันถัดไป เมื่อนำไปถวายที่วัดจะมีการทำบุญ หลังจากการทำบุญพระจะมีการขายข้าวสารให้สำหรับคนที่อยากซื้อข้าว เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปเป็นค่าใช้จ่ายในวัด

3. สงกรานต์ ในวันที่ 13-15 เมษายน จะมีการเรียกตามวันและมีกิจกรรมตามแต่ะวัน ดังนี้

  • สังขารล่อง ชาวบ้านจะเริ่มจากการตื่นเช้ามาทำความสะอาดบ้าน ซักผ้า อาบน้ำและใส่ชุดใหม่เพื่อต้อนรับวันปีใหม่เมือง จากนั้นจะทำความสะอาดหอพ่อบ้านหรือผีเสี้ยวบ้านร่วมกันทั้งหมู่บ้าน อีกส่วนจะทำการขนทรายเข้าและก่อทรายพร้อมทั้งเอาตุงปัก หลังจากนั้นจะไปบูชาผีเสี้ยวบ้านโดยเอาของไปรวมที่บ้านพ่อทองสุกที่ทำหน้าที่รวบรวมและนำไปเซ่นไหว้คนเดียว นอกจากนี้จะมีการซื้อของไปรวมกันที่ศาลาเพื่อให้กับผู้สูงอายุ และบุคคลที่ทางหมู่บ้านนับถือ ได้แก่ อาจารย์อำนวย (ศุภเลิศ) ครูสุเรียนและพ่อน้อย โดยจะไปดำหัวพร้อมทั้งหมู่บ้านและกินเลี้ยง
  • วันเนา เป็นวันฆ่าสัตว์ที่ใช้สำหรับทำบุญในวัดพญาวัน หรือเตรียมของสำหรับทำบุญทุกอย่างไว้ นอกจากนี้ยังเป็นวันที่ห้ามทุกคนพูดในสิ่งที่ไม่ดี เนื่องจากมีความเชื่อว่าการพูดไม่ดีออกไปสิ่งเหล่านั้น จะย้อนกลับเข้ามาที่ตัวเอง
  • วันพญาวัน เป็นวันทำบุญใหญ่ โดยชาวบ้านจะตื่นเช้ามานำสิ่งของที่เตรียมในวันเนาไปถวาย ที่วัดออนกลาง หลังจากที่ทำบุญที่วัดเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะแยกย้ายกันไปรดน้ำดำหัวผู้แก่ผู้เฒ่าตามบ้านของตนเอง และกินเลี้ยงกันตามบ้านของตนเอง
  • วันปากปี เป็นวันหลังจากวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันที่สงเคราะห์บ้าน หรือปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากบ้าน โดยแต่ละบ้านจะทำการปั้นรูปสัตว์ตามปีเกิดตามปีเกิดของคนในบ้านทุกคนแล้วนำไปใส่ที่รอง ซึ่งทำจากไม้ไผ่ให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมสำหรับใส่รูปปั้นเหล่านี้ จากนั้นจะนำไปไว้ที่ศาลเจ้าพ่อบ้านหรือผีเสี้ยวบ้าน แล้วให้พระสงฆ์สวดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย แล้วนำมาไว้ตามสี่ทิศของหมู่บ้าน นอกจากนี้แต่ละบ้านจะได้รับสายสิญจน์มาไว้ที่บ้านอีกด้วย

4. วิสาขบูชา จะเป็นวันที่ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตรที่วัดออนกลางในช่วงเช้า จากนั้นในช่วงเย็นจะมีการเวียนเทียน

5. เข้าพรรษา จะเป็นวันที่ไหว้ผีเสี้ยวบ้านหรือศาลพ่อบ้าน จะมีทำบุญที่วัดออนกลางโดยชาวบ้านจะไปเข้าร่วมทำบุญในตอนเช้า

6. สลากภัต จะทำช่วง 10 กันยายน - ตุลาคม หรือวันพระใหญ่ โดยจะเป็นการทำทานให้กับบรรพบุรุษที่เสียไปแล้วตามแต่ละครอบครัว โดยทุกบ้านจะทำต้นสลากที่วัด แต่แยกเป็นกรณีบ้านค่อนข้างมีฐานะจะทำต้นสลากภัตไปไว้ที่วัด ซึ่งจะต้นค่อนข้างใหญ่ และมีเงินเสียบไว้ค่อนข้างมาก จะถูกวางไว้บนโต๊ะที่เตรียมไว้สำหรับต้นสลากภัตโดยเฉพาะ เพื่อจับฉลากเลือกวัดที่จะอวยพรให้กับครอบครัว ส่วนบ้านที่ฐานะพอ กิน พอใช้หรือยากจนจะทำกรวยสลาก ซึ่งมีความแตกต่างจากต้นสลากภัตร คือ ต้นจะเล็กลงมา ในเงินเสียบไว้ ตามกำลังศรัทธา หรืออาจจะเป็นกรวยขี้ปุ๋ม ที่จะมีเพียงขนม นม เนย ของใช้ต่าง ๆ ที่จะถวายวัด

7. ออกพรรษา จะมีการไหว้ศาลพ่อเสี้ยวบ้านก่อนไปทำบุญที่วัด และทำบุญที่วัดออนกลางในช่วงเช้า

8. 12 เป็ง ตรงกับวันพระใหญ่ เป็นวันปล่อยผีให้มารับของทาน โดยชาวบ้านจะตื่นเช้าไปทำบุญใส่ขัน ดอก จุดธูปเทียนที่วัดออนกลาง ในการทำทานพระจะให้ทำทานทีละครอบครัว หากชาวบ้านคนไหนที่ไม่ว่างก็มักจะกลับหลังจากทำทานเสร็จ ส่วนคนที่ว่างหรืออยากอยู่ต่อจะนั่งฟังธรรมต่อถึงบ่าย

9. ยี่เป็ง ชาวบ้านจะไปทำบุญด้วยกันที่วัดออนกลางช่วงเช้า จากนั้นในช่วงเย็นจะมีการจัดงานลอยกระทง โดยจัดบริเวณประปาหมู่บ้าน เนื่องจากจะมีการทำสะพานลงไปยังลำคลองเพื่อใช้ลอยกระทง นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมอื่น ๆ เช่น สอยดาว ประกวดกระทงและงานกินเลี้ยง เป็นต้น เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าร่วมประเพณีในหมู่บ้านโดยไม่ต้องออกไปนอกหมู่บ้าน

10. ผีเสี้ยวบ้าน หรือศาลเจ้าพ่อบ้าน เป็นศาลที่ชาวบ้านเชื่อว่าปกปักรักษาหมู่บ้าน ศาลเจ้าพ่อจะทำความสะอาดและสักการะในช่วงเข้าพรรษา ออกพรรษาและสงกรานต์ โดยคนในหมู่บ้านจะนำเครื่องเซ่นไปไว้ที่พ่อทองสุกเพื่อให้พ่อทองสุกนำไปทำพิธีและอาจมีตัวแทนของแต่ละบ้านไปร่วมด้วย

11. พัฒนาหมู่บ้าน ประชาชนบ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 ไม่ได้มีการกำหนดวันเวลาในการพัฒนาหมู่บ้าน แต่จะทำก่อนวันสำคัญต่าง ๆ โดยคนทั้งหมู่บ้านจะร่วมกันทำความสะอาดตามโซนของหมู่บ้านตัวเอง

1.  นายสุคำ ปัญญาคง ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตรกรรม

จากการสอบถามเรื่องราวของพ่อสุคำจากชาวบ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 กล่าวถึงว่า พ่อสุคำ เป็นคนอารมณ์ดี มีจิตสาธารณะ ช่วยเหลืองานในชุมชนตลอด โดยพ่อสุคำนั้นเดิมเป็นคนบ้านออนใต้แต่กำเนิด ก่อนจะย้ายมาอยู่บ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 ในปี พ.ศ. 2534 พ่อสุคำเล่าว่าเมื่อปี พ.ศ. 2524 ได้ลาออกจากโรงเรียนมา ทำงานเนื่องจากคิดว่าตนเองเรียนหนังสือไม่เก่ง จำที่ครูสอนไม่ได้ คิดว่าออกมาทำงานหาเงินดีกว่าเพราะในอดีตไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนสูง จึงออกมาทำการเกษตรโดยปลูกถั่วลิสง ยาสูบ และเลี้ยงโค กระบือ ที่บ้านออนใต้กับครอบครัวที่เลือกทำเกษตรกรรมเพราะเป็นอาชีพที่อิสระ ไม่ต้องไปคอยรับจ้าง อยากไปทำวันไหน หรืออยากจะหยุดวันไหนก็ได้ โดยพ่อสุคำได้มีการปลูกถั่วลิสงต่อจากครอบครัว ซึ่งการปลูก 1 ครั้งใช้เวลา ประมาณ 4 เดือน และมีการปลูกยาสูบควบคู่ไปด้วยในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงพักจากการปลูกถั่วลิสง โดยจะนำยาสูบไปอัดเป็นแท่ง แล้วนำไปส่งให้กับโรงเตาอบที่บ้านแม่ผาแหน ทำได้ประมาณ 11 ปี จึงเลิกปลูกยาสูบเนื่องจากใช้ต้นทุนและแรงงานเยอะ ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้นและร่างกายเริ่มมีความเจ็บป่วยจึงไม่มีกำลังในการทำต่อ ร่วมกับความต้องการของตลาดยาสูบลดลง เพราะมีการนำเข้ายาสูบจากต่างประเทศมากขึ้น และเลิกปลูกถั่วลิสงเนื่องจากมีระยะเวลาการปลูกที่ยาวนานถึง 4 เดือน ให้ผลผลิตได้ช้า ไม่เพียงพอในยุคที่เศรษฐกิจไม่ดี

จากนั้นในปี พ.ศ. 2534 พ่อสุคำได้แต่งงานและย้ายมาอยู่ที่บ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 ไม่มีบุตรร่วมกัน เนื่องจากมีบุตรยาก และได้มีการเปลี่ยนมาทำเกษตรกรรม โดยการปลูกข้าวโพดอ่อน พ่อสุคำเล่าว่า ที่เลือกปลูกข้าวโพดอ่อนเพราะมีระยะเวลาที่สั้น ใช้เวลาตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยวเป็นเวลา 45 วัน ดูแลง่าย มีการใส่ใจใน การดูแล มีการใช้ปุ๋ยขี้วัวตอนกลบหน้าดิน เพื่อให้ดินร่วนซุย ถ้าใช้ปุ๋ยเคมีจะทำให้ดินเป็นกรด/ด่าง ทำให้ได้ผล ผลิตที่ไม่สวยงาม ทำให้ราคาของข้าวโพดอ่อนลดลง มีการทำร่องน้ำไว้ โดยจะใส่น้ำ 10 วัน/ครั้ง เนื่องจากเป็นดินเหนียวสามารถอุ้มน้ำได้ดี มีการปลูกหมุนเวียนสายพันธุ์ตามฤดูกาล พ่อสุคำได้ศึกษาสูตรของเมล็ดพันธุ์แต่ละสูตรว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ใช้เวลาศึกษาและทดลองปลูกเป็นเวลา 4 - 5 ปี จากนั้นได้มีการแนะนำและสอนชาวบ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 เนื่องจากอยากให้ชาวบ้านมีความรู้และสามารถปลูกข้าวโพดอ่อนให้ได้ผลดี ทั้งหมู่บ้าน ให้ผลผลิตด้านการเกษตรของหมู่บ้านมีคุณภาพ พ่อสุคำบอกว่าในช่วงฤดูร้อน จะใช้สูตร CP468 และ Pacific571 แต่สูตร Pacific571 ได้น้ำหนักผลผลิตดีกว่า ส่วนฤดูหนาวจะใช้สูตร Pacific322 การเก็บข้าวโพดอ่อนต้องเก็บภายในวันเดียว ต้องมีการวางแผนจัดการเวลาในการเก็บข้าวโพดอ่อนตอนเช้า ถ้าเก็บในช่วงสายก็จะได้ผลผลิตที่แก่และทำให้ราคาลดลง และพ่อสุคำยังเล่าอีกว่า นายทุนจะมีการนำเมล็ดพันธุ์มาฝากไว้กับพ่อสุคำ โดยพ่อสุคำได้แบ่งปันพื้นที่ในบ้านไว้เก็บเมล็ดพันธุ์ที่นายทุนนำมาฝากไว้ แล้วให้ชาวบ้าน บ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 มารับแล้วจดชื่อไว้เพื่อนำไปปลูกเพื่อให้ชาวบ้านนำเปลือกและต้นไปให้นายทุน เพื่อนำไปเป็นอาหารของโคนม

จากการถ่ายทอดประสบการณ์และให้ความรู้แก่ชาวบ้านเกี่ยวกับการปลูกข้าวโพดอ่อน ทำให้พ่อสุคำได้รับแต่งตั้งให้เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตรกรรม โดยนายวรศักดิ์ ตาลศรี อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 บ้านป่าตันใต้ เป็นผู้แต่งตั้งเมื่อปี 2557 พ่อสุคำเปรียบเทียบให้เห็นว่าในปัจจุบันทุกคนทำงานหนัก เพื่อ หาเลี้ยงตนเองและครอบครัวในเศรษฐกิจที่ไม่ดี อย่างในปัจจุบันราคาข้าวโพดอ่อนขายได้กิโลกรัมละ 20 บาท หากผลผลิตไม่เป็นไปตามมาตรฐานจะเหลือกิโลกรัมละ 4 บาท ซึ่งมีความแตกต่างของราคา ทำให้เกษตรกร ขาดทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ขายได้กิโลกรัมละ 25 บาท จากราคาที่ลดลงทำให้เกษตรกรเริ่ม ปลูกข้าวโพดอ่อนลดลงหันไปรับจ้างแทน ซึ่งเห็นถึงความแตกต่างของการดำเนินชีวิตจากในอดีตที่ทำ การเกษตรแล้วใช้ชีวิตแบบพอเพียง ไม่เบียดเบียนตนเองและครอบครัว ไม่สร้างหนี้สิน ซึ่งต่างจากเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันที่มีคนตกงานเพิ่มขึ้น มีการทำเกษตรกรรมลดลงเนื่องจากไม่มีต้นทุนในการผลิต และพ่อสุคำยังเล่าว่าช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวข้าวโพดอ่อนแล้ว พ่อสุคำจะมีการจ้างให้คนในชุมชนมาช่วยกันแกะ เป็นการเพิ่มรายได้ ให้กับชาวบ้านที่ตกงานในช่วงโควิด-19 ด้วย ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชน

ในอดีตตั้งแต่ พ.ศ. 2550 พ่อสุคำได้รับการเสนอชื่อให้รับตำแหน่งคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพ หมู่บ้าน/ชุมชน (SML) จากคณะกรรมการหมู่บ้านทุกคน โดยจะมีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับการเงินของหมู่บ้าน คอยแนะนำและตรวจสอบเกี่ยวกับความสามารถในการกู้ยืมเงินของคนในชุมชน มีหลักการทำงานเป็นขั้นตอน มีการวางแผน มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และในปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน ได้รับคัดเลือกให้เป็นหัวหน้า คุ้มที่ 1 สันติสุข ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลชาวบ้านในคุ้มที่ 1 ประมาณ 10 กว่าหลังคาเรือน คอยจัดการเมื่อมี เหตุการณ์ไม่สงบในระแวกนั้น เช่น การทะเลาะวิวาท พ่อสุคำก็จะเป็นคนไปพูดคุยเจรจาและแก้ปัญหา พ่อสุคำ ยังเปรียบเทียบให้ฟังอีกว่าการเป็นหัวหน้าคุ้มไม่ใช่ว่าตนเองนั้นจะเป็นใหญ่ที่สุด แต่ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน เพียงแค่พ่อสุคำมีหน้าที่ในการช่วยดูแลชาวบ้านในชุมชน และยังได้รับตำแหน่งกรรมการโรงน้ำดื่มบ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 คอยจัดการและดูแลเกี่ยวกับการผลิตน้ำเพื่อบริโภคในชุมชนบ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 พ่อสุคำยังบอกอีกว่าการทำงานเพื่อส่วนรวมจะต้องมีความรับผิดชอบอยู่เสมอ ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ การสื่อสารต้องมีสติ มีวุฒิภาวะ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ร่วมกันตัดสินใจแก้ปัญหา ทำงานกันเป็นทีม ไม่ตั้งตนเป็นใหญ่หรือเอาแต่ใจตนเอง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาหลักในการติดต่อสื่อสารคือ ภาษาไทยและคำเมือง (ภาษาเหนือ)


บ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 เป็นพื้นที่ชนบทมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ประชาชนในชุมชนมีฐานะพอกินพอใช้ รายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 5000-10000 บาท



ประชาชนบ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 ส่วนมากมีการใช้ยานพาหนะ เช่นรถจักรยานยนต์ รถยนต์ ของตนเอง ในการเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ เช่นประชากรจะขับรถไปทำงาน ตอน 08.30-16.00 น. ถ้าจะออกนอกสถานที่ ในหมู่ 5 ก็จะมีการใช้รถยนต์ของตนเองเป็นหลัก เช่น การเดินทางไปโรงพยาบาลแม่ออน เพื่อไปรับยามา รับประทาน เป็นต้น  ประชาชนบ้านป่าตันใต้ หมู่ 5 ส่วนมากจะใช้น้ำ             

ประปาของหมู่บ้านในการอุปโภคและบริโภคน้ำจาก โรงงานทำน้ำดื่มของหมู่บ้านเป็นหลัก โดยราคาของน้ำดื่มจะตกอยู่ที่ลังน้ำละ 32 บาท มีน้ำพอกินพอใช้ตลอดปี ประชาชนในหมู่ 5 จะมีการประกอบอาหารรับประทานกันเองและมีบางบ้านจะไปซื้อกับข้าวที่ หมู่บ้านหมู่ 4,6, และ 11 บริเวณใกล้เคียงมารับประทาน ส่วนใหญ่จะรับประทานอาหารประเภท แกงพื้นเมือง ปิ้ง ย่าง ของทอด เป็นต้น ส่วนร้านขายของชำในหมู่บ้านจะขายจำพวกอาหารสำเร็จรูป ขนมต่าง ๆ เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเชียงใหม่. (2564). ข้อมูลการสำรวจชุมชนบ้านป่าตันใต้ ระหว่างวันที่ 11 ตุลาคม - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564. เชียงใหม่: สาขาวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.