Advance search

น้ำตกขุนต๊ำ จำปาทองลือชื่อ ศักดิ์สิทธิ์คือพระธาตุโป่งขาม ลือนามแดนข้าวโพดหวาน เล่าขานถิ่นสาวงาม โดดเด่นวัฒนธรรมล้านนา ผลิตภัณฑ์ผักตบชวา ภูมิปัญญาท้องถิ่น

หมู่ที่ 5 ถนนสาย 1127 บ้านท่าเรือ-น้ำตกจำปาทอง
บ้านต๊ำน้ำล้อม
บ้านต๊ำ
เมืองพะเยา
พะเยา
ขวัญเรือน สมคิด
24 เม.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
1 พ.ค. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
9 พ.ค. 2023
บ้านต๊ำน้ำล้อม

ที่ตั้งของหมู่บ้านมีลำน้ำขุนต๊ำที่ไหลลงมาจากดอยหลวงพะเยา แตกเป็นสองสายที่ด้านตะวันตกของหมู่บ้าน โอบล้อมหมู่บ้านไว้อยู่ตรงกลาง 


น้ำตกขุนต๊ำ จำปาทองลือชื่อ ศักดิ์สิทธิ์คือพระธาตุโป่งขาม ลือนามแดนข้าวโพดหวาน เล่าขานถิ่นสาวงาม โดดเด่นวัฒนธรรมล้านนา ผลิตภัณฑ์ผักตบชวา ภูมิปัญญาท้องถิ่น

บ้านต๊ำน้ำล้อม
หมู่ที่ 5 ถนนสาย 1127 บ้านท่าเรือ-น้ำตกจำปาทอง
บ้านต๊ำ
เมืองพะเยา
พะเยา
56000
19.2189161
99.83642355
เทศบาลตำบลบ้านต๊ำ

บ้านต๊ำน้ำล้อม เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ดั้งเดิมมีมานานแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อใด เป็นพื้นที่หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา มีแม่น้ำล้อมรอบ เพราะคนแก่สมัยก่อน ได้ขุดลอกคลอง เนื่องจากสาเหตุมาจากน้ำท่วมจึงตัดคลองเป็นร่องรอบของหมู่บ้าน

ประมาณปี พ.ศ. 2387 เป็นปีที่ 63 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นปีที่ 21 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จากการเล่าขานของผู้สูงอายุ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนพื้นบ้านชาวไทยล้านนาและอพยพถิ่นฐานมาจากจังหวัดลำปาง โดยได้ก่อตั้งรกรากใน มีการสืบทอดผสมผสาน แต่งงานมีครอบครัวหลากหลายมาจากหลายหมู่บ้าน และตำบลใกล้เคียง ต่อมาเริ่มมี แก่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) สืบทอดต่อ ๆ กันมาหลายคน โดย แก่แสนกำ เป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งในปี พ.ศ. 2452 และคอยดูแลบ้านต๊ำน้ำล้อมอยู่ ในตอนนั้นมีประเพณีไหว้ผีขุนน้ำขึ้นมาในปี พ.ศ. 2456 เป็นประเพณีประจำของตำบลบ้านต๊ำ พ.ศ. 2457 ได้มีครูบาปัญญาเป็นผู้นำฝ่ายสงฆ์ ปู่แสนกำเป็นผู้นำฝ่ายฆราวาสร่วมแรงร่วมใจบุกเบิกก่อตั้งวัดต๊ำน้ำล้อมขึ้นมา จากนั้นมา แก่แสนฐานะ ก็เข้ามาดูแลหมู่บ้านในปี พ.ศ. 2460 สมัยต่อมาแก่แน่น ก็มาดำรงตำแหน่งต่อในปี พ.ศ. 2468 จากนั้นแก่สามก็มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านแทนในปี พ.ศ. 2473 ชาวบ้านก็ยังทำไร่ทำนาตามเดิม ต่อมาแก่มา กันทะไชย มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในปี พ.ศ. 2481ต่อมาแก่อ้าย กันทะไชย มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในปี พ.ศ. 2485 ต่อมาแก่อ้าย เรือนแปง มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในปี พ.ศ. 2489 ต่อมากำนันแก้ว นามบ้าน ก็เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านแทนในปี พ.ศ. 2493 ได้มีการระบาดของโรคฝีดาษเกิดขึ้นกับคนในหมู่บ้าน รักษาโดยหมอพื้นบ้าน

พ.ศ. 2500 ได้มีการระบาดของโรคห่า (อหิวาตกโรค) เกิดขึ้นกับคนในหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก รักษาโดยหมอเมือง โดยการใช้ใบตองรองนอนและใช้ใบลูกยอต้มเป็นยาให้ดื่ม บางคนก็หาย

พ.ศ. 2516 มีการก่อตั้งสถานีอนามัยตำบลบ้านต๊ำ และมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เข้ามาทำการปลูกฝีให้แก่ชาวบ้าน

พ.ศ. 2520 สมัยแก่แก้ว ใจหาญ ก็มีไข้เลือดออกระบาดชาวบ้านก็ทำการรักษาที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลพะเยา โดยมีรถสองแถวหรือรถมอเตอร์ไซค์สำหรับเดินทาง 

พ.ศ. 2521 ต่อมาทางรัฐบาลก็ได้มาสร้างถนน ไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน

พ.ศ. 2526 ซึ่งก่อนมีไฟฟ้าใช้ชาวบ้านจะใช้กระบอกไม้ไผ่ใส่ชนวนไว้ข้างใน จุดไฟให้แสงสว่างก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ ตะเกียงน้ำมันก๊าด

พ.ศ. 2527 มีอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐานประจำหมู่บ้าน

พ.ศ. 2528 เมื่อสมัยกำนันคำ ทำดี ก็มีเหตุการณ์สำคัญอีก คือ มีการสร้างน้ำประปาขึ้นในหมู่บ้านและมีส้วมใช้ตามสาธารณสุขมูลฐาน

พ.ศ. 2533 ได้มีการระบาดของโรคเอดส์เป็นอย่างมากในจังหวัดพะเยา

พ.ศ. 2548 สมัยนายณัฐนันท์ ใจหาญ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านก็มีกลุ่มเลี้ยงวัว ควาย และกองทุนต่าง ๆ เกิดขึ้นมา 

พ.ศ. 2553 ก็มีกลุ่มสานผักตบชวาเกิดขึ้นและกลุ่มน้ำพริก

พ.ศ. 2557 ได้มีสัญญาณไฟจราจรเกิดขึ้นในหมู่บ้าน มีกลุ่มรำวงย้อนยุค และตลาดสดที่ใหม่เกิดขึ้นมา และนายประสงค์ สารนวน คือผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน

ห่างจากอำเภอเมืองพะเยา 11 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชน เป็นที่ราบโดยมีลำน้ำห้วยแม่ต๊ำไหลผ่านมายังหมู่บ้าน พื้นที่เป็นดินเหนียวปนทราย เป็นชุมชนขนาดกลางที่ล้อมรอบไปด้วยทุ่งนา ห้วยแม่ต๊ำ และต้นไม้ ซึ่งประชาชนมีอาชีพเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านต๊ำเหล่า ตำบลท่าจำปี อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านร่องไผ่ ตำบลบ้านต๋อม  อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านต๊ำป่าลาน หมู่ 4 อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านต๊ำม่อน หมู่6 อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

การคมนาคม การเดินทางมาหมู่บ้านต้ำน้ำล้อมสามารถเข้ามาได้ทางถนนสายเอเชีย พะเยา-เชียงรายและถนนสายชนบท พะเยา-แม่ใจ เป็นทางลาดยางติดต่อระหว่างอำเภอแม่ใจ กับอำเภอเมืองพะเยา ถนนในหมู่บ้านเป็นถนนลาดยาง ถนนคอนกรีต ถนนลูกรังบางสาย ประชากรส่วนใหญ่ใช้มอเตอร์ไชค์เป็นพาหนะ มีรถสองแถววิ่งเข้าตัวเมือง ถนนสองข้างเป็นบ้านเรือน ทุ่งนาและมีแม่น้ำล้อมรอบหมู่บ้าน

สภาพทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ก่อสร้าง ทำนา ค้าขาย และรับราชการ

ประชากรบ้านต๊ำน้ำล้อม หมู่ที่ 5 มีจำนวน 256 ครัวเรือน มีประชากรจำนวน 719 คน โดยมีเพศชาย 345 คน  และ เพศหญิง 374 พบว่าประชากรบ้านต๊ำน้ำล้อม หมู่ที่ 5 ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 50 - 54 ปี คิดเป็นร้อยละ 12.66 รองลงมาอยู่ในช่วงอายุ 70 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 11.17 ซึ่งจะพบว่าประชากรมีแนวโน้มเข้าวัยผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น

  • ผู้ใหญ่บ้าน : นายประสงค์ สารนวน
  • ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน : นายอนันต์ ใจหาญ, นายประหยัด เลื่อยสาด
  • คณะกรรมการหมู่บ้าน : มีทั้งหมด 5 คน
  • สมาชิกสภาเทศบาล : มีทั้งหมด 3 คน
  • ประธานอาสาสมัครตำรวจบ้าน : นายบัว เลื่อยสาด
  • คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน : มีทั้งหมด 6 คน
  • คณะกรรมการสายตรวจหมู่บ้าน (สตบ.) : มีทั้งหมด 15 คน
  • คณะกรรมการอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) : มีทั้งหมด 7 คน
  • คณะกรรมการกลุ่มแม่บ้าน หมู่ 5 : มีทั้งหมด 18 คน
  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) : มีทั้งหมด 22 คน นางละเอียด สารนวน (ประธานกลุ่ม อสม.)
  • กลุ่มน้ำพริก : มีทั้งหมด 3 คน
  • กลุ่มผักตบชวาจักสาน : มีทั้งหมด 22 คน
  • กลุ่มผู้สูงอายุ มีทั้งหมด 67 คน : นายเลข เลื่อยสาด (ประธานกลุ่มในหมู่บ้านต๊ำน้ำล้อม)

ปฏิทินวัฒนธรรม ตามจารีตประเพณีล้านนา

  • เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : วันขึ้นปีใหม่, กลางเดือนจัดทำพิธี “ตานข้าวใหม่”
  • เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : เลี้ยงผีเจ้าบ้าน (เดือน 5 แรม 13 ค่ำ และเดือน 9 แรม 13 ค่ำ) ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน เป็นกิจกรรมที่มีมาแต่เดิมซึ่งชาวบ้านให้ความเคารพ นับถือและเชื่อว่าการ บูชาและให้ความเคารพจะทำให้หมู่บ้านปลอดภัยจากภัยอันตรายทั้งปวง
  • เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : ตานขันข้าว
  • เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ปีใหม่เมือง ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ โดยวันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่นบอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์) วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น วันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี วันที่ 15 เมษายน “วันพญาวัน” วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันข้าว” นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ เลี้ยงผีปู่ย่าในวันนี้ ส่วนวันที่ 16 เมษายน “วันปากปี” เป็นวันแรกของปี มารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน พิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่าง ๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว โดยในวันปากปีมีความเชื่อบางประการเกี่ยวกับ “แกงขนุน” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” ที่จะกินกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปี
  • เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : เลี้ยงผีเจ้าที่
  • เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : การสืบชะตาแม่น้ำ เป็นการประยุกต์พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนามาเป็นกุศโลบาย ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำที่ประยุกต์มาจากการสืบชะตาคนเพื่อขอขมาลาโทษแม่น้ำที่ได้ใช้ประโยชน์และกระตุ้นจิตสํานึกการอนุรักษ์แม่น้ำของคนในชุมชนและคนภายนอกชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาป่าร่วมกันบางครั้งจะทํา ควบคู่กับการบวชป่าการสืบชะตาแม่น้ำจะทําในบริเวณลําห้วยแม่ต๊ำในเดือน 9 (มิถุนายน)โดยการนิมนต์ พระสงฆ์ทําพิธีกรรมทางศาสนาจะไม่กระทําทุกปีจะกระทําก็ต่อเมื่อปีไหนที่ฝนไม่ตก น้ำแห้ง ชาวบ้านจะรวมตัวกันจัดทําการสืบชะตาแม่น้ำ, ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ (เดือน 9 แรม 13 ค่ำ) ประเพณีการเลี้ยงผีขุนน้ำบ้านต๊ำใน เป็นความเชื่อของชาวบ้านที่เชื่อว่าในป่ามีผีที่ดูแลรักษาป่า ชาวบ้านที่ได้ใช้ประโยชน์จากป่าจากน้ำ, ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า ไหว้ผีมดผีเม็ง
  • เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญเข้าพรรษา
  • เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ช่วงเดือนนี้จะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา มีการทำบุญตักบาตร
  • เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ปล่อยเปรตปล่อยผี ทำบุญให้กับคนที่ล่วงลับไปแล้ว, ตานก๋วยสลาก ช่วงเดือน 12 ล้านนาถึงเดือนยี่ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
  • เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ทำบุญออกพรรษา อยู่ในช่วงตานก๋วยสลาก สิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ
  • เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ทอดกฐิน มีเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยง(เดือนเกี๋ยงดับ) จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ, ประเพณียี่เป็ง
  • เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : สวดมนต์ข้ามปี

1. นายประสงค์ สารนวน ผู้ใหญ่บ้าน

เกิดเมื่อปี 2507 ปัจจุบันอายุ 52 ปี เป็นบุตรของพ่อศรีมา สารนวน แม่จันทร์แก้ว สารนวน พ.ศ. 2547 นายประสงค์ สารนวน ได้ลงสมัครผู้ใหญ่บ้านบ้านต๊ำน้ำล้อม จนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านต๊ำน้ำล้อม ปี พ.ศ. 2553 เมื่อได้เป็นผู้ใหญ่บ้านแล้วได้มีการจัดทำกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นมาให้กับหมู่บ้าน เช่น กลุ่มเลี้ยงโค กลุ่มแม่บ้านผักตบชวาและสร้างผลงานต่างให้กับหมู่บ้านจนเป็นที่ยอมรับและนับถือจากชาวบ้าน เมื่อหมดวาระของการเป็นผู้ใหญ่บ้านแล้วจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านอีกเป็นสมัยที่สองและเป็นที่รักที่นับถือของชาวบ้านมาจนถึงปัจจุบัน และได้สร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ให้แก่หมู่บ้านจนได้รับรางวัลเป็นหมู่บ้านดีเด่น รางวัลชนะเลิศที่ 1 เป็นผลงานที่สร้างความน่าภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพื้นเมืองล้านนา 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 29 (2564). รายงานการวินิจฉัยชุมชนบ้านต๊ำน้ำล้อม หมู่ 5 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา

ราชกิจจานุเบกษา. (2549). ประกาศจังหวัดพะเยา เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน. เล่ม 123 ตอน พิเศษ 128 ง. 13 ธันวาคม 2549.

ราชกิจจานุเบกษา. (2556). ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลบ้านต๊ำ อำเภอ เมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. เล่ม 130 ตอนพิเศษ 45 ง. 5 เมษายน 2556.

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.