ชาวบางแก้วมีภาษาที่คล้ายคลึงกันกับผู้คนในภาคกลาง แต่มีลักษณะที่บ่งบอกให้รู้ว่าเป็นชาวบางแก้วบ้างก็ตรงที่หางเสียงเวลาลงท้ายประโยคที่สนทนามักมีคำว่า “เน้อ หรือ เนอะ” ติดอยู่ด้วยเสมอ ในบางแก้วมีทั้งคนจีนแต้จิ๋ว จีนไหหลำและคนไทยที่มีความสัมพันธุ์อันดีในแง่ของการผลิต พ่อค้าคนกลางหรือชาวนาไร่ผู้เพาะปลูก
ชื่อหมู่บ้านมีที่มาถึงสามทางด้วยกัน กระแสหนึ่งเชื่อว่าเมื่อแรกที่มีผู้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในบริเวณนี้ผู้คนสมัยนั้นเห็นว่าเป็นชาวท้องที่ซึ่งมีแต่ความอุดมสมบูรณ์ พืชพันธุ์ธัญญาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีปลาชุกชุม ชาวบ้านเห็นว่าความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่แห่งนี้มีค่าเปรียบเทียบได้กับแก้วมณีจึงใช้คำว่า “แก้ว” เป็นชื่อของวัดและถิ่นที่อยู่อาศัย ชาวบ้านรุ่น 40-50 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาหลายคน เช่น ครูโรงเรียนในชุมชนอธิบายว่า ปกติชาวบ้านจะเรียกที่ราบลุ่มและมีน้ำท่วมว่า “บาง” ส่วนคำว่า “แก้ว” คงเป็นชื่อของคนที่ชาวบ้านรุ่นแรก ๆ เคารพนับถือและเป็นผู้นำการก่อตั้งถิ่นฐาน แล้วเลยพากันเรียกถิ่นที่อยู่นายแก้วว่า “บางของนายแก้ว” แต่ต่อมาก็ตัดทอนคำเรียกลงเหลือแต่ “บางแก้ว” อย่างไรก็ตามชาวบ้านรุ่นปู่ย่าตายายเล่าว่าเมื่อครั้งสมัยที่มีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในระยะแรก ๆ ได้เห็นแสงสะท้อนของสิ่งใดสิ่งหนึ่งแวววาวระดับผู้คนครั้งกระนั้นเข้าใจว่าเป็นแสงสะท้อนของแก้วมณี จึงพากันเรียกบริเวณนี้ว่า “บางแก้ว”
ชาวบางแก้วมีภาษาที่คล้ายคลึงกันกับผู้คนในภาคกลาง แต่มีลักษณะที่บ่งบอกให้รู้ว่าเป็นชาวบางแก้วบ้างก็ตรงที่หางเสียงเวลาลงท้ายประโยคที่สนทนามักมีคำว่า “เน้อ หรือ เนอะ” ติดอยู่ด้วยเสมอ ในบางแก้วมีทั้งคนจีนแต้จิ๋ว จีนไหหลำและคนไทยที่มีความสัมพันธุ์อันดีในแง่ของการผลิต พ่อค้าคนกลางหรือชาวนาไร่ผู้เพาะปลูก
ภายหลังที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาเบาว์ริง (พ.ศ. 2398) รัฐบาลได้ส่งเสริมให้ประชาชนขยายพื้นที่ทำนาด้วยการไม่เก็บภาษีค่านาในปีแรกที่ชาวนาหักร้างถางป่าเพื่อใช้พื้นที่นั้นทำนา แม้ว่าจะเก็บค่านาบ้างในปีถัดจากปีแรกอีก 3 ปี แต่ก็นับว่าเป็นการเก็บในอัตราต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ยิ่งกว่านั้นไพร่ก็ไม่ถูกเกณฑ์แรงงานมากเหมือนเช่นในอดีตเพราะรัฐได้ว่าจ้างแรงงานชาวจีนให้มาทำงานโยธาต่าง ๆ อาทิ สร้างถนน ชาวนาจึงมีเวลาทำมาหากินได้มากกว่าแต่ก่อน ชาวนาโดยเฉพาะในภาคกลางของประเทศอุทิศเวลาให้กับการผลิตข้าวเป็นทวีคูณ ความต้องการข้าวไทยของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียเพิ่มขึ้น ผู้ที่ประสบปัญหาขาดแคลนที่เพาะปลูกก็จะต้องออกไปแสวงหาพื้นที่ทำกินในถิ่นอื่นทำให้หมู่บ้านใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายรวมทั้งบ้านบางแก้วด้วย
เล่ากันต่อ ๆ มาว่าบนพื้นที่ซึ่งเป็นชุมชนบางแก้วนี้มีผู้อยู่อาศัยเป็นระยะเวลาประมาณ 150 ปีมาแล้ว แต่ชาวบางแก้วปัจจุบันก็ไม่มีใครบอกได้ว่าผู้คนในครั้งกระโน้นเป็นใคร มีถิ่นฐานมาจากไหน รู้แต่ว่าเวลานั้นคงจะมีบ้านเรือนอยู่แถบ “กลุ่มบ้านใต้” ราว ๆ 7-8 ครัวเรือน สมัยนั้นบางแก้วยังคงเป็นป่าดง เต็มไปด้วยยืนต้นประเภทยางแดง ประดู่ ตะแบ อินทนิล ไม้เต็งรังและไม้ไผ่ป่าหลายพันธุ์ สัตว์ป่านั้นก็มีตั้งแต่ขนาดใหญ่ คือ ช้าง เรื่อยลงไปจนถึงสัตว์เล็ก อาทิ ลิง ค่าง บ่าง ชะนี หมี เม่น อีกทั้งเสือและเก้ง ตามห้วย หนอง คลอง บึง มีนกนานาชนิดอาศัยอยู่โดยเฉพาะนกกระยางขาวและนกกระจาบ
ในช่วงปี พ.ศ. 2400 ผู้คนจากแถบบ้านโพนางดำ อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ได้พากันอพยพขึ้นมาตามลำน้ำปิง เพื่อหาพื้นที่ทำนาใหม่ ผู้อพยพเหล่านี้เข้าตั้งหลักแหล่งในย่าน “บ้านใต้” รวมกับคนท้องถิ่นที่อยู่ในบางแก้วมาก่อน ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ชาวนาจากชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดสิงห์บุรีซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนพื้นที่ทำกินในถิ่นบ้านเกิดก็พากันขึ้นมาแสวงหาที่นาไร่แห่งใหม่ในบางแก้วเช่นกัน แต่เนื่องจากพื้นที่อยู่อาศัยแถบ “บ้านใต้” ถูกจับจองจนหมดผู้ที่มาทีหลังจึงต้องขยับขยายขึ้นไปตั้งหลักแหล่งแห่งใหม่จนกลายเป็น “กลุ่มบ้านเหนือ” ขึ้นมา
ลักษณะพื้นที่ของชุมชนเป็นที่ราบเรียบ ทั้งชุมชนมีพื้นที่ 23,933 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 21,262 ไร่ ส่วนอีก 2,671 ไร่เป็นที่อยู่อาศัยและที่สาธารณะ ตัวชุมชนจะอยู่เรียงรายขนานไปกับแนวลำน้ำปิงและถนนภายในหมู่บ้าน ถัดจากตัวหมู่บ้านออกไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นส่วนที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลังบ้าน” เจ้าของที่จะใช้เป็นสวนผลไม้ ส่วนพื้นที่สองข้างถนนสายหลังบ้านมักเป็นที่โล่งแจ้งที่ชาวบ้านใช้ปลูกพืชไร่ชนิดต่าง ๆ จากปลายไร่ออกไปทางทิศตะวันตกจะเป็นพื้นที่ท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ มีบึงน้ำและพื้นที่ดอนอันเป็นป่าละเมาะอยู่ตอนกลาง ๆ ของพื้นที่ ส่วนที่เป็นพื้นนานี้อยู่ในระดับต่ำกว่าพื้นที่ไร่ พื้นที่สวนและที่อยู่อาศัย และมีเนื้อที่กว้างออกไปจนจรดคลองร่มจานซึ่งเป็นเมืองเส้นแดนทางธรรมชาติที่กั้นเขตบ้านกระทุ่มโทนและบางแก้ว แม่น้ำปิงเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการอุปโภค ส่วนน้ำดื่มมักได้แก่น้ำฝน ระหว่างฤดูน้ำหลากน้ำในลำน้ำปิงจะไหลเอ่อเข้าคลองบางแก้วออกไปสู่พื้นที่นาไร่และหากน้ำในทุ่งนาเจิ่งนองอีกทั้งน้ำในแม่น้ำก็หนุนน้ำคลองอยู่เช่นนี้ น้ำก็จะพากันไหลบ่าลงสู่คลองร่มจาน ทั้งคลองบางแก้วและคลองร่มจานจึงเป็นเสมือนที่ระบายน้ำตามธรรมชาติเพราะเมื่อถึงฤดูน้ำลดน้ำตามท้องทุ่งก็จะไหลลำคลองออกไปสู่แม่น้ำปิง ในฤดูแล้งจะไม่มีน้ำขังอยู่ในลำคลองทั้งสองเลย การเพาะปลูกในท้องที่แถบนี้อาศัยน้ำฝนเป็นสำคัญแม้ว่าจะมีการขุดลำรางเพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำไปใช้เพาะปลูกพืชไร่และทำนาปรังระหว่างฤดูแล้งบ้างแต่ก็มิใช่ว่าจะกระทำได้อย่างสม่ำเสมอ คือปีใดที่น้ำในแม่น้ำมีน้อยและอยู่ในระดับต่ำถึงท้องน้ำ การสูบน้ำขึ้นมาจะต้องลงทุนสูง จึงมักไม่ค่อยมีใครทำการเพาะปลูกในปีดังกล่าว
ลักษณะภูมิอากาศ
จัดว่าร้อนชื้นแบบสะวันนา คือ มีช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งอย่างชัดเจน อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้มีฝนตกตลอดฤดู และในฤดูหนาวจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งทำให้อากาศแห้งแล้งและบางระยะมีอากาศเย็น กล่าวคือ พอย่างเข้าเดือนกุมภาพันธ์ อากาศที่เริ่มแห้งมาแต่เดือนมกราคมก็จะปรากฏชัดยิ่งขึ้นด้วยไม่มีความชื้นมากเหมือนเดือนก่อนหน้านั้นช่วงเดือนเมษายน - เดือนพฤษภาคมเป็นระยะที่อากาศในตอนกลางวันร้อนที่สุด หากวันใดมีความกดอากาศต่ำและร้อนอบอ้าวจัด บางทีก็จะมีฝนตกจึงทำให้หมู่บ้านมีความชุ่มชื้น ฝุ่นตามถนนหนทางและที่เกาะตามหลังคาบ้านและตามต้นไม้ใบหญ้าถูกฝนชะล้างไม่ให้ฟุ้งกระจายไปได้หลายวัน พอถึงเดือนมิถุนายน - เดือนกรกฎาคม ฝนอาจจะตกถี่ยิ่งขึ้น นาไร่ซึ่งเคยเห็นเสมือนว่าเป็นที่รกร้าง ก็ดูเขียวชอุ่มเพราะพืชไร่และข้าวกล้าที่หว่านและปักดำไว้รอฝนขึ้นแข่งกับวัชพืช หากฝนตกต้องตามฤดูกาลไปจนถึงเวลาออกพรรษาซึ่งตกในราว ๆ ปลายเดือนกันยายนพืชผลพันธุ์ไม้ในไร่นาก็จะเจริญงอกงามให้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ ปริมาณน้ำฝนที่ตกเฉลี่ยตลอดปี 1,021.9 มิลลิเมตรระหว่างเดือนธันวาคม – เดือนมกราคมอากาศจะหนาวเย็น โดยเฉพาะเวลากลางคืน ในตอนกลางวันอากาศจะอบอุ่นขึ้น ในระยะตอนต้นฤดูหนาวชาวบ้านมักป่วยเป็นไข้เพราะเมื่อยางเข้าเดือนกุมภาพันธ์อากาศก็เปลี่ยนไป ต้นคูนและทองกวาวที่สลัดใบร่วงจนหมดตอนอากาศหนาวเย็นเริ่มผลิใบและออกดอกพร้อมที่จะบานในอีกสองเดือนข้างหน้า นั่นย่อมเป็นที่รู้กันว่าฤดูร้อนกำลังจะเวียนกลับมาอีกครั้ง
สถานที่สำคัญ
วัดบางแก้ว ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2414 โดยมีนายให้และนางกล้วยเป็นผู้บริจาคที่ดินให้สร้างวัดมีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างวัดเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2513 มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ทำการเปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2445 โดยมีเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน คือ พระครูนินนาทธรรมรัตน์ (ประกาศ กนฺตธมโม)
บ้านบางแก้วมีประชากรชาย 332 คน ประชากรหญิง 412 คน เป็นประชากรรวม 744 คน ครัวเรือนทั้งหมด 274 ครัวเรือน
ความสัมพันธ์ระหว่างคนจีนและคนไทย มีความสัมพันธ์กันค่อนข้างมากโดยเฉพาะในแง่ของการผลิตซึ่งจะขาดชาวจีนในพ่อค้าคนกลางหรือชาวนาไร่ผู้เพาะปลูกไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ทั้งพ่อค้าและผู้ผลิตมิได้เข้ามาติดต่อกันเฉพาะเวลาค้าขายหากแต่ยังเกี่ยวข้องกันในโอกาสต่าง ๆ อีกด้วย เช่น ในคราวที่ฝ่ายหนึ่งจัดงานพิธีกรรมอันเนื่องด้วยชีวิตทั้งงานบวชนาค แต่งงาน และงานศพ ตลอดจนงานบุญต่าง ๆ ทั้งที่จัดขึ้นตามบ้านและที่วัดก็จะบอกเชิญอีกฝ่ายหนึ่งให้มาร่วมงานด้วยเสมอ หลายรายชอบพอกันเป็นการส่วนตัวมากถึงขนาดนับเข้าเป็นญาติกันก็มี เมื่อประสบเคราะห์กรรม เช่น เจ็บไข้ ก็จะไปเยี่ยมไข้แสดงความเห็นใจกันและกัน ตอนเทศกาลงานบุญทางศาสนาไม่ว่าจะเป็นตรุษหรือสารทซึ่งต้องทำขนมและอาหารตามธรรมเนียมไทย - จีน ใครสนิทกับคนบ้านใดก็จะนำข้าวปลาอาหารที่ทำในเทศกาลนั้นไปแบ่งปันให้กันอย่างเช่นตอนตรุษจีนจะเห็นได้ว่าผู้ที่รู้จักพ่อค้าจะได้รับเป็ดไก่และขนมเข่งมากต้องเจือจานให้คนข้างเคียงไปบ้าง ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างคนจีนและคนไทยในบางแก้วนั้นเป็นไปอย่างแน่นแฟ้นเพราะปรากฏว่าคนจีนรุ่นลูกหลานที่เกิดในบางแก้วและได้สัญชาติเป็นไทยจำนวนไม่น้อยแต่งงานกับลูกหลานคนไทยในท้องถิ่น
ระบบเครือญาติ ลักษณะครอบครัวของชาวนาบางแก้วนั้นมีทั้งที่เป็นครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย ครอบครัวอย่างแรกมีเพียงพ่อแม่และลูก ๆ เป็นสมาชิก แต่ครอบครัวอย่างหลังจะมีคนรุ่นปู่ย่าหรือตายายรวมอยู่ในบ้านหลังเดียวกันกับลูกและหลานของตน กฎเกณฑ์อย่างหนึ่งของการแต่งงานที่กำหนดให้มีเรือนหอทำให้คู่บ่าวสาวต้องแยกบ้านอยู่เป็นเอกเทศจากบ้านพ่อแม่ แต่ในกรณีของครอบครัวซึ่งฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีพอที่จะจัดหาเรือนหอให้ลูกที่เพิ่งแต่งงานได้เช่นนี้ คู่บ่าวสาวก็จำเป็นต้องทำมาหากินรวมอยู่กับครอบครัวเดิมของพ่อแม่ จึงทำให้ครอบครัวมีขนาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วยผู้เป็นเขยและภรรยา พ่อตาแม่ยายรวมทั้งพี่น้องของภรรยาที่ยังโสด หากภรรยาเป็นลูกคนสุดท้องหรือเป็นลูกผู้ที่จะต้องดูแลพ่อแม่ ในยามที่คนทั้งสองแก่ชราครอบครัวก็จะประกอบด้วยผู้คน 3 ช่วงอายุ คือพ่อตาแม่ยาย ผู้เป็นเขยและภรรยาอีกทั้งลูก ๆ อย่างไรก็ตามเมื่อพ่อตาแม่ยายตาย ครอบครัวขยายนั้นก็จะเปลี่ยนสภาพไปเป็นครอบครัวเดี่ยว จึงกล่าวได้ว่าชุมชนบางแก้วนั้นลักษณะของครอบครัวจะหมุนเวียนจากครอบครัวเดี่ยวไปเป็นครอบครัวขยาย และจากครอบครัวขยายก็ย้อนกลับไปสู่ความเป็นครอบครัวเดี่ยวอีก เปลี่ยนไปแบบวัฏจักรตามวงจรชีวิตของอายุคนแต่ละช่วง
มรดก โดยทั่วไปแล้วพ่อแม่จะแบ่งทรัพย์สินให้ลูก ๆ ในจำนวนเท่า ๆ กัน แต่ในทางปฏิบัตินั้นถือว่าสินสอดทองหมั้นที่หาให้ลูกชายได้ไปสู่ขอแต่งงานนั้นคือมรดกส่วนที่พ่อแม่ได้แบ่งให้บุตรชายผู้นั้น ส่วนลูกสาวมักได้ที่ดินในจำนวนเท่า ๆ กัน สำหรับลูกผู้ดูแลพ่อแม่ในยามที่ท่านชราจะได้ที่ดินพร้อมทั้งเรือนของพ่อแม่เป็นมรดกนอกเหนือไปจากส่วนแบ่งในที่ดินเพาะปลูกข้างต้น อย่างไรก็ตามลูก ๆ บางคนก็อาจจะได้รับมรดกมากกว่าพี่น้องคนอื่น ๆ เพราะลูกผู้นั้นเป็นที่โปรดปรานของพ่อแม่เป็นพิเศษ เป็นที่ทราบกันดีว่าที่นาไร่คือมรดกส่วนใหญ่ที่พ่อแม่มีให้ลูก ๆ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ลูก ๆ ส่วนใหญ่ก็จะต้องนำที่ดินส่วนแบ่งของตนไปทำมาหากินตามแบบอย่างที่บรรพบุรุษได้ปฏิบัติสืบทอดกันต่อไป มีชาวบ้านเพียงไม่กี่รายที่หันไปประกอบอาชีพค้าขายโดยให้ญาติพี่น้องของตนถือเช่าที่นาส่วนซึ่งเป็นมรดกที่พ่อแม่ยกให้ แม้จะแยกเรือนออกไปแล้วแต่ก็ยังคงไปมาหาสู่พ่อแม่อยู่เป็นนิจ นอกจากจะแวะมาเยี่ยมตามธรรมดาแล้วมักมาปรึกษาหารือกับบิดามารดาถึงปัญหาต่าง ๆ พ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย ยังจะช่วยแนะให้ความช่วยเหลือลูกหลานได้เสมอนอกจากเรื่องที่เกี่ยวกับการทำมาหากินอย่างข้างต้น ทั้งนี้ พ่อแม่และปู่ย่า ตายายยังมีส่วนอย่างมากในการเลือกประกอบอาชีพของลูกหลาน เหตุผลสำคัญในเรื่องนี้น่าจะเนื่องมาจากมรดกที่พ่อแม่ยกให้นั่นเอง
จีนกลุ่มสมาคมชาวจีน
ในบางแก้วมีทั้งจีนแต้จิ๋วและจีนไหหลำ เมื่ออพยพมาอยู่ที่นี่ก็อัญเชิญเจ้าพ่อเจ้าแม่ตามลัทธิความเชื่อแห่งศาสนาตนให้มาสถิตอยู่ ณ ที่ศาลซึ่งชาวจีนต่างร่วมแรงร่วมใจกันสร้างอยู่ทางด้านเหนือตลาด ก่อนหน้านี้ชาวจีนรุ่นแรก ๆ หรือชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งขึ้นไปก่อตั้ง “บ้านใต้” ก็ได้สร้างศาลเจ้าพ่อร่มขาวมานานแล้ว ครั้นเมื่อมีศาลเจ้าแห่งใหม่นี้เพิ่มขึ้นอีก ผู้คนที่มาใหม่และผู้ที่อยู่มาก่อนก็เลยช่วยกันทำนุบำรุงศาลเจ้าทั้งเก่าและใหม่ ด้วยต่างเชื่อกันว่าเจ้าทั้งสองศาลเป็นผู้คุ้มครองปกปักรักษาบางแก้วให้อยู่เย็นเป็นสุขทั้งทางเหนือและทางใต้
เนื่องด้วยเป็นชนกลุ่มน้อยในบางแก้วและธรรมเนียมเดิมของจีนที่คอยช่วยเหลือเจือจุนกันและกันโดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเริ่มสร้างฐานะจะได้รับการอุดหนุนจากคนในแซ่เดียวกัน เหล่านี้อาจเป็นเหตุผลให้ชาวจีนที่บางแก้วเกาะกลุ่มอย่างเหนียวแน่นและไปมาหาสู่กันเสมอ มีข่าวคราวอันใดที่ทั้งเกี่ยวกับกิจการค้าและความเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนทั้งในและนอกประเทศ พ่อค้าแม่ค้าชาวจีนในชุมชนก็จะบอกกล่าวต่อให้รู้โดยทั่วถึงกัน ขณะที่มีการช่วยเหลือกันก็มีการแข่งขันระหว่างกันอยู่ด้วย ผู้ประกอบการค้าต่างขยันทำการงานเพื่อสร้างฐานะให้ครอบครัวและวงศ์ตระกูลของตน หลายคนร่ำรวยขึ้นมาแล้วยังส่งไปช่วยเหลือญาติพี่น้องซึ่งยังคงอยู่ในประเทศจีนเพื่อให้มีเงินทุนทำมาหากินหรือเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อจะเดินทางมาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย การรวมตัวกันได้อย่างนี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งช่วยเกื้อหนุนให้ชาวจีนที่บางแก้วสามารถทำกิจการใด ๆ ประสบผลสำเร็จมากกว่าชาวนาชาวไร่
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
ข้าวเปลือกคือสินค้าส่งออกที่สำคัญจากบางแก้ว แต่ก็เป็นอาชีพที่กระทำกันภายในครอบครัว ปกติทำนาหว่านด้วยข้าวพันธุ์พื้นเมือง เช่น ข้าวเจ็ดสี ข้าวเจ็ดรวง และข้าวนางมน ชาวบ้านเรียกพันธุ์ข้าวเช่นนี้อย่างรวม ๆ ว่า “ข้าวเลื้อย” “ข้าวลอยน้ำ” หรือ “ข้าวต่อยอด” เพราะข้าวสามารถเจริญเติบโตได้ทันกับระดับน้ำที่ท่วมท้นมา ชาวบ้านปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองเช่นนี้มาแต่รุ่นปู่ย่าตายาย นาแปลงนี้ปลูกข้าวพันธุ์หนึ่ง พอปีต่อไปก็นำเอาข้าวพันธุ์อื่นมาปลูกในนาแปลงดังกล่าวสลับเลี่ยนกันไปเช่นนี้ซึ่งก็ช่วยให้ดินไม่เสื่อมคุณภาพไปในเร็ววัน ปีใดที่คิดว่าฝนจะน้อยก็จะปลูก “ข้าวเบา” มากกว่า “ข้าวหนัก” เพราะข้าวพันธุ์อย่างแรกให้ผลผลิตได้เร็วกว่าและไม่ต้องการน้ำเพื่อความเจริญเติบโตมากเท่ากับพันธุ์ข้าวอย่างหลังพันธุ์ข้าวเหล่านี้ให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณไร่ละ 30 ถัง
ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านผู้มีที่นาน้อยหรือมีที่ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการทำนาเช่นที่เนินตามตีนเขา ที่ทรายริมฝั่งแม่น้ำหรือที่บนเกาะแก่งกลางแม่น้ำก็จะใช้พื้นที่เช่นนี้ปลูกพืชไร่ชนิดต่าง ๆ พืชไร่เหล่านี้บางอย่างเช่น กล้วย อ้อยนั้นชาวบ้านปลูกบริโภคเองมานานแล้วแต่การผลิตเพื่อการค้าเพิ่งจะมีภายหลัง และเนื่องจากการปลูกพืชไร่เศรษฐกิจดังกล่าวเป็นการผลิตเพื่อการค้าโดยสิ้นเชิง การทำไร่ส่วนใหญ่จึงต้องใช้การว่าจ้างแรงงานบุคคลอื่นให้มาช่วยทำไร่
1. นายขีด ก๊กฮา เป็นผู้ที่นำชาวบ้านบางแก้วออกไปทำไร่บนพื้นที่แห่งใหม่หลังจากมีการเปิดพื้นที่เพาะปลูกแห่งใหม่ในบางแก้วเป็นสองลักษณะใหญ่ ๆ คือชาวบ้านผู้ถนัดทำนาจะใช้พื้นที่แถบทุ่งบางแก้วทั้งหมดเพื่อปลูกข้าว ด้วยท้องที่แถบนี้เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำป่าไหลบ่ามาท่วมท้องทุ่งในฤดูน้ำหลากเป็นประจำทุกปีจึงเหมาะที่จะใช้เป็นที่ปลูกข้าวมากกว่าพืชอย่างอื่น อย่างไรก็ตามชาวบ้านบางราย (นำโดยนายขีด ก๊กฮา) ที่มีความตื่นตัวในเรื่องความต้องการของตลาดพืชผลทางเศรษฐกิจคิดจะเปลี่ยนจากการทำนาข้าวไปทำไร่ ซึ่งมีพื้นที่ป่าว่างเปล่าแถบบางแก้วซึ่งเหมาะที่จะใช้ทำไร่ จึงต้องข้ามฝั่งแม่น้ำปิงขึ้นไปจับจองพื้นที่ด้านตรงข้ามกับบางแก้วเพื่อทำไร่ พืชไร่เศรษฐกิจที่ลือชื่อในเวลานั้นได้แก่กล้วยดิบ ทั้งกล้วยน้ำว้าและกล้วยไข่ ขายขีดได้ขยายพื้นที่ออกไปถึงเกือบ 300 ไร่ เพื่อปลูกกล้วย ช่วงเดือน 10-12 จะมีเรือพ่อค้ามาจอดรอซื้อกล้วยตาขีดและกล้วยจากชาวบ้านในถิ่นนี้เป็นแถว บางคราวมีเรือมาซื้อพืชไร่เช่นนี้ร่วม 200 ลำ อีกทั้งยังเป็นบุคคลแรกที่นำวิธีการว่าจ้างแรงงานเข้ามาใช้ในชุมชนบางแก้ว นับว่าเป็นการลงทุนด้านแรงงานเพื่อการเพาะปลูกบนพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นครั้งแรกที่เคยปรากฏในท้องที่แถบนี้
ชาวบางแก้วมีภาษาที่คล้ายคลึงกันกับที่พบเห็นตามหมู่บ้านชาวนาในภาคกลางของประเทศ จะมีลักษณะที่บอกให้รู้ว่าเป็นชาวบางแก้วบ้างก็ตรงที่หางเสียงเวลาลงท้ายประโยคที่สนทนากันซึ่งจะมีคำว่า “เน้อ หรือ เนอะ” ติดอยู่ด้วยเสมอ สรรพนาม “กู” “มึง” ยังเป็นคำที่ชาวบ้านใช้เรียกขานกัน หากพูดกับผู้อาวุโสกว่า ผู้น้อยอาจแทนตัวเองว่า “ข้า” หรือ “ฉัน” และแทนผู้ที่แก่กว่าตนว่า “แก” แต่ถ้าเรียกขานคนที่เด็กกว่าตนก็จะใช้คำว่า “อี” “ไอ้” เติมเข้าไปข้างหน้าชื่อผู้ที่กำลังถูกเรียกขาน
ลักษณะเศรษฐกิจและสังคมของบางแก้วต้องพึ่งพาระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ใหญ่กว่าย่อมต้องล่อแหลมต่อความผันผวน ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อภาวะน้ำตาลในตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศอยู่ในขั้นวิกฤตในปี พ.ศ. 2503 และครั้งยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ. 2506 นั้นการปลูกอ้อยและการผลิตน้ำตาลในบางแก้วเกิดความปั่นป่วนตามไปด้วย และเมื่อสถานการณ์การค้าน้ำตาลเลวร้ายลงถึงที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อนในปี พ.ศ. 2506 ผู้ผลิตถึงกับต้องเผาไร่อ้อยและทิ้งกิจการด้านนี้ไป ผู้ผลิตส่วนใหญ่ขาดทุนถึงขั้นล้มละลาย บางคนซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเองว่าจ้างผู้อื่นโค่นล้างป่าอ้อยลงเพื่อเลี่ยนไปเพาะปลูกพืชไร่อย่างอื่น อาทิ ข้าวโพดและยาสูบ
ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2566, จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์. (ม.ป.ป.). วัดบางแก้ว. ค้นคืนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2566, จาก ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดนครสวรรค์ : http://templensnonep.nsru.ac.th/