Advance search

บ้านปันเจิง

พระธาตุคู่ดูสง่า น้ำตกแม่สุกงามตา สำเนียงภาษาบอกถิ่น หมู่บ้าน"แม่" คู่แผ่นดิน ลิ้นจี่ดีมีมากมาย หลากหลายผลิตภัณฑ์

หมู่ที่ 7 ถนน 1193 บ้านแม่ต๋ำ-อำเภอแม่ใจ
บ้านแม่จว้าปันเจิง
แม่สุก
แม่ใจ
พะเยา
ศศิธร ปัญจโภคศิริ
17 เม.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
24 เม.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
12 พ.ค. 2023
บ้านแม่จว้าปันเจิง
บ้านปันเจิง

เดิมหมู่บ้านนี้ชื่อว่า บ้านแม่จว้าใต้ โดยมีเรื่องเล่าว่าวัดแห่งนี้มีครูบารูปหนึ่งได้เข้ามาจำพรรษาอยู่แล้วได้สอนเชิงดาบ เชิงมวยให้กับชาวบ้าน ภาษาถิ่นเรียกว่า ปัน หมายถึงการให้ปัน หรือการแบ่งปัน คำว่า “เชิง” ภาษาถิ่นออกเสียงเป็น "เจิง" ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อว่า "บ้านปันเจิง" ตามกิริยาของครูบารูปนั้น (พระครูโสภณปริยัติสุธี, รศ.ดร. ถิรธมฺโม)


ชุมชนชนบท

พระธาตุคู่ดูสง่า น้ำตกแม่สุกงามตา สำเนียงภาษาบอกถิ่น หมู่บ้าน"แม่" คู่แผ่นดิน ลิ้นจี่ดีมีมากมาย หลากหลายผลิตภัณฑ์

บ้านแม่จว้าปันเจิง
หมู่ที่ 7 ถนน 1193 บ้านแม่ต๋ำ-อำเภอแม่ใจ
แม่สุก
แม่ใจ
พะเยา
56130
19.3021051
99.80820268
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สุก

เดิมหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านเดียวกับบ้านแม่จว้าใต้ หมู่ 5หลังจากนั้นได้แยกหมู่บ้านเป็นหมู่ 7 ได้ชื่อว่าแม่จว้าปันเจง โดยมีเรื่องเล่าว่าวัดแห่งนี้มีครูบารูปหนึ่งได้เข้ามาจำพรรษาอยู่แล้วได้สอนเชิงดาบ เชิงมวยให้กับชาวบ้าน ภาษาถิ่นเรียกว่าปัน หมายถึงการให้ปัน หรือการแบ่งปัน คำว่า “เชิง” ภาษาถิ่นออกเสียงเป็นเจิง ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อว่าบ้านปันเจิง ตามกิริยาของครูบารูปนั้น (พระครูโสภณปริยัติสุธี, รศ.ดร. ถิรธมฺโม)\ประวัติบ้านแม่จว้า เริ่มจากนายก๋องคำและนางยุ กิ่งแก้ว สองสามีภรรยามาจากบ้านม่วงบ้านของจังหวัดลำปาง ซึ่งมีอาชีพขายวัว ได้อพยพครอบครัวเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน ณ ที่แห่งนี้โดยไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่ชัด

ประวัติบ้านแม่จว้าใต้ ตั้งขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอน โดยมีชาวบ้านอพยพมาจากจังหวัดลำปาง เช่น บ้านไร่ข่วงเปา บ้านไร่หิน บ้านหนองหล่าย อำเภอเกาะคา โดยมีผู้เฒ่าแสนขัด เป็นผู้นำกลุ่มมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางใต้ของลำห้วยแม่จว้า

ประมาณ พ.ศ. 2394 ความเป็นมาของบ้านแม่จว้าปันเจิงหมู่ 7 จากหลักฐานและประกอบกับคำบอกเล่าของผู้เฒ่า ผู้แก่ภายในหมู่บ้านที่เล่าต่อกันมาว่า เมื่อพุทธศักราช 2390 มีพระภิกษุซึ่งเดินทางมาจากบ้านขอหัวช้างเมืองปาน (ปัจจุบัน อ. เมืองปาน จ. ลำปาง) คือ“ ครูบายาสมุทร” เข้ามาก่อตั้งพร้อมกับพระภิกษุสงฆ์ที่มาด้วยกันคือครูบาโน, พระกันธิยะ, พระกัญจนะ, พระอินตาวิชัย, พระธนันชัย, พระมานะวงศ์, พระอโนชัย, พระธัมมะจัย, พระอภิชัยส่วนฝ่ายฆราวาสนั้นมีหาญฟ้าเขียว, หาญธนู, หาญศิริ, แสนปัญญา, แสนอุทธโยธา, แสนสาร, แสนบุญโยง, แสนแก้ว, แสนใจ, ต้าวมิ่ง, ต้าวพรหม, ต้าวใจร่วมกับชาวบ้านที่เดินทางมาจากบ้านขอหัวช้างประมาณ 50 ครอบครัวเข้ามาก่อตั้งรกรากและเห็นว่าอุดมสมบูรณ์จึงได้ลงหลักปักฐานทำมาหากินรวมตัวกันเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่ขึ้น พ.ศ. 2394 โดยมีผู้ก่อตั้งครั้งแรกก็คือ“ ท่านหาญฟ้าเขียว” เป็นคนบ้านขอหัวช้าง อำเภอเมืองปานจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย“ ท่านพระยาศิริคำน้อย” เป็นหัวหน้าชาวบ้านแม่สุก อำเภอพาน จังหวัดเชียงรายซึ่งในบริเวณหมู่บ้านนี้ได้มีต้นไม้ชนิดหนึ่ง จะขึ้นอยู่ตามลำห้วยของหมู่บ้านและได้ออกดอกส่งกลิ่นหอมตลบอบอวนไปทั่วทั้งหมู่บ้านทำให้ชาวบ้านได้รับกลิ่นหอมจากดอกไม้ชนิดนี้มาตลอดคนในหมู่บ้านจึงเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า “ต้นสีสุก” (ต้นอโศกอินเดียสีทอง) ในคราวนั้นทางหมู่บ้านก็ยังไม่มีชื่อหมู่บ้านอย่างเป็นทางการและตอนนั้นทางผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านก็ได้ปรึกษาหารือกันว่าในหมู่บ้านของเราจะต้องมีการตั้งชื่อหมู่บ้านอย่างเป็นทางการแล้วและเราควรจะตั้งชื่อหมู่บ้านว่าหมู่บ้านอะไรดีและก็ได้มีชาวบ้านได้เสนอชื่อหมู่บ้านว่าให้ใช้ชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านสีสุก”เพราเห็นว่ามีต้นสีสุกเป็นจำนวนมาก

ต่อมา พ.ศ. 2397 มีราษฎรได้อพยพมาจากบ้านแม่สุก อำเภอแจ้ห่ม และอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปางจำนวนหนึ่ง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านแม่สุก”

พ.ศ. 2402 เมืองลำปาง มีการค้าขาย ปลูกผักค่อนข้างยากเพราะเป็นเมืองหิน พื้นที่ไม่อุดมสมบรูณ์ มีชาวบ้านอพยพมาจากลำปาง เช่น บ้านไร่ข่วงเป่า บ้านไหล่หิน บ้านหนองหล่าย อำเภอเกาะคา โดยมีพ่อเฒ่าแสนขัด เป็นผู้นำกลุ่มมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางใต้ของลำน้ำห้วยแม่จว้าต่อมามีชาวบ้านมาสมทบมากขึ้นโดยตั้งชื่อบ้านว่า บ้านแม่จว้าใต้ เพราะตั้งหมู่บ้านอยู่ท้ายน้ำ มีการพบพระพุทธรูปหินทราย อายุราว 500 ปี ชาวบ้านถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบ้านแม่จว้าใต้ เป็นตั้งสถานที่นี้เป็นศาลเจ้าบ้าน ต่อมาก็ได้แต่งตั้งพ่อเฒ่าตุ้มขึ้นเป็นผู้นำหมู่บ้าน โดยมีชาวบ้านอยู่ 30 หลังครัวเรือน แต่ยังไม่มีวัดหรือสำนักสงฆ์ที่ทำบุญ

พ.ศ. 2405 มีต้นตระกูลของพ่อหลวงปิง มาแม่จว้าใต้ซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ ครอบครัวนี้นับถือพระมหาป่าซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสักการบูชาตั้งไว้ที่กลางทุ่งนา แต่ภายหลังย้ายมาที่หลังบ้านของ นายสุชาติ นางบัวเหลียว จุลธรรมเจริญ อุทิศที่ดินส่วนตัวไว้สร้างศาลเจ้าพ่อมหาป่า

พ.ศ. 2409 มีพระธุดงค์ชื่อว่า ครูบาลาว พร้อมด้วยโยมพ่อชื่อพ่อหนานอภัย และโยมแม่ชื่อย่าโต๊ะ เดินธุดงค์มาจากประเทศลาวผ่านมาได้ปักกลดอยู่ใกล้หมู่บ้าน ชาวบ้านจึงได้มีโอกาสทำบุญตามศรัทธา และครูบาลาวได้เข้ามาจำพรรษาอยู่ในหมู่บ้านพระครูบาลาวเริ่มได้สอนเชิงดาบ เชิงมวย ฟ้อนเจิงให้กับชาวบ้าน ภาษาถิ่นเรียกว่าการให้ปันหรือการแบ่งปัน คำว่า“ เชิง” ภาษาถิ่นออกเสียงเป็นเจิงต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อว่าบ้านปันเจิงตามกิริยาของครูบารูปนั้น พอถึงเดือน 8 เหนือ (พฤษภาคม)

พ.ศ. 2429 ปีชวด ชาวบ้านทั้งหมดได้มีพ่อเฒ่าตุ้มและผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านมาปรึกษาหารือกัน และช่วยกันถากถางพื้นที่ เพื่อสร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น เพื่อสะดวกต่อการทำบุญ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีลูกหลานชาวบ้านได้มาบวชเรียนหนังสือกับครูบาลาว ซึ่งครูบาได้อบรมสั่งสอนตลอดมา และชาวบ้านเรียนหนังสือฝึกศิลปวัฒนธรรมที่วัดนี้

พ.ศ. 2453 (ร.ศ. 129) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยในสมัยนั้นได้มีพระบรมราชโองการประกาศให้จัดแบ่งท้องที่ปกครองเป็น “เมือง” และ “อำเภอ” เมื่อ พ.ศ. 2453 (ร.ศ. 129) ในขณะนั้น“แม่ใจ” มีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน 3 อำเภอ และ 10 เมือง ที่ได้จัดการปกครองรวมกันเป็นจังหวัดพายัพเหนือ ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2453 (ร.ศ. 129) ให้อำเภอแม่ใจขึ้นกับเมืองเชียงราย และอยู่ในมณฑลพายัพ โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ จำนวน 6 คน คนแรกคือนายถิน ควรสมาคม ต่อมาในปี พ.ศ. 2457 (ร.ศ. 133) อำเภอแม่ใจ ได้ถูกยุบให้เหลือฐานะเป็นตำบลหนึ่งขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย หมู่บ้านได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2450 โดยบ้านแม่จว้าปันเจิงยังเป็นส่วนหนึ่งของบ้านแม่จว้าใต้ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลแม่สุก อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

พ.ศ. 2490 มีการระบาดของโรคห่า (อหิวาตกโรค) กับประชาชนในหมู่บ้าน รักษาโดยหมอเมืองโดยการใช้ใบตองรองนอนและใช้ใบลูกยอต้มให้ดื่ม

พ.ศ. 2493 ชาวบ้านแม่จว้าได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษโดยรวมตัวกันนั่งล้อเกวียนไปฉีดที่สุขศาลาแม่ใจ

พ.ศ. 2495 การเดินทางโดยใช้รถขายข้าวสาร รถคอกหมู หาบของไปขายโดยเดินทางจากหมู่บ้านไปขึ้นรถที่บ้านแม่สุกไปขายของในเมือง ที่นิยมไปขายคือหน่อไม้

พ.ศ. 2500 มีการเกิดโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษระบาดในขณะนั้น ชาวบ้านเกิดตุ่มพุพองบริเวณผิวหนัง ไม่สามารถนอนบนที่นอนได้ ต้องเอาใบตองมารองนอน รักษาโดยการกินยาต้ม ยาสมุนไพรพื้นบ้าน ชาวบ้านนั่งล้อเกวียนไปฉีดวัคซีนที่สุขศาลาแม่ใจ

พ.ศ. 2501 กรมการปกครองได้พิจารณาเห็นว่าท้องที่ ตำบลแม่ใจ ตำบลศรีถ้อยตำบลแม่สุก อำเภอพาน และตำบลแม่ปืม อำเภอพะเยา สมควรยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอจึงได้สั่งการให้จังหวัดเชียงรายและอำเภอพาน พิจารณาดำเนินการขอยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ จนถึงวันที่ 22 มีนาคม 2503 วัดแม่จว้าปันเจิง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา จึงเป็นที่มาของวัดปันเจิง ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าสืบต่อกันมาว่า วัดนอกจากจะเป็นสถานที่ศึกษาธรรมะและทำบุญยังเป็นสถานที่สอนศิลปวัฒนธรรมไทยพื้นบ้าน เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบ ตีกลองปู่จา ตีกลองสบัดชัย ได้อย่างสวยงาม เมื่อมีงานฉลองตามวัดต่าง ๆ ก็จะมีการประกวดแข่งขันกัน ผู้ที่มาฝึกสถานที่แห่งนี้ก็จะชนะทุกครั้งจึงตั้งชื่อว่าบ้านแม่จว้าปันเจิงหรือวัดปันเจิง และมีการก่อตั้งโรงเรียนแห่งแรก ชื่อ โรงเรียนบ้านแม่จว้าใต้

พ.ศ. 2506 ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 5 ธันวาคม 2506 เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอแม่ใจ ให้รวมเขตการปกครองตำบลแม่ใจ ตำบลศรีถ้อยตำบลป่าแฝกและตำบลแม่สุก อำเภอพานยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอแม่ใจ” ขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ รวม 4 คน 

ในปีนี้ เกิดโรคแอนแทรกซ์ในหมู่บ้านเนื่องจากสมัยนั้นชาวบ้านมีการเลี้ยงวัวและควายจำนวนมาก วัวและควายตายชาวบ้านนำมาประกอบอาหารจึงทำให้เกิดโรค โดยมีตุ่มออกตามร่างกาย ล้มป่วยตายเป็นจำนวนมาก จึงมีการนำผู้ที่เสียชีวิตไปฝังที่ป่าช้าท้ายหมู่บ้าน

พ.ศ. 2508 ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2508 ยกฐานะกิ่งอำเภอแม่ใจ เป็นอำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย

พ.ศ. 2514 มีการเปลี่ยนการฝังศพเป็นการเผา เนื่องจากการมีคนตายมากขึ้นทำให้บริเวณป้าช้าที่ฝังศพมีจำนวนไม่เพียงพอ และป้องกันการแพร่ระบาดของโรค มีการการสร้างเชิงตะกอนในการเผา

พ.ศ. 2519 จึงได้แยกการปกครองออกเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่ง คือ บ้านแม่จว้าปันเจิง ประวัติชุมชนบ้านแม่จว้าปันเจิง หมู่ 7 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ในการจัดตั้งหมู่บ้านที่ผ่านมาได้มีผู้นำหมู่บ้านโดยมีนายโยง ถุงออน เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ตั้งแต่ปี ครบวาระ 5 ปี

พ.ศ. 2523 เกิดการระบาดของโรคมาลาเรียขึ้นในพื้นที่บ้านใหม่ แม่จว้า มีอาสาสมัครมาลาเรียเข้ามาฉีดพ่นยา ดีดีที ในบ้านเรือนราษฎร

พ.ศ. 2524 หมู่บ้านได้เริ่มมีไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน มีการแต่งตั้งกลุ่มผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) รุ่นแรกและมีนายศรีวงศ์ คำก๋อง ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ได้ 1 ปี แล้วได้ลาออกเมื่อ พ.ศ. 2524-2525 และในระหว่างผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ดำรงตำแหน่งต่อมามีนายวงศ์ จันทร์เอ้ย เป็นผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. 2526

พ.ศ. 2527 ได้จัดตั้ง อสม.ในหมู่บ้าน ขณะเดียวกันก็มีการขยายสถานีอนามัยซึ่งดำเนินการต่อมาเรื่อย ๆ บางแห่งก็มี บางแห่งก็ยังไม่มี แต่ก็ได้เจ้าหน้าที่ อสม. มาช่วยพัฒนาให้ความรู้ชาวบ้าน อสม.คนแรกของหมู่บ้าน ชื่อนายสุบิน อินเป็ง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2527

พ.ศ. 2528 เริ่มมีถนนลาดยางเข้ามาในหมู่บ้านมีส้วมใช้ ตามเป้าหมายของการสาธารณสุขมูลฐาน (สสม.) และหมอสมคิดใส่ห่วงอนามัยครั้งแรกที่บ้านแม่จว้า อ.แม่ใจในปัจจุบัน 

พ.ศ. 2532 ต่อมามีนายไว คำก๋อง เป็นผู้ใหญ่บ้านครบวาระ 5 ปี ในปี พ.ศ. 2536

พ.ศ. 2533 ชาวบ้านมีการใช้น้ำบ่อ มีโอ่งน้ำไว้สำหรับเก็บน้ำฝน

พ.ศ. 2537 นายศุภวัฒน์ กินีสีเป็นผู้ใหญ่บ้านครบวาระ 5 ปี รวม 2 สมัย เป็นระยะเวลา 10 ปี

พ.ศ. 2540 มีอ่างเก็บน้ำห้วยชมพูบน และโดยมีศาลต้นน้ำอยู่จะมีการเลี้ยงศาลทุกวันที่ 16 พฤษภาคมของทุกปี

พ.ศ. 2547 มีนายบุญส่ง ดวงมล เป็นผู้ใหญ่บ้าน ครบวาระ 5 ปี ถึง พ.ศ. 2551

พ.ศ. 2552 มีโรงผลิตน้ำดื่มปันเจิง อาร์.โอ ตั้งเป็นโครงการชุมชนพอเพียง ต่อมานายชุมพล ใจธิ พ.ศ. 2552-2559 เป็นผู้ใหญ่บ้าน

พ.ศ. 2554 สร้างเมรุเผาศพที่ท้ายหมู่บ้าน

พ.ศ. 2559 มีตู้น้ำมันหยอดเหรียญประชารัฐเข้ามา พ.ศ. 2560 เปิดศาลาอเนกประสงค์ ที่ทำการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ต่อมานายประหยัด ถุงออน เป็นผู้ใหญ่บ้านแม่จว้าปันเจิง พ.ศ. 2560-ปัจจุบัน

พ.ศ. 2563 มีการแพร่ระบาดของโรค Covid 19 ทำให้หมู่บ้านมีมาตรการในการป้องกันโดยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือและถ้าไม่จำเป็นจะไม่ออกไปต่างจังหวัด ส่วนคนที่กลับจากต่างจังหวัดต้องมีการกักตัว 14 วัน ชาวบ้านจะต้องพึ่งพาตนเองและแบ่งปันเพื่อนบ้านในเรื่องของผักหรืออาหารที่มีในชุมชน เพื่อให้ทุกคนสามารถผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปด้วยกัน

พ.ศ. 2564 สถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรค Covid 19 ในหมู่บ้าน ปัจจุบันยังไม่พบผู้ติดเชื้อ ช่วงระบาดระลอกที่ 3 มีคนในหมู่บ้านที่เดินทางไปส่งของไปพื้นที่สีแดง ระหว่างที่เดินทางกลับหมู่บ้าน ไม่มีการแวะสถานที่ใด ๆ เมื่อถึงหมู่บ้านได้รับการกักตัวที่โรงเรียนแม่จว้าใต้ตามมาตรการของหมู่บ้าน  โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามารับผิดชอบในการตรวจคัดกรอง จะมี อสม. และ อปพร. เฝ้าอยู่เวรในขณะที่มีผู้กักตัว 

หมู่บ้านมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,785 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 341 ไร่ พื้นที่ทางการเกษตร ไร่-นา-สวน ประมาณ 2,444 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านแบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและบริเวณที่ตั้งของชุมชน บ้านเรือนจะอยู่กันเป็นกลุ่ม ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านสองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้ โดยชั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างเป็นปูน บ้านเรือนแต่ละหลังล้อมรอบด้วยรั้ว สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติจะตั้งบ้านเรือนใกล้กันหรืออยู่ภายในคุ้มเดียวกัน ซึ่งจะมีทั้งหมด 5 คุ้ม คือ คุ้มหยาดเพชร คุ้มทองพันชั่ง คุ้มโด่ไม่รู้ล้ม คุ้มพญาเย็น และคุ้มประชาร่มเย็น ทุกหลังคาเรือนมีภาชนะเก็บน้ำฝนไว้สำรองน้ำ

ห่างจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่สุก เป็นระยะทางประมาณ 1.2 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองจังหวัดพะเยา ระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร ปัจจุบันการเดินทางสามารถเดินทางได้สะดวกมีถนนลาดยางสองช่องทาง ไฟข้างทางยังไม่เพียงพอหากเดินทางตอนกลางคืน ในหมู่บ้านเส้นทางที่ไปทำนา ทำสวน เป็นถนนคอนกรีต ประชากรส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ ในการเดินทางไปทำงานหรือเข้าไปในตัวเมือง

  • ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ที่ 5 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดกับ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลแม่ปืม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ป่าอุทยานแห่งชาติดอยหลวง อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านแม่จว้าปันเจิง หมู่ที่ 7 มีลักษณะนิเวศที่สมดุลเนื่องจากมีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการบำรุงดิน โดยการทำเกษตรแบบผสมผสาน ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร พื้นที่หมู่บ้านทั้งหมดประมาณ 2,785 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 341 ไร่ พื้นที่ทางการเกษตร ไร่-นา-สวน ประมาณ 2,444 ไร่ พื้นที่ที่ทำการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณการเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด ลิ้นจี่ หอมแดง กระเทียม มันสำปะหลัง และยางพารา

บ้านแม่จว้าปันเจิง หมู่ 7 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีบ้านเรือนทั้งหมด 230 หลังคาเรือน มีคนอาศัยอยู่ 180 หลังคาเรือน มีจำนวนประชากรทั้งหมด 701 คน โดยแบ่งเป็นชาย 342 คน หญิง 359 คน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างทั่วไป นอกจากนี้บางครัวเรือนยังมีอาชีพเสริมจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสานไม้ไผ่ที่เรียกว่า “ไหข้าว” มีการเลี้ยงสัตว์เพื่อขาย เช่น โคเนื้อ กระบือ หมู เป็ด ไก่ ประชาชนในหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธหมดทุกหลังคาเรือน ซึ่งประชาชนให้ความสำคัญในการทำนุบำรุงพุทธศาสนา มีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้าในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา ประชากรส่วนใหญ่จะไปวัด ทำบุญ ฟังเทศน์ ฟังธรรม ที่วัดปันเจิง หมู่5 มีการส่งเสริมรักษาประเพณีอันดีงามต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องการนับถือผี เช่น การเลี้ยงผีปู่ย่า ผีเจ้า บวงสรวงศาลเจ้าบ้าน ศาลมหาป่า

ชุมชนบ้านแม่จว้าปันเจิง หมู่ที่ 7 ตําบลแม่สุก อําเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีองค์กรในการบริหารจัดการ ดูแลภายในหมู่บ้าน ซึ่งมีคณะกรรมการหมู่บ้านในการดําเนินการเป็นหลัก โดยมีนายประหยัด ถุงออน เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่จว้าปันเจิง หมู่ที่ 7 เป็นผู้ที่มีบทบาทสําคัญในชุมชน ซึ่งคนในชุมชนให้ความยอมรับนับถือและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ภายในหมู่บ้านก็ยังมีการรวมกลุ่มของประชาชนในหมู่บ้าน ดังนี้

  • ผู้ใหญ่บ้าน : นายประหยัด สุขศรีราษฎร์
  • ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน  
  • คณะกรรมการหมู่บ้าน จำนวน 7 คน
  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำบ้าน จำนวน 28 คน
  • อาสาสมัครประปาหมู่บ้าน
  • อาสาสมัครเกษตร
  • ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร  
  • ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน
  • ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรม 
  • ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม    
  • กองทุนหมู่บ้าน(กองทุนเงินล้าน) จำนวนสมาชิก 341 คน
  • กองทุนออมทรัพย์เพื่อการผลิต จำนวนสมาชิก 300 คน
  • กลุ่มฌาปนกิจ สมาชิกทุกหลังคาเรือน
  • กลุ่มธนาคารข้าว จำนวนสมาชิก 180 หลังคาเรือน
  • กลุ่ม อปพร จำนวนสมาชิก 25 คน
  • กลุ่มสตรีแม่บ้าน สมาชิกทุกหลังคาเรือน
  • กลุ่มเลี้ยงไก่ จำนวนสมาชิก 25 คน
  • กลุ่มเกษตรกร สมาชิกทุกหลังคาเรือน
  • กลุ่มปุ๋ยประชารัฐ สมาชิกทุกหลังคาเรือน
  • กลุ่มออกกำลังกาย จำนวนสมาชิก 30 คน
  • กลุ่มโรงเรียนผู้สูงอายุ จำนวนสมาชิก 100 คน
  • กลุ่ม/กองทุนของหมู่บ้าน
  • แหล่งเงินทุน กองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน และธกส.
  • ผลิตภัณฑ์ชุมชน จากกลุ่มส่งเสริมอาชีพ เช่น สานไหข้าว

สภาพทางเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเนื่องจากหมู่บ้านมีพื้นที่ราบสำหรับทำนา 

  • อาชีพเสริม : หาของป่าหน่อไม้, เห็ด, รับจ้างทั่วไป, จักสาน, จักสานแห, เย็บผ้าโหล, เย็บผ้าหมวก, จ้างเลี้ยงวัว, จ้างตัดหญ้า
  • รายได้ของประชาชน : จากการทำนา, ปลูกกระเทียม, ค้าขาย, เบี้ยยังชีพ, รับจ้างทั่วไป, เบี้ยยังชีพ, เงินจากลูกหลาน, รับราชการ
  • รายจ่ายของประชาชน :  ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าน้ำมัน, ค่าโทรศัพท์, ค่าเล่าเรียนบุตร, ค่าอุปโภคบริโภค, ค่าหวย, ค่าปุ๋ย, ค่าสารเคมีทางการเกษตร, ค่าบุหรี่-สุรา
  • หนี้สินประชาชน : หนี้ ธกส., หนี้กองทุนหมู่บ้าน

วัฒนธรรมและประเพณี ส่วนใหญ่เป็นไปตามประเพณีล้านนา ดังนี้

  • เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : วันขึ้นปีใหม่, กลางเดือนจัดทำพิธี “ตานข้าวใหม่”
  • เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : เก็บส้มป่อย เป็นการเก็บในวันที่สำคัญของวันใดวันหนึ่งของเดือนเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ในการนำส้มป่อยในประกอบพิธีต่าง ๆ, บวงสรวงศาลเจ้าบ้าน
  • เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : ในช่วงท้ายเดือน มีไหว้พระธาตุประจำปี คือพระธาตุคู่แม่สุกที่บ้านแม่สุก และพระธาตุสายฝน มีการไปสักการะหรือไหว้ปีละครั้ง
  • เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ปีใหม่เมือง ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ

วันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่นบอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์)

วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น วันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี

วันที่ 15 เมษายน “วันพญาวัน” วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันข้าว” นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ เลี้ยงผีปู่ย่าในวันนี้

วันที่ 16 เมษายน “วันปากปี” เป็นวันแรกของปี มารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน พิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่าง ๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว โดยในวันปากปีมีความเชื่อบางประการเกี่ยวกับ “แกงขนุน” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” ที่จะกินกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปี

  • เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : เลี้ยงศาลต้นน้ำ อ่างเก็บน้ำห้วยชมพูบน ทุกวันที่ 16 พฤษภาคมของทุกปี
  • เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า ไหว้ผีมดผีเม็ง, ประเพณีเลี้ยงผีป่า เจ้าที่นาเลี้ยงโดยเหล้าไห ไก่คู่ เป็นการเลี้ยงเจ้าที่ก่อนลงทำนาเลี้ยงผีเจ้าสวน เป็นประเพณีที่ชาวสวนลิ้นจี่จะจัดขึ้นหลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตลิ้นจี่เสร็จสิ้น ซึ่งจะจัดขึ้นภายในสวนของตนเอง
  • เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญเข้าพรรษา ที่วัดปันเจิงหมู่ 5
  • เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ช่วงเดือนนี้จะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา มีการทำบุญตักบาตรที่วัดปันเจิงหมู่ 5
  • เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ตานก๋วยสลาก ช่วงเดือน 12 ล้านนาถึงเดือนยี่ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
  • เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ทำบุญออกพรรษา อยู่ในช่วงตานก๋วยสลาก สิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ
  • เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ทอดกฐิน มีเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยง(เดือนเกี๋ยงดับ) จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ, ประเพณียี่เป็ง
  • เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : สวดมนต์ข้ามปี
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • ธนาคารข้าว
  • ที่ทำการกองทุนแม่ของแผ่นดิน 1 แห่ง
  • วัด
  • โรงเรียน

ภาษาถิ่นล้านนา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านแม่จว้าปันเจิง (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps

ประวัติจังหวัดในล้านนาจังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.

พระครูโสภณปริยัติสุธี, รศ.ดร. ถิรธมฺโม. ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอแม่ใจ.

บุญเลิศ ครุฑเมือง. (2537). ผีปู่ย่า : ศรัทธาแห่งล้านนาไทย. สารคดี “ฮีตฮอยเฮา”กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ. เล่ม 80 ตอนที่ 14. 5 กุมภาพันธ์ 2506.

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอดอกคำใต้ อำเภอเม่ใจ อำเภอจุน ฯลฯ. เล่ม 82 ตอนที่ 59. 27 กรกฎาคม 2508