Advance search

บ้านโป่งห้อม - แม่คูหา

ชุมชนชนบทประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและอาชีพรับจ้าง มีพื้นที่ติดต่อกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอแม่ออน คือ น้ำพุร้อนสันกำแพง

หมู่ที่ 7
บ้านสหกรณ์
แม่ออน
เชียงใหม่
ปุลวิชช์ ทองแตง
10 พ.ค. 2023
ปุลวิชช์ ทองแตง
17 พ.ค. 2023
ปุลวิชช์ ทองแตง
10 พ.ค. 2023
บ้านสหกรณ์ 7
บ้านโป่งห้อม - แม่คูหา

จากการศึกษาประวัติของหมู่บ้านโป่งห้อม - แม่คูหา จากการสัมภาษณ์ชาวบ้าน คาดว่าก่อตั้งมาประมาณ พ.ศ. 2470 เดิมทีบ้านสหกรณ์ 7 มีคนอพยพย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ครั้งแรกเป็นคนพื้นที่ตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 15 ครัวเรือน หลังจากนั้นมาก็ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านโป่งฮ่อม เพราะว่าก่อนหน้านี้มีแม่น้ำสองห้วยมาบรรจบกัน และตรงสองห้วยมีต้นฮ่อมอยู่เป็นจำนวนมาก ก็เลยเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านโป่งฮ่อม” และเพี้ยนมาจนกลายเป็น “บ้านโป่งห้อม”


ชุมชนชนบท

ชุมชนชนบทประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและอาชีพรับจ้าง มีพื้นที่ติดต่อกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอแม่ออน คือ น้ำพุร้อนสันกำแพง

หมู่ที่ 7
บ้านสหกรณ์
แม่ออน
เชียงใหม่
50130
18.8251416
99.22845662
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสหกรณ์

จากการศึกษาประวัติของหมู่บ้านโป่งห้อม - แม่คูหา จากการสัมภาษณ์ชาวบ้าน คาดว่าก่อตั้งมาประมาณ พ.. 2470 เดิมทีบ้านสหกรณ์ 7 มีคนอพยพย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ครั้งแรกเป็นคนพื้นที่ตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 15 ครัวเรือน หลังจากนั้นมาก็ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านโป่งฮ่อม เพราะว่าก่อนหน้านี้มีแม่น้ำสองห้วยมาบรรจบกัน และตรงสองห้วยมีต้นฮ่อมอยู่เป็นจำนวนมาก ก็เลยเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านว่าบ้านโป่งฮ่อมและเพี้ยนมาจนกลายเป็นบ้านโป่งห้อม

หมู่ที่ 7 บ้านสหกรณ์ เดิมเมื่อก่อน คือ หมู่ที่ 1 ตำบลออนเหนือ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 มีพระราชดำริจัดตั้งโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ฯ ขึ้น 6 หมู่บ้าน ทางราชการได้โอนบ้านโป่งฮ่อม - แม่คูหา - ทุ่งห้วยเดื่อ และบ้านโป่งนก เป็นหมู่บ้านสหกรณ์ฯ และในปี พ.ศ. 2535 บ้านโป่งนกได้แยกออกไปตั้งหมู่บ้านใหม่เป็นบ้านสหกรณ์

ในปี พ.ศ. 2477 ได้มีการสร้างวัดโป่งวนาราม เดิมมีอีกชื่อหนึ่งว่า วัดโป่งน้ำร้อน โดยมีพระภิกษุ ใจ๋ ไม่ทราบฉายา มาจากวัดสันกำแพงหลวง และพ่อหลวง สิงห์ ปวงอาจ บ้านโป่งห้อมเป็นประธาน พร้อมด้วยศรัทธาสาธุชนในบ้านโป่งห้อมมีความเห็นพ้องต้องกันว่าบ้านโป่งห้อม ควรจะมีวัดประจำบ้านจึงได้ช่วยกันสร้างวัดนี้ขึ้นมา ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในนาม วัดโป่งวนาราม มีเสนาสนะ ประกอบด้วย วิหาร กุฏิสงฆ์ ศาลาบาตร หอระฆัง โรงครัว ห้องน้ำ ห้องส้วม ห้องประชุม ปัจจุบันเจ้าอาวาสวัด คือ พระอธิการ จรูญ ขฺติทโร ตั้งแต่ พ.ศ. 2552 ถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2483 ได้มีการสร้างโรงเรียนโป่งน้ำร้อนวิทยา เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 ได้ยุบโรงเรียนโป่งน้ำร้อนวิทยา เนื่องจากมีจำนวนนักเรียนเข้าเรียนน้อยลง

ในอดีตถนนในหมู่บ้าน เดิมเป็นถนนทางเกวียน (สมัยก่อนยังไม่เจริญ ไม่มีรถ ถนนใช้ ชาวบ้านจึงนิยมใช้เกวียนเป็นยานพาหนะในการสัญจรไปมา และในการเดินทางไปไหนมาไหนแต่ละครั้ง จึงมีแต่รอยของล้อเกวียน ชาวบ้านก็เลยพูดกันติดปากกันจนถึงปัจจุบันว่า "ทางเกวียน") ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ได้มีการพัฒนาเป็นถนนลูกรัง และในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการพัฒนาเป็นถนนลาดยางจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยอดีตยังไม่มีไฟฟ้า ในตอนกลางคืนชาวบ้านจะใช้ตะเกียงน้ำมัน หรือใช้เทียนในการให้แสงสว่าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 เริ่มมีไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยอดีตชาวบ้านใช้น้ำบ่อ (น้ำบาดาล) และต่อมาในปี พ.ศ. 2536 เริ่มมีการสร้างแท็งก์น้ำประปาหมู่บ้านขึ้น ทำให้ในหมู่บ้านมีน้ำประปาใช้จนถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2550 พ่อศรีมูล ธรรมศรี (ปวงอาจ) ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ณ ช่วงเวลานั้น ได้พัฒนาสนามกีฬาภายในหมู่บ้าน เพื่อให้เยาวชน และประชาชนมีสถานที่ไว้ใช้ในการออกกำลังกาย และแข่งกีฬาประจำหมู่บ้าน

ในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการสร้างศูนย์ยุทธศาสตร์ บ้านสหกรณ์ 7 เพื่อใช้ในการจัดประชุมหมู่บ้าน จัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ประชาชนภายในหมู่บ้าน เช่น การดูแลสุขภาพของตนเอง การรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ เป็นต้น การมาพบแพทย์ เจ้าหน้าที่ รพ.สต. อสม. เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี/ตามนัด รับยา และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ภายในหมู่บ้านจัดขึ้น  

ในสมัยอดีตอาชีพหลักของชาวบ้านส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม เช่น ปลูกข้าวโพดอ่อน ข้าว และเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ วัว ควาย ปัจจุบันประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม เช่น ปลูกข้าวโพดอ่อน ข้าว และเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ วัว โคนม เป็นต้น และอาชีพรองลงมา ได้แก่ ค้าขาย รับจ้าง เช่น น้ำพุร้อนสันกำแพง, น้ำพุร้อนรุ่งอรุณ และสวนกล้วยไม้ เป็นต้น

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ในชุมชนบ้านโป่งห้องแม่คูหาหมู่ที่ 7 ตำบลบ้านสหกรณ์ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

ด้านลักษณะทางกายภาพ พบว่าเป็นพื้นที่ราบ มีภูเขาล้อมรอบ

  • ทิศเหนือ ติดกับ อำภอดอยสะเก็ด
  • ทิศตะวันออก ติดกับ หมู่บ้านสหกรณ์ 4
  • ทิศตะวันตก ติดกับ หมู่บ้านสหกรณ์ 8
  • ทิศใต้ ติดกับ หมู่บ้านสหกรณ์ 2

ประชาชนมีการสร้างบ้านแบบปูนชั้นเดียวอยู่คนในชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นคนพื้นที่มีการสร้างบ้านให้เช่าและมีรีสอร์ทอยู่จำนวน 3 แห่ง เส้นทางในการคมนาคมในหมู่บ้านเป็นทางลาดยางและคอนกรีต ในหมู่บ้านโป่งฮ้อม - แม่คูหาส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธจึงมีวัดโป่งวนารามเป็นศูนย์รวมจิตใจเมื่อมีงาน กิจกรรมต่าง ๆ ประชาชนก็จะช่วยงานจนเสร็จสิ้น

ด้านเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม เป็นชุมชนชนบทมีวิถีการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายความเป็นอยู่ของคนในชุมชนรวมทั้งคนในพื้นที่และคนต่างถิ่นที่เข้ามาทำงานหรือมาอาศัย อยู่อยู่กันแบบญาติพี่น้องบ้านสวนใหญ่จะสามารถทะลุเข้าหากันได้ไม่ค่อยมีกำแพงกั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการอยู่ร่วมกันด้วยความไว้วางใจผู้นำชุมชนและคณะกรรมการได้จากความสมัครใจสถานที่ที่ประชาชน พบปะจะอยู่ตามร้านค้า ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และร้านขายอาหารในส่วนของแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจทางศาสนา

การสื่อสาร พบว่ามีการสื่อสารทางโทรศัพท์มีคลื่นสัญญาณมือถือทุกเครือข่ายมีจุดกระจายสัญญาณ อินเทอร์เน็ตที่ศูนย์ยุทธศาสตร์มีระบบเสียงตามสายประชาสัมพันธ์ในช่วงเช้าและเย็น

การคมนาคมการขนส่ง พบว่าใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน มีรถตู้รับส่งนักเรียนเป็นประจำในทุกเช้า และเย็น ถ้าต้องการนั่งรถเข้าไปในตัวเมืองสามารถไปขึ้นรถได้ที่หน้าเซเว่นแม่ออนจะมีคิวรถให้ขึ้นตามเวลารถ จะไปส่งที่ขนส่งช้างเผือก

อนามัยสิ่งแวดล้อมของชุมชน พบว่าน้ำที่ใช้ในการอุปโภค ชุมชนมีน้ำประปาการกำจัดขยะโดย อบต. มีรถจัดเก็บขยะทุกวันอาทิตย์จะเก็บเฉพาะขยะที่ใส่ถุง ขยะที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกและเศษอาหาร สัตว์ เลี้ยงตามบ้านเรือน เช่น สุนัข แมว สัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจ เช่น วัว ไก่ หมู มีวิธีการกำจัดมูลสัตว์โดยการนำไปทำ เป็นปุ๋ย

สุขาภิบาลและอาหาร พบว่าที่ร้านขายของชำมีการจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จอาหารปรุงสุกในช่วงเช้าจะขาย ในเวลาประมาณ 05:00 น ถึง 08:00 น ทุกวันและมีร้านขายอาหารส้มตำจะเปิดในช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 09:00 น ถึง 16:00 น และมีร้านขายหม่าล่าซึ่งจะเปิดในช่วงเย็นตั้งแต่เวลา 17:00 น.

ด้านสุขภาพ จากข้อมูลการสัมภาษณ์พบว่าประชาชนในชุมชนได้รับการคัดกรองและตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีทั้งจาก รพ.สต. และรับการตรวจสุขภาพจากโรงโม่หิน (ตั้งในหมู่ 7) ไม่พบการระบาดของโรคต่าง ๆ

พฤติกรรมสุขภาพ การดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วย จะไปรับการรักษาที่ รพ.สต. ซื้อยาที่ร้านมาทานเองร้านค้าที่ขายยาจะมีใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมายหาก เจ็บป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมักจะไปรับการรักษาที่คลินิกในตัวอำเภอสันกำแพงหรือใช้สิทธิ์ประกันสังคมตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลแมคคอร์มิค โรงพยาบาลลานนา

จากการศึกษาผังเครือญาติของหมู่บ้านสหกรณ์ หมู่ 7 ต.สหกรณ์ อ.แม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในหมู่บ้านสหกรณ์ 7 หรือ บ้านโป่งฮ้อมมีตระกูลเก่าแก่หลากหลายตระกูลหลายนามสกุล และหนึ่งในนามสกุลที่มีประชากรใช้มากที่สุด คือ นามสกุลทองอินฟ้า ซึ่งจากการสอบถามประวัติความเป็นมาของตระกูล ทองอินฟ้า เกิดขึ้นจากการที่มีการย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักปักฐานที่หมู่บ้านโป่งฮ้อม ซึ่งเป็นต้นตระกูลที่ใหญ่ และ มีลูกหลานจำนวนมาก จึงมีความเกี่ยวเนื่องกันทางสายเลือดจนกระทั่งกลายเป็นเครือญาติขนาดใหญ่ ซึ่งจากการศึกษา พบว่า มี 6 เครือญาติที่แสดงความเกี่ยวข้องของความสัมพันธ์เครือญาติ ทางสายเลือด โดยมีนายรัตน์และนางสา เป็นผู้ให้กำเนิด และเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ จนกระทั่งมีการแต่งงานและมีการขยายครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้นามสกุลอื่น ๆ ตามการแต่งงานของแต่ละบุคคล ซึ่งทำให้ มีการขยายเครือญาติของนามสกุลทองอินฟ้าได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเครือญาติแต่ละบุคคลจะทราบกันเป็นอย่างดีว่า ใครนั้นได้แต่งงานกับใคร ถิ่นที่อยู่ปัจจุบันอยู่ที่ไหน โดยในการถามรุ่นลุกหลาน ยังคงทราบที่มาของต้นตระกูลต้นเอง และทำให้ทราบถึงความสัมพันธ์ทางเครือญาติได้เป็นอย่างดี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ด้านเศรษฐกิจ

ด้านเศรษฐกิจของประชาชนบ้านสหกรณ์หมู่ที่ 7 จากการสอบถามชาวบ้านโดยส่วนใหญ่ชาวบ้านที่นี่จะทำงานที่นำ้ผุร้อนส่วนรุ่นมักจะออกไปทำงานต่างอำเภอต่างจังหวัดและประชากรณ์ส่วนใหญ่มีอาชีพทำเกษตรกรรมปลูกผักตามฤดูโดยนิยมปลูกพืชเศรษฐกิจในแต่ละฤดูกาลดังนี้

  • มกราคม-เมษายน ชาวบ้านมักจะปลูกข้าวโพด และแตงกวาไว้ขายไว้กินแล้วก็ยังมีอาชีพเสริมคือรับจ้างโดยทั่วไป เช่น การรับจ้างก่อสร้างรายวัน
  • พฤษภา-สิงหาคม โดยในช่วงนี้ชาวบ้านมักจะปลูกข้าวไว้กินแล้วนำข้าวไปขายให้กับนายทุนและก็ยังมีอาชีพเสริมคือรับจ้างโดยทั่วไป เช่น การรับจ้างก่อสร้างรายวัน
  • กันยายน-ตุลาคม ปลูกกะหล่ำปลีมักจะปลูกไว้ขาย นำไปขายให้กับนายทุนบางรายก็นำไปขายเองที่ตลาดบ้านสหกรณ์
  • พฤศจิกายน-ธันวาคม ชาวบ้านหันมาปลูกหอมและนำหอมที่ได้นำไปขายให้กับนายทุนเป็นส่วนใหญ่

ด้านวัฒนธรรมประเพณี

1. ทำบุญวันพระ ในหนึ่งเดือนจะมีการทำบุญทางศาสนา (วันพระ) 4 วัน ผู้เฒ่าผู้แก่จะเดินทางไปทำบุญตักบาตรที่วัดในตอนเช้าโดยนำธูปเทียนข้าวตอกดอกไม้อาหารคาวหวานถวายพระนำดอกไม้ใส่ขันแก้วตั้ง 3 ฟังเทศน์เพื่อเป็นการทำบุญไปภายภาคหน้า แต่ถ้าเป็นวันพระในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะไปทำบุญในตอนบ่ายอีกครั้งหนึ่งโดยไปฟังเทศน์ที่วัดเพื่ออบรมจิตใจให้สงบเป็นการศึกษาธรรมะ โดยประชากรในหมู่บ้านสหกรณ์หมู่ 7 ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธในหมู่บ้านมีวัดจำนวน 1 แห่ง คือ วัดโป่งวนารามซึ่งวัดจะเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน วัดมีความสำคัญต่อวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนถือว่าเป็นสถานที่รวมจิตใจของคนในหมู่บ้านและคนในชุมชนจะให้ความสำคัญกับวัดวาอารามเป็นอย่างมาก เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมงานประเพณีใช้เป็นสถานที่พบปะ เวทีประชาคมการประชุมแก้ไขปัญหาของชุมชนวัดถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านและมีความสำคัญและมีบทบาทต่อวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านเป็นอย่างมากโดยชาวบ้านได้มีการเข้าร่วมปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาร่วมกันเป็นประจำสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน                                     

2. วันขึ้นปีใหม่ ประชาชนในหมู่บ้านผู้เฒ่าผู้แก่เด็กเยาวชนจะเดินทางไปทำบุญตักบาตรที่วัดในตอนเช้าโดยนำธูปเทียนข้าวตอกดอกไม้อาหารคาวหวานถวายพระนำดอกไม้ใส่ขันแก้วตั้งฟังเทศน์เพื่อเป็นการทำบุญไปภายภาคหน้าเพื่ออบรมจิตใจทำให้จิตใจสงบทำ แต่สิ่งดีงามและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวต้อนรับการเริ่มต้นปีใหม่

3. วันสงกรานต์ “ประเพณีปีใหม่เมือง” ของชาวไทยล้านนาวันที่ 13 เมษายน ของทุกปีถือกันว่า “เป็นวันสังขาลล่อง” มีการจุดบั้งไฟประทัดเพื่อส่งสังขาลในตอนกลางคืนและเวลาใกล้รุ่งเช้าของวันที่ 13 เมษายนวันที่ 14 เมษายนถือว่าเป็น “วันเนา” เป็นวันที่ห้ามพูดจาหยาบคายห้ามทะเลาะกันเป็นวันรวมญาติวันครอบครัว วันนี้จะมีการจัดเตรียมทำขนมอาหารดอกไม้ธูปเทียนตุงเพื่อเตรียมไปทำบุญที่วัดในตอนเช้าของวันที่ 15 เมษายนและตอนเย็นวันที่ 14 เมษายนจะมีการช่วยกันขนทรายเข้าวัดเพราะมีความเชื่อว่าในหนึ่งปีที่คนเราเดินไปทำบุญที่วัดได้นำทรายติดออกมาจากวัดและในวันนี้ก็ควรนำทรายเข้าไปไว้ในวัดจะช่วยกันก่อเป็นเจดีย์ทรายเพื่อเช้าของวันที่ 15 เมษายน จะได้นำตุงมาปักเพื่อทำพิธีทางศาสนาและจะมีการแห่ไม้ค้ำโดยจัดเตรียมหาต้นไม้ที่มีกิ่งไม้ง่ามขนาดพอเหมาะนำมาแกะเอาเปลือกออกแล้วใช้ขมิ้นทาให้มีสีเหลืองนำสวยดอกไม้มัดผูกติดไว้ที่กิ่งไม้ตอนบนเพื่อนำไปค้ำต้นโพธิ์ที่อยู่ที่วัดโดยมีความเชื่อทางศาสนาว่าเพื่อจะให้อายุยืนยาวเหมือนต้นโพธิ์และในวันที่ 15 เมษายนนี้“ เป็นวันพญาวัน” เป็นวันที่ดีที่สุดของทุกวันในหนึ่งปีและเป็นวันที่เด็กผู้ที่มีอายุน้อยจะนำสิ่งของเช่นข้าวเกรียบผงซักผ้ายาสระผมข้าวแคบข้าวแตนผลไม้เครื่องนุ่งห่มของใช้สวยดอกไม้นำไปขอขมาต่อผู้สูงอายุเพื่อขอพรเป็นสิริมงคลับตนเองและถือเป็นโอกาสสำคัญที่ลูกหลานได้มาพบมาเยี่ยมสอบถามความเป็นอยู่ของผู้เฒ่าผู้แก่เรียกว่าประเพณีคำหัว

4. งานปอยหลวง เป็นงานทำบุญฉลองของทางศาสนาเช่นมีการสร้างโบสถ์ศาลาวิหารเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะมีการฉลอง (ปอยหลวง) ประชาชนในหมู่บ้านและทุกหัววัดในเขตอำเภอจะจัดแห่ครัวทานคือต้นเงินประดับด้วยดอกไม้ขนมสมุดดินสอผ้า ฯลฯ

5. พิธีสืบชะตาบ้าน หรือสะเดาะเคราะห์ชาวบ้านจะไปช่วยกันจัดเตรียมเครื่องครัวเพื่อประกอบพิธีสืบชะตาหลวงที่วัดโดยจัดเตรียมสิ่งของประกอบด้วยดอกไม้ธูปเทียนอาหารคาวหวาน ฯลฯ เพื่อเป็นสิริมงคลภายในหมู่บ้านเป็นขวัญและกำลังใจของคนในหมู่บ้าน

6. ประเพณีลอยกระทง (ยี่เป็ง) เป็นประเพณีที่กระทำสืบกันมาเป็นเวลาช้านานแล้วจะถือวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี เป็นวันลอยกระทงเพื่อเป็นการขอขมาต่อแม่น้ำคงคาเป็นการชำระล้างเคราะห์ตามความเชื่อมาแต่โบราณ แต่ละบ้านจัดตกแต่งประดับประดาประตูบ้านของแต่ละบ้านให้สวยงามมีการประดับดอกไม้ต้นไม้จุดเทียนให้สว่างสวยงามและกลางคืนจะมีการแห่ขบวนกระทงซึ่งชาวบ้านได้ช่วยกันตกแต่งประดับประดาทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมและสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามให้คงอยู่ตลอดไป

1. นายบรรเจิด ต๊ะหล้า

นายบรรเจิด ต๊ะหล้า หรือพ่อหมอเป่า เป็นกันเองและเป็นผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตอบคำถามเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังให้ความรู้เกี่ยวกับความเชื่อของชุมชน ขณะที่ไปเยี่ยมพ่อหมอเป่ามักจะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการปัดเป่า การใช้ชีวิต ซึ่งพ่อหมอเป่ามีหน้าที่เป็นพ่อหมอปัดเป่าบรรเทาความเจ็บปวด และอาการป่วยต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งที่พึ่งทางจิตใจให้กับชุมชน ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือและศรัทธาในเรื่องการรักษาปัดเป่า โดยคาถารักษาอาการเจ็บป่วยให้กับชาวบ้าน ยกตัวอย่างเช่น การปัดเป่ารักษาอาการปวดจากงูสวัด การปัดเป่ารักษารอยแผลเรื้อรัง และการรักษาอาการปวดกระดูกเรื้อรัง เป็นต้น โดยหากเป็นการรักษาให้กับผู้หญิงพ่อหมอจะไม่แตะต้องตัวของหญิงสาว หรือผู้หญิงที่มารักษา พ่อหมอเป่าจะใช้ก้านมะละกอเป่าเข้าไปในใต้ร่มผ้าแทนการเป่าโดยตรง เพื่อเลี่ยงการแตะต้องตัวผู้หญิง

นายบรรเจิด ต๊ะหล้า เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2514 เดิมทีพ่อหมอเป่าเป็นคนบ้านออนกลาง ตําบลออนกลาง อําเภอแม่ออน ทั้งพ่อและแม่ของพ่อหมอเป็นคนบ้านออนกลาง โดยเมื่อพ่อหมอเป่าอายุ 5 ขวบก็ได้ย้ายมาอยู่บ้านออนหลวย พ่อหมอเป่าเป็นลูกคนกลาง โดยมีพี่สาว 1 คน และน้องสาว 1 คน พ่อหมอเป่าเริ่มเรียนรู้วิชาปัดเป่าตั้งแต่อายุ 10 ขวบ สาเหตุที่เลือกเรียนเพราะชอบและอยากช่วยเหลือผู้คนเป็นการทำบุญไปด้วย ซึ่งพ่อหมอเรียนวิชาปัดเป่ามาจากพ่อและปู่ของพ่อหมอเป่าซึ่งเคยเป็นหมอชาวบ้าน รักษาคนในชุมชนบ้านออนหลวย ซึ่งมีข้อแม้ในการสืบทอดวิชาคือต้องรักษาศีลพ่อหมอเป่าเรียนรู้คาถาควบคู่กับการเรียนในห้องเรียน ซึ่งพอเรียนจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จึงตัดสินใจบวชเรียนควบคู่กับการฝึกใช้คาถา จนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

จากนั้นจึงลาสิกขาออกมาเพื่อทํางานซึ่งหลังจากลาสิกขาออกมาพ่อหมอเป่าทำงานรับจ้างทั่วไป ควบคู่กับให้การรักษาด้วยการปัดเป่าบรรเทาความเจ็บปวดบ้างเป็นบางครั้งเมื่อมีชาวบ้านขอให้ช่วย ต่อมาอีก 10 ปี พ่อหมอเป่าได้ย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านแม่คูหา หมู่ 7 ต.สหกรณ์ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ หลังจากย้ายมาก็ยังทำงานรับจ้างทั่วไป และให้การรักษาอาการปัดเป่าบรรเทาความเจ็บปวดอย่างต่อเนื่องโดยยังมีคนมารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และมีความเชื่อด้านไสยศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยสนใจในการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันเท่าไหร่นัก ในขณะที่พ่อหมอเป่าคอยใช้คาถาปัดเป่ารักษาลูกสาวคนโตของพ่อหมอเป่าเสียชีวิตใน 5 ปีต่อมาด้วยอาการของกล้ามเนื้อลีบ พ่อหมอเป่าจึงคิดว่าอาจจะเป็นกรรมของตนที่ไม่รักษาศีล 5 ควบคู่กับการรักษาด้วยการปัดเป่า ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเมื่อสืบทอดคาถาปัดเป่าบรรเทาความเจ็บปวด จึงเริ่มกลับมารักษาศีล 5 เพื่อรักษาคาถาการปัดเป่าและชดใช้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่ไม่เคยรักษาศีล 5 ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และให้การรักษาปัดเป่าบรรเทาการเจ็บปวดต่อมาจนปัจจุบัน แต่การรักษานั้นพ่อหมอเป่าไม่ได้ต้องการค่าครู หรือเงินค่ารักษา ขอเพียงแค่มีกรวยดอกไม้ มาไหว้ครูเท่านั้น แต่หากรักษาหายจริงหลังจากนั้นจะนำเงินหรือสิ่งของมาไหว้ขอบคุณพ่อหมอเป่าก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามพ่อหมอเป่าไม่ได้ให้การรักษาเพียงแค่การปัดเป่าบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่างๆ แต่ยังให้คำแนะนำในการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่ไปด้วยกับการปัดเป่า ซึ่งมักจะบอกคนที่มารักษากับพ่อหมอเป่านั้นว่า การรักษาปัดเป่าในปัจจุบันนี้เป็นเพียงที่พึ่งทางจิตใจเพียงเท่านั้น ถ้าจะให้หายดีควรรับการรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่ไปด้วย ถึงแม้ว่าในปัจจุบันชาวบ้านจะให้ความสนใจในการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันมากกว่าการใช้ไสยศาสตร์ในการรักษา แต่ก็ยังคงมีคนมาขอให้พ่อหมอเป่ารักษาอาการเจ็บป่วยเป็นครั้งคราว เนื่องจากในบางคราวที่ไปรักษาแผนปัจจุบันแล้วยังไม่หายจึงมาขอให้พ่อหมอเป่ารักษาให้เรื่อยมา

ตำแหน่งที่ตั้งของชุมชนอยู่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด คือ น้ำพุร้อนสันกำแพง ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านไปรับจ้างทำงานในที่ดังกล่าว 

ภาษาไทยกลางและภาษาเหนือ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเชียงใหม่. (ม.ป.ป.). ข้อมูลการสำรวจชุมชน. เชียงใหม่: สาขาวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.