Advance search

ชุมชนเมืองที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ปัจจุบันเป็นชุมชนเมืองที่มีระบบสาธารณูปโภคที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน คนในชุมชนโดยส่วนใหญ่มีสัมพันธภาพที่ดีให้ความร่วมมือในกิจกรรมของชุมชน และมีองค์กรชุมชนในการขับเคลื่อนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

หมู่ที่ 4 ถนนเชียงใหม่-สันทราย
สันทรายหลวง
สันทราย
เชียงใหม่
ปุลวิชช์ ทองแตง
11 พ.ค. 2023
ปุลวิชช์ ทองแตง
15 พ.ค. 2023
ปุลวิชช์ ทองแตง
11 พ.ค. 2023
บ้านสันทรายหลวง

หมู่บ้านสันทรายหลวงเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงและแม่น้ำคาว สมัยก่อนในฤดูฝนลำน้ำปิงและลำน้ำคาว ได้ไหลมาบรรจบรวมกันนำเอาตะกอนดิน/ทรายมาทับถมกันมากขึ้นทุก ๆ ปี จนก่อเป็นแนวสันดอนขนานใหญ่เรียกว่า “สันทราย” ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “สันทรายหลวง” และเรียกกันมาต่อ ๆ จนถึงทุกวันนี้


ชุมชนเมืองที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ปัจจุบันเป็นชุมชนเมืองที่มีระบบสาธารณูปโภคที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน คนในชุมชนโดยส่วนใหญ่มีสัมพันธภาพที่ดีให้ความร่วมมือในกิจกรรมของชุมชน และมีองค์กรชุมชนในการขับเคลื่อนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

หมู่ที่ 4 ถนนเชียงใหม่-สันทราย
สันทรายหลวง
สันทราย
เชียงใหม่
50210
18.85363137
99.04825777
เทศบาลตำบลสันทรายหลวง

บ้านสันทรายหลวงเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ก่อตั้งมาอย่างยาวนาน จากการสำรวจโดยการเดินดินสำรวจหมู่บ้าน และจากการได้เข้าไปศึกษาฟังคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนในหมู่บ้านสันทรายหลวงนั้น ต่างก็สันนิษฐานว่าหมู่บ้านสันทรายหลวงก่อตั้งเมื่อประมาณ 700 ปีที่ผ่านมา (ไม่ทราบพุทธศักราชที่แน่ชัด) โดยมีประชากรแรกเริ่มอาศัยอยู่ประมาณ 100 ครัวเรือน ต่อมาเริ่มมีประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีการขยายใหญ่ขึ้นของหมู่บ้าน สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดินดอนทราย และมีดินร่วนปนทราย มีแหล่งน้ำที่สำคัญ คือ แม่น้ำปิง แม่น้ำคาว และแม่น้ำกวง จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาบอกว่า หมู่บ้านสันทรายหลวงเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงและแม่น้ำคาว สมัยก่อนในฤดูฝนลำน้ำปิงและลำน้ำคาว ได้ไหลมาบรรจบรวมกันนำเอาตะกอนดิน/ทรายมาทับถมกันมากขึ้นทุก ๆ ปี จนก่อเป็นแนวสันดอนขนานใหญ่เรียกว่า “สันทราย” ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “สันทรายหลวง” และเรียกกันมาต่อ ๆ จนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันนี้หากขุดหลุมลงไปใต้พื้นดินประมาณ 1 ศอก ก็จะพบว่าใต้พื้นดินส่วนใหญ่เป็นดินทรายและสมัยก่อนพื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านจะเป็นป่าหมากและป่าพลู ไร่นามีบ้างแต่มีเพียงเล็กน้อย อาชีพคนในสมัยก่อนจึงจะทำนาและค้าขาย โดยของที่จะนำไปขาย คือ หมากและพลู นำหมากไปค้าขายในตัวเมือง หมากเป็นพืชที่โตไว อีกทั้งเป็นพืชที่ไม่มีแมลงมากัด ชาวบ้านจึงนำหมากมาประยุกต์เป็นพืชเศรษฐกิจของหมู่บ้าน โดยการทำหมากแห้งเพราะสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานกว่าหมากสด อีกทั้งจากการที่ในพื้นที่หมู่บ้านมีต้นหมากมาก จึงถือเป็นต้นไม้ประจำหมู่บ้านและเป็นพืชเศรษฐกิจของหมู่บ้านในสมัยอดีต แต่เมื่อความเจริญเริ่มเข้ามามีบทบาทในหมู่บ้าน ประชาชน (คนที่เคยอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน) ส่วนใหญ่ขายที่ดินและย้ายไปอยู่ในจังหวัดหรือหมู่บ้านอื่น ทำให้พื้นที่ส่วนมากกลายเป็นบ้านจัดสรร ต้นหมากก็เริ่มหายไปจากหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันเริ่มมีการอนุรักษ์ต้นหมากไว้ เพราะถือว่าต้นหมากถือเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งปัจจุบันหมู่บ้านสันทรายหลวงยังคงประกอบอาชีพเกี่ยวกับหมาก (มีน้อยมากและส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ) โดยการแปรรูปผลหมากทำให้กลายเป็นหมากแห้งและนำไปขายหรือเก็บไว้ใช้ในบ้าน

บ้านสันทรายหลวง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทรายหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางบนทางหลวงหมายเลข 1001 (ถนนสายเชียงใหม่-แม่โจ้สายเก่า) ห่างจากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 6 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 12,390 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่พื้นที่ราบลุ่ม ทุ่งนา สวนผลไม้ และบางส่วนที่อยู่อาศัยในลักษณะของบ้านจัดสรร พื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทานซึ่งเหมาะสมต่อการเกษตร โดยประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่มีอาชีพรับจ้างและรับราชการจึงไม่ค่อยอยู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านมีความสัมพันธ์แบบเครือญาติและย้ายมาจากต่างถิ่น ส่วนใหญ่มีรั้วบ้านติด ๆ กัน ประชากรในหมู่บ้านสันทรายหลวงส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เป็นชนพื้นเมือง สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวร

ชาวบ้านสันทรายหลวงมีความเชื่อเรื่อง "ผีปู่ย่า" ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบครอบครัวและเครือญาติในชุมชนชนบทในภาคเหนือ การเลี้ยงผีปู่ย่าจะมีขึ้นในช่วงเดือนเก้าของทุกปี (ประมาณเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน)ของทุกปี และมีศาสนสถานเป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจ คือวัดสันทรายหลวง ก่อสร้างเมื่อประมาณ 600 ปีที่ผ่านมา มีวิหารกับเจดีย์สร้างคู่กัน โครงสร้างเดิมเป็น หลังคาโครงไม้แบบโบราณ เสาเป็นปูน มีรอยร้าวหลายแห่งบริเวณผนังวิหาร ได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2461

โดยหลวงปู่ครูบาคำตั๋น ติกขฺปญฺโญ มีเจ้าอาวาสปัจจุบันรูปที่ 12 คือพระครูสังฆบริหารธรรมนูญ ธมฺมคุโณ ซึ่งท่านได้ทำการสร้างและบูรณะวัดให้เจริญรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่อง

โรงเรียนสันทรายหลวงเป็นโรงเรียนที่เกิดจากการรวมโรงเรียน 2 โรงเรียนเข้าด้วยกัน คือ โรงเรียนบ้านสันทรายหลวง (ประถมศึกษาตอนต้น) และโรงเรียนสันทราย (ประถมศึกษาตอนปลาย) โดยโรงเรียนบ้านสันทรายหลวง (ประถมศึกษาตอนต้น) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2465 โดยมีพระครูบุญปันสุวรรณปราการ ดำรงตำแหน่งครูใหญ่คนแรก ส่วนโรงเรียนสันทรายหลวง(ประถมศึกษาตอนปลาย) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2497 มีชื่อเรียกครั้งแรกว่า “โรงเรียนมัธยมสันทราย” สังกัดกรมสามัญศึกษา เปิดทำการสอนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โดยอาศัยสถานที่โรงเรียนบ้านสันทรายหลวงเป็นสถานที่เรียน มีนายสุบรรณ เลามาสุวพันธ์ ทำหน้าที่เป็นครูใหญ่คนแรก และได้ย้ายนักเรียนมาเรียนที่โรงเรียนสันทรายหลวงในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2500

หลังปี พ.ศ. 2521 ทางราชการมีนโยบายรวมโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียงกันให้เป็นโรงเรียนเดียว จึงได้มีการยุบรวมโรงเรียนบ้านสันทรายหลวง (ประถมศึกษาตอนต้น) กับโรงเรียนสันทราย (ประถมศึกษาตอนปลาย) เป็นโรงเรียนเดียวกันให้ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนสันทรายหลวง” ปี พ.ศ. 2524 ได้ย้ายนักเรียนชั้น ป.1-ป.4 จากโรงเรียนบ้านสันทรายหลวง (ประถมศึกษาตอนต้น) มาเรียนรวมกันที่โรงเรียนสันทรายหลวงปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2532 ได้ย้ายนักเรียนชั้นเด็กเล็ก หรือ อนุบาล มาเรียนรวมกันทั้งหมดด้วย โรงเรียนได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ จนถึงปี พ.ศ. 2539 ได้เข้าโครงการโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทำให้มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี

ในด้านปัญหาสุขภาพของคนในชุมชนจากการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนพบว่าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดโรคอีสุกอีใสระบาด ผู้คนในชุมชนล้มตายกันเป็นจำนวนมาก รักษาโดยการพึ่งแพทย์พื้นบ้านที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หมอเมือง” มีการใช้พืชสมุนไพรในการรักษาโรค การหาเจ้าเข้าทรง การไปเลี้ยงผีเมื่อเจ็บป่วย การหาหมอเมือง เช่น หมอแหก หมอเป่า และมีความเชื่อด้านไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เมื่อเกิดความเจ็บป่วยก็จะไปถามเมื่อ เลี้ยงผี เป็นต้น ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2482 เริ่มมีการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาในหมู่บ้าน เมื่อมีการแพทย์สมัยใหม่เข้ามา ในระยะแรก ๆ ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ เพราะยังเชื่อว่าการรักษาแบบหมอเมืองหรือไสยศาสตร์ยังสามารถรักษาโรคให้หายได้ การแพทย์สมัยใหม่เริ่มเข้ามีบทบาทสำคัญในหมู่บ้านเมื่อเกิดโรคไข้มาลาเรียระบาดในอำเภอสันทราย โดยหมอรุ่นแรกที่เข้ามาเป็นหมอทหาร ซึ่งเห็นถึงความสำคัญในการรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ และให้การรักษาผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียให้หายได้ ชาวบ้านจึงเริ่มหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับการรักษาทางการแพทย์สมัยใหม่มากขึ้น เมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะไปเรียกหมอที่ศาลา (ปัจจุบันอยู่หมู่บ้านป่าเหมือด) ซึ่งเป็นที่สถานที่ทำงานของหมอในสมัยอดีต

การคมนาคม ในอดีตการเดินทางโดยทางบกนั้นค่อนข้างที่จะลำบาก การคมนาคมสัญจรภายในหมู่บ้านระยะแรก ๆ เป็นการเดินด้วยเท้า และการใช้เกวียนบรรทุกสิ่งของ ถนนจะเป็นถนนดินลูกรัง เมื่อถึงฤดูร้อนก็จะมีแต่ฝุ่น พอฤดูฝนก็จะมีแต่น้ำขังยากต่อการเดินทาง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2486 กรมทางหลวงเข้ามามีบทบาทในการปรับเปลี่ยนถนน จากถนนที่เป็นดินลูกรังเป็นลาดยาง ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มมีถนนลาดยางเป็นเส้นทางติดต่อระหว่างหมู่บ้านจนถึงตัวเมือง ประชาชนเริ่มหันมาขี่รถจักรยาน แต่เมื่อความเจริญเริ่มเข้ามามากขึ้น ก็เริ่มมีการใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์กันมากยิ่งขึ้น

ในอดีตหมู่บ้านสันทรายหลวงยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จะอาศัยแสงไฟจากตะเกียงน้ำมันหรือจากการใช้แสงเทียนแทนการให้แสงสว่างจากไฟฟ้า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2502 เริ่มมีไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้าน ในระยะแรกมีเพียงไม่กี่หลังคาเรือนที่มีไฟฟ้าใช้ เพราะว่าในการติดตั้งไฟฟ้านั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินสายไฟและจ้างเจ้าหน้าที่ในการติดตั้งไฟฟ้า แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะชาวบ้านจึงเริ่มมีการใช้ไฟฟ้ากันเพิ่มมากขึ้น มาจนถึงปัจจุบันชาวบ้านในหมู่บ้านสันทรายหลวงมีการใช้ไฟฟ้ากันอย่างทั่วถึงทุกหลังคาเรือน

ระบบการปกครอง ในอดีตหมู่บ้านสันทรายหลวงจะเรียกคนปกครองหมู่บ้านว่าท้าว จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นแสน และพญาตามลำดับ จากนั้นก็เปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นกำนัน โดยมีกำนันที่ปกครองหมู่บ้าน 5 ท่านดังนี้

  1. พ่อหลวงต๊ะ
  2. พ่อหลวงปวน ดวงคำ
  3. พ่อหลวงสวัสดิ์ อินทะเคหะ
  4. พ่อหลวงตุ๊ อินทะเคหะและ
  5. พ่อหลวงนรินทร์ นนทวาสี

ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองมาเป็นผู้ใหญ่บ้านเมื่อปี 2555 ซึ่งผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน คือ นายอุดม มีรัตน์ มาจนถึงปัจจุบัน โดยมีนายจรูญ ทรงจัย และนางอารี กันทะมาลี เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

จะเห็นได้ว่าชุมชนหมู่ 4 บ้านสันทรายหลวงมีประวัติศาสตร์มายาวนาน ซึ่งชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน จากในอดีตที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็นชุมชนเมืองที่มีระบบสาธารณูปโภคที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน อย่างไรก็ตามประชาชนในชุมชนโดยส่วนใหญ่มีสัมพันธภาพที่ดี และให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน และมีองค์กรชุมชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

หมู่ที่ 4 ตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่มีบ้านเรือนจำนวนประมาน 587 หลังคาเรือน ลักษณะชุมชนบ้านสันทรายหลวงเป็นชุมชนเมือง

  • ทิศเหนือ อาณาเขตติดกับ หมู่ที่ 2 บ้านป่าลาน หมู่ที่ 7 บ้านต้นซาง
  • ทิศใต้ อาณาเขตติดกับ หมู่ 5 บ้านท่อ หมู่ที่ 9 บ้านสันทรายก้อม
  • ทิศตะวันออก อาณาเขตติดกับ หมู่ที่ 3 บ้านข้าวแท่น
  • ทิศตะวันตก อาณาเขตติดกับ หมู่ที่ 6 บ้านสันป่าสัก หมู่ที่ 8 บ้านปินดก

จากการสำรวจพื้นที่พบว่าคนในชุมชนมีทั้งคนพื้นที่ดั้งเดิม ผู้ที่มาอาศัยอยู่ใหม่ และผู้มาเช่าอยู่เพื่อการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะบริเวณสองฝั่งฟากถนนตั้งแต่หน้าโรงเรียนอนุบาลวีรยา ขึ้นไปทางหน้าวัดสันทรายหลวงซึ่งส่วนมากเป็นบ้านเช่าที่ผู้เช่าอาศัยอยู่มานานมากกว่า 3 ปี บริเวณฝั่งวัดขึ้นไปทั้งสองฝั่งถนนประชาชนที่อยู่อาศัยส่วนมากรู้จักกันดี มีหลายครัวเรือนที่เป็นญาติพี่น้องกันในละแวกบ้านใกล้เคียงกันพื้นที่ของหมู่ 4 เริ่มจากซอยคอกหมูป่า และสิ้นสุดบริเวณสะพานป๋าตอง ในการสำรวจครั้งนี้สำรวจและเก็บข้อมูลในบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ตามแนวถนนหลังตลาดทั้งสองฝั่ง และซอยต่าง ๆ ที่แทรกอยู่ในพื้นที่บริเวณดังกล่าว โดยเริ่มต้นสำรวจจากตลาดสดสันทรายหลวง ซึ่งเป็นตลาดเช้า ส่วนขวามือของตลาดเป็นที่ตั้งของการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และธนาคารออมสิน จากนั้นเดินตามถนนทางด้านหลังของตลาดโดยไปทางซ้ายมือของตลาดพบส่วนมากเป็นบ้านปูนติดกัน 3-4 หลังคาเรือนทั้งสองฟากถนน บางบ้านเป็นครอบครัวขยายที่มีหลายช่วงอายุอาศัยอยู่รวมกัน บางบ้านเป็นครอบครัวเดี่ยว บางบ้านย้ายไปอาศัยอยู่ต่างประเทศ เนื่องจากมีสามีเป็นชาวต่างชาติ กลับมาบ้านนาน ๆ ครั้ง จากนั้นเดินต่อไปเรื่อย ๆ แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 50 เมตร จะพบที่ตั้งของมูลนิธิดุลภาทรในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ก่อตั้งโดย Dr.Dorothy อดีตนายแพทย์สมาชิกขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นมูลนิธิสำหรับเด็กพิการทางด้านสติปัญญา มักมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยอาสาสมัคร มีผู้ประสานงาน คือ ครูนก มีการส่งเสริมการทำอาชีพ คือ การทำร้านกาแฟในมูลนิธิโดยเด็ก ๆ ในส่วนหลังของมูลนิธิมีสุสานของ Dr.Dorothy ตั้งอยู่ ซึ่งมองจากตรงนี้จะเห็นทุ่งนากว้างและคริสต์จักรของชาวไทยใหญ่ จากนั้นได้เดินสำรวจต่อไปทางเหนือของตลาดต่อไป พบว่าส่วนมากทางด้านขวามือเป็นบ้านปูน 1 ชั้น ในหนึ่งรั้วมีหลายบ้านอยู่ด้วยกัน เป็นเครือญาติหรือพี่น้องกัน หลายบ้านให้การต้อนรับและให้ความร่วมมือในการสัมภาษณ์เป็นอย่างดี และส่วนมากมีอาชีพรับจ้าง และเกษียณอายุราชการ บางบ้านมีการเลี้ยงสัตว์ภายในบ้าน พบซอย 1 ซอยที่สามารถออกไปสู่ถนนเส้นหลัก ประมาณ 100 เมตร จากนั้นเดินต่อไปเรื่อย ๆ เลี้ยวขวาเข้าซอยไป บ้านส่วนใหญ่ที่อยู่ในซอยเป็นบ้านปูน 1 ชั้น บางหลังเป็นบ้าน 2 ชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ พบบ้านของ อสม. ได้แก่ นางจรรยา มหาวงศ์ ท้ายซอยสามารถเลี้ยวขวาไปได้อีก พบบ้านอีกประมาณ 5 หลังคาเรือน ระหว่างช่วงเวลากลางวันไม่มีใครอยู่บ้าน เนื่องจากไปทำงานนอกบ้าน และเป็นพื้นที่ที่ติดกับทุ่งนาทั้งหมด

ต่อมาเดินตามถนนด้านหลังของตลาด ต่อไปทางเหนือเรื่อย ๆ จะพบว่ามีบ้านตั้งอยู่ทั้ง 2 ฟากของถนน บ้านทางด้านซ้ายมือมีประมาณ 4 หลัง มีสวนแทรกอยู่ บ้านส่วนใหญ่บริเวณนี้เป็นบ้านไม้ 1-2 ชั้น แต่ละบ้านให้การต้อนรับและความร่วมมือในการให้ข้อมูลเป็นอย่างดี บ้านทางฝั่งขวามือส่วนใหญ่เป็นบ้านปูน 1 ชั้น บางหลังเป็นบ้านของนายตำรวจที่เกษียณอายุราชการแล้ว ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และทำงานเกี่ยวกับกองทุนของชุมชน ถือเป็นอีกแหล่งประโยชน์หนึ่ง ในบริเวณนี้มีจุดแยกขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ แบตเตอรี่ เป็นต้น จากนั้นเดินตรงแล้วเลี้ยวขวาเพื่อไปบ้านผู้ใหญ่บ้านที่ตั้งอยู่ท้ายซอย ระหว่างทางในซอยมีบ้านอยู่ 3 หลัง เป็นบ้านปูนทั้งหมด แต่ละหลังให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลเป็นอย่างดี ส่วนมากประกอบอาชีพรับจ้าง โดยหนึ่งในนั้นรับจ้างในการช่วยผู้ใหญ่บ้านประกอบอาหารกล่องส่งให้กับพนักงานร้านโอ้กะจู๋ และบ้านผู้ใหญ่บ้านเป็นบ้านปูน 1 ชั้น มีลานกว้างสำหรับจัดกิจกรรมหน้าบ้าน โดยบางครั้งใช้ในการจัดทำประชาคมของหมู่บ้าน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่สำคัญในชุมชน ผู้ใหญ่บ้านทำธุรกิจส่วนตัว คือ รับจ้างทำอาหาร โดยจะมีพนักงานเป็นคนในชุมชนช่วย รวมถึงเป็นสถานที่ในการเตรียมของของชุมชนเพื่อใช้ในพิธีกรรม ซึ่งในวันดังกล่าวก็ได้พบการรวมตัวของคนในชุมชนที่ช่วยกันเตรียมของเพื่อใส่ในสะตวง

ต่อมาเดินไปทางเหนือเรื่อย ๆ จากหน้าซอยที่เข้าบ้านผู้ใหญ่บ้านไปตามถนน ระหว่างทางจะพบเป็นสวนและบ้านร้าง และพบซอยทางขวามือจะมีซอยเข้าไปประมาณ 50 เมตร ภายในซอยมีสวนลำไย และบ้านที่กำลังสร้างใหม่ จากนั้นเดินต่อไปอีกจะพบบ้านตั้งอยู่สลับกับบ้านเช่าจำนวน 4 หลัง ทางฝั่งขวามือพบบ้านของ อสม.ชูชาติ เป็นบ้านปูน และอีกหนึ่งหลังเป็นบ้านไม้ 1 ชั้น ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป อาศัยอยู่บ้านคนเดียว เนื่องจากสามีเสียชีวิต ให้ความร่วมมือในการตอบคำถามเป็นอย่างดี จากนั้นเดินต่อไปอีกประมาณ 40 เมตร จะพบทางสี่แยก ที่ฝั่งซ้ายมือเป็นซอยทางผ่านไปสู่ถนนเส้นหลัก และซอยขวามือเป็นทางเข้าไปทุ่งนา เดินต่อไปอีกจะพบด้านหลังของโรงเรียนอนุบาลวีรยา และบ้านปูนสลับกันไปกับบ้านไม้ ทางขวามือจะพบ Kumpor Cotton ซึ่งเป็นสถานที่จัดทำสมุนไพรเพื่อส่งออก (ธุรกิจส่วนตัว) และจะพบบ้านและสวนสลับกันอีกจากนั้นจะพบซอยเลี้ยวเข้าบ้าน ท้ายซอยเป็นทุ่งนากว้าง เดินต่อไปอีกทางขวามือจะพบบ้านของอาจารย์ที่เกษียณอายุราชการแล้ว ซึ่งไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่ย้ายมาอยู่ที่นี่ตามสามี และในด้านตรงข้ามกันจะพบบ้านที่เป็นเครือญาติเดียวกัน อยู่ในรั้วเดียวกัน โดยเป็นบ้านปูนและบ้านไม้ 1 ชั้น จากนั้นจะพบซอยทางซ้ายมือเพื่อไปศาลาหมู่บ้านหรือประปาหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ในการใช้จัดทำกิจกรรมของชุมชน ในละแวกเดียวกันนั้นจะพบบ้านส่วนมากเป็นบ้านปูน 1 ชั้น บ้านไม้ 1-2 ชั้น จะพบแต่ผู้สูงอายุที่อยู่บ้าน เนื่องจากลูกหลานต้องไปทำงานนอกบ้าน ในขณะเดียวกันก็พบบ้านเช่าอยู่ด้วย จากนั้นเดินต่อไปเรื่อย ๆ จะพบเป็นสวนเป็นส่วนใหญ่ และพบที่ตั้งของบ้านบ้าง เป็นบ้านปูน 1 ชั้น ในระหว่างช่วงกลางวันจะไม่พบใคร เนื่องจากไปทำงานนอกบ้าน จากนั้นเลยไปอีกจะพบเป็นซอยทางขวามือซึ่งเป็นซอยตัน ในซอยเป็นที่ตั้งของเครือญาติเดียวกัน มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ให้ความร่วมมือในการตอบคำถามเป็นอย่างดี จากนั้นจะพบสถานที่รับเลี้ยงเด็กอายุ 1-4 ปี อยู่ทางซ้ายมือ ซึ่งมีเด็กประมาณ 5 คน และจะพบซอยที่จะเชื่อมไปทางร้านอาหารอนาวิว ตรงมุมของซอยจะพบร้านขายของชำ และพบบ้านที่ประกาศขายบ้านพร้อมที่ดินจำนวน 2 หลังคาเรือน ในละแวกนี้เป็นที่ตั้งของเครือญาติเดียวกันเช่นกัน โดยหากเดินต่อไปเพื่อออกไปสู่ถนนเส้นหลักระหว่างทางจะพบบ้านเช่าจำนวน 5 หลังอยู่ทางซ้ายมือ และมุมซอยเป็นบ้านไม้ ชั้นเดียวมีการขายไส้อั่วหน้าบ้านในตอนเย็นของทุกวัน

ในส่วนของซอยที่มุ่งไปสู่ร้านอาหารอนาวิว หากเดินเข้าซอยไปจะพบทางด้านซ้ายมือเป็นบ้านเช่าตั้งอยู่ มีชาวไทยใหญ่มาอาศัยอยู่ ถัดมาเป็นบ้านของอาจารย์ที่เกษียณอายุราชการแล้วและลูกหลานซึ่งเป็นเครือญาติเดียวกัน และบ้านหลังถัดไป เป็นบ้านของเลขานุการของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งหากเดินเข้ามาจนพบทางสามแยกซึ่งแยกไปทางขวามือจะพบร้านอาหารอนาวิวอยู่ทางซ้ายมือ และถัดจากนั้นไปเป็นบ้านของอาจารย์ที่เกษียณอายุราชการแล้ว และบ้านเช่าต่อไป และหากเดินออกมาผ่านหน้าร้านอาหารอนาวิวเพื่อไปถนนเส้นหลัก จะพบซอยแยกทางขวามือ เดินตามทางไปเรื่อย ๆจะพบทุ่งนา ด้านข้างจะพบบ้านและสถานที่รับจ้างเจาะน้ำบาดาล เดินไปอีกทางขวามือจะพบบ้านเรือนไทยสองหลังคาเรือนในรั้วบ้านเดียวกัน และทางท้ายซอยมีการก่อสร้างบ้านเพิ่มเติม จากนั้นเดินไปทางซอยเพื่อไปสู่ถนนสายหลักต่อมาพบสองข้างทางมีบ้านปูนพื้นที่กว้างตั้งอยู่หลายหลัง และพบบ้านไม้เป็นบางส่วน ซึ่งไม่ค่อยมีใครอยู่บ้านในช่วงกลางวันเนื่องจากต้องไปทำงานนอกบ้าน เดินไปเรื่อย ๆ จะพบบ้านเช่า ซึ่งมีผู้ป่วยติดเตียงอาศัยอยู่ซึ่งไม่ใช่คนในพื้นที่ มีผู้ดูแลอยู่ (Care Giver) และจะพบบ้านของราชการเกษียณอายุราชการตั้งอยู่ทั้งสองฟาก โดยทางปากซอยจะเห็นคลองน้ำที่รับน้ำจากชลประทานจากอำเภอแม่แตง หากเลี้ยวไปทางขวามือจะไปตำบลป่าลานได้

สำหรับพื้นที่ของหมู่ 4 ทางถนนเส้นหลักจากสะพานคลองชลประทานกิโลเมตรที่ 6 ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าหรือบ้านเช่าสำหรับค้าขายหรือประกอบธุรกิจส่วนตัว ได้แก่ ร้านตัดผม ร้านซ่อมรถ ร้านขายของชำ ร้านขายรถ คลินิกผดุงครรภ์ โรงเรียนวีรยา ร้านเสริมสวย ร้านอาหาร และร้านถ่ายเอกสาร เป็นต้น ซึ่งมีทั้งร้านที่กำลังเปิดใหม่ และเปิดมานานแล้ว และมีตลาดเช้าอยู่ตรงข้ามกับวัดสันทรายหลวง ซึ่งถือเป็นแหล่งประโยชน์ และแหล่งชุมนุมอีกที่หนึ่ง

จากถนนหลักหากเดินเข้าทางสามแยกไป กศน. แล้วตรงไปเรื่อย ๆ อีกประมาณ 300 เมตรจะเป็นร้านขายของ มีร้านก๋วยเตี๋ยวตั้งอยู่ ติดกับทุ่งนา และบ้านส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้สองชั้น แต่ละบ้านให้ความร่วมมือในการตอบคำถามเป็นอย่างดี และประกอบอาชีพรับจ้าง และค้าขาย จากนั้นจะพบ สามแยก พบสุสานสันทรายหลวงซึ่งใช้ร่วมกัน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านต้นซาง บ้านสันทรายหลวง บ้านท่อ และบ้านสันทรายก้อม จะมีทางแยกขวาไปหมู่บ้านต้นซาง หมู่ที่ 7 ตำบลสันทรายหลวง และทางแยกไปด้านซ้ายจะพบที่ตั้งของบ้านของชาวบ้าน โดยส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเกษียณอายุราชการ มีร้านเสริมสวยในซอย บ้านส่วนใหญ่เป็นบ้านปูนชั้นเดียว แต่ละบ้านให้ความร่วมมือในการตอบคำถามเป็นอย่างดี

สำหรับพื้นที่ทางสังคมที่ประชาชนในชุมชนหมู่ 4 มักจะมารวมตัวกัน ได้แก่ อาคารประปาหมู่บ้าน บ้านผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้เตรียมของสำหรับการทำพิธีกรรมต่าง ๆ มักจะเป็นคนที่สามารถไปร่วมได้ วัดสันทรายหลวง มักจะมีการรวมตัวของชมรมผู้สูงอายุในการจัดเตรียมของเพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนา หรือเวลามีงานวัด และร้านขายของชำทางด้านสุสานบ้านสันทรายหลวง ซึ่งในตอนเย็นจะมีการขายเหล้าตอง ซึ่งมักจะมีคนที่ทำงานก่อสร้างมานั่งรวมกันประมาณ 3-4 คน และในทางตรงข้ามจะมีการค้าขายอาหารถุง ซึ่งจะมีผู้คนแวะเวียนมาซื้อตลอด

โดยสรุปชุมชนบ้านสันทรายหลวง ถึงแม้จะเป็นชุมชนเมือง แต่ประชาชนในหมู่บ้านโดยส่วนใหญ่มีสัมพันธภาพที่ดี และให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลกับกลุ่มนักศึกษาเป็นอย่างดี คนในหมู่บ้านส่วนมากมีอาชีพรับจ้าง ค้าขาย รับราชการ รวมถึงประกอบธุรกิจส่วนตัว ซึ่งจะไม่ค่อยอยู่บ้านในช่วงเวลากลางวัน ส่วนใหญ่จะพบผู้สูงอายุอยู่บ้านเป็นบางหลัง และพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีการทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ร่วมกันในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่วัดสันทรายหลวง ประชาชนในชุมชนให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน มีกลุ่ม อสม. ที่มีความเข้มแข็ง มีผู้นำชุมชนที่เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน ซึ่งส่งผลให้มีการขับเคลื่อน และการพัฒนาชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง 

ตระกูลอภิวงศ์เป็นตระกูลดั้งเดิมที่มีการตั้งรกรากฐานอยู่ในหมู่บ้านสันทรายหลวงมานาน มีสมาชิกที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านหลายคน และกระจายไปตามหมู่บ้านข้างเคียง ตระกูลอภิวงศ์จะมีฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับกลาง ผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกในตระกูลส่วนใหญ่จะเกษียณอายุราชการ ส่วนวัยทำงานจะประกอบอาชีพแพทย์ ครู ธุรกิจส่วนตัวและพนักงานเอกชน คนในตระกูลส่วนใหญ่มีสุขภาพดี 

การรวมตัวขององค์กรที่ได้มาจากรัฐบาลและความร่วมมือจากกลุ่มประชาชนในชุมชนที่มีการรวมกลุ่มกันทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขของชุมชนซึ่งบ้านสันทรายหลวง หมู่ที่ 4 ตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ มีกลุ่มที่เป็นทางการทั้งหมด 11 กลุ่ม ดังแผนภาพ

  • กลุ่มผู้นำ กลุ่มผู้นำเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการจากกระทรวงมหาดไทย เป็นการเข้ามาปฏิบัติงานโดยผ่านการเลือกตั้งโดยคนในชุมชนเอง โดยมีหน้าที่ในการดูแล รักษา ประสานงานให้กับสมาชิกในชุมชน ซึ่งจะต้องมีความใกล้ชิดกับชุมชน เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน
  • กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านจัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นแกนนำในการทำงานพัฒนาหมู่บ้าน ซึ่งในทุกสัปดาห์แรกของเดือนผู้ใหญ่บ้านและตัวแทนของกลุ่มจะเข้าร่วมประชุมที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน เพื่อรับทราบนโยบาย และนำมาประชุมร่วมกับประชาชนในหมู่บ้านเพื่อรับทราบร่วมกัน
  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเป็นหน่วยปฐมภูมิทางด้านสุขภาพ ซึ่งเกิดจากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข โดยกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหมู่ที่ 4 เป็นผู้นำทางด้านการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพอนามัยในชุมชน มีการแนะนำเผยแพร่ความรู้ และเป็นแกนนำทางด้านส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคภายในชุมชน ช่วยเหลือและรักษาพยาบาลขั้นต้น ซึ่งจะเน้นให้ประชาชนดูแลสุขภาพด้วยตนเอง และครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแล ซึ่งกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหมู่ที่ 4 ได้มีการทำนวัตกรรมการดูแลสุขภาพชุมชน มีการพัฒนาทีมเครือข่ายสุขภาพ และ อสม. มีการพัฒนาความรู้ ในเรื่องการดูแลสุขภาพ ในด้านพัฒนาการเด็ก อุบัติเหตุ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ผู้สูงอายุ แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของกลุ่ม อสม.
  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน กองทุนหมู่บ้านจึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารจัดการเงินกองทุนของหมู่บ้านที่รัฐบาลจัดสรรให้ โดยได้รับเงินทุนจากรัฐบาลจำนวน 1,000,000 บาท ซึ่งมีการให้สมาชิกยืมเงินรายละไม่เกิน 30,000 บาท โดยให้สมาชิกนำเงินไปใช้ในการลงทุน และประกอบอาชีพ และมีการชำระหนี้ 1 ปี เดือนละ 2500 บาท และ 2 ปี เดือนละ 1400 บาท จะจัดให้ชำระเงินอาทิตย์ที่ 2 ของทุกเดือน
  • กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นการจัดตั้งขึ้นตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้สูงอายุในชุมชนร่วมเป็นเครือข่าย ผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยเป็นบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งด้านประเพณี วัฒนธรรม พิธีกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมศิลปะอาชีพ และยังให้ผู้สูงอายุนำความสามารถที่ตนเองถนัดมาสอนให้คนรุ่นหลังและรวมกลุ่มจัดหารายได้ ประดิษฐ์สิ่งของสำหรับใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น บายศรี ของใส่สะตวง ผลิตชุดสืบชะตา-บวงสรวง เป็นต้น
  • กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ เป็นกลุ่มที่ประชาชนในหมู่บ้านตกลงเข้าร่วมกันโดยมีหน่วยงานของรัฐเข้ามากำกับดูแล ซึ่งก่อตั้งได้ ประมาณ 20 กว่าปี ซึ่งสมาชิกในกลุ่มประกอบด้วยคนในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงจำนวน 382 ครัวเรือน โดยเมื่อมีงานฌาปนกิจศพจะมีการเก็บรวบรวมเงินครัวเรือนละ 30 บาท เพื่อเป็นเงินที่ช่วยเหลือครอบครัวในงานฌาปนกิจศพของผู้เสียชีวิต โดยเงินที่เก็บมาได้จะหักร้อยละ 10 ของจำนวนเงินทั้งหมดให้กับผู้ที่เก็บเงิน
  • กลุ่มผู้นำทางศาสนา เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งโดยมีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ในพุทธศาสนาและพิธีกรรมล้านนาต่าง ๆ และเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยเหลือ ให้แก่คนในหมู่บ้านในเรื่องการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในทางพระพุทธศาสนาและพิธีกรรมล้านนา เช่น การนำสวดมนต์ในวันพระ การเป็นโฆษกในงานศพ และเป็นผู้นำในด้านการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาในหมู่บ้านสันทรายหลวง เช่น ปรับปรุงวิหารหลังใหญ่ ปรับปรุงเจดีย์ และสร้างวิหารหลังเล็ก เป็นต้น และยังคงอนุรักษ์ประเพณีของชุมชนไว้ 
  • กลุ่มสตรีแม่บ้าน เป็นการรวมตัวของกลุ่มสตรีในหมู่บ้านในการทำกิจกรรมด้าน ๆ และรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลืองานสังคมในหมู่บ้าน และสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน เช่น ช่วยเหลืองานศพ งานขึ้นบ้านใหม่ งานบุญต่าง ๆ เป็นต้น เป็นการส่งเสริมให้กลุ่มสตรีแม่บ้านมีบทบาททางสังคมมากขึ้น
  • กลุ่มสินค้า OTOP เป็นการรวมตัวของกลุ่มสตรีแม่บ้าน โดยมีนายนรินทร์ นนทะวาสี เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม ได้มีการทำกิจกรรมของกลุ่มหลายด้าน เช่น การทำข้าวแต๋น มะม่วงแช่อิ่ม พริกลาบ น้ำพริกตาแดง และแชมพูสระผมอัญชัน เป็นต้น ซึ่งข้าวแต๋นเป็นสินค้า OTOP ประจำตำบลสันทรายหลวง โดยมีการผลิตสินค้าออกมาอย่างต่อเนื่อง และนำไปวางขายตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย นำไปจัดแสดงสินค้าที่งานไม้ดอกไม้ประดับ และจะมีผู้มารับซื้อไปขาย เป็นต้น
  • กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้านผู้คุณวุฒิ เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ใหญ่บ้านในด้านต่าง ๆ โดยให้ประชาชนในหมู่บ้านเลือกคณะกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 10 ท่าน และอยู่ในวาระ 4 ปี และมีการประชุมทุก 1-2 เดือน 
  • กลุ่มประปา เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นในหมู่บ้าน ก่อตั้งประมาณ 20 ปี จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลระบบประปาประจำหมู่บ้าน จะมีการจัดประชุมปีละ 1 ครั้ง โดยกำหนดอัตราค่าบริการหน่วยละ 5 บาท หากใช้น้ำไม่เกิน 30 หน่วย และหน่วยละ 7 บาท หากใช้น้ำเกิน 30 หน่วย

โครงสร้างองค์กรชุมชนที่ไม่เป็นทางการ เป็นการรวมกลุ่มของคนในหมู่บ้านที่สมัครใจให้ความร่วมมือเห็นชอบมีข้อตกลงร่วมกัน เพื่อทำกิจกรรมใด ๆ ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ต่อตนเองหรือส่วนรวม อาจเป็นโดยมิได้นัดหมายและไม่มีรูปแบบหรือ สมาชิกที่ชัดเจนขึ้นอยู่กับความพร้อม โดยมีผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจ ชุมชน สังคม ซึ่งในหมู่บ้านสันทรายหลวง หมู่ที่ 4 มีอยู่ 1 กลุ่มคือ

  • กลุ่มรวมน้ำใจ เป็นกลุ่มที่ประชาชนในหมู่บ้านตกลงเข้าร่วมกัน ก่อตั้งได้ประมาณ 15 ปี และไม่ได้จดขึ้นทะเบียน ซึ่งสมาชิกในกลุ่มประกอบด้วยคนในหมู่บ้านเท่านั้นหากต้องการเป็นสมาชิกต้องจ่ายค่าสมัคร 150 บาท มีสมาชิกทั้งหมด 270 ครัวเรือน โดยเมื่อมีงานฌาปนกิจศพจะมีการเก็บรวบรวมเงินครัวเรือนละ 100 บาท เพื่อเป็นเงินที่ช่วยเหลือครอบครัวในงานฌาปนกิจศพของผู้เสียชีวิต และเมื่อมีการเสียชีวิตสามารถไปเบิกเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายได้ทันที เพราะกลุ่มรวมน้ำใจมีเงินกองทุน 

ชุมชนหมู่ 4 บ้านสันทรายหลวง ตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทราย จังหวัด เชียงใหม่ มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมวัฒนธรรมซึ่งกิจกรรมในแต่ละด้าน มีรายละเอียดดังนี้

1. กิจกรรมด้านเศรษฐกิจ

จากการสัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนในหมู่บ้านภายในหมู่บ้านจะมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย แบ่งได้เป็นอาชีพที่ทำในหมู่บ้าน ได้แก่ ปลูกข้าว ทำหมาก ปลูกพืชผักสวนครัว ทำข้าวแต๋น และอาชีพที่ทำทั้งในและนอกหมู่บ้าน ได้แก่ รับจ้าง และค้าขาย เป็นต้น

สำหรับการปลูกข้าวจะมีการปลูกอยู่ 2 ช่วง คือ ชาวบ้านจะทำในช่วงเดือนสิงหาคม-เดือนตุลาคมและจะเก็บเกี่ยวผลผลิตกลางเดือนพฤศจิกายน-เดือนมกราคม และปลูกข้าวในช่วงเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม เก็บเกี่ยวผลผลิตเดือนมิถุนายน การทำหมากจะนิยมทำในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม คนที่ทำหมากส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ การปลูกพืชผักสวนครัวจะปลูกในเดือนเมษายน-เดือนตุลาคม ซึ่งพืชผักที่ปลูก ได้แก่ ถั่วฝักยาว ผักกาด ผักบุ้ง บวบ โหระพา กะเพรา ชะโอม ดอกแค พริก ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะนาว เป็นต้น ผลผลิตที่ออกมาจะนำไปขายที่ตลาดในหมู่บ้านและนำไปขายนอกหมู่บ้าน

สำหรับอาชีพรับจ้าง ชาวบ้านก็จะรับจ้างทั่วไป เช่น รับจ้างทำหมาก รับจ้างก่อสร้าง รับจ้างทำข้าวแต๋น การรับจ้างทำข้าวแต๋นจะทำตลอดทั้งปี จะนิยมทำข้าวแต๋นในช่วงเดือนมีนาคม-เดือนมิถุนายน ส่วนอาชีพค้าขายจะมีทั้งค้าขายภายในหมู่บ้านและค้าขายภายนอกหมู่บ้าน โดยค้าขายภายในหมู่บ้าน ได้แก่ ขายของชำ ขายพืชผักสวนครัว ขายกับข้าว เป็นต้น ส่วนค้าขายภายนอกหมู่บ้าน ได้แก่ ขายพืชผักสวนครัว ขายเสื้อผ้า  ขายผลไม้ ขายกับข้าว เป็นต้น การทำข้าวแต๋น รับจ้าง อาชีพค้าขาย รับราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ จะทำตลอดทั้งปี

2. ด้านสังคมและวัฒนธรรม

ด้านประเพณี วัฒนธรรม มีกิจกรรมด้านวัฒนธรรม เช่นเดียวกับคนล้านนาในพื้นที่อื่น ๆ เช่น ประเพณีเดือนยี่เป็ง ประเพณีแห่เทียนพรรษา ประเพณีปี๋ใหม่เมือง ซึ่งมีรายละเอียดของประเพณีที่สำคัญในชุมชน ดังนี้

  • ทำบุญวันขึ้นปีใหม่ ตานข้าวใหม่ (เดือนมกราคม) เป็นประเพณีที่ชาวบ้าน บ้านสันทรายหลวง ไปทำบุญที่วัดในวันที่ 1 มกราคมของทุกปีโดยในตอนเช้าจะมีการทำบุญตักบาตรและมีการฟังเทศน์ฟังธรรม ซึ่งการทำบุญตักบาตรในวันขึ้นปีใหม่นี้ชาวบ้านมีความเชื่อว่า จะเป็นการเริ่มต้นชีวิตที่ดีในปีใหม่ และเริ่มทำในสิ่งที่ดีในปี พ.ศ. ใหม่
  • ประเพณีเวียนเทียนในวันมาฆบูชา (เดือนกุมภาพันธ์) เป็นประเพณีที่ทำกันในช่วงเย็นไปจนถึงช่วงค่ำ ๆ ของวันมาฆบูชา วันเพ็ญเดือน 3 หรือ วันขึ้น 15 ค่าเดือน 3 วันวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือน 6 หรือ วันขึ้น 15 ค่า เดือน 6 วันอาสาฬหบูชาวันเพ็ญเดือน 8 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
  • ประเพณีปี๋ใหม่เมือง /วันสงกรานต์ (เดือนเมษายน) เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย ส่วนทางล้านนาเรียกประเพณีนี้ว่า “ประเพณีปี๋ใหม่เมือง”เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมารวมตัวกัน มีการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่/ผู้อาวุโส พบปะสังสรรค์ เป็นต้น ซึ่งในวันแรก วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันสังขารล่อง” คือ วันสิ้นสุดศักราชเก่าตามความเชื่อของชาวล้านนา ในวันนี้จะมีการยิงปืน จุดพลุ จุดประทัด เพื่อเป็นการขับไล่เสนียดจัญไร สิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ ในศักราชเก่าที่ผ่านมา ซึ่งในวันนี้ชาวบ้านก็จะถือโอกาสเป็นฤกษ์ในการทำความสะอาดบ้านเรือนของตน เพื่อต้อนรับญาติพี่น้องที่จะมารวมตัวกันอีกด้วย ในวันที่ 14 เรียกว่า “วันเนาหรือวันเน่า” เป็นวันสำคัญและเป็นมงคลต่อชีวิต ในวันนี้จะไม่ทำการใด ๆ ที่ไม่เป็นมงคลต่อชีวิตเช่น การพูดหยาบคาย พูดจาให้ร้าย พูดส่อเสียด เป็นต้น ซึ่งในวันนี้แต่ละครัวเรือนจะจัดเตรียมทำอาหารหวาน อาหารคาว เพื่อเตรียมไว้สำหรับไปทำบุญในวันรุ่งขึ้น ช่วงบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัด เชื่อกันว่า เมื่อเราไปวัดจะมีทรายติดเท้าออกมา การขนทรายเข้าวัดจึงเป็นเหมือนการนำทรายไปคืน วันที่ 15 เมษายน เรียกวันนี้ว่า “วันพญาวัน” จะมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่/ผู้อาวุโสกว่าและในช่วงเช้าจะมีการนำอาหารหวาน อาหารคาวที่เตรียมไว้ไปถวายพระที่วัด เรียกว่า “ตานขันข้าว”ถือเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และนำตุงไปปักเจดีย์ทรายที่ก่อไว้ โดยการถวายตุงมีความเชื่อว่า เมื่อตายแล้วจะพ้นจากขุมนรก วันที่ 16 เมษายน เรียกว่า “วันปากปี๋” ในวันนี้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่นิยมทำแต่สิ่งที่เป็นมงคล เพราะเชื่อว่าจะเป็นมงคลต่อตัวเองตลอดปี กิจกรรมส่วนใหญ่จึงทำเพื่อเสริมมงคลแก่ตัวเอง เช่น มีการสรงน้ำพระพุทธรูป รับประทานแกงขนุน เชื่อว่าหากค้าขาย หรือทำการสิ่งใดจะมีคนมาอุดหนุนเกื้อกูล ในตอนเย็นจะมีการแห่ไม้ค้ำโพธิ์ไปถวายที่วัด เชื่อว่าจะได้ค้ำจุนชีวิตให้อยู่ดีมีสุข
  • ประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็ง (เดือนเมษายน) เป็นการฟ้อนเพื่อสังเวยหรือแก้บนผีของบรรพบุรุษ ซึ่งชาวบ้านทางภาคเหนือนับถือกัน แต่ในปัจจุบันได้เลือนหายไปมากแล้ว ยังมีปฏิบัติกันอยู่บ้างในชนบทของล้านนาไทย ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ สันนิษฐานว่า เป็นประเพณีมาจากมอญ เพราะสังเกตได้จากการแต่งตัวในเวลาเข้าทรงจะเป็นแบบการแต่งตัวของพวกมอญโบราณ และพวกมอญนี้เองที่คนไทยทางภาคเหนือหรือล้านนาไทยเรียกว่า  เม็ง และการฟ้อนผีมดผีเม็งเป็นการฟ้อนเพื่อบูชาบรรพบุรุษ ซึ่งจะจัดอยู่ในวงศาคณาญาติ หรือที่เรียกว่าตระกูลเดียวกัน ในวันครบรอบหรือบางครั้งก็รอบ 2 ปี 3 ปี แล้วแต่สะดวก แต่บางที่พี่น้องหรือญาติ ๆ เกิดมีเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็จะมีการบนบานศาลกล่าว ถ้าหากหายจากการเจ็บป่วยแล้วก็ทำการแก้บน คือฟ้อนแก้บนนั่นเอง
  • ประเพณีเวียนเทียนวิสาขบูชา (เดือนพฤษภาคม) เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมเป็นวันที่ชาวบ้านจะไปทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและเวียนเทียนเพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรม พระสังฆคุณ
  • ประเพณีเข้าพรรษาและแห่เทียนพรรษา (เดือนกรกฎาคม) จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมของทุกปีเป็นประเพณีที่มีการแห่เทียนเข้าวัดในวันเข้าพรรษา เพราะเชื่อว่าการถวายเทียนจะช่วยให้แสงสว่างในการจำพรรษาของภิกษุสงฆ์และเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่และเป็นการทำความดี ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ในช่วง 3 เดือนของการเข้าพรรษา
  • ประเพณีออกพรรษา (ตุลาคม) เป็นวันสิ้นเทศกาลเข้าพรรษาเวลา 3 เดือน จะมีขึ้นในเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันสิ้นเทศกาลเข้าพรรษาเวลา 3 เดือน มีการไปทำบุญที่วัดเช่นเดียวกับวันเข้าพรรษา
  • ประเพณีแห่กลองบูชา (วันที่ 2 พฤศจิกายน ของทุกปี) เป็นการแห่กลองที่ทำขึ้นใหม่ตามประเพณีโดยการแห่กลองเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ กลองบูชานี้มีไว้ใช้ในศาสนกิจโดยเฉพาะใช้ตีเป็นสัญญาณเตือนให้ประชาชนเตือนในละแวกนั้นทราบว่า วันรุ่งขึ้นจะมีงานบุญ เป็นวันโกน วันศีลหรือวันพระเพื่อผู้ที่มีศรัทธาทั้งหลายจะได้จัดเตรียมภัตตาหาร ไว้ใส่บาตรหรือนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ที่วัด
  • ประเพณีวันกตัญญู (17 ตุลาคม ของทุกปี) เพื่อระลึกถึงครูบาอาจารย์ หรือบุคคลที่เคารพโดยประเพณีนี้เริ่มมีการจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2555 และมีมาจนถึงปัจจุบัน
  • ประเพณียี่เป็ง (ประเพณีลอยกระทง) เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในเดือนยี่ หรือช่วงปลายเดือนตุลาคม-เดือนพฤศจิกายนของทุกปี ชาวล้านนาเรียกประเพณีนี้ว่า “ประเพณียี่เป็ง” เป็นการขอขมาพระแม่คงคา โดยการประดิษฐ์กระทงซึ่งทำจากใบตอง ตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูปเทียน แล้วขอขมาพระแม่คงคาก่อนปล่อยกระทงลอยไปตามสายน้ำ โดยมีความเชื่อว่าเป็นการลอยเอาสิ่งไม่ดีออกไปจากชีวิต นอกจากนี้ยังมีการปล่อยโคมลอยและโคมไฟ เชื่อว่าเป็นการปล่อยเคราะห์ปล่อยโศกและสิ่งร้าย ๆ ออกไปจากชีวิต ชาวบ้านจะมีการจัดงานเพื่อสืบทอดประเพณี มีการประกวดนางนพมาศ ประกวดพลุ ดอกไม้ไฟ (บอกไฟน้ำต้น) เป็นต้น
  • ประเพณีทอดกฐิน การทำบุญทอดกฐินเป็นกุศลแรง เพราะเป็นการให้ทาน ทำได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ในหมู่ 4 บ้านสันทรายหลวง จะมีการทำบุญจุลกฐิน ซึ่งจะทำในเดือนพฤศจิกายน โดยการทำบุญจุลกฐินเป็นการทำบุญที่แตกต่างจากการทำบุญกฐินอื่น ๆ เพราะชาวบ้านในหมู่บ้านจะปลูกฝ้ายกันเองและนำฝ้ายที่ได้มาปั่นเพื่อให้ได้เป็นฝ้ายมา เมื่อได้ฝ้ายมาชาวบ้านจะนำไปย้อมสี ทอและตัดเป็นจีวร โดยการทำทั้งหมดต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว เมื่อได้ผ้าจีวรออกมาชาวบ้านจะนำไปถวายพระต่อไป การทำบุญโดยการปลูกฝ้าย เรียกว่า การทำบุญจุลกฐิน

1.พระครูสังฆบริหารธรรมนูญ ธมฺมคุโณ

พระครูสังฆบริหารธรรมนูญ ธมฺมคุโณ เป็นบุคคลที่มีภาวะผู้นำทางด้านศาสนาในหมู่บ้านสันทรายหลวง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสันทรายหลวง ท่านพระครูสังฆบริหารธรรมนูญ ธมฺมคุโณ เกิดเมื่อปี 2517 เดิมเป็นคนจังหวัดลำปาง มีพี่น้องด้วยกัน 2 คน พระครูสังฆบริหาร-ธรรมนูญ ธมฺมคุโณ จบการศึกษาที่จังหวัดลำปาง ประมาณอายุ 18 ปี ได้ไปศึกษาต่อคณะนิติศาสตร์ มหาลัยรามคำแหง ใกล้สำเร็จการศึกษา ประมาณอายุ 24 ปี บิดาของท่านพระครูต้องการให้อุปสมบทในประมาณช่วงเข้าพรรษาปี 2542 เป็นเวลา 4 เดือน จากนั้นท่านพระครูจึงมีความคิดที่อยากศึกษาพระธรรมต่อ จึงไปศึกษาต่อที่ ปริญญาตรี คณะพุทธศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ เป็นเวลา 4 ปี หลังจากสำเร็จการศึกษาท่านพระครูย้ายไปอยู่วัดพระป่าแดง มีการสอนหนังสือวิชาสังคมให้กับเด็กที่ต้องการเรียนในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ และมีการจัดรายการวิทยุเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาเป็นเวลา 10 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2556 วัดสันทรายหลวงเกิดวิกฤตเกี่ยวกับศรัทธาของวัด จึงมีบุคคลที่ท่านพระครูนับถือขอให้ท่านพระครูช่วยเป็นเจ้าอาวาสวัดสันทรายหลวง ท่านพระครูจึงตัดสินใจเป็นเจ้าอาวาสวัดสันทรายหลวง และศึกษาเกี่ยวกับประวัติของวัดและชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูถาวรวัตถุ เสนาสนะ ท่านพระครูจึงมีแนวคิดปรับปรุงถาวรวัตถุ เสนาสนะของวัด โดยท่านพระครูได้นำแนวคิดนี้เสนอคณะกรรมการวัด เพื่อที่จะให้กรรมการวัดได้ช่วยในการประชาสัมพันธ์ให้กับชาวบ้านรับรู้ โดยจะใช้เวลาบูรณะประมาณ 10 ปี คือ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2556 - พ.ศ. 2566 ดังนั้นในปัจจุบันก็อยู่ในระหว่างการบูรณะ นอกจากนี้ท่านพระครูได้ทำการศึกษางานวิจัยเชิงสถาปัตยกรรมล้านนาและรวบรวมข้อมูลสถาปัตยกรรมของวัดหลายแห่ง เพื่อปรับปรุงผสมผสานสถาปัตยกรรมระหว่างสมัยอดีตกับสมัยปัจจุบันเข้าด้วยกัน

โดยในการบูรณะท่านพระครูเริ่มจากการปรับปรุงห้องน้ำเป็นอันดับแรก เนื่องจากท่านพระครูกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างต้องเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ก่อนค่อยไปสิ่งใหญ่” โดยใช้ในการปรับปรุงห้องน้ำเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากมการปรับปรุงเสร็จแล้ว ท่านพระครูก็มีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนรักษาความสะอาดห้องน้ำ โดยท่านพระครูกล่าวว่า “การทำให้บุคคลอื่นทำตามแบบที่เราต้องการ คือเราต้องเริ่มจากตัวเราก่อน” คือ ท่านพระครูมีการล้างห้องน้ำด้วยตนเอง หลังจากนั้นชาวบ้านเริ่มมาเห็น จึงเกิดการรักษาความสะอาดของห้องน้ำถึงทุกวันนี้ 

ต่อมาท่านพระครูได้มีการสร้างหอระฆัง โดยใช้ระยะเวลาในการสร้างเป็นเวลา 8 เดือน โดยท่านพระครูได้ให้แนวคิดนี้ แก่คณะศรัทธาที่มาเข้าวัดทุกวันพระ หลังจากนั้นก็มีบุคคลมาสร้างหอระฆังให้แก่วัด ชาวบ้านเริ่มเห็นการปรับปรุงของวัดมากขึ้น จึงมีการสอบถามท่านพระครูเกี่ยวกับการปรังปรุงเสนาสนะของวัด ท่านพระครูจึงมีความคิดที่จะปรับปรุงเสนาสนะ คือ วิหารหลังใหญ่ ปรับปรุงเจดีย์ และสร้างวิหารหลังเล็ก หลังจากนั้นในทุกวันพระท่านพระครูก็จะมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการปรับปรุงวิหารหลังใหญ่ ปรับปรุงเจดีย์ประมาณปี 2558 ท่านพระครูเริ่มมีการปรับปรุงวิหารหลังใหญ่ ปรับปรุงเจดีย์ และสร้างวิหารหลังเล็ก โดยใช้เวลาสร้างทั้งหมด 3 ปี และในปี 2561 มีการสมโภชวิหาร และยกช่อฟ้า

นอกจากนี้ท่านพระครูมีแนวคิดที่อนุรักษ์ประเพณีของชุมชนไว้ โดยจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ คือ การให้ผู้สูงอายุนำความสามารถที่ตนเองถนัดมาสอนให้คนรุ่นหลังและรวมกลุ่มจัดหารายได้ โดยการนำความสามารถของกลุ่มผู้สูงอายุมาประดิษฐ์สิ่งของสำหรับใช้ในการทำพิธีศาสนา และทุกเดือนเมษายน ท่านพระครูและคณะชาวบ้านจะมีการรวมมตัวกันเพื่อไปรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไปที่ไม่สามารถมาเข้าร่วมกิจกรรมที่วัดได้ กิจกรรมนี้ทำให้ท่านพระครูเข้าใจบริบทการเปลี่ยนแปลงของชุมชนและทำให้ผู้สูงอายุมีกำลังใจมากขึ้น และได้บุญอีกด้วย รวมทั้งส่งผลให้วัดเป็นที่รวมจิตใจของประชาชนในชุมชนบ้านสันทรายหลวง 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาไทยและคำเมือง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเชียงใหม่. (ม.ป.ป.). ข้อมูลการสำรวจชุมชนบ้านสันทรายหลวง หมู่ที่ 4 ตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: สาขาวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.

SITTICHAI WIMALA. (2564). สวนสาธารณะเทศบาลตำบลสันทรายหลวง. ค้นจาก https://archives.mju.ac.th/ssd/sansailuang-park/