ชุมชนชาวไทเขินซึ่งเป็นชุมชนเกษตรกรรมมีวัดพระธาตุดอยผาตั้งเป็นศูนย์กลางในการรวมตัวในการประกอบกิจกรรมทางศาสนา
ชุมชนชาวไทเขินซึ่งเป็นชุมชนเกษตรกรรมมีวัดพระธาตุดอยผาตั้งเป็นศูนย์กลางในการรวมตัวในการประกอบกิจกรรมทางศาสนา
จากการศึกษาประวัติของหมู่บ้าน บ้านออนกลางใต้ หมู่ที่ 9 ตำบลออนกลาง อำเภอออนกลาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้มาจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านภายในหมู่บ้าน ประชากรกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ที่บริเวณนี้ คือ ชาวเผ่าลั๊วะ (ไม่มีประวัติอยู่อาศัยหรือการอพยพย้ายถิ่นฐาน) และประชากรกลุ่มต่อมาที่เข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ คือ ชาวไทเขิน ซึ่งจากการสอบถามพบว่าประชากรส่วนใหญ่ของหมู่ที่ 9 บ้านออนกลางใต้ สืบเชื้อสายมาจากชาวไทเขินซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของไทยกลุ่มหนึ่งที่ในอดีตได้มีการอพยพมาจากสิบสองปันนาและเชียงตุงในสมัยพระเจ้ากาวิละ มีการกระจายตัวตั้งถิ่นฐานกันอยู่ในประเทศพม่า ลาว จีนและในทางตอนเหนือของประเทศไทย เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ซึ่งจากการสอบถามประชากรในหมู่บ้านบางส่วนมีบรรพบุรุษอาศัยอยู่ที่แม่ออน และบางส่วนมีบรรพบุรุษที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงรายและอพยพมาอยู่ที่เชียงใหม่มาหลายรุ่นและยังคงมีการติดต่อกันกับญาติพี่น้องที่ต่างจังหวัดจังหวัดตลอดมา
จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านภายในหมู่บ้าน พบว่าหมู่บ้านบ้านออนกลางใต้ หมู่ที่ 9 แยกมาจากบ้านออนกลาง หมู่ที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 2534 เนื่องจากประชากรหมู่ 7 มีจำนวนมากจนเกินไป ทางอำเภอสันกำแพงจึงออกคำสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ในขณะนั้น คือ นายปั๋นแก้ว กันตีมูล ให้แบ่งแยกหมู่ 7 ออกเป็นสองหมู่บ้าน ซึ่งขณะนั้นตำบลออนกลางมีทั้งหมด 8 หมู่บ้าน หมู่บ้านใหม่ที่แยกออกมาจากหมู่ที่ 7 “บ้านออนกลาง” จึงตั้งขึ้นให้เป็นหมู่ที่ 9 และตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ว่า “บ้านออนกลางใต้” ซึ่งการแบ่งแยกหมู่บ้านนั้นได้ใช้แม่น้ำแม่ออน ซึ่งเป็นลำน้ำที่ไหลผ่านกลางหมู่บ้านเป็นตัวแบ่งระหว่างบ้านหมู่ที่ 7 บ้านออนกลางและหมู่ที่ 9 บ้านออนกลางใต้ ซึ่งผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่ 9 บ้านออนกลางใต้ คือ นายวรพันธ์ กันติสิงห์สกุล (ชื่อเดิม “นายสามารถ กันตีมูล”) หลังจากนั้นได้มีการขออนุมัติในการดำเนินโครงการก่อสร้างถนนจากถนนลูกรังมาเป็นถนนลาดยางและโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแม่ออนเพื่อเชื่อมต่อหมู่บ้าน จากสะพานไม้เป็นสะพานคอนกรีตหลังจากมีการแบ่งแยกหมู่บ้าน ประกรในหมู่ 7 บางส่วนได้มีการย้ายมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่หมู่ 9 เนื่องจากภายในหมู่ 7 มีการทำฟาร์มปศุสัตว์ทั้ง ฟาร์มหมู ฟาร์มโคนม ส่งผลทำให้พื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับฟาร์มปศุสัตว์ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางกลิ่น และประชากรบางส่วนได้รับมรดกจากบรรพบุรุษเป็นที่ดินภายในหมู่ 9 เมื่อแยกออกมาอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยว
และต่อมาอีกประมาณ 2 ปี ประมาณ พ.ศ. 2536 ผู้สูงอายุในหมู่บ้านได้ไปทำพิธีโดยการบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์แก่เสื้อบ้านของหมู่ที่ 7 “ตอนนี้หมู่บ้านเรามีการแบ่งหมู่บ้านเรามีการแบ่งแยกออกเป็น 2 หมู่ ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษาคนในหมู่ 7 ช่วยมาปกปักรักษาคนในหมู่ 9 ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นใหม่ ให้ปลอดภัย มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง” และได้ทำการตั้งเสื้อบ้านของหมู่ 9 ขึ้นมาที่บริเวณที่ตั้งศาลาประชาคมของหมู่บ้านในปัจจุบัน และในปัจจุบันได้มีการสร้างเสื้อบ้านขึ้นมาใหม่ให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในสมัยก่อนเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เข้าพัดถล่มทั้งศาลาประชาคมและเสื้อบ้านก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งปัจจุบันเสื้อบ้านที่ได้ทำการก่อสร้างขึ้นมาใหม่นั้นตั้งอยู่ที่ข้างขององค์การบริหารส่วนตำบลออนกลาง และผู้ดูแล คือ นายศรีมูล คำเปียงวงศ์ เป็นหมอชาวบ้านของหมู่บ้าน ซึ่งความเชื่อของชาวบ้านในหมู่บ้านที่มีต่อเสื้อบ้าน คือ เสื้อบ้านศูนย์รวมใจ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในหมู่บ้าน เป็นที่สิงสถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วิญญาณของบรรพบุรุษ เจ้าป่าเจ้าเขา สามารถขอพรหรือบนบานศาลกล่าวต่าง ๆ การตั้งเสื้อบ้านหรือเสื้อวัดคล้ายกับการตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ในบ้าน และในปัจจุบันเมื่อประมาณ ปี 2550 ได้มีการรณรงค์ให้ประชากรในอำเภอแม่ออนอนุรักษ์การใส่เสื้อผ้าตามแบบของชาติพันธุ์บรรพบุรุษของตนทั้ง ไทลื้อ ไทเขิน ซึ่งจะนิยมใส่ไปในงานบุญ งานพิธีการทางศาสนาและงานสำคัญต่าง ๆ
ต่อมาในปี 2537 มีการแยกตัวออกมาจากอำเภอสันกำแพงเป็นกิ่งอำเภอแม่ออน ในปี 2538 ตำบลออนกลาง ได้แยกตัวออกมาจาก ตำบลออนเหนือ และยกระดับจากสภาตำบลขึ้นมาเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลออนกลาง และมีการก่อสร้างที่ทำการอำเภอออนกลาง สถานีตำรวจภูธรแม่ออน และกองร้อยรักษาดินแดน อำเภอแม่ออน ที่ 24 ในเขตพื้นที่ของหมู่ 9 และในปี 2550 ได้ยกระดับจากกิ่งอำเภอแม่ออนขึ้นมาเป็นอำเภอแม่ออน ในปี 2551 ได้ทำการก่อสร้างองค์การบริหารส่วนตำบลออนกลางในพื้นที่ของหมู่ 9 ซึ่งในสมัยก่อนสภาตำบลตั้งอยู่บริเวณที่ตั้งของ รพสต.ออนกลางในปัจจุบัน และในปี 2555 ได้มีการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชน หมู่ที่ 9 SML. บ้านออนกลางใต้หรือศาลาประชาคมหมู่บ้าน เพื่อใช้ในการทำประชาคมหมู่บ้านหรือการประชุมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน
และประมาณปี 2557 ได้มีการก่อสร้างอาคารที่ทำการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลออนกลาง เนื่องจากในสมัยก่อนโครงสร้างของตัวอาคารนั้นเป็นไม้ มีอายุการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน และยังเคยเป็นอาคารที่ทำการเก่าของสภาตำบลก่อนที่จะยกระดับไปเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลออนกลาง และเมื่อประมาณปี 2559 ได้มีการก่อสร้างศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอแม่ออน บริเวณหลังที่ว่าการอำเภอแม่ออน พร้อมกับมีการก่อสร้างพระพุทธรูปปางห้ามญาติประจำศูนย์ราชการ อำเภอแม่ออน เพื่อให้ประกอบพิธีทางศาสนาของทางศูนย์ราชการที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง
ในอดีตประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ข้าวโพด ปลูกถั่ว ฯลฯ แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีศูนย์ราชการเข้ามาตั้งในพื้นที่ของหมู่ 9 บ้านออนกลางใต้จำนวนมากและประกอบกับประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่ในแต่ละครอบครัวมีบุตรจำนวนมาก หมู่บ้านอยู่กันอย่างแออัด หลังจากที่บุตรหลานมีการแต่งงานและแยกครอบครัวจึงได้มีการแบ่งที่ดินและขยับขยายออกมาปลูกบ้านอยู่รอบ ๆ หมู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ทำให้พื้นที่ที่ใช้ในการทำการเกษตรลดลง ประชากรหนุ่มสาวส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนิยมประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่จะไปรับจ้างเป็นพนักงานของสนามกอล์ฟที่ตั้งอยู่ในบริเวณของหมู่ที่ 6 บ้านป่าตัน หลังจากที่มีการก่อสร้างสนมากอล์ฟขึ้นส่งผลทำให้หมู่บ้านได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคเนื่องจากสนามกอล์ฟตั้งอยู่ในบริเวณทางน้ำผ่านซึ่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคของหมู่เกือบทั้งหมดมาจากเขื่อนหนองหอยที่ตั้งอยู่เหนือสนามกอล์ฟ และโรงงานอุตสาหกรรม บจ.ทีแอนด์ซี คอนกรีต ปูนมิกซ์ แม่ออน ซึ่งเข้ามาก่อตั้งเมื่อปี 2560 หลังจากที่โรงงานเข้ามาตั้งภายในหมู่บ้านก็ก่อให้เกิดผลกระทบกับหมู่บ้าน คือ มลพิษทางเสียง จากเครื่องจักรขนาดใหญ่ภายในโรงงาน และในพื้นที่ของหมู่ 9 มีฟาร์มโคนมซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากตำบลบ้านสหกรณ์และเป็นโครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ฟาร์มโคนมแห่งนี้ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ ปี 2550 หลังจากที่มีการทำฟาร์มโคนมแห่งนี้ขึ้นประชากรในชุมชนโดยเฉพาะบริเวณใกล้เคียงได้รับผลกระทบอย่างมากคือปัญหาในด้านของมลภาวะทางกลิ่นของมูลสัตว์ และยังมีคอกหมูตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับฟาร์มโคนมซึ่งประชากรในชุมชนโดยเฉพาะบริเวณใกล้เคียงก็ได้รับผลกระทบแบบเดียวกันกับฟาร์มโคนมคือปัญหาในด้านของมลภาวะทางกลิ่นของมูลสัตว์
ผู้ใหญ่บ้านของหมู่ที่ 9 บ้านออนกลางใต้
- นายวรพันธ์ กันติสิงห์สกุล (ชื่อเดิม “นายสามารถ กันตีมูล”) ตั้งแต่ปี 2534-2552
- นายธงชัย รัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ปี 2552-2556
- นายยุธนา ขัติแสง ตั้งแต่ 2556-2558
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านออนหลวย
- ทิศตะวันออก ติดกับ หมู่ 7 บ้านออนกลาง
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านสหกรณ์
- ทิศใต้ ติดกับ หมู่ 3 บ้านเปาสามขา
ลักษณะทางกายภาพของชุมชน เป็นพื้นที่ราบ มีภูเขาและทุ่งนาล้อมรอบ ซึ่งในหมู่ 9 บ้านจะรวมกันในพื้นที่เดียว และพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรม คือ การทำนา โดยอาชีพที่เกี่ยวกับการทำเกษตรของประชากรหมู่ 9 บ้าน ออนกลางใต้ คือ ทำนาและเลี้ยงวัว ซึ่งมีทั้งวัวเนื้อและวัวนม ซึ่งในหมู่ 9 บ้านออนกลางใต้มีทั้งฟาร์มวัวและคอกวัวกระจายตามในหมู่บ้าน และยังมีศูนย์ราชการและสถานที่สำคัญ ๆ ได้แก่ สถานีตำรวจภูธรแม่ออน ที่ว่าการอำเภอแม่ออน สำนักงานการศึกษาส่งเสริมนอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) องค์การบริหารส่วนตำบล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลออนกลาง วัดพระธาตุดอยผาตั้ง เป็นวัดประจำอำเภอ เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นศูนย์รวมจิตใจของหมู่บ้าน พระพุทธรูปปางห้ามญาติเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของอำเภอใช้สักการะ
สำหรับคนที่ทำงานในอำเภอ สนามกีฬาประจำอำเภอ สามารถใช้ทำกิจกรรมได้ทั่วไป ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีคนใช้ทำกิจกรรมเนื่องจากเป็นสนามดินส่วนใหญ่จึงใช้เป็นที่จอดรถแทน และศาลาประชาคมสถานที่ที่ใช้ทำการประชุมและทำกิจกรรมของประชากรหมู่ 9 บ้านออนกลางใต้ ปั๊มน้ำมันที่เป็นที่เติมน้ำมันหลักของหมู่ 9 บ้านออนกลางใต้และหมู่อื่น ๆ ในตำบลออนกลาง นอกจากนี้ยังมีร้านค้าชุมชนที่จำหน่ายทั้งข้าวสาร ของแห้ง ของสด จำนวน 4 ร้าน มีร้านที่จำหน่ายแอลกอฮอล์ด้วย 3 ร้าน และยังมีร้านเหล้าอีก 6 ร้าน อยู่ระหว่างทางไปบ้านออนหลวย ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ ร้านอาหารตามสั่งและร้านก๋วยเตี๋ยว 4 ร้าน รวมไปถึงร้านกาแฟ MAMA Café ผู้บริโภคส่วนใหญ่มาจากหมู่อื่นและอยู่ในวัยทำงาน นอกจากนี้ในหมู่บ้านยังมีโรงประปาที่นำน้ำจากเขื่อนมาไว้ในสระ หลังจากนั้นนำน้ำมากรองที่โรงประปาหลังจากนั้นปล่อยน้ำขึ้นไปที่หอถังสูงหลังจากนั้นส่งน้ำประปาลงสู่ท่อประปาตามบ้านแต่ละหลัง จากการสอบถามพบว่าในฤดูแล้งน้ำประปาไม่พอใช้ หน่วยงานจากภาครัฐมาส่งให้ประชาชนตามบ้าน ทำให้ทราบถึงฐานะของประชากรในชุมชน เนื่องจากบ้านที่มีทุนทรัพย์ก็จะมีแทงค์น้ำเป็นของตนเอง ส่วนบ้านที่ทุนทรัพย์น้อยก็จะเกิดการขาดแคลนน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้ง
สถานที่สำคัญ
วัดพระธาตุดอยผาตั้ง เดิมเรียกว่า “วัดม่อนธาตุ” ปี พ.ศ.ที่สร้างนั้นไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน แต่จากการสอบถามเจ้าอาวาสพระคณุสิริตานุสิฐ สันนิษฐานว่าชนเผ่าลั๊วะที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้เป็นกลุ่มแรกเป็นผู้สร้างวัดขึ้น แต่ไม่มีประวัติหรือจารึกการก่อสร้าง และต่อมาชาวไทเขินที่อพยพมาในสมัยพระเจ้ากาวิละได้เข้ามาอยู่อาศัยเป็นกลุ่มที่สอง และในสมัยครูบาศรีวิชัยได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นมาใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2472 เนื่องจากในขณะนั้นวัดกลายเป็นวัดร้าง วัดพระธาตุดอยผาตั้ง เป็นวัดเก่าแก่ถือว่าเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวแม่ออน พระบรมธาตุเจดีย์องค์เดิมนั้นเป็นองค์เก่าแก่เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยผาตั้ง ตั้งแต่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มาบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์
- ครูบาเจ้าศรีวิชัย
- พระดวงต๋า
- พระบุญปั๋น
จากการสำรวจจำนวนครัวเรือนและประชากรของหมู่ 9 บ้านออนกลางใต้ พบว่ามีจำนวนประชากรทั้งหมด 305 คน แบ่งเป็นจำนวนประชากรที่อยู่จริงมีรายชื่อตามทะเบียนราษฎร์ 230 คน จำนวนประชากรที่ไม่ได้อยู่แต่มีชื่อตามทะเบียนราษฎร์ 54 คน และจำนวนประชากรที่อยู่จริงแต่ไม่มีชื่อตามทะเบียนราษฎร์ 21 คน มีทั้งหมด 96 ครัวเรือน จาก 111 ครัวเรือน (ข้อมูลจาก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลออนกลาง ปี 2562) จากการสำรวจของนักศึกษาพยาบาลวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเชียงใหม่พบว่า ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน (อายุ 15 – 59 ปี) คิดเป็นร้อยละ 56.07 รองลงมาอยู่ในวัยผู้สูงอายุ (ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป) คิดเป็นร้อยละ 36.62 และ วัยเด็ก (แรกเกิด – 14 ปี) คิดเป็นร้อยละ 11.31 ประชากรส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรส ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 39 ประกอบไปด้วยเย็บผ้า ทำงานก่อสร้าง เลี้ยงวัว เป็นต้น
จากการศึกษาผังเครือญาติของประชากรในชุมชนบ้านออนกลางใต้ หมู่ที่ 9 ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าในหมู่บ้านมีตระกูลเก่าแก่ และมีสมาชิกจำนวนมากหลายตระกูล ซึ่งตระกูลที่มีสมาชิกในตระกูลจำนวนมาก มีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ และรู้จักกันมากที่สุด คือ ตระกูล“กันตีมูล” เป็นตระกูลขนาดใหญ่ ประกอบด้วยสมาชิกและลูกหลานในตระกูลหลายรุ่น เป็นตระกูลดั้งเดิมที่มาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านออนกลางใต้มาเนิ่นนาน ตระกูลกันตีมูลมีต้นกำเนิดและสืบเชื้อสายมาจากชาติพันธุ์ไทเขิน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต้นกำเนิดแรกเริ่มที่เข้ามาตั้งหลักปักฐานอาศัยอยู่หมู่บ้านออนกลางใต้ จากการศึกษาพบว่าตระกูลกันตีมูล มีต้นตระกูลมาจากนายแก้ว และนางติ๊ป กันตีมูล สืบเชื้อสายสู่รุ่นลูก 7 คน โดยปัจจุบันพบเครือญาติจำนวน 5 สาย และมีลูกหลานสืบเชื้อสายมา 4 รุ่น ขยายเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ และอาศัยอยู่ในหลากหลายพื้นที่ในอำเภอแม่ออน ทั้งนี้สมาชิกในตระกูลรู้จักกัน มีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ มีการติดต่อช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันในตระกูล แต่เนื่องจากเป็นตระกูลขนาดใหญ่ ทำสมาชิกบ้างคนในตระกูลไม่สามารถจดจำกันได้ทั้งหมด แต่ทราบได้ว่าเป็นเครือญาติและครอบครัวเดียวกัน
จากการสังเกตและศึกษาข้อมูลครอบครัวจะเห็นได้ว่าในช่วงรุ่นแรกของตระกูลจะเป็นครอบครัวขยาย อาศัยอยู่ร่วมกัน แต่ในช่วงรุ่นลูกหลานจะเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นครอบครัวเดี่ยว ขนาดครอบครัวเล็กลง จากการสอบถามข้อมูลพบว่ารุ่นพ่อ แม่ จะรู้จักรุ่นลูกหลานในตระกูลต่างสายลดลง สมาชิกในตระกูลเริ่มไม่รู้จักกัน เนื่องจากลูกหลานแยกย้ายไปอาศัย หรือทำงานต่างถิ่นเป็นจำนวนมากขึ้น ในตระกูลกันตีมูลมี นายวรพันธ์ กันติสิงห์สกุล เป็นผู้ที่สมาชิกในตระกูลให้ความเคารพนับถือ และเป็นที่รู้จักของสมาชิกในตระกูลทุกสาย เนื่องจากเป็นผู้อาวุโส รอบรู้ในด้านต่าง ๆ ของตระกูล รู้จักสมาชิกในตระกูลทุกสาย คอยช่วยเหลือสมาชิกในตระกูลทุกสาย อีกทั้งยังเคยได้รับเลือกดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 9 บ้านออนกลางใต้ ช่วงดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้พัฒนาชุมชนตามนโยบายของการเป็นผู้นำ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลออนกลาง แสดงให้เห็นถึงการได้รับความเคารพ ความไว้วางใจและเป็นที่รู้จักของสมาชิกทุกคนในตระกูล
ไทขึน
จากการพูดคุยสัมภาษณ์จากสมาชิกในองค์กรของชุมชนหมู่ที่ 9 บ้านออนกลางใต้ จังหวัดเชียงใหม่ และการสังเกตความสัมพันธ์ในชุมชน เพื่อนำมาศึกษาโครงสร้างองค์กรชุมชนและทำความเข้าใจความสัมพันธ์ในแต่ละองค์กรพบว่ามีกลุ่มโครงสร้างองค์กรในสังคมดังต่อไปนี้
- สมาชิกองค์การปกครองท้องถิ่น
- คณะกรรมการหมู่บ้าน
- กลุ่มอาสาพัฒนาชุมชน (อช.)
- กลุ่มอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
- กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์
- กลุ่มผู้สูงอายุ
- กลุ่มกองทุนเงินล้านหมู่บ้าน
- กลุ่มกองทุนประชารัฐ
- กลุ่มช่วยเหลือกัน (หมู่บ้าน)
องค์กรที่ไม่เป็นทางการ
- กลุ่มประปา
- กลุ่มแม่บ้าน
- กลุ่มกองทุนแม่ของแผ่นดิน
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
ประชาชนบ้านออนกลางใต้ ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ทำอาชีพเกษตรกรโคนม ธุรกิจส่วนตัวค้าชาย และภายในหมู่บ้านมีกองทุนหมู่บ้านเพื่อเป็นเงินทุนให้ประชาชนในชุมชนได้กู้ยืม
ความสัมพันธ์ทางสังคม
ประชาชนบ้านออนกลางใต้ ตำบลแม่ออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ สมาชิกในชุมชนมี สามัคคีกันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีนายยุทธนา ขัติแสง มีบทบาทเป็นผู้นำชุมชนในการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งบุคคลดังกล่าวเป็นที่ยอมรับนับถือของคนในชุมชนและมีนางกิ่งแก้ว วรรณวงค์ เป็นผู้ช่วยในการประสานงานในชุมชน
ความสัมพันธ์ทางด้านการเมือง
ประชาชนบ้านออนกลางใต้ ตำบลแม่ออน อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ มีนายยุทธนา ขัติแสง ดำรงตำแหน่งกำนันหมู่บ้าน ซึ่งทำหน้าที่ในการจัดประชุม ประชาสัมพันธ์เรื่องต่างๆทั้งเรื่องที่เป็นประโยชน์หรือเรื่องที่เป็นปัญหาให้แก่คนในชุมชนทราบ โดยมีผู้ช่วยคือ นางกิ่งแก้ว วรรณวงค์ และนายแก่น กระจอนจิตต์ ทำหน้าที่ในการดูแลความเรียบร้อยของคนในชุมชนในด้านต่าง ๆ
ด้านวัฒนธรรม
ประชาชนบ้านออนกลางใต้ส่วนใหญ่ใช้ภาษาพื้นเมือง (ภาษาเหนือ ภาษาเหนือแบบไทลื้อ ภาษาเหนือแบบไทยเขิน) ในการพูดคุยกันในท้องถิ่น
ด้านการแต่งกาย
ประชาชนส่วนใหญ่แต่งกายตามยุคสมัย ไม่มีการใส่ชุดพื้นเมือง
การรับประทานอาหาร
ประชาชนส่วนใหญ่รับประทานอาหารพื้นเมือง รับประทานข้าวเหนียวเป็นส่วนใหญ่ และรับประทานอาหารที่มีรสปกติ ไม่หวานจัด ไม่เค็มจัด ไม่เผ็ดจัด ปรุงอาหารเอง โดยใช้พืชผักสวนครัวที่ตนเองปลูกในการประกอบอาหาร และจากการซื้อจากร้านค้าในหมู่บ้าน
ด้านวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ในชุมชนไม่มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ จะมีกิจกรรมทางศาสนาดังนี้
- ปีใหม่ 1 มกราคม ในทุก ๆ ปี ประชาชนในชุมชนจะซื้อของมารับประทานในครอบครัว และเลี้ยงฉลองภายในครอบครัว ในบางปี มีการจับฉลากของขวัญภายในหมู่บ้าน โดยจัดขึ้นที่ศาลากลางหมู่บ้านและให้คนมาร่วมโดยของขวัญเริ่มต้นที่ 100 บาท และในตอนเช้าจะมีกิจกรรมทำบุญ ใส่บาตร เพื่อเสริมสิริมงคล เริ่มต้นปีใหม่
- วันปีใหม่เมือง (สงกรานต์) เป็นช่วงวันที่บุตร หลาน ญาติ พี่น้องเดินทางมาเยี่ยมเยียนคนในบ้าน ร่วมกันรับประทานอาหารแต่ละครอบครัว และในวันที่ 15 จะมีกิจกรรม รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ โดยเชิญผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เชิญมาที่ศาลากลางหมู่บ้าน และให้ประชาชนในหมู่บ้านที่อายุน้อยกว่ามารดน้ำดำหัว และมอบเงินหรือสิ่งของให้กับผู้สูงอายุและรับคำอวยพร เป็นสิริมลคลให้กับชีวิต
- วันเข้าพรรษา ช่วงเดือนกรกฎาคม ประชาชนจะมีการเข้าวัด ทำบุญ ถวายเทียนพรรษาในวันเข้าพรรษา และในวัดจะมีกิจกรรม วันศีลเปิดให้ประชาชนมีโอกาสมาถือศีลในวัด ประชาชนบางส่วนมีความเชื่อในวันเข้าพรรษาจะงดเหล้าในวันเข้าพรรษาเป็นระยะเวลา 3 เดือน และในร้านค้าจะไม่ขายเหล้าในวันศีล เป็นเวลา 3 เดือน เนื่องจากเจ้าอาวาสขอความร่วมมือในการงดขายสุราในทุกวันศีล
- งานทำบุญตานข้าวใหม่ ในอดีตมีการนำข้าวใหม่ที่ได้จากการเก็บเกี่ยวบางส่วนมารวมกันที่ธนาคารข้าว เพื่อให้ชาวบ้านที่ไม่ได้ทำนา หรือไม่มีข้าวได้มาหยิบยืม นำไปรับประทาน แล้วค่อยจ่ายคืนเป็นข้าว หรือเงินในภายหลัง ปัจจุบันเป็นการทำบุญให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยมีความเชื่อว่าช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ได้ผลผลิตใหม่นำมาปรุงอาหารและนำมาทำบุญที่วัดเพื่อให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว หรือคนที่ล่วงลับไปแล้วได้กินข้าวใหม่หลังฤดูเก็บเกี่ยวที่ลูก หลานได้ทำบุญไปให้
- งานทำบุญเสื้อบ้าน เป็นพิธีเลี้ยงผีเสื้อบ้าน เป็นการทำบุญหอเสื้อบ้าน (ที่ที่บรรพบุรุษอยู่) ที่บริเวณศาลาประชาคม โดยจะมีคุณพ่อศรีมูล เป็นคนนำ โดยการทำอาหารมาไหว้ ไม่จำกัดประเภทอาหาร จุดธูป 9 ดอก ใน 1 ปี จะทำ 4 ครั้ง คือ ช่วงปีใหม่เมือง (วันที่ 15 เมษายน เนื่องจากเป็นวันพญาวัน) เข้าพรรษา ออกพรรษา และช่วงปีใหม่ (เดือน 4 ตามปฏิทินเมือง คือเดือนธันวาคม)
ด้านเศรษฐกิจ
จากการลงสำรวจ ชุมชนบ้านแม่ออนกลางใต้เป็นชุมชนชนบท บ้านค่อนข้างติดกัน อาชีพคนในชุมชนจะประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ค้าขาย พนักงานบริษัท และเกษตรกรรม เช่น ทำนา ปลูกข้าวโพด ปลูกผัก ส่วนใหญ่จะเข้าไปทำงานในตัวเมือง ทำให้ไปทำงานเช้า และกลับมาค่ำจะได้รับค่าจ้างรายวัน วันละ 300-350 บาท/วัน เกษตรกร ในการทำนาจะทำในช่วงเดือนกรกฎาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนพฤศจิกายน เมื่อเก็บผลผลิตได้จะนำเก็บไว้กินตลอดทั้งปี หากมีเหลือจะนำไปขายให้นายทุน ข้าวที่ปลูกส่วนมากจะเป็นข้าวเหนียว และมีปลูกข้าวโพดบางส่วน หากหมู่บ้านมีการปล่อยน้ำประชากรบางส่วนจะปลูกตลอดทั้งปี ในบางครัวเรือนมีงบประมาณในการขุดบ่อน้ำก็จะปลูกทั้งปี โดยจะปลูกและนำขายให้กับนายทุนกิโลกรัมละ 20 บาท มีการปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทาน เช่น ผักกาด พริก มะเขือยาว หากมีผลผลิตเหลือจะนำไปขายให้กับคนในหมู่บ้าน คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและไม่ได้ประกอบอาชีพ จะรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยคนพิการ
1. พระครูสิริสุตานุสิฐ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยผาตั้ง มีรูปร่างสมส่วน อารมณ์ดี ให้ความร่วมมือในการสอบถามเป็นอย่างดี จากการสนทนาสอบถามเรื่องราวชีวิตของพระครูสิริสุตานุสิฐ ได้บอกเล่าถึงหลักธรรมวินัยที่ยึดถือ และนโยบายการพัฒนาพระพุทธศาสนาต่อไปทั้งในปัจจุบันและในอนาคต นั้นคือ การครองตน ครองคน ครองงาน การทำนุบำรุงวัดให้มีความมั่นคง แข็งแรง พัฒนาเสนาสนะ (ที่อยู่อาศัยของภิกษุสงฆ์ เช่น กุฏิ วิหาร ศาลา รวมถึงที่นอนและที่นั่งและเครื่องใช้ เกี่ยวกับสถานที่หรือสิ่งที่ใช้ในการพำนัก) โดยทำให้ดีที่สุด ดังคำที่ว่า “เจ้าบ้านอยู่ดีกินดี วัดสง่าราศี” ซึ่งทำให้ชาวบ้านหรือคนในชุมชนเลื่อมใสศรัทธาในพระครูสิริสุตานุสิฐเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของการปฏิบัติตนเหมาะสม เป็นแบบอย่างให้แก่พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า
พระครูสิริสุตานุสิฐ เกิดวันที่ 4 ธันวาคม 2503 เป็นบุตรของบิดาชื่อ จันทร์ วังเป็ง และมารดาชื่อเป็ง วังเป็ง สืบเชื้อสายจากชนชาติไทเขิน เดิมอาศัยอยู่ที่บ้านออนกลาง ได้ศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านออนกลาง ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ จนจบชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 เมื่ออายุได้ 12 ปี บิดามารดาของพระครูสิริสุตานุสิฐได้สนับสนุนให้ศึกษาเล่าเรียนในหลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงได้เข้าบรรพชาในร่มกาสาวพัสตร์เป็นสามเณร เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2515 ณ วัดออนกลาง และได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม ชั้นธรรมศึกษาชั้นตรี ในปี พ.ศ 2515 ชั้นธรรมศึกษาชั้นโท ปี พ.ศ 2519 ชั้นธรรมศึกษาชั้นเอก ปี พ.ศ. 2523 จนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.ศ.3) จากโรงเรียนธรรมราชศึกษา วัดพระสิงห์วรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2523 และต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2524 ขณะที่พระครูสิริสุตานุสิฐเป็นพระลูกวัดมีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาต่อในหลักพระธรรมคำสอน ซึ่งเป็นภาษาบาลี เพื่อที่จะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวันในการสั่งสอนพุทธศาสนิกชน และมีความประสงค์นำสามเณรไปศึกษาเรียนรู้ต่ออีกด้วย เพื่อพัฒนาพุทธศาสนาต่อไปในอนาคต จึงย้ายวัดเพื่อจำพรรษาและศึกษาพระปริยัติธรรมบาลี ณ วัดนางชี จังหวัดกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2531 จากนั้นได้ศึกษาเปรียญธรรมบาลี ประโยค 1-2 จบในปี พ.ศ. 2532, จบเปรียญธรรมบาลี ประโยค 3 ในปี พ.ศ. 2533, จบเปรียญธรรมบาลี ประโยค 4 ในปี พ.ศ. 2534 และจบเปรียญธรรมบาลี ประโยค 5 ในปี พ.ศ. 2535 เนื่องด้วยมีข้อจำกัดทางสุขภาพที่ประสบปัญหาในเรื่องของอาการปวดหลังจากโรคกระดูกสันหลังคด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการนั่งและศึกษาธรรมะบาลีเป็นระยะเวลานาน จึงได้ยุติการศึกษาเปรียญธรรมบาลี ประโยค 6 และกลับมาจำพรรษา ณ วัดออนกลาง
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2534 ได้มีการแบ่งหมู่ 7 บ้านออนกลาง แยกออกมาเป็นหมู่ 9 บ้านออนกลางใต้ เนื่องด้วยประชากรที่มากเกินไป จากนั้นจึงได้มีการพัฒนาบูรณะวัดพระธาตุดอยผาตั้ง ในปี พ.ศ. 2535 ที่เดิมชื่อวัดม่อนธาตุ มีพระบรมธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเจดีย์ซึ่งมีมาก่อนที่ครูบาศรีวิชัยจะมาบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2472 จากนั้นวัดพระธาตุดอยผาตั้งก็ไม่มีเจ้าอาวาส พอปี พ.ศ. 2535 คณะศรัทธา วัดพระธาตุดอยผาตั้ง ได้อาราธนาพระมหาอำนาจ อภิปุณฺโณ จากวัดออนกลาง มาจำพรรษา และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยผาตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2535 ต่อมาปี พ.ศ. 2547 ได้รับพระราชทานตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก และในปี พ.ศ. 2550 ได้รับแต่งตั้งเป็นฝ่ายปกครอง เลขานุการ เจ้าคณะอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ปัจจุบัน พระครูสิริสุตานุสิฐดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยผาตั้ง สังกัดมหานิกาย มีตำแหน่งเป็นพระสังฆาธิการ เจ้าคณะตำบลออนกลาง และฝ่ายปกครองเลขานุการเจ้าคณะอำเภอแม่ออน
ซึ่งพระครูสิริสุตานุสิฐได้ยึดมั่นที่จะทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้ดีที่สุด โดยได้สร้างศาสนสถานให้เจริญงอกงาม ทำนุบำรุงศาสนสถานเดิม พัฒนาเสนาสนะในวัดพระธาตุดอยผาตั้ง ตามคำขวัญของอำเภอแม่ออน คือ “ผาตั้งธาตุคู่เมือง รุ่งเรื่องฟาร์มโคนม ชื่นชมน้ำพุร้อน แม่ออนถ้ำแสนงาม” ซึ่งพระธาตุผาตั้งนั้นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เคารพ มีชื่อเสียงของอำเภอแม่ออน และเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีพุทธ ส่วนการปฏิบัติกิจสงฆ์นั้นท่านมีการปฏิบัติอย่างเหมาะสมและเคร่งครัด เป็นที่น่ายกย่องแก่พุทธศาสนิกชน และร่วมงานสงเคราะห์พุทธศาสนิกชนอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นท่านพระครูสิริสุตานุสิฐได้มีการสงเคราะห์จัดตั้งกองทุนผู้สูงอายุ โดยการบริจาคปัจจัยเงินกัณฑ์เทศ ได้มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนในโรงเรียนออนกลางทุกเดือน ได้ประชาสัมพันธ์และสมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลออนกลาง และสร้างห้องพิเศษแก่โรงพยาบาลแม่ออน พร้อมทั้งเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์สอนธรรมะคู่การดูแลสุขภาพแก่คณะศรัทธา เมื่อมีโอกาสได้เทศนาธรรมงานบุญต่าง ๆ และวันพระเป็นประจำ อีกทั้งพระครูสิริสุตานุสิฐยังยึดการครองตนเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นแก่คณะสงฆ์ทั้งในตำบล และในอำเภอ รวมถึงคณะศรัทธา ให้ความสำคัญกับการรักษาศีล ทำวัตรสวดมนต์เจริญภาวนาตามหลักธรรมวินัย ไม่เน้นการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง สอนศิษยานุศิษย์ตามหลักของพุทธธรรม ใช้เหตุและผล ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งนี้ท่านคติธรรมที่ท่านยึดถือ คือ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด และการครองตน ครองคน ครองงาน ท่านจึงเป็นที่เคารพศรัทธาแก่คนในหมู่บ้าน และคนอื่น ๆ อีกด้วย
ประชาชนบ้านออนกลางใต้ส่วนใหญ่ใช้ภาษาพื้นเมือง (ภาษาเหนือ ภาษาเหนือแบบไทลื้อ ภาษาเหนือแบบไทยเขิน) ในการพูดคุยกันในท้องถิ่น
นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเชียงใหม่. (2565). ข้อมูลการสำรวจชุมชน. เชียงใหม่: สาขาวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.