ธรรมมาสโบราณที่วัดตุ่นใต้มีอายุในราว 100 ถึง 150 ปี ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา ธรรมมาสเอกลักษณ์คือลายกระแสจีนและใช้แก้วโบราณหรือแก้วอังวะซึ่งมีความพิเศษกว่าแก้วปัจจุบัน
ตำนานสามกษัตริย์ พระร่วงเจ้า พญามังราย และพญางำเมือง เมื่อพระร่วงได้โอกาสพยายามจะลักลอบเป็นชู้กับพระนางอั้วเชียงแสน พญางำเมืองจึงได้ให้เสนาอำมาตย์หาเสียมมาขุดไล่ตามตุ่น ที่พระร่วงแปลงกายเป็นตัวตุ่น เกือบจะถึงตัวตุ่นแต่ไม่ทัน พญางำเมืองจึงเนรมิตแปลงกายเป็นก้อนหินไปปิดข้างทางข้ามดอยหลวง ตุ่นจึงมุดหนีไปไม่ได้ พญางำเมืองจึงจับตัวตุ่นได้ที่นั่น บริเวณนั่นจึงได้ชื่อว่า "บ้านตุ่น"
ธรรมมาสโบราณที่วัดตุ่นใต้มีอายุในราว 100 ถึง 150 ปี ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา ธรรมมาสเอกลักษณ์คือลายกระแสจีนและใช้แก้วโบราณหรือแก้วอังวะซึ่งมีความพิเศษกว่าแก้วปัจจุบัน
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน
เมืองพะเยาเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตตั้งแต่ยุคสมัยของอาณาจักรภูกามยาว มีกษัตริย์ปกครองสืบสันตติวงศ์ตั้งแต่ราชวงศ์ลวจักราช ปฐมกษัตริย์แห่งนครเงินยางเชียงแสน ที่มีเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายคือพญางำเมือง จากที่เมืองพะเยาต้องสูญเสียอิสรภาพแก่ข้าศึก ทำให้สูญสิ้นราชวงศ์งำเมืองไปด้วย แว่นแคว้นพะเยาไม่สามารถตั้งตัวได้ ก็ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนา พะเยาก็มีลักษณะเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในล้านนา คือมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในหุบเขา ในหุบเขาประกอบด้วยชุมชนใหญ่น้อยหลายแห่ง ชุมชนบางแห่งที่มีความสำคัญจะมีการสร้างคูน้ำ คันดินหรือกำแพงล้อมรอบ ในเมืองพะเยามีชุมชนหรือคูน้ำคันดินล้อมรอบที่เรียกว่า “เวียง” ทั้งหมด 11 แห่ง ความสัมพันธ์ระหว่างเวียงต่าง ๆ ทั้ง 11 แห่ง แบ่งออกได้ถึง 36 พันนา โดยมีชุมชนหลักที่เป็นศูนย์กลางการบริหารขอบเขตของแต่ละพันนา ก็มีลักษณะคล้ายกับตำบลในปัจจุบัน โดยประกอบไปด้วยชุมชนระดับหมู่บ้านหลายแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน และใช้ระบบชลประทานเหมืองฝายเดียวกัน โดยที่พันนาจัน คือบริเวณตำบลบ้านงิ้ว บ้านสาง บ้านตุ่น บ้านเลิง บ้านสานหลวง และ บ้านสันดอนมูล
ในสมัยหนึ่งนานมาแล้ว พญาเจ้าเมืองตู้ (พญางำเมือง) ปกครองเมืองพะเยาเป็นสหายกับพระเจ้าเมืองแก้ว (พญามังราย) ซึ่งปกครองเมืองเชียงใหม่และพระร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) ปกครองแคว้นสุโขทัย พระร่วงได้ทราบว่า พระนางอั้วเชียงแสน พระชายาของพญางำเมือง มีรูปร่างสวยงาม น่ารัก คำพูดไพเราะ กริยาอ่อนโยนหาใครจะเปรียบปานไม่ได้ จึงอยากจะเป็นชู้กับภรรยาของสหาย อยู่มาวันหนึ่งพญางำเมืองมีธุระไปราชการในหัวเมืองใหญ่ 7 วัน พระร่วงได้โอกาสพยายามจะลักลอบเป็นชู้กับพระนางอั้วเชียงแสน จึงได้เนรมิตแปลงกายเหมือนพญางำเมืองและได้ลักลอบไปหาพระนางอั้วเชียงแสน ทำให้นางเข้าใจผิดคิดว่าพญางำเมืองกลับมาจึงต้อนรับตามปกติ เมื่อเวลาผ่านไป 4 วัน พระร่วงได้ข่าวว่า พญางำเมืองผู้เป็นสหายจะกลับมา จึงบอกพระนางอั้วเชียงแสนว่าตนจะไปเที่ยวเมืองเชียงใหม่ จนกระทั่งเวลาผ่านไปครบ 7 วัน พญางำเมืองก็กลับมาจากราชการ พระนางอั้วเชียงแสนนึกสงสัยและแปลกใจ แต่ก็ออกไปต้อนรับพญางำเมืองและได้สนทนาปราศรัยกันในเรื่องไปเที่ยวเมืองเชียงใหม่ ว่ามีเรื่องราวอย่างไรบ้าง พญางำเมืองจึงนึกสะดุดใจ เพราะตนไปราชการในหัวเมืองใหญ่ไม่ได้ไปเที่ยวเมืองเชียงใหม่ และนึกสงสัยว่า พระร่วงผู้เป็นสหายต้องแปลงกายเหมือนเพื่อเป็นชู้ชายาของตน จึงเกิดความโมโหขึ้นอย่างรุนแรงและได้ส่งหนังสือสารไปเรียกตัวพระร่วงมาพบโดยด่วนที่สุด เมื่อพระร่วงได้รับหนังสือสารก็ไม่ทันรู้ตัวคิดว่าพญางำเมืองผู้เป็นสหายมีเหตุการณ์เมืองด่วน พระร่วงจึงได้มาพบพญางำเมืองตามคำเชิญ เมื่อพูดปราศรัยกันไปมา พระร่วงก็ได้ทราบเรื่องราวและรู้ตัวว่า ตนทำให้พญางำเมืองโกรธแค้นมาก และจะประหารชีวิตตน พระร่วงจึงได้เนรมิตแปลงกายเป็นกาดำบินหายไปในขณะนั้น พญางำเมืองรู้ทันเหตุการณ์จึงเนรมิตแปลงกายเป็นเหยี่ยวไล่ตามไปถึงทุ่งกำใจ เมื่อพระร่วงบินไปถึงบ้านแม่กาโทกหวาก รู้ตัวว่าตนบินหนีไม่รอดพ้นจากอันตรายและเหยี่ยวกำลังจะมาทันตน จึงได้บินลงมาสู่พื้นดินและเนรมิตแปลงกายใหม่เป็นวัวกระทิงแดง วิ่งไปตามปาละเมาะพญางำเมืองจึงได้เนรมิตแปลงกายเป็นพรานถือธนู วิ่งไล่วัวกระทิงไปจนถึงทุ่งบ้านแม่ใส จึงได้เรียกบริเวณนั้นว่า "แม่ใสทุ่งวัวแดง" ถึงปัจจุบัน
เมื่อพระร่วงได้เนรมิตแปลงกายเป็นกระทิงแดงและเห็นท่าทีว่าจะไม่พ้นอันตรายกลัวพรานจะวิ่งไล่ทัน จึงได้เนรมิตแปลงกายเป็นตัวตุ่น มุดไปตามพื้นดิน จึงได้กลายเป็นแม่น้ำตุ่น ซึ่งเรียกว่า "น้ำแม่ตุ่น" จนถึงปัจจุบัน พญางำเมืองจึงได้ให้เสนาอำมาตย์หาเสียมมาขุดไล่ตามตุ่นเกือบจะถึงตัวตุ่นแต่ไม่ทัน พญางำเมืองจึงเนรมิตแปลงกายเป็นก้อนหินไปปิดข้างทางข้ามดอยหลวง ตุ่นจึงมุดหนีไปไม่ได้ พญางำเมืองจึงจับตัวตุ่นได้ที่นั่น บริเวณนั่นจึงได้ชื่อว่า "บ้านตุ่น" จนถึงปัจจุบัน
รัชกาลที่ 5 พญากาวิละปกครองบ้านเมืองโดยมีการกู้ล้านนาจากพม่า เนื่องจากมีการรบกบฏจากพม่าล้านนาตะวันออกจึงมีการขอให้คนลำปางมาช่วยรบและหลังจากนั้นก็มีการไปหาสู่กันของคนลำปางกับคนบ้านตุ่น ซึ่งประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านตุ่นนั้นเข้าใจว่าได้อพยพจากจังหวัดลำปางและมาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านตุ่นกลาง โดยมีวัดตุ่นกลางเป็นวัดแห่งแรกของตำบลบ้านตุ่น ต่อมาเมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้นจึงได้ตั้งบ้านเรือนลงมาข้างล่างของหมู่บ้านและได้แยกจากบ้านตุ่นกลางหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ออกมาเป็นบ้านตุ่นใต้ หมู่ที่ 1 และได้สร้างวัดตุ่นใต้ขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2400-2420
สำหรับบ้านตุ่นใต้นั้นคำว่า "ใต้" หมายถึงทิศด้านล่างซึ่งอาจกล่าวได้ว่าอยู่ล่างของบ้านตุ่นกลางหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “บ้านใต้” รวมทั้งมีแม่น้ำไหลผ่านคือ ห้วยแม่ตุ่น ซึ่งไหลมาจากเทือกเขาผีปันน้ำ ซึ่งอยู่ระหว่างอำเภอวังเหนือจังหวัดลำปางกับอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ซึ่งบ้านตุ่นใต้นั้นอยู่ด้านล่างของหมู่บ้านตุ่นกลางที่ไหลลงมาจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “บ้านใต้น้ำล้อม” ลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้านอาณาเขตปกครอง ทิศเหนือจรดบ้านตุ่นใต้ หมู่ 7 ทิศใต้จรดบ้านห้วยลึก หมู่ 11 ทิศตะวันออกจรดบ้านสันกว๊านและบ้านทุ่งกิ่ว ทิศตะวันตกจรดบ้านตุ่นกลาง หมู่ 2,3
เมืองพะเยายุคหลังสมัยรัตนโกสินทร์
พ.ศ. 2310 หลังจากดินแดนล้านนาทั้งหมดถูกพม่ายึดครองได้ในปี พ.ศ. 2101 ทำให้ล้านนาตกอยู่ภายใต้ การปกครองของพม่าเป็นระยะเวลา 200 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองพะเยาถูกลดฐานะและความสำคัญของเมืองไป กระทั่งเมืองพะเยาก็เป็นเมืองร้าง เหมือนกับหลายเมืองในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310
พ.ศ. 2315 ได้มีการสร้างวิหาร วัดตุ่นใต้ตั้งอยู่เลขที่ 105 บ้านตุ่นใต้หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ จำนวน 3 ไร่ 2 งาน 36 ตารางวาโฉนดเลขที่ 27845 อาณาเขตทิศเหนือติดลำน้ำตุ่น ทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตกติดถนน อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ศาลาอเนกประสงค์ หอระฆังศาลาหอฉันปูชนียวัตถุ มีพระพุทธรูป ธรรมมาสน์
วัดตุ่นใต้ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2315 เดิมชาวบ้านเรียก วัดตุ่นใต้น้ำล้อม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2482 การบริหารการปกครองมีเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันจำนวน 14 รูป
พ.ศ. 2387 เจ้าเมืองพะเยาคนแรก ในสมัยรัตนโกสินทร์คือ เจ้าพุทธวงศ์ เจ้าหลวงวงศ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ แต่ประชาชนมักจะเรียกตามนามเดิม เช่น เจ้าหลวงวงศ์ และเป็นตำแหน่งประจำของเจ้าหลวงเมืองพะเยา ในเวลาต่อมา ต่อนั้นก็แบ่งครอบครัวชาวเมืองลำปางให้ไปอยู่เมืองพะเยา ส่วนลูกหลานพวกที่อพยพหนีพม่า จากที่เมืองพะเยาเป็นเมืองร้างไปถึง 56 ปี พากันอพยพกลับสู่เมืองพะเยา
พ.ศ. 2389 นายฐา มารสาร อพยพจากสงคราม มาจากเมืองแพร่มาได้ภรรยาอยู่บ้านตุ่นและได้เปลี่ยนนานสกุลเป็นนามสกุลของภรรยาเป็น “เสธา” ได้มีบุตรด้วยกัน 9 คน เดิมนายฐาเคยเป็นทหารเก่าที่รบอยู่ชายแดน และได้หนีมาอยู่บ้านตุ่น ก็ได้มาเป็นหมอเมือง หรือเรียกว่า “หมอชาวบ้าน” โดยรักษาผู้ป่วยในหมู่บ้านและยังเป็นหมอตำแยทำคลอดคนในหมู่บ้าน
ความเป็นมาของบ้านตุ่นใต้หมู่ 1 จากหลักฐานและประกอบกับคำบอกเล่าของผู้เฒ่าว่าสำหรับบ้านตุ่นใต้นั้น คำว่า “ใต้” หมายถึง “ทิศด้านล่าง” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า อยู่ด้านล่างของบ้านตุ่นกลางหรือเรียกอีกอย่างว่า“บ้านใต้” รวมทั้งมีแม่น้ำไหลผ่าน คือ ห้วยแม่ตุ่น ไหลมาจากเทือกเขาผีปันน้ำระหว่างอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปางกับอำเภอเมืองพะเยา หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าบัวและมีพระราชบัญญัติการปกครองท้องถิ่นปี พ.ศ. 2447 พร้อมกับได้มีการจัดตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ ท้าวสาร คำโล และมีกำนันคนแรกของบ้านตุ่นใต้ ชื่อนายอิน ริมจันทร์หมู่ที่ 1 ก็ได้แยกหมู่บ้านออกเป็นอีก 1 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 7 เดิมคนไทยไม่มีนามสกุล มีเพียงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงทรงโปรดให้มีการตั้งนามสกุลประเทศอื่น ๆ โดยให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุล เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 ให้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 หลายครอบครัวก็ตั้งนามสกุลตามชื่อผู้นำของครอบครัวนั้น หรือตามถิ่นที่อยู่อาศัยของครอบครัว ซึ่งนามสกุลเดิมในอดีตประมาณ 100 ปีของบ้านตุ่นใต้ ตั้งแต่มีการตราพระราชบัญญัตินามสกุลมาจากต้นตระกูลของท้าวสาร คำโล คือนามสกุล คำโล ในหมู่บ้าน นามสกุลเครือสารและนามสกุลริมจันทร์ ในปัจจุบันนามสกุลที่มีมากที่สุดในคือ นามสกุลเครือสาร นามสกุลหล่อวงศ์ และนามสกุล เสธา บ้านตุ่นเป็นชุมชนขนาดกลาง ลักษณะของพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา ของเทือกเขาดอยหลวง พื้นที่ของหมู่บ้านมีทั้งหมด 863 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่อยู่อาศัย 203 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 660 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ทำนา 633 ไร่ พื้นที่ทำสวน 15 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตรอื่น ๆ 12 ไร่ ซึ่งลักษณะทั่วไปของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนามีความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยพืชพรรณการเกษตร เช่น มะม่วง ลำไย มะขาม และข้าว ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักคืออาชีพเกษตรกร ได้แก่ การทำนา และมีแม่น้ำตุ่น ซึ่งมีต้นน้ำที่เทือกเขาดอยหลวงและเส้นทางน้ำได้แยกเป็น 2 สาย บริเวณหลังโรงเรียนบ้านตุ่น โดยลำน้ำสายแรกไหลผ่านกลางหมู่บ้านและลำน้ำอีกสายเลียบผ่านไปตามถนนที่ใช้สัญจรไปบ้านสันกว้าน ลำน้ำทั้งสองสายไหลลงกว๊านพะเยาที่บ้านทุ่งกิ่ว ประชาชนในหมู่บ้านใช้น้ำจากแหล่งน้ำแม่ตุ่นสำหรับทำการเกษตร
พ.ศ. 2457 นายอินถา ริมจันทร์ ได้รับตำแหน่งเป็นกำนันบ้านตุ่นและผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 โดยที่บ้านของนายอินถา ได้มีโทรศัพท์ 1 เครื่อง เพื่อแจ้งเหตุที่เกิดในหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีวิทยุสื่อสาร ที่บ้านผู่ใหญ่บ้าน 1 เครื่องและที่วัดอีก 1 เครื่องซึ่งในสมัยนั้น ยังไม่มีถนนสำหรับเชื่อมต่อ จากตำบลบ้านตุ่นไปยังตำบลแม่ใจ ต่อมาเริ่มมีการสร้างถนนเดินแดงเพื่อเชื่อมถนนภายในหมู่บ้านและเชื่อมกับตำบลอื่น นอกจากนี้ นายบุญศรี เครือสาร ได้มีรถจักรยานยนต์คันแรกใช้ในหมู่บ้าน และได้มีการจัดตั้งโรงเรียนบ้านตุ่นขึ้นครั้งแรก โดยนายพุธ วงศ์ดวง หรือ “ครูพุธ” โดยได้ขอความร่วมมือจากชาวบ้าน มาช่วยการสร้างโรงเรียนขึ้นมา และครูพุธยังเป็นบุคคลแรกที่มีรถจักรยานใช้ ในหมู่บ้าน ในขณะนั้น
พ.ศ. 2499 นายขาว วาเพชร มีโรงสีข้าว เป็นโรงสีแห่งแรกของบ้านบ้านตุ่น โดยในสมัยก่อนในหมู่บ้านไม่มีโรงสีข้าวทำให้ต้องใช้หม้อหินโม่ข้าว ข้าวที่ออกมาจะไม่สวยและเปลือกออกไม่หมด นายขาวพอมีเก็บอยู่บ้างเลยตัดสินใจซื้อโรงสีเพื่อสีข้าว ในสมัยนั้นคนที่มาสีข้าวจะคิดเป็นหาบละ 5 บาท ทำให้คนในหมู่บ้านและหมูบ้านใกล้เคียงมาสีข้าวเกือบทุกวัน
พ.ศ.2502-2504 นายศิริ เพชรโรจน์ มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยา มาพัฒนาการหลายอย่าง เช่นปรับปรุงระเบียบการทำงานของหน่วยราชการให้รัดกุมยิ่งขึ้นการพัฒนาท้องที่ตำบลรอบนอกนั้นส่วนใหญ่พัฒนาทำถนนหนทาง เช่น พัฒนาปรับปรุงถนนต่อจากตำบลแม่ต๋ำ-ผ่านตำบลแม่นาเรือ ตำบลตุ่น ต๋อม ต๊ำและตำบลใหม่ 28 ก.ม. ติดต่อกับเขตอำเภอแม่ใจ
พ.ศ. 2510 นายขาว วาเพชร มีรถยนต์เป็นคันแรกของหมู่บ้าน โดยเป็นรถยนต์โดยสารขับไปในเมืองโดยใช้เวลาในการเดินทางไปครึ่งวันถึงจะถึงในเมือง ค่ารถคิดเป็นคนละ 2บาทต่อครั้งและสมัยนั้นถนนเป็นทางดินแดงและมีลักษณะเป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้การเดินทางในแต่ละครั้งใช้เวลานานและล่าช้า
พ.ศ. 2518 นายปวก หล่อวงศ์ ได้ขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านตุ่นใต้
พ.ศ. 2523 ประเทศไทยได้ลงนามในกฎบัตรขององค์การอนามัยโลกเพื่อการพัฒนาสุขภาพ และกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติให้ใ้ช้การสาธารณสุขมูลฐานเป็นกลวิธีหลัก ในการดำเนินงาน เพื่อบรรลุเป้าหมาย “สุขภาพดีถ้วนหน้าในปี 2543” กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เริ่มดำเนินการสาธารณสุขมูลฐาน ในช่วงแผนพัฒนาการสาธารณสุข ฉบับท่ี 4 (พ.ศ. 2520-2524) โดยในเบื้องต้นได้เน้นด้านการฝึกอบรมอาสาสมัคร ได้แก่ ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข(ผสส.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยนายเจริญ ไก่แก้ว ได้ฝึกอบรมและได้รับตำแหน่งเป็นประธานอาสาสมัครผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) คนแรกของบ้านตุ่น
พ.ศ. 2524 นายหน่อม เครือสาร ได้ขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านตุ่นใต้ เมื่ออายุได้ประมาณ 42 ปี
พ.ศ. 2524-2538 นายหน่อม เป็นผู้นำไฟฟ้าเข้าหมู่บ้านเป็นครั้งแรก โดยระดมเงินที่ได้จากชาวบ้านในชุมชน และเงินจากงานบุญต่าง ๆ เพื่อสร้างไฟฟ้าภายในหมู่บ้าน โดยไม่ได้ขอเงินจากหลวง จากนั้นไม่นาน ได้ขอถนนเข้ามาในหมู่บ้าน จากนายปลัด โดยมีชาวบ้าน ทหารและเหล่าสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ช่วยกันสร้าง
พ.ศ. 2528 นายสมเพชร ข้าวทวี ได้รับตำแหน่งเป็นประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และคัดเลือกสมาชิก โดยได้ทำการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยมีบทบาทที่สำคัญในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมสุขภาพอนามัย (Change Agents) โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือดูแลสุขภาพกันเอง ซึ่ง อสม. จัดเป็นทรัพยากรบุคคล ที่มีคุณค่าต่อการพัฒนางานสาธารณสุขในชุมชนเป็นอย่างมาก
พ.ศ. 2542 นายปราโมทย์ สูงศักดิ์ ได้ขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านตุ่นใต้ ได้มีการสร้างถนน จากถนนดินแดงเป็นถนนลาดยาง และได้ทำรางระบายน้ำภายในหมูบ้าน
พ.ศ. 2552 นายวิจิตร ใหม่นา ได้ขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านตุ่นใต้ และได้ริเริ่มโครงการทำฝายชะลอน้ำ เพื่อลดความรุนแรงของกระแสน้ำ เพื่อเก็บไว้ใช้ ในฤดูแล้ง
พ.ศ. 2557 หมู่บ้านตุ่นใต้ ได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบ ดีเด่นระดับอำเภอ ตามโครงการ สร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” โดยนายวิจิตร ใหม่นา ได้รับรางวัล เป็นบุคคลต้นแบบ ในการดำเนินโครงการ “หมู่บ้านศีล 5 ปี 2557”
พ.ศ. 2558 เกิดโรงเรียนศูนย์สามวัย เพื่อให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยมีความรัก ความสัมพันธ์ มีความเอื้ออาทร แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีต่อกัน และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยเริ่มจากสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความสำคัญในการปูพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจและสุขภาพจิตที่ดี ให้กับทุกคนในสังคม โดยคำว่า 3 วัย หมายถึง วัยเด็กถึงวัยครองคู่ วัยกลางคน และวัยสูงอายุ จึงได้จำลองวิถีความเป็นอยู่ของบุคคล 3 วัย เกี่ยวโยงความผูกพัน รักใคร่ จัดกิจกรรมเชื่อมโยงแต่ละวัย เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
พ.ศ. 2559 มีการจัดตั้งโรงเรียนชาวนา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรในหมู่บ้านให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ศูนย์อนุรักษ์ควายไทย และตลาด OTOP ขึ้น
พ.ศ. 2560 ได้จัดทำโครงการจัดเก็บน้ำ โดยได้จัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน โดยใช้หลักการเติมน้ำไปเก็บในชั้นใต้ดิน เพื่อเป็นการพักน้ำรวมไว้เหมือนธนาคาร หรืออีกวิธีคือ การใช้เศษขวดแก้ว เศษอิฐ กรวด หิน หรือวัสดุที่มีในท้องถิ่นมาทับถม ในบ่อเพื่อแทนที่น้ำ ให้น้ำล้นออกมาใช้ได้เร็วขึ้น เมื่อน้ำใต้ดินมีปริมาณมากพอ แนวคิดนี้เปรียบเสมือนการออม หรือกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในหน้าแล้ง หรืออุ้มน้ำไว้ในยามน้ำหลาก
พ.ศ.2560 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ระดับจังหวัด หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็นเป็นสุข รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับจังหวัด ศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชนดีเด่น
พ.ศ. 2560-2563 มีโครงการ “คนหัวใจหินและคนหัวใจเพชร” เพื่อลดการดื่มสุราของคนในหมู่บ้าน และผู้ใหญ่บ้าน
พ.ศ. 2562 ได้รางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง "อยู่เย็น เป็นสุข" ประจำปี 2562 โดยได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ได้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ระดับ “พออยู่ พอกิน” ได้รับรางวัลชนะเลิศ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น เป็นสุข ดีเด่นระดับจังหวัด ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัด หมู่บ้านต้นแบบประชาธิปไตยดีเด่น และนายวิจิตร ใหม่นา ได้รับรางวัล “เป็นผู้นำคนหัวใจเพชร เลิกเหล้าตลอดชีวิต” ภาคเหนือตอนบน จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สคร.
พ.ศ. 2563 มีการสร้าง “อาคารศูนย์การเรียนรู้ชุมชน” โดยได้รับงบประมาณ จากสำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดพะเยา
พ.ศ. 2564 ได้มีการสร้างไฟฟ้าทางการเกษตรขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวบ้านในชุมชน ที่ทำการเกษตรในการสัญจรไปมา
พ.ศ. 2565 ได้รับรางวัลชุมชนคุณธรรมต้นแบบโดดเด่น ระดับจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
หมู่บ้านมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 983 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 203 ไร่ พื้นที่ทางการเกษตร ประมาณ 660 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านแบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและบริเวณที่ตั้งของชุมชน บ้านเรือนจะอยู่กันเป็นกลุ่ม ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ โดยชั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างเป็นปูน บ้านเรือนแต่ละหลังล้อมรอบด้วยรั้ว สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติจะตั้งบ้านเรือนใกล้กันหรืออยู่ภายในคุ้มเดียวกัน ซึ่งจะมีทั้งหมด 5 คุ้ม คือ คุ้มหลิมกลางสันติสุข, คุ้มปงสามัคคีสร้างสรรค์, คุ้มปงสนุกร่มเย็น, คุ้มธารน้ำใจบ้านใต้ และคุ้มบ้านใต้ร่วมใจพัฒนา ส่วนใหญ่มีการปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหาร ได้แก่ ไก่ไข่
การคมนาคม
บ้านตุ่นใต้ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ห่างจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านตุ่น เป็นระยะทางประมาณ 1.3 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองจังหวัดพะเยาระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร ปัจจุบันการเดินทางสามารถเดินทางได้สะดวก มีถนนลาดยางสองช่องทาง ในหมู่บ้าน เป็นถนนคอนกรีต ไฟข้างทางยังไม่เพียงพอหากเดินทางตอนกลางคืน ประชากรส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์หรือรถจักรยานในการเดินทาง
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านตุ่นใต้ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านห้วยลึกหมู่ที่ 11 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านสันกว๊านหมู่ที่ 8 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านตุ่นกลางหมู่ที่ 2 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
ประชาชนให้ความสำคัญในการทำนุบำรุงพุทธศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา ณ วัดตุ่นใต้ มีศูนย์การเรียนรู้ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนในชุมชน เช่น หอวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตตำบลบ้านตุ่น(ธรรมาสโบราณบ้านตุ่นใต้) โรงเรียนชาวนา ศูนย์อนุรักษ์ควายไทย ครัวเรือนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง (โคกหนองนา) ศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้าน เฮือนโบราณ(บ้านหม่าเก่า) หัตถกรรมผู้สูงอายุ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน(เกษตรปลอดภัย) ฐานเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง(พืชผักสวนครัว) และมีโฮมสเตย์สำหรับผู้ที่เยี่ยมเยือน 5 แห่ง
จำนวนประชากรในบ้านตุ่นใต้ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา พ.ศ. 2564 มีจำนวน 119 หลัง มีประชากรทั้งหมด 291 คน โดยมีเพศชายจำนวน 130 คน คิดเป็นร้อยละ 44.66 และเพศหญิงจำนวน 161 คน คิดเป็นร้อยละ 55.34 พบว่า ประชากรส่วนมากอยู่ในช่วงอายุ 60-64 ปี จำนวน 33 คน คิดเป็นร้อยละ 11.36 รองลงมาเป็นอายุ 55-59 ปี จำนวน 30 คน คิดเป็นร้อยละ 10.31 และพบประชากรน้อยที่สุดในช่วง 90 ปีขึ้นไป จำนวน 4 คน คิดเป็นร้อยละ 1.37
นอกจากนี้บางครัวเรือนยังมีอาชีพรับราชการ ค้าขาย และมีอาชีพเสริม เช่น ช่างก่อสร้าง ปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์ จักสาน หรือรับจ้างทั่วไป ประชาชนในหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธทุกหลังคาเรือน
ในหมู่บ้านมีความเป็นเครือญาติที่มีความเกี่ยวพันกันสูง ให้ความสำคัญต่อการปกป้องรักษาวงศ์ตระกูลและชุมชน มีการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลและเครือญาติ ให้การยอมรับกฎการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนให้มีความรักใคร่สามัคคี ส่งผลให้การดําเนินชีวิตของประชาชนบ้านตุ่นใต้ มีความอยู่เย็นเป็นสุขจากรากฐานความคิดที่ผูกโยงกับระบบเดิม ชาวบ้านได้ยึดถือขนมธรรมเนียม ประเพณี ปฏิบัติต่าง ๆ จากอดีตถ่ายทอดสู่บุตรหลานปัจจุบัน
บ้านตุ่นใต้ หมู่ที่ 1 ตําบลบ้านตุ่น อําเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีองค์กรในการบริหารจัดการดูแลภายในหมู่บ้าน ซึ่งมีคณะกรรมการหมู่บ้านในการดําเนินการเป็นหลัก ผู้ที่มีบทบาทสําคัญในชุมชน
- ผู้ใหญ่บ้าน : นายวิจิตร ใหม่นา
- ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปกครอง : นายวีระวัฒน์ หล่อวงค์, นายสมชาติ กันทะวง
- ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านรักษาความสงบ : นายอุดม พาข้าว
- คณะกรรมการหมู่บ้าน : มีจำนวน 25 คน
หัวหน้าคุ้ม/เขต
- นางสาวณิตกมล ศีลปักษา : หัวหน้าคุ้มหลิมกลางสันติสุข
- นายเมืองแก้ว จรรยา : หัวหน้าคุ้มปงสามัคคีสร้างสรรค์
- นางจันทร์เพชร คำสุ : หัวหน้าคุ้มปงสนุกร่มเย็น
- นายสนั่น ปวงงาม : หัวหน้าคุ้มธารน้ำใจบ้านใต้
- นางประไพศรี เสธา : หัวหน้าคุ้มบ้านใต้ร่วมใจพัฒนา
กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำบ้าน : จำนวน 17 คน
- ประธาน : นายสมเพชร ข้าวทวี
- รองประธาน : นางปียะนาฏ ใหม่นา
- อาสาสมัครประปาหมู่บ้าน ประธาน : นายวิจิตร ใหม่นา
- อาสาสมัครเกษตร : นายนพพร มีเชาว์
ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเนื่องจากพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีลำน้ำแม่ตุ่นที่ไหลลงมาจากดอยหลวงพะเยาและอ่างเก็บน้ำแม่ตุ่นไหลผ่านกลางหมู่บ้าน
- รายได้หลัก : การเกษตรกรรม (ทำนา)
- อาชีพเสริม : รับจ้างทั่วไป, จักสาน, สานเข่ง, สุ่มไก่
- รายได้ของประชาชน : จากการทำนา, ปลูกกระเทียม, ค้าขาย, เบี้ยยังชีพ, รับจ้างทั่วไป, เบี้ยยังชีพ, เงินจากลูกหลาน, หัตถกรรม (ไม้กวาดทางมะพร้าว), รับราชการ, พนักงานบริษัท
- รายจ่ายของประชาชน : ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าน้ำมัน, ค่าโทรศัพท์, ค่าเล่าเรียนบุตร, ค่าอุปโภคบริโภค, ค่าหวย, ค่าปุ๋ย สารเคมีทางการเกษตร, ค่าบุหรี่-สุรา
ปฏิทินวัฒนธรรม ประเพณีวัฒนธรรมส่วนใหญ่ใกล้เคียงกันในบริบทของล้านนา
- เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : วันขึ้นปีใหม่, กลางเดือนจัดทำพิธี “ตานข้าวใหม่”
- เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : เก็บส้มป่อยศักดิ์สิทธิ์ เป็นการเก็บในวันที่สำคัญของวันใดวันหนึ่งของเดือนเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ในการนำส้มป่อยในประกอบพิธีต่าง ๆ, บวงสรวงศาลเจ้าบ้าน
- เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : สืบชะตาหลวงประจำปีของหมู่บ้าน
- เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ปีใหม่เมือง ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ โดยวันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่นบอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์) วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น วันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี วันที่ 15 เมษายน “วันพญาวัน” วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันข้าว” นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ เลี้ยงผีปู่ย่าในวันนี้ ส่วนวันที่ 16 เมษายน “วันปากปี” เป็นวันแรกของปี มารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน พิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่าง ๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว โดยในวันปากปีมีความเชื่อบางประการเกี่ยวกับ “แกงขนุน” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” ที่จะกินกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปี
- เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : เลี้ยงผีเจ้าที่
- เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : สู่ขวัญควายก่อนฤดูทำนา เป็นการขอขมาพระแม่ธรณี และพระแม่โพสพ มีการจัดทำบายศรี นำสวยดอกมัดติดเขาควาย และนำน้ำขมิ้นส้มป่อยมาพรมที่หัวควาย, ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า ไหว้ผีมดผีเม็ง, ประเพณีเลี้ยงผี เจ้าที่นา เลี้ยงโดยเหล้าไห ไก่คู่ เป็นการเลี้ยงเจ้าที่ก่อนลงทำนาเพื่อให้การทำนาราบรื่นและได้ผลผลิตดี
- เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญเข้าพรรษาที่วัดตุ่นใต้, แห่ช้างเผือกขอฝนหรือช้างปัจจัยนาค ชาวบ้านจะร่วมกันประดิษฐ์ช้างเผือกที่ทำสมมุติขึ้นมาเพื่อแห่ไปตามถนนรอบ ๆ หมู่บ้าน วันถัดไปก็จะทำพิธีสวดขอฝนกับเจ้าพ่อขุนน้ำ เป็นประเพณีที่เคยทำกันมาตั้งแต่โบราณ คือ การแห่ช้างเผือก เพื่อขอน้ำฟ้า และสายฝน เพื่อให้ฝนตกลงมา รวมทั้งเพื่อให้เทวดาได้ดลบันดาล ให้ปล่อยน้ำฟ้าน้ำฝนลงมาให้กับเกษตรกร
- เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ทำวัตรสัญจร เป็นกิจกรรมของคณะสงฆ์ ชมรมผู้สูงอายุ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตุ่นและทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทำทุกวันพระในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา เริ่มเปิดกิจกรรมที่วัดบ้านตุ่นใต้ โดยจะเวียนไปทุก ๆ วันทั้งตำบลบ้านตุ่น และจะมีชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านเข้าร่วมกิจกรรมทำวัดฟังเทศน์
- เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ตานก๋วยสลาก ช่วงเดือน 12 ล้านนาถึงเดือนยี่ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
- เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ฝึกซ้อมฟ้อน และตีกลองปู่จา การฝึกซ้อมฟ้อนเป็นกิจกรรมของศูนย์สามวัย เป็นศูนย์การเรียนรู้และพื้นที่พบปะของผู้คนในชุมชน เป็นการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การตีกลองปู่จาจะมีการตีกลองทุกวันโกณในช่วงเข้าพรรษาเพื่อเป็นสัญญาณเตือนว่าวันรุ่งขึ้นต้องไปวัดทำบุญ, ทำบุญออกพรรษา อยู่ในช่วงตานก๋วยสลาก สิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ
- เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ฟังเทศธรรมมหาชาติ เข้าวัดฟังเทศน์ที่วัดตุ่นใต้, ทอดกฐิน มีเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยง(เดือนเกี๋ยงดับ) จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ, ประเพณียี่เป็ง
- เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : สวดมนต์ข้ามปี เป็นกิจกรรมหลักของวัดบ้านตุ่นใต้ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของหลาย ๆ ชุมชน ทั้งหมู่บ้านตุ่นใต้ และตุ่นกลาง และมักจะมีการแสดง มีการเลี้ยงโรงทาน และการจับรางวัลให้แก่ชาวบ้านที่มาร่วมสวดมนต์ข้ามปี และพระสงฆ์จะมีการบิณฑบาตหลังจากสวดมนต์ข้ามปีเสร็จ, การร่วมกันเก็บเกี่ยวข้าว ลงแขกเอามื้อกิจกรรมของโรงเรียนศูนย์สามวัย
ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
นายแหน้น | เครือสาร |
นายชนบูลย์ | คำโล |
นายแน่น | เครือสาร |
นายวีระวัฒน์ | หล่อวงค์ |
นายด่วน | หน่อแก้ว |
นายควงแก้ว | คำโล |
นายสวาท | ฟองใส |
นายเจริญ | ไก่แก้ว |
ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน
นายดี | จักรเขียว |
นายสมเพชร | ข้าวทวี |
นายศุกร์ | วงค์ไชยา |
ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรม
นายสมเพชร | ข้าวทวี |
นายสมศักดิ์ | ใจเสมอ |
จสอ.เกยม | ไชยสุริยะ |
นายเมืองแก้ว | จรรยา |
นายหน่อม | เครือสาร |
นายสนั่น | ปวงงาม |
นางนุช | บุญก้ำ |
นางทองอวน | ชื่นจิตร |
นางธุวพร | หน่อแก้ว |
นางพรรณี | สูงศักดิ์ |
นางเครือมาศ | คำโล |
นางแก้ว | คำโล |
นางสาวยายุนี | เสธา |
นางสุนัน | ใจหลวง |
ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม
นายเป็ง | เสธา |
นายสุ่ม | วงค์ควง |
นางประกายดาว | ตันตินรเศรษฐ์ |
นายศุกร์ | วงค์ไขยา |
นายเสาร์แก้ว | หน่อแก้ว |
ทุนชุมชน
- วัดตุ่นใต้
- ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน
- กลุ่มเครดิตยูเนี่ยน บ้านตุ่นใต้
- ธนาคารข้าว 2 แห่งและโรงสีข้าว 1 แห่ง
- โฮมสเตย์ 5 แห่ง
- หอวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตตำบลบ้านตุ่น (ธรรมาสโบราณบ้านตุ่นใต้)
- ศูนย์การเรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 8 แห่ง
กลุ่มกองทุนหมู่บ้านตุ่นใต้ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีจำนวน 12 กลุ่ม/กองทุน ได้แก่
1. กองทุนหมู่บ้าน(กองทุนเงินล้าน) | จำนวนสมาชิก 85 คน |
2. กองทุนกลุ่มออมทรัพย์เครดิตยูเนี่ยน | จำนวนสมาชิก 250 คน |
3. กองทุนแก้ไขความยากจน | จำนวนสมาชิก 56 คน |
4. กลุ่มฌาปนกิจ | สมาชิกทุกหลังคาเรือน |
5. กลุ่มจักสาน | จำนวนสมาชิก 45 คน |
6. กลุ่มเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ | จำนวนสมาชิก 30 คน |
7. กลุ่มฉางข้าวเกษตรกร | จำนวนสมาชิก 153 คน |
8. กลุ่มฉางข้าวพ่อบ้านเกษตรกร | จำนวนสมาชิก 62 คน |
9. กลุ่ม อปพร | จำนวนสมาชิก 8 คน |
10. กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ | จำนวนสมาชิก 30 คน |
11. กลุ่มอาสาพัฒนาชุมชน | จำนวนสมาชิก 100 คน |
12. กลุ่มสตรีอาสาพัฒนาชุมชน | จำนวนสมาชิก 120 คน |
ภาษาพื้นเมืองล้านนา
การมีส่วนร่วมของประชาชนบ้านตุ่นใต้หมู่ 1 นำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาหมู่บ้านหลาย ๆ ด้าน ภายใต้จุดแข็งคือการเป็นสังคมเครือญาติที่เข้มแข็ง เอื้ออาทร ที่มีวัดตุ่นใต้เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และการสร้างภาคีเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกชุมชนเอง
การมีส่วนร่วมของประชาชนบ้านตุ่นใต้หมู่ 1 นำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาหมู่บ้านหลาย ๆ ด้าน ภายใต้จุดแข็งคือการเป็นสังคมเครือญาติที่เข้มแข็ง เอื้ออาทร ที่มีวัดตุ่นใต้เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และการสร้างภาคีเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกชุมชนเอง
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น โฮมสเตย์บ้านสามหลัง โฮมสเตย์ปุยนุ่น โฮมสเตย์บ้านริมทุ่ง โฮมสเตย์บ้านกลางสวน โฮมสเตย์บ้านหม่าเก่า หอวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตตำบลบ้านตุ่น (ธรรมาสโบราณบ้านตุ่นใต้) ศูนย์การเรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 8 แห่ง
พระธรรมวิมลโมลี. (2546). เมืองพะเยาจากตำนานและประวัติศาสตร์. พะเยา : นครนิวส์การพิมพ์.
พระธรรมวิมลโมลี. (2549). เมืองพะเยาสำรวจอดีตเมื่อร้อยปีก่อน. พะเยา : นครนิวส์การพิมพ์.
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2555). วัดตุ่นใต้. ค้นจาก http://m-culture.in.th/
นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 29. (2564). รายงานการวินิจฉัยชุมชนบ้านตุ่นใต้ หมู่ 1 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา
ราชกิจจานุเบกษา. (2549). ประกาศจังหวัดพะเยา เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน. เล่ม 123 ตอน พิเศษ 128ง. 13 ธันวาคม 2549.
ราชกิจจานุเบกษา. (2556). ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. เล่ม 130 ตอนพิเศษ 45ง. 5 เมษายน 2556..
พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.