บ้านเกาะแรต ส่วนใหญ่มีเชื้อสายไทยทรงดำหรือไทยโซ่ง ชุมชนที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีจนถึงปัจจุบัน มีหัตถกรรมหลายอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่ การทอผ้า และเครื่องจักสานของชาวไทยทรงดำ ที่ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีจนถึงปัจจุบัน
จากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ในชุมชนเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชื่อหมู่บ้านเกี่ยวข้องกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่มีแม่น้ำไหลผ่านรอบหมู่บ้าน ทำให้พื้นที่ตั้งหมู่บ้านมีลักษณะเป็นเกาะ รวมถึงสภาพความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ในอดีตซึ่งเป็นป่าและมีสัตว์ป่าหลากหลายชนิดโดยเฉพาะแรด ด้วยลักษณะเด่นดังกล่าวจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านเกาะแรต" มาจนถึงปัจจุบัน
บ้านเกาะแรต ส่วนใหญ่มีเชื้อสายไทยทรงดำหรือไทยโซ่ง ชุมชนที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีจนถึงปัจจุบัน มีหัตถกรรมหลายอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่ การทอผ้า และเครื่องจักสานของชาวไทยทรงดำ ที่ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีจนถึงปัจจุบัน
ราวปี พ.ศ. 2411 ชาวไทยโซ่งกลุ่มหนึ่งได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณคลองในเขตตำบลบ่อหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาได้เดินทางอพยพเคลื่อนย้ายโดยทางเท้าขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือผ่านเขตอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ทางข้ามแม่น้ำแม่กลองไปตามคลองดำเนินสะดวก โดยในสมัยนั้นเป็นเพียงคลองเล็ก ๆ ธรรมดา ผ่านบ้านบัวลอยแล้วเดินทางต่อไปจนถึงทุ่งหนองผำ ซึ่งก็คือบ้านเกาะแรตในปัจจุบัน แล้วเดินทางข้ามแม่น้ำท่าจีนไปทางทิศตะวันออกถึงเขตคลองนกกระทุง ตำบลบางภาษี อำเภอบางเลน ปรากฏว่าเป็นที่ราบลุ่มไม่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน จึงได้เดินทางย้อนกลับไปที่บ้านเกาะแรต เพราะว่าเป็นทำเลที่เหมาะกับการตั้งถิ่นฐานและการทำมาหากิน จึงได้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้จนถึงปัจจุบัน บ้านเกาะแรต ตำบลบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ตั้งอยู่บนสองฝั่งถนนสายนครปฐม-บางเลน-ลาดหลุมแก้ว ห่างจากตัวเมืองนครปฐมขึ้นไปยังทิศเหนือประมาณ 30 กิโลเมตร คนในชุมชนเกาะแรตเป็นคนไทดำหรือลาวโซ่งที่อพยพมาจาก อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรีเป็นส่วนใหญ่
เดิมพื้นที่บ้านเกาะแรตเป็นป่า มีคลองบางปลาใหญ่ไหลผ่านและลงไปออกทางแม่น้ำท่าจีน โดยชาวไทดำหรือลาวโซ่งรุ่นแรกจะตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บริเวณริมคลองบางปลาฝั่งตะวันออก สร้างบ้านด้วยไม้ไผ่หลังคามุงแฝก การตั้งบ้านเรือนมักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เครือญาติหรือพี่น้องมักจะปลูกบ้านอยู่ใกล้ ๆ กัน ส่วนพื้นที่ทำนาหรือทำเกษตรกรรมจะอยู่ถัดออกไปจากบ้านประมาณ 1-2 กิโลเมตรหรืออยู่ติดกับลำคลองหรือแม่น้ำ โดยจำนวนการถือครองที่ดินสมัยก่อนจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการหักร้างถางพงหรือจับจองที่ดินของแต่ละครอบครัว ครอบครัวหนึ่งจะถือครองที่ดินประมาณ 10-12 ไร่ อยู่เหนือจากหมู่บ้านเกาะแรตประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีคลองที่สำคัญของชุมชน คือ คลองบางปลาที่มีน้ำตลอดทั้งปีและมีปลาชุกชุมอุดมสมบูรณ์
นอกจากนี้ลักษณะของพื้นที่มีคลองน้ำหลายสายไหลผ่านทั้งยังมีความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิต โดยพ่อค้าแม่ค้าจะใช้พื้นที่ดังกล่าวในการขายสินค้าและขนส่งสินค้าพืชผลทางการเกษตรระหว่างกันทางน้ำและเดินทางออกสู่แม่น้ำท่าจีนเพื่อค้าขายกับชุมชนอื่น ๆ รอบนอก ในสมัยก่อนชาวไร่ชาวนาจะเดินทางมาชุมชนที่นี่โดยทางเกวียนเพื่อซื้อขายสินค้า ทำให้เกิดตลาดที่เรียกกันว่า ตลาดเกาะแรต ซึ่งเป็นชุมชนคนจีนในบริเวณบางเลน ที่เรียกกันว่า คนจีนเชื้อสายไคฮ้อ มีศาลอาม่าซึ่งอัญเชิญมาจากประเทศจีนตั้งอยู่ในพื้นที่ตลาดเก่า ปัจจุบันคือ บ้านเกาะแรต หมู่ที่ 14 ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงสีกิจประเสริฐในปัจจุบัน ต่อมาปี พ.ศ. 2461 ได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานในทิศตะวันตกและปลูกสร้างห้องแถวเล็ก ๆ เพื่อใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าชนิดต่าง ๆ ทำให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นตลาดศูนย์กลางของการซื้อขายแลกเปลี่ยนในอดีตและแสดงให้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของการค้าในพื้นที่ ปัจจุบันคือพื้นที่หมู่ที่ 10 บ้านตลาดเกาะแรต ตำบลบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
ในปัจจุบันการสร้างบ้านเรือนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต ทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีการประยุกต์ ผสมผสานกับเรือนไทยแบบภาคกลาง หรือบ้านสมัยใหม่ที่สร้างด้วยปูนแทนการใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก รวมถึงการทำใต้ถุนโล่งแบบเรือนไททรงดำที่น้อยลงไปในปัจจุบัน แต่ใช้ลักษณะของการต่อเติมขยายไปในทุกทิศทาง มีการรวมรั้วและมีการรื้อยุ้งข้าวที่เคยเป็นสถานที่ที่อยู่ใกล้ตัวบ้านและใช้สำหรับเก็บพืชผลทางการเกษตรออกไป เพื่อต่อเติมพื้นที่บริเวณนี้ทำประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของอาชีพและการการขายพืชผลทางการเกษตรมากกว่าที่จะเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน
หมู่บ้านเกาะแรต มีกลุ่มชาติพันธ์ุไทดำหรือไทยทรงดำเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก โดยหัวหน้าหมู่บ้านของไทโซ่งคนแรก คือ นายทรัพย์ที่ย้ายมาจากบ้านหนองปรงเพชรบุรี อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาในช่วงรัชกาลที่ 6 จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีนามสกุลขึ้น แต่เพื่อเป็นการระลึกถึงถิ่นฐานดั้งเดิมของผู้คนที่อยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้จึงมักใช้คำว่า "เพชร" นำหน้านามสกุล เพื่อแสดงให้เห็นว่ามาจากเมืองเพชรบุรี เช่น นายทอน เพชรอรุณ นายเพียง เพชรแอน นายแอ เพชรยวน เป็นต้น
ไทดำชาวไทยโซ่งบ้านเกาะแรตส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาปลูกข้าวจ้าวและข้าวเหนียว จนถึงปัจจุบันก็ยังยึดอาชีพการทำนามากกว่าอาชีพอื่น ถึงแม้จะทำนาได้ปีละหลายครั้งแต่ราคาขายก็ไม่แน่นอน เพราะชาวนาไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ จึงทำให้ชาวนาบางคนต้องทนทำไปทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ต่อมาจึงมักส่งเสริมลูกหลานให้ลูกหลานได้เปลี่ยนอาชีพเป็นอย่างอื่น หรือทำการดัดแปลงท้องนาให้เป็นสวนผัก ผลไม้ ร่วมด้วย
วิถีชีวิตในอดีตของคนในชุมชนที่นี่มีการพึ่งตัวเองสูง มีการถนอมอาหารไว้สำหรับการบริโภค เช่น การทำปลาร้า การทำน้ำปลา เก็บไว้กินตลอดทั้งปีไม่ต้องซื้อหาจากที่อื่น ๆ ซึ่งในปัจจุบันทำกันน้อยลง เช่น บ้านคุณยายว่าว ยังทำปลาร้าไว้กินเอง โดยใช้ปลาจากบ่อที่เลี้ยงเนื่องจากปลาธรรมชาติหาได้ยากและมีจำนวนลดน้อยลง นอกจากนี้ในอดีตผู้ชายและผู้หญิงมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ถ้าเป็นผู้ชายจะต้องออกไปทำไร่ทำนาในตอนเช้า ส่วนผู้หญิงก็จะทอผ้าไว้ใช้ เช่น ผ้าซิ่นลายแตงโม เสื้อฮีซึ่งใช้ใส่ในงานต่าง ๆ ทั้งงานศพ พิธีเสนเรือน งานแต่งงาน งานสงกรานต์และอื่น ๆ รวมถึงที่นอน หมอน มุ้งและกระเป๋า เพื่อใช้ในครอบครัวและจำหน่าย นอกจากนี้ผู้หญิงยังมีหน้าที่ดูแลเรื่องอาหารการกินในครัวเรือน การทำอาหารอยู่ที่บ้านเมื่อถึงเวลาก็จะนำอาหารไปส่งให้กับสามีที่นา นอกจากอาชีพทางการเกษตร ผู้ชายยังมีความชำนาญด้านอื่น ๆ เช่น การจับปลา การจักสานอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น กะเหล็บ งอบ กระบุง ปานเฝือน ข้อง ลอบและไซดักปลา เป็นต้น สำหรับอาหารการกินในสมัยก่อนก็จะหากุ้ง หอย ปู ปลาตามลำคลอง ตามไร่ตามนาซึ่งมีอยู่มากมายตามธรรมชาติ รวมถึงเก็บผักที่มีตามหัวไร่ปลายนาหรือสวนที่ปลูก เช่น หยวกกล้วย ตำลึง ผักบุ้ง ผักกูด และดอกแค เป็นต้น
การคมนาคมขนส่งมีการเปลี่ยนแปลงจากในอดีตซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงทางดินลูกรังและดินโคลน ต้องใช้เกวียนเป็นพาหนะในการเดินทาง ปัจจุบันมีทางหลวงจังหวัดตัดผ่านหมู่บ้านระหว่างจังหวัดนครปฐมกับอำเภอดอนตูม อำเภอบางเลน โดยถนนแบบลาดยางเริ่มมีมาประมาณ 40 กว่าปี ทำให้การคมนาคมทางน้ำที่ใช้เรือเป็นพาหนะหลัก ลดความสำคัญลงไปในอดีต การคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ตลาดเกาะแรตที่เคยเป็นศูนย์กลางของชุมชนจึงลดความสำคัญลง เนื่องชาวบ้านเดินทางไปค้าขายสินค้าและจับจ่ายซื้อข้าวของในตัวเมืองมีความสะดวกสบายและหลากหลายมากกว่า การเปลี่ยนแปลงของพาหนะในการขนส่งทั้งการใช้รถไถนาแทนเกวียน การมีเครื่องสีข้าวเครื่องนวดข้าวลงมาในพื้นที่ไร่นาทำให้ไม่ต้องเก็บข้าวในยุ้งฉางอีกต่อไป
ประเพณีความเชื่อ
ชาวไทยโซ่งในอดีตไม่มีศาสนา แต่มีการนับถือผีฟ้าและผีบ้านและผีต่าง ๆ เมื่ออยู่ในเมืองไทยนานเข้าจึงนับถือพุทธศาสนา แต่การนับถือผีแบบเดิมนั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ดังจะเห็นได้จากปัจจุบันก็ยังมีการทำพิธีเสนเรือนกันอยู่ทั่วไป การแต่งงานและงานศพแบบเดิมก็ยังปฏิบัติกันอยู่เช่นเดิม แต่มีการนำประเพณีทางพุทธศาสนาเข้าไปปนอยู่ด้วย เช่น มีการนำพระมาสวดศพในตอนกลางคืน นิมนต์พระมาสวดมนต์ฉันอาหารในงานแต่งงานและนำอาหารไปทำบุญที่วัดเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป มีการรักษาศีลและบวชลูกชายเช่นเดียวกัน เดิมชาวไทยโซ่งถือว่าแถนเป็นเทวดาอยู่เมืองฟ้าเมื่อคนตายไปก็หมายที่จะให้ได้อยู่เมืองฟ้า ปัจจุบันมานับถือศาสนาพุทธก็เปรียบว่าเมืองฟ้าของเขาคือสวรรค์ตายไปต้องขึ้นสวรรค์ เชื่อในการไปเมืองสวรรค์ของโซ่งคือต้องทำความดีและสร้างพาหนะให้ไป เช่น สร้างตัวหงส์ให้กับคนแก่ที่ตายไปหลังจากเผาเป็นกระดูกแล้ว นรกของชาวโซ่งไม่ปรากฏ และการที่จะติดต่อกับแถนหรือเทวดาและผีต่าง ๆ จะใช้หมอพิธีเป็นสื่อ หมอพิธีจะต้องมีวิชาเฉพาะแต่ละพิธี เช่น หมอทำพิธีเสน และหมอพิธีทำขวัญอันเป็นงานมงคลจะเป็นพวกหนึ่ง หมอทำพิธีบอกทางให้ศพ และแม่มดทำพิธีไล่ผีหรือแผ้วเรือน ซึ่งเป็นงานอวมงคลก็เป็นพวกหนึ่ง และหมอพิธีอีกพวกหนึ่งคือหมอพิธีที่ติดต่อกับเทวดาโดยเฉพาะ เช่น หมอพิธีเสนตัว เสนตั้งบั้ง ซึ่งต้องมีวิธีโดยเฉพาะ เช่น ต้องมีการเป่าปี่ตีกลองและขับร้อง เป็นต้น
ด้านสังคมและวัฒนธรรมชุมชน
ปั๊บผีเรือน เป็นทำเนียบรายชื่อคนที่อยู่ในกลุ่มผีเดียวกัน เป็นหลักฐานยืนยันและอ้างอิงเพื่อนำมาใช้สร้างคุณค่าที่เป็นความรัก ความสามัคคี ความช่วยเหลือเกื้อกูล ความผูกพันทางเครือญาติความเป็นพี่เป็นน้องเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันที่ต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขซึ่งกันและกัน และสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนดังที่ปู่ย่าตายายและพ่อแม่เคยใช้มาแต่อดีตถ้ามีใครเสียชีวิตลงในชุมชน คนในชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในกลุ่มผีเดียวกัน สิง (ตระกูล) เดียวกัน ทุกคนต้องหยุดงานไม่ว่าจะเป็นงานประจำหรืองานจรแล้วมาช่วยจัดการงานศพให้เสร็จเรียบร้อย
ชาวโซ่งมีอักษรและภาษาของตน ใช้มาตั้งแต่ครั้งมีถิ่นฐานอยู่สิบสองปันนา เมื่ออพยพมาอยู่ในประเทศไทยก็ได้นำเอาอักษรและภาษาของตนเข้ามาใช้ด้วย ปัจจุบันมีผู้เขียนอักษรโซ่งได้น้อยมาก และชาวไทยโซ่งมีสำเนียงพูดคล้ายคลึงกับสำเนียงอีสาน และมีบางส่วนใกล้เคียงกับภาคเหนือ สำเนียงออกเสียงสั้นกว่าไทยภาคกลางเล็กน้อย ตัวหนังสือคล้ายกับตัวหนังสือลาว และมีระเบียบภาษาหรือไวยากรณ์ก็เป็นแบบเดียวกับภาษาไทย ปัจจุบันภาษาพูดยังคงใช้กันอยู่ในหมู่คนสูงอายุจนถึงปัจจุบัน ลูกหลานสมัยใหม่ฟังภาษารู้เรื่องและพูดได้บ้าง ส่วนภาษาเขียนนั้นจะถูกบันทึกไว้ในสมุดไทยต่อ ๆ กันมา โดยเฉพาะเรื่องประเพณีต่าง ๆ ตามความเชื่อ
ก่อนหน้าที่จะมีการปกครองแบบที่เป็นทางการจะเป็นการดำรงอยู่ร่วมกันภายใต้ระบบของความอาวุโส ผู้อาวุโสในบ้านจะดูแลสมาชิกในครอบครัวและเครือญาติของตัวเอง เมื่อมีการอยู่ร่วมกันและตั้งเป็นชุมชนหมู่บ้านตามระบบบริหารราชการของไทยก็จะมีการจัดตั้งตัวแทนของรัฐเข้าไปทำหน้าที่ในการบริหารจัดการชุมชนหมู่บ้านของตัวเอง โดยเริ่มจากระบบการปกครองแบบผู้ใหญ่บ้านและกำนัน โดยในอดีตผู้ใหญ่บ้านและกำนันมักจะมาจากสายตระกูลใหญ่ๆในชุมชน หรือเป็นคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจในชุมชน อ่านออกเขียนได้ รวมถึงคนที่มีความรู้ความสามารถในการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานราชการภายนอก ในสมัยต่อมาจึงมีการบริหารปกครองในลักษณะของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลมีสมาชิกอบต.เข้ามาทำหน้าที่ปกครองในชุมชน มีสถานะและอำนาจเช่นเดียวกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในอดีต ในชุมชนจะมีผู้นำที่เป็นทางการที่เป็นตัวแทนของรัฐในด้านการเมืองการปกครอง ในขณะที่ผู้นำที่ไม่เป็นทางการจะเกี่ยวข้องกับการศึกษาและประเพณีความเชื่อ เช่น ครูอาจารย์ พระ ผู้อาวุโส ปราชญ์ทางด้านประเพณีวัฒนธรรมของชุมชน เป็นต้น
การจัดลำดับช่วงชั้นทางสังคมจะแบ่งออกตามประเพณีความเชื่อที่ยึดโยงอยู่กับเรื่องของการสืบผีแลบรรพบุรุษ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มพวกเจ้าหรือผู้ท้าว(ผู้ต้าว) กับกลุ่มของผู้น้อยหรือคนธรรมดาทั่วไป ซึ่งเป็นการแบ่งแยกมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเริ่มแรกที่อพยพจากเวียดนามมาอยู่เมืองไทย โดยเชื่อว่าผู้ท้าวคือชนชั้นปกครอง ที่ตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองสูง มีหน้าที่สำคัญในการเชิญผีฟ้าผีเมือง เพราะเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้สืบเชื้อสายมาจากเมืองฟ้าจึงมีสถานะเป็นเจ้า ในขณะที่ผู้น้อยตามความเชื่อจะเป็นราษฎรสามัญชน ชาวไร่ชาวนาทั่วไป ที่มีผีบรรพบุรุษของตัวเอง บูชาผีบรรพบุรุษของตัวเองได้โดยไม่ต้องนับถือผีฟ้าผีเมืองเหมือนกลุ่มผู้เจ้าหรือผู้ต้าว
ในปัจจุบันแม้ว่าจะมีความคิดเกี่ยวกับมีผู้ท้าวและผีผู้น้อยที่แบ่งแยกเชื้อสายตระกูล แต่การแบ่งแยกดังกล่าวไม่ได้ชัดเจนหรือมีผลกระทบการการปกครองในชุมชนไทดำหรือโข่ง บางครั้งผู้สืบเชื้อสายของผีผู้น้อยก็ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในหมู่บ้าน เช่น การเป็นผู้ใหญ่บ้าน อบต. หรือกำนัน แต่ผีผู้ท้าวก็ยังคงได้รับการยกย่องและให้ความสำคัญในฐานะที่เป็นผู้สืบเชื้อสายทางฝ่ายเจ้าอยู่ รวมทั้งมีการแต่งงานระหว่างผู้น้อยกับผู้ท้าว แม้ว่าในความเป็นจริงคนที่อยู่ในตระกูลผู้ท้าวเมื่อแต่งงานกับผู้น้อยแล้วสถานะก็จะเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการนับถือผีทั้งสองฝ่ายที่แตกต่างกันทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเข้ามาในกะล่อห่องของกันและกันได้ เพราะผีผู้ท้าวจะไม่เข้าห้องของผีผู้น้อย ผีผู้น้อยก็ไม่สามารถเข้าไปในห้องของผีผู้ต้าวได้เช่นกัน ความเชื่อเหล่านี้ยังคงถูกยึดถือกันอย่างมั่นคง
ปัจจุบันสถานภาพของชาวไทยโซ่งในหมู่บ้านต่าง ๆ เป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทางราชการมีความสนใจเป็นพิเศษเพราะความแปลกที่โดดเด่นทางด้านประเพณีและวัฒนธรรมกว่าคนไทยกลุ่มอื่น ประกอบกับรัฐบาลสนับสนุนให้มีการเคลื่อนไหว้ในกิจการด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น วัฒนธรรมของชาวไทยโซ่งก็ยังน่าสนใจเพิ่มขึ้นตามลำดับ จะเห็นว่ามีการนำนิทรรศการประกอบการแต่งกายตามประเพณีและวัฒนธรรมต่างของไทยโซ่งไปร่วมงานสำคัญของจังหวัดอยู่เป็นประจำ ทำให้ชาวไทยโซ่งมีความตื่นตัวและมีความมั่นใจในแนวทางที่จะรักษาเอกลักษณ์ของตนไว้ยิ่งขึ้น
แต่ในความเป็นจริงก่อนหน้าที่ทางราชการจะมาให้ความสนใจชนกลุ่มนี้ หนุ่มสาวชาวไทยโซ่งได้ปรับตัวเองให้เหมือนกับคนไทยทั่วไปจนเกือบหมดแล้ว เช่น การแต่งกายของหนุ่มสาวก็จะนิยมนุ่งกางเกงยีนส์ ผ้านุ่งสีต่าง ๆ และเสื้อผ้าตามสมัยนิยม ทั้งนี้เพราะหนุ่มสาวเหล่านั้นได้เข้าสู่ระบบโรงเรียนของรัฐบาลตั้งแต่ยังเด็ก เขาต้องมีสภาพชีวิตที่เป็นไปตามสังคมจึงไม่น่าแปลกที่การพัฒนาใด ๆ ก็ตามย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ได้เสมอดังนั้นบรรดาหนุ่มสาวจึงมีการเปลี่ยนอาชีพ เปลี่ยนการแต่งกาย เปลี่ยนทรงผม และเปลี่ยนความประพฤติไปจากดั้งเดิมไปมีอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า ทำงานในโรงงานต่างถิ่น เรียนหนังสือจนจบปริญญาตรี และไปประกอบอาชีพยังต่างประเทศก็หลายราย ผู้ที่ยังรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมอย่างเคร่งครัดก็มีแต่คนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปเท่านั้น ที่ยังคงนุ่งผ้าลายแตงโม ทำผมปั้นเกล้า ทอผ้าอยู่กับบ้าน จัดพิธีเสนเรือน ฯลฯ และมีอาชีพทำนาอยู่อย่างเดิม ในเมื่อทางราชการมาสนใจเช่นนี้ ย่อมเป็นพลังให้บุคคลทุกระดับในหมู่บ้านตื่นตัวที่จะแสดงให้ใครต่อใครเห็นว่า พวกเขามีวัฒนธรรมที่ดีอย่างไร ดังนั้นเขาจึงชวนกันฟื้นฟูประเพณีทุก ๆ ด้านขึ้นมาใหม่เพื่ออวดแก่บุคคลภายนอกให้ได้ชม เช่น มีการจัดงานสงกรานต์ สร้างบ้านแบบดั้งเดิมไว้รวบรวมเครื่องใช้ไม้สอย เป็นลักษณะการจำลองชีวิตความเป็นอยู่ในอดีต รับเชิญที่จะไปเป็นตัวแทนวัฒนธรรมประเพณีของโซ่งในงานต่าง ๆ
นุกูล ชมภูนิช. (2538). ประเพณีชาวไทยโซ่ง หมู่บ้านเกาะแรต. ม.ป.ท.: กรมการฝึกครู กระทรวงศึกษา.
นัฐวุฒิ สิงห์กุล. (2561). การเดินทางของชีวิต: ความหมายต่อความชราภาพและการใช้ชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุไทดำ กรณีศึกษา บ้านเกาะแรต หมู่ที่ 12 ตำบลบางปลา อำเภอบางเลน และบ้านหัวถนน ตำบลดอนพุทรา อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research
เรณู เหมือนจันทร์เชย. (2558). ทุนวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำในจังหวัดนครปฐม. วารสารมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์และศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 8(2), 231 - 247.