Advance search

ชุมชนเกษตรกรรมโคนม ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รับจ้างทั่วไป

หมู่ที่ 6 ถนนเชียงใหม่-สันกำแพง
บ้านออนหลวย
ออนเหนือ
แม่ออน
เชียงใหม่
อบต.ออนเหนือ โทร. 0-5385-9689
ปุลวิชช์ ทองแตง
10 พ.ค. 2023
ปุลวิชช์ ทองแตง
15 พ.ค. 2023
ปุลวิชช์ ทองแตง
11 พ.ค. 2023
บ้านออนหลวย

เมื่อปี พ.ศ. 2325 สมัยพระเจ้ากาวิละ สมัยนั้นเป็น "ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" ได้มีการรวบรวมชาวไทลื้อจากเมืองหลวยของชายแดนรัฐฉานและสิบสองปันนาอพยพมายังบริเวณลุ่มแม่น้ำออนและสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยแถบลุ่มน้ำแม่ออน มีการเรียกแทนตนเองว่าชาวไทลื้อ "เมืองหลวย" ต่อมามีประชาชนอพยพมาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ภายหลังจึงเปลี่ยนมาเรียกว่าหมู่บ้าน "ออนหลวย"

คำว่า "ออน" มาจากชื่อของแม่น้ำออน ส่วน "หลวย" ได้นำเอาชื่อที่เดิม คือ เมืองหลวย มาต่อท้ายเป็นออนหลวย


ชุมชนเกษตรกรรมโคนม ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รับจ้างทั่วไป

บ้านออนหลวย
หมู่ที่ 6 ถนนเชียงใหม่-สันกำแพง
ออนเหนือ
แม่ออน
เชียงใหม่
50130
18.78547051
99.25736547
องค์การบริหารส่วนตำบลออนเหนือ

จากการศึกษาประวัติของ หมู่บ้านออนหลวย หมู่ที่ 6 ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ โดยจากการสัมภาษณ์ประธานชมรมไทลื้อ คือ นายวรพงษ์ สุภามูล และผู้อาวุโสภายในหมู่บ้านออนหลวยได้ทราบประวัติความเป็นมาดังนี้

เมื่อปี พ.ศ. 2325 สมัยพระเจ้ากาวิละ สมัยนั้นเป็น ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ได้มีการรวบรวมชาวไทลื้อจากเมืองหลวยของชายแดนรัฐฉานและสิบสองปันนาอพยพมายังบริเวณลุ่มแม่น้ำออนและสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยแถบลุ่มน้ำแม่ออนและมีการเรียกแทนตนเองว่าชาวไทลื้อ เมืองหลวยต่อมามีประชาชนอพยพมาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ภายหลังจึงเปลี่ยนมาเรียกว่าหมู่บ้านออนหลวย ในปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่มีการสื่อสารกันโดยใช้ภาษา ไทลื้อแต่เนื่องจากในระยะหลังวัยรุ่นส่วนใหญ่ออกปศึกษาและไปทำงานในเมืองและมีการแต่งงานกับคนในเมืองทำให้ภาษาที่ใช้สื่อสารกันมีภาษาเมืองและภาษาไทยมาปนกันไป

ผู้นำคนหมู่บ้านคนแรกคือนายหมื่น สุภามูล เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกและมีจำนวนผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันประมาณ 7 คน และผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันคือนายชัยวุฒิ ยาประสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.. 2551 จนถึงปัจจุบัน

ชาวไทยลื้อที่อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนาและรัฐฉานของพม่านับถือศาสนาพุทธจึงได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นมาทางทิศใต้ของหมู่บ้าน ชื่อ "วัดมิ่งแก้วแต่ไม่ทราบ ปี พ.. ในการก่อสร้าง เมื่อปี พ.ศ. 2395 เนื่องด้วยวัดมิ่งแก้วทรุดโทรมลง อีกทั้งวัดตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน มีประชาชนอพยพเข้ามามากขึ้น เมืองหลวยได้ขยายออกกว้างขวางขึ้น จึงได้ย้ายวัดไปทางทิศเหนือของหมู่บ้าน และวัดตั้งอยู่บนฝั่งน้ำแม่ออน จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น"วัดออนหลวย" มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อปี พ.. 2473 ได้มีการสร้างโรงเรียนออนหลวย ซึ่งมีตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยชาวบ้านช่วยกันสร้าง และต่อมาได้มีการสร้างอาคารใหม่ขึ้น เนื่องด้วยมีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้นและทำการเปิดสอนตั้งแต่อนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จนถึงปัจจุบัน 

เมื่อ พ.. 2512 เริ่มมีไฟฟ้าใช้กันภายในหมู่บ้าน ซึ่งขณะนั้นเป็นไฟฟ้าปั่น มีการเปิด-ปิดที่เป็นเวลาโดยเริ่มเปิดให้ใช้ประมาณ 18.00-00.00 . ซึ่งบางวันผู้ที่ดูแลเครื่องปั่นไฟฟ้าไม่ได้มาเปิด-ปิดทำเวลาที่กำหนดทำให้ไม่สะดวกสบายในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และเมื่อในปี พ.. 2530 ได้เริ่มมีไฟฟ้าใช้ จึงทำให้ประชาชนมีความสะดวกสบายขึ้น บางครัวเรือนเริ่มมีการซื้อ โทรทัศน์ ตู้เย็นมาใช้แต่ก็ทำให้ประชาชนต้องทำงานหนักขึ้นเนื่องจากต้องนำมาจ่ายค่าไฟ และซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และก็เริ่มมีการติดตั้งเครื่องกระจายเสียงตามจุดต่าง ๆ ของหมู่บ้านทำให้การรับรู้เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่าง ๆ ภายในชุมชนรวดเร็วและทั่วถึงทุกหลังคาเรือน และชาวบ้านที่เลี้ยงโคนมก็เปลี่ยนจากการรีดนมด้วยมือมาเป็นการรีดด้วยเครื่องทำให้ประหยัดทรัพยากรทางบุคคลในการจ้างและทำให้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

บ้านออนหลวย หมู่ที่ 6 ตั้งอยู่บนพื้นที่ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ที่ 5 ตำบลออนเหนือ
  • ทิศตะวันออก ติดกับหมู่ที่ 7
  • ทิศตะวันตก ติดกับ หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านสหกรณ์
  • ทิศใต้ ติดกับ หมู่ที่ 11 ตำบลออนกลาง

ในปัจจุบันชุมชนมีสภาพบ้านเรือนที่มั่นคง มีที่ดินเอกสารสิทธิ์ มีโรงเรียนในชุมชน คือ โรงเรียนบ้านออนหลวย เปิดสอนตั้งแต่ชั้น อนุบาล 3 ถึง ป.6 สังกัดสำนักงานเขตพิ้นที่การประถมศึกษาเชียงใหม่ และมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลออนเหนือ จำนวน 1 ศูนย์

  • การเดินทางมายังชุมชน ใช้ถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1317 จากแยกดอนจั่น เชียงใหม่ ตรงมาแล้ว แล้ว ใช้ถนนทางแผ่นดินหมายเลข 1006
  • ด้านสาธารณูปโภค มีไฟฟ้าทุกครัวเรือน โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขา แม่ออน และประปา น้ำบ่อ ทุกครัวเรือน
  • ด้านสาธารณสุข มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลออนเหนือ ตั้งอยู่ที่ 5 ตำบลออนเหนือ

ข้อมูลประชากรจากที่ทำการอำเภอแม่ออน พ.ศ. 2566 พบว่าประชากรของหมู่ที่ 6 บ้านออนหลวยมีจำนวนครัวเรือน 341 ครัวเรือน และมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 654 คน แบ่งเป็นชาย 317 คน หญิง 337 คน โดยมีประชากรลื้อ คิดเป็นร้อยละ 87 ของประชากรทั้งหมด

ชาวบ้านส่วนมากเป็นไทยลื้อเกือบทั้งหมดซึ่งจะมีการจัดงานไทยลื้อช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมไทยลื้อ เช่น ฟ้อนไทยลื้อ จ้อย ซอ อาหารพื้นบ้านไทยลื้อ จากการศึกษาผังเครือญาติของหมู่บ้านออนหลวย หมู่ 6 ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในหมู่บ้านออนหลวย มีตระกูลเก่าแก่หลายนามสกุล และมีนามสกุลที่มีจำนวนผู้ใช้มากที่สุด คือ นามสกุล สุวรรณนำ จากการสอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ พบว่า นามสกุลนี้เป็นนามสกุลของชาวไทลื้อ ซึ่งย้ายมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ต้องทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว โดยแรกเริ่มเข้ามาทำอาชีพเกษตรกร และเก็บผลผลิตที่ได้มาไว้กินและขาย และต้องการขยายครอบครัวให้แพร่หลาย จึงมีผู้ใช้นามสกุล สุวรรณนำ เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน

จากข้อมูลพบว่าครอบครัว สุวรรณนำ เป็นครอบครัวขยายขนาดใหญ่ และบางคนได้แยกครอบครัวไปใช้นามสกุลอื่น โดยจากการเก็บข้อมูลได้เริ่มหาคนที่ใช้นามสกุลสุวรรณนำ และมีอายุมากที่สุด ได้แก่ นางคำปิน สุวรรณนำ แต่เมื่อลงพื้นที่พบว่า นางคำปิน สุวรรณนำ ไม่สามารถสื่อสารพูดคุยได้ เนื่องจาก มีความบกพร่องทางการได้ยิน จึงได้สอบถามบุตรนางคำปิน คือ นางศิริพันธ์ หน่อพุด แทน จากนั้นจึงหาผู้ที่มีอายุมากรองลงมา คือ นายถนอม สุวรรณนำ และสอบถามและไล่เรียงลำดับเครือญาติไปเรื่อย ๆ จนครบ จากการสอบถามและซักประวัติบุคคลในครอบครัว สุวรรณนำ นั้นพบว่าคนรุ่นก่อนสามารถบอกความสัมพันธ์เชิงเครือญาติได้มากกว่าคนรุ่นหลัง เนื่องจากคนรุ่นหลังได้แยกย้ายกันไปทำงานต่างอำเภอ ต่างจังหวัด หรือไปแต่งงานอยู่หมู่บ้านอื่น จากการศึกษาประวัติครอบครัว สุวรรณนำ พบว่า มีโรคทางพันธุกรรมมากที่สุด คือ โรคความดันโลหิตสูง จากการสอบถามไม่พบ ความขัดแย้งของสมาชิกในครอบครัวและเครือญาติ สมาชิกทุกคนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และจากการศึกษาพบว่าตระกูล สุวรรณนำ มีบุคคลที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในหมู่บ้าน ได้แก่ นางจิตรดา สุวรรณนำ เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขของหมู่บ้าน 

ไทลื้อ

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

ประชาชนบ้านออนหลวย ตำบลออนเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป และมีบางส่วนที่ทำอาชีพเกษตรกร ธุรกิจส่วนตัว เช่น เย็บผ้า ค้าขาย รวมทั้งภายในหมู่บ้านมีกองทุนหมู่บ้านเพื่อเป็นเงินทุนให้ประชาชนในชุมชนได้กู้ยืม

ความสัมพันธ์ทางสังคม

ประชาชนบ้านออนหลวย ตำบลออนเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ มีกิจกรรมที่คนในชุมชนทำร่วมกัน สามัคคีกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีนายบุญยืน ปัญญาละ ที่มีบทบาทเป็นผู้นำชุมชนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งบุคคลดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน

ความสัมพันธ์ทางด้านการเมือง

ประชาชนบ้านออนหลวย ตำบลออนเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ มีนายชัยวุฒิ ยาประสิทธิ์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่ในการจัดประชุม ประชาสัมพันธ์เรื่องต่างๆทั้งเรื่องที่เป็นประโยชน์หรือเรื่องที่เป็นปัญหาให้แก่คนในชุมชนทราบ โดยมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คือ นายเธียรวิช อโนมา และนายสุวรรณ ทาเกิด ทำหน้าที่ในการดูแลความเรียบร้อยของคนในชุมชนในด้านต่าง ๆ 

จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรชุมชน พบว่าโครงสร้างองค์กรชุมชนบ้านออนหลวย หมู่ที่ 6 ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ บทบาทหน้าที่ของแต่ละองค์กรในชุมชนเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเองและมาจากการเลือกตั้งของคนในชุมชน

โครงสร้างองค์กรชุมชน

องค์กรที่เป็นทางการ

  • กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน
  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.)
  • กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์
  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน
  • กลุ่มแม่บ้าน
  • กลุ่มรำวงประยุกต์
  • กลุ่มผู้สูงอายุ
  • กลุ่มขายปุ๋ย
  • กลุ่มขายข้าว
  • กลุ่มชาติพันธุ์ไทยลื้อ

ด้านการประกอบอาชีพ

เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำออนและมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทำให้ประชากรประกอบอาชีพเกษตรกร ทำไร่ทำนา ปลูกข้าว ปลูกถั่ว ปลูกอ้อย ปลูกยาสูบ เลี้ยงวัว ซึ่งในการทำเกษตรนั้น ชาวบ้านจะมีการสร้างเหมือง-ฝายขึ้นมาเพื่อกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทำให้น้ำมีใช้ตลอดปี และทุกปีก่อนจะเริ่มทำนาจะมีพิธี “เลี้ยงผีขุนน้ำ” และจะมีการขุดลอกซ่อมแซมระบบเหมืองฝายตลอดลำน้ำแม่ออนมาโดยตลอด ต่อมาปี พ.ศ. 2516 มีกลุ่มชาวบ้านได้ไปเห็นตัวอย่างการเลี้ยงโคนมที่บ้านห้วยแก้ว ซึ่งตอนนั้นราคานมอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อกิโลกรัม จึงซื้อโคนมมาเลี้ยงและนำน้ำนมไปขายที่บ้านห้วยแก้ว และมีการผสมพันธุ์โคนมให้ติดลูก จากนั้นก็มีกลุ่มชาวบ้านที่เห็นว่าอาชีพนี้มีรายได้ดี จึงมีการเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกร มาเลี้ยงโคนมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผลผลิตหรือนมที่ได้จะนำไปขายที่บ้านห้วยแก้ว เมื่อประชาชนส่วนใหญ่มีการเลี้ยงโคนมทำให้พื้นที่ในชุมชนแออัด และมีผลกระทบเรื่องกลิ่นมูลโคนมต่อคนในชุมชน จึงมีการตกลงร่วมกันภายในชุมชนและกลุ่มชาวบ้านที่เลี้ยงโคนมว่าควรมีการย้ายสถานที่ในการเลี้ยงโคนมไปยังหมู่บ้านโคนมทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

เมื่อปี พ.ศ. 2519 ได้เริ่มมีก่อตั้งสหกรณ์โคนมแม่ออน ในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่หมู่บ้านโคนม และมีการจัดอบรมให้แก่กลุ่มประชาชนที่เลี้ยงโคนมและได้พระราชทานโคนมให้แก่ชาวบ้านที่อยากเลี้ยงโคนมครอบครัวละ1 ตัวสำหรับผู้ที่สมาชิกใหม่ที่สนใจอยากเลี้ยงโคนมเพิ่มและชาวบ้านก็ได้นำโคนมที่ได้มาขายให้กับทางสหกรณ์โคนมแม่ออนทำให้ไม่ต้องเดินทางไกลในการไปขายที่อื่นต่อมาในภายหลังมีบางครอบครัวที่ขายโคและการทำเกษตรก็ลดลง เนื่องจากวัยรุ่นในชุมชนส่วนใหญ่เริ่มมีการออกไปศึกษาหรือไปทำงานในตัวเมืองมากขึ้นทำให้ไม่มีผู้สืบทอดหรือเลี้ยงโคต่อ

เมื่อประมาณปี 2542 ได้มีบริษัทเอกชนมาตั้งโรงงานเฟรชมิลค์ เชียงใหม่ และมีการเชิญชวนให้ชาวบ้านเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพื่อที่จะซื้อน้ำนมโค ซึ่งชาวบ้านที่เป็นสมาชิกของทางบริษัทจะขายนมโคให้กับทางโรงงานเฟรชมิลค์(ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านที่เลี้ยงโคนมในหมู่บ้าน ซึ่งมีการนำมาเลี้ยงทีหลัง) ชาวบ้านจะน้ำมูลของโคนมมาทำเป็นปุ๋ยโดยนำไปใส่ในสวนผัก บ้างก็นำไปขายทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น เรื่องกลิ่นของมูลสัตว์ (โค) ถือว่าไม่ส่งผลกระทบต่อข้างบ้านที่อยู่มานานอยู่แล้ว เป็นต้น

ด้านเศรษฐกิจ

การสำรวจประชาชนในหมู่บ้านส่วนมากมีอาชีพเกษตรกร เลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ ได้แก่ เลี้ยงโคนม เลี้ยงแพะ เป็นต้น และจากการสำรวจก็พบว่า มีชาวบ้านบางกลุ่มมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ได้แก่ การเย็บผ้าและปักผ้า มีทั้งเย็บเสื้อผ้าพื้นเมืองส่งที่ตลาดวโรรส และยังมีอาชีพปักผ้าพื้นเมือง เพื่อนำไปเย็บเป็นเสื้อต่อไป ชาวบ้านบางส่วนที่อยู่ในช่วงวัยกลางคน จะทำงานรับจ้างในสนามกอล์ฟเป็นชาวสวนและแคดดี้ แต่ในฤดูฝนหรือในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนก็จะไปรับจ้างปลูกข้าวเป็นส่วนมาก ซึ่งเรียกการทำนาในช่วงนี้ว่า นาปี ส่วนเดือนธันวาคม-มีนาคมของปีถัดไป ถ้าน้ำมากก็จะมีการปลูกข้าวอีกครั้ง เรียกว่า นาปรัง คือการปลูกข้าวในฤดูแล้ง ซึ่งจะทำหรือไม่ทำขึ้นอยู่กับน้ำในปีนั้น ๆ และในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านในหมู่บ้านนี้ได้มีการงดทำนาปรัง เนื่องจากมีน้ำไม่มากนัก นอกจากอาชีพรับจ้างทั่วไปแล้ว ชาวบ้านที่จบการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไป ส่วนมากจะเป็นช่วงวัยผู้ใหญ่ ก็จะประกอบอาชีพรับราชการ เช่น ครู ตำรวจ พยาบาล เป็นต้น และในหมู่บ้านนี้ส่วนมากอยู่ในช่วงวัยสูงอายุ ทำงานหนักไม่ได้แล้วก็จะอยู่บ้านเลี้ยงหลาน ไม่ได้ออกไปทำงานอะไร

ด้านวัฒนธรรม 

  • เดือนมกราคม : มีการทำบุญขึ้นปีใหม่ จัดงานสังสรรค์แลกของขวัญกัน และมีประเพณีตานข้าวใหม่ ทุกปี คือเอาข้าวที่พึ่งเก็บเกี่ยวที่เป็น ข้าวสารนำไปทำบุญถวายวัด
  • เดือนมีนาคม : มีการสืบชะตาบ้าน โดยจะนำสายสิญจน์ขึงทั่วหมู่บ้านเป็นสายสิญจน์หลักและให้ชาวบ้านนำสายสิญจน์ของตัวเองมาผูกกับเส้นหลักและนำไปล้อมรอบบ้านของตัวเอง ซึ่งปลายสายของ สายสิญจน์หลักจะอยู่ที่วัด ชาวบ้านจะไปรวมกันที่วัดเพื่อทำพิธีสืบชะตาร่วมกัน ซึ่งพิธีสืบชะตาบ้านนี้จะมีปีละ 1-2 ครั้ง ถ้าปีไหนจัด 2 ครั้งจะจัดอีกที่เมื่อเดือนพฤษภาคม
  • เดือนเมษายน : ประเพณีปีใหม่เมือง จะมีการไปทำบุญที่วัด รดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน ลูกหลานที่ไปทำงานต่างจังหวัดก็จะกลับมาเยี่ยมครอบครัว ถือว่าเป็นวันรวมญาติ พบปะสังสรรค์ และในวันที่ 14 เมษายน จะมีการแห่ไม้ค้ำ โดยการนำง่ามไม้ที่ตัดมาค้ำต้นโพธิ์ที่อยู่ในวัด
  • เดือนมิถุนายน : มีพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ เผื่อเป็นการขอให้ฝนตกตามฤดูกาล มีน้ำมากพอที่จะทำนา ในพิธีจะใช้เนื้อวัวดำในการกราบไหว้บูชา และในเดือนกรกฎาคมมีวันเข้าพรรษา เข้าพรรษาจะมีการทำบุญถวายเทียนพรรษาหรืออาจจะถวายหลอดไฟแทนก็ได้ 
  • เดือนตุลาคม : ออกพรรษา ชาวบ้านจะไปทำบุญที่วัด หลังจากนั้น 6 วันก็จะมีประเพณีตานก๋วยสลาก หรือตานต้นเงิน ซึ่งอาจจะมีทุก 4 ปี ซึ่งชาวบ้านตกลงร่วมกันในวัดที่ใกล้กันเวียนกันจัดตามวัดของหมู่บ้าน
  • เดือนพฤศจิกายน : กฐินสามัคคีและประเพณียี่เป็ง

1.นายอินสอน สุริยงค์ (ครูอินสอน) ปัจจุบันทำการจัดตั้ง "ศูนย์เรียนรู้สวนเกษตรธรรมชาติแม่ออน" เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้และฝึกอบรม ครูอินสอน เดิมอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 31 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนย้ายมาอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 135 หมู่ที่ 6 ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ภายหลังการสมรส ครูอินสอนเป็นบุตรของนายคำสุริยงค์ และนางเปา สุริยงค์ มีพี่น้องจำนวน 2 คน โดยครูอินสอนเป็นพี่

ประวัติการศึกษา

  • ปี 2500 : เริ่มเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนบ้านปง อำเภอหางดง จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
  • ปี 2505 : เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนบูรณศักดิ์วิทยา อำเภอหางดง จนถึงชั้น ม.ศ. 3
  • ปี 2509 : เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคการช่างชาย ในระดับ ปวช. เป็นระยะเวลา 2 ปี
  • ปี 2511 : เข้ารับการศึกษาต่อที่วิทยาลัยครู เป็นระยะเวลา 2 ปี จนจบและได้รับการบรรจุราชการ ในปี พ.ศ. 2513(ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา, ป.กศ.)
  • ปี 2520 : ทำการสอบชุดครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) หลักสูตร 2 ปี
  • ปี 2523 : เข้ารับการศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คณะศึกษาศาสตร์ เป็นระยะเวลา 2 ปี จนจบมาเป็นศึกษาศาสตร์บัณฑิต (ศษ.บ.)
  • ปี 2542 : เข้ารับการศึกษาต่อในเรื่องเกษตรธรรมชาติ การนำจุลินทรีย์มาใช้ในสิ่งแวดล้อมและปศุสัตว์ ที่ประเทศญี่ปุ่น

รางวัลที่ได้รับ

  • ปี 2541 : ได้รับรางวัลชนะเลิศ ครูผู้สอนกลุ่มการงานและพื้นฐานอาชีพดีเด่น สำนักงานการประถมศึกษา กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
  • ปี 2549 : ได้รับรางวัลบ้านพัฒนาตัวอย่างของสาธารณสุข ตำบลออนเหนือ
  • ปี 2550 : ได้รับรางวัลครอบครัวตัวอย่างที่ปฏิบัติตนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
  • ปี 2552 : รางวัลเครือข่ายปศุสัตว์อินทรีย์ จากสำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดเชียงใหม่, ได้รับรางวัลครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 6 ด้านเกษตรกรรม เกษตรอินทรีย์ผสมผสาน จากสำนักงานเลขาธิการการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, ได้รับรางวัลเป็นผู้ดำรงอยู่ในคุณธรรมและบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม เป็นตัวอย่างที่ดีภายใต้โครงการเมืองคนดี ของกรมศาสนา จังหวัดเชียงใหม่
  • ปี 2554 : ได้รับรางวัลเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นดีเด่นระดับจังหวัด สาขาเกษตรกรรม โดยหม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ขณะนั้น, ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำหรับครูภูมิปัญญาไทยที่ใช้ภูมิธรรม ภูมิปัญญาพัฒนาสังคม ของสำนักงานเลขาธิการ สภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
  • ปี 2556 : ได้รับรางวัลวิทยากรดีเด่นของ กศน. อำเภอแม่ออนและอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
  • ปี 2561 : ได้รับเลือกคัดสรรเป็นปราชญ์ของแผ่นดินด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัดเชียงใหม่
  • ปี 2563 : ได้รับรางวัลคนดีศรีแผ่นดิน จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติโดยละเอียด

เมื่อปี 2500 อายุได้ 8 ปี ได้เริ่มเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนบ้านปง อำเภอหางดง จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในปี 2505 ครูอินสอนรักในการเรียนรู้เป็นอย่างมากและพ่อแม่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี จึงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนบูรณศักดิ์วิทยา อำเภอหางดง จนถึงชั้น ม.ศ. 3 ในปี 2509 เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคการช่างชาย ในระดับ ปวช. เป็นระยะเวลา 2 ปี จนถึงปี 2511 ครูอินสอนรู้สึกชอบในการเรียนการสอน ใฝ่ฝันอยากเป็นครูมาตั้งแต่เยาว์วัย จึงสานฝันต่อโดยการเข้ารับการศึกษาต่อที่วิทยาลัยครู เป็นระยะเวลา 2 ปี จนจบและได้รับการบรรจุราชการ ในปี พ.ศ. 2513 (ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา, ป.กศ.) หลังจากเข้ารับราชการครู ได้เข้าสอนในรายวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยีตามความถนัดและความชอบของตน ที่โรงเรียนบ้านแม่ตุงติง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ สอนได้ประมาณ 6 เดือน ตำแหน่งครูใหญ่ว่าง จึงได้รับตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนบ้านแม่ตุงติง ครูอินสอนเป็นคนที่รักลูกศิษย์มาก พร้อมช่วยเหลือทุกอย่าง สอนได้แม้ในเวลาเรียนและนอกเวลาเรียน

จนเมื่อปี 2518 ได้ทำการย้ายมาอาศัยอยู่ที่หมู่ที่ 6 ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านของภรรยา และได้ทำการย้ายมาสอนที่โรงเรียนบ้านออนหลวย หมู่ที่ 6 ในตำแหน่งครูผู้สอนรายวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยีควบคู่กับวิชาเกษตร ตามความถนัดและความชอบของตน ในปี 2519 ได้ทำการย้ายมาสอนที่โรงเรียนหมู่บ้านสหกรณ์ 3 ตามคำเชิญชวนของครู ณ ที่นั้น ในตำแหน่งครูผู้สอนรายวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี และวิชาการเกษตร จนกระทั่งปี 2520 ได้ทำการสอบชุดครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) หลักสูตร 2 ปี เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสอนให้กับตนเองมากขึ้น และเลือกสอนในระดับมัธยมศึกษา เนื่องจากชื่นชอบในหลักสูตรเนื้อหาที่เข้มข้น ในปี 2523 เข้ารับการศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คณะศึกษาศาสตร์ เป็นระยะเวลา 2 ปี จนจบมาเป็นศึกษาศาสตร์บัณฑิต (ศษ.บ.) ครูอินสอนตัดสินใจเรียนต่อเพื่อเพิ่มประสบการณ์และความรู้ให้กับตนเอง ขณะรับราชการครูนั้น ครูอินสอน เป็นคนที่ทุ่มเทให้กับงานทั้งแรงใจและแรงกาย มอบเวลาสอนให้แก่นักเรียนอย่างเต็มที่ สามารถมาศึกษาภายนอกเวลาได้ รวมถึงสอนทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้แก่นักเรียน สอนเกี่ยวกับการนำไปใช้ในชีวิตจริง มีการตั้งปณิธานในใจอยู่เสมอว่าต้องคอยสอนและดูแลนักเรียนให้ดีที่สุดเท่าที่ตนจะทำได้ คอยช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ยากไร้บางส่วนมาตลอดการรับราชการครู จนเป็นทีรักและชื่นชอบของนักเรียน จนเมื่อ ปี 2540 ได้รับโอกาสมอบหมายให้เป็นอาจารย์สอนพิเศษในเรื่องเกษตรกรรมและการนำจุลินทรีย์มาใช้ในสิ่งแวดล้อม ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากครูอินสอนมีความรู้ในด้านเกษตรเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังได้รับรางวัลมากมาย จากผลงานที่เคยทำไว้ในการสอนเกี่ยวกับวิชาเกษตรมาตลอด มีการจัดทำศูนย์เกษตรการเรียนรู้ขนาดย่อมในโรงเรียนมาตลอด จนถึงปี พ.ศ. 2545 และในปี 2542 ครูอินสอนได้เข้ารับการศึกษาต่อในเรื่องเกษตรธรรมชาติ การนำจุลินทรีย์มาใช้ในสิ่งแวดล้อมและปศุสัตว์ ที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ให้โอกาสในการศึกษาต่อ ครูอินสอนจึงตัดสินใจไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความรู้ให้แก่ตนเอง

จนกระทั่งในปี 2547 ครูอินสอนตัดสินใจเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด รวมอายุราชการทั้งหมด 43 ปี เพื่อทุ่มเทเวลาให้กับสิ่งที่ตนรัก โดยการจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้สวนเกษตรธรรมชาติแม่ออน” ขึ้น เพื่อเป็นสถานที่สำหรับถ่ายทอดความรู้ ฝึกอบรมแก่ผู้เรียน เกษตร หน่วยงาน องค์กรภาครัฐและเอกชน ประชาชนผู้สนใจทั่วไปอย่างต่อเนื่อง โดยไม่คิดเงินค่าถ่ายทอดความรู้ โดยสืบเนื่องจากความคิดมาจากการสอนวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี และวิชาการเกษตร มาตลอด ครูอินสอนเป็นผู้ที่ใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา มีการเพิ่มพูนทักษะความรู้อย่างต่อเนื่อง ได้บูรณาการองค์ความรู้โดยใช้หลักวิชาที่ได้รับจากการศึกษาดูงานจากการอบรมในหน่วยงานต่างๆ/มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เกี่ยวกับงานเกษตรธรรมชาติ แล้วนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตของตนเองและครอบครัว รวมถึงนำมาเผยแพร่ความรู้แก่ชาวบ้านเป็นกลุ่มแรก นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา มาเผยแพร่ให้ชาวบ้านออนหลวย และเพื่อลดการใช้ยากำจัดศัตรูพืชและยาฆ่าแมลง หันมาทำเกษตรอินทรีย์แทน รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งในช่วงแรก ๆ ที่เผยแพร่ ชุมชนให้การตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่ที่คุ้นเคยกันมานาน ถือเป็นการชี้ให้เห็นทางเลือกที่ดี ประหยัดต้นทุนในการทำงานให้แก่คนในชุมชน ครูอินสอนเป็นคนที่มีใจรักในการเรียนรู้และการสอนเป็นอย่างมาก ชอบช่วยเหลือผู้อื่นเป็นอย่างมาก เข้าร่วมงานชุมชนเพื่อช่วยเหลือทุกงาน และยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน โดยการรับซื้อใบไม้ที่หล่นตามพื้น เพื่อลดการเผาในพื้นที่ และเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชน อีกทั้งยังให้โอกาสแก่คนที่เคยติดคุก คนพิการที่พอทำงานได้และอยากมีอาชีพ ที่ไม่มีโอกาสในการทำงาน เนื่องจากสังคมให้โอกาสในการทำงานน้อย โดยการจ้างมาเป็นลูกจ้างในการทำงาน ให้เงินเป็นรายชั่วโมงในการทำงาน เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงาน และเพิ่มความมั่นใจให้แก่คนกลุ่มนั้นมาตลอด 

ครูอินสอนมีความเชี่ยวชาญทางด้านเกษตรอินทรีย์ผสมผสานแนวคิดหลักวิถีธรรมชาติ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา ได้แก่ การผลิตปุ๋ยหมักอินทรีย์ธรรมชาติ, การผลิตน้ำหมักชีวภาพจากพืชสมุนไพร, ผลิตน้ำยาหมักอเนกประสงค์ โดยผลิตจากพืชผลไม้ในท้องถิ่น, การทำปศุสัตว์อินทรีย์ผสมผสาน, ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงในท้องถิ่น, ผลิตจุลินทรีย์จากวัสดุธรรมชาติ, ทำแชมพู สบู่สมุนไพร, การแปรรูปทางการเกษตร และการปลูกพืช ผัก ผลไม้ที่ปลอดสารพิษ เป็นต้น ซึ่งจากการที่ครูอินสอน เป็นผู้ทรงภูมิปัญญาด้านเกษตร(เกษตรอินทรีย์ผสมผสาน) เป็นผู้สร้างสรรค์และสืบสานภูมิปัญญาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับของสังคมและชุมชน จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาในการจัดการศึกษา และได้รับคัดเลือกให้เป็นปราชญ์ของแผ่นดินด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัดเชียงใหม่ และได้รับรางวัลเกียรติคุณอื่น ๆ อีกมากมาย

2.นายราช พลอินตา ปราชญ์ด้านหัตถกรรมและการแพทย์

3.นายศักดิ์ อโนมา ปราชญ์ด้านศาสนา ภาษา และวรรณกรรม

4.นายบุญยืน ปัญญาละ ปราชญ์ด้านศิลปกรรม

5.นายวรพงษ์ สุภามูล ปราชญ์ด้านศิลปกรรม

6.แม่แสงหล้า สุวรรณนำ ปราชญ์ด้านศิลปกรรม

7.แม่จันทร์ ใจยะสา ปราชญ์ด้านศิลปกรรม

8.แม่นาง ตันคำ ปราชญ์ด้านศิลปกรรม

9.แม่แก้วมาลา ศรีแสงจันทร์ ปราชญ์ด้านศิลปกรรม

10.นางศิริพรรณ หน่อพุฒิ ปราชญ์ด้านศิลปกรรม

ทุนกายภาพ

หมู่บ้านรอบล้อมด้วยธรรมชาติ ทั้งภูเขา ป่า ลำน้ำ มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

ทุนวัฒนธรรม

ชุมชนมีการสืบทอดและปฏิบัติพิธีกรรม ประเพณีตามครรลองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างต่อเนื่องทุกปี เช่น ประเพณีตานข้าวใหม่ ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ รวมถึงยังมีการทำอาหารพื้นถิ่น แต่งกายแบบลื้อดั้งเดิมในงานต่าง ๆ และศิลปะการแสดงฟ้อนลื้อที่ยังมีผู้เชี่ยวชาญอยู่

ชุมชนบ้านออนหลวย หมู่ที่ 6 ยังคงสื่อสารกันด้วยภาษาท้องถิ่น (ลื้อ) กันอยู่ แต่เด็กที่เกิดจากพ่อหรือแม่ที่เป็นคนนอกพื้นที่ ส่วนใหญ่จะพูดตามพ่อหรือแม่ ด้วยภาษาท้องถิ่นเชียงใหม่หรือภาษาไทยกลาง แต่สามารถเข้าใจภาษาลื้อได้


ชุมชนบ้านออนหลวยทำมาหากินด้วยการทำเกษตร ค้าขาย รับจ้างทั่วไป หาของป่ายังทำเพื่อการดำรงชีพเป็นส่วนใหญ่ไม่ได้ทำเชิงค้าขายเต็มรูปแบบ ยกเว้น การทำนา ซึ่งเกษตรกรจะทำเพื่อขาย


ระบบการแพทย์พื้นบ้าน (Folk sector)

ชุมชนบ้านออนหลวยในปัจจุบันยังคงมีการใช้ระบบการแพทย์พื้นบ้านอยู่แต่มีเป็นส่วนน้อย เนื่องจากภายในหมู่บ้านไม่ได้มีหมอพื้นบ้าน แต่จะใช้บริการของหมอพื้นบ้านของหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งจะรักษาผู้ป่วยโดยการท่องคาถาเป่าบริเวณที่เจ็บ และการทำพิธีเรียกขวัญซึ่งมักใช้หลังประสบอุบัติเหตุที่รุนแรง หรือมีการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ รักษาโดยมีการท่องคาถาและผูกข้อมือ เชื่อว่าจะทำให้อาการทุเลาลงได้ และยังถือว่าเป็นการปลอบประโลมจิตใจอีกอย่างหนึ่งด้วย แต่การใช้บริการในระบบนี้ในปัจจุบันมีน้อย เนื่องจากปัจจุบันมีระบบสุขภาพการแพทย์แผนปัจจุบันที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น น่าเชื่อถือ และมีระบบสาธารณสุขเชิงรุก ทำให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง จึงทำให้ประชาชนเลือกที่จะเข้ารับการรักษาด้วยระบบการแพทย์สมัยใหม่มากกว่าการแพทย์พื้นบ้าน

ระบบการแพทย์สมัยใหม่ (Professional sector)

ประชาชนในหมู่บ้านออนหลวย ส่วนใหญ่จะใช้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหัวฝาย หากมีอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการที่รุนแรง ก็จะเลือกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ คือ โรงพยาบาลแม่ออน โรงพยาบาลสันกำแพง โรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เนื่องจากมีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สิทธิบัตรทอง) และสิทธิเบิกจ่ายตรงที่โรงพยาบาลดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีสิทธิประกันสังคมหรือมีรายได้สูง ส่วนมากจะเข้ารับการรักษาที่โรงบาลเอกชน คือ โรงพยาบาลลานนา และโรงพยาบาลเทพปัญญา และยังมีประชาชนบางส่วนที่เลือกใช้บริการที่คลินิก และซื้อยาจากร้านขายยามารับประทานเอง เนื่องจากมีความสะดวกและรวดเร็วกว่า


ภาษา

การเขียนภาษาลื้อ (ตัวเมือง) ไม่นิยมในหมู่บ้าน เพราะเด็กไม่ได้เรียนมาตั้งแต่เด็กเหมือนในสมัยก่อน ในสมัยก่อนเด็กจะนิยมไปเป็นเด็กวัด (ขะโยม) พร้อมกับไปโรงเรียนด้วยก่อนที่เด็กจะบวชเป็นเณร ปัจจุบันมีพอมีเด็กบางคนในหมู่บ้านที่ยังอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นถิ่น ด้านภาษา โดยการพูดภาษาลื้ออยู่ไม่มากนัก

ในการสื่อสารกันในชุมชนในปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้ภาษาลื้อเฉพาะคนเฒ่าคนแก่เท่านั้น ส่วนวัยรุ่นถ้าพูดกับพ่อแม่ ก็จะใช้ภาษาลื้อ (เฉพาะเด็กที่พูดลื้อได้) เฉพาะพ่อแม่เป็นคนลื้อ แต่ก็จะมีพ่อแม่บางคนที่ไม่ใช่คนลื้อโดยกำเนิดก็จะใช้ภาษาพื้นเมืองสื่อสารกันในครอบครัว

ส่วนอนาคตของชาติพันธุ์ลื้อบ้านออนหลวย ถ้าหมดผู้สูงอายุไปน่าจะไม่มีภาษาลื้อสื่อสารกันในชุมชน ทั้งนี้ อาจเป็นเหตุจากอัตราการเกิดที่ต่ำ ไม่มีคนที่จะสืบสานภาษาลื้อในชุมชน เด็ก ๆ หันไปพูดภาษาพื้นเมืองเชียงใหม่กันหมด

อาหาร

อาหารส่วนใหญ่ก็คงเหมือนกับชุมชนอื่น ๆ แต่ถ้ามีงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางชุมชนจะทำอาหารถิ่น นั่นคือ ส้าหยวก (ส้าโยก) ซึ่งมีเครื่องปรุงค่อนข้างมากและเสียเวลาในการหาเครื่องปรุง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเชียงใหม่. (2564). ข้อมูลการสำรวจชุมชน. เชียงใหม่: สาขาวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.  

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2567). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อ ปีงบประมาณ 2567. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

 

อบต.ออนเหนือ โทร. 0-5385-9689