Advance search

บ้านใหม่

บ้านใหม่หมอกจ๋าม เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีการเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันของผู้คนหลายชาติพันธุ์ หลากเชื้อชาติ ต่างภูมิลำเนา อีกทั้งยังมีผ้าทอพื้นเมืองไทใหญ่ ที่ได้รับขนานนามว่าเป็น 1 ใน 10 สินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ของจังหวัดเชียงใหม่ 

ใหม่หมอกจ๋าม
ท่าตอน
แม่อาย
เชียงใหม่
อบต.ท่าตอน โทร. 0-5337-3073
วิไลวรรณ เดชดอนบม
8 มี.ค. 2023
วิไลวรรณ เดชดอนบม
8 มี.ค. 2023
บ้านใหม่หมอกจ๋าม
บ้านใหม่

ตั้งขึ้นตามชื่อดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากในหมู่บ้าน คือ ต้นจำปี ในภาษาไทใหญ่ เรียกว่า หมอกจ๋ามคำ ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจึงยึดเอาชื่อดอกจำปีตามภาษาไทใหญ่เป็นชื่อเรียกหมู่บ้าน


บ้านใหม่หมอกจ๋าม เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีการเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันของผู้คนหลายชาติพันธุ์ หลากเชื้อชาติ ต่างภูมิลำเนา อีกทั้งยังมีผ้าทอพื้นเมืองไทใหญ่ ที่ได้รับขนานนามว่าเป็น 1 ใน 10 สินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ของจังหวัดเชียงใหม่ 

ใหม่หมอกจ๋าม
ท่าตอน
แม่อาย
เชียงใหม่
50280
20.05326555
99.46045965
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าตอน

บ้านใหม่หมอกจ๋าม ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวไทใหญ่ที่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ทางตอนใต้ของจีน และตอนเหนือของประเทศพม่า ซึ่งอพยพเข้ามาเข้ามาในประเทศไทยด้วยเหตุผลทางการเมืองทั้งจากจีน พม่า อังกฤษ ญี่ปุ่น และสงครามโลก ดังนั้นจึงสามารถจำแนกการอพยพของชาวไทใหญ่เข้าสู่บ้านใหม่หมอกจ๋ามได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่หนีภัยสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามกลางเมือง กลุ่มที่หนีคอมมิวนิสต์ และกลุ่มที่อพยพหนีความทารุณจากรัฐบาลพม่า

1. หนีภัยสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามกลางเมือง

ภายหลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง ราว พ.ศ. 2477 เชียงตุงเกิดสงครามกับพม่า ประชาชนชาวไทใหญ่ขณะนั้นต้องอพยพแยกย้ายหนีภัยสงคราม บางส่วนเดินทางเข้ามาอยู่ที่พื้นที่เมืองพร้าว ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ถูกทหารญี่ปุ่นเกณฑ์ไปสร้างถนนที่แม่ฮ่องสอน จึงได้อพยพหนีทหารญี่ปุ่นมาสร้างบ้านเรือนแห่งใหม่ที่บ้านใหม่หมอกจ๋าม ต่อมาในปี พ.ศ. 2499-2519 เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายหลายประการ ตั้งแต่การปฏิวัติจีนเข้าสู่ระบอบสังคมนิยม นโยบายวัฒนธรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อย รวมถึงภัยสงครามภายในของรัฐบาลพม่า เมื่อพม่าละเมิดสนธิสัญญาปางโหลง ฆ่าอ่องซานและเจ้าฟ้าไทใหญ่หลายคน ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้แก่ชาวไทใหญ่เป็นอย่างมาก จึงรวมตัวกันต่อสู้เพื่อแย่งชิงเอกราชจากรัฐบาลพม่า และเพื่อหนีการปราบปรามจากทางการ ไทใหญ่บางส่วนได้หนีเข้ามาในเขตชายแดนไทย และตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านใหม่หมอกจ๋ามร่วมกับกลุ่มชาวไทใหญ่ที่อพยพหนีทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  

2. หนีคอมมิวนิสต์

ไทใหญ่ภายใต้การปกครองของพม่าในสมัยรัฐบาลนายพลเนวิน ซึ่งมีการปกครองระบบสังคมนิยมกึ่งคอมมิวนิสต์ ในขณะนั้นอำนาจทุกอย่างของพม่าขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายพลเนวินเพียงผู้เดียว ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความยากลำบากในการดำรงชีวิตทั้งทางกายและทางใจ จนเกิดความรู้สึกอึดอัดใจที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลนายพลเนวิน จึงได้รวมตัวกันอพยพเพื่อแสวงหาความเป็นอยู่ที่สงบสุขในดินแดนประเทศไทย

3. หนีความทารุณของพม่า

แม้ว่าการอยู่อาศัยของชาวไทใหญ่ในดินแดนพม่า จะมีที่พื้นที่ทำกินเพียงพอต่อความต้องการ ทว่า กลับถูกรุกรานจากรัฐบาลพม่า ทั้งการเกณฑ์เอาผู้ชายไปเป็นลูกหาบ หากจำนวนที่ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการก็จะเอาผู้หญิงไปด้วย มีการปล้นฆ่าชาวบ้านโดยไม่มีเหตุผลหรือความผิด ชาวไทใหญ่จึงได้อพยพย้ายออกจากดินแดนพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย

จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชนเกี่ยวกับข้อมูลการอพยพของชาวไทใหญ่เข้าสู่บ้านใหม่หมอกสามารถอธิบายอธิบายประวัติการก่อตั้งชุมชนที่ค่อนข้างซับซ้อนของบ้านใหม่หมอกจ๋ามร่วมกับข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมจากเอกสาร และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สามารถอธิบายได้ว่า บ้านใหม่หมอกจ๋าม เดิมเป็นเมืองเก่าชื่อว่า เมืองหมอกจ๋าม แปลว่า เวียงดอกจำปีหรือดอกจำปา ซึ่งปรากฏหลักฐานซากปรักหักพัง และลักษณะของนครเมืองเก่าให้เห็นในสมัยพระเจ้าพรหมมหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2330 พม่าได้ส่งกองกำลังจำนวน 5,000 ออกปราบปรามหัวเมืองไทลื้อ และไทเขินในล้านนา ในคราวเดียวกันเวียงหมอกจ๋ามก็ถูกโจมตีสิ้นสภาพเดิมไปด้วย สำหรับการก่อตั้งบ้านใหม่หมอกจ๋าม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีใดไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอยู่ราว ๆ พ.ศ. 2500-2507 ชาวบ้านใหม่หมอกจ๋ามเรียกชื่อหมู่บ้านตนเองว่า บ้านใหม่ ชื่อเรียกบ้านใหม่หมอกจ๋าเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามชื่อดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากในหมู่บ้าน คือ ต้นจำปี ซึ่งชาวไทใหญ่ เรียกว่า หมอกจ๋ามคำ ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจึงยึดเอาชื่อดอกจำปีตามภาษาไทใหญ่ เป็นชื่อเรียกหมู่บ้าน พ.ศ. 2505 กองกำลังกู้ชาติ หรือ ตะโข่ จำนวน 200 คน ได้หลบหนีการปราบปรามชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลพม่าเข้ามาพักอาศัยอยู่บริเวณเนินเขาสูงแถบบ้านใหม่หมอกจ๋ามเป็นเวลา 9 เดือน จึงยกกลับไปรัฐฉาน และมีกองกำลังชาวไทใหญ่ส่วนหนึ่งที่ต้องการตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ต่อไป ทว่า ก่อนที่ชาวไทใหญ่จะอพยพเข้ามา พื้นที่ดังกล่าวมีเป็นพื้นที่ที่ชาวล่าหู่หรือมูเซอใช้เป็นที่เลี้ยงวัว จึงได้มีการเจรจาแบ่งพื้นที่ทำกิน เมื่อตั้งเป็นชุมชนแล้วจึงได้เรียกถิ่นที่อยู่ของตนว่า บ้านใหม่หมอกจ๋าม และเรียกเนินเขาสูงที่ตั้งขนานหมู่บ้านว่า ดอยหมอกจ๋าม กับ ดอยหมอกเปา เนื่องจากดอยทั้งสองมีพันธุ์ไม้สองชนิดนี้ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก

หลายทศวรรษที่ผ่านมานับตั้งแต่ก่อตั้งหมู่บ้านในปี พ.ศ. 2506 ชุมชนชาวไทใหญ่บ้านใหม่หมอกจ๋ามได้ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม วิถีชีวิต และความเป็นอยู่เพื่อพัฒนาหมู่บ้านเข้าสู่การเป็นหมู่บ้านไทยตามแนวทางของรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้อาวุโสชาวไทใหญ่ในชุมชนรู้สึกแปลกแยกกับลูกหลานที่พยายามเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นคนไทย ปิดบังความเป็นไทใหญ่ ทั้งภาษา การแต่งกาย วิธีคิด และวิถีชีวิต แม้ว่าความเป็นจริงแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลูกหลานชาวไทใหญ่ไม่มีสิ่งใดที่แปลกแยกไปจากเดิม หรือแตกต่างจากวัยรุ่นกลุ่มอื่นในประเทศไทย ทว่า ผู้อาวุโสในหมู่บ้านกลับรู้สึกผิดหวังในตัวลูกหลาน เนื่องจากการก่อตัวเป็นชุมชนที่เคยสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทของไทใหญ่บ้านใหม่หมอกจ๋าม แตกต่างจากชุมชนไทอื่น ๆ ตรงที่ไม่ได้มุ่งแสวงหาพื้นที่ทำกินเท่านั้น หากแต่เป็นการแสวงหาพื้นที่ทั้งเพื่อทำกิน และอยู่อาศัย ที่ปลอดภัยจากการรุกรานของรัฐบาลทหารพม่า เนื่องจากเป็นการเคลื่อนตัวของกองทัพกู้ชาติไทใหญ่ร่วมกับชาวบ้านแถบสะพานท่าตอน ซึ่งเป็นกลุ่มที่อพยพหนีความเดือดร้อนที่ได้รับจากพม่ามาตั้งแต่ก่อนเกิดกองทัพกู้ชาติไทใหญ่ บางส่วนหนีจากระบบการปกครองแบบสังคมนิยม และบางส่วนหนีจากเหตุการณ์ปฏิวัติในจีน

ปัจจุบันบ้านใหม่หมอกจ๋าม เป็นชุมชนที่มีลักษณะการผสมผสานของผู้คนอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีคนไทหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ แตกต่างภูมิลำเนามาอาศัยอยู่ด้วยกัน เมื่อเป็นที่ทราบกันในกลุ่มชาติพันธุ์ว่ามีหมู่บ้านไท (ไต) ที่บ้านใหม่หมอกจ๋าม ครอบครัวไทจากพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่ ได้อพยพมารวมกลุ่มด้วยเป็นระยะ ทั้งชาวไทแงน ไทลื้อ ไทยอง ไทแซ่ม ต่างก็อพยพเข้ามาสมทบที่บ้านใหม่หมอกจ๋าม โดยอพยพเข้ามาเป็นระลอก ระลอกละ 2-6 ครัวเรือน ซึ่งคนกลุ่มใหญ่ในหมู่บ้านจะเป็นกลุ่มที่เรียกตนเองว่าไทใหญ่ หรือไทโหลง ที่อพยพมาจากประเทศพม่า

ภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อม

บ้านใหม่หมอกจ๋ามตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม พื้นที่หมู่บ้านตั้งอยู่ระหว่างที่ราบเชิงเขาท่ามกลางชนกลุ่มน้อยหลายเชื้อชาติ เช่น ไทใหญ่ ไทแงน ไทแซ่ม ไทลื้อ ไทยอง และชาวไทภูเขาบ้างประปราย มีภูเขาล้อมรอบคล้ายแอ่งกระทะ ซึ่งโอบล้อมด้วยภูเขาและป่าไม้ ทิศเหนือ ตะวันออก และตะวันตกขนาบด้วยดอยธนูขาวกับดอยกลางเมือง และดอยถ้ำบ้วนกับดอยสันผักขวาง ส่วนทางทิศใต้มีลำน้ำแม่กกเป็นเส้นแบ่งเขตบ้านใหม่หมอกจ๋ามกับบ้านวังดิน และบ้านแม่นาวาง สภาพพื้นที่ของหมู่บ้านเป็นที่ราบสูงสลับเนินเขาเล็ก ๆ ลาดเอียงจากเหนือมาใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา ลำน้ำแม่กกที่เคยไหลเวียนบริเวณชายฝั่งหมู่บ้านวังดิน ได้เปลี่ยนเส้นทางตรงมายังบ้านใหม่หมอกจ๋าม ไหลปะทะชายฝั่งด้านซ้ายเรื่อยไป แล้วจึงเลี้ยวกลับมายังเส้นทางปกติ ทำให้ดินชายฝั่งซึ่งเป็นพื้นที่ทำนา ทำสวน และที่อยู่อาศัยของชาวบ้านบางส่วนกลายเป็นหนองน้ำตื้นเขินในฤดูแล้ง และพื้นที่รับน้ำในฤดูฝน 

ทรัพยากรธรรมชาติ

ทรัพยากรป่าไม้ : ป่าไม้ในพื้นที่บ้านใหม่หมอกจ๋าม ส่วนใหญ่เป็นป่าชุมชนทั่วไป มีต้นไม้หลากหลายชนิด มีไม้สักบ้างจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีทั้งที่ชาวบ้านนำมาปลูก และที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ปัจจุบันบ้านใหม่หมอกจ๋ามมีจำนวนประชากรมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าเพื่อการเกษตรกรรมมากขึ้น ทุกปีศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋ามจึงได้มีการรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกป่าเป็นระยะ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า และอนุรักษ์ส่วนที่เหลือให้คงอยู่

ทรัพยากรน้ำ : ลำน้ำแม่กกเป็นสายน้ำสำคัญที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านใหม่หมอกจ๋าม มีต้นกำเนิดมาจากทิวเขาในประเทศพม่า ซึ่งไหลผ่านหลายหมู่บ้านในตำบลท่าตอน ลำน้ำแม่กกเป็นแม่น้ำที่มีปริมาณน้ำสูงตลอดทั้งปี เนื่องจากลำน้ำสายย่อยในบริเวณนี้จะไหลไปบรรจบกับลำน้ำแม่กกทั้งหมด ดังนั้นชาวบ้านใหม่หมอกจ๋ามจึงมีแม่น้ำแม่กกเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติสายหลักในการหล่อเลี้ยงชีวิต ทำเกษตรกรรม ทำไร่ และทำสวน

ทรัพยากรดิน : สภาพดินโดยรวมในพื้นที่บ้านใหม่หมอกจ๋ามมีลักษณะเป็นดินร่วนเหนียวปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ปลูกพืช ผัก ผลไม้เกือบทุกชนิดได้ตลอดทั้งปี มีดินตะกอนแม่น้ำบ้างในบางพื้นที่ เพราะหมู่บ้านตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำแม่กก

สถานที่สำคัญ

พิพิธภัณฑ์หอครูหมอไต : เป็นสถานที่ที่ใช้ในการประกอบประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญของชาวไทใหญ่ เป็นหอเก็บรวบประวัติ ของใช้ต่าง ๆ ตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย เครื่องมือประกอบอาชีพ พร้อมทั้งภาพประวัติบุคคลสำคัญของชาวไทใหญ่ ซึ่งสิ่งของเหล่านี้นำมาจากรัฐฉาน ประเทศพม่า เพื่อรำลึกถึงบุรพคณาจารย์ผู้ล่วงลับ ผู้เคยสร้างคุณูปการอันใหญ่หลวงให้กับชาวไทใหญ่ 

ประชากร

ข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2560 ระบุจำนวนประชากรบ้านใหม่หมอกจ๋าม ทั้งที่ได้รับสัญชาติไทย และไม่สามารถระบุสัญชาติได้ มีถึง 1,131 หลังคาเรือน จำนวนประชากรรวม 2,388 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 1,182 คน และประชากรหญิง 1,206 คน ในจำนวนนี้มีประชากรที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยถึง 1,071 คน ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นชาวไทใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 95 ของประชากรทั้งหมด และมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นอาศัยอยู่ร่วมด้วย ได้แก่ ไทลื้อ ไทแซ่ม ไทแงน ไทยอง และชาวไทภูเขา

ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

ระบบครอบครัวแบบดั้งเดิมของชาวไทใหญ่มีลักษณะเป็นระบบครอบครัวเดี่ยว ผัวเดียวเมียเดียว การแต่งงานถือเป็นการผูกพันธะถาวร สมาชิกภายในครอบครัวต่างมีหน้าที่รับผิดชอบของตนเอง สามีทำหน้าที่เป็นผู้นำครอบครัว เป็นผู้ตัดสินใจ และรับภาระงานไร่นา ภรรยาจะรับผิดชอบงานบ้านทุกอย่าง เมื่อถึงช่วงฤดูกาลทำนา สมาชิกในครอบครัวทุกคนจะช่วยกันเป็นแรงงานหลัก แต่ปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุในชุมชนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากเดิมที่เคยมีลูกหลานอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ทว่า สังคมสมัยใหม่ของชาวไทใหญ่ ลูกหลาน สมาชิกในครอบครัวส่วนมากออกไปประกอบอาชีพ และอาศัยอยู่นอกชุมชน เพื่อดิ้นรนแสวงหาเป้าหมายในการสร้างฐานะความมั่นคงให้แก่ครอบครัว 

ยอง, ไทลื้อ, ไทใหญ่

การปกครอง

การปกครองของชาวไทใหญ่บ้านใหม่หมอกจ๋ามก่อนที่รัฐจะมอบอำนาจการปกครองให้ชาวบ้านนั้น จะมีผู้อาวุโสสูงสุด หรือผู้ที่ได้รับการยอมรับจากคนในหมู่บ้าน เรียกว่า แก่บ้าน หรือ ปู่แก่บ้าน ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ปกครอง และผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของคนในหมู่บ้าน โดยอาศัยจารีตประเพณี ตลอดจนปทัสถาน และศีลธรรม เป็นตัวควบคุมความประพฤติของสมาชิกภายในชุมชน

ภายหลังบ้านใหม่หมอกจ๋ามได้รับอำนาจทางการปกครองจากกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2516 ได้มีการจัดระเบียบการปกครองตามรูปแบบรัฐ มีผู้ใหญ่บ้านที่มาจากการเลือกตั้งของคนในหมู่บ้านทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชน เรียกว่า ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน ตามลำดับ

การประกอบอาชีพ

ทำนา : ประชากรส่วนหนึ่งในบ้านใหม่หมอกจ๋ามมีอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก ซึ่งพื้นที่นาของชาวไทใหญ่จะเป็นที่ลุ่ม นิยมปลูกข้าวจ้าวมากกว่าข้าวเหนียว เพราะวัฒนธรรมการกินของชาวไทใหญ่จะนิยมบริโภคข้าวจ้าวเป็นอาหารหลัก

ทำสวน : เนื่องจากสภาพที่ตั้งที่มีแหล่งน้ำ และสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากโครงการหลวง การทำสวนจึงเป็นอาชีพหลักอีกอาชีพหนึ่งของชาวบ้านใหม่หมอกจ๋าม โดยชาวบ้านจะปลูกพืชผักนานาชนิด เช่น ถั่วเหลือง ถั่วฝักยาว ข้าวโพด ผักกาด มะละกอ เผือก มัน รวมถึงพืชผักสวนครัว เช่น ผักชี ต้นหอม พริก ขิง ข่า ตะไคร้ นอกจากนี้ ยังมีชาวไทใหญ่บางครอบครัวที่ทำสวนปลูกพืชของโครงการหลวง เช่น ฟักทอง มันเทศ เสาวรส มะม่วงสายพันธุ์ต่างประเทศ เช่น มะม่วงจินหวง เออร์วิ่น อาร์ทูอีทู และปาล์มเมอร์ ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวบ้าน เพราะสามารถขายได้ราคาที่ค่อนข้างสูง

หัตถกรรมผ้าทอไทใหญ่บ้านใหม่หมอกจ๋าม: ผ้าทอลายพื้นเมืองบ้านใหม่หมอกจ๋ามเป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ดีเด่น 1 ใน 10 ของจังหวัดเชียงใหม่ ทอด้วยมือลายเชียงของ และทอดด้วยกี่กระตุก ระยะแรกเป็นการทอผ้าเพื่อใช้ในครัวเรือน ต่อมาหลังได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ซึ่งได้จัดส่งเจ้าหน้าที่มาสอนวิธีการทอผ้า ผ้าทอพื้นเมืองบ้านใหม่หมอกจ๋ามได้พัฒนาต่อยอดกลายเป็นวิสาหกิจชุมชน สร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนผู้ทอผ้า

เย็บตุ๊กตาพวงกุญแจ: ตุ๊กตาพวงกุญแจเป็นสินค้า OTOP รุ่นแรก ๆ ของหมู่บ้าน บ้านใหม่หมอกจ๋ามมีโรงงานผลิตตุ๊กตาส่งออกต่างจังหวัด ซึ่งชาวบ้านบางคนก็ยึดอาชีพตัดเย็บตุ๊กตาในโรงงานเป็นอาชีพหลัก หรือบางคนก็รับงานมาทำสร้างรายได้เสริมที่บ้าน แล้วนำไปส่งให้โรงงาน โดยคิดราคาเป็นชิ้น ในช่วงหยุดเรียนเสาร์-อาทิตย์ เยาวชนในหมู่บ้านก็จะมารับจ้างเขียนลวดลายบนผืนผ้าเพื่อตัดเย็บเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้เสริมระหว่างเรียน

รับจ้าง : เป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่บ้าน เพราะสามารสร้างรายได้เสริมเลี้ยงปากท้องของหลาย ๆ ครอบครัว ตามความถนัดและสารพัดความสามารถ ซึ่งจะมีทั้งการรับจ้างในเขตชุมชน และหมู่บ้านใกล้เคียง ส่วนมากจะเป็นการรับจ้างทำนา ทำสวน ได้ค่าจ้างวันละ 200-300 ต่อวัน ส่วนการรับจ้างนอกสถานที่ เป็นการรับจ้างในบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ในตัวอำเภอ หรือตัวจังหวัด ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเยาวชนที่พากันออกไปหาประสบการณ์ รับจ้างทำงานต่าง ๆ ตามที่ตัวเองถนัด 

ชาวบ้านใหม่หมอกจ๋ามส่วนใหญ่ยังคงผูกพันและดำรงชีวิตโดยพึ่งพาธรรมชาติ ประกอบอาชีพตามฤดูกาล หากินจากพืชผัก สัตว์ป่า ฯลฯ เหลือจากบริโภคจึงจะนำไปจำหน่าย โดยวางขายบริเวณหน้าบ้าน หรือตลาดสดทั้งในและนอกชุมชน สร้างรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัวได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ชาวบ้านบางส่วนมีวิถีชีวิตที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวการณ์ทางสังคม เช่น รับจ้าง ค้าขาย ก่อสร้าง

ศาสนา

ชาวไทใหญ่บ้านใหม่หมอกจ๋ามมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยานที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย มีวัดประจำชุมชน ชื่อ วัดใหม่หมอกจ๋าม เป็นวัดแบบศิลปะไทย มีหลังคาซ้อนกันหลายชั้น แต่ละชั้นลดลหั่นลงมาตามลำดับ เรียกว่า ทรงพระยาธาตุ เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และปฏิบัติธรรมของชาวบ้าน ภายในวัดมีถาวรวัตถุเป็นที่เคารพสักการะ และยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์หอครูหมอไต

ประเพณีหย่าสี่สิบสอง

ชาวไทใหญ่ส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด คำสอนจากหลักศาสนามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทใหญ่มาอย่างยาวนาน ทำให้มีประเพณีเกี่ยวกับศาสนาครบทั้ง 12 เดือน เรียกว่า หย่าสี่สิบสอง หรือพิธีสิบสองราศีของชาวไทใหญ่ ดังนี้

ประเพณีรายละเอียด

ประเพณีเดือนเจี๋ยง 

(ธันวาคม-มกราคม)

เป็นประเพณีทำบุญข้าวใหม่ หรือ กาบซอมอู ชาวบ้านจะทำบุญถวายข้าวใหม่แด่พระสงฆ์ และบำรุงผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลาย การทำบุญข้าวใหม่ถือเป็นการทำบุญประจำปีเพื่อสร้างกุศลครั้งใหญ่ของชาวไทใหญ่

ประเพณีเหลินก๋ำ 

(มกราคม-กุมภาพันธ์)

เป็นเดือนที่ข้าวและงาให้ผลผลิตใหม่ พระสงฆ์จะมีพิธีเข้าปริวาสกรรม หรืออยู่กรรมในป่าช้า เรียกว่า เข้าก๋ำป๋างวาส เดือนนี้จะไม่มีการจัดพิธีมงคลใด ๆ แต่ชาวบ้านจะทำข้าวปุก หรือ ข้าวเหนียวบดคลุกงาป่นไปถวายวัด เพื่อแสดงความกตัญญูต่อเทวดาฟ้าดิน และถือโอกาทำบุญถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ปริวาสกรรม

ประเพณีเหลินสาม 

(กุมภาพันธ์-มีนาคม)

มีประเพณีปอยข้าวหย่ากู้ คือ การให้ทานหรือถวายข้าวเหนียวแดง จัดขึ้นหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไร่นาแล้ว

ประเพณีเหลินสี่ 

(มีนาคม-เมษายน)

เป็นเดือนที่ชาวไทใหญ่ให้กุลบุตรบวชเป็นสามเณร เรียกว่า ปอยส่างลอง เพื่อจะได้มีโอกาสศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนา เด็กที่จะได้โกนผมแต่งตัวเป็น ส่างลอง หมายถึง ผู้จะบวชเป็นบุตรของเจ้าฟ้าเมืองไทใหญ่ จึงเชื่อว่ากุลบุตรที่มีโอกาสเป็นส่างลอง เป็นผู้มีบุญบารมีมากกว่าคนธรรมดาสามัญ เนื่องจากได้รับโอกาสยกย่องเป็นหน่อกษัตริย์ หรือบุตรของพระพรหมก่อนบรรพชา  

ประเพณีเหลินห้า 

(เมษายน-พฤษภาคม)

เป็นประเพณี สงกรานต์ไทใหญ่ ในช่วงวันที่ 13-15 เมษายน โดยวันที่ 13 คือ วันสังขารล่อง เป็นวันที่ต้องทำความสะอาดบ้าน 14 เป็นวันเนา วันนี้ชาวไทใหญ่จะสระผม ซักเสื้อผ้า สรงน้ำพระ และวันที่ 15 เป็นวันพญาวัน ไทใหญ่เรียก วันสางขึ้น มีการทำบุญถวายภัตตาหารแด่พรสงฆ์ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และฟังธรรม

ประเพณีเหลินหก 

(พฤษภาคม-มิถุนายน)

เป็นประเพณีซอนน้ำไม้หย่อง คือ นำน้ำขมิ้นส้มป่อย ซึ่งถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ มารดต้นโพธิ์ ซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวกับวาระโอกาสำคัญของพระพุทธเจ้า แต่ปัจจุบันที่บ้านใหม่หมอกจ๋ามแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว

ประเพณีเหลินเจ็ด

(มิถุนายน)

เป็นเดือนที่ไม่มีการจัดประเพณีพิธีกรรมใด ๆ เนื่องจากต้องเตรียมที่นาสำหรับทำการเกษตร

ประเพณีเหลินแปด

(กรกฎาคม)

เป็นประเพณีเข้าพรรษา ชาวไทใหญ่เรียกว่า เข้าหว่า

ประเพณีเหลินเก้า

(สิงหาคม)

เป็นเดือนที่เริ่มฤดูกาลทำนา

ประเพณีเหลินสิบ

(กันยายน)

ประเพณีปอนสลาก (งานถวายทานสลากภัต)

ประเพณีเหลินสิบเอ็ด

(ตุลาคม)

เดือนนี้จะมีประเพณีปอยเตียนออกหว่า จัดขึ้นหลังออกพรรษา 1 วัน ชาวไทใหญ่บ้านใหม่หมอกจ๋ามจะมีการจัดทำปราสาทพระพุทธ เรียกว่า จองพารา หรือ จองเข่งส่างปุ้ด ตั้งไว้หน้าบ้าน เพื่อจำลองเหตุการณ์ต้อนรับพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาหลังเสด็จไปโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตอนเย็นจะมีการละเล่นต่าง ๆ ของหนุ่มสาว ได้แก่ ก้าโต (ฟ้อนโต) ก้ากิ่งกะหล่า (ฟ้อนนางนก) การตีกลองมองเชิง กลองก้นยาว กระทั่งเวลาประมาณสามทุ่มจะมีการถวายเครื่องไทยทานแก่พระสงฆ์

ประเพณีเหลินสิบสอง

(พฤศจิกายน)                                                   

เป็นประเพณี หลู่ตานอุปคุต หรือลอยกระทง

พิธีกั่นตอ

พิธีกั่นตอ หรือพิธีขอขมา เป็นคำไทใหญ่ เพี้ยนมาจากภาษาพม่าว่า กั้นตอ หมายถึงการแสดงออกทางเจตนาเพื่อขอขมาญาติผู้ใหญ่ พ่อ แม่ ผู้ที่ให้ความเคารพนับถือในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะนิยมทำปีละ 2 ครั้ง คือ วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 5 (ช่วงหลังสงกรานต์) และวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 (ช่วงออกพรรษา) การกั่นตอนอกจากจะเป็นการขอขมาญาติผู้ใหญ่แล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญู เป็นการขอพรเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลต่อตัวเองและครอบครัว

ประเพณีไหว้ครูหมอไต

ประเพณีไหว้ครูหมอไต เป็นประเพณีสำคัญที่มีชื่อเสียงของชาวไทใหญ่บ้านใหม่หมอกจ๋าม ทุกปีจะมีการจัดพิธีอย่างยิ่งใหญ่ ชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงจะเดินทางเข้ามาร่วมทำพิธีนี้ด้วย คำว่า ครูหมอ ในความหมายของชาวไทใหญ่ คือ ปราชญ์ผู้มีความรู้ความสามารถ ครูหมอไต จึงหมายถึง ปราชญ์ชาวบ้านผู้มีความรู้ความสามารถ ชำนาญแตกฉานในสาขาวิชาหนึ่ง ๆ หรือหลายสาขาวิชา อันจะนำมาซึ่งการประกอบอาชีพ สามารถถ่ายทอด อบรม สั่งสอนอนุชนรุ่นหลังสืบต่อเป็นมรดกของกลุ่มชาติพันธุ์ ครูหมอไตสำหรับชาวไทใหญ่แล้ว จึงเปรียบเป็นบุรพคณาจารย์ผู้สร้างคุณูปการอันล้นพ้นแก่ชาวไทใหญ่

ความเชื่อ

ชาวไทใหญ่นอกจากจะปฏิบัติตนตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังมีความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่อดีต เช่น ความเชื่อเรื่องอำนาจลี้ลับ วิญญาณที่อยู่เหนือธรรมชาติ ความเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม ความเชื่อเรื่องการอยู่ยงคงกระพัน การใช้คาถาอาคม เครื่องรางของขลัง ผีสาง เทวดา ซึ่งเป็นความเชื่อที่เป็นบ่อเกิดและรากฐานแห่งประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวไทใหญ่ ความเชื่อเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตของชาวไทใหญ่ตั้งแต่เกิดจนตาย

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับผีอื่น ๆ เช่น ผีดิน ผีป่า ผีน้ำ ผีไร่ ผีบ้าน ผีเรือน ฯลฯ ซึ่งชาวไทใหญ่จะระมัดระวังมิให้มีการลบหลู่เกิดขึ้นเด็ดขาด จึงมีการเลี้ยงผีของแต่ละชุมชนที่คล้ายกัน เช่น พิธีเลี้ยงผีเมือง เรียกว่า พิธีเลี้ยงเมือง เพราะเชื่อว่าผีเจ้าเมืองจะคอยปกป้องคุ้มครองคนในหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ชาวไทใหญ่บ้านใหม่หมอกจ๋ามจะทำพิธีไหว้ผีเมืองเป็นประจำทุกปี โดยจะทำพิธี 3 ครั้งต่อปี คือ ช่วงก่อนเข้าพรรษา ออกพรรษา และสงกรานต์ ตั้งแต่ 16 เมษายนเป็นต้นไป 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ผ้าทอลายพื้นเมืองบ้านใหม่หมอกจ๋าม

ผ้าทอพื้นเมืองบ้านใหม่หมอกจ๋าม เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ดีเด่น 1 ใน 10 ของจังหวัดเชียงใหม่ ทอด้วยมือลายเชียงของ และทอดด้วยกี่กระตุก เอกลักษณ์ผ้าทอของชาวไทใหญ่บ้านใหม่หมอกจ๋าม คือ เป็นผ้าทอที่มีลายขวาง ตัดกับเส้นด้ายยืน สีพื้นเป็นสีอ่อน ลวดลายเป็นสีเข้ม ต่อมามีการประดิษฐ์ดัดแปลงลวดลายจากผ้าทอยกดอกและผ้าทอตีนจก โดยปรับรูปแบบใหม่ให้เหมาะสมกับรูปแบบผ้าของชาวไทใหญ่

รูปแบบการทอผ้าของชาวไทใหญ่

ต่ำก้าว : เป็นการทอที่ใช้เทคนิคเก็บมุกให้ได้ลายครบ 1 ชุด การทอชุดต่อไปไม่จำเป็นต้องเก็บไม้อีกแล้ว แต่จะกลับไปเก็บลายที่ทำไว้ขึ้นมา ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนได้ลายครบทั้งผืน

จก : เป็นการทำลวดลายบนผ้าด้วยวิธีการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปในเส้นยืนเป็นช่วง ๆ เพื่อสร้างลวดลายให้กับผ้า

ล้วง : เป็นการลอดเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปในเส้นยืนเป็นระยะ จำนวนเส้นพุ่งจะมากน้อยขึ้นอยู่กับลวดลายในแถวนั้น ๆ

เกาะ : คือวิธีการที่ต่อเนื่องจากการล้วง โดยการนำเส้นพุ่งที่ล้วงขึ้นมาไว้บนเส้นยืน แล้วเกี่ยวหรือคล้องไว้กับเส้นที่ล้วงขึ้นถัดไป เพื่อให้เส้นพุ่งแต่ละเส้นเกาะติดกัน และเชื่อมอยู่กับเส้นยืน

เก็บมุก : หรือเก็บดอก หรือขิด เป็นวิธีการทอผ้าที่ต้องใช้ไม้ในการเก็บลายไปทีละแถว เพื่อให้เกิดลวดลายบนผ้าที่ทอ

มัดก่าน : หรือมัดย้อม คือการมัดเส้นฝ้ายด้วยวัสดุกันน้ำ เพื่อป้องกันไม้ให้ส่วนที่มัดติดสีย้อมผ้าเมื่อนำฝ้ายไปย้อม เกิดเป็นสีขาวยกดอก โดยมัดเส้นยืนหรือเส้นพุ่ง หรือทั้งสองแล้วแต่ลาย การมัดก่านเป็นวิธีการทอผ้าที่ใช้เทคนิคเดียวกับการเก็บมุก แต่จะใช้การยกขาแทนการใช้ไม้ในการเก็บลาย 

ชาวไทใหญ่มีภาษาเป็นของตัวเองทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน ภาษาพูดของไทใหญ่ เรียกว่า ความไท หรือ ความไต

แม้ว่าบ้านใหม่หมอกจ๋ามจะมีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นอาศัยอยู่ร่วมด้วย เช่น ไทลื้อ ไทยอง ไทแซ่ม ไทแงน และชาวเขาบงเผ่า ฉะนั้นภาษาที่ใช้สื่อสารกันในบ้านใหม่หมอกจ๋ามจึงมีหลายภาษา จำแนกได้ดังต่อไปนี้

1. ภาษาไท หรือภาษาไต หรือ ไตหลวง เป็นภาษาหลักที่คนในชุมชนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน

2. ภาษาไทลื้อ ใช้ติดต่อสื่อสารเฉพาะในกลุ่มชาวไทลื้อด้วยกันเท่านั้น ภาษาและตัวอักษรเหมือนพวกไทในฉานตะวันออกแบบเชียงตุง เมืองแงน เมืองยอง และสิบสองปันนาของจีน ตัวหนังสือเหมืออักษรธรรมล้านนา

3. ภาษาล้านนา (คำเมือง) ส่วนใหญ่จะพูดได้ทุกคน ใช่ในการติดต่อสื่อสารเมื่อต้องพบปะกับคนพื้นเมืองหรือคนพื้นราบทั่วไป

4. ภาษาไทแงน ใช้ติดต่อสื่อสารในกลุ่มชาวไทแงนด้วยกันเท่านั้น

5. ภาษาไทยกลาง ใช้ในการติดต่อสื่อสารกันในโรงเรียน และหน่วยงานราชการ 


การพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านใหม่หมอกจ๋าม ทั้งสาธารณูปโภค การศึกษา เศรษฐกิจ ส่งผลให้สภาพสังคมบ้านใหม่หมอกจ๋ามก้าวเข้าสู่การพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มที่จะก้าวเข้าสู่สังคมกึ่งชนบท ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างรูปแบบของสังคมเมืองกับสังคมชนบท โดยเฉพาะในช่วง 10-20 ปี ที่ผ่านมา ทำให้โครงสร้างทางสังคมเกิดการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย และทันต่อการพัฒนา คนรุ่นใหม่ในชุมชนเริ่มมีความหลากหลายในการประกอบอาชีพ ไม่ได้ผูกโยงวิถีชีวิตไว้กับการเกษตรและวัฏจักรของธรรมชาติอย่างที่เคยเป็น มีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น รับราชการ ลูกจ้างรัฐและเอกชน งานภาคการบริการ ฯลฯ ผู้ปกครองส่วนมากส่งลูกออกไปเรียนหนังสือตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ในและนอกชุมชน โดยคาดหวังว่าอย่างน้อยที่สุดควรจบการศึกษาภาคบังคับ ทั้งนี้ก็เพื่อหวังใช้การศึกษาเป็นใบเบิกทางยกระดับฐานะครอบครัว พลวัตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้โครงสร้างทางสังคมของบ้านใหม่หมอกจ๋ามผันแปรอย่างก้าวกระโดด ซึ่งส่งผลให้สภาพวิถีชีวิตของผู้คนมีความหลากหลาย และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น


บ้านใหม่หมอกจ๋ามมีประชากรกว่า 1,000 คน ที่ยังคงตกอยู่ในสภาวการณ์ไร้ซึ่งสัญชาติ ซึ่งภาวะดังกล่าวส่งผลให้ประชากรกลุ่มนี้ถูกละเลยไร้การเหลียวแลจากภาครัฐ ไม่สามารถเข้าถึงรัฐสวัสดิการที่ประชาชนผู้ถือสัญชาติทุกคนพึงได้รับ ทั้งการศึกษา ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงสวัสดิการพื้นฐานอื่น ๆ ที่รัฐจัดสรรให้ รวมถึงยังประสบกับปัญหาเรื่องความเสมอภาค หลักสิทธิมนุษยชน  และหลักศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การที่ประชากรกว่าร้อยละ 40 ในหมู่บ้าน เป็นบุคคลไร้สัญชาติ จึงนำมาซึ่งปัญหาด้านการเข้าถึงการใช้สิทธิและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้เสี่ยงต่อการดูหมิ่น เหยียดหยาม เอารัดเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหง และการถูกเลือกปฏิบัติจากพลเมืองของรัฐนั้น รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานที่ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของบุคคล และละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (วรรณวิษา เหมทานนท์2562: 2)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

แก่นจันทร์ มะลิซอ. (2546). การออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าทอไทใหญ่ บ้านใหม่หมอกจ๋าม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

พัฒ อคฺคธมฺโม (เจริญ). (2561). ศึกษาการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของชุมชนชาวไทใหญ่บ้านใหม่หมอกจ๋าม ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยมหามกฏราชวิทยาลัย.

เรณู อรรฐาเมศร์. (2548). ประวัติศาสตร์ชุมชนไทใหญ่ท้องถิ่นภาคเหนือ ลุ่มแม่น้ำมาว แม่สาว และแม่กก. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

วรรณวิษา เหมทานนท์. (2562). ปัญหาการได้รับสัญชาติของบุคคลไร้สัญชาติตามอนุสัญญาว่าด้วยการลดความไร้สัญชาติ ค.ศ. 1961. [ออนไลน์]. ได้จาก: http://www.lawgrad.ru.ac.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566].

อบต.ท่าตอน โทร. 0-5337-3073