Advance search

ชุมชนชาวไทใหญ่ ที่มีความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา สถาปัตยกรรมและประเพณี 12 เดือน

หมู่ที่ 9
บ้านเวียงหวาย
ม่อนปิ่น
ฝาง
เชียงใหม่
อบต.ม่อนปิ่น โทร. 0-5388-6366
หทัยชนก จอมดิษ
27 ธ.ค. 2022
หทัยชนก จอมดิษ
8 มี.ค. 2023
บ้านเวียงหวาย


ชุมชนชาวไทใหญ่ ที่มีความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา สถาปัตยกรรมและประเพณี 12 เดือน

บ้านเวียงหวาย
หมู่ที่ 9
ม่อนปิ่น
ฝาง
เชียงใหม่
50110
19.91519
99.15218
องค์การบริหารส่วนตำบลฝาง

ประวัติความเป็นมาบ้านเวียงหวาย หมู่บ้านเวียงหวายตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เล่ากันว่าเวียงหวายเป็นเวียงเก่าแก่ที่มีมานับร้อยปี สร้างโดยนางคำเอ้ย ธิดาองค์โตของพระเจ้าฝาง ปัจจุบันคือดอยเวียงจากนั้นก็ปล่อยรกร้าง จนคนไทใหญ่ได้อพยพมาจากพม่าโดยบางส่วนก็ได้กระจายอยู่ในตัวฝาง คนไทใหญ่บางส่วนก็ได้ตั้งถิ่นฐานที่บ้านป่าฮิ้น บ้านเด่น บ้านม่อนปิ่น ซึ่งมีผู้นำคือพ่อล่าม ต่อมาได้พาชาวบ้านที่ป่าฮิ้นย้ายหมู่บ้านมาตั้งที่บนเนิงสูงซึ่งเป็นเวียงหวายเก่า เนื่องจากเกิดน้ำท่วมทุกปีทำให้บ้านเรือนเสียหาย จึงอพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ พ่อล่ามได้ก่อตั้งหมู่บ้านเวียงหวายขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2440 สภาพของหมู่บ้านเป็นป่า คนไทใหญ่ที่อพยพมาอยู่เริ่มแรกมีเพียง 10 กว่าครอบครัว นับจากนั้นก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตอนมาอยู่ใหม่ ๆ ชาวบ้านช่วยกันถางป่าเพื่อสร้างบ้านเรือน ต่อมาชาวบ้านก็ช่วยกันสร้างวัดเวียงหวาย หรือ วัดสุนทราวาส ในปี พ.ศ. 2447 เพื่อเป็นที่ยึดเหนียวจิตใจและสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เศรษฐกิจบ้านเหวียงหวายช่วงนั้นมีอาชีพหลากหลาย เช่น การทำการเกษตร ค้าขาย และทำงานบริการในบ่อนพนันที่พ่อล่ามเปิดให้คนในและนอกหมู่บ้านมาเล่น ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 พ่อล่ามได้อพยพกลับพม่าเนื่องจากเกิดความวุ่นวายภายในครอบครัวพ่อล่าม และบ่อนการพนันที่เปิด จึงตัดสินใจอพยพกลับ โดยมีคนสนิทกลับไปด้วย ส่วนคนไทใหญ่ที่เหลือก็ตัดสินใจจะอยู่ที่เมืองไทยตามเดิม

หลังจากพ่อล่ามอพยพพาครอบครัวและคนสนิทบางส่วนกลับไปที่พม่า สภาพบ้านเวียงหวายขาดผู้นำ แต่วิถีชีวิตชาวบ้านก็ดำเนินไปอย่างปกติ มีการปรับตัวทางการอาชีพ ซึ่งผู้ที่เคยทำบ่อนก็หันมาทำการเกษตรในพื้นที่ที่มีอยู่ จนเมื่อปี พ.ศ. 2500 เริ่มมีการไปขึ้นทะเบียนเป็นคนไทยตามกฎหมาย ที่อำเภอฝาง โดยเสียค่าธรรมเนียมปีละ 4 บาทต่อครอบครัว และให้หัวหน้าครอบครัวไปรายงานที่อำเภอทุก ๆ 7 วัน และมีบางส่วนอพยพกลับพม่า เนื่องจากไม่เสียค่าธรรมเนียมทุกปี

เขตติดต่อชุมชน มีดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านใหม่หัวฝาย หมู่ที่ 8 ตำบลโป่งน้ำร้อน
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านห้วยงูใน หมู่ที่ 5 ตำบลสันทราย
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านเด่นชัย หมู่ที่ 13 ตำบลม่อนปิ่น
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านหัวนา หมู่ที่ 6 ตำบลม่อนปิ่น

หมู่บ้านเวียงหวาย หมู่ 9 ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ห่างจากตัวเมืองอำเภอฝางประมาณ 7 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ 160 กิโลเมตร ประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ที่อาศัยในเวียงหวาย ซึ่งชุมชนชาวไทใหญ่ให้ความสำคัญด้านพระพุทธศาสนา คนไทใหญ่มักจะเข้าวัดทำบุญโดยเฉพาะวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วัดจึงเป็นสถานที่สำคัญของชุมชน ได้แก่

วัดสุนทราวาส หรือวัดเวียงหวาย สร้างขึ้นปี พ.ศ. 2450 โดยการร่วมมือกันของชาวบ้าน การก่อสร้างส่วนใหญ่ใช้ศิลปะตามแบบไทใหญ่และได้ปรับปรุงมาเรื่อย ๆ โดยหลวงพ่อลายคำ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสที่เป็นชาวไทใหญ่ได้สร้างศาลา โรงเรียน พระและสามเณรที่จำพรรษาอยู่ที่วัด ส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อสายไทใหญ่ วัดเหวียงหวายใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางในวันสำคัญทางศาสนาและวันที่เป็นประเพณีของชาวไทใหญ่ในชุมชนก็จะมาประกอบพิธีที่วัด

วัดพระธาตุจุฬามณีศรีกาญจนาภิเษก หรือวัดดอยธาตุ สร้างในเขตของกรมป่าไม้ โดยเจ้าอาวาสวัดเจย์ดีงาม คือ ท่านเจ้าคุณมหาบุญเลิศ ที่ไปพบซากเจดีย์บริเวณป่าบนเขา การสร้างวัดดอยธาตุขึ้นนี้เพื่อสะดวกต่อการเดินทางไปทำบุญของคนไตต้นฮุง เพราะถ้าจะมารวมกับวัดเวียงหวาย การเดินทางลงมาค่อนข้างยากลำบาก จึงมีความคิดที่จะสร้างวัดใหม่ที่บริเวณพบซากเจดีย์เก่า

วัดพระธาตุจุฬามณี มีการจุดรื้อซากเจดีย์เก่าออกหมดแล้วสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2543 โดยศรัทธาจากทั้งในและนอกหมู่บ้านคนไทใหญ่ และในต่างจังหวัดมาร่วมเป็นศรัทธาในการสร้างวัดและพระพุทธรูป และส่วนที่เป็นของคนจีนเจ้าแม่กวนอิม วัดจุฬามณียังเป็นสถานที่สำคัญในทางศาสนาที่เป็นศูนย์ธรรมของคนไทใหญ่ที่หมู่บ้านเวียงหวาย ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาและประเพณีที่สำคัญ ยังเป็นที่เรียนหนังสือของเด็กไทใหญ่ที่อพยพตามพ่อแม่มา จึงนำมาเรียนทั้งภาษาไทยและภาษาไตที่วัด โดยมูลนิธิสวอน จากต่างประเทศ

ประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเวียงหวาย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ มีประชากรทั้งหมด 1,032 คน แบ่งเป็นหญิง 532 คน ชาย 500 คน และยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนอีก 127 ครัวเรือน ประชากรมีสัญชาติไทยร้อยละ 46 

ไทใหญ่

เศรษฐกิจของชุมชนเวียงหวายประกอบอาชีพรับจ้างและเกษตรกรรม ชาวบ้านเวียงหวายส่วนใหญ่ในหมู่บ้านจะประกอบอาชีพเกษตรแบบพอเพียง คือ การทำพอกินและขายให้พ่อค้าคนกลาง หรือบางครั้งก็จะนำเอาไปขายที่ตลาด นอกจากนี้ยังมีอาชีพรับจ้างอื่น ๆ นอกจากเกษตรก็จะมี ร้านรับตัดเสื้อทั่วไป ร้านขายของชำเล็ก ๆ 4 ร้าน โดยขายผักสด อาหารสด ความเป็นอยู่ของชาวบ้านเวียงหวายเป็นไปอย่างเรียบง่ายไม่ฟุ่มเฟือย อาหารการกินนิยมทำกันเองภายในครอบครัว

ปัจจุบันคนในชุมชนเวียงหวายร้อยละ 70 ประกอบอาชีพรับจ้าง ซึ่งแบ่งเป็นรับจ้างเกี่ยวกับงานด้านเกษตรภายในหมู่บ้านร้อยละ 50 รับจ้างทั่วไป เช่น อยู่ร้านอาหารทำงานบ้าน ประมาณร้อยละ 20

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ

  • กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟท่านเจ้าคุณ (เมืองฝาง)
  • กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลผลิตทางการเกษตร
  • กลุ่มวิสาหกิจชุมชนชนสุรากลั่นตำบลม่อนปิ่น

ศาสนา

ชาวไทใหญ่บ้านเหวียงหวายนับถือศาสนาพุทธเป็นภาษาหลัก ความเชื่อหลักของชุมชนยึดถือเรื่องความดีความชั่ว บาปบุญคุณโทษ ประเพณีของคนไทใหญ่จึงมักจะเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา

ประเพณีและพิธีกรรม

  • ประเพณีปอยส่างลอง หรือ งานบวชลูกแก้ว คือการบรรพชาเป็นสามเณรของชาวไทใหญ่ ถือเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะถือเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ ปกติจะมีการจัดงานอยู่ประมาณ 3 วัน แต่หากผู้ที่ขอทำการบรรพชามีฐานะดี ก็จะมีการฉลองยาวนานเป็น 5-7 วัน ซึ่งงานจะจัดในช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน
  • ประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด เป็นประเพณีต้อนรับพระพุทธเจ้าที่เสด็จไปเทศนาโปรดพระมารดาที่สวรรค์ในช่วงออกพรรษาของทุกปี เพื่อถวายบูชาพระพุทธเจ้าในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11
  • ประเพณีแฮนซอมโก่จา เป็นประเพณีทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับ ในพิธีจะมีการถวายหนังสือเรียกว่า ลีกซุตต๊ะ นอกจากนี้ยังมีการถวายธงให้แก่ผู้ตาย เรียกว่า ตำข่อน และมีเครื่องประดับตำข่อน ชาวไทใหญ่เชื่อว่าธงนี้จะช่วยให้ผู้ตายพ้นจากนรก

สำหรับประเพณีทั่วไปทั้ง 12 เดือน มีดังนี้

เดือนประเพณี
เดือนเจ๋ง (เดือนอ้าย) / ตุลาคม

-ประเพณีปอยปีใหม่ เริ่มเมื่อวันขึ้น 1 ค่ำเดือน

-มีงานและการฉลองเหมือนปีใหม่ทั่วไป

-ประเพณีปอยหลู่ใหม่ หรืองานถวายข้าวใหม่ประจำปี

เดือนก๋ำ (เดือนยี่) / พฤศจิกายน

-ประเพณีปอยป๋างวาด คือเทศกาลปริวาสกรรมของสงฆ์

-เทศกาลข้าวปุ๊ก ทำมาจากข้าวที่ได้เก็บเกี่ยว เรียกว่า ข้าวใหม่นำมาตำแล้วผสมกับน้ำอ้อย

เดือนสาม /ธันวาคม

-ประเพณีปอยหลู๋ข้าวยากู้ ทำมาจากข้าวเหนียวผสมกับน้ำอ้อย

-เทศกาลกินข้าวหลาม

เดือนสี่ / มกราคม

-ประเพณีปอยก๋องโหล เป็นงานถวายฟืน

-ประเพณีปอยขึ้นธาตุ หรืองานไหว้พระธาตุบูชพระธาตุ

-ประเพณีปอยส่างลอง หรืองานบวชลูกแก้ว

-ประเพณีปอยเหลินสี่มน หรืองานตักบาตรข้าวสารอาหารรแห้ง ชาวบ้านจะพากันไปสักการะบูชาเจติยสถานสถาน มีการจัดงานครื้นเครงและใหญ่โต

เดือนห้า / กุมภาพันธ์

-ประเพณีปอยซอนน้ำ หรือเทศกาลสงกรานต์ มีพิธีสรงน้ำพระ ขนทรายเข้าวัด

-ประเพณีปอยกั่นตอ หรืองานรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่

-ประเพณีส่ายหัว คือ การสระหัวด้วยส้มป่อยโดยถือว่าเป็นวันปีใหม่ เพื่อชะล้างโรคภัยไข้เจ็บด้วยและปัดเป่าสิ่งที่อัปมงคลให้ออกไป

-เทศกาลข้าวหมุนห่อ คือขนมห่อทำมาจากแปงข้าวผสมน้ำอ้อยถั่ว

เดือนหก / มีนาคม

-ประเพณีปอยล้างจอง ปอยหางน้ำ การทำความสะอาดวัด

-ประเพณีปอยหนูไฟ หรืองานแข่งบั้งไฟ

เดือนเจ็ด / เมษายน

-ประเพณีปอยหลู่ใจบ้าน ขึ้นเจ้าเมือง หรือ งานสวดมนต์สืบชะตาบ้านเมือง

-ประเพณีปอยสอบลึก หรือ งานสอบธรรมของพระภิกษุสามเณร

-ประเพณีปอยหลู่ข้าวหลาม

เดือนแปด / พฤษภาคม

-ประเพณีปอยหลู่ตานส่างกานก๋ำหว่า คืองานถวายผ้าอาบน้ำฝนก่อนเข้าพรรษา

-ประเพณีปอยดอกไม้เข้าพรรษา

เดือนเก้า / มิถุนายน

-ประเพณีปอยหลู่ต้นแปก หรือ งานถวายเทียนพรรษา

-ประเพณีปอยมหาตุ๊ก หรืองานสลาก

เดือนสิบ / กรกฏาคม

-ประเพณีปอยอาบน้ำแม่ปี หรือเทศกาลอาบน้ำชะตาในเดือนสิบ

-ประเพณีปอยข้าวซอมสาร หรืองานตักบาตรอาหารแห้ง

เดือนสิบเอ็ด / สิงหาคม

-ประเพณีปอยพรากลงเมือง หรืองานเทโวโรหณะ

-ประเพณีปอยโฮงไฟหมิน หรืองานปล่อยโคมไฟ

-ประเพณีปอยกั่นตอ หรือขอขมาคารวะพ่อแม่ ผู้ใหญ่

-ประเพณีปอยเข้ามุมจ๊อก หรืองานขนมห่อ

-ประเพณีปอยได้เต็นออกหว่า หรืองานจุดเทียนพรรษา ที่จะมีการจุดเทียบตามประตูบ้านทั่วไป

เดือนสิบสอง / กันยายน

-ประเพณีปอยเชิดชูเจ้าครูหมอไต หรืองานเชิดชูนักปราชญ์

-ประเพณีปอยหลู่กระฐิน หรืองานถวายผ้ากะฐิน

-ประเพณีปอยส่งท้ายปีเก่า เตรียมต้อนรับปีใหม่

1.นายชัย เต่ยะ ปราชญ์ด้านการทำต้นผึ้งจากเทียน วัฒนธรรมไทใหญ่

2.นายสุรินทร์ ลุงซาน ปราชญ์ด้านการทำต้นผึ้งจากเทียน วัฒนธรรมไทใหญ่

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาวบ้านพื้นเมืองมีภาษาเฉพาะคือ ภาษาไต เป็นภาษาพูด ภาษาพูดส่วนใหญ่จะใช้ภาษาไทใหญ่พูดสื่อสารกันภายในชุมชนเดียวกัน แต่หากมีการติดต่อกับคนไทยก็จะพูดภาษาพื้นเมืองปะปนบ้าง แต่จะติดสำเนียงก็ยังคงเป็นภาษาไทใหญ่ ส่วนเด็ก ๆ จะมีการใช้ภาษาไทยกลางในการสื่อสารกับคุณครู หากเป็นเด็กคุยกัน ก็จะใช้ภาษาไทยใหญ่ปนกับภาษาพื้นเมือง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จรรยา พนาวงค์. (2546). ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเวียงหวาย ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่. ม.ป.ท.: สำนักพิมพ์คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

อภิชาต ภัทรธรรม. (2553). ไทยใหญ่. การจัดการป่าไม้4(7), .

อบต.ม่อนปิ่น โทร. 0-5388-6366