Advance search

ถนนนครนอก เป็นถนนที่ติดกับฝั่งทะเลสาป ในอดีตบริเวณนี้เป็นท่าเทียบเรือเพื่อการค้าและขนส่งสินค้าจากต่างประเทศ ดูได้จากการมีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันที่แห่งนี้ได้ชื่อว่า หับ โห้ หิ้น หรือที่ชาวสงขลาเรียกกันว่า โรงสีแดง โรงสีข้าวแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณริมทะเลสาปสงขลา มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับพื้นที่เพาะปลูกข้าว แต่ในปัจจุบันได้ยกเลิกกิจการไปแล้ว เพราะเกิดจากสภาพแวดล้อม สังคม เทคโนโลยี ที่มีการพัฒนาและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สถานที่แห่งนี้ได้กลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้คนที่มาเยี่ยมชมที่นี่ เพื่อจะได้รู้ถึงประวัติความเป็นมาและวัฒนธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต จนถึงปัจจุบัน

ถนนนครนอก
บ่อยาง
เมืองสงขลา
สงขลา
สุพิชญา สุขเสมอ
10 พ.ค. 2023
สุพิชญา สุขเสมอ
10 พ.ค. 2023
ถนนนครนอก

ถนนนครนอก มาจากเป็นถนนที่อยู่นอกกำแพง ซึ่งกำแพงเมืองเริ่มที่หน้าวัดกลาง


ถนนนครนอก เป็นถนนที่ติดกับฝั่งทะเลสาป ในอดีตบริเวณนี้เป็นท่าเทียบเรือเพื่อการค้าและขนส่งสินค้าจากต่างประเทศ ดูได้จากการมีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันที่แห่งนี้ได้ชื่อว่า หับ โห้ หิ้น หรือที่ชาวสงขลาเรียกกันว่า โรงสีแดง โรงสีข้าวแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณริมทะเลสาปสงขลา มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับพื้นที่เพาะปลูกข้าว แต่ในปัจจุบันได้ยกเลิกกิจการไปแล้ว เพราะเกิดจากสภาพแวดล้อม สังคม เทคโนโลยี ที่มีการพัฒนาและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สถานที่แห่งนี้ได้กลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้คนที่มาเยี่ยมชมที่นี่ เพื่อจะได้รู้ถึงประวัติความเป็นมาและวัฒนธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต จนถึงปัจจุบัน

ถนนนครนอก
บ่อยาง
เมืองสงขลา
สงขลา
90000
7.192253
100.590624
เทศบาลนครสงขลา

ประวัติการตั้งถิ่นฐาน

ประวัติการตั้งถิ่นฐานของผู้คนถนนนครในมาพร้อมกับก่อสร้างเมืองสงขลาปัจจุบัน กล่าวคือ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2385 หลังจากย้ายชุมชนมาจากแหลมสนซึ่งคนละฝั่งของทะเลสาบสงขลา ดังนั้น บริเวณนี้จึงมีการตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องมานานเกือบ 200 ปี ในอดีตสมัยที่เมืองสงขลายังมีกำแพงเมือง บริเวณถนนนครในและถนนนครนอก เป็นที่อยู่อาศัยและสถานที่ค้าขายซึ่งตั้งอยู่ในกำแพงเมือง ประตูเมืองด้านนี้ ตั้งอยู่ที่แนวถนนสายบุรี ถนนหนองจิก ถนนยะลา และถนนพัทลุง ปลายถนนสายต่างๆนี้น่าจะเป็น ท่าน้ำลงสู่ทะเลสาบสงขลา บริเวณถนนนครในและถนนนครนอก ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของบริเวณจึงมีการใช้ประโยชนที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหน่าแน่นมากของชุมชนเมืองสงขลาซึ่งมีอาณาเขตจากฝั่งทะเลสาบถึงถนนไทรบุรีและจากถนนสายบุรีถึงถนนพัทลุง

การอพยพย้ายถิ่น

โดยสงขลาเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ทางการค้าและวัฒนธรรมหลากหลาย เพราะเป็นเมืองที่มีภูมิศาสตร์ที่ตั้งอันเหมาะสมสำหรับการจอดเทียบท่า ด้วยมีลักษณะที่เป็นเมืองคาบสมุทร ดังที่ส่งเมืองได้กล่าวถึงสงขลาว่า เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ระหว่าง 2 คาบสมุทร คือ มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีนักเดินทาง พ่อค้าและบุคคลอื่น ๆ จากอินเดียคาบสมุทรอาหรับ แผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณหมู่เกาะของจีนและชาติอื่นๆ เดินทางมาติดต่ออาศัยพักพิงในการเดินทางจากจีนไปอินเดีย หรือไปยังคาบสมุทรอาหรับ จึงทำให้วัฒนธรรมของทั้ง 3 ชาติ คือ จีน อินเดีย และอาหรับ มีโอกาสเข้ามาเผยแพร่ทำให้สงขลากลายเป็นศูนย์กลางการค้าและเป็นแหล่งผสมผสานทางวัฒนธรรมของชนชาติต่าง ๆ

ถนนนครนอกมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบและมีพื้นที่อาณาเขตติดต่อของตำบลบ่อยาง ดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนกำแพงเพชร

ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนท่าเทียบเรือประมงหมายเลข 1

ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนรามวิถี

ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลสาบสงขลา

 

จำนวนประชากรชุมชนย่านเมืองเก่า ซึ่งรวมถึงประชากรในถนนนครนอก มีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น 2,269 คน ผู้ชาย 1,056 คน ผู้หญิง 1,213 คน และมีจำนวนครัวเรือน 1,288 ครัวเรือน

และมีชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในเขตเมืองเก่าสงขลา จำนวน 6 ตระกูล คือ ตระกูลประธานราษฎร์นิกร ตระกูลกปิลกาญจน์ ตระกูลโคนันทน์ ตระกูลเสาวพฤกษ์ ตระกูลปริชญากร และตระกูลศิริโชติ จากแผ่นจารึกหน้าหลุมฝังศพหรือสุสานบรรพบุรุษ และคำบอกเล่าพบว่าทุกตระกูลล้วนอพยพมาจากมณฑลฟูเจี้ยน(ฮกเกี้ยน) ประเทศจีน โดยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองสงขลาเป็น 3 กลุ่ม ตามช่วงเวลา

กลุ่มแรก เป็นชาวจีนเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย คือบรรพบุรุษของตระกูลประธานราษฎร์นิกรอพยพมาจากมณฑลฟูเจี้ยน ประเทศจีนเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยที่สุราษฎร์ธานี แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่สงขลาเมื่อใด

กลุ่มสอง เป็นชาวจีนที่สองเข้ามาในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 1 – 3 คือ บรรพบุรุษของตระกูลปิลกาญจน์ ตระกูลโคนันทน์ ตระกูลเสาวพฤกษ์ โดยอพยพจากมณฑลฟูเจี้ยน ประเทศจีน เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่สงขลาฝั่งแหลมสน มีนายล่าย แซ่อ๋อง บรรพบุรุษของตระกูลปิลกาญจน์และตระกูลโคนันทน์ เข้ามาสมัยรัชกาลที่ 1 นายเต็งบุ่น แซ่ลิ้ม บรรพบุรุษของตระกูลเสาวพฤกษ์ เข้ามาในปลายรัชกาลที่ 2 ต่อต้นรัชกาลที่ 3 ต่อมาเมื่อเข้ารัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองสงขลาฝั่งแหลมสนมายังฝั่งบ่อยางในปี พ.. 2385 บรรพบุรุษของตระกูลดังกล่าวจึงย้ายมาตั้งถิ่นฐานเพื่อประกอบกิจการค้าที่สงขลาบ่อยาง บริเวณถนนนครใน และถนนนครนอก

กลุ่มที่สาม ชาวจีนกลุ่มที่สามเข้ามาในสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4 คือ บรรพบุรุษของตระกูลปริชญากร คือ นายม้อฉ้อง(มินเกี้ยง) แซ่เจี่ย และบรรพบุรุษของตระกูลศิริโชติ คือนายปุ่น (หมิงที) แซ่อุ๋ย อพยพจากมณฑลฟูเจี้ยน ประเทศจีน เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมืองสงขลาบ่อยาง  

 

การประกอบอาชีพ

โดยมีอาชีพหลักของครัวเรือน คือ ทำประมง ออกเรือในทะเลและค้าขาย เช่น อาหารหรือของที่ระลึก การประกอบอาชีพของชาวจีนและขาวไทยเชื้อสายจีน 6 ตระกูล มีทั้งการค้าและการบริการ จากการศึกษาพบว่า พัฒนาการด้านการประกอบอาชีพของแต่ละตระกูล แบ่งได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่หนึ่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 - รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นการดำเนินกิจการค้าและการบริการโดยบรรพบุรุษและลูกหลาน บางท่านมีความสามารถได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุน/หลวง ลักษณะการค้ามีทั้งการค้าปลีก การค้าส่ง และขยายฐานอำนาจทางการค้าโดยการผูกขาดการค้าทั้งภายในชุมชนและภายนอกชุมชน กิจการค้าและการบริการในยุคนั้น ได้แก่ ค้าทางเรือสำเภา และการค้าขายสินค้านำเข้าจากประเทศจีนของ 4 ตระกูลคือ ตระกูลประธานราษฎร์นิกร ตระกูลกปิลกาญจน์ ตระกูลโคนันทน์ และตระกูลปริชญากร การผูกขาดการต้มกลั่นสุราของตระกูลประธานราษฎร์นิกร และตระกูลปริชญากร การผูกขาดการค้าฝิ่น การรับส่งเงินตราแบบโพยก๊วน ของตระกูลประธานราษฎร์นิกร การค้าข้าวสารของตระกูลประธานราษฎร์นิกร และตระกูลเสาวพฤกษ์กิจการโรงสีข้าวของตระกูลประธานราษฎร์นิกร ตระกูลกปิลกาญจน์ และตระกูลเสาวพฤกษ์ การทำสวนยางพาราของตระกูลประธานราษฎร์นิกร ตระกูลเสาวพฤกษ์ และตระกูลศิริโชติ กิจการโรงน้ำแข็ง การผูกขาดการค้าส่งน้ำมันใน 9 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ของตระกูลประธานราษฎร์นิกร กิจการรับเหมาถมดินและหินเพื่อทำถนนให้กับกรมทาง กิจการค้าวัสดุก่อสร้าง เครื่องยนต์ และอะไหล่เรือประมงและเรือหางยาว กิจการขายตะเกียงพร้อมอะไหล่ การขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ของตระกูลศิริโชติ กิจการโรงแรมของตระกูลโคนันทน์ กิจการโรงลิเกของตระกูลปริชญากรและกิจการโรงภาพยนตร์ของตระกูลกปิลกาญจน์ การให้กู้ยืมเงินของตระกูลกปิลกาญจน์ และตระกูลปริชญากร เป็นต้น ทั้งนี้กิจการส่วนใหญ่ในช่วงระยะที่หนึ่งดังกล่าวข้างต้น ได้ดำเนินการต่อเนื่องในระยะที่สองด้วย

ระยะที่สอง ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 - พ.ศ.2503 เป็นการดำเนินกิจการโดยลูกหลานของขุน/หลวง ซึ่งบางท่านสำเร็จการศึกษาจากปีนัง สิงคโปร์ และ กลับมาช่วยกิจการของตระกูล โดยนำเทคนิคการตลาด เครื่องจักรและเทคโนโลยี เข้ามาขยายหรือสร้างเครือข่ายกิจการค้าและการบริการของตระกูลจากธุรกิจภายในครอบครัวให้ขยายออกไปภายนอกชุมชนและต่างประเทศ กิจการที่เกิดขึ้นในระยะที่สอง เช่น การขยายกิจการโรงน้ำแข็งจากจังหวัดสงขลาไปยังอำเภอหาดใหญ่ และ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ด้านกิจการยางพารา สร้างโรงรมยาง ก่อตั้งบริษัทประธานยางเพื่อนำยางรมควันส่งออกต่างประเทศ สร้างเครือข่ายทางการค้าโดยชักชวนนายโล่ จิ้น หยิว นักธุรกิจในกิจการค้ายางมาทำงานร่วมกัน และเริ่มการส่งออกยางก้อนโดยทางเรือไปยังสหรัฐอเมริกาโดยตรง ของตระกูลประธานราษฎร์นิกร กิจการขายเครื่องสังฆภัณฑ์ กิจการการผลิตและจำหน่ายยาแผนโบราณ กิจการขายเครื่องแต่งกายสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี ของตระกูลกปิลกาญน์ กิจการขายเครื่องสังฆภัณฑ์ กิจการขายและเป็นตัวแทนผลิตภัณฑ์ของบริษัทชิงเกอร์ ประเทศไทย ของตระกูลโคนันทน์ กิจการขายทรายสำหรับอุตสาหกรรมทำแก้ว ขายเครื่องจักสาน กิจการทำผมและตัดเสื้อของตระกูลปริชญากร การดำเนินกิจการรถโดยสารประจำทางในจังหวัดสงขลา โดยสั่งรถบัสขนาดเล็กจากปีนังเข้ามารับส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างตำบลบ่อยางกับพื้นที่ใกล้เคียง กิจการขายเครื่องสีข้าวขนาดเล็กพร้อมบริการติดตั้ง การสร้างท่าเทียบเรือ กิจการอู่ช่อมเรือ กิจการแพปลา และกิจการโรงแรมที่ทันสมัยที่สุดในเมืองสงขลาบ่อยางเมื่อปี 2500 อีกทั้งร่วมทุนทำกิจการห้องเย็นกับบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แอนด์ ซีฟู้ด ส่งผลให้กิจการค้าและบริการของตระกูลสามารถพัฒนาจากธุรกิจภายในครอบครัวไปสู่การสร้างเครือข่ายทางการค้า โดยร่วมทุนกับนายทุนในระดับประเทศ ของตระกูลเสาวพฤกษ์ กิจการขายสินค้าพื้นเมืองประเภทข้าวเกรียบปลา ข้าวเกรียบกุ้ง น้ำบูดู ลูกหยี ฯลฯ กิจการการเป็นตัวแทนจำหน่ายเบียร์และโซดาจากบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ของจังหวัดสงขลา การเป็นตัวแทนจำหน่ายบุหรี่จากโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง เป็นรายแรกในเทศบาลเมืองสงขลา กิจการ ตัดเสื้อทำผม ถ่ายรูป และการเป็นตัวแทนบริษัทบูรพาประกันภัย ของตระกูลศิริโชติ

บริเวณถนนนครนอกติดต่อกับศูนย์กลางชุมชนเมืองในปัจจุบัน เป็นบริเวณที่มีประวัติศาสตร์ต่อเนื่องเกือบ 200 ปี และมีงานสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะพิเศษรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนบริเวณกว้างขวาง และยังมีกิจกรรมต่างๆของบริเวณอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ค่อยคึกคักมากนักแต่ก็ยังคงเฉพาะของบริเวณนี้อย่างเด่นชัด ได้แก่ เป็นที่อยู่อาศัย ร้านค้า โรงเจ ศาลเจ้า เป็นต้น รวมถึงถนนนครนอกมีลักษณะเฉพาะตัวของวิถีชีวิตผู้คนและกิจกรรม มีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด อดีตเคยเป็นแนวกำแพงเมืองเก่า มีประตูเมืองออกสู่ทะเล 4 ทางเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ  มีการแลกเปลี่ยนสินค้าทางบกและทางน้ำ ปัจจุบันยังคงกิจกรรมเป็นท่าเรือขนส่งอยู่ แต่ขนาดใหญ่ขึ้น หลังทุบกำแพงเมือง ถนนกว้างขวาง รถบรทุกขนาดใหญ่วิ่งมากขึ้น มีความวุ่นวายมากขึ้น ผู้คนใหม่ๆเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ทำอาชีพประมง มาเช่าบ้านพักอาศัยและทำการค้า ตึกแถวโบราณถูกตัดแปลงเป็นอู่เรือ เก็บเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ร้านซ่อมเครื่องยนต์ เป็นวิถีชีวิตใหม่ที่มาสวมทับและยังคงดำเนินอยู่ตึกโบราณเหล่านั้นขาดการดูแล ปล่อยให้ทรุดโทรมมาก นอกจากบ้านที่มีเจ้าของเดิมที่มีฐานะเท่านั้นที่ยังคงอนุรักษ์เอาไว้ บางหลังก็สร้างใหม่ไม่เหลือแบบเดิม เพื่อรองรับกิจกรรมใหม่ เช่น อพาร์ตเมนท์ ท่าเรือขนส่งสินค้า และโกดัง

ในอดีตถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม เป็นย่านการค้าที่รุ่งเรืองมาก ปัจจุบันมีความซบเซาลงด้วยสาเหตุแรก คือ ปัญหาการจราจร ถนนหนทางคับแคบ ไม่มีที่จอดรถ ปัญหาที่สองคือ ทัศนะคติของคนสงขลาที่นิยมส่งลูกหลานไปเรียนในกรุงเทพฯ เมื่อเรียนจบก็ทำงานในกรุงเทพฯ และอพยพครอบครัวไปอยู่ แล้วบ้านเดิมก็ให้คนอื่นมาเช่า กิจการค้าเดิมก็ไม่มีการสืบทอด ก็หายไป และอุปนิสัยของคนสงขลาที่เป็นคนรักสงบ สันโดษ ไม่ชอบความวุ่นวายกิจกรรมในรูปของความบันเทิงสมัยใหม่จึงอยู่ไม่ได้ เช่น โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง ฯลฯ จึงย้ายไปอยู่ที่หาดใหญ่หมด และการค้าที่อยู่ได้จนถึงปัจจุบัน เช่น สังขภัณฑ์ ของแห้ง อัญมณี ยังอยู่ได้เพราะมีการสืบทอดมาและเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียง

ลักษณะกายภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตเมื่อเทียบกับร่องรอยในอดีตจะเห็นว่า ตำแหน่งที่ตั้งมีความสำคัญ คือ ศาลหลักเมือง ตั้งอยู่กลางเป็นการวางผังแบบจีน ปลายถนนซอยจะมีศาลเจ้าตั้งอยู่ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมความเชื่อของชาวจีน อาคารที่อยู่หัวมุมบนถนนนครนอกแตกต่างจากอาคารมุมถนนบนถนนนครในเดิม ซึ่งอาคารหัวมุมบนถนนนครนอกเป็นอาคารเกิดใหม่หลังรื้อกำแพงเมืองเก่า จะปาดมุมมากขึ้นเน้นการค้าขายซึ่งได้รับอิทธิพลจากตะวันตก แต่อาคารมุมถนนบนถนนนครใน จะมีประตูเข้าออกด้านข้างของที่พักอาศัยมีความเป็นส่วนตัวมาก ไม่เน้นค้าขาย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรมหรือสถานที่สำคัญ

โรงสีเก่าหรือโรงสีแดง หับ โห หิ้น ซึ่งเป็นโรงสีข้าวโบราณอายุกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของถนนนครนอกและเป็นเอกลักษณ์ของเมืองสงขลา และได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี พ.. 2554 ประเภทอาคารพาณิชย์จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

ประตูเมืองสงขลา เป็นประตูที่สร้างขึ้นใหม่ตามรูปแบบโบราณที่ขึ้นสร้างเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิเชียรคีรีเริ่มดำเนินการในปี พ.. 2379 จนสร้างเสร็จในปี พ.. 2389 และประตูเป็นการสร้างรูปแบบจีน

ตึกแถวรูปแบบชิโนโปตุกีส เป็นตึกคลาสสิคสไตล์ชิโนโปตุกีสและยังมีอาคารตึกแถวแบบจีนโบราณของชาวจีนฮกเกี้ยนอยู่ปะปนกันสองฟากฝั่งถนน

ชาวจีนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ โดยทั่วไปจะเป็นจีนเก่า ปัจจุบันส่วนใหญ่จะพูดภาษาจีนไม่ได้ อ่านหนังสือจีนไม่ออก และส่งเสริมให้ลูกหลานเรียนภาษาไทยในชีวิตประจำวัน ไม่ให้เรียนรู้ภาษาจีน เพื่อเข้าถึงความเป็นไทยอย่างแท้จริง


ชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของเมืองสงขลาบ่อยาง โดยมีปัจจัยที่ส่งเสริมบทบาทด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม คือ การนำวัฒนธรรมกงสีมาใช้ในธุรกิจของครอบครัว การผูกดอง การเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ และการสร้างขวัญและกำลังใจ ส่งผลให้ชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนทั้ง 6 ตระกูล เข้ามามีบทบาทสำคัญด้านเศรษฐกิจในเมืองสงขลาบ่อยาง ในด้านบทบาทการผูกขาดทางการค้า บทบาทการเป็นผู้นำทางการค้าและธุรกิจ บทบาทในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนากิจการค้า ตัวอย่างเช่น

1.บทบาทการผูกขาดทางการค้า ตระกูลประธานราษฎร์นิกร สามารถผูกขาดการต้มกลั่นสุราและการค้าฝิ่นจากทางราชการในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา และการผูกขาดการค้าส่งน้ำมันใน 9 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ตระกูลปริชญากร ทำการผูกขาดการต้มกลั่นสุราในสงขลาบ่อยาง ตระกูลศิริโชติ ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องดื่มเบียร์และโซดาในจังหวัดสงขลา สามารถทำยอดจำหน่ายสินค้าเป็นอันดับหนึ่งของภาคใต้ และได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนจำหน่ายบุหรี่จากโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง เป็นรายแรกในจังหวัดสงขลา เป็นต้น

2.บทบาทการเป็นผู้นำทางการค้าและธุรกิจ เช่น ตระกูลประธานราษฎร์นิกร ริเริ่มการส่งข้าวสารจากภาคใต้ไปขายในประเทศมลายูโดยทางรถไฟ เพื่อแข่งข้นกับข้าวที่ส่งมาจากประเทศพม่าเป็นครั้งแรก และริเริ่มส่งออกยางก้อนโดยทางเรือไปยังสหรัฐอมริกาโดยตรง ตระกูลเสาวพฤกษ์ เป็นแกนนำโรงสีข้าวในจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา จัดตั้งเป็นบริษัทข้าวไทยปักษ์ใต้ ดำเนินการตามแนวคิดสหกรณ์ ทำการสีข้าวจำหน่ายให้แก่ราษฎรในราคาถูก ขยายธุรกิจของตระกูลโดยสร้างท่าเทียบเรือ อู่ซ่อมเรือ กิจการแพปลา และกิจการโรงแรมที่ทันสมัยที่สุดในเมืองสงขลาบ่อยางเมื่อ ปี 2500 ตระกูลกปิลกาญจน์ นำเทคนิคการขายเพื่อจูงใจลูกค้า โดยการนำคูปองแลกสินค้ามาใช้ในกิจการค้าของร้าน มีการเลี้ยงอาหารและนำสินค้าพื้นบ้านสงขลามอบให้ลูกค้าที่เดินทางมาซื้อสินค้าจากต่างถิ่นเป็นต้น ตระกูลศิริโชติ เปิดกิจการขายอุปกรณ์ไฟฟ้าและเป็นร้านแรกที่สั่งหลอดไฟนีออนมาจำหน่ายในจังหวัดสงขลา เปิดร้านจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านสงขลาโดยการผลิตข้าวเกรียบกุ้ง ข้าวเกรียบปลา ลูกหยีฉาบ ลูกหยีกวน มังคุดกวน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ฉาบ ฯลฯ จำหน่าย และได้รับรางวัลที่ 1 จากการประกวดทั่วประเทศเมื่อปี พ.ศ.2486

3.บทบาทในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนากิจการค้า ตัวอย่างเช่น ตระกูลประธานราษฎร์นิกร นายนิกร ประธานราษฎร์นิกร นำเครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามาขยายกิจการ โรงน้ำแข็งจากจังหวัดสงขลาไปยัง อำเภอหาดใหญ่ และ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ด้านกิจการยางพารา ได้สร้างโรงรมยาง ก่อตั้งบริษัทประธานยางเพื่อนำยางรมควันส่งออกต่างประเทศ ตระกูลเสาวพฤกษ์ รองอำมาตย์ตรี ขุนราชกิจการี ก่อสร้างโรงสีข้าวชื่อ โรงสีหับโห้หิ้น ในปีพ.ศ.2457 ต่อมาได้ขยายกิจการโรงสีโดยสั่งเครื่องจักรไอน้ำ ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงจากประเทศอังกฤษ นับได้ว่าโรงสีแดงเป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่ที่ทันสมัยในยุคนั้น การดำเนินกิจการรถโดยสารประจำทางในจังหวัดสงขลาโดยสั่งรถบัสขนาดเล็กจากปีนังเข้ามารับส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างตำบลบ่อยางกับพื้นที่ใกล้เคียงเป็นต้น


ชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในเขตเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง บริเวณถนนนครในและถนนนครนอกทั้ง 6 ตระกูล มีบทบาทด้านสังคม ก็คือ เมื่อบรรพบุรุษของแต่ละตระกูลมีฐานะเป็นที่ยอมรับและรู้จักของผู้คนในสังคม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุน/หลวง การมียศถาบรรดาศักดิ์และตระกูลมีฐานะมั่งคั่ง เป็นที่ยอมรับของผู้คนในสังคม เท่ากับเป็นการได้รับการเลื่อนชั้นทางสังคม ทำให้มีโอกาสในการติดต่อสัมพันธ์กับเจ้านายขุนนาง ข้าราชการทุกระดับ ทั้งในส่วนท้องถิ่นและส่วนกลาง ส่งผลให้คนในตระกูลเข้ามามีบทบาททางสังคมมากขึ้น และตามมาซึ่งบทบาทในการสร้างสาธารณประโยชน์แก่สังคมของแต่ละตระกูลในด้านสาธารณสุข ด้านศาสนา เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ตระกูลประธานราษฎร์นิกรบริจาคเงินสร้างตึกอำนวยการโรงพยาบาลสงขลา ตระกูลกปิลกาญจน์ถวายที่ดินให้กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์สร้างตำหนักที่ประทับ เป็นต้น การสร้างประโยชน์และคุณงามความดีส่งผลให้บรรพบุรุษของตระกูลได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้รับพระราชทานโกศบรรจุศพหรือพระราชทานเพลิงศพเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล และการยอมรับจากคนในสังคม ส่งผลให้ลูกหลานบางตระกูล เช่น ตระกูลกปิลกาญจน์ ตระกูลโคนันทน์ ตระกูลศิริโชติ ได้รับการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งจากคนในชุมชนให้เข้ามามีบทบาททางการเมืองระดับท้องถิ่นในตำแหน่งนายกเทศมนตรี สมาชิกสภาจังหวัด เป็นต้น


การมีกิจกรรมร่วมกันของทายาทชาวจีนกับเจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการ ตลอดจนคนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยในเมืองสงขลาบ่อยาง ซึ่งประกอบด้วย ชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม ด้วยการติดต่อทางการค้าขาย การแต่งงาน ตลอดจนกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ส่งผลให้มีการกลืนกลายทางวัฒนธรรมของชาวจีนโดยการรับวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นเข้ามาผสมผสานในวิถีการดำเนินชีวิตของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนในเขตเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง จนกลายเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ให้แก่ตระกูลและเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชาวบ้านในเขตเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง จำแนกได้เป็น 4 ด้าน คือ ด้านที่อยู่อาศัย ด้านประเพณีและความเชื่อด้านอาหาร ด้านการแต่งกาย ดังนี้

1.ด้านที่อยู่อาศัย "วัฒนธรรมห้องแถว" คือ ความเด่นชัดด้านที่อยู่อาศัยที่ชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนนำมาสู่เมืองสงขลาบ่อยาง โดยมีอาคารเรือนแถวค้าขายของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีน ปรากฎให้เห็นบริเวณถนนนครใน ถนนนครนอก จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของบ้านในเขตเมืองเก่าสงขลาบ่อยางในปัจจุบัน สามารถจำแนกได้ 3 รูปแบบ คือ อาคารแบบจีนดั้งเดิม อาคารแบบจีนผสมตะวันตก อาคารแบบร่วมสมัย ตัวอย่างเช่น

1) อาคารแบบจีนดั้งเดิม เป็นอาคารก่อสร้างด้วยอิฐ รับอิทธิพลจากชาวจีนฮกเกี้ยนที่สร้างในยุคแรกของการสร้างเมืองสงขลาบ่อยาง ประมาณช่วงปีพ.ศ.2379-2419 ปัจจุบันอาคารเรือนแถวแบบจีนดั้งเดิมยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ที่ถนนนครใน ได้แก่ บ้านเลขที่ 94 ของตระกูลโคนันทน์ บ้านเลขที่ 95 ของตระกูลกปิลกาญจน์ บ้านเลขที่ 98 ของตระกูลปริชญากร และบ้านเลขที่ 129 ของตระกูลศิริโชติ

2) อาคารแบบจีนผสมตะวันตก เป็นอาคารที่สร้างในยุคต่อมาช่วงปีพ.ศ.2419 – 2462 รูปแบบของอาคารสะท้อนให้เห็นการผสมผสานระหว่างอาคารเรือนแถวของชาวจีนกับแบบตะวันตก อันเนื่องมาจากการติดต่อทางการค้าระหว่างสงขลากับปีนังและสิงคโปร์ ได้แก่ บ้านเลขที่ 123 และ  223 ถนนนครในของตระกูลประธานราษฎร์นิกร บ้านเลขที่ 8 ถนนนครนอก ของตระกูลเสาวพฤกษ์ บ้านเลขที่ 68-70 ถนนนครใน ของตระกูลปริชญากร บ้านเลขที่ 91 และเลขที่ 185 ถนนนครนอก ของตระกูลศิริโชติ

3) อาคารแบบร่วมสมัย เป็นอาคารที่สร้างในช่วงปีพ.ศ.2462 - 2500 ลักษณะเด่นของอาคารในยุคนี้คือการเขียน ปี พ. ศ. ที่สร้างอาคารเอาไว้ด้านหน้า การสร้างอาคารลักษณะนี้สันนิษฐานว่าเกิดมาในช่วงที่การค้าและการขนส่งทางรถไฟได้ขยายตัวมายังเมืองสงขลาแล้ว ทำให้เหล็กและคอนกรีตถูกขนส่งเข้ามายังสงขลาได้ง่ายขึ้น ได้แก่ บ้านเลขที่ 130 ถนนนครใน ของตระกูลปริชญากร

2.ด้านประเพณีและความเชื่อ พบว่า ทุกตระกูลให้ความเคารพนับถือวิญญาณบรรพบุรุษเป็นสำคัญ การปฏิบัติที่แสดงออกและมุ่งสอนให้ลูกหลานมีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ คือ ประเพณีตรุษจีน ประเพณีเช็งเม้ง ในประเพณีดังกล่าวลูกหลานจะนำอาหารไปเช่นไหว้หน้าป้ายชื่อบรรพบุรุษ ณ บ้านที่เก็บรักษาป้ายวิญญาณบรรพบุรุษของตน หรือที่ฮวงซุ้ยฝังศพบรรพบุรุษที่สุสานของตระกูล อาหารในการไหว้ บรรพบุรุษที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนในย่านเมืองเก่าสงขลา คือ แกงจืดกรอกกุ้ง (แกงร้อน) หมูคั่วหมึก หมูห้อง หรือหมูต้มดอกไม้จีน บีลุ้นผัด เป็นต้น 

การไหว้บรรพบุรุษในวันเช็งเม้งมี 2 วัน คือ วันแรกไหว้ศพบรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ยแบบประเพณีจีน วันที่สองไหว้กระดูกบรรพบุรุษที่บัว ณ สวนศพของตระกูล เริ่มด้วยการไหว้แบบประเพณีจีน หลังจากเสร็จพิธีกรรมไหว้ตามประเพณีจีนแล้ว นิมนต์พระสงฆ์สวดบังสุกุลกระดูก ถวายภัตตาหาร และกรวดน้ำอุทิศบุญกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วตามประเพณีบังสุกุลกระดูกหรือบังกุลบัวของไทย

ประเพณีงานศพ พบว่า ในยุคแรกเมือบรรพบุรุษถึงแก่กรรมจะทำพิธีฝังศพที่ฮวงซุ้ยของตระกูลตามประเพณีของชาวจีน โดยจะเลือกทำเลที่ตั้งของฮวงซุ้ยหรือสวนศพที่มีน้ำอยู่ด้านหน้า คือ ทะเลสาบสงขลา ด้านหลังจะเป็นภูเขา ได้แก่ เขารูปช้าง เช่นฮ้วยซุ้ยของตระกูลปริชญากรหลังมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา เป็นต้น ต่อมาเมื่อลูกหลานที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุน หลวง ถึงแก่กรรม มีการปรับเปลี่ยนประเพณีทำศพเป็นแบบไทยผสมจีน กล่าวคือ ทำพิธีเผาศพแทนการฝัง และนำกระดูกตั้งบูชาไว้ที่บ้าน 1 ปี เพื่อให้กระดูกเย็น หลังจากนั้นนำกระดูกบรรจุที่บัวของตระกูลในวันเช็งเม้ง

3.ด้านอาหาร ทุกตระกูลให้ความสำคัญในเรื่องอาหารการกินโดยนิยมปรุงอาหารรับประทานกันในครอบครัว ทั้งอาหารคาว ของว่าง และขนมหวาน ผู้ที่รับผิดชอบทำอาหารคือ แม่บ้าน ญาติๆที่เป็นผู้หญิง ลูกสาว และลูกจ้างผู้หญิง แต่ละตระกูลต่างมีตำรับอาหารคาว ของว่างขนมหวานที่คิดค้น ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และสงวนไว้ถ่ายทอดให้กับลูกหลานของตนเท่านั้น อาหารคาว ของว่าง และขนมหวานของแต่ละตระกูลจึงมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในเรื่องรสชาติ และส่วนผสมที่แตกต่างกันเฉพาะตน นิยมทำรับประทานในครอบครัว หรือเป็นของฝากญาติสนิทมิตรสหายเท่านั้น ไม่ได้ทำจำหน่ายเป็นอาชีพอย่างจริงจัง เอกลักษณ์ด้านอาหารที่บ่งบอกตัวตนของตนเองของคนสงขลาในย่านเมืองเก่าสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน คือ รสชาติของอาหารไม่จัดจ้านเหมือนอาหารปักษ์ใต้ทั่วไป กล่าวคือ ไม่เผ็ดร้อน เปรี้ยวจัด แต่มีรสชาติกลมกล่อม และอาหารหลายอย่างมีรสหวานนำ อาหารที่ใส่กะปิ จะใส่ในปริมาณที่ไม่มากนัก

4.ด้านการแต่งกาย หลักฐานภาพถ่ายโบราณพบว่า การแต่งกายของบรรพบุรุษชาวจีน 6 ตระกูลในยุคแรกทั้งชายและหญิงแต่งกายแบบชาวจีน ต่อมาเมื่อมีการรับวัฒนธรรมการแต่งกายแบบตะวันตกเข้ามาในสังคมไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา และมีการปรับเปลี่ยนการแต่งกายแบบสากลเต็มรูปแบบในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ลูกหลานชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนได้รับอิทธิพลการแต่งกายแบบสากลเข้ามา ความนิยมแต่งกายแบบจีนจึงหมดไปจากสังคมผ่านเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

Museumthailand. (ม.ป.ป.). ย่านเมืองเก่า จังหวัดสงขลา. ค้นจาก http://https://www.museumthailand.com

พาฝัน ดูฮาเมลน์. (2563). การพัฒนาศักยภาพมรดกทางประวัติศาสตร์ของเมืองเก่าสงขลาเพื่อเพิ่มมูลค่าในรูปแบบของการท่องเที่ยวเมืองเก่า. [รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์]. ิวิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง, 9(2), 62.

คณะกรรมการชุมชนย่านเมืองเก่า. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาชุมชน. ค้นจาก http://https://www.songkhlacity.go.th

อรทัย สัตยสัณห์สกุล และคณะ. (2557). ชีวประวัติและบทบาทของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในเขตเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง สมัยช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงก่อนใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2411-2503). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.https://www.sac.or.th/databases/sac_research