ชุมชนที่มีวัดเป็นศูนย์กลาง วิถีชีวิตดั้งเดิมเปลี่ยนผ่านจากอดีตสู่ปัจจุบัน จากวิถีเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน สู่ชุมชนที่มีโรงงานอุตสาหกรรมก่อตั้งหลายแห่ง
ตามตำนานเกี่ยวกับที่มาของชุมชนนี้ เล่าสืบต่อกันมาว่า มีพี่น้องสองคนนั่งพิงอยู่ใกล้จอมปลวกใหญ่ พอพี่ชายนอนหลับไป น้องชายมองเห็นตัวแมงดาวเรืองคลานออกมาจากจมูกพี่ชาย และคลายหายเข้าไปในจอมปลวก ต่อมาตนเองก็นอนหลับแล้วฝันว่ามีภูติมาบอกที่ซ่อนขุมทรัพย์ แล้วขอให้ขุดเอามาขายเพื่อนำเงินมาสร้างวัด พอตื่นขึ้นมาสองพี่น้องจึงชวนกันมาขุดที่จอมปลวกและพบทรัพย์สมบัติมากมาย จึงนำมาขายเพื่อนำเงินมาสร้างวัด และตั้งชื่อวัดว่า"วัดเจตภูติ" ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนมาเป็น "วัดตะพูด" และวัดท่าพูดตามลำดับ
ชุมชนที่มีวัดเป็นศูนย์กลาง วิถีชีวิตดั้งเดิมเปลี่ยนผ่านจากอดีตสู่ปัจจุบัน จากวิถีเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน สู่ชุมชนที่มีโรงงานอุตสาหกรรมก่อตั้งหลายแห่ง
ชุมชนท่าพูด ชุมชนที่มีศาสนสถานเป็นศูนย์กลางของชุมชน คือวัดท่าพูด ตั้งในตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหมดนครปฐม อยู่ระหว่างวัดไร่ขิง และวัดดอนหวาย ชุมชนท่าพูดมีแม่น้ำนครชัยศรีหรือแม่น้ำท่าจีนเป็นแม่น้ำสายหลักในการทำเกษตรกรรมและการคมนาคม เป็นแม่น้ำที่สำคัญเพราะนอกจากจะไว้ทำเกษตรกรรมและเป็นเส้นทางไปมาหาสู่กันของคนในชุมชนแล้ว ยังเป็นเป็นเส้นทางที่ใช้ในการลำเลียงข้าว ผลไม้ จากสวนออกมาสู่ตลาด รวมถึงใช้ในการขนถ่ายสินค้าและค้าขาย ชุมชนท่าพูดมีลำคลองท่าพูดไหลผ่าน สามารถเชื่อมโยงไปถึงคลองอ้อมน้อย กระทุ่มแบน และมีคลองแยกไปตำบลกระทุ่มล้ม และยังผ่านไปคลองทวีวัฒนา บางแค แล้วเข้ากรุงเทพมหานครได้ ทำให้บ้านเรือนส่วนใหญ่นิยมสร้างอยู่บริเวณริมคลองท่าพูดเพื่อความสะดวกในการสัญจร ขนส่ง และนำน้ำมาใช้ในการทำเกษตร รวมถึงการประกอบพิธีกรรมทางน้ำ เช่น งานแต่ง งานบวช งานศพ เป็นต้น
วัดท่าพูดมีประวัติที่พอจะสืบสาวได้ว่า เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา หลังกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 มีผู้คนกลุ่มหนึ่งอพยพมาตั้งรกรากที่บริเวณนี้ โดยมีพระภิกษุมาด้วยรูปหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "พระอาจารย์รด" เป็นที่นับถือและศูนย์รวมทางจิตใจของชาวบ้านในแถบนั้น
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ชุมชนท่าพูดมีทั้งหมด 2 ซอย คือ ซอยไร่ขิง 28 (ซอยประชาร่วมใจ) และซอยไร่ขิง 30 ซึ่งทั้งสองซอยมีพื้นที่ติดกับคลองวัดท่าพูดและมีสภาพพื้นที่ที่ต่างกันมาก เนื่องจากซอยไร่ขิง 28 พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สำหรับก่อตั้งบ้านเรือนและเป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรม ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่จึงเป็นคนที่มาอยู่แต่เดิม ในส่วนของซอย 30 นั้นพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ก่อตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีหมู่บ้านที่เป็นห้องแถวไว้ให้สำหรับบุคคลภายนอกได้เช่า ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่เป็นผู้คนจากภายนอกชุมชนที่อพยพเข้ามาหางานทำ ส่วนใหญ่จะทำงานในโรงงานละแวกนั้นหรือประกอบอาชีพค้าขาย
สถานที่สำคัญ
- วัดท่าพูด เป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเสียเอกราชครั้งที่ 2 เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่ เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของคนในชุมชน เป็นสถานที่จัดงานบุญต่าง ๆ และเป็นสถานที่ทำบุญของชาวบ้านในพื้นที่และหมู่บ้านใกล้เคียง
- โรงเรียนวัดท่าพูด ชาวบ้านจะส่งลูกหลานเข้าศึกษาที่วัดท่าพูด ซึ่งในอดีตโรงเรียนวัดท่าพูดเคยก่อตั้งอยู่บริเวณวัดใกล้ริมน้ำมาก่อน หลังจากนั้นเจ้าอาวาสผล ได้ให้ความช่วยเหลือโดยอุทิศพื้นที่ด้านข้างวัดให้สร้างเป็นโรงเรียน และทางภาครัฐยังได้เข้ามาช่วยเหลือในการก่อสร้างโรงเรียน (พ.ศ. 2433 - 2444) แต่เดิมโรงเรียนมีชื่อว่า “โรงเรียนผลประชานุกูล” แต่ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “โรงเรียนวัดท่าพูด” ระดับการศึกษาของโรงเรียนในอดีตมีเพียงอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 4 หลังจากนั้นมีการขยายให้ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และในปัจจุบันมีถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เมื่อจบแล้วจะต่อการศึกษาระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนวัดไร่ขิง หรือ ศึกษาต่อในระดับวิชาชีพที่มีอยู่ภายในจังหวัด และเมื่อจบมัธยมปลายแล้วจะส่งลูกไปเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดอื่น ๆ
- พิพิธภัณฑ์วัดท่าพูด ได้ทำการก่อตั้งขึ้นหลังจากการมรณภาพของท่านพระครูพิศาลสาธุวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดท่าพูด มีการใช้หอไตรของวัดเป็นพิพิธภัณฑ์ชั่วคราว ในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ได้มีการรวบรวมโบราณวัตถุเก่าแก่และมีค่า นำมาทำทะเบียนและเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
ประชากร
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากร ชุมชนท่าพูด จำนวน 4,740 หลัง ประชากรรวมทั้งหมด 5,515 คน แบ่งเป็นประชากรชายได้ 2,552 คน แบ่งเป็นประชากรหญิงได้ 2,963 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2565)
ระบบเครือญาติ
ครอบครัวส่วนใหญ่ในชุมชนจะมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย มีการตั้งบ้านเรือนในลักษณะของเครือญาติ โดยเครือญาติจะอยู่อาศัยในบริเวณเดียวกัน จึงทำให้ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนค่อนข้างสนิทสนมกันมาก มีการพบปะสังสรรค์ การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในรูปแบบใช้แรงงานหรือผลผลิตทางการเกษตร โดยที่ดินและที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นที่ดินของพ่อแม่ การแบ่งมรดกในอดีตแบ่งได้ 2 แบบ คือ จะมีการแบ่งให้ลูกคนสุดท้องมากที่สุด และแบ่งให้ลูกคนโตมากที่สุด แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นแบ่งให้เท่า ๆ กัน ลูกหลานเมื่อได้รับมรดกแล้วก็จะขายที่ดินส่วนที่ได้รับมาแล้วนำเงินไปซื้อที่ดินในส่วนอื่น ๆ เพื่อตั้งที่อยู่อาศัยใหม่ แต่ที่อยู่อาศัยใหม่ก็ยังเป็นเครือญาติเดียวกันแต่จะมีการแบ่งรั้วระหว่างบ้านแต่ละหลังอย่างชัดเจน
ปัจจุบันในชุมชนส่วนใหญ่เหลือแต่ผู้สูงอายุ ที่พักอาศัยของคนในพื้นที่มักเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษและได้ส่งต่อที่ดินลงไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน บางครอบครัวจะขายบ้านและที่ดินผืนนั้น และแบ่งเงินออกเป็นส่วนเท่า ๆ กัน แต่อาจเหลือที่ดินส่วนหนึ่งไว้ให้พี่น้องคนใดคนหนึ่งอาศัยอยู่
กลุ่มอาชีพ
ในอดีตอาชีพหลักของคนในชุมชนแห่งนี้ คือการทำนา โดยมีจุดประสงค์หลักในการทำนา ทำสวนก็เพื่อให้ได้ผลผลิตมาบริโภคภายในครอบครัวเป็นหลัก และผลผลิตส่วนเกินจะนำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าและบริการที่ไม่มีในชุมชน แต่ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทำให้เงินกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ชาวบ้านจึงไม่สามารถนำผลผลิตส่วนเกินมาแลกเปลี่ยนกันได้อย่างในอดีต อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทางการเกษตรที่ถูกทำให้เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้อาชีพหลักของชาวบ้านในชุมชนเปลี่ยนไป ชาวบ้านจึงหันไปประกอบอาชีพอื่น ๆ มากขึ้น ทำให้ภายในชุมชนมีอาชีพที่หลากหลาย เช่น
- ทำนา อดีตชาวบ้านทำนาหว่านปีละครั้งและทำเองทุกขั้นตอนของการทำนา รวมถึงการใช้แรงงานสัตว์เพื่อทุ่นแรงในการทำนา แต่ปัจจุบันในขั้นตอนของการดำนาและเกี่ยวข้าวชาวบ้านจะจ้างแรงงานคน อาจเป็นคนในชุมชนที่รับจ้างทำนา หรือคนนอกพื้นที่ที่เข้ามารับจ้าง เพราะการจ้างแรงงานช่วยให้ชาวบ้านประหยัดเวลาในการทำนาในแต่ละครั้ง และมีการใช้เครื่องมือที่ช่วยในการทำนาแทนการใช้แรงงานสัตว์ ตั้งแต่การใช้รถไถ การหว่านข้าว และรถเก็บเกี่ยวขาว จึงได้เปลี่ยนจากการทำนาหว่านมาเป็นการทำนาดำแทน เพราะสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านได้ผลผลิตมากขึ้น อีกตัวเลือกหนึ่งคือ มีการเปิดบริษัทรับจ้างในการทำนา ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายและชาวบ้านเป็นเพียงเจ้าของที่นา ไม่ต้องลงมือทำเองแต่มีค่าใช้จ่ายสูง ประกอบกับราคาปุ๋ยและยาฆ่าแมลงราคาสูงขึ้น การถูกรบกวนจากวัชพืชและแมลงต่าง ๆ เช่น เพลี้ยกระโดด ข้าวเป็นโรค หรือเป็นเชื้อรา ทำให้ได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร รวมถึงภาวะราคาข้าวตกต่ำไม่คุ้มกับทุนที่ต้องเสีย จึงมีการทำอาชีพอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือหันไปทำอาชีพอื่นแทน
- ทำสวน การทำสวนมีรายได้ดีกว่าการทำนา โดยเฉพาะการทำสวนผักที่ได้ผลผลิตรวดเร็วและเก็บผลผลิตได้เรื่อย ๆ ชาวบ้านในชุมชนจึงหันมาทำสวนแทน ที่นิยมปลูกคือ ฝรั่ง มะม่วง ชมพู่ มะพร้าว กล้วยน้ำว้า บวบเหลี่ยม ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง เป็นต้น สวนผลไม้จะทำเป็นลักษณะของสวนยกร่อง มีน้ำหล่อรอบแปลงที่ปลูกพืช โดยน้ำในคลองจะถูกปล่อยเข้าไปในท้องร่องสวนในเวลาน้ำขึ้น และน้ำจะถูกกักเก็บไว้ในสวนด้วยท่อน้ำที่เปิด-ปิดได้ ในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่เลือกใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพที่ทำเองได้ในครัวเรือนและมีราคาถูก แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง เพราะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตและผลผลิตมีลักษณะสวยงาม ทำให้ขายได้ราคาดี แต่ภายหลังปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับกำไรที่จะได้ ชาวบ้านจึงเห็นว่าไม่คุ้มกับเงินลงทุนที่เสียไป เมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่หันไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแทน ทำให้ขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรม จึงต้องเลิกทำสวนไปเพราะปัญหาของการขาดแคลนแรงงานและผลกระทบจากภาวะการตกต่ำของเศรษฐกิจ
- การปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ เป็นทางเลือกใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ โดยไม้ดอกไม้ประดับที่คนในชุมชนปลูกเพื่อจำหน่าย คือ ชวนชมและกล้วยไม้พันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ ทาบกิ่งและติดตา ความรู้ในการปลูกและดูแลได้มาจากการศึกษาดูงานจากสวนอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จ แต่การปลูกไม้ดอกไม้ประดับประสบปัญหาเรื่องแมลงต่อยดอก จึงมีการใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยชีวภาพเพื่อแก้ปัญหา ในอดีตใช้เป็นปุ๋ยหมัก แต่ปัจจุบันเลิกใช้แล้วเนื่องจากหายากเพราะมีจำนวนน้อยลง จึงต้องเปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยชีวภาพแบบอัดเม็ดแทน อีกทั้งปุ๋ยเคมีก็มีราคาสูงขึ้นมาก ซึ่งดอกชวนชมคนในชุมชนจะเป็นคนปลูกและขายเอง ส่วนดอกกล้วยไม้จะเป็นคนนอกที่เข้ามาซื้อที่ดินของชาวบ้านเพื่อปลูกดอกกล้วยไม้ส่งออกต่างประเทศ
- ค้าขาย ปัจจุบันพบว่าชาวบ้านนิยมหันมาประกอบอาชีพค้าขายกันมากขึ้น เนื่องจากว่าไม่ยากลำบากเหมือนการทำนาทำสวน เพียงแค่มีเงินสำหรับลงทุนเล็กน้อยก็สามารถเปิดร้านขายของชำขนาดเล็กได้ โดยซื้อของมาจากตลาดเก้าแสน (อ้อมน้อย) ส่วนใหญ่เป็นพวกของแห้งและเครื่องดื่มต่าง ๆ ไม่ใช่ของสดที่เน่าเสียง่าย เนื่องจากพวกของแห้งถ้าขายไม่หมดสามารถเก็บไว้ขายต่อได้ แต่ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการก่อตั้งห้างสรรพสินค้าทำให้ร้านขายของชำในชุมชนขายไม่ค่อยดีนัก แต่ยังพอขายได้เพราะมีลูกค้าประจำและของบางอย่างสามารถหาซื้อได้สะดวกกว่าไปห้าง นอกจากนี้บริเวณหน้าวัดท่าพูดมีร้านขายสังฆทานตั้งอยู่ โดยเครื่งสังฆานที่นำมาขายชาวบ้านในชุมชนจะซื้อของมาจัดเอง เพราะหากเป็นแบบสำเร็จจะมีแต่ของหมดอายุ และชาวบ้านยังนำผลไม้ที่ปลูกไว้หรือรับมาจากสวนอื่นไปขายที่ตลาดนัด หรือบางคนก็ทำอาหาร และขนมไทยเพื่อสร้างรายได้เสริมแก่ครอบครัว
- รับจ้าง ชุมชนเริ่มมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้คนในชุมชนบางส่วนเลือกที่จะเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม โดยคนงานส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาว มีทั้งคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ (โดยเฉพาะคนอีสาน) นอกจากนี้ยังมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากเข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ชาวพม่า ลาว เป็นต้น มีการทำงานเป็นกะเช้าและกะบ่าย นอกจากนี้โรงงานบางแห่งที่มีคนในพื้นที่ทำงานอยู่จะมีการส่งงานให้กับแม่บ้านที่ว่างงานไปทำที่บ้าน และบรรดาเด็ก ๆ ในชุมชนที่อายุ 10 ปีขึ้นไป นิยมหารายได้ช่วงปิดภาคเรียนด้วยการเข้าไปทำงานพิเศษในโรงงานอุตสาหกรรม และมีบางส่วนไปทำที่โรงงานกล้วยไม้ อีกทั้งคนในชุมชนยังมีการรับจ้างต่อเติมบ้าน หรือสร้างบ้าน มีการรับจ้างทั้งในละแวกบ้านและต่างจังหวัด ยังมีจักรยานยนต์รับจ้าง อาชีพขับรถสองแถว ต้นสายอยู่ที่อ้อมน้อย ปลายทางอยู่ที่วัดไร่ขิง
- เจ้าของห้องเช่า/หอพัก ส่วนใหญ่มีการสร้างห้องพักเป็นห้องแถวในแนวยาวติดกันไม่เกิน 10 ห้องต่อหนึ่งแถว ส่วนใหญ่เป็นห้องแถวชั้นเดียว มีพื้นที่ด้านหน้าสำหรับทำกิจกรรม ห้องเช่าในพื้นที่ต้องได้รับอนุญาตในการก่อสร้างจากองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ขิง ส่วนใหญ่ห้องแถวจึงเป็นของชาวบ้านในพื้นที่เอง โดยแต่เดิมห้องแถวเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่นา-สวน ทำให้เกิดเป็นอาชีพที่รับรองการเข้ามาของคนต่างถิ่นที่มาพร้อมกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม จึงทำให้ชาวบ้านในชุมชนบางส่วนไปทำห้องแถว เนื่องจากว่าแรงงานที่เข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม จะเช่าห้องแถวอยู่ในละแวกนั้น
การเข้ามาทำงานในชุมชนของคนต่างถิ่น
ในปัจจุบันมีคนต่างถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยและหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม อาชีพรับจ้างทั่วไป หรือค้าขาย ส่วนมากจะเข้ามาตามคำบอกเล่าของญาติมิตรที่เข้ามาทำงานอยู่ก่อนหน้าแล้วได้รับผลตอบแทนที่ดี ส่วนใหญ่คนต่างถิ่นที่เข้ามาทำงานจะเป็นแรงงานจากทางภาคอีสาน โดยจะเข้าพักอาศัยตามตึกแถวหรือบ้านเช่าภายในชุมชน นอกจากนี้ยังมีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในชุมชน
วัดท่าพูด เป็นศูนย์กลางของชุมชนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทั้งในแง่ของศูนย์รวมทางจิตใจของคนในชุมชนที่ส่วนใหญ่จะเป็นพุทธศาสนิกชน นอกจากวัดจะเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของตลาดนัด ที่เป็นพื้นที่เปิดให้กับชาวบ้านได้มีโอกาสในการทำมาหากิน ทั้งเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมในการค้าขาย รวมทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เก็บและบันทึกเรื่องราวของชุมชนไว้ให้ผู้คนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าไปศึกษา
เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อระบบสาธารณูปโภคเข้ามาในชุมชน ทั้งถนน ไฟฟ้า น้ำประปา เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนในช่วงที่มีถนนตัดผ่านชุมชน ซึ่งถนนสายแรกคือ ถนนสายไร่ขิง-ทรงคะนอง ที่ทำให้การคมนาคมขนส่งไปสู่ภายนอกเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้นกว่าแต่ก่อนที่มีเพียงคลองขุดและแม่น้ำนครชัยศรีสัญจรเป็นเส้นทางหลัก จากแต่ก่อนการคมนาคมและขนส่งผลผลิตทางการเกษตรที่จะนำออกไปขายที่กรุงเทพมหานคร จะต้องล่องเรือออกจากคลองวัดท่าพูด ไปเข้าคลองกระทุ่มล้ม ทวีวัฒนา บางไผ่ บางกอกน้อย เข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 6 ชั่วโมง หรือใช้ทางเกวียนในการนำผลผลิตไปขายที่ตลาดท่าเกวียน
แต่เมื่อมีถนนเข้ามาแล้ว ทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น และการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรจึงปรับเปลี่ยนให้นำไปส่งที่ท่าเรือวัดท่าพูด โดยจะมีรถบรรทุก 6 ล้อมารับผลผลิตไปขายตามตลาดในกรุงเทพฯ ต่อมาได้มีการตัดถนนอีก 3 สายหลัก ๆ เพื่อเชื่อมชุมชนเข้ากับภายนอก คือ ไร่ขิง 26 (ประชาร่วมใจ) ไร่ขิง 28 (ถนนริมคลองวัดท่าพูด) และไร่ขิง 30 (ท่าพูด-สาย 5) การตัดถนนครั้งนั้นทำให้ไฟฟ้าและน้ำประปาเข้ามาสู่ชุมชน จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น การตั้งถิ่นฐานของคนในชุมชนจากอดีตที่ตั้งบ้านเรือนกันบริเวณริมแม่น้ำหรือริมคลอง แต่เมื่อมีถนนตัดผ่านทำให้ผู้คนเริ่มตั้งถิ่นฐานริมถนนมากขึ้น อาจเกิดจากปัจจัยที่ว่าผู้คนมักจะนิยมตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้กับสิ่งที่อำนวยความสะดวกหรือเอื้อประโยชน์แกตนเอง
การขยายตัวของอุตสาหกรรมเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่ออุตสาหกรรมเข้ามาในพื้นที่ ทำให้พื้นที่ทางการเกษตรบางส่วนถูกขายไปก่อสร้างเป็นโรงงานอุตสาหกรรม เพราะเกษตรกรจำนวนไม่น้อยมองว่าการทำนา หรือการทำสวนนั้นให้ผลผลิตหรือรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ การขายพื้นที่ทางการเกษตรจึงเป็นทางออกที่เกษตรกรมองว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุด เนื่องจากราคาที่ดินในบริเวณดังกล่าวมีราคาสูงถึงไร่ละ 1,500,000-3,500,000 บาท รายได้จากการขายที่ดินดังกล่าวน่าจะเพียงพอต่อการดำรงชีพของเกษตรกรและครอบครัว เนื่องจากชาวบ้านเองก็มองว่าการทำนา ทำสวนเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า ต้องใช้แรงงานมาก เหนื่อยและวิธีการผลิตที่ยุ่งยาก จึงเลือกที่จะขายที่ดินให้กับนายทุนเพื่อใช้สร้างโรงงานอุตสาหกรรม
การเข้ามาของภาคอุตสาหกรรมทำให้บริเวณดังกล่าวมีการเปิดร้านอาหาร ร้านขายของชำ ห้องแถว และโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดปัญหาต่อสภาพแวดล้อม เช่น ปัญหาน้ำเสียจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมลงในแม่น้ำท่าจีน คลองท่าพูด คลองลาดตะเฆ่ และคลองรางเตย มีผลต่อการนำน้ำในคลองมาใช้ในการเกษตร ซึ่งทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบ และอีกปัญหาคือเรื่องกลิ่นของสารเคมีเมื่อปล่อยลงลำคลองจะทำปฏิกิริยากับน้ำส่งผลให้น้ำเหม็น ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของคนในชุมชน แต่มีมาตรการควบคุมจากองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ขิง ซึ่งได้ผลดีในระยะแรกเพราะในระยะยาวโรงงานก็ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงลำคลองเหมือนเดิม อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องมลภาวะทางอากาศจากการปล่อยควันพิษของโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เกิดฝุ่นละอองที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ และการรองน้ำฝนของชาวบ้านเนื่องจากว่าอากาศบริเวณนั้นไม่สะอาด
มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2551). การสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนามเพื่อพัฒนาการวิจัยสังคมวัฒนธรรมชุมชนริมแม่น้ำลำคลองชานเมืองท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเป็นเมือง: พื้นที่ศึกษา ชุมชนในเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร และชุมชนท่าพูด จังหวัดนครปฐม. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/