บรรพบุรุษถูกกวาดต้อนจากประเทศลาวเข้ามาสู่ประเทศสยาม หนึ่งในนั้นคือที่บ้านทัพคล้าย ชุมชนพึ่งพาตนเองในการผลิตปัจจัยสำคัญ ๆ เพื่อการดำเนินชีวิต เช่น เครื่องนุ่งห่มและการทำเกษตรกรรม
บรรพบุรุษถูกกวาดต้อนจากประเทศลาวเข้ามาสู่ประเทศสยาม หนึ่งในนั้นคือที่บ้านทัพคล้าย ชุมชนพึ่งพาตนเองในการผลิตปัจจัยสำคัญ ๆ เพื่อการดำเนินชีวิต เช่น เครื่องนุ่งห่มและการทำเกษตรกรรม
บรรพบุรุษของผู้คนในปัจจุบันมีถิ่นเดิมอยู่ในดินแดนประเทศลาว สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นฝ่ายไทยได้ยกกองทัพไปทำสงครามกับผู้คนในเขตประเทศลาวอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะการปราบกบฏ เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทร์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้คนหลายกลุ่มชาติพันธุ์จากประเทศลาวถูกกวาดต้อนเข้ามาสู่ประเทศสยามเป็นจำนวนมากอย่างเช่น ที่บ้านทัพคล้าย ในแง่ของภาษาถิ่นพบว่าที่ชุมชนบ้านทัพคล้ายมีทั้งผู้ที่พูดภาษาลาวเวียง (ภาษาลาวสำเนียงเวียงจันทร์) ภาษาลาวครั่ง และภาษาลาวกา และเมื่อนำข้อมูลลักษณะผ้าพื้นเมืองที่ผลิตในชุมชนมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษเรื่อยมาจนปัจจุบันมาพิจารณาก็ทราบว่าโดยโครงสร้างลวดลาย สีสันและเทคนิคการทอซึ่งมีทั้งการทอธรรมดา ทอจกและมัดหมี่นั้นเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง
ในระยะแรกเริ่มก่อตั้งชุมชนมีครัวเรือนไม่ถึง 10 หลังคาเรือน แต่เพราะปัญหาความเจ็บไข้จากโรคฝีดาษ (ไข้ทรพิษ) และความขาดแคลนพื้นที่ราบเพื่อการทำนาทำให้ต้องย้ายไปตั้งหลักแหล่งในที่แห่งใหม่ เท่าที่ชาวบ้านลูกหลานจำเหตุการณ์ได้เมื่อสมัยเมื่อ 60 ปีก่อน มีครัวเรือนอยู่ทางฝั่งตะวันออกของลำห้วยกระเสียวราว ๆ 10 กว่าหลังคาเรือนและอีก 20 กว่าหลังคาเรือนอยู่ทางทิศตะวันตกของลำห้วยดังกล่าว ชาวบ้านเรียกกลุ่มบ้านทางฝั่งตะวันออกว่า “บ้านทุ่งนา” และเรียกกลุ่มบ้านฝั่งตะวันตกว่า “บ้านทัพคล้าย”
บ้านทัพคล้ายมีพื้นที่ทั้งหมด 1,798 ไร่ ในจำนวนนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะ 25 ไร่ เป็นที่นา 40 ไร่ เป็นส่วน 58 ไร่ และเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่ 1,675 ไร่
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านทัพหลวง หมู่ที่ 1 ตำบลทัพหลวง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านทัพคล้ายหมู่ที่ 2 ตำบลทัพหลวง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านทัพหมัน หมู่ที่ 3 ตำบลทัพหมัน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลบ้านไร่
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปทางบ้านทัพคล้ายทางด้านทิศตะวันตกเป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อน ถัดจากแนวเขาไปทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบสูงสลับกับที่ราบลาดเขาในลักษณะลูกคลื่นและมีที่ราบต่ำบริเวณแนวริมฝั่งลำห้วยกระเสียว ห้วยกระเสียวเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่แถบนี้ มีต้นน้ำมาจากป่าสงวนแห่งชาติห้วยขาแข้ง ไหลผ่านหมู่บ้านจากทางทิศเหนือลงไปทางทิศใต้ ในฤดูน้ำหลากระดับน้ำในลำห้วยมักสูงและเอ่อล้นท่วมสองฟากฝั่งลำห้วยเข้าไปสู่บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านและเรือกสวนไร่นาอยู่เป็นประจำ ลักษณะดินบริเวณที่น้ำท่วมถึงจึงเป็นดินตะกอนที่กระแสน้ำพัดมาถมทับไว้ เนื้อดินเป็นดินปนทราย คุณสมบัติไม่ค่อยเกาะตัวกันเหมือนดินในเขตน้ำท่วมขังนาน ๆ อย่างดินเหนียวตามที่ราบลุ่มลำน้ำสะแกกรัง ส่วนเนื้อดินตามบริเวณที่ราบสูงลงไปสู่ที่ราบลาดต่ำเป็นดินร่วนซึ่งมีทั้งดินร่วนสีสนิมและดินร่วนสีดำ ชาวบ้านมักใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณที่มีดินร่วนสีสนิมเพื่อปลูกพืชไร่เศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพดและมันสำปะหลัง สำหรับบริเวณที่มีดินร่วนสีดำส่วนใหญ่จะใช้เป็นที่ปลูกข้าว ในที่เนินสูงอาจปลูกข้าวไร่แต่หากเป็นที่น้ำท่วมขังได้บ้างก็จะปรับให้ที่ปลูกข้าวนาดำ ระหว่างฤดูฝนกระแสน้ำในลำห้วยไหลเชี่ยวเกินกว่าที่จะทดน้ำเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ชาวบ้านมักจะใช้น้ำในลำห้วยเพื่อการชำระล้างทั้งคนและสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะควาย นอกจากนี้สัตว์น้ำประเภทปูปลาก็ได้ไปจากการหาจับตามลำห้วยแห่งนี้ แต่ละครอบครัวมีตุ่มใส่น้ำเพื่อรองน้ำฝนไว้ดื่ม ในระยะหลังมีการขุดบ่อบาดาลขึ้นมาใช้บนบ้านกันมากยิ่งขึ้น การลงไปอาบน้ำชำระร่างกายและซักเสื้อผ้าตามลำห้วยจึงลดลง
สถานที่สำคัญ
- วัดทัพคล้าย สร้างขึ้นบนฝั่งตะวันตกของห้วยกระเสียว เป็นที่รวมของคนทั้งจากหมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 2
หมู่บ้านทัพคล้ายมีจำนวนประชากรทั้งหมด 665 คน แบ่งเป็นประชากรหญิง 339 คน และประชากรชาย 326 คน จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 257 ครัวเรือน
ระบบเครือญาติ
โดยมากสาว ๆ จะมีครอบครัวก่อนหนุ่ม ๆ ในรุ่นเดียวกัน คู่ครองจึงมักมีอายุในระดับรุ่นพี่สาว ๆ หลายคนแต่งงานกับเพื่อนของพี่ชายหรือญาติห่าง ๆ คู่สมรสอายุ 50 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่เกิดและโตในชุมชน และเป็นธรรมเนียมที่ยังคงปฏิบัติกันมานานที่จะมี ”เถ้าแก่” เป็นคนกลางเพื่อเจรจาสู่ขอบุตรสาวของผู้อื่นมาเป็นสะใภ้ ในงานแต่งมีการทำบุญเลี้ยงพระและสู่ขวัญบ่าวสาว ญาติพี่น้องจะมาผูกข้อมือและอวยพรให้แก่คู่สมรส งานนี้พี่น้องข้างเจ้าสาวอาจจะเหนื่อยกว่าญาติฝ่ายเจ้าบ่าวเพราะงานแต่งและการเลี้ยงจัดขึ้นที่บ้านฝ่ายหญิง การช่วยงานมีทั้งช่วยแรงงาน ให้ของใช้ครัวเรือนเป็นของขวัญและช่วยด้วยเงินในกรณีที่เคยได้รับการช่วยงานด้วยเงินมาก่อน การช่วยงานด้วยเงินมักเป็นเรื่องของคนรุ่นพ่อแม่ เป็นมารยาทที่จะช่วยเงินให้มากกว่าที่เคยได้รับเป็นของขวัญ บางทีอาจจะเรียกว่าการช่วยงานด้วยเงินเป็นเสมือนพันธะกรณีที่ระหว่างครอบครัวมีต่อกัน เพราะเกือบทุกครอบครัวจะมีสมุดทำบัญชีเงินช่วยงานบวชและงานแต่งเก็บไว้เป็นเครื่องเตือนใจว่ามีใครเคยช่วยงานไว้มากน้อยเพียงใด ปกติเงินที่ได้จากการช่วยงานจะรวมเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดจ้างงานดังกล่าว ส่วนสินสอดและของหมั้นอย่างอื่นมักยกให้คู่บ่าวสาวเก็บเป็นทุนเพื่อสร้างครอบครัว แต่บางทีก็ต้องแบ่งเงินจากกองสินสอดสมทบกับเงินช่วยจากแขกที่มาร่วมงานเพื่อจ่ายตามรายการค่าใช้จ่ายตามรายการค่าใช้จ่ายทั้งหลายเมื่องานผ่านพ้นไปแล้ว มีการหยิบยืมเงินจากหมู่ญาติเพื่อสำรองเป็นค่าจัดงานแต่งด้วยเช่นกัน
การที่ฝ่ายชายแต่งงานแล้วอยู่สร้างครอบครัวกับญาติข้างภรรยา บรรดาลูกชายจึงมีแนวโน้มจะห่างเหินจากกลุ่ม ยิ่งในรายที่แต่งกับคนต่างหมู่บ้านยิ่งจะเห็นได้ชัด แต่เนื่องจากคู่สมรสส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชนจึงยังคงติดต่อกับครอบครัวเดินของตนอยู่ตามโอกาสต่าง ๆ เช่นมาช่วยทำงานในไร่นา หรือช่วยเหลือกันในคราวที่มีพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ยามป่วยไข้หรือมีเรื่องเดือดร้อนก็เข้ามาช่วยเหลือกันตามความสามารถ บางทีก็แวะมาบ้านเดิมเคยมิได้มีธุระสำคัญประการใดเพียงได้พูดคุยหรือร่วมกินอาหารรสชาติที่คุ้นเคยกับพ่อแม่พี่น้อง แต่พอถึงเวลาเซ่นไหว้ “ของรักษา” (เครื่องรางของขลังและคาถาอาคม) ของตระกูลซึ่งจะมีขึ้นในเดือน 6 ของทุกปี บรรดาลูกชายทุกคนต่างจะกลับมาทำพิธีสักการะสิ่งที่ตนนับถือโดยพร้อมเพรียงกัน ภรรยาอาจจะมาร่วมพิธีด้วยเพราะลูก ๆ จะนับถือสิ่งดังกล่าวตามบิดาของตน ธรรมเนียมการเลือกที่อยู่ภายหลังการสมรสเช่นนี้เท่ากับเป็นการเปลี่ยนกลุ่มของผู้ชาย ด้วยผู้เป็นเขยทั้งหลายต่างก็เป็นสมาชิกของกลุ่มอื่นมาก่อน เมื่อเข้ามาอยู่กับญาติข้างภรรยาก็คงต้องสร้างความสัมพันธ์กับหมู่ญาติเหล่านั้น ในบรรดาญาติผู้ชายข้างฝ่ายภรรยาผู้สมรสแล้วทั้งหลายส่วนใหญ่ก็คือผู้ที่มีฐานะเป็นเขย ทั้งนี้ก็จะได้แก่ ตา พ่อ พี่เขยและน้องเขยของภรรยา ในกรณีที่พี่น้องผู้หญิงของภรรยาที่มีคู่ครองและยังไม่ได้แยกเรือนออกไปก็จะเห็นความร่วมมือในเรื่องต่าง ๆ อย่างค่อนข้างเด่นชัด ในขณะที่มีความร่วมมือก็อาจจะมี เช่น ความขัดแย้งรวมอยู่ด้วย อาจจะมีการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเขยเล็กและเขยใหญ่ในเรื่องของฐานะทางเศรษฐกิจ-สังคม ความขยันหมั่นเพียร ความสามัคคี ความโอบอ้อมอารี ความมีสัมมาคารวะ ฯลฯ เมื่อเวลาผ่านไปเขยทั้งหลายได้เขยิบฐานะเป็นเจ้าบ้านแทนบรรดาพ่อตาที่อาจชรามากหรือมรณภาพไปแล้ว ความรู้สึกเป็นผู้นำครอบครัวละเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินต่าง ๆ ก็จะมีมากกว่าในอดีต
ลาวครั่งวิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
วัดทัพคล้ายเป็นวัดแห่งเดียวของชุมชน ผู้คนในบ้านทัพคล้ายมีเหตุให้ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับวัดอยู่เสมอ โดยรวมแล้วในรอบปีหนึ่ง ๆ ก็มีเทศกาลต่าง ๆ ให้วัดและชุมชนได้สัมพันธ์กันอยู่มากโดยเฉพาะงานบุญสำคัญต่าง ๆ ดังได้ระบุไว้ในรายการข้างล่างนี้
ปฏิทินประเพณีในรอบปี
- เดือนหนึ่ง : ไม่ปรากฏประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
- เดือนสอง : ไม่ปรากฏประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
- เดือนสาม : งานประจำปีของวัดทัพคล้าย , สู่ขวัญข้าวเข้ายุ้ง , กำฟ้า , บุญข้าวจี่ , สงกรานต์
- เดือนสี่ : ไม่ปรากฏประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
- เดือนห้า : แฮกข้าว
- เดือนหก : เลี้ยงปีเจ้าบ้าน , เข้าพรรษา
- เดือนเจ็ด : ไม่ปรากฏประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
- เดือนแปด : บุญข้าวประดับดิน
- เดือนเก้า : สารท (บุญข้าวสาก)
- เดือนสิบ : ออกพรรษา
- เดือนสิบเอ็ด : ฮับมานข้าว (รับขวัญข้าวตั้งท้อง)
- เดือนสิบสอง : กฐินและลอยกระทง
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
การเกษตร
บ้านทัพคล้ายเป็นชุมชนที่พึ่งพาตนเองในการผลิตปัจจัยสำคัญ ๆ เพื่อการดำเนินชีวิตมานานเห็นได้ชัดจากการทำนา ทำไร่และการทอผ้าเพื่อเป็นเครื่องนุ่งห่ม การทำนาจะมีอยู่มากตามพื้นที่ราบทางทิศตะวันออกของชุมชน และตามที่ลุ่มทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน เพราะเป็นการทำนาที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องกันตั้งแต่เมื่อแรกมีฝนมาในปีนั้น เท่ากับเป็นการหว่านและหยอดเมล็ดพันธุ์เพื่อรอฝน ส่วนมากจะทำกันในช่วงปลายเดือน 6 โดยเฉลี่ยแล้วการปลูกข้าวไร่ในพื้นที่ 1 ไร่จะได้ผลผลิต 25-30 ถัง ผลผลิตส่วนใหญ่จะเก็บไว้เพื่อบริโภคภายในครอบครัวเป็นสำคัญ
การปลูกพืชไร่เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกทางหนึ่งเพราะนอกจากจะใช้ผลผลิตเพื่อบริโภคเองแล้วยังนำผลผลิตพืชไร่ไปจำหน่ายเพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าและการบริการจากภายนอกชุมชนอีกด้วย สมัยก่อนพืชไร่ที่ปลูกกันมาก ได้แก่ ฟักทอง พริก (เพื่อทำพริกแห้ง) ฟักเขียว ฝ้าย ข้าวโพด (ข้าวเหนียว) กล้วย อ้อย (พันธุ์พื้นเมือง) ยาสูบ และถั่วชนิดต่าง ๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วลิสงและถั่วดำ พืชที่ปลูกในไร่หลายอย่างอาจจะบริโภคได้โดยตรง แต่พืชผลหลายอย่างก็จะนำมาแปรรูปหรือปล่อยให้เจริญพันธุ์เต็มที่และเก็บไว้บริโภคยามขาดแคลน
1. นายอินทร์ ผู้ชักชวนชาวบ้านทัพคล้ายให้ร่วมกันสร้างฝายกั้นลำห้วยกระเสียวเพื่อกักเก็บน้ำให้ไหลลงสู่ลำเหมืองที่ผ่านพื้นที่เพาะปลูก เมื่อสามารถควบคุมน้ำเพื่อการเกษตรได้แล้วก็ได้ว่าจ้างเพื่อนบ้านถางป่าเพื่อปรับเปลี่ยนให้เป็นที่นามากขึ้น
2. นายจอมจันทร์ เป็นผู้ตั้งร้านค้าตามแบบอย่างที่เคยพบระหว่างที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารที่จังหวัดลพบุรี และได้ซื้อสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะประเภทของแห้งจากตลาดที่อำเภอบ้านไร่มาจำหน่ายในหมู่บ้าน ขณะเดียวกันก็รับซื้อพืชผลในท้องถิ่นทั้งส่วนที่ชาวบ้านเพาะปลูกเองและของที่ได้มาจากการหาเห็ดจากป่าเขาโดยจะนำพืชผลเหล่านี้ออกไปขายนอกบ้านทัพคล้าย
ทุนทางวัฒนธรรม
ในบ้านทัพคล้ายมีงานที่เรียกว่า หัตถกรรมหลายอย่างทั้งการจักสานภาชนะเครื่องใช้ประเภท กระบุง ตะกร้า กระบาย กระชอน กระด้ง ฯลฯ การทำเครื่องใช้ที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น เครื่องหั่นใบยาสูบ หีบอ้อย ครกและสากตำข้าว ไม้พายและไม้คาน
ในด้านการจัดทำเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มนั้น จะแยกผ้าทอออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ผ้าที่ทอด้วยวิธีธรรมดาซึ่งจะได้ผ้าลาย และผ้าที่ไม่มีลวดลายอันใด ส่วนมากจะออกมาในลักษณะที่เรียกว่า “ผ้าดิบ” เพราะฝ้ายที่ใช้ทอไม่ได้นำไปฟอกย้อมแต่อย่างใด เมื่อจะใช้งานก็นำผ้าไปย้อม ตัดแต่งดัดแปลงตามจุดประสงค์ของการใช้งาน ผ้าดิบเป็นผ้าที่แต่ละบ้านจะทอเก็บไว้ในจำนวนที่มากพอสมควรสำหรับเครื่องนุ่งห่มและของใช้อย่างอื่นที่อยากให้มีสีสันและลวดลายก็จะใช้วิธีการทอแบบขิด มัดหมี่ จกและยกดอกสลับกับการทอด้วยวิธีธรรมดา
ลวดลายที่ประดิษฐ์ด้วยวิธีการพิเศษนั้นมีอยู่มาก เช่น ลายรูปพันธุ์พฤกษา ลายรูปสัตว์และลายรูปเรขาคณิต เรียกกันตามชื่อลายที่ปรากฏในผ้าซิ่นมัดหมี่จะมีลายนาคใหญ่ ลายนาคเล็ก ลายเขี้ยวหมา ลายกระแต ลายสร้อยสา ดอกจันทน์ ซ่อนกาบ ลายตะวัน เป็นต้น ลวดลายที่นิยมทำด้วยวิธีการจกยกดอก นอกจากที่กล่าวมานี้ยังมีลายดอกเกี๊ยง ลายช้าง ลายม้า ลายหงส์ ลายดอกแก้ว ลายดาว ลายบัวเครือ เป็นต้น ลวดลายเบ็ดเตล็ดที่อาจใช้แทรกอยู่ระหว่างลายขนาดใหญ่ ๆ อาจได้แก่ลายเม็ด ลายตุ้ม ลายก้านปล้อง ลายกานฝ้าย (เม็ดฝ้าย) ลายปีกไก่ ลายเกล็ดแลน (ตัวเหี้ย) และลายดอกคว่ำ-หงาย
ในแง่ของภาษาถิ่นพบว่าที่ชุมชนบ้านทัพคล้ายมีทั้งผู้ที่พูดภาษาลาวเวียง (ภาษาลาวสำเนียงเวียงจันทร์) ภาษาลาวครั่ง และภาษาลาวกา
มีสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่สิ่งเก่าอยู่หลายอย่าง ควายฝูงสุดท้ายที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการผลิตแบบพื้นบ้านได้ถูกขายไปเมื่อปี พ.ศ. 2537 พอปีรุ่งขึ้นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดกว้างพอที่รถยนต์วิ่งสวนกันได้สำเร็จ การเข้าออกชุมชนเป็นไปอย่างสะดวก กระแสน้ำในลำห้วยไม่เป็นอุปสรรคของการเข้ามาสู่บ้านทัพคล้ายอีกต่อไป เทคโนโลยีทางการเกษตรอาทิ รถแทรกเตอร์ รถไถชนิดเดินตาม รถหยอดข้าวโพด รถเข็นข้าวโพด รถสีข้าวโพด รถเกี่ยวข้าวและนวดข้าว ฯลฯ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำนาทำไร่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันชาวบ้านก็จะต้องเข้าใจการค้าขายมากยิ่งขึ้น ด้วยเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนและมีเครือข่ายหลายระดับ
การรู้เห็นความเป็นไปของโลกภายนอกโดยผ่านสื่อประเภทวิทยุและโทรทัศน์นับว่าเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งการเลียนแบบอย่างการอุปโภคและบริโภคตามสื่อที่ปรากฏอยู่มาก ยิ่งในคนรุ่นใหม่ยิ่งเห็นได้ชัด การแต่งกายตามสมัยนิยม การร้องรำทำเพลงและท่วงทำนองของดนตรีไทยสากลหรือเพลงสากล ตลอดจนการดื่มกินอาหารคาวหวานที่มียี่ห้อเป็นพฤติกรรมที่คนรุ่นปู่ย่าตายายอาจจะรู้สึกอึดอัดขัดใจแต่ก็คงหักห้ามลูกหลานได้ยาก ในระยะหลังมีความนิยมที่จะศึกษาต่อเกินกว่าระดับภาคบังคับ หลายคนก็หายไปจากหมู่บ้านเพื่อไปศึกษาและหางานทำนอกชุมชน จึงมีโอกาสที่จะสืบสานตำนานของความ “ลาว” ทัพคล้ายน้อยลงไป กระนั้นผู้ที่ยังทำมาหากินอยู่ในหมู่บ้านก็ใช่ว่าจะดำเนินชีวิตตามหนทางเยี่ยงบรรพบุรุษอย่างครบถ้วน หากแต่จะปรับแต่งทางชีวิตแบบปู่ย่าตายายให้สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่ผ่านเข้ามา
สิ่งที่พบในชุมชน
- เงินพดด้วง ซึ่งเป็นเงินที่ใช้ในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ปู่ย่าตายายยังเก็บไว้เป็นมรดกมาจนถึงปัจจุบัน
- เงินฮาง ซึ่งเป็นเงินที่ประเทศลาวใช้อยู่ในขณะนั้นที่ปู่ย่าตายายยังเก็บไว้เป็นมรดกสืบมา
- ร่องรอยการตั้งค่ายทหาร จากการที่ชาวบ้านขุดพบดาบและของ้าว ซึ่งเป็นอาวุธที่ใช้รบในสมัยนั้น
- ภาษาถิ่นที่ใช้อยู่ ซึ่งเป็นภาษาที่พูดกันมากที่หลวงพระบาง ประเทศลาวในปัจจุบัน
- ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมบางอย่าง เช่น การแต่งกาย การทอผ้า ฯลฯ
- เพลงกล่อมเด็กร้องสืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษที่ว่า อึ่งอ่าง ไปเวียงจันทร์ หาพ่อหาแม่ เฮา บ่ไปดอก ตากแดดก็กระด้าง ขางไฟก็ขิวควัน
- พบเตาโบราณ ติดกับห้วยกระเสียว ทางทิศใต้ 1 กม. ในวันที่ 27 เมษายน 2556 ได้พบเตาโบราณ
ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2566, จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/12
วัดทัพคล้าย. (ม.ป.ป.). ประวัติหมู่บ้านทัพคล้าย. ค้นคืนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2566 , จาก http://www.วัดทัพคล้าย.com/
วัดทัพคล้าย. (ม.ป.ป.). ผ้าทอทัพคล้าย. ค้นคืนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2566 , จาก http://www.วัดทัพคล้าย.com/
วัดทัพคล้าย. (ม.ป.ป.). วัดทัพคล้าย. ค้นคืนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2566 , จาก http://www.วัดทัพคล้าย.com/