ชุมชนบ้านผาแตก มีภูมิปัญญาในการทอผ้า ทำเสื้อ ผ้าย้อมและทอเอง เป็นภูมิปัญญาที่ตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษถึงปัจจุบัน
ตั้งตามลักษณะหมู่บ้าน คือ มีหินก้อนใหญ่มีลักษณะที่ดูเหมือนแตกออกจากกัน เนื่องจากถูกกระแสน้ำไหลผ่านเป็นเวลานาน
ชุมชนบ้านผาแตก มีภูมิปัญญาในการทอผ้า ทำเสื้อ ผ้าย้อมและทอเอง เป็นภูมิปัญญาที่ตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษถึงปัจจุบัน
ประวัติความเป็นมาบ้านผาแตก ผู้อาวุโสในหมู่บ้านเล่าว่า ครอบครัวกะเหรี่ยงที่อยู่กระจัดกระจายตามบริเวณเชิงเขาได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บริเวณใกล้ลำห้วยแม่ริม เหมาะแก่การทำมาหากิน เนื่องด้วยบริเวณที่มีทำเลดี มีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าวเพื่อการดำรงชีพ ระยะแรกที่อพยพเข้ามามีเพียง 18 หลังคาเรือน สภาพภูมิประเทศเป็นป่ารกมีสัตว์ป่าจำนวนมาก ชาวบ้านช่วยกันถางป่าบริเวณนั้นจนโล่ง สำหรับใช้ทำไร่ทำนาได้ จึงตั้งถิ่นฐานอยู่ตั้งแต่นั้นมาจนทุกวันนี้ รวมถึงชาวกะเหรี่ยงบริเวณใกล้เคียงย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่บริเวณนี้มากขึ้น ประกอบกับการแต่งงานระหว่างชนเผ่าเดียวกันทำให้ครอบครัวขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้บริเวณนี้มีบ้านเป็นหย่อมชาวบานเรียกที่แห่งนี้ว่า เล่อแตะหะคี แปลว่า บ้านผาแดก ชาวบ้านเรียกตามลักษณะหมู่บ้าน คือ มีหินก้อนใหญ่มีลักษณะถูกกระแสน้ำไหลผ่านมาเป็นเวลานานทำให้ดูเหมือนแตกออกจากกัน ทำให้หินดังกล่าวก็ยังคงสภาพเดิม หมู่บ้านนี้ไม่ปรากฎชื่ออย่างเป็นทางการของอำเภอ แต่ไปขึ้นทะเบียนร่วมกับบ้านของคนพื้นเมืองในละแวกเดียวกัน คือบ้านแม่หลอด หมู่ที่ 10 ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
บ้านผาแตกในเขตหมู่บ้านมีลำห้วยหลักอยู่ 3 สายคือ ห้วยน้ำแม่จิ้ว ห้วยน้ำแม่หลอด ห้วยน้ำแม่ริม มีเนื้อที่ทั้งหมด 23,125 ไร่มีอาณาเขตติดต่อกับตำบลอื่น ๆ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อ บ้านแม่หลอดหมู่ที่ 10 ตำบลสบเปิง
- ทิศใต้ ติดต่อ อำเภอแม่ริม อำเภอสะเมิง
- ทิศตะวันออก ติดต่อ บ้านผาแด่นหมู่ทั้ 5 ตำบลสันป่าตอง
- ทิศตะวันตก ติดต่อ บ้านผาเด็ง หมู่ที่ 3 ตำบลป่าแป๋
ลักษณะการตั้งถิ่นฐาน
การตั้งถิ่นฐานของชาวกะเหรี่ยงบ้านผาแตก ลักษณะการตั้งบ้านเรือนจะอยู่รวมกันเป็นหย่อม ๆ นิยมตั้งในบริเวณพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญในการอุปโภค บริโภค และใช้ในการเกษตร ที่ขนาดประมาณ 20 ถึง 30 หลังคาเรือน มีหัวหน้าหมู่ของตนเองสืบทอดกันตามประเพณีของชนเผ่า
สภาพที่อยู่อาศัย บ้านผาแตกตั้งอยู่บริเวณที่ราบระหว่างเขา สภาพภูมิประเทศถิ่นที่อยู่ล้อมรอบไปด้วยภูเขา อากาศจะร้อนเวลากลางวันและกลางคืนค่อนข้างหนาว มีลำห้วยแม่ริมไหลผ่านทางทิศใต้ของหมู่บ้าน บ้านเรือนส่วนใหญ่จะสร้างด้วยไม้ไผ่ทั้งหลัง หลังคามุงด้วยใบคา มีบางส่วนที่ปลูกด้วยเสาไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงสักกะสีและการเบื้อง โครงสร้างบ้านขึ้นตามแบบบ้านกะเหรี่ยงทั่วไป ยกพื้นด้วยเสาไม้สูงจากพื้นดินกว่าเมตร ชายคาคลุมตวบ้าน ปูพื้นและกั้นฝาบ้านด้วยไม้ไผ่ บริเวณรอบตัวบ้านใช้ทำสวนครัวขนาดเล็ก ปลูกพืชผัก กล้วย มะม่วง ขนุนมะละกอ ไว้บริโภคในครัวเรือน
การคมนาคมในหมู่บ้านผาแตก แต่ก็ยังมีการติดต่อค้าขายกับคนพื้นราบอยู่บ้าน เช่น การเดินเท้าไปหาซื้อเกลือ และของใช้ที่จำเป็นที่ตลาดในอำเภอปีละสองสามครั้ง รวมทั้งการซื้อขายพริกแห้งหรือการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันทั้งในและนอกหมู่บ้าน ฐานะครอบครัวส่วนใหญ่ชีวิตซึ่งเรียบง่าย ปลูกข้าวให้พอกิน ทำข้าวนาคำ ข้าวไร่ เลี้ยงไก่ หมูวัว ควายไว้ใช้ในครัวเรือน
โครงสร้างทางครอบครัวของกะเหรี่ยงเผ่าสะกอบ้านผาแตกส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว โดยแต่ละครอบครัวจะมีสมาชิกเพียง 2 ช่วงอายุเท่านั้น คือพ่อแม่ ลูกที่ยังไม่ได้แต่งหรือเพิ่งแต่งงานในระยะแรกฝ่ายชายสามีต้องไปอยู่บ้านภรรยาอย่างน้อย 1 ปี แล้วจึงจะแยกมาสร้างบ้านของตนเองได้ การเลือกคู่ของกะเหรี่ยงส่วนใหญ่นิยมเลือกคนในสังคมกะเหรี่ยงด้วยกัน โดยเฉพาะผู้หญิงกะเหรี่ยงจะมีการคัดค้านไม่ให้แต่งงานกับคนพื้นเมือง เพราะกะเหรี่ยงมองผู้ชายคนไทยไม่มีความซื่อสัตย์ต่อภรรยา มักจะเป็นคนเจ้าชู้ ต่างจากสังคมของชาวกะเหรี่ยงจะเป็นการแต่งงานแบบคู่ครองเดี่ยว หมายถึง ชายคนหนึ่งจะมีภรรยาเพียงคนเดียว กฎประเพณีที่ให้สามีภรรยาอยู่แบบผัวเดียวเมีย แต่หญิงที่หย่าร้างหรือแยกกันอยู่จะไม่ค่อยมีโอกาสได้แต่งงานใหม่ แม้ว่ากะเหรี่ยงสะกอจะมีการสืบสายบรรพบุรุษทางฝ่ายมารดาแต่สังคมกะเหรี่ยงที่บ้านผาแตก ยังนับถือบิดาเป็นหัวหน้าครัวเรือน การทำพิธีกรรมที่คนในชนเผ่านั้บถือ เช่น การเลี้ยงผีเรือนชายหัวหน้าครัวเรือนจะเป็นผู้ทำพิธี การสืบสายมารดาเป็นหัวหน้าครัวเรือน การเลี้ยงผีเรือนชายหัวหน้าครัวเรือนจะเป็นผู้ทำพิธี การสืบสายมารดานั้นถือเพียงแต่ว่าเป็นหลานซึ่งเกิดจากบุตรสาวนั้นเป็นลูกหลานในครอบครัว ดังนั้นเมื่อชายหัวหน้าครัวเรือนทำพิธีเลี้ยงผีเรือน บุตรทุกคนรวมทั้งลูกชายหรือลูกหญิงที่แต่งงานแยกครัวเรือนไปแล้วต้องมาร่วมในพิธี
ปกาเกอะญอหมู่บ้านผาแตกเป็นประชากรกลุ่มหนึ่งของหมู่ที่ 10 บ้านแม่หลอด ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ รวมกับประชากรหมู่บ้านกะเหรี่ยงอีก 2 หมู่บ้าน และหมู่บ้านคนพื้นเมืองอีก 1 หมู่บ้านคือหมู่บ้านแม่หลอด ในขณะชื่อของหมู่บ้านผาแตก หมู่บ้านแม่เจี้ยวหมู่บ้านแม่หลอดใต้ (กะเหรี่ยง) ผู้ใหญ่บ้านของทางการ จึงตกอยู่ที่บ้านแม่หลอดคนเมืองมาเป็นช่วง ๆ และมีอำนาจการปกครองคลุมถึงบ้านผาแตกและบ้านกะเหรี่ยงอีก 2 หมู่บ้านด้วย แต่สังคมในแต่ละหมู่บ้าน จะต้องมีหัวหน้าหมู่บ้านตามประเพณีเป็นชาย เป็นผู้อาวุโสและเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งมาตามสายเลือดฝ่ายบิดา
ชาวบ้านผาแตกเกือบทั้งหมดมีทะเบียนบ้าน ได้รับสัญชาติไทยและมีบัตรประชาชน มีคณะกรรมการพัฒนาหมู่บ้านฝ่ายต่าง ๆ คือฝ่ายปกครองผ่านการศึกษา ฝ่ายอนามัย ฝ่ายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และฝ่ายป้องกันปราบปราม ฝ่ายละ 5 คน คัดเลือกมาจากการเรียกประชุมชาวบ้านที่ผู้ใหญ่ของการจัดขึ้น แต่คณะกรรมการไม่ได้มีอิทธิพลหรือบทบาทสำคัญทางด้านการเมืองการปกครองของหมู่บ้าน ค่านิยมในการเลือกผู้นำยังคงให้ความสำคัญเคารพเชื่อฟังผู้นำตามประเพณีของชนเผ่ามากกว่าผู้นำที่ทางการแต่งตั้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสมัยใดก็ตามหมอผีที่สืบทอดกันตามประเพณี แต่ดั้งเดิมก็ยังคงความเป็นผู้นำของหมู่บ้าน
ชาวกะเหรี่ยงบ้านผาแตกส่วนใหญ่มีการทำเกษตรกรรม โดยการทำไร่เลื่อยลอยหมุนเวียน นิยมปลูกข้าวจ้าวไว้บริโภคและปลูกข้าวเหนียวบางส่วน ข้าวจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัฐของบ้านผาแตก แต่สภาพทางเศรษฐกิจของหมู่บ้านผาแตก ส่วนใหญ่มีปัญหาเกี่ยวกับผลผลิตข้าวไม่พอกินสำหรับทั้ง แม้ว่าที่หมู่บ้านผาแตกจะมีธนาคารข้าวซึ่งจำนวนข้าวเปลือกที่ชาวบ้านจะยืมได้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการหมู่บ้าน 6 คนด้วยกัน แต่จำนวนข้าวในยุ้งฉางธนาคารข้าวไม่พอเพียงที่จะให้ยืมทุกหลังคาเรือน ชาวบ้านจึงหาอาชีพเสริมนอกจากการทำเกษตรกรรม เช่น การจักรสาน หรือการรับจ้างแรงงานเพื่อหาเงินมาซื้อข้าว ส่วนการทอย่าม ทอเสื้อ ทอไว้ใช้มากกว่าทอขาย หากบางบ้านที่ขัดสนเงินทองก็อาจนำมาขายเป็นรายได้เสริมเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นการขายของป่า เช่น หน่อไม้ น้ำผึ้ง ก็เป็นอาชีพเสริมสำหรับชาวบ้าน ของใช้ที่จำเป็นบางอย่าง ชาวบ้านผาแตกได้รับการบริจาคช่วยเหลือจากคนพื้นที่ราบเป็นครั้งคราว เช่น เสื้อผ้า เครื่องห่มกันหนาว เกลือ พริก
ศาสนา
กะเหรี่ยงบ้านผาแตกนับถือศาสนาพุทธมาเป็นเวลานาน ก่อนที่จะมีการสร้างอาศรมพระธรรมจารึกขึ้น ชาวกะเหรี่ยงไปทำบุญวันพระที่วัดผาแตก พุทธศาสนาได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยงข้องในวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงบ้านผาแตกมากขึ้น มีการไปทำบุญวันพระ นำอาหารไปถวายพระและฟังเทศน์ในวันสำคัญทางศาสนา ถึงแม้ชาวบ้านผาแตกจะนับถือศาสนาพุทธ แต่ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับผีและวิญญาณ การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามจารีตประเพณีกระเหรี่ยงยังคงยึดถืออยู่
ความเชื่อ
ความเชื่อเรื่องวิญญาณ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวกะเหรี่ยงบ้านผาแตกเป็นอย่างมาก เพราะเชื่อทุกสิ่งที่ไม่ว่าจะเป็น ป่า ต้นไม้ ลำธาร เกิดขึ้นล้วนแต่เป็นอำนาจหรือการกระทำของผีทั้งสิ้น เชื่อว่ารอบ ๆ ตัวจะเต็มไปด้วยผีต่าง ๆ เช่น ผีป่า ไร่ นา ภูเขา ลำธาร และผีเจ้าที่ รวมทั้งผีบรรพบุรุษ ดังนั้นจึงต้องมีพิธีกรรมการบวงสรวงต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ผีเหล่านั้นช่วยปกป้อง คุ้มครอง ให้อยู่รอดปลอดภัย ผี 2 ประเภทใหญ่ ๆ ที่ชาวกะเหรี่ยงสะกอนับถือ คือ ผีบ้านและผีเรือน ผีบ้านเป็นผีประจำหมู่บ้าน โดยมี “ฮีโข่” หรือหมอผี เป็นผู้นำทางพิธีกรรม เช่น พิธีปีใหม่ของกะเหรี่ยง ซึ่งคือ การเลี้ยงผีเจ้าที่ประจำปี เพื่อขอให้คุ้มครองทุกชีวิตในหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข และฮีโข่ ส่วนมากก็คือผู้อาวุโสสูงสุดในหมู่บ้านจึงเป็นที่นับถือกันหมู่กะเหรี่ยง
วัฒนธรรมและประเพณี
ชาวบ้านผาแตกมีการผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องการนับถือผีและความเชื่อทางพุทธศาสนา ชาวกะเหรี่ยงทุกคนถือว่าการเลี้ยงผีบ้านและผีเรือน เป็นพิธีที่มีความสำคัญมากและยังปฏิบัติกันอยู่ทุกปี ส่วนพิธีอื่น ๆ เช่นการเลือกคู่ พิธีแต่งงาน พิธีศพ งานประเพณี วันปีใหม่ ก็ยังมีการปฏิบัติอยู่อย่างเคร่งครัด รูปแบบของการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ลดขั้นตอนบางอย่างลงเพื่อความเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
พิธีกรรมการเลี้ยงผี กะเหรี่ยงสะกอเรียกพิธีนี้ว่า “ถ่อกะจ่า” จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง สถานที่เลี้ยงผีทำกันที่ศาล ซึ่งชาวเขาสร้างให้สถิตอยู่ ปกติอยู่ไม่ไกลไปจากหมู่บ้าน แต่จะอยู่ในระดับพื้นที่สูงกว่าหมู่บ้านการเลี้ยงผีบ้านนั้น พิธีจะทำกันในเวลาเย็นเกือบ
การเลี้ยงผีเรือน ชาวกะเหรี่ยงจะสืบสายบรรพบุรุษมาทางมารดา การเลี้ยงผีเรือนขายหัวหน้าครัวเรือนจะเป็นผู้นำพิธี การสืบสายมารดานั้นถือเพียงแต่ว่าหลานที่เกิดจากบุตรสาวนั้นเป็นลูกหลานในครัวเรือน ดังนั้น เมื่อขายหัวหน้าครัวเรือนทำพิธีเลี้ยงผีเรือนลูกหลานหรือผู้หญิงและผู้ชายที่แต่งงานแยกครอบครัวไปแล้วต้องมาร่วมในพิธีและหลานที่เกิดจากลูกสาวคนแรกถึงคนเล็กที่สุดก็จะต้องร่วมในพิธีด้วย การเลี้ยงผีเรือนจะเริ่มขึ้นในเวลาเย็น หลังจากการฆ่าไก่ทำพิธี สมาชิกทุกคนจะนั่งเป็นวงกลม การนั่งจะนั่งเรียงลำดับจากหัวหน้าครัวเรือน ภรรยา ลูกเรียงจากอายุมากไปคนที่มีอายุน้อย จากนั้นเป็นหลานเรียงลำดับอายุด้วยเช่นกัน จากหัวหน้าครัวเรือนจนครบทุกคน จากนั้นหัวหน้าครัวเรือนก็จะเอาข้าวและแกงเซ่นผี จึงเสร็จพิธี การเลี้ยงผีเรือนนี้ถ้าหากพ่อถีงแก่กรรมไปแล้วแม่ก็จะเป็นหัวหน้าในการทำพิธีแทน ถ้าเป็นการเลี้ยงผีบรรพบุรุษของฝ่ายมารดา ผู้หญิงที่เป็นหัวหน้าครอบครัวจะเป็นพิธีร่วม เช่นเดียวกับการเลี้ยงผีบรรพบุรุษของฝ่ายชาย
การเลี้ยงผีไร่ พิธีนี้ทำหลังจากปลูกข้าวไปได้ประมาณ 2 เดือน ซึ่งข้าวกำลังจะเริ่มแตกรวง กะเหรี่ยงจะทำพิธนี้ที่บริเวณตอผีไร่ ในบริเวณไร่ข้าว พิธีการเลี้ยงผีจะทำในตอนกลางวัน ถ้าผู้ชายหัวหน้าครัวเรือนไปทำพิธีเพียงคนเดียว ไก่ที่ใช้ทำพิธีเซ่นไหว้ที่เหลือในพิธี ผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครัวเรือนจะนำกลับมาให้สมาชิกได้ร่วมรับประทานอาหารร่วมกัน
ประเพณี
การแต่งงาน เมื่อหนุ่มสาวชอบพอกันแล้ว พ่อและแม่ฝ่ายหญิงจะไปพูดคุยกับพ่อแม่ฝ่ายชายก่อน ให้รับทราบว่าความสัมพันธ์หนุ่มสาว จากนั้นพ่อและแม่ฝ่ายชายจะไปสู่ขอและปรึกษาหารือพ่อแม่ฝ่ายหญิงเกี่ยวกับการกำหนดพิธีแต่งงานนั้นเป็นการกำหนดคร่าวๆ จะมีการกำหนดวันหมักดองเหล้าที่จะใช้ในพิธีก่อนเมื่อต้นเหล้าเสร็จจึงจะกำหนดวันแต่งงานที่แน่นอน เหล้าเป็นสิ่งจำเป็นในงานพิธีและในการเลี้ยงแขก การทำเหล้าของกะเหรี่ยงเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน และเนื่องจากไม่มีเครื่องมือใหญ่ ๆ ที่จะทำคราวละมาก ๆ ฝ่ายผู้หญิงจะเป็นฝ่ายไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน กะเหรี่ยงทั้ง 4 หมู่บ้านนี้เรียกว่าการแต่งงานเป็นภาษาไทยเหนือว่า “การกินแขก” เริ่มด้วยจะมีการสร้างศาลาทำกับข้าวที่บ้านฝ่ายหญิง เพื่อใช้ทำพิธีเลี้ยงแขกและกล่าวบูชาเจ้าที่ มีการเลี้ยงแขกในตอนค่ำ โดยเพื่อนบ้านจะร่วมมือกันทำกับข้าว หุงข้าว มาช่วยงานกับช้าวจะถูกจักเป็นสำรับไว้ หมอผีจะเป็นผู้ทำพิธี เสร็จการเลี้ยง เจ้าบ่าวยังต้องกลับไปนอนที่บ้าน
ในวันงานเจ้าบ่าวจะมาบ้านเจ้าสาวแต่เช้ามืด เพื่อมารับการป้อนข้าว ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเลือกเด็กที่ป้อนข้าวให้แก่ตน ของที่ใช้ป้อนคือไก่ต้มทั้งตัว 1 คู่ เด็กจะป้อนให้เพียงคำเดียว ในตอนกลางวัน จะมีการเปลี่ยนเสื้อผ้าของเจ้าบ่าวเจ้าสาว ทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะเลือกคู่สามี ภรรยาที่ตนสนิทและมีชีวิตครองเรือนเป็นสุขมาเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้ เจ้าสาวจะถูกเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนจากชุดขาวยาวเป็นผ้าถุงแดง เสื้อดำปักลายเชิง ในเวลาต่อมาจะมีขบวนแห่เจ้าบ่าวมาเปลี่ยนเสื้อผ้าที่บ้านฝ่ายหญิง จากชุดที่ใส่เหมือนคนพื้นราบทั่วไปเป็นกางเกงดำแบบกะเหรี่ยงและเสื้อแดง เสร็จแล้วเจ้าบ่าวจะต้องกลับบ้านของตน ในตอนเย็นจะมีขบวนแห่เจ้าบ่าวมาส่งให้กับเจ้าสาว เจ้าสาวจะไปยืนรอรับที่หัวบันได และได้จัดเตรียมน้ำล้างเท้าให้เจ้าบ่าว และหินฝนมีดให้เจ้าบ่าวเหยียบก่อนขึ้นบ้าน เพราะเชื่อว่าจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุขเหมือนหินฝนมีด ซึ่งกะเหรี่ยงมักจะวางไว้ใกล้ ๆ น้ำ เขื่อว่าชีวิตคู่จะอยู่เย็นเป็นสุข นับจากเวลานั้นคู่บ่าวสาวถือว่าเป็นสามีภรรยาอย่างถูกตามประเพณี
สำหรับคู่หนุ่มสาวที่ได้ร่วมประเวณีกันถือว่าเป็นการผิดผี เมื่อจะอยู่ร่วมกันจะทำพิธีอย่างง่าย ๆ โดยจัดการเลี้ยงกันในหมู่เครือญาติ คู่บ่าวสาวเลือกคู่สามีภรรยาที่ตนชอบ ผูกข้อมือและเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ แล้วรับประทานอาหารร่วมกันและเนื่องจากการแต่งงานเป็นการขอขมาผีบ้านโดยหมอผีเป็นผู้ทำพิธี ซึ่งจะต้องทำทั้งฝ่ายหญิงและชาย หลังจากแต่งงาน 3 วันแรก เป็นการอยู่กรรม จะออกไปที่ไหนไกล ๆ ไม่ได้และจะมีการผูกข้อมือรับเป็นหลานในครัวเรือน โดยพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะต้องเป็นผู้ผูกข้อมือรับก่อนพ่อแม่ฝ่ายชาย เสร็จแล้วคู่สามีภรรยาใหม่จะผูกข้อมือรับพ่อแม่ทั้งของฝ่ายหญิงและฝ่ายชายเป็นพ่อแม่ของตน
การกำหนดให้สามีภรรยาอยู่ช่วยงานในครัวเรือนของฝ่ายหญิงอย่างน้อย 1 ปีนั้น บุตรสาวในครัวเรือนนั้นจะแต่งงานไม่ได้จนกว่าคู่สามีภรรยานั้นจะแยกครอบครัวไปก่อน น้องสาวหรือน้องชายจะแต่งงานก่อนพี่สาวหรือพี่ชายด็ได้ แต่ต้องนำข้าวของเครื่องใช้ เช่น ผ้า มาขอขมาต่อพี่สาวหรือพี่ชายเสียก่อน ที่บ้านผาแตกมีอยู่ 2 คนที่แต่งงานก่อนพี่ชายของตน
ประเพณีขึ้นปีใหม่
วันขึ้นปีใหม่จะจัดขึ้นปลายเดือนมกราคมของทุกปี หมอผีจะเป็นผู้กำหนดว่า จะเอาวันใดเป็นวันขึ้นปีใหม่โดยก่อนหน้าที่จะกำหนด ผู้อาวุโสในหมู่บ้านจะบอกให้ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนเตรียมต้มเหล้าไว้ มักจะเป็นช่วงวันข้างขึ้นตั้งแต่ 2 ค่ำเป็นต้นไป เมื่อต้มเหล้าเสร็จหมอผีก็จะกำหนดวันขึ้นปีใหม่ที่แน่นอนหญิงชาวกะเหรี่ยงจะจัดเตรียมขนมที่ใช้ในขึ้นปีใหม่ตั้งแต่ตอนเย็นก่อนวันทำพิธีขนมที่มักจะทำในวันนี้ขึ้นปีใหม่ คือข้าวคลุก ข้าวผสมน้ำอ้อยและขนมข้าวต้มซึ่งทำเป็นลักษณะรูปสามเหลี่ยมมุมแหลมยาวถือเป็นขนมตัวผู้และสามเหลี่ยมหน้าจั่วเป็นขนมตัวเมีย ข้าวต้มนี้เป็นขนมข้าวเปล่า ๆ มักจะไม่มีไส้ หรือถ้ามีก็ในลักษณะผสมกับถั่วลิสงซึ่งจะต้องซื้อมาจากในเมือง ในวันทำพิธีผู้หญิงกะเหรี่ยงจะต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อหุงข้าวและประกอบอาหารที่จะใช้ในการทำพิธี โดยที่ผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัวจะช่วยฆ่าไก่ที่จะใช้ในพิธีและในการประกอบอาหารที่กะเหรี่ยงมักจะแกงในวันขึ้นปีใหม่คือแกงข้าวเบือ คือการแกงข้าวผสมกับไก่หรือบางครั้งก็ผสมผักกาดแห้ง ซึ่งกะเหรี่ยงเก็บผักกาดไว้กินโดยการเอาผักกาดตากแดดพอแห้งแล้วไปตำให้เละนำมาดองกับเกลือประมาณ 3 วันแล้วนำตากแห้งเป็นผักกาดแห้งเก็บไว้ในกระบอกไม้ไผ่
ที่บ้านผาแตก หลังจากการประกอบอาหารเสร็จ สมาชิกในครอบครัวจะเชิญผู้อาวุโสที่มัดมือและให้พรให้แก่สมาชิกในครอบครัวเพื่อความเป็นสิริมงคล หลังจากนั้นผู้ถูกผูกข้อมือจะต้องดื่มเหล้าในจอก เสร็จจากการผูกข้อมือทุกคนแล้วจะรับประทานอาหารรวมกัน
ลักษณะการแต่งกาย
ชาวกะเหรี่ยงนิยมใช้ผ้าฝ้ายทำเสื้อ ผ้าย้อมและทอเอง ผู้หญิงกะเหรี่ยงที่ยังโสกจะแต่งด้วยผ้าทรงกระสอบสีขาว มีลวดลายแต่งตามตัวเสื้อเล็กน้อย บริเวณหน้าอกมีลายแดงทำเป็นชายครุย สำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะใส่ผ้าถุงสีแดงมีลายขวางตามตัว ซิ่นเป็นสีดำ ฟ้า น้ำตาล ส่วนเสื้อท่อนบนจะแต่งตามเผ่า ส่วนกระโปรงยาวถึงข้อเท้า ผมเกล้ามวยไว้ข้างหลังพันด้วยพันด้วยเส้นด้ายถักสีแดง เสื้อแขนกุดพื้น ดำ หรือน้ำเงินปนดำ ส่วนล่างของเสื้อปักลวดลายทรงเรขาคณิตด้วยดายแดง ปักลูกเดือย มีพู่ชายครุยบริเวณลูกเดือย
การแต่งกายของผู้ชาย จะสวมกางเกงขายาวแบบจีน สีดำ หรือขาว สวมเสื้อสีแดงยกดอกเป็นหมู่ แขนสั้น เสื้อยาวถึงเข่า บางคนสวมเสื้อเชิ้ต สีขาวด้วยเสื้อชุดสีแดง บางคนสวนชุดดำ
ชาวบ้านในหมู่บ้านผาแตก ส่วนใหญ่จะใช้ภาษากะเหรี่ยงในการสื่อสารกันในหมู่บ้าน ใช้ภาษาเหนือหรือคำเมืองในการสื่อสารกับคนนอกที่พูดภาษาเหนือด้วยกัน ส่วนภาษาไทย ใช้สื่อสารกันต่างถิ่นที่พูดคำเมืองไม่ได้ ซึ่งภาษาเขียนมีการดัดแปลงมาจากตัวหนังสือพม่า ผสมอักษรโรมัน
ภาษาที่ใช้สื่อสาร
ภาษาที่ใช้พูด ภาษากะเหรี่ยง
ภาษาเขียน ตัวอักษรกะเหรี่ยงมีการดัดแปลงของตัวหนังสือพม่า ผสมอักษรโรมัน
พชรวรรณ จันทรางศุ. ( 2531). สภาพเเละปัญหาทางการศึกษาของชาวกะเหรี่ยงเผ่าสะกอ บ้านผาแตก ตำบลสมเปิง จังหวัดเชียงใหม่. รายงานผลการวิจันทุนวิจัยรัชดาภิเษกสมโภช , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วิไลพร ชะมะผลิน. (2522). บทบาททางสังคมและเศรษฐกิจของสตรีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง(สะกอ). โครงการศึกษาค้นคว้าวิจัยในสนาม ศูนย์วิจัยชาวเขากองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์.
ทับทิม เมฆสีสวย. ชนเผ่ากะเหรี่ยง. ค้นจาก https://sites.google.com/site/chnpheakaheriyngkhaw/kar-taeng-kay