Advance search

ถนนนครใน

ถนนนครใน เป็นถนนที่อยู่ตรงกลางระหว่างถนนนครนอกและถนนนางงาม ถนนนครในนี้มีสถานที่สำคัญ คือ บ้านนครใน จะเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการอนุรักษ์ เสริมสร้างคุณค่าบ้านนครในเป็นบ้านไม้จีนแบบโบราณและบ้านตึกสีขาว ภายในจะเป็นการจัดแสดงของเก่า การอนุรักษ์ของเก่าให้ได้ชมกัน 

ถนนนครใน
บ่อยาง
เมืองสงขลา
สงขลา
สุพิชญา สุขเสมอ
10 พ.ค. 2023
สุพิชญา สุขเสมอ
9 พ.ค. 2023
ถนนนครใน

ถนนนครใน เดิมเป็นเมืองถนนนครในอยู่ภายในกำแพงเมือง ถือเป็นถนนเส้นแรกของเมืองสงขลา 


ถนนนครใน เป็นถนนที่อยู่ตรงกลางระหว่างถนนนครนอกและถนนนางงาม ถนนนครในนี้มีสถานที่สำคัญ คือ บ้านนครใน จะเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการอนุรักษ์ เสริมสร้างคุณค่าบ้านนครในเป็นบ้านไม้จีนแบบโบราณและบ้านตึกสีขาว ภายในจะเป็นการจัดแสดงของเก่า การอนุรักษ์ของเก่าให้ได้ชมกัน 

ถนนนครใน
บ่อยาง
เมืองสงขลา
สงขลา
90000
เทศบาลนครสงขลา โทร. 0-7431-1015
7.197350
100.589012
เทศบาลนครสงขลา

ประวัติการตั้งถิ่นฐาน

ประวัติการตั้งถิ่นฐานของผู้คนถนนนครในมาพร้อมกับก่อสร้างเมืองสงขลาปัจจุบัน กล่าว คือ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2385 หลังจากย้ายชุมชนมาจากแหลมสนซึ่งคนละฝั่งของทะเลสาบสงขลา ดังนั้น บริเวณนี้จึงมีการตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องมานานเกือบ 200 ปี ในอดีตสมัยที่เมืองสงขลายังมีกำแพงเมือง บริเวณถนนนครใน และถนนนครนอก เป็นที่อยู่อาศัยและสถานที่ค้าขายซึ่งตั้งอยู่ในกำแพงเมือง ประตูเมืองด้านนี้ ตั้งอยู่ที่แนวถนนสายบุรี ถนนหนองจิก ถนนยะลา และถนนพัทลุง ปลายถนนสายต่างๆนี้น่าจะเป็น ท่าน้ำลงสู่ทะเลสาบสงขลา บริเวณถนนนครในและถนนนครนอก ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของบริเวณจึงมีการใช้ประโยชนที่ดินประเภทพาณิชยกรรม และที่อยู่อาศัยหน่าแน่นมากของชุมชนเมืองสงขลาซึ่งมีอาณาเขตจากฝั่งทะเลสาบถึงถนนไทรบุรีและจากถนนสายบุรีถึงถนนพัทลุง

การอพยพย้ายถิ่น

โดยสงขลาเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ทางการค้าและวัฒนธรรมหลากหลาย เพราะเป็นเมืองที่มีภูมิศาสตร์ที่ตั้งอันเหมาะสมสำหรับการจอดเทียบท่า ด้วยมีลักษณะที่เป็นเมืองคาบสมุทร ดังที่ ส่งเมือง ได้กล่าวถึงสงขลาว่า เป็นเมืองที่ตั้ง อยู่ระหว่าง 2 คาบสมุทร คือ มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีนักเดินทาง พ่อค้า และบุคคลอื่นๆ จากอินเดีย คาบสมุทรอาหรับ แผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณหมู่เกาะของจีนและชาติอื่นๆ เดินทางมาติดต่ออาศัยพักพิงในการเดินทางจากจีนไปอินเดีย หรือไปยังคาบสมุทรอาหรับ จึงทำให้วัฒนธรรมของทั้ง 3 ชาติ คือ จีน อินเดีย และอาหรับ มีโอกาสเข้ามาเผยแพร่ ทำให้สงขลากลายเป็นศูนย์กลางการค้าและเป็นแหล่งผสมผสานทางวัฒนธรรมของชนชาติต่างๆ

ถนนนครในมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ มีพื้นที่อาณาเขตติดต่อของตำบลบ่อยาง มีดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนกำแพงเพชร

ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนท่าเทียบเรือประมงหมายเลข 1

ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนรามวิถี

ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลสาบสงขลา

จำนวนประชากรชุมชนย่านเมืองเก่า ซึ่งรวมถึงประชากรในถนนนครใน มีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น 2,269 คน ผู้ชาย 1,056 คน ผู้หญิง 1,213 คน และมีจำนวนครัวเรือน 1,288 ครัวเรือน

และมีชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในเขตเมืองเก่าสงขลา จำนวน 6 ตระกูล คือ ตระกูลประธานราษฎร์นิกร ตระกูลกปิลกาญจน์ ตระกูลโคนันทน์ ตระกูลเสาวพฤกษ์ ตระกูลปริชญากร และตระกูลศิริโชติ จากแผ่นจารึกหน้าหลุมฝังศพหรือสุสานบรรพบุรุษ และคำบอกเล่าพบว่าทุกตระกูลล้วนอพยพมาจากมณฑลฟูเจี้ยน(ฮกเกี้ยน) ประเทศจีน โดยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองสงขลาเป็น 3 กลุ่ม ตามช่วงเวลา

กลุ่มแรก เป็นชาวจีนเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย คือบรรพบุรุษของตระกูลประธานราษฎร์นิกรอพยพมาจากมณฑลฟูเจี้ยน ประเทศจีนเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยที่สุราษฎร์ธานี แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่สงขลาเมื่อใด

กลุ่มสอง เป็นชาวจีนที่สองเข้ามาในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 1 – 3 คือ บรรพบุรุษของตระกูลปิลกาญจน์ ตระกูลโคนันทน์ ตระกูลเสาวพฤกษ์ โดยอพยพจากมณฑลฟูเจี้ยน ประเทศจีน เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่สงขลาฝั่งแหลมสน มีนายล่าย แซ่อ๋อง บรรพบุรุษของตระกูลปิลกาญจน์และตระกูลโคนันทน์ เข้ามาสมัยรัชกาลที่ 1 นายเต็งบุ่น แซ่ลิ้ม บรรพบุรุษของตระกูลเสาวพฤกษ์ เข้ามาในปลายรัชกาลที่ 2 ต่อต้นรัชกาลที่ 3 ต่อมาเมื่อเข้ารัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองสงขลาฝั่งแหลมสนมายังฝั่งบ่อยางในปี พ.ศ. 2385 บรรพบุรุษของตระกูลดังกล่าวจึงย้ายมาตั้งถิ่นฐานเพื่อประกอบกิจการค้าที่สงขลาบ่อยาง บริเวณถนนนครใน และถนนนครนอก

กลุ่มที่สาม ชาวจีนกลุ่มที่สามเข้ามาในสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4 คือ บรรพบุรุษของตระกูลปริชญากร คือ นายม้อฉ้อง(มินเกี้ยง) แซ่เจี่ย และบรรพบุรุษของตระกูลศิริโชติ คือนายปุ่น (หมิงที) แซ่อุ๋ย อพยพจากมณฑลฟูเจี้ยน ประเทศจีน เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมืองสงขลาบ่อยาง  

การประกอบอาชีพ

โดยมีอาชีพหลักของครัวเรือน คือ ทำประมง ออกเรือในทะเลและค้าขาย เช่น อาหารหรือของที่ระลึก การประกอบอาชีพของชาวจีนและขาวไทยเชื้อสายจีน 6 ตระกูล มีทั้งการค้าและการบริการ จากการศึกษาพบว่า พัฒนาการด้านการประกอบอาชีพของแต่ละตระกูล แบ่งได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่หนึ่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 - รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นการดำเนินกิจการค้าและการบริการโดยบรรพบุรุษและลูกหลาน บางท่านมีความสามารถได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุน/หลวง ลักษณะการค้ามีทั้งการค้าปลีก การค้าส่ง และขยายฐานอำนาจทางการค้าโดยการผูกขาดการค้าทั้งภายในชุมชนและภายนอกชุมชน กิจการค้าและการบริการในยุคนั้น ได้แก่ ค้าทางเรือสำเภา และการค้าขายสินค้านำเข้าจากประเทศจีนของ 4 ตระกูลคือ ตระกูลประธานราษฎร์นิกร ตระกูลกปิลกาญจน์ ตระกูลโคนันทน์ และตระกูลปริชญากร การผูกขาดการต้มกลั่นสุราของตระกูลประธานราษฎร์นิกร และตระกูลปริชญากร การผูกขาดการค้าฝิ่น การรับส่งเงินตราแบบโพยก๊วน ของตระกูลประธานราษฎร์นิกร การค้าข้าวสารของตระกูลประธานราษฎร์นิกร และตระกูลเสาวพฤกษ์กิจการโรงสีข้าวของตระกูลประธานราษฎร์นิกร ตระกูลกปิลกาญจน์ และตระกูลเสาวพฤกษ์ การทำสวนยางพาราของตระกูลประธานราษฎร์นิกร ตระกูลเสาวพฤกษ์ และตระกูลศิริโชติ กิจการโรงน้ำแข็ง การผูกขาดการค้าส่งน้ำมันใน 9 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ของตระกูลประธานราษฎร์นิกร กิจการรับเหมาถมดินและหินเพื่อทำถนนให้กับกรมทาง กิจการค้าวัสดุก่อสร้าง เครื่องยนต์ และอะไหล่เรือประมงและเรือหางยาว กิจการขายตะเกียงพร้อมอะไหล่ การขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ของตระกูลศิริโชติ กิจการโรงแรมของตระกูลโคนันทน์ กิจการโรงลิเกของตระกูลปริชญากรและกิจการโรงภาพยนตร์ของตระกูลกปิลกาญจน์ การให้กู้ยืมเงินของตระกูลกปิลกาญจน์ และตระกูลปริชญากร เป็นต้น ทั้งนี้กิจการส่วนใหญ่ในช่วงระยะที่หนึ่งดังกล่าวข้างต้น ได้ดำเนินการต่อเนื่องในระยะที่สองด้วย

ระยะที่สอง ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 - พ.ศ.2503 เป็นการดำเนินกิจการโดยลูกหลานของขุน/หลวง ซึ่งบางท่านสำเร็จการศึกษาจากปีนัง สิงคโปร์ และ กลับมาช่วยกิจการของตระกูล โดยนำเทคนิคการตลาด เครื่องจักรและเทคโนโลยี เข้ามาขยายหรือสร้างเครือข่ายกิจการค้าและการบริการของตระกูลจากธุรกิจภายในครอบครัวให้ขยายออกไปภายนอกชุมชนและต่างประเทศ กิจการที่เกิดขึ้นในระยะที่สอง เช่น การขยายกิจการโรงน้ำแข็งจากจังหวัดสงขลาไปยังอำเภอหาดใหญ่ และ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ด้านกิจการยางพารา สร้างโรงรมยาง ก่อตั้งบริษัทประธานยางเพื่อนำยางรมควันส่งออกต่างประเทศ สร้างเครือข่ายทางการค้าโดยชักชวนนายโล่ จิ้น หยิว นักธุรกิจในกิจการค้ายางมาทำงานร่วมกัน และเริ่มการส่งออกยางก้อนโดยทางเรือไปยังสหรัฐอเมริกาโดยตรง ของตระกูลประธานราษฎร์นิกร กิจการขายเครื่องสังฆภัณฑ์ กิจการการผลิตและจำหน่ายยาแผนโบราณ กิจการขายเครื่องแต่งกายสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี ของตระกูลกปิลกาญน์ กิจการขายเครื่องสังฆภัณฑ์ กิจการขายและเป็นตัวแทนผลิตภัณฑ์ของบริษัทชิงเกอร์ ประเทศไทย ของตระกูลโคนันทน์ กิจการขายทรายสำหรับอุตสาหกรรมทำแก้ว ขายเครื่องจักสาน กิจการทำผมและตัดเสื้อของตระกูลปริชญากร การดำเนินกิจการรถโดยสารประจำทางในจังหวัดสงขลา โดยสั่งรถบัสขนาดเล็กจากปีนังเข้ามารับส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างตำบลบ่อยางกับพื้นที่ใกล้เคียง กิจการขายเครื่องสีข้าวขนาดเล็กพร้อมบริการติดตั้ง การสร้างท่าเทียบเรือ กิจการอู่ช่อมเรือ กิจการแพปลา และกิจการโรงแรมที่ทันสมัยที่สุดในเมืองสงขลาบ่อยางเมื่อปี 2500 อีกทั้งร่วมทุนทำกิจการห้องเย็นกับบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แอนด์ ซีฟู้ด ส่งผลให้กิจการค้าและบริการของตระกูลสามารถพัฒนาจากธุรกิจภายในครอบครัวไปสู่การสร้างเครือข่ายทางการค้า โดยร่วมทุนกับนายทุนในระดับประเทศ ของตระกูลเสาวพฤกษ์ กิจการขายสินค้าพื้นเมืองประเภทข้าวเกรียบปลา ข้าวเกรียบกุ้ง น้ำบูดู ลูกหยี ฯลฯ กิจการการเป็นตัวแทนจำหน่ายเบียร์และโซดาจากบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ของจังหวัดสงขลา การเป็นตัวแทนจำหน่ายบุหรี่จากโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง เป็นรายแรกในเทศบาลเมืองสงขลา กิจการ ตัดเสื้อทำผม ถ่ายรูป และการเป็นตัวแทนบริษัทบูรพาประกันภัย ของตระกูลศิริโชติ

บริเวณถนนนครในติดต่อกับศูนย์กลางชุมชนเมืองในปัจจุบัน เป็นบริเวณที่มีประวัติศาสตร์ต่อเนื่องเกือบ 200 ปี และมีงานสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะพิเศษรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนบริเวณกว้างขวาง และยังมีกิจกรรมต่างๆของบริเวณอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ค่อยคึกคักมากนักแต่ก็ยังคงเฉพาะของบริเวณนี้อย่างเด่นชัด ได้แก่ เป็นที่อยู่อาศัย ร้านค้า โรงเจ ศาลเจ้า เป็นต้น รวมถึงถนนนครในมีลักษณะเฉพาะตัวของวิถีชีวิตผู้คนและกิจกรรม เคยคับคั่งด้วยผู้คนพักอาศัยและค้าขาย ปัจจุบันการค้าแบบในอดีตที่ยังสืบทอดมา เช่น เครื่องสังขภัณฑ์ อัญมณี ของแห้ง ซึ่งมีอยู่น้อย ร้านค้าที่มีมาก คือ ร้านอาหารทั้งแบบอยู่ในตึกแถวที่สร้างใหม่ และตึกแถวเก่า มีแนวโน้มว่าจะมีมากขึ้น ที่เหลือที่มีมากที่สุดเป็นที่พักอาศัยที่ปิดเงียบ ส่วนใหญ่ตึกแถวโบราณจะให้เช่า เจ้าของไปอยู่กรุงเทพฯ ผู้เช่าจะเป็นชาวไทยพุทธมาเช่าทำการค้าเล็กน้อยๆ เช่น ขายขนม ขายอาหาร เสริมสวย ทำสติกเกอร์ ช่างซ่อม รับจ้างทั่วไป และส่วนใหญ่ตึกแถวเก่าที่เจ้าของอยู่เองจะเป็นคนชรา ที่ลูกหลานไปเรียนหรือทำงานที่อื่น จะปิดบ้านเงียบทั้งวัน ยกเว้นจะออกมาตักบาตรและไปตลาดตอนเช้า ชายชรามักชอบออกมาจิบชา กาแฟ พบปะเพื่อนในร้าน ชา กาแฟโบราณในถนนนางงาม ในอดีตถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม เป็นย่านการค้าที่รุ่งเรืองมาก ปัจจุบันมีความซบเซาลงด้วยสาเหตุแรก คือ ปัญหาการจราจร ถนนหนทางคับแคบ ไม่มีที่จอดรถ ปัญหาที่สองคือ ทัศนะคติของคนสงขลาที่นิยมส่งลูกหลานไปเรียนในกรุงเทพฯ เมื่อเรียนจบก็ทำงานในกรุงเทพฯ และอพยพครอบครัวไปอยู่ แล้วบ้านเดิมก็ให้คนอื่นมาเช่า กิจการค้าเดิมก็ไม่มีการสืบทอด ก็หายไป และอุปนิสัยของคนสงขลาที่เป็นคนรักสงบ สันโดษ ไม่ชอบความวุ่นวายกิจกรรมในรูปของความบันเทิงสมัยใหม่จึงอยู่ไม่ได้ เช่น โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง ฯลฯ จึงย้ายไปอยู่ที่หาดใหญ่หมด และการค้าที่อยู่ได้จนถึงปัจจุบัน เช่น สังขภัณฑ์ ของแห้ง อัญมณี ยังอยู่ได้เพราะมีการสืบทอดมาและเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียง ลักษณะกายภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตเมื่อเทียบกับร่องรอยในอดีตจะเห็นว่า ตำแหน่งที่ตั้งมีความสำคัญ คือ ศาลหลักเมือง ตั้งอยู่กลางเป็นการวางผังแบบจีน ปลายถนนซอยจะมีศาลเจ้าตั้งอยู่ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมความเชื่อของชาวจีน อาคารที่อยู่หัวมุมบนถนนนครนอกแตกต่างจากอาคารมุมถนนบนถนนนครในเดิม ซึ่งอาคารหัวมุมบนถนนนครนอกเป็นอาคารเกิดใหม่หลังรื้อกำแพงเมืองเก่า จะปาดมุมมากขึ้นเน้นการค้าขายซึ่งได้รับอิทธิพลจากตะวันตก แต่อาคารมุมถนนบนถนนนครใน จะมีประตูเข้าออกด้านข้างของที่พักอาศัยมีความเป็นส่วนตัวมาก ไม่เน้นค้าขาย

 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรมหรือสถานที่สำคัญ

บ้านนครใน เป็นบ้านเก่าแก่โบราณกว่าร้อยปีและเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวัตถุโบราณและสิ่งของสะสม ตั้งอยู่บนถนนนครในแต่สามารถเข้าถึงได้จากถนนนครนอก

ตึกแถวรูปแบบชิโนโปตุกีส เป็นตึกคลาสสิคสไตล์ชิโนโปตุกีสและยังมีอาคารตึกแถวแบบจีนโบราณของชาวจีนฮกเกี้ยนอยู่ปะปนกันสองฟากฝั่งถนน

บ้านจีนสามห้อง ตั้งอยู่บนถนนนครใน ถูกปล่อยร้างมาหลายปีจนอยู่ในสภาพที่ต้องการการบูรณะ ปัจจุบันเจ้าของบ้านได้มอบพื้นที่ให้หอจดหมายเหตุ โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา (โดย อ.จรัส จันทร์พรหมรัตน์) ผู้มีความรู้และมีภาพถ่ายโบราณและสิ่งพิมพ์โบราณของสงขลา มาจัดนิทรรศการให้บุคคลทั่วไปและนักท่องเที่ยวเข้าชมฟรี เพื่อสร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิดให้กับลูกหลานชาวสงขลา และเป็นจุดท่องเที่ยวที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับนักท่องเที่ยว

ชาวจีนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ โดยทั่วไปจะเป็นจีนเก่า ปัจจุบันส่วนใหญ่จะพูดภาษาจีนไม่ได้ อ่านหนังสือจีนไม่ออก และส่งเสริมให้ลูกหลานเรียนภาษาไทยในชีวิตประจำวัน ไม่ให้เรียนรู้ภาษาจีน เพื่อเข้าถึงความเป็นไทยอย่างแท้จริง


ชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของเมืองสงขลาบ่อยาง โดยมีปัจจัยที่ส่งเสริมบทบาทด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม คือ การนำวัฒนธรรมกงสีมาใช้ในธุรกิจของครอบครัว การผูกดอง การเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ และการสร้างขวัญและกำลังใจ ส่งผลให้ชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนทั้ง 6 ตระกูล เข้ามามีบทบาทสำคัญด้านเศรษฐกิจในเมืองสงขลาบ่อยาง ในด้านบทบาทการผูกขาดทางการค้า บทบาทการเป็นผู้นำทางการค้าและธุรกิจ บทบาทในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนากิจการค้า ตัวอย่างเช่น

1.บทบาทการผูกขาดทางการค้า ตระกูลประธานราษฎร์นิกร สามารถผูกขาดการต้มกลั่นสุราและการค้าฝิ่นจากทางราชการในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา และการผูกขาดการค้าส่งน้ำมันใน 9 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ตระกูลปริชญากร ทำการผูกขาดการต้มกลั่นสุราในสงขลาบ่อยาง ตระกูลศิริโชติ ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องดื่มเบียร์และโซดาในจังหวัดสงขลา สามารถทำยอดจำหน่ายสินค้าเป็นอันดับหนึ่งของภาคใต้ และได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนจำหน่ายบุหรี่จากโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง เป็นรายแรกในจังหวัดสงขลา เป็นต้น

2.บทบาทการเป็นผู้นำทางการค้าและธุรกิจ เช่น ตระกูลประธานราษฎร์นิกร ริเริ่มการส่งข้าวสารจากภาคใต้ไปขายในประเทศมลายูโดยทางรถไฟ เพื่อแข่งข้นกับข้าวที่ส่งมาจากประเทศพม่าเป็นครั้งแรก และริเริ่มส่งออกยางก้อนโดยทางเรือไปยังสหรัฐอมริกาโดยตรง ตระกูลเสาวพฤกษ์ เป็นแกนนำโรงสีข้าวในจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา จัดตั้งเป็นบริษัทข้าวไทยปักษ์ใต้ ดำเนินการตามแนวคิดสหกรณ์ ทำการสีข้าวจำหน่ายให้แก่ราษฎรในราคาถูก ขยายธุรกิจของตระกูลโดยสร้างท่าเทียบเรือ อู่ซ่อมเรือ กิจการแพปลา และกิจการโรงแรมที่ทันสมัยที่สุดในเมืองสงขลาบ่อยางเมื่อ ปี 2500 ตระกูลกปิลกาญจน์ นำเทคนิคการขายเพื่อจูงใจลูกค้า โดยการนำคูปองแลกสินค้ามาใช้ในกิจการค้าของร้าน มีการเลี้ยงอาหารและนำสินค้าพื้นบ้านสงขลามอบให้ลูกค้าที่เดินทางมาซื้อสินค้าจากต่างถิ่นเป็นต้น ตระกูลศิริโชติ เปิดกิจการขายอุปกรณ์ไฟฟ้าและเป็นร้านแรกที่สั่งหลอดไฟนีออนมาจำหน่ายในจังหวัดสงขลา เปิดร้านจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านสงขลาโดยการผลิตข้าวเกรียบกุ้ง ข้าวเกรียบปลา ลูกหยีฉาบ ลูกหยีกวน มังคุดกวน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ฉาบ ฯลฯ จำหน่าย และได้รับรางวัลที่ 1 จากการประกวดทั่วประเทศเมื่อปี พ.ศ.2486

3.บทบาทในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนากิจการค้า ตัวอย่างเช่น ตระกูลประธานราษฎร์นิกร นายนิกร ประธานราษฎร์นิกร นำเครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามาขยายกิจการ โรงน้ำแข็งจากจังหวัดสงขลาไปยัง อำเภอหาดใหญ่ และ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ด้านกิจการยางพารา ได้สร้างโรงรมยาง ก่อตั้งบริษัทประธานยางเพื่อนำยางรมควันส่งออกต่างประเทศ ตระกูลเสาวพฤกษ์ รองอำมาตย์ตรี ขุนราชกิจการี ก่อสร้างโรงสีข้าวชื่อ โรงสีหับโห้หิ้น ในปีพ.ศ.2457 ต่อมาได้ขยายกิจการโรงสีโดยสั่งเครื่องจักรไอน้ำ ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงจากประเทศอังกฤษ นับได้ว่าโรงสีแดงเป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่ที่ทันสมัยในยุคนั้น การดำเนินกิจการรถโดยสารประจำทางในจังหวัดสงขลาโดยสั่งรถบัสขนาดเล็กจากปีนังเข้ามารับส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างตำบลบ่อยางกับพื้นที่ใกล้เคียงเป็นต้น


ชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในเขตเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง บริเวณถนนนครในและถนนนครนอกทั้ง 6 ตระกูล มีบทบาทด้านสังคม ก็คือ เมื่อบรรพบุรุษของแต่ละตระกูลมีฐานะเป็นที่ยอมรับและรู้จักของผู้คนในสังคม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุน/หลวง การมียศถาบรรดาศักดิ์และตระกูลมีฐานะมั่งคั่ง เป็นที่ยอมรับของผู้คนในสังคม เท่ากับเป็นการได้รับการเลื่อนชั้นทางสังคม ทำให้มีโอกาสในการติดต่อสัมพันธ์กับเจ้านายขุนนาง ข้าราชการทุกระดับ ทั้งในส่วนท้องถิ่นและส่วนกลาง ส่งผลให้คนในตระกูลเข้ามามีบทบาททางสังคมมากขึ้น และตามมาซึ่งบทบาทในการสร้างสาธารณประโยชน์แก่สังคมของแต่ละตระกูลในด้านสาธารณสุข ด้านศาสนา เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ตระกูลประธานราษฎร์นิกรบริจาคเงินสร้างตึกอำนวยการโรงพยาบาลสงขลา ตระกูลกปิลกาญจน์ถวายที่ดินให้กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์สร้างตำหนักที่ประทับ เป็นต้น การสร้างประโยชน์และคุณงามความดีส่งผลให้บรรพบุรุษของตระกูลได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้รับพระราชทานโกศบรรจุศพหรือพระราชทานเพลิงศพเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล และการยอมรับจากคนในสังคม ส่งผลให้ลูกหลานบางตระกูล เช่น ตระกูลกปิลกาญจน์ ตระกูลโคนันทน์ ตระกูลศิริโชติ ได้รับการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งจากคนในชุมชนให้เข้ามามีบทบาททางการเมืองระดับท้องถิ่นในตำแหน่งนายกเทศมนตรี สมาชิกสภาจังหวัด เป็นต้น


การมีกิจกรรมร่วมกันของทายาทชาวจีนกับเจ้านายขุนนาง ข้าราชการ ตลอดจนคนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยในเมืองสงขลาบ่อยาง ซึ่งประกอบด้วย ชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม ด้วยการติดต่อทางการค้าขาย การแต่งงาน ตลอดจนกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ส่งผลให้มีการกลืนกลายทางวัฒนธรรมของชาวจีนโดยการรับวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นเข้ามาผสมผสานในวิถีการดำเนินชีวิตของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนในเขตเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง จนกลายเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ให้แก่ตระกูลและเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชาวบ้านในเขตเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง จำแนกได้เป็น 4 ด้าน คือ ด้านที่อยู่อาศัย ด้านประเพณีและความเชื่อด้านอาหาร ด้านการแต่งกาย ดังนี้

1.ด้านที่อยู่อาศัย "วัฒนธรรมห้องแถว" คือ ความเด่นชัดด้านที่อยู่อาศัยที่ชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนนำมาสู่เมืองสงขลาบ่อยาง โดยมีอาคารเรือนแถวค้าขายของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีน ปรากฎให้เห็นบริเวณถนนนครใน ถนนนครนอก จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของบ้านในเขตเมืองเก่าสงขลาบ่อยางในปัจจุบัน สามารถจำแนกได้ 3 รูปแบบ คือ อาคารแบบจีนดั้งเดิม อาคารแบบจีนผสมตะวันตก อาคารแบบร่วมสมัย ตัวอย่างเช่น

1) อาคารแบบจีนดั้งเดิม เป็นอาคารก่อสร้างด้วยอิฐ รับอิทธิพลจากชาวจีนฮกเกี้ยนที่สร้างในยุคแรกของการสร้างเมืองสงขลาบ่อยาง ประมาณช่วงปีพ.ศ.2379-2419 ปัจจุบันอาคารเรือนแถวแบบจีนดั้งเดิมยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ที่ถนนนครใน ได้แก่ บ้านเลขที่ 94 ของตระกูลโคนันทน์ บ้านเลขที่ 95 ของตระกูลกปิลกาญจน์ บ้านเลขที่ 98 ของตระกูลปริชญากร และบ้านเลขที่ 129 ของตระกูลศิริโชติ

2) อาคารแบบจีนผสมตะวันตก เป็นอาคารที่สร้างในยุคต่อมาช่วงปีพ.ศ.2419 – 2462 รูปแบบของอาคารสะท้อนให้เห็นการผสมผสานระหว่างอาคารเรือนแถวของชาวจีนกับแบบตะวันตก อันเนื่องมาจากการติดต่อทางการค้าระหว่างสงขลากับปีนังและสิงคโปร์ ได้แก่ บ้านเลขที่ 123 และ  223 ถนนนครในของตระกูลประธานราษฎร์นิกร บ้านเลขที่ 8 ถนนนครนอก ของตระกูลเสาวพฤกษ์ บ้านเลขที่ 68-70 ถนนนครใน ของตระกูลปริชญากร บ้านเลขที่ 91 และเลขที่ 185 ถนนนครนอก ของตระกูลศิริโชติ

3) อาคารแบบร่วมสมัย เป็นอาคารที่สร้างในช่วงปีพ.ศ.2462 - 2500 ลักษณะเด่นของอาคารในยุคนี้คือการเขียน ปี พ. ศ. ที่สร้างอาคารเอาไว้ด้านหน้า การสร้างอาคารลักษณะนี้สันนิษฐานว่าเกิดมาในช่วงที่การค้าและการขนส่งทางรถไฟได้ขยายตัวมายังเมืองสงขลาแล้ว ทำให้เหล็กและคอนกรีตถูกขนส่งเข้ามายังสงขลาได้ง่ายขึ้น ได้แก่ บ้านเลขที่ 130 ถนนนครใน ของตระกูลปริชญากร

2.ด้านประเพณีและความเชื่อ พบว่า ทุกตระกูลให้ความเคารพนับถือวิญญาณบรรพบุรุษเป็นสำคัญ การปฏิบัติที่แสดงออกและมุ่งสอนให้ลูกหลานมีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ คือ ประเพณีตรุษจีน ประเพณีเช็งเม้ง ในประเพณีดังกล่าวลูกหลานจะนำอาหารไปเช่นไหว้หน้าป้ายชื่อบรรพบุรุษ ณ บ้านที่เก็บรักษาป้ายวิญญาณบรรพบุรุษของตน หรือที่ฮวงซุ้ยฝังศพบรรพบุรุษที่สุสานของตระกูล อาหารในการไหว้ บรรพบุรุษที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนในย่านเมืองเก่าสงขลา คือ แกงจืดกรอกกุ้ง (แกงร้อน) หมูคั่วหมึก หมูห้อง หรือหมูต้มดอกไม้จีน บีลุ้นผัด เป็นต้น

การไหว้บรรพบุรุษในวันเช็งเม้งมี 2 วัน คือ วันแรกไหว้ศพบรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ยแบบประเพณีจีน วันที่สองไหว้กระดูกบรรพบุรุษที่บัว ณ สวนศพของตระกูล เริ่มด้วยการไหว้แบบประเพณีจีน หลังจากเสร็จพิธีกรรมไหว้ตามประเพณีจีนแล้ว นิมนต์พระสงฆ์สวดบังสุกุลกระดูก ถวายภัตตาหาร และกรวดน้ำอุทิศบุญกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วตามประเพณีบังสุกุลกระดูกหรือบังกุลบัวของไทย

ประเพณีงานศพ พบว่า ในยุคแรกเมือบรรพบุรุษถึงแก่กรรมจะทำพิธีฝังศพที่ฮวงซุ้ยของตระกูลตามประเพณีของชาวจีน โดยจะเลือกทำเลที่ตั้งของฮวงซุ้ยหรือสวนศพที่มีน้ำอยู่ด้านหน้า คือ ทะเลสาบสงขลา ด้านหลังจะเป็นภูเขา ได้แก่ เขารูปช้าง เช่นฮ้วยซุ้ยของตระกูลปริชญากรหลังมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา เป็นต้น ต่อมาเมื่อลูกหลานที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุน หลวง ถึงแก่กรรม มีการปรับเปลี่ยนประเพณีทำศพเป็นแบบไทยผสมจีน กล่าวคือ ทำพิธีเผาศพแทนการฝัง และนำกระดูกตั้งบูชาไว้ที่บ้าน 1 ปี เพื่อให้กระดูกเย็น หลังจากนั้นนำกระดูกบรรจุที่บัวของตระกูลในวันเช็งเม้ง

3.ด้านอาหาร ทุกตระกูลให้ความสำคัญในเรื่องอาหารการกินโดยนิยมปรุงอาหารรับประทานกันในครอบครัว ทั้งอาหารคาว ของว่าง และขนมหวาน ผู้ที่รับผิดชอบทำอาหารคือ แม่บ้าน ญาติๆที่เป็นผู้หญิง ลูกสาว และลูกจ้างผู้หญิง แต่ละตระกูลต่างมีตำรับอาหารคาว ของว่างขนมหวานที่คิดค้น ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และสงวนไว้ถ่ายทอดให้กับลูกหลานของตนเท่านั้น อาหารคาว ของว่าง และขนมหวานของแต่ละตระกูลจึงมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในเรื่องรสชาติ และส่วนผสมที่แตกต่างกันเฉพาะตน นิยมทำรับประทานในครอบครัว หรือเป็นของฝากญาติสนิทมิตรสหายเท่านั้น ไม่ได้ทำจำหน่ายเป็นอาชีพอย่างจริงจัง เอกลักษณ์ด้านอาหารที่บ่งบอกตัวตนของตนเองของคนสงขลาในย่านเมืองเก่าสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน คือ รสชาติของอาหารไม่จัดจ้านเหมือนอาหารปักษ์ใต้ทั่วไป กล่าวคือ ไม่เผ็ดร้อน เปรี้ยวจัด แต่มีรสชาติกลมกล่อม และอาหารหลายอย่างมีรสหวานนำ อาหารที่ใส่กะปิ จะใส่ในปริมาณที่ไม่มากนัก

4.ด้านการแต่งกาย หลักฐานภาพถ่ายโบราณพบว่า การแต่งกายของบรรพบุรุษชาวจีน 6 ตระกูลในยุคแรกทั้งชายและหญิงแต่งกายแบบชาวจีน ต่อมาเมื่อมีการรับวัฒนธรรมการแต่งกายแบบตะวันตกเข้ามาในสังคมไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา และมีการปรับเปลี่ยนการแต่งกายแบบสากลเต็มรูปแบบในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ลูกหลานชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนได้รับอิทธิพลการแต่งกายแบบสากลเข้ามา ความนิยมแต่งกายแบบจีนจึงหมดไปจากสังคมผ่านเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง

ความสวยงามตึกรามบ้านช่องที่มีมาตั้งแต่สมัย ยุครัชกาลที่ 3 มีทั้งแบบจีนโบราณและบ้านเรือนต่างๆ ที่ผสมผสานวัฒนธรรมความเป็นอยู่ในยุคต่างๆ ไล่มาจนถึงปัจจุบัน และมีพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้บ้านนครใน เป็นบ้านเก่าแก่อายุกว่า 300 ปี บนถนนนครใน ถนนสายวัฒนธรรมประจำจังหลังสงขลา เป็นอาคารชุด 2 หลัง หลังที่ 1 เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน และบ้านตึกสีขาวเป็นแบบชิโนยูโรเปี้ยน บ้านนครใน ก่อตั้งโดยคุณกระจ่าง จารุพฤกษ์พันธ์ ที่ต้องการปลุกกระแสเมืองเก่าสงขลาให้กลับมามีชีวิตชีวา ภายในจัดแสดงของเก่าเก็บสะสมที่ทรงคุณค่า อาทิ เตียงโบราณแบบจีน ตู้โบราณ โต๊ะและม้านั่งแบบจีน ถ้วยชามจีน เป็นต้น รวมทั้งยังมีมุมจัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ให้ชม

สุภาวดี เชื้อพราหมณ์. (2546). ตึกแถว ผลผลิตทางกายภาพและวัฒนธรรม ในชุมชนเมืองเก่า จังหวัดสงขลา. วิทยานิพนธ์ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบันฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

Museumthailand. (2562). บ้านนครใน. ค้นจาก http://https://www.museumthailand.com/th

Museumthailand. (ม.ป.ป.). ย่านเมืองเก่า จังหวัดสงขลา. ค้นจาก http://https://www.museumthailand.com/th

พาฝัน ดูฮาเมลน์. (2563). การพัฒนาศักยภาพมรดกทางประวัติศาสตร์ของเมืองเก่าสงขลาเพื่อเพิ่มมูลค่าในรูปแบบของการท่องเที่ยวเมืองเก่า. [รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์]. วิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง, 9(2), 62.

คณะกรรมการชุมชนย่านเมืองเก่า. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาชุมชน. ค้นจาก http://https://www.songkhlacity.go.th/

อรทัย สัตยสัณห์สกุล และคณะ. (2557). ชีวประวัติและบทบาทของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในเขตเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง สมัยช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงก่อนใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2411-2503). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส. https://www.sac.or.th/databases/sac_research