Advance search

ชุมชนชนบทที่ประชาชนส่วนใหญ่ผันตัวจากอาชีพเกษตรกรรมหันมาประกอบอาชีพรับจ้าง มีการทำโคนม เลี้ยงสัตว์

หมู่ที่ 5 ถนนเชียงใหม่-สันกำแพง
ออนเหนือ
แม่ออน
เชียงใหม่
ปุลวิชช์ ทองแตง
10 พ.ค. 2023
ปุลวิชช์ ทองแตง
17 พ.ค. 2023
ปุลวิชช์ ทองแตง
10 พ.ค. 2023
บ้านหัวฝาย

เมื่อประมาณ 100 กว่าปีมาแล้ว ในอดีตบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีแม่น้ำไหลผ่าน ชาวบ้านได้อาศัยน้ำแห่งนี้ในการทำเกษตร ในช่วงฤดูแล้งปริมาณน้ำในแม่น้ำแห่งนี้ลดลงไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างฝายขึ้นมา เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งฝายแห่งนี้มีขนาดใหญ่และเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน ผู้คนพบเห็นจึงมักเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านหัวฝาย” จนติดปาก


ชุมชนชนบท

ชุมชนชนบทที่ประชาชนส่วนใหญ่ผันตัวจากอาชีพเกษตรกรรมหันมาประกอบอาชีพรับจ้าง มีการทำโคนม เลี้ยงสัตว์

หมู่ที่ 5 ถนนเชียงใหม่-สันกำแพง
ออนเหนือ
แม่ออน
เชียงใหม่
50130
18.79690345
99.25761893
องค์การบริหารส่วนตำบลออนเหนือ

บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 5 ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ จากการเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านสืบต่อกันมา คาดว่าก่อตั้งมานานกว่า 300 ปี

ชาวบ้านให้ประวัติว่าบุคคลเดิมที่ตั้งบ้านหัวฝาย คือ ชาวไตลื้อ ย้ายถิ่นฐานมาจาก สิบสองปันนา (มณฑลยูนานจากประเทศจีน) เข้ามาตั้งรกรากและขยายลูกหลานมากขึ้นจนกลายเป็นหมู่บ้าน บ้างก็ว่ามีคนพื้นเมืองอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ต่อมามีชาวไตลื้อย้ายถิ่นฐานมาจากสิบสองปันนามาอาศัยอยู่ และมีจำนวนมากขึ้น จึงทำให้คนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ก่อนย้ายไปที่อื่น ปัจจุบันจึงมีทั้งบุคคลที่เป็นชาวไทลื้อและมีบุคคลพื้นเมืองอยู่ปะปนกันไป

หมู่บ้านหัวฝายเดิมชื่อบ้านป่าคา ที่ตั้งเป็นป่าละเมาะ มีหญ้าคาขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ต่อมาชาวบ้านมีการเก็บเกี่ยวหญ้าคาเพื่อนำมาทำเป็นหลังคามุงบ้านและได้จับจองเป็นที่ทำมาหากิน สร้างกระท่อมและบ้าน ที่อยู่อาศัยครั้งแรกมีจำนวนไม่มากนัก ต่อมามีการขยายเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นหมู่บ้าน และเรียกกันว่า “บ้านป่าคา” หลังจากมีการเพิ่มจำนวนชาวบ้านมากขึ้น ชาวบ้านส่วนหนึ่งของบ้านป่าคา ได้มีการขยายหมู่บ้านไปอีกหมู่บ้านหนึ่งทางทิศตะวันออกของบ้านป่าคา ในปี พ.ศ 2552 เรียกว่า บ้านแม่ป่าขาง หมู่ 10 ในปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงชื่อจากบ้านป่าคาเป็น บ้านหัวฝาย เกิดขึ้นประมาณ 100 กว่าปีมาแล้ว เนื่องจากในอดีต บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีแม่น้ำไหลผ่านซึ่งเรียกกันว่า น้ำแม่ออน ชาวบ้านได้อาศัยน้ำแห่งนี้ในการทำเกษตร ในช่วงฤดูแล้งปริมาณน้ำในแม่น้ำแห่งนี้ลดลง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างฝายขึ้นมา เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งฝายแห่งนี้มีขนาดใหญ่และเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน ผู้คนพบเห็นมักเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านหัวฝาย” จนติดปาก มีการพูดถึงบ้านป่าคาน้อยลง คนรู้จักเป็นบ้านหัวฝายเพิ่มขึ้น ชื่อบ้านป่าคา จึงเปลี่ยนเป็น บ้านหัวฝาย นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2327 ครูบาเทพ วิชัย เป็นเจ้าอาวาส ได้มีการสร้างพระธาตุ เริ่มมีวิหารและกลายเป็นวัดป่าคาในขณะนั้น ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดหัวฝาย และได้มีการบูรณะพระธาตุในปี พ.ศ. 2506 พระธาตุมีอายุ 200 กว่าปี และเป็นพระธาตุที่เก่าแก่ที่สุดในตำบลออนเหนือ ในปัจจุบันวัดหัวฝายถือเป็นที่นับถือสักการะและเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านหัวฝาย

ในปี พ.ศ. 2515-2516 ได้มีการสร้างโรงเรียนบ้านหัวฝาย โดยสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยชาวบ้านช่วยกันสร้างและนำไม้จากที่บ้านมารวมกันเพื่อสร้างเป็นอาคารเรียน ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ได้มีการยุบโรงเรียน เนื่องจากมีนักเรียนเข้าเรียนน้อยลง เพราะลูกหลานย้ายไปเรียนที่โรงเรียนอื่น เช่น โรงเรียนออนหลวย โรงเรียนบ้านสหกรณ์ 2 โรงเรียนสันกำแพง เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2518 ได้มีการสร้างแท้งค์น้ำประปาหมู่บ้าน 2 แท้งค์ในวัด เป็นน้ำประปาหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ โดยน้ำเป็นน้ำบ่อต่อแท้งค์น้ำลงมาอ่างเก็บน้ำ แล้วให้ชาวบ้านมาตักเอาไปใช้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ได้มีการสร้างแท้งค์น้ำเพิ่มขึ้นอีก 2 แท้งค์บริเวณโรงเรียนบ้านหัวฝายเก่า และในปี พ.ศ. 2520 เริ่มมีไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน ในขณะนั้นเป็นไฟปั่นเปิดปิดเป็นเวลา โดยเปิดให้ใช้ไฟฟ้าเวลาหกโมงเย็น ปิดไฟฟ้าเวลาสองทุ่ม กระทั่งในปี พ.ศ. 2536 มีไฟฟ้าใช้จนถึงปัจจุบัน

บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 5 อยู่ในพื้นที่เขตตำบลออนเหนือ อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอแม่ออน เป็นชุมชนชนบทซึ่งมีจำนวนหมู่บ้านทั้งสิ้น 10 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านแม่รวม, หมู่ 2 บ้านหนองหอย, หมู่ 3 บ้านขุนออน, หมู่ 4 บ้านแม่วอง, หมู่ 5 บ้านหัวฝาย, หมู่ 6 บ้านออนหลวย, หมู่ 7 บ้านออนหลวย, หมู่ 8 บ้านดอนทราย, หมู่ 9 บ้านขุนทา และหมู่ 10 บ้านแม่ป่าขาง ภายในบริเวณหมู่บ้านหัวฝาย มีวัด 1 แห่ง คือ วัดหัวฝาย

ด้านลักษณะทางกายภาพ พบว่าเป็นที่ราบและที่ราบสูง มีแม่น้ำแม่ออนล้อมรอบ

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านหนองหอย หมู่ที่ 2 ตำบลออนเหนือ
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านออนหลวย หมู่ที่ 6 ตำบลออนเหนือ
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านแม่ป่าขาง หมู่ที่ 10 ตำบลออนเหนือ
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านสหกรณ์ หมู่ที่ 2 ตำบลสหกรณ์

การสื่อสาร พบว่ามีการสื่อสารทางโทรศัพท์ มีคลื่นสัญญาณมือถือทุกเครือข่าย สัญญาณอินเตอร์เน็ต มีระบบเสียงตามสายประชาสัมพันธ์ในช่วงเช้าและเย็น

การคมนาคมการขนส่ง พบว่าใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน ไม่มีรถรับส่งในชุมชน ถ้าต่อ การนั่งรถเข้าไปในตัวเมืองสามารถไปขึ้นรถได้ที่หน้าเซเว่นแม่ออน จะมีคิวรถให้ขึ้นตามเวลา รถจะไปส่งที่ขนส่ง ช้างเผือก

จากการศึกษาผังเครือญาติของหมู่บ้านหัวฝาย หมู่ 5 ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในหมู่บ้านหัวฝายมีตระกูลเก่าแก่หลายนามสกุล และมีนามสกุลที่มีจำนวนผู้ใช้มากที่สุด คือ นามสกุล สุภามูล ซึ่งจากการสอบถามประวัติความเป็นมา เกิดจากในอดีตมีกำนันหมื่น ได้เป็นผู้ก่อตั้งนามสกุล สุภามูล ซึ่งเป็นกำนันหมู่บ้านออนหลวย และมีผู้ขอใช้นามสกุลร่วมจำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้ใช้นามสกุลสุภามูลเป็นจำนวนมาก บางเครือญาติมีความเกี่ยวข้องเป็นญาติกัน แต่บางเครือญาติไม่มีความ เกี่ยวข้องกัน

ทางนักศึกษาจึงได้ศึกษานามสกุล สุภามูล ซึ่งเป็นนามสกุลเก่าแก่ของหมู่บ้าน ซึ่งจากการทำการศึกษานามสกุล สุภามูล มีอยู่หลากหลายเครือญาติ จึงได้ทำการศึกษาออกมา 9 เครือญาติที่แสดงความเกี่ยวข้องของความสัมพันธ์เครือญาติของบุคคลในชุมชนให้ได้ทำการศึกษา โดยจากการศึกษา พบว่า แต่ละเครือญาติที่ใช้นามสกุล สุภามูล เป็นเครือญาติที่มีขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีการไปใช้นามสกุลอื่นบ้างตามการแต่งงานของบุคคลทำให้เครือญาติมีการขยายใหญ่มากยิ่งขึ้น โดยผู้เฒ่าผู้แก่มักจะเป็นผู้ที่รู้จักว่าใครเป็นเครือญาติของใคร ใครเป็นพี่น้องเดียวกันบ้าง แต่ลูกหลานรุ่นหลังมักจะไม่ทราบว่าใครคือญาติพี่น้องกัน เนื่องจากดูแค่นามสกุลแต่ไม่ทราบความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ การทำผังเครือญาติทำให้ทราบจำนวนสมาชิกในแต่ละครอบครัวที่อยู่ในเครือญาติสุภามูลนั้น ๆ ทราบถึงความสัมพันธ์ในทางครอบครัว โรคประจำตัว อาชีพ บทบาทหน้าที่ ซึ่งสมาชิกในเครือญาติแต่ละครอบครัวมักจะมีตำแหน่งบทบาทหน้าที่ทางสังคมเกือบทุกเครือญาติ ทำให้มีความสัมพันธ์ทางสังคมเกี่ยวข้องกันภายในชุมชน เช่น คณะกรรมการหมู่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล อาสาสมัครสาธารณสุข และประธานคุ้ม เป็นต้น ทำให้มีการทำบทบาททางสังคมร่วมกันและมีช่วยเหลือกันนับถือกันแบบพี่น้องรักใคร่ปรองดองกัน

ไทลื้อ

จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรชุมชน พบว่าโครงสร้างองค์กรชุมชนบ้านหัวฝาย หมู่ที่ 5 ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ บทบาทหน้าที่ของแต่ละองค์กรในชุมชนเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเอง และมาจากการเลือกตั้งของคนในชุมชน ทั้งในระบบราชการ โดยส่วนใหญ่คาดหวังในเศรษฐกิจเพื่อชุมชน

โครงสร้างองค์กรบ้านหัวฝาย

องค์กรที่เป็นทางการ

  • กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน
  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.)
  • กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์
  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน

องค์กรที่ไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มแม่บ้าน
  • กลุ่มรำวงประยุกต์ เกิดจากสมาชิกในกลุ่ม ได้แก่ นาย ชัชธรรม แสนอิน, นางเดือนณภา กันเรืองแสง สนใจในการรำวงประยุกต์ จึงไปฝึกเรียนกับแม่ครูที่สันกำแพง จากนั้นมีประชาชนในหมู่บ้านสนใจ จึงเกิดการรวมกลุ่มกันเป็น กลุ่มรำวงประยุคของหมู่บ้าน ลักษณะเป็นการรำวงโดยมีกิจกรรมตอนเย็นของทุกวัน ก่อนช่วงที่จะมีงาน ณ ลานสนามหน้าวัดหัวฝาย
  • กลุ่มจักสาน เกิดจากเป็นโครงการพัฒนาอาชีพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านหัวฝาย ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ โดยเริ่มตั้งกลุ่มเมื่อปี พ.ศ. 2559 และการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งได้รับการสนับสนุน จาก กศน. และองค์การบริหารส่วนตำบลออนเหนือ
  • กลุ่มเสริมสวย เกิดจากสมาชิกในกลุ่ม ชื่อนาง นิภาภรณ์ สุภามูล มีความสนใจส่วนตัวในด้านการเสริมสวย และได้ไปศึกษาต่อจนจบการศึกษาด้านการเสริมสวยโดยตรงและมาประกอบอาชีพส่วนตัว และมีคนในชุมชนให้ความสนใจ ได้มาเรียนรู้จึงเกิดเป็นกลุ่ม
  • กลุ่มผู้สูงอายุ
  • กลุ่มเย็บกระเป๋า เกิดจากความสนใจของนางอนงค์ ฟองคำ มีความประสงค์อยากเย็บผ้าเป็น อยากเย็บกระเป๋าเป็น จุดเริ่มต้นของการเย็บกระเป๋า เริ่มจากตัวเองได้เข้าไปทำงานรับจ้างตีตารางกระเป๋าก่อน ค่อยๆเรียนรู้การเย็บ กระเป๋า จนตัวเองสามารถเย็บเป็น และกลับมาทำเป็นธุรกิจส่วนตัว ซึ่งตอนนั้นคนในชุมชนส่วนมากทำอาชีพ ทำนา เย็บผ้า เป็นส่วนใหญ่ และมีคนสนใจจึงเข้ามาเรียนรู้และหัดเย็บ และเข้ามาเป็นลูกจ้างของนางอนงค์ จึง เกิดเป็นกลุ่มเย็บกระเป๋าหมู่บ้าน
  • กลุ่มเย็บเสื้อ เกิดจากความชอบส่วนบุคคลของนางจิราพร ที่มีความสนใจในการเย็บผ้า จึงศึกษาค้นคว้าการเย็บผ้า และมีเพื่อนข้างบ้านสนใจในการเย็บผ้า
  • กลุ่มย้อมผ้า เกิดจากความชอบส่วนตัว และเคยทำงานเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น นางภัทรศศรี มีความชอบเกี่ยวกับชนิดของผ้าต่าง ๆ โดยเริ่มศึกษาชนิดของผ้า การย้อมผ้า จากการอบรมจากที่ต่าง ๆ ศึกษาจากผู้ประกอบการ และศึกษาจากช่องทางออนไลน์ และเริ่มย้อมสีผ้าที่บ้านตัวเอง
  • ขายปุ๋ย/ขายข้าว เกิดจากมีโครงการประชารัฐสามแสนบาทเข้ามาในกองทุนหมู่บ้าน และทางหมู่บ้านได้จัดตั้งกลุ่มขาย ปุ๋ย ซึ่งจัดตั้งกลุ่มขายปุ๋ย/ข้าว เมื่อปี พ.ศ. 2562

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

ประชาชนบ้านหัวฝาย ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ รับจ้างทั่วไป โดยทำงานที่สนามกอล์ฟ ไปทำงานในเวลาเช้าและกลับมาบ้านในตอนเย็น และมีบางส่วนที่ทำอาชีพเกษตร ธุรกิจส่วนตัว เช่น เย็บผ้า ค้าขาย รวมทั้งภายในหมู่บ้านมีกองทุนหมู่บ้านเพื่อเป็นเงินทุนให้ประชาชนในชุมชนได้กู้ยืม

ความสัมพันธ์ทางสังคม

ประชาชนบ้านหัวฝาย ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ มีกิจกรรมที่คนในชุมชนทำร่วมกัน สามัคคีกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีนางนิภาภรณ์ สุภามูล ที่มีบทบาทเป็นผู้นำในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งบุคคลดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน

ความสัมพันธ์ทางการเมือง

ประชาชนบ้านหัวฝาย ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ มีนายอินทนนนท์ อินตานะ เป็นผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่ในการจัดประชุม ประชาสัมพันธ์เรื่องต่าง ๆ ทั้งเรื่องที่เป็นประโยชน์ และเรื่องที่เป็นปัญหาให้แก่คนในชุมชนรับทราบ โดยมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านคือ นายพิเชษฐ์ สุภามูล และ นายนันทวัฒน์ ยะภิระ ทำหน้าที่ในการดูแลความเรียบร้อยของคนในชุมชนในด้านต่าง ๆ

บ้านหัวฝาย เป็นชุมชนชนบทมีวิถีการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย ความเป็นอยู่ของชุมชนรวมทั้งคนในพื้นที่และคนต่างถิ่นที่เข้ามาทำงานหรือมาอาศัยอยู่ร่วมกันแบบญาติพี่น้อง ซึ่งบ้านส่วนใหญ่จะสามารถทะลุเข้าหากันได้ โดยจะมีประตูเชื่อมระหว่างบ้าน แสดงให้เห็นว่ามีการอยู่ร่วมกันด้วยความไว้วางใจกัน ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการได้จากความสมัครใจ มีการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ จากความสามารถและความสมัครใจของผู้ที่สนใจ สถานที่ที่ประชาชนพบปะจะอยู่ตามหน้าบ้านเรือนที่มีพื้นที่ว่าง ๆ เช่น บ้านเลขที่ 60 (ป้านงคราญ) บ้านเลขที่ 94 จะมีคนมานั่งคุยกันทุกวัน ร้านค้า ร้านขายอาหาร ในส่วนของแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจทางศาสนาในหมู่บ้านหัวฝาย ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จึงมีวัดหัวฝายเป็นศูนย์รวมจิตใจเมื่อมีงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ประชาชนก็จะช่วยงานจนเสร็จสิ้น วัดหัวฝายได้สร้างศาลาวัดขึ้นมาใหม่จากการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน 

ด้านเศรษฐกิจ

ประชาชนในหมู่บ้านส่วนมากมีอาชีพรับจ้างทั่วไป เนื่องจากชาวบ้านบ้านหัวฝายส่วนมากถูกซื้อที่ดิน เพื่อไปทำสนามกอล์ฟเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2547-2548 ชาวบ้านจึงไม่มีที่ดินในการทำเกษตรกรรม จึงต้องทำอาชีพรับจ้างทั่วไป ซึ่งในฤดูฝนหรือในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนก็จะไปรับจ้างปลูกข้าวเป็นส่วนมาก เรียกว่า นาปี ส่วนเดือนธันวาคม-มีนาคมของปีถัดไป ถ้าน้ำมากก็จะมีการปลูกข้าวอีกครั้ง เรียกว่า นาปลัง คือ การปลูกข้าวในฤดูแล้ง ซึ่งจะทำหรือไม่ทำขึ้นอยู่กับน้ำในปีนั้น ๆ

นอกจากอาชีพรับจ้างทั่วไปแล้ว จากการสำรวจก็พบว่า มีชาวบ้านบางกลุ่มมีอาชีพรับจ้างเย็บผ้า มีทั้งเย็บเสื้อผ้าพื้นเมืองส่งที่ตลาดวโรรสและเย็บกระเป๋าส่งโรงงานที่กรุงเทพฯ อีกทั้งยังมีอาชีพปักผ้าพื้นเมือง เพื่อนำไปเย็บเป็นเสื้อต่อไป อาชีพที่ชาวบ้านที่อยู่ในช่วงวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงทำ คือ การทำงานในสนามกอล์ฟ เช่น ชาวสวน แคดดี้ หรือถ้าจบการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไปก็จะถูกจ้างงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น เช่น พนักงานบัญชี เป็นต้น และจากการสำรวจในหมู่บ้านพบว่า ชาวบ้านบางกลุ่มจะมีอาชีพเลี้ยงโคนม ซึ่งจากการสอบถาม อาหารที่จะใช้เลี้ยงโคนมนั้นแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ อาหารข้นและอาหารหยาบ อาหารข้น เป็นอาหารที่มีโปรตีนและแร่ธาตุสูง ให้โคกินเพื่อเพิ่มการผลิตนม ซึ่งจะมีขายเป็นกระสอบ ส่วนอาหารหยาบ เป็นอาหารที่ให้โคกินเพื่อให้อิ่ม เช่น ฟางข้าว หญ้าและข้าวโพด ซึ่งข้าวโพดที่นำมาให้โคจะแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ ข้าวโพดปลูกและข้าวโพดจากโรงงาน ในแต่ละเดือนอาจจะให้อาหารหยาบไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับฤดูกาล ได้แก่ เดือนมกราคม-พฤษภาคม เป็นช่วงหลังจากเกี่ยวข้าว อาหารหยาบที่นำมาให้โคกินก็จะเป็นฟางเป็นหลักสลับกับข้าวโพดปลูก และเจ้าของฟาร์มจะซื้อฟางเก็บไว้ให้โคในเดือนต่อ ๆ ไปด้วย เพราะในช่วงหลังการเกี่ยวข้าวราคาฟางจะถูก ถ้าหากไปซื้อหลังจากนี้ราคาจะสูงขึ้น ประมาณ 1 เท่า เดือนมิถุนายน-ตุลาคม จะเป็นช่วงฤดูฝนหญ้าจะมีมากและหาได้ง่าย อาจจะไปตัดหญ้ามาให้ โคเองหรือซื้อก็ได้ จึงให้หญ้าเป็นหลักสลับกับฟางและข้าวโพดจากโรงงาน ส่วนเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะ ให้ข้าวโพดจากโรงงานเป็นหลักในระหว่างรอฟางข้าวรอบต่อไป

ด้านวัฒนธรรม

  • เดือนมกราคม : มีการทำบุญขึ้นปีใหม่และประเพณีตานข้าวใหม่ คือ เอาข้าวที่พึ่งเก็บเกี่ยวที่เป็นข้าวสารนำไปทำบุญถวายวัด

  • เดือนกุมภาพันธ์ : มีประเพณีที่เรียกว่า ฉลองกระดูก คือ การนำเอาอัฐิของอดีตเจ้าอาวาสวัดหัวฝาย ออกมาทำความสะอาดและให้ชาวบ้านนำน้ำขมิ้นส้มป่อยมารด และจะมีการทำบุญระลึกพระคุณของอดีตเจ้าอาวาสที่มรณภาพไปแล้ว

  • เดือนมีนาคม : มีการสืบชะตาบ้าน โดยจะนำสายสิญจน์ขึงทั่วหมู่บ้านเป็นสายสิญจน์หลักและให้ชาวบ้านนำสายสิญจน์ของตัวเองมาผูกกับเส้นหลักและนำไปล้อมรอบบ้านของตัวเอง ซึ่งปลายสายของสายสิญจน์หลักจะอยู่ที่วัด ชาวบ้านจะไปรวมกันที่วัดเพื่อทำพิธีสืบชะตาร่วมกัน ซึ่งพิธีสืบชะตาบ้านนี้จะมีปีละ 1-2 ครั้ง ถ้าปีไหนจัด 2 ครั้ง จะจัดอีกทีเดือนพฤษภาคม

  • เดือนเมษายน : ประเพณีปีใหม่เมือง จะมีการไปทำบุญที่วัด รดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน ลูกหลานที่ไปทำงานต่างจังหวัดก็จะกลับมาเยี่ยมครอบครัว ถือว่าเป็นวันรวมญาติ พบปะสังสรรค์

  • เดือนพฤษภาคม : ประเพณีฉลองน้ำธาตุ ชาวบ้านจะมาทำบุญที่วัด พร้อมกับนำน้ำขมิ้นส้มป่อยมาสรงน้ำพระธาตุ
  • เดือนกรกฎาคม : เข้าพรรษา จะมีการทำบุญถวายเทียนพรรษาหรืออาจจะถวายหลอดไฟแทนก็ได้
  • เดือนตุลาคม : ออกพรรษา ชาวบ้านจะไปทำบุญที่วัด หลังจากนั้น 6 วันก็จะมีประเพณีตานก๋วยสลาก หรือตานต้นเงิน ซึ่งอาจจะมีทุกปีหรือไม่ทุกปีก็ได้ขึ้นอยู่กับการประชุมตกลงกันของชาวบ้าน
  • เดือนพฤศจิกายน : กฐินสามัคคีและประเพณียี่เป็ง

1. นิภาภรณ์ สุภามูล ประวัติผู้นำ (ไม่เป็นทางการ) ของหมู่บ้านหัวฝาย

นางนิภาภรณ์ สุภามูลหรือแม่นาง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2495 แม่นางเป็นคนบ้านหัวฝายแต่กำเนิด ในอดีตแม่นางเข้าเรียนในระดับชั้นอนุบาล เมื่อ พ.ศ.2497 และ เรียนในระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 ที่โรงเรียนบ้านออนหลวย จากนั้นเรียนต่อการศึกษา นอกสถานที่ (กศน.) ที่ตำบลออนเหนือจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 เมื่อเรียนจบแล้วมีความชอบทางด้านงานเสริมสวยจึงเข้าศึกษาด้านการเสริมสวยที่ สถาบันพริ้มเพรา

ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2539 ในระหว่างที่ แม่นางกำลังศึกษาเกี่ยวกับการเสริมสวยอยู่นั้น ด้วยความที่แม่นางเป็นคนที่มีจิตสาธารณะ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น พร้อมทั้งแม่นางมีความพร้อม ไม่มีภาระอะไรที่ต้องดูแลเนื่องจากลูกชายเรียนจบและสามารถดูแลตนเองได้ จึงสมัครเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อเป็นตัวแทนของชาวบ้านและช่วยพัฒนาหมู่บ้านให้มีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยในช่วงแรกภาระหน้าที่ของอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) รู้สึกเหนื่อย เนื่องจากตนเองเป็นผู้หญิง ซึ่งในช่วงนั้นผู้หญิงยังไม่ได้รับการยอมรับในการทำงานของชุมชน จึงมีผลทำให้การทำงานค่อนข้างยากและต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน ซึ่งแม่นางต้องพิสูจน์ตนเองให้ชาวบ้านเห็นว่า แม่นางสามารถทำงานนี้ได้และทำได้ดี โดยแม่นางมีวิธีคิดในการเป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน โดยการทำงานอย่างเต็มที่ พยายามเข้าร่วมกิจกรรมที่มีในหมู่บ้านต่าง ๆ พยายามทำงานให้ชาวบ้านเห็น เพื่อให้ชาวบ้านเชื่อมั่นในการทำงานและยอมรับในตัวเอง

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2544 ทางหมู่บ้านได้จัดตั้ง กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ของหมู่บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 5 โดยมีพ่อหลางอินทนนท์ ตานะ เป็นประธานกลุ่ม และแม่นางได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาของกลุ่ม ซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและทำงานด้านเอกสารงานบัญชีของกลุ่ม โดย แม่นางได้ทำหน้าที่นี้มาจนถึงปัจจุบัน และเนื่องด้วยหลักการทำงานดังที่กล่าวมาทำให้แม่นางทำหน้าที่ อสม. ได้ดีจนเป็นที่ยอมรับของคนในหมู่บ้าน ทำให้ในปี พ.ศ. 2547 แม่นางได้รับรางวัลอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านดีเด่นของหมู่บ้านหัวฝาย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2548 แม่นางสำเร็จการศึกษาด้านการเสริมสวยที่สถาบันพริ้มเพรา ด้วยผลการเรียนเฉลี่ยอันดับที่ 1 ของระดับชั้น จากนั้นจึงเรียนด้านการเสริมสวยและความงามต่อที่สถาบันอำไพ และจบการศึกษาที่สถาบันอำไพ เมื่อปี พ.ศ. 2550 หลังจากจบการศึกษาแม่นางเปิดกิจการเสริมสวยที่บ้านของตนเองและทำอาชีพรับจ้างเย็บผ้าเป็นอาชีพเสริม ซึ่งในขณะนั้นทางหมู่บ้านได้เปิดรับสมัครอาสาสมัคร ชุมชน (อช.) ซึ่งแม่นางมีความสนใจ จึงได้สมัครเป็นอาสาสมัครชุมชน (อช.) ของหมู่บ้านเพื่อที่สามารถช่วยเหลือชุมชนได้มากขึ้น แม่นางเล่าว่าเป็นอาสาสมัครชุมชนได้ประมาน 3 ปี จึงออกมาทำหน้าที่อาสาสมัครหมู่บ้านต่อ และนอกจากได้สมัครเป็นอาสาสมัครชุมชนแล้วในปี พ.ศ. 2550 แม่นางยังได้รับคัดเลือกจากสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลออนเหนือให้เข้ารับผิดชอบในตำแหน่งประธานเครือข่ายกองทุนตำบลออนเหนือ ซึ่งดูแลเกี่ยวกับกองทุนของตำบลออนเหนือทั้ง 10 หมู่บ้าน ซึ่งมีวาระ 2 ปี แต่ด้วยแม่นางเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ ทำงานเก่ง เป็นที่ยอมรับของชาวบ้านและชอบช่วยเหลือผู้อื่นจึงได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้แม่นางยังได้รับเลือกจากชาวบ้านให้ทำหน้าเป็นเป็นเหรัญญิกของกองทุนเงินของหมู่บ้านหัวฝาย ในช่วงนั้นแม่นางบอกว่ารู้สึกเหนื่อยเนื่องจากภาระงานและความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นและต้องทำงานกับคนหมู่มาก แม่นางมีแนวทางการทำงานโดยมีการบริหารงานและเวลาที่ดี โดยในด้านการบริหารงาน เมื่อมีงานมาแม่นางจะมีการวางแผนงานก่อนและเรียกประชุมทีม (ทีม อสม.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) วางแผนและแจกแจงงานให้เหมาะสมกับความสามารถและบริบทของสมาชิก นอกจากการวางแผน การแจกแจงงานแล้ว การสื่อสารกันภายในทีมเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งในฐานะหัวหน้างานแล้วแม่นางมีการพูดคุยกับทีมโดยใช้เหตุผล รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในทีม ไม่ตำหนิ หรือออกคำสั่ง ยกตัวอย่างเช่นในการทำงาน เกี่ยวกับกองทุนหรือเงินต่าง ๆ ของหมู่บ้าน แม่นางจะมีการประชุมสมาชิกในกองทุน มีการแจกแจงรายละเอียด และมอบหมายให้สมาชิกรับผิดชอบเงินในส่วนที่ตนเองได้รับผิดชอบ พยายามไม่เก็บเงินไว้ที่ตนเองและแจกแจงไปให้สมาชิกแต่ละคนรับผิดชอบ ซึ่งเป็นการทำงานแบบโปร่งใส ทำให้ชาวบ้านมีความยอมรับการทำงานมากขึ้น ในส่วนของการบริหารเวลา แม่นางมีการจัดตารางความสำคัญของงาน ทำให้มีการบริหารเวลาได้ดี มีเวลาเพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว ซึ่งจากผลการทำงานทำให้ในปี พ.ศ. 2550 แม่นางได้รับรางวัลอาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่น ประจำปี 2550 และเมื่อปี พ.ศ. 2552 แม่นางยังได้รับรางวัลอาสาสมัครชุมชนดีเด่นประจำปี 2552 และยังได้รับรางวัลผู้หญิงเก่งของอำเภอแม่ออนในปี 2557

ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 แม่นาง ได้รับการเลือกจากชาวบ้านให้เป็นสภาองค์การบริหารส่วนตำบลออนเหนือ โดยเมื่อได้เป็น ส.อบต. แล้วในปี เดียวกันแม่นางจึงร่วมกันกับครูพลอยเสนอการจัดตั้งกลุ่มชมรมจักรสานของหมู่บ้านหัวฝาย เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการจักสานกับชาวบ้านเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในหมู่บ้าน โดยมีแม่นางเป็นประธานกลุ่มจักสาน นอกจากกลุ่มจักสานแล้วแม่นางยังได้จัดตั้งกลุ่มเสริมสวยของหมู่บ้านซึ่งแม่นางได้เป็นประธานของกลุ่มนี้เช่นกัน โดยกลุ่มเสริมสวยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการแต่งหน้าเสริมสวยให้กับชาวบ้านที่สนใจ มีการออกหน่วยสอนการแต่งหน้าเสริมสวยไปที่ตำบลอื่น ๆ และยังแต่งหน้าให้กับชมรมแม่บ้าน หรือชมรมรำวงประยุกต์เมื่อได้ไปร่วมงานสำคัญต่าง ๆ ของหมู่บ้านอีกด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาที่ใช้ติดต่อสื่อสารหลัก คือ ภาษาไทยและภาษาเหนือ


ระบบการแพทย์พื้นบ้าน (Folk sector)

การแพทย์พื้นบ้านชุมชนบ้านหัวฝาย หมู่ที่ 5 ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ จากการสอบถามปัจจุบันคนในชุมชนไม่ค่อยพึ่งพาการแพทย์พื้นบ้านเหมือนสมัยก่อนมากนักเพราะเมื่อมีการเจ็บไข้ ได้ป่วยก็จะหายามารับประทานหรือไปใช้บริการทางสุขภาพ เช่น รพ.สต.หรือโรงพยาบาลมากกว่า แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังมีความเชื่อและยังคงใช้การรักษาแบบพื้นบ้านอยู่ เช่น คือพ่อหนานเริญ หรือ นายอินสม เทวะราช อายุ 65 ปี ซึ่งเคยทำการรักษาโดยการเป่าคาถาหรือการโปรยข้าวสารเพื่อโรคภัยอันตราย โดยพ่อหนานเล่าว่าเคยเป่าคาถาให้ผู้ที่เคยโดนมีดบาดแล้วมีเลือดไหลเยอะ โดยจะมีวิธีการคือท่องคาถาแล้ว เป่าลงบนบริเวณที่โดนบาดหลังจากทำการเป่าเลือดก็หายไป นอกจากนี้พ่อหนานเล่าว่าเคยรักษาเด็กที่ร้องไห้ ไม่หยุดโดยการเป่าคาถาและพรมน้ำมนต์ วิธีการคือจะท่องคาถาพร้อมกวาดบริเวณหน้าบ้าน จากนั้นก็พรมน้ำมนต์ลงบนตัวเด็กเล็กน้อยเชื่อว่าจะเป็นการไล่ผีและทำให้เด็กหยุดร้อง รวมไปถึงการเป่ามะเร็งไข่ปลา ซึ่งอาการจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงขึ้นตามตัวชาวบ้านก็จะมารักษาที่พ่อหนาน บางส่วนเชื่อว่าเมื่อไม่สบายมีไข้ติดต่อกันหลายวันก็จะมีการทำพิธี เรียกว่า “พิธีเรียกขวัญ” โดยจะนำเหล้า 1 ขวด ไก่ต้น 2 ตัว มาใช้ในการ ประกอบพิธี แล้วจะมีการร่ายคาถาและผูกข้อมือ เชื่อว่าจะทำให้หายจากอาการไข้ได้ ในปัจจุบันไม่มีผู้คนในชุมชนมารักษาด้วยวิธีการเหล่านี้แล้วเพราะส่วนมากเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะหายามารับประทานเอง ไป รพ.สต. หรือไปโรงพยาบาล 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเชียงใหม่. (ม.ป.ป.). ข้อมูลการสำรวจชุมชน. เชียงใหม่: สาขาวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.