Advance search

ชุมชนเกษตรกรรมเชื้อสายชาวไทเขิน ทำเกษตรกรรมเลี้ยงวัวนมและรับจ้างทั่วไป

หมู่ที่ 11
ออนกลาง
แม่ออน
เชียงใหม่
ปุลวิชช์ ทองแตง
7 พ.ค. 2023
ปุลวิชช์ ทองแตง
ปุลวิชช์ ทองแตง
8 พ.ค. 2023
บ้านออนกลาง


ชุมชนเกษตรกรรมเชื้อสายชาวไทเขิน ทำเกษตรกรรมเลี้ยงวัวนมและรับจ้างทั่วไป

หมู่ที่ 11
ออนกลาง
แม่ออน
เชียงใหม่
50130
18.7693234
99.25728902
องค์การบริหารส่วนตำบลออนกลาง

การสัมภาษณ์ผู้สูงอายุในหมู่บ้าน (พ่อเหรียญ พรหมเมืองและพ่อตุ้ย อุลิวัน) ได้ให้ข้อมูลว่า เมืองออนโบราณ ตั้งเมืองเป็นแนวยาวตามลำน้ำแม่ออน เป็นชุมชนที่มีแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา (เครื่องถ้วยสันกำแพง) เมื่อมีความเจริญขึ้นจึงได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า “แขวงแม่ออน” อยู่ในการปกครองของนครเชียงใหม่ จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2445 ได้เกิดกบฏเงี้ยวที่อำเภอแพร่และที่แขวงแม่ออน ชาวเงี้ยว 11 คน มีอาวุธครบมือบุกปล้นโรงกลั่นสุรา แล้วเผาที่ทำการแขวงแม่ออนเสียหายทั้งหลัง ประกอบกับ แขวงแม่ออน มีอาณาเขตที่กว้างขวาง ท้องที่ตำบลอยู่ไกลจากอำเภอ เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลทุกข์สุขของราษฎรไม่ทั่วถึง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2446 ทางการจึงได้ย้ายที่ทำการแขวงแม่ออนมาปลูกสร้างขึ้นใหม่ที่บ้านสันกำแพง เรียกว่า “อำเภอแม่ออน” และต่อมาในปี พ.ศ. 2460 ได้เปลี่ยนชื่อจาก “อำเภอแม่ออน” เป็น “อำเภอสันกำแพง” ในเวลาดังกล่าวบ้านออนกลางยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2526 เริ่มมีไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้านเป็นครั้งแรก โดยยังมีการกระจายไม่ครบทุกหลัง อีกทั้งถนนยังเป็นถนนไม่ดี มีขี้ดินโคลน การเดินทางลำบาก ไม่มีถนนคอนกรีตไม่มีรถสัญจรไปมา ส่วนใหญ่ประชากรบ้านออนกลางจะเดินเท้าเปล่าในการเดินทาง จะมีเพียงไม่มีกี่ครัวเรือนที่มีรถไว้เดินทาง

จนกระทั่งปี 2532 ผู้กองธานี ปฏิบัติหน้าที่ในอำเภอสันกำแพงได้เล็งเห็นความสำคัญจึงได้มีการเสนอและของบประมาณจังหวัดมาสร้างถนนแม่ออน-แม่ออนหลวยเป็นครั้งแรก เริ่มทำถนนลูกรังและต่อมาก็มีการทำเป็นคอนกรีต ในอดีตเคยมีการทำพิธีต่อเสื้อบ้าน ซึ่งความเชื่อของชาวบ้านในหมู่บ้านที่มีต่อเสื้อบ้าน คือ เสื้อบ้านเป็นศูนย์รวมใจ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในหมู่บ้าน เป็นที่สิงสถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วิญญาณของบรรพบุรุษ เจ้าป่าเจ้าเขาประจำหมู่บ้าน และเดิมชุมชนบ้านออนกลางหมู่ 11 มีการนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ จึงมีการทำนุบำรุงวัดแม่ออนและการทำบุญทุกวันพระ รวมทั้งวัดพระธาตุดอยผาตั้ง ซึ่งชุมชนบ้านออนกลางนับถือเป็นวัดเก่าแก่ถือว่าเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวแม่ออน พระบรมธาตุเจดีย์องค์เดิมนั้นเป็นองค์เก่าแก่เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนปัจจุบันชุมชนบ้าน ออนกลางหมู่ 11 ยังนับถือศานาพุทธเป็นส่วนมาก

ในปี พ.ศ. 2537 กระทรวงมหาดไทย ได้แบ่งท้องที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอแม่ออน” ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2537 และได้รับการยกฐานะเป็น “อำเภอแม่ออน” ใน ปี 2538 ตำบลออนกลาง ได้แยกตัวออกมาจาก ตำบลออนเหนือ และยกระดับจากสภาตำบลขึ้นมาเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลออนกลาง และมีการก่อสร้างที่ทำการอำเภอออนกลาง สถานีตำรวจภูธรแม่ออน กองร้อยรักษา ดินแดน อำเภอแม่ออน และในปี พ.ศ. 2550 ได้ยกระดับจากกิ่งอำเภอแม่ออนขึ้นมาเป็นอำเภอแม่ออน ในปี พ.ศ. 2551 ได้ทำการก่อสร้างองค์การบริหารส่วนตำบลออนกลางในพื้นที่ของหมู่ 9 ซึ่งในอดีตสภาตำบลตั้งอยู่บริเวณที่ตั้งของ รพ.สต. ออนกลาง ในปัจจุบัน

บ้านแม่ออนหมู่ 11 เดิมอยู่หมู่บ้านขึ้นอยู่กับบ้านออนกลางหมู่ 8 ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัด เชียงใหม่ ได้มีแบ่งเขตการปกครองขึ้นมาใหม่ โดยแยกออกจากหมู่บ้านหมู่ 8 วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2545 แยกออกมา เนื่องจากชุมชนกว้างการกระจายงบกองทุนเงินล้านและการกระจายอำนาจการปกครองไม่ทั่วถึง ในช่วงเวลาดังกล่าวบ้านแม่ออนกลาง หมู่ 11 แยกออกมาจากหมู่ 8 โดยมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 115 หลังคาเรือน โดยมีนายเหรียญ พรหมเมือง อายุ 65 ปี ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกจากการคัดเลือกของประชากรบ้านออนกลาง หมู่ 11 โดยชนะการคัดเลือกด้วยคะแนน 15 คะแนน พ่อเหรียญ พรหมเมือง เป็นที่ประทับใจของประชาชน เนื่องจากเป็นผู้มีความสามารถและชอบช่วยเหลือสังคม มีบทบาทในชุมชนตั้งแต่ตอนอยู่บ้านออนกลาง หมู่ 8 พอย้ายมาเป็นหมู่ 11 จึงได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่11 โดยมีการแต่งตั้งผู้ช่วย 2 คน และคณะกรรมการ 9 คน โดยมีการปกครองโดยมองเห็นความสำคัญของเสียงจากประชาชนในชุมชน และมองเห็นถึงปัญหาในชุมชน ช่วงเวลาดังกล่าวประชาชนให้ความร่วมมือในการพัฒนาหมู่บ้านในการประชุมของหมู่บ้าน ทำให้พ่อเหรียญรู้สึกมีแรงบันดาลใจในการพัฒนาหมู่บ้านมากยิ่งขึ้น ในการทำงานกับทีมคณะกรรมการได้มีการขอ งบประมาณจากจังหวัดในการช่วยให้น้ำประปาเข้าหมู่บ้านออนกลาง หมู่ 11 และในปี พ.ศ. 2546 มีการทำศาลา หมู่บ้านโดยการของบจัดสรรจากองค์การบริหารส่วนตำบล โดยยังคงความสัมพันธ์ที่ดี รักใคร่กันดีกับชุมชนหมู่ 8 มีการทำงานระหว่างชุมชนร่วมกัน ในหลายประเพณีและในหลายกิจกรรมจนกระทั่งปัจจุบัน โดยมีวาระในการทำงานเป็น เวลา 5 ปี

ในอดีตประชากรบ้านออนกลางหมู่ 11 แต่เดิมมีการทำเกษตรกรเป็นอาชีพหลักเพื่อมาเลี้ยงครอบครัว จะมีน้อยคนที่มีพื้นที่ทำเกษตรเป็นของตนเอง ส่วนใหญ่จะรับจ้างทำที่นาของคนที่เป็นนายจ้าง โดยเฉพาะครอบครัวที่มีบุตรหลายคนก็ต้องออกไปรับจ้างทำนาเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงเวลาดังกล่าวมักจะปลูกข้าว ปลูกฝ้าย ปลูกถั่วลิสงและปลูกยาสูบ เพราะสมัยนั้นมีการสูบบุหรี่มวนด้วยใบตองกล้วย มวนหนึ่งขนาดเท่านิ้วมือและยาวเกือบคืบ ชาวบ้านเรียกบุหรี่ชนิดนี้ ว่า “ขี้โย” หรือ “บุหรี่ขี้โย” ที่นิยมสูบกันมาก อาจเนื่องมาจากอากาศหนาวเย็น และเชื่อว่าการสูบบุหรี่คงจะทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น และมีการเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ หลังจากที่มีการเลี้ยงหมูขึ้นประชากรในชุมชน โดยเฉพาะบริเวณใกล้เคียงได้รับผลกระทบอย่างมากคือปัญหาในด้านของมลภาวะทางกลิ่นของมูลสัตว์ และยังมีคอกหมูตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งประชากรในชุมชนโดยเฉพาะบริเวณใกล้เคียงก็ได้รับผลกระทบคือปัญหาในด้านของมลภาวะทางกลิ่นของมูลสัตว์ ทำประชากรบางครัวเรือนไม่ได้ทำการเลี้ยงหมูต่อ และในปี พ.ศ. 2530 เริ่มมีการนำโคนมมาเลี้ยงในหมู่บ้านออนกลางหมู่ 11 โดยเริ่มแรกมีการเลี้ยงที่บ้านออนหลวย แล้วเริ่มมีการขยายต่อเข้ามาในบ้านออนกลางหมู่ 11 แต่ละครัวเรือนที่ได้มาเลี้ยงในจำนวน 1-2 ตัว จากนั้นก็นำมาขยายพันธุ์เอง และมีการเลี้ยงจนถึงปัจจุบัน จนปี พ.ศ. 2541 เริ่มมีการปลูกลำไย โดยปลูกเป็นสวนของตนเองแต่ละครัวเรือนใน ครัวเรือนที่มีที่ดินของตนเองและส่งขายให้พ่อค้าที่จังหวัดลำพูน จนปัจจุบันอาชีพเกษตรกรก็ยังเป็นอาชีพที่อยู่กับชุมชนบ้านออนกลางหมู่ 11 มีการปลูกข้าว ลำไย ข้าวโพด และการเลี้ยงโคนม

จากการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุหมู่ 11 ได้ให้ข้อมูลว่า หมู่บ้านออนกลางหมู่ 11 แต่เดิมเมื่อปี พ.ศ. 2524 เคยมีการระบาดของโรคอีสุกอีใสหนักจนประชาชนบ้านออนกลางเสียชีวิตไปจำนวนมาก เนื่องจากยังไม่มีแพทย์เข้ามาถึงชุมชน โดยจะใช้การรักษาจากหมอเมือง เป็นการรักษาโดยใช้สมุนไพรท้องถิ่นแต่ไม่สามารถช่วยรักษาให้หายขาดได้ และรองลงมามีการเสียชีวิตจากโรคเอดส์จำนวนมาก เนื่องจากการแพทย์ยังเข้ามามีบทบาทในชุมชนไม่พอ และหมอเมืองไม่สามารถช่วยรักษาได้ ในช่วงเวลาดังกล่าวมีเพียงอนามัยออนเหนือที่เดียวที่ประชาชนส่วนใหญ่จะเข้ารับการรักษาตัวเมื่อมีการเจ็บป่วย และจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2529 มีการก่อสร้างโรงพยาบาลสันกำแพง และ ต่อมา พ.ศ. 2537 มีการแบ่งท้องที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเรียกว่า กิ่งอำเภอแม่ออน ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2537 โรงพยาบาลสันกำแพงจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลแม่ออนต่อมาในปี พ.ศ. 2540 พ่อเหรียญเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ได้เข้าไปขอทางแพทย์เพื่อเข้ามารักษาและดูแลสุขภาพประชาชนอย่างใกล้ชิดถึงในหมู่บ้าน ทางการเพทย์จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในการรักษาโรคและการตรวจเยี่ยมตามบ้านมากขึ้น ต่อมาปี พ.ศ. 2557 ได้มีการก่อสร้างอาคารที่ทำการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลออนกลาง เนื่องจากในอดีตโครงสร้างของตัวอาคารนั้นสร้างมาจากไม้ มีสภาพที่เก่าและมีอายุการใช้งานเป็นระยะเวลานาน จึงได้ทำการก่อสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ที่มีความทนทานต่อการใช้งานมากขึ้น

พื้นที่หมู่ 11 บ้านออนกลางมีลักษณะทางกายภาพเป็นพื้นที่ราบ มีภูเขาล้อมรอบ

  • ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอดอยสะเก็ด
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ภูเขา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอสันกำแพงและมีลำน้ำแม่ออนไหลผ่าน ข้างหมู่บ้าน
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านออนกลางหมู่ 8

การสร้างบ้านเรือนส่วนใหญ่จะเป็นบ้านสองชั้นด้านบนเป็นไม้ ด้านล่างเป็นปูน และบ้านปูนชั้นเดียว คนในชุมชนจะมีฟาร์มโคนมมีอยู่จำนวน 12 แห่ง และมีทุ่งนาที่ใช้ในการปลูกข้าวนาปีในช่วง เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม เส้นทางคมนาคมในหมู่บ้านเป็นทางลาดยางและคอนกรีต ขรุขระ

การคมนาคมการขนส่ง

ประชากรส่วนใหญ่เดินทางโดยการใช้รถจักรยานยนต์ รถยนต์ และการเดินเท้าเพื่อไปทำงานในช่วง เช้าเวลา 06.00 น. และกลับช่วงเย็นเวลา 17.00 น. ถ้าต้องการเดินทางไปนอกอำเภอแม่ออนจะต้องเดินทางด้วยตนเอง เพื่อไปขึ้นรถสองแถวหรือรถโดยสารที่เซเว่นแม่ออนจะมีคิวรถให้ขึ้นตามเวลา โดยจะมีค่าโดยสาร รถตู้สายเขียงใหม่-สันกำแพง-แม่กำปอง ราคาคนละ 40 บาท

อนามัยสิ่งแวดล้อมของชุมชน

ในชุมชนหมู่ 11 มีน้ำที่ใช้ในการบริโภคเป็นน้ำดื่มจากโรงงานผลิตน้ำภายในหมู่บ้าน และน้ำอุปโภคจะเป็นน้ำที่มาจากประปาหมู่บ้านและน้ำประปาบนดอย ซึ่งน้ำประปาดอยมักจะไม่เพียงพอต่อการใช้อุปโภค เนื่องจากฟาร์มโคนมที่อยู่ในหมู่บ้านจะใช้น้ำในช่วงเวลา 16.00 - 17.00 น. ทำให้น้ำไม่ไหลในช่วงนี้การระบายน้ำแต่ละบ้านจะระบายลงสู่พื้นดินบ้านตนเองไม่มีร่องระบายน้ำทำให้เกิดน้ำท่วมขังได้ในช่วงที่มีฝนตก 

จากการรวบรวมข้อมูลเอกสารทุติยภูมิของหมู่บ้านออนกลาง หมู่ที่ 11 ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2564 พบว่ามีครัวเรือนทั้งหมดจำนวน 150 ครัวเรือน ซึ่งมีประชากร ทั้งหมด 336 คน พบว่าประชากรบ้านออนกลาง หมู่ที่ 11 ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 50 - 54 ปี ส่วนใหญ่มีสถานะสถานภาพสมรสคิดเป็นร้อยละ 61.75 ส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา คิดเป็นร้อยละ 57.34

จากการสำรวจเครือญาติของครัวเรือนในชุมชนบ้านออนกลาง หมู่ที่ 11 ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าในหมู่บ้านมีตระกูลเก่าแก่และตระกูลขนาดใหญ่ คือ ตระกูล “พรหมเมือง” “กันตีมูล” และ “พรหมษา” ซึ่งทั้ง 3 ตระกูลเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในชุมชน และประกอบด้วยสมาชิกและลูกหลานในตระกูลหลายรุ่น โดยนักศึกษาที่ลงพื้นที่สำรวจได้เลือก ตระกูล “พรหมเมือง” มานำเสนอ เนื่องจากเป็นตระกูลดั้งเดิมที่มาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านออนกลางมาเนิ่นนาน โดยได้สัมภาษณ์ นายเหรียญ พรหมเมือง และ นางศรีวรรณ พรหมเมือง ซึ่งทั้งสองท่านเป็นผู้ที่สมาชิกในตระกูลให้ความเคารพนับถือ และเป็นที่รู้จักของสมาชิกในตระกูลทุกรุ่น เนื่องจากเป็นผู้อาวุโสรอบรู้ในด้านต่าง ๆ ของตระกูล อีกทั้งยังเคยได้รับเลือกดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 11 บ้านออนกลาง ระหว่างดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้พัฒนาชุมชนตามนโยบายของการเป็นผู้นำ

จากการสัมภาษณ์ พบว่าตระกูลพรหมเมือง มีต้นตระกูลมาจากนายมี และนางเอื้อย พรหมเมือง และมีลูกหลานสืบเชื้อสายมา 6 รุ่น ขยายเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ และอาศัยอยู่ในหลากหลายพื้นที่ในอำเภอแม่ออนรวมทั้งอำเภอใกล้เคียง เช่น สันกำแพง แต่เนื่องจากเป็นตระกูลขนาดใหญ่และลูกหลานแยกย้ายไปอาศัยหรือทำงานต่างถิ่นเป็นจำนวน มากทำให้ผู้ให้ข้อมูลไม่สามารถจดจำสมาชิกบ้างคนในตระกูลได้ทั้งหมด แต่ทราบได้ว่าเป็นเครือญาติและครอบครัวเดียวกัน จากการสังเกตและศึกษาข้อมูลครอบครัวจะเห็นได้ว่าในช่วงรุ่นแรกของตระกูลจะเป็นครอบครัวขยายอาศัยอยู่ร่วมกันแต่ในช่วงรุ่นลูกหลานจะเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นครอบครัวเดี่ยว ทำให้ปัจจุบันขนาดครอบครัวในรุ่นหลานเล็กลงจากอดีตมาก

ไทขึน

จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรชุมชน พบว่าโครงสร้างองค์กรชุมชนบ้านออนกลางหมู่ 11 ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ โดยในแต่ละองค์กรจะมีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน องค์กรในชุมชนเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเอง และมาจากการเลือกตั้งของคนในชุมชน ซึ่งปัจจุบันชุมชนบ้านออนกลางหมู่ 11 ได้มีการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้

องค์กรที่เป็นทางการ

  • กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน
  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน (กองทุนเงินล้าน)
  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
  • กลุ่มชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.)

องค์กรที่ไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มสตรีแม่บ้าน
  • กลุ่มชมมผู้สูงอายุ

จากการประเมินและการสอบถามประชากรในชุมชนบ้านออนกลางพบประชากรที่อยู่ในช่วงอายุวัย กลางคนถึงวัยสูงอายุ ส่วนมากของประชากรประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรตั้งแต่ยังเด็กจนถึงปัจจุบัน ทั้งการ เลี้ยงโคนม การทำสวน และการทำไร่หมุนเวียนกันไปทั้งปี โดยต้นปีจะปลูกยาสูบเนื่องจากเป็นฤดูกาลที่ อากาศหนาว แห้ง ต้นยาสูบจะขึ้นได้ดี และยังเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชนบ้านออนกลางมานาน โดยการปลูก ต้นยาสูบจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ในการเก็บเกี่ยว โดยจะเก็บเกี่ยวในช่วงมีนาคม ในหมู่บ้านออนกลาง หมู่ที่ 11 ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ จะเก็บเกี่ยวแบบใบยาสด ไม่มีการอบใบยาสูบ และคัดเกรดใบยาสูบตามสีก่อนส่งไปขาย เนื่องจากบริเวณบ้านออนกลางไม่มีเตาอบใบยาสูบเหมือนสมัยก่อน และโควต้าในการรับใบยาสูบของโรงงานยาสูบน้อยลง ถึงจำเป็นต้องนำไปขายสดให้กับหมู่บ้านเปาสามขา และบ้านแม่ทา ในบางพื้นที่จะมีการปลูกข้าวโพด โดยการปลูกข้าวโพดจะปลูกตลอดทั้งปี โดยจะแบ่งเก็บข้าวโพดอ่อนและข้าวโพดที่เต็มวัยเพื่อส่งขายให้โรงงาน บางกลุ่มในหมู่บ้านจะมีการปลูกถั่วลิสง โดยจะปลูกประมาณ เดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม โดยพื้นที่ที่ปลูกจะปลูกบริเวณป่า เนื่องจากดินเหมาะสมต่อการปลูกมากกว่าบริเวณภายในหมู่บ้าน และใช้เวลาปลูกประมาณ 3 เดือน และเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนสิงหาคมถึงกันยายน โดยการเก็บผลผลิตจะเก็บในช่วง 110 วัน ในช่วงหลังจากการปลูกถั่วลิสงจะเป็นช่วงที่เริ่มเข้าฤดูฝน ชาวบ้านจำนวนมากจะมีการทำนาปี โดยจะเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนมิถุนายน โดยการทำนาปีส่วนมากจะเป็นข้าว กข.6 มากกว่า ข้าวดอ โดยจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนตุลาคมเนื่องจากข้าวจะแตกเม็ดสมบูรณ์และใกล้จะจบฤดูฝนทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่าย เมล็ดข้าวไม่เป็นสีคล้ำ แห้ง และข้าวที่เก็บเกี่ยวมาจะมีกลิ่นหอม ชาวบ้านจะเรียกว่า “ข้าวใหม่” โดยค่ารับจ้างในการทำเกษตรหมุนเวียนภายในบ้านออนกลาง หมู่ 11 จะมีช่วงราคาที่แบ่งตามเพศ ถ้าเพศหญิงค่าจ้างรายวันอยู่ที่ ราคา 250-300 บาท/วัน ผู้ชายค่าจ้างรายวันจะอยู่ที่ราคา 300-320 บาท/วัน และมีการทำเพื่อซื้อมือ (ไม่คิดค่าแรงในการทำงานแต่ต้องไปทำที่ส่วนของคนที่มาช่วยเป็นงานตอบแทน)

ในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนาปี เพื่อรอเก็บเกี่ยวผลผลิต ชาวบ้านสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากลำไยได้ ชาวบ้านบ้านออนกลาง หมู่ 11 จะมีทั้งการเก็บผลผลิตเองและรับจ้าง โดยการรับจ้างจะ แบ่งค่ารับจ้างออกเป็น 3 แบบ คือ

  1. ค่าจ้างตามกิโลที่เก็บได้ ราคาจะขึ้นอยู่กับราคารับซื้อลำไย
  2. เหมาเป็น รายวันราคาทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะอยู่ในราคา 250-300 บาท/วัน
  3. การทำเพื่อซื้อมือ (ไม่คิดค่าแรงในการ ทำงานแต่ต้องเก็บลำไยคนที่มาช่วยเป็นงานตอบแทน)

นอกจากนี้ยังมีการเก็บลำไยเพื่อนำไปขายและส่ง โรงงานในการทำผลไม้กระป๋อง ประชากรเพศหญิงวัยกลางคนจนถึงวัยสูงอายุส่วนมากจะเข้าไปรับจ้างเพื่อคว้านเมล็ดลำไยในโรงงาน รายได้จะขึ้นอยู่กับปริมาณการคว้านของแต่ละคนราคาคว้านโดยประมาณเท่ากับ 6 บาท/กิโล และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพศหญิงในหมู่บ้านออนกลางหมู่ 11 ตำบลออนกลาง นิยมทำมากที่สุด คือ การปักผ้าและการทำสายของกระเป๋า ซึ่งจะมีการปักตลอดทั้งปี โดยการปักผ้าจะเป็นการปักตามแบบที่มีการ วางแบบไว้และมีค่าตอบแทน 120บาท/ผืน และการท าสายกระเป๋า ราคาจะคิดเป็นชิ้น ชิ้นละ 2 บาท

1. นายเหรียญ พรหมเมือง

นายเหรียญ พรหมเมือง หรือ พ่อเหรียญ อดีตผู้นำชุมชน บ้านออนกลาง หมู่11 เกิดเมื่อวัน 1 มิถุนายน พ.ศ. 2482 อายุ 83 ปี อาศัยใน หมู่ที่ 11 ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ นายเหรียญ พรหมเมือง เป็นบุตรของนายแก้ว พรหมเมืองและ นางแก้ว พรหมเมือง โดย นายเหรียญ พรหมเมือง เป็นบุตรคนที่ 4 มีพี่น้องจำนวน 5 คน 

ประวัติด้านการศึกษา

  • ประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 พ.ศ. 2488

ประวัติการทำงาน

  • พ.ศ. 2525 เป็นประธาน อสมหมู่บ้าน
  • พ.ศ. 2520 เป็นคณะกรรมการหมู่ 8
  • พ.ศ. 2545 เป็นผู้ใหญ่บ้านออนกลาง หมู่ที่ 11
  • พ.ศ. 2557 เป็นมัคนายกวัดออนกลาง
  • พ.ศ. 2560 ประธานผู้สูงอายุอีกครั้ง
  • พ.ศ. 2562 คณะกรรมการวัฒนธรรมฟื้นฟู
  • พ.ศ. 2562 ประธานผู้สูงอายุของหมู่บ้านออนกลางหมู่ 11

จากการสัมภาษณ์ นายเหรียญ พรหมเมือง หรือพ่อเหรียญ และจากการสนทนาสอบถามเรื่องราวของพ่อเหรียญจากชาวบ้านออนกลางหมู่ 11 กล่าวถึง พ่อเหรียญว่า เป็นคนที่เข้าถึงง่าย อารมณ์ดี ไม่ถือตัว มีจิตสาธารณะ และยังมีหลักการในการทำงาน เป็นขั้นเป็นตอน โดยพ่อเหรียญนั้น เป็นคนบ้านออนกลาง หมู่ 8 โดยกำเนิด ก่อนที่จะแยกหมู่บ้านมาเป็นบ้านออนกลางหมู่ 11 ในปี พ.ศ. 2545 ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านออนกลาง หมู่ที่ 11 พ่อเหรียญเล่าว่า เมื่อปี พ.ศ. 2526 ได้กู้เงินจาก ธกส. ประมาณ 4,000 บาท มาซื้อที่ดิน โดยปลูกฝ้าย ปลูกยาสูบ และถั่วลิสง แล้วนำผลผลิตที่ได้ ไปขายให้กับคนบ้านออนหลวย แต่ไม่นาน ทำได้ประมาณ 4 ปี เพราะช่วงนั้นเกิดปัญหา ฝนตกหนักหลายวัน ทำให้ได้รับผลกระทบ พืชที่ปลูกมาเสียหาย ไม่สามารถปลูกฝ้าย ยาสูบและถั่วลิสงต่อไป ทำให้รายได้ไม่เพียงพอ ซึ่งพ่อเหรียญและภรรยาจะต้องหาเงินส่งเสียให้กับบุตรที่กำลังเรียนและยังเป็นหนี้ ธกส. ในเมื่อรายได้ไม่เพียงพอจึงหันไปเลี้ยงโคนมและเลี้ยงหมู ในปี พ.ศ. 2530 ประมาณ 30 ตัว แม้ช่วงสมัยนั้นเงินหายาก ต้องทำงานหนักยอมที่จะเหนื่อย จนพ่อเหรียญสามารถทำงานจนใช้หนี้หมดได้ และพ่อเหรียญยังเปรียบเทียบให้เห็นอีกว่า คนในอดีดทุกข์เงินทองนั้นหายาก ทุกคนต้องทำงานหนัก เช้าก็ออกไปทำงาน พระอาทิตย์ตกเย็นถึงได้กลับบ้าน เหนื่อยกาย เพื่อให้ได้เงินมา แม้เงินบาทก็มีค่า สามารถซื้ออะไรได้หลายอย่าง แตกต่างกับสมัยนี้เปลี่ยนแปลงไป เงินบาทหาง่าย ลูกหลานไม่ต้องทำงานหนักเหมือนคนสมัยก่อนก็มีเงินใช้จ่าย แม้จะใช้เงิน 100 หรือ เงิน 1000 ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งเห็นถึงความแตกต่างในการดำเนินชีวิตของยุคที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยในอดีตพ่อเหรียญ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านท่านแรกของบ้านออนกลาง หมู่ 11 โดยพ่อเหรียญได้รับการสนับสนุนให้ลงสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้าน โดยครั้งนั้นมีผู้สมัครผู้ใหญ่บ้าน 3 ท่าน แต่ผลเลือกตั้งออกมา ปรากฏว่า พ่อเหรียญได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน เนื่องจากพ่อเหรียญมีประสบการณ์ด้านการทำงาน ซึ่งเมื่อก่อนพ่อเหรียญได้รับหน้าที่เป็นคณะกรรมการหมู่บ้านร่วมกับเป็นประธาน อสม. ของหมู่ 8 เป็นระยะเวลา 22 ปี ก่อนที่จะแยกหมู่บ้านมาเป็นบ้านออนกลางหมู่ 11 โดยพ่อเหรียญเล่าว่า เมื่อแยกหมู่บ้านมาเป็นบ้านออนกลางหมู่ 11 นั้น พ่อเหรียญต้องรับหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้านท่านแรก และต้องทำงานหนัก เพราะหมู่บ้านยังว่างเปล่า เรื่องระบบการดูแลปกครอง ก็จะต้องแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการของหมู่บ้าน ขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นกลุ่มประสานงาน ช่วยกันสร้างพัฒนาและร่วมกันแก้ไขปัญหาในหมู่บ้าน พ่อเหรียญมีหลักการทำงานในการเป็นผู้นำที่มีเป้าหมาย คืออยากจะให้หมู่บ้านออนกลาง หมู่ 11 มีความเจริญและมีความพร้อมที่จะพัฒนาหมู่บ้านให้ดีขึ้นโดยสมัยนั้นพ่อเหรียญได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำของหมู่บ้าน ในการของบประมาณจากองค์กรหรือจากบุคคลที่มีฐานะในสมัยนั้น เพื่อที่จะนำงบที่ได้ มาสร้างน้ำประปาในหมู่บ้านก็เพื่อให้ชาวบ้านนั้นมีน้ำอุปโภคและบริโภคที่เพียงพอ และพ่อเหรียญก็ยังมีการประสานงานกับผู้ช่วยและ คณะกรรมการหมู่บ้าน ในการที่จะของบจาก องค์การบริหารส่วนตำบลออนกลาง ในปี พ.ศ. 2546 ที่จะมาสร้างศาลาหมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการทำงานและจัดกิจกรรมของชาวบ้าน เช่น การประชุมของหมู่บ้าน โดยพ่อเหรียญยังบอกอีกว่า ในการเป็นผู้นำ จะต้องเป็นคนที่มีความกล้าทุ่มเทเต็มที่กับการทำงาน และต้องมีสติอยู่ทุกเมื่อ เวลาทำงานร่วมกับผู้อื่นก็ต้องสื่อสาร ใช้คำพูดจาอ่อนน้อมกับผู้ที่ร่วมงานและให้เกียรติทุกคน รับฟังความคิดเห็นจากคนอื่น เพราะเรานั้นทำงานเป็นทีม ไม่ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง เมื่อมีความคิดที่แตกต่าง ก็ต้องมีการตัดสินใจหาทางออกร่วมกัน

ขณะที่ไปเยี่ยมพ่อเหรียญ ก็จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการรักษาอาการโรค โดยการปัดเป่า พ่อเหรียญ เริ่มรักษาโรคตั้งแต่อายุ 21 ปี ซึ่งจะมีคาถารักษาอาการเจ็บป่วยให้กับชาวบ้านโดยพ่อเหรียญเล่าว่า วิชาที่เรียนเกี่ยวกับคาถาได้รับวิชามาจากพ่อและแม่ และรับจากคนที่เป็นพม่าและไทยใหญ่ คาถาก็จะมีเฉพาะโรค คาถาที่ท่องก็จะยาวโดยแต่ละครั้งที่ทำการรักษา ก็จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงและพ่อเหรียญยังมีคาถาเมตตา โดยบอกให้ฟังว่าคาถานี้ เวลาตื่นเช้ามาตักน้ำมาล้างหน้า 3 ครั้ง โดยล้างหน้าแต่ละครั้งให้หันหน้าไปยังทิศตะวันออก ตักน้ำมาครั้งที่ 1 ให้ท่องคำว่า "มะ" แล้วนำมาล้างหน้า ตักน้ำมาครั้งที่ 2 ให้ท่องคำว่า "อะ" แล้วล้างหน้า ตักน้ำครั้งที่ 3 ให้ท่องคำว่า "อุ" แล้วล้างหน้าทำแบบนี้ทุกวันก็จะทำให้คนที่เข้ามาหาเรานั้น มีความเมตตาความปรารถนาดีให้กับเรา ซึ่งพ่อเหรียญนั้นสามารถรักษาได้หลายโรค ได้แก่ โรคงูสวัด คางทูม แม้แต่ การมีบาดแผล แผลเน่า อาการปวดกระดูก หากจะทำการรักษาโรคได้นั้น ก็จะต้องงดรับประทานอาหารก่อนที่จะทำการรักษา เพราะว่าเป็นกฎข้อห้ามจากเบื้องบน พ่อเหรียญยังเล่าว่า ตนเคยผิดพลาดทำผิดกฎทำให้ตน นั้นเกือบไม่รอดชีวิต นอนไม่ได้ ทุกข์ทรมานเพราะถูกลงโทษจากคนเบื้องบน หลังจากนั้นพ่อเหรียญก็จะพยายามรักษากฎไม่ทำผิดอีก การรักษาปัดเป่าบรรเทาความเจ็บปวดและการหายของโรคจะใช้คาถาและการปัด โดยจะใช้ใบพลู ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณหาได้ง่าย แต่ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีหายาก โดยผลของการรักษานั้นทั้งระยะของแผลและโรคอาจจะหายเร็วหรือช้าจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคล โดยจะใช้เวลา 2-3 วัน การรักษานั้นพ่อเหรียญจะไม่เก็บค่าครู (ค่าทำพิธี) เพียงแค่เตรียมกรวยดอกไม้มาไหว้ แต่ถ้าหากว่าการรักษานั้นได้ผลจริง หายจากโรค หลังจากนั้นก็จะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลว่าอยากจะนำเงินมาไหว้ค่าครู ตามศรัทธา ซึ่งส่วนใหญ่ค่าครูที่ได้ก็จะประมาณ 300 บาท ซึ่งพ่อเหรียญจะทำการรักษาทุกวันยกเว้นวันพระและวันพุธเนื่องจากวันพระพ่อเหรียญจะเข้าวัดทำบุญ และวันพุธ ทางเบื้องบนไม่อยู่จึงไม่สามารถรักษาโรคได้

แต่ปัจจุบันพ่อเหรียญอายุมากขึ้น การเดินทางไปบ้านผู้ป่วยก็ยากลำบาก และยังมีปัญหาด้านการมองเห็นในการขับรถจักรยานยนต์ ทำให้ไม่ค่อยจะรับรักษาผู้ป่วย และจากการสัมภาษณ์พ่อเหรียญยังบอกอีกว่าเรื่องของการรักษาทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์และทางไสยศาสตร์ เป็นสิ่งที่ควบคู่ไปด้วยกันได้ เพราะพ่อเหรียญได้เห็นวิจัยหนึ่ง ที่ว่า จากการทดลองรักษาโรคต่าง ๆ จากทางทางไสยศาสตร์นั้น เขานำมาทดลองปัดเป่าหลายครั้ง ผลปรากฎว่ารักษาได้จริงจึงเชื่อว่าสิ่งที่ตนเองรักษาด้วยการปัดเป่านั้นก็ให้หายจากโรคได้จริง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาไทยและภาษาเมือง (ภาษาเหนือ)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเชียงใหม่. (2564). ข้อมูลการสำรวจชุมชน ระหว่างวันที่ วันที่ 17 – 24 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564. เชียงใหม่: สาขาวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.