Advance search

กรูด, บ้านกรูด, หัวท่า

บ้านกรูด มีแหล่งท่องเที่ยว ทั้งชายทะเล วัดวาอาราม และชุมชนชาวประมง ทำให้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ

บ้านกรูด
ธงชัย
บางสะพาน
ประจวบคีรีขันธ์
สุพิชญา สุขเสมอ
11 พ.ค. 2023
สุพิชญา สุขเสมอ
10 พ.ค. 2023
บ้านกรูด
กรูด, บ้านกรูด, หัวท่า

จากสมมติฐานของผู้คนในชุมชนบอกเล่าได้ว่า เมื่อก่อนชื่อชุมชน บ้านกรูด เรียกว่า หัวท่า มาจากท่าเรือสินค้าที่มาจากประเทศจีนหรือต่างประเทศจะเข้ามาบริเวณนั้น เพื่อขายสินค้าหรือมีต้นมะกรูดขนาดใหญ่อยู่ที่ท่าเรือ เวลามีเรือสินค้ามารับซื้อของหรือขายของจะมาจอดที่ต้นมะกรูด โดยนำสายเรือโยงมาผูกกับต้นมะกรูด และมีการเติมคำว่า "บ้าน" เข้าไปทีหลัง

ขณะที่อีกแนวทางหนึ่งได้กล่าวว่า ชื่อบ้านกรูดนั้นมาจากต้นผักกรูดที่ขึ้นริมน้ำจำนวนมาก จนกลายเป็นที่มาของคำเรียก บ้านกรูด


ชุมชนชนบท

บ้านกรูด มีแหล่งท่องเที่ยว ทั้งชายทะเล วัดวาอาราม และชุมชนชาวประมง ทำให้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ

บ้านกรูด
ธงชัย
บางสะพาน
ประจวบคีรีขันธ์
77190
11.347050
99.564467
เทศบาลตำบลบ้านกรูด

ชุมชนบ้านกรูด มีสภาพพื้นที่ทางด้านตะวันตก จากเทือกเขาตะนาวศรี พื้นที่ดอนและลาดเทต่อเนื่องจนถึงทางตะวันออกถึงอ่าวไทย สภาพภูมิประเทศหรือนิเวศของชุมชนแห่งนี้จึงประกอบไปด้วย พื้นที่สูงของป่าไม้ พื้นที่ดอน ที่ราบ ที่ลุ่ม ป่าพรุ ชายหาด และทะเล มีแม่น้ำ ลำคลองสายสั้น ๆ หลายสาย ออกสู่ทะเล สภาพพื้นที่หรือหลายนี้ จึงเหมาะต่อทั้งเกษตรกรรม และประมง วิถีเกษตรกรรมและชีวิตที่พึ่งพาสภาพแวดล้อมจึงเป็นวิถีของชุมชนมาช้านานแล้ว 

ที่ตั้ง/อาณาเขตติดต่อ

บ้านกรูด ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทางทิศใต้ตามถนนเพชรเกษม ประกอบด้วยหน่วยปกครองท้องถิ่น 3 ใน 10 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอำเภอบางสะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ เทศบาลตำบลบ้านกรูด องค์การบริหารส่วนตำบลธงชัย องค์การบริหารส่วนตำบลชัยเกษม และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึง เดิมพื้นที่ตำบลธงชัยเป็นสภาตำบลธงชัย ซึ่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลจากกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษา เมื่อปี พ.ศ. 2539 ส่วนเทศบาลตำบลบ้านกรูด ได้รับการยกฐานะจากสุขาภิบาลบ้านกรูด ตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาลตำบล เมื่อ ปี พ.ศ. 2542 และองค์การบริหารส่วนตำบลชัยเกษม เดิมเป็นส่วนหนึ่งของตำบลธงชัย หากได้รับการจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเมื่อปี พ.ศ.2538

ชุมชนบ้านกรูด มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

ด้านเหนือ ติดต่อกับ ตำบลอ่างทอง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ด้านใต้ ติดต่อกับตำบลกำเนิดนพคุณ ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ด้านตะวันออก ตามแนวคลองกรูดและเลียบริมฝั่งอ่าวปากคลองบ้านกรูคริมฝั่งทะเลของอ่าวไทย ห่างจากทางรถไฟสายใต้ ตอน กิโลเมตร 363.360 ในแนวตั้งฉากไปทางทิศตะวันออกฉียงใต้

ด้านตะวันตก ติดต่อกับ สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพเมียนมาร์

ขนาดพื้นที่

เมื่อรวมพื้นที่ทั้งหมดของหน่วยปกครองส่วนท้องถิ่นได้แก่ เทศบาลตำบลบ้านกรูด องค์การบริหารส่วนตำบลธงชัย และองค์การบริหารส่วนตำบลชัยเกษม บริเวณบ้านกรูดมีพื้นที่รวมประมาณ 327.4 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 204,629.5 ไร่

ลักษณะภูมิปประเทศ

พื้นที่โดยทั่วไปแบ่งเป็น ที่ราบชายฝั่งทะเล พื้นที่ลาดชันจากด้านตะวันตกไปยังด้านตะวันออก ติดกับทะเลอ่าวไทย มีเทือกเขาตะนาวศรีกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า มีลำครองสายสั้นๆ หลายสาย ไหลจากหุบเขาลงสู่ที่ราบและทะเล พื้นที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง มีลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายเหมาะแก่การทำสนมะพร้าว และเป็นแหล่งเกษตรกรรมและแหล่งทำประมง  

ลักษณะภูมิอากาศ

โดยทั่วไปสภาพอากาศไม่ร้อนและไม่หนาวจนเกินไป อุณหภูมิเฉลี่ย ประมาณ 18 - 40 องศาเซลเชียสเป็นเขตมรสุม เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเล ได้รับอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ทำให้เกิดฤดูกาล 3 ฤดู คือ

ฤดูร้อน ช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม - พฤษภาคม อากาศร้อนและค่อนข้างแห้งแล้ง

ฤดูฝน ช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายน -ตุลาคม ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย ประมาณ 70-80 มิลลิเมตรซึ่งจะมีน้ำหลากมาตามคลองในปริมาณมาก

ฤดูหนาว ช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 24-25 องศาเซลเชียส อากาศจะแห้งและหนาว

จำนวนประชากร อ้างอิงจากปี พ.ศ. 2557 รวม 3 หน่วยปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ประมาณ 8,157 ครัวเรือน ประชากร ผู้ชาย 10,495 คน ผู้หญิง 10,635 คน รวมเป็นจำนวน 21,130 คน

ลักษณะครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขยาย โดยจะอาศัยเป็นครอบครัวใหญ่ มีทั้ง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลูก หลาน และมีต้นตระกูลเดียวกัน ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและชุมชนจึงมีความแน่นแฟ้น

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำสวนมะพร้าว สับปะรด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน นาข้าว กลัวยน้ำว้า สะตอ อ้อย พริก และเกษตรกรจะประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ เป็นอาชีพเสริมควบคู่กับการประกอบอาชีพเกษตรอื่น ๆ เช่น เลี้ยงโค ไก่ กบ จระเข้เพื่อการส่งออก แกะ ตะพาบน้ำ นากุ้ง อีกทั้งมีการประกอบอาชีพพาณิชยกรรม และรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมเหล็กซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอบางสะพาน มีการประกอบการค้าพาณิชกรรมขนาดเล็กและขนาดกลางอยู่บ้าง อาทิ ปั๊มน้ำมัน โรงงานอุตสาหกรรมผลิตไม้สับ โรงงานใยมะพร้าว (อบต.ธงชัย) และมีหน่วยธุรกิจในเขตอบต.ชัยเกษม ได้แก่ สถานีฟฟ้าแรงสูง และสถานีไฟฟ้าย่อยภูมิภาคบางสะพาน นอกจากนั้นมีการทำประมงพื้นบ้าน โดยบริเวณชายหาดบ้านกรูดระยะประมาณ 4,800 เมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีถนนเลียบขายหาด มีสถานประกอบการโรงแรม ที่พัก และร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว จำนวนประมาณ 31 แห่ง โดยอ้างอิงจากปี พ.ศ. 2557 และแหล่งท่องเที่ยวแหลมปากคลองเป็นที่สาธารณประโยชน์ เป็นแหล่งค้าขายสินค้าอาหารทะเล ที่ชาวประมงนำเรือมาขึ้นชายฝั่งเพื่อขายอาหารทะเลสดที่ได้มาจากการออกเรือ และมีแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ ได้แก่ วัดทางสาย ศาสนสมบัติเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่เป็นพุทธสถานธรรมอุทยาน พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศพระพุทธกิตติสิริชัย วัดถ้ำคีรีวงศ์ ถ้ำเพลินจิต วัดชัยภูมิ (หนองระแวง) วัดหนองมงคล น้ำตกขาอ่อน อยู่ในเขตรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง เป็นต้น

รายได้เฉยของประซากร ประมาณ 38,000 - 39,000 บาทต่อคนต่อปี (อบต.ชัยเกษม) มีกลุ่มอาชีพ กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มออมทรัพย์ อาทิ กลุ่มเกษตรกรทำสวน กลุ่มสหกรณ์ชาวสวนมะพร้าวประจวบคีรีขันธ์ กองทุน สวัสดิการชุมชน เป็นต้น

วิถีชีวิตของชาวบ้านกรูดที่อาศัยอยู่บริเวณเลียบชายหาดบ้านกรูดนั้น มีทะเลเป็นหลักในการดำรงชีวิต ทั้งเพื่อการประมง และการประกอบอาชีพเกี่ยวกับประมง เช่นการทำอวน หรือโกดังรับซื้อปลาทะเล การแปรรูปอาหารทะเลแห้งเป็นต้น แต่เมื่อมีการตัดถนนเลียบชายหาดบ้านกรูด การคมนาคมมีการพัฒนามากขึ้น นำไปสู่การไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และสามารถพัฒนามาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ในปัจจุบันซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นวิถีชีวิตของชาวประมง ที่พักอาศัยในบ้าน (พะลำ) บริเวณชุมชนหัวท่า บ้านปากคลอง ที่ยังคงดำเนินวิถีชีวิตอย่างเรียบง่าย อีกทั้งการก่อตั้งโรงแรม ที่พัก ร้านค้า ร้านอาหารต่างๆเป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเพื่อรองรับหรือตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว ซึ่งมักจะเป็นการท่องเที่ยวแบบกลุ่มขนาดใหญ่ กลุ่มสัมมนาจากหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ กลุ่มทัวร์ และใช้ระยะเวลาสั้น ๆ เน้นความสะดวกสบาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน โดยการท่องเที่ยวแบบเป็นกลุ่มคณะขนาดใหญ่ส่งผลกระทบความสะอาดของชายหาด ความอึกทึกของเสียง และการขยายตัวของรีสอร์ทในบ้านกรูดไม่น้อย 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญา

จากลักษณะทางกายภาพของชุมชนบ้านกรูด ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเลทางฝั่งตะวันออกของประเทศไทย ทำให้วิถีชีวิต และการประกอบอาชีพของคนในชุมชนเชื่อมโยงกับทะเล ดังนั้นชาวบ้านกรูดทั้งตั้งเดิมและในปัจจุบันส่วนหนึ่งจะยึดอาชีพเป็นชาวประมง เนื่องจากระบบนิเวศในพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษ ลม ฟ้า อากาศ และน้ำ ทุกปัจจัยต่างมีผลโดยตรงต่อการประกอบอาชีพประมง และสิ่งที่ตามมาก็กระบวนการเรียนรู้ทักษะทางประมงที่ถ่ายทอดต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายมาเป็นภูมิปัญญาที่มีพลวัตในที่สุด เช่น ภูมิปัญญาของชาวบ้านที่เกี่ยวกับปลาทู เพราะบริเวณชุมชนบ้านกรูดถือเป็นแหล่งวางไข่และอนุบาลปลาทูที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยถึง 75 เปอร์เซ็นต์ เนื่องมาจากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ส่งผลให้มีแพลงตอนจำนวนมาก ซึ่งแพลงตอนเองถือเป็นอาหารที่สำคัญของปลาทูทำให้ปลาทูในบริเวณดังกล่าวเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี อีกทั้งแหล่งวางไข่บริเวณดังกล่าวนี้ยังเป็นแหล่งวางไข่ของปลาทูที่เดียวในประเทศไทยที่ปลาทูวางไข่ตลอดทั้งปี ต่างจากบริเวณอื่นที่ปลาทูจะมีฤดูวางไข่ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน และระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม

และชุมชนบ้านกรูดมีวัดจำนวน 14 แห่ง ได้แก่ วัดธงชัยธรรมจักร วัดดอนยาง วัดถ้ำคีรีวงศ์ วัดชัยภูมิ(หนองระแวง) วัดหนองมงคล วัดทางสาย วัดรักดีคีรีวัน วัดดงไม้งาม วัดห้วยไก่ต่อ วัดเวฬุวัน วัดมรสวบ วัดหนองจันทร์ วัดหนองโปร่ง วัดสามขุม และมีสำนักสงฆ์ 3 แห่ง (ในพื้นที่ อบต.ชัยเกษม) ได้แก่ สำนักสงฆ์ราษฎร์ศรัทธาธรรม สำนักสงฆ์เขามัน และสำนักสงฆ์ห้วยตะเคียน ไม่มีมัสยิดและโบสถ์คริสต์

ทุนสังคม

แต่ละพื้นที่ปกครองของชุมชนบ้านกรูด ประกอบไปด้วยชุมชนย่อย ได้แก่ เทศบาลตำบลบ้านกรูด มี 12 ชุมขน อบต. ธงชัย มี 10 หมู่บ้าน และอบต.ชัยเกษม มี 12 หมู่บ้าน เทศบาลตำบลบ้านกรูดประกอบด้วยชุมชนย่อย 12 ชุมชน เพื่อพัฒนาเทศบาลตำบลบ้านกรูดเต็มพื้นที่ ได้แก่

1) ชุมชนบ้านปากคลอง

2) ชุมชนบ้านนางร่ม

3) ชุมชนวัดธงชัยธรรมจักร

4) ชุมชนบ้านกลางอ่าวเหนือ

5) ชุมชนบ้านกลางอ่าวใต้

6) ชุมชนบ้านกรูด

7) ชุมชนบ้านดอนทราย

8)ชุมชนบ้านดอนสูง

9) ชุมชนวัดดอนยาง

10) ชุมชนบ้านดอนแหลมใหญ่

11) ชุมชนบ้านดอนชะมวง

12) ชุมชนบ้านทุ่งเรือยาว

ชุมชนบ้านกรูดมีสถานีตำรวจภูธรตำบลธงชัย สภ.ธงชัย (เทศบาลตำบลบ้านกรูด) จุดตรวจตำรวจตระเวนชายแดนช่องหนองบอนและช่องชี (อบต.ชัยเกษม) ชุดปฏิบัติการชายแดนบ้านมรสบ (อบต.ชัยเกษม) สายตรวจบ้านสี่แยกบ้านกรูด และบ้านหินตั้ง (อบต.ชัยเกษม) ด่านจุดตรวจอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เกิดการหมุนเวียนในเชิงเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นรายได้เสริมให้กับชาวประมงและการเกษตรกรรมอีกด้วย ในส่วนของผลกระทบแง่ลบต่อต้านเศรษฐกิจ คือ ชุมชนไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะรับมือต่อการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ผลประโยชน์จึงตกไปอยู่ที่คนนอกชุมชน รัฐ หรือองค์กรเอกขน ซึ่งจากการสำรวจ พบว่าส่วนใหญ่ชาวบ้านกรูดที่เป็นเจ้าของธุรกิจการท่องเที่ยว แต่ยังมีผู้ประกอบการบางส่วนซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่ เข้ามาประกอบธุรกิจบริเวณเลียบชายหาด


บริเวณชุมชนหมู่ที่ 2 บ้านปากครอง และหมู่ที่ 3 บ้านกรูด ของอบต.ธงชัย ดั้งเดิมเป็นชุมชนประมง มีวิถีชีวิตสังคมแบบเรียบง่าย แต่ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของพื้นที่ มีการแข่งขันทางธุรกิจการท่องเที่ยวมากขึ้น และมีความขัดแย้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีโรงงานเกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียง ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของชาวบ้านในพื้นที่ขัดแย้งทางความคิดกันในบางส่วน


มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล 3 แห่งในพื้นที่อบต.ธงชัย คือ ตำบลธงชัย บ้านถ้ำคีรีวงศ์ และหนองมงคล และมีสถานีอนามัย 2 แห่ง ในตำบลชัยเกษม คือ สถานีอนามัยตำบลชัยเกษม และบ้านห้วยไก่ต่อ และมีศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของเทศบาล และแต่ละอบต.


ภายในบ้านกรูด มีสถานศึกษาระดับก่อนวัยเรียน (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา) มีศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน และศูนย์นันทนาการด้านกีฬาของเทศบาล


เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่นการประมงพื้นบ้าน การเกษตร (โดยเฉพาะมะพร้าว) และยังเกิดความร่วมมือกันรวมกลุ่มกันภายในชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ และวิถีชีวิต วัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวบ้านกรูดให้คงอยู่ เช่น กลุ่มอนุรักษ์ต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า หรือกลุ่มรักษ์เลของเยาวชนในบ้านกรูดเป็นต้น ในส่วนของผลกระทบแง่ลบต่อด้านสังคมและวัฒนธรรมคือ ทางผู้ประกอบการบางราย เช่น โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร มีการจัดกิจกรรมต่างๆที่สนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการสร้างความเดือดร้อนและส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนบางส่วน เช่น ร้านอาหารที่ให้บริการในช่วงค่ำ มีการเปิดนตรีสด เสียงเพลง หรือคาราโอเกะ ที่มีเสียงดัง ทำให้รบกวนชาวบ้านที่ไม่ได้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยวซึ่งอาศัยอยู่บริเวณเลียบชายหาด


ชุมชนบ้านกรูด มีลักษณะพิเศษทางระบบนิเวศที่เรียกว่า พื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ Wetland ตั้งอยู่ในบริเวณตำบลแม่รำพึง โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพรุชุ่มน้ำที่มาจากทะเล ทำให้เกิดระบบที่ผสมผสานระหว่างน้ำกร่อยและน้ำจืด มีบทบาทสูงในการเก็บกักน้ำฝน รวมทั้งการป้องกันน้ำเค็มรุกเข้าแผ่นดิน พบพรรณไม้ป่าพรุทั้งสิ้น 194 ชนิด จาก 155 สกุล 71 วงศ์ แบ่งเป็นเฟิร์น 4 วงศ์ พืชเมล็ดเปลือย 1 วงศ์ ใบเลี้ยงคู่ 53 วงศ์ ใบเลี้ยงเดี่ยว 13 วงศ์ เป็นพืชหายาก 3 ชนิด น้ำเข้าไปปลูก 2 ชนิด พบสัตว์ 39 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 5 ชนิด นก 34 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 17 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 9 ชนิด พบสถานภาพแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ 2 ชนิด พบปลา 19 ครอบครัว 29 ชนิด และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าพรุดังกล่าวจึงทำให้พรุแม่รำพึงมีถานสภาพทางกฎหมายเป็นพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติที่ได้ประกาศเป็นเขตวนอุทยานป่าแม่รำพึง ซึ่งมีเนื้อที่รวมทั้งป่าพรุและป่าชายเลน 4,450 ไร่ จัดอยู่ในเขตอนุรักษ์ และได้ถูกจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ ที่ประกาศขึ้นในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งระบบนิเวศที่สมบูรณ์ดังกล่าวทำให้บริเวณพื้นที่แหลมแม่รำพึงเป็นแหล่งวางไข่ของปลาทูแหล่งใหญ่ที่สุดในอ่าวไทย นอกจากบริเวณหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรประมาณ 25 เปอร์เซนต์ ที่สำคัญคือบริเวณแถบนี้เป็นแหล่งวางไข่ปลาทูได้ตลอดทั้งปี ส่วนที่อื่น ๆ จะวางไข่ได้เพียง 3 - 4 เดือนเท่านั้น จึงกล่าวได้ว่าแหลมแม่รำพึงเป็นแหล่งวางไข่และแหล่งอนุบาลปลาทูที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในประเทศ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแพลงตอนในน้ำในคลองแม่รำพึง ที่มีปริมาณ 1,500,000 - 3,000,000 เซลล์ต่อหนึ่งลูกบาศก์เมตรนอกจากอุณหภูมิของน้ำ ระบบนิเวศใต้ผิวดินที่เหมาะสมอีกด้วย จากความอุดมสมบูรณ์ทางทะเล และระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทั้งป่าพรุ ดอนหอยและแนวปะการัง ที่ส่งผลสำคัญต่อทรัพยากรทางทะเลที่ครบครัน และส่งผลต่อการประกอบอาชีพประมงของชาวบ้านในชุมชน ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตที่ต้องสัมพันธ์อยู่กับทะเลนี้เองที่ทำให้ชาวบ้านในชุมชนต้องปรับตัวเองและเรียนรู้ตัวเองไปตามธรรมชาติรอบตัว


ป่ากลางอ่าว, ป่าเขาแม่รำพึง
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ดำรงพล อินทร์จันทร์ และคณะ. (2558). มานุษยวิทยานิเวศว่าด้วยวิถีสังคมวัฒนธรรมและการจัดการทรัพยากรชุมชนบ้านกรูดกรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2566 , จากฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research