น้ำตกขุนต๊ำ จำปาทองลือชื่อ ศักดิ์สิทธิ์คือพระธาตุโป่งขาม ลือนามแดนข้าวโพดหวาน เล่าขานถิ่นสาวงาม โดดเด่นวัฒนธรรมล้านนา ผลิตภัณฑ์ผักตบชวา ภูมิปัญญาท้องถิ่น
ดั้งเดิมชาวบ้านบริเวณบ้านต๊ำพระแล (ทุ่งยาว) และบ้านต๊ำใน มีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงขยับขยายมาตั้งบ้านเรือนบริเวณบ้านต๊ำกลาง ในปัจจุบันและอยู่ร่วมกับกลุ่มชาติพันธ์ลัวะและตั้งชื่อหมู่บ้านว่าต๊ำกลาง เนื่องจากตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างบ้านต๊ำพระแลและบ้านต๊ำใน
น้ำตกขุนต๊ำ จำปาทองลือชื่อ ศักดิ์สิทธิ์คือพระธาตุโป่งขาม ลือนามแดนข้าวโพดหวาน เล่าขานถิ่นสาวงาม โดดเด่นวัฒนธรรมล้านนา ผลิตภัณฑ์ผักตบชวา ภูมิปัญญาท้องถิ่น
คำว่า “ต๊ำ” มีความเป็นมาอยู่ 2 แนวคิด คือ แนวคิดที่หนึ่งเป็นแนวคิดเชิงธรรมชาติมีน้ำขุนต๊ำไหลผ่านจึงได้นามตามขุนน้ำว่าบ้านต๊ำ แนวคิดที่สองเป็นแนวคิดเชิงนิทานพื้นบ้าน คือ มาจากคำว่าขะตั๊ม (ภาษาท้องถิ่น หมายถึง เครื่องมือดักสัตว์ชนิดหนึ่ง) มีเรื่องเล่าว่าพ่อขุนงำเมืองไล่จับพ่อขุนรามที่แปลงกายเป็นเสือไปติดกับดัก ณ บริเวณนี้ดังนั้นบริเวณดังกล่าวจึงได้ชื่อว่าบ้านขะตั๊ม ต่อมาเพี้ยนเป็น บ้านต๊ำ
พ.ศ. 2485 มีกลุ่มชาติพันธ์ุลั๊วะได้ย้ายถิ่นฐานมาจากอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง และจากการสัมภาษณ์นายไข่ เหมี้ยงหอม อายุ 88 ปี ผู้อาวุโสในหมู่บ้านเพิ่มเติม ได้ให้ข้อมูลว่าหมู่บ้านต๊ำกลาง เดิมทีเป็นป่า ทุ่งนา ต่อมามีกลุ่มชาติพันธ์ุลั๊วะได้ย้ายถิ่นฐานมาจากอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ในช่วงปี พ.ศ. 2485-2488 เนื่องจากเดิมกลุ่มชาติพันธ์ุลั๊วะนิยมตั้งถิ่นฐานบริเวณเชิงดอย ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำการเกษตร จึงเกิดการรุกรานของชาวท้องถิ่น อีกทั้งในขณะนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้รุกรานจังหวัดลำปาง ทำให้ประชาชนในเมืองย้ายออกนอกอำเภอมากขึ้น กลุ่มชาติพันธ์ุลัวะจึงย้ายถิ่นฐาน เพื่อหาพื้นที่ ทำกินใหม่ มายังบริเวณบ้านต๊ำกลางในปัจจุบัน กระจายบ้านเรือนไปจนถึงทิศใต้ของบ้านต๊ำกลางในปัจจุบันซึ่งอยู่เชิงดอย มีขุนน้ำต๊ำไหลผ่านแต่เนื่องด้วยปัญหาการแบ่งชาติพันธุ์ ทำให้ชาวลั๊วะไม่เปิดเผยชนชาติและการกลืนกันทางวัฒนธรรม การพูดภาษาลั๊วะลดลง จนเลือนหายตามเวลา
พ.ศ. 2489 ต่อมาหมู่บ้านต๊ำพระแล (ทุ่งยาว) และหมู่บ้านต๊ำใน มีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงขยับขยายมาตั้งบ้านเรือนบริเวณบ้านต๊ำกลางในปัจจุบันและอยู่ร่วมกับกลุ่มชาติพันธ์ุลัวะ และตั้งชื่อหมู่บ้านว่าต๊ำกลาง เนื่องจากตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างบ้านต๊ำพระแลและบ้านต๊ำใน มีผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ พ่อหนานตา หาสิ่ง
พ.ศ. 2515 นายหล้า หาสิ่ง เป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้แยกวัดมาตั้ง ณ หมู่บ้านต๊ำกลางและมีหอกระจายข่าว ในขณะนั้นหมู่บ้านต๊ำกลางยังไม่มีวัด โรงเรียน หรือสถานีอนามัย หากต้องการทำบุญชาวบ้านจะต้องไปที่วัดขุนต๊ำหากเจ็บป่วยชาวบ้านบางคนยังคงรักษาตามความเชื่อพื้นบ้าน โดยมีหมอเป่าคือนายเป่ง ตามแผ่น ซึ่งเป็นหมอประจำหมู่บ้าน หรือไปหา นายพุทธ ที่หมู่บ้านต๊ำพระแลซึ่งเป็นหมอประจำตำบล จนกระทั่งปี พ.ศ. 2515 ขณะที่ นายหล้า หาสิ่ง เป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้ทำเรื่องขอตั้งวัด ณ หมู่บ้านต๊ำกลาง
พ.ศ. 2516 ได้มีการก่อตั้ง สถานีอนามัยตำบลบ้านต๊ำ เพื่อดูแลปัญหาความเจ็บป่วยเบื้องต้นของชาวบ้านในตำบล และสร้างโรงเรียนบ้านต๊ำกลางในปี พ.ศ. 2517 และปี พ.ศ. 2518 มีการระบาดของมาลาเรียในจังหวัดพะเยา ในช่วงนั้นมีชาวบ้านต๊ำกลาง เป็นเพียง 2-3 คน ได้รับการรักษา ที่โรงพยาบาลพะเยา จนหาย และนายเสาร์ เดินอด ได้เป็นอาสาสมัครมาลาเรียคนแรกและคนเดียวในหมู่บ้าน และในปีนี้ได้เริ่มมีการใช้ส้วมซึมจากเดิมที่ใช้ส้วมหลุม มีผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) ชุดแรกของหมู่บ้านต๊ำกลางคือ นางสีคำ สันสุวรรณ นายประดิษฐ์ ใจตรง และนางสุพรรณ อ้อยหวาน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2523 ต่อมาได้ยกฐานะผู้สื่อข่าวสาธารณสุขขึ้นเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ซี่ง อสม. ชุดแรกของหมู่บ้านประกอบด้วยนายสมมี คำโฮ้ง, นายเสาร์ เดินอด, นายบุญหนัก ปิงวงค์, นายเป็ง ตามแผ่น และนายอินคำ เป่าไม้
แต่เดิมในช่วงกลางคืนชาวบ้านใช้แสงสว่างจากตะเกียงน้ำมัน จนกระทั่งมีไฟฟ้าใช้ในปี พ.ศ. 2525 และเดิมการคมนาคมในหมู่บ้านยังคงใช้ถนนลูกรังเป็นดินแดงและใช้ล้อเกวียนในการดำเนินชีวิต จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2527 ได้มีการสร้างถนนลาดยาง และจากเดิมที่ใช้น้ำอุปโภคบริโภคจากบ่อน้ำตื้นแต่ละบ้าน ได้มีน้ำประปาภูเขาในปี พ.ศ. 2545
ในด้านการเกษตร แต่เดิมชาวบ้านทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ต่อมานายหมิง ตามแผ่น ได้ริเริ่มการเลี้ยงปลา ในบริเวณหมู่บ้านต๊ำกลาง เมื่อมีรายได้ดี ชาวบ้านจึงขุดพื้นที่ทำนาบางส่วน ใช้เลี้ยงปลา เพื่อส่งขาย และมีการจัดตั้งสหกรณ์กลุ่มเลี้ยงปลาบ้านต๊ำขึ้นในเวลาต่อมา และกลายเป็นพื้นที่เลี้ยงปลาที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดพะเยา นายสมิง อ้อยหวาน ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลาบ้านต๊ำเมืองพะเยา จำกัด สหกรณ์ฯ ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2553 ปัจจุบันมีสมาชิก 140 ราย มีเงินหมุนเวียนในสกรณ์ฯ กว่า 100 ล้านบาท เนื่องจากราชการเห็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาที่ได้ผลผลิตน่าพอใจ และเกิดการกระจายรายได้ทั้งในชุมชนสหกรณ์จังหวัดพะเยา ให้การสนับสนุนทั้งความรู้และงบประมาณ กระบวนการบริหารสหกรณ์ฯ ได้จัดวางอย่างเป็นระบบ ดอกผลเกิดกับสมาชิกอย่างแท้จริง ปลานิลที่เลี้ยงส่งขายในจังหวัดพะเยาและต่างจังหวัด เช่น เชียงราย เชียงใหม่
พ.ศ. 2555 ด้านการศึกษา เนื่องจากการเข้าถึงเขตเมืองได้ง่ายขึ้นจากเดิม และประชากรวัยเด็กลดลง จึงได้ยุบโรงเรียนบ้านต๊ำกลางลงในปี พ.ศ. 2555 โดยไปเรียนรวมกับโรงเรียนต๊ำพระแล ในปัจจุบันหมู่บ้านต๊ำกลางมี นายประยุทธ เกษมเศรษฐพัฒน์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีวัดต๊ำกลางเป็นศูนย์รวมของคนในหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นครอบครัวขยายมีการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา มีภูมิลำเนาเป็นคนในท้องถิ่น วิถีชีวิตของคนในชุมชนส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพอย่างเรียบง่าย มีการประกอบอาชีพหลักคือทำการเกษตรที่อยู่กับไร่นา บ่อเลี้ยงปลา มีรายได้จากการขายผลิตผลทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่
พ.ศ. 2563 ประชุมประชาคมทำมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด
ที่ตั้งของหมู่บ้านมีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา ของเทือกเขาดอยหลวง พื้นที่ของหมูบ้านมีทั้งหมด 2,960 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตร 1,400 ไร่ พื้นที่ทำนา 700 ไร่ และเป็นที่อยู่อาศัย 860 ไร่พื้นที่ประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่เกษตรกรรม
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลท่าจำปี
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านห้วยทรายคำ หมู่ 8 ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านต๊ำพระแล หมู่ 7 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านต๊ำใน หมู่ 9 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา และ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
สภาพภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนเป็นที่ราบโดยมีห้วยน้ำต๊ำไหลผ่านหมู่บ้าน พื้นที่เป็นดินเหนียวปนทรายชาวบ้านจะทำการเกษตร ปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด ซึ่งปัจจุบันที่นาบางส่วนถูกขุดเพื่อทำสระเลี้ยงปลานิล และอีกบางส่วนถูกถม เพื่อปลูกยางพารา
สภาพภูมิอากาศ
- ฤดูร้อน : อยู่ระหว่างเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคมและจะร้อนจัดในเดือนเมษายน ช่วงนี้มักจะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น เลี้ยงปลานิล รับจ้างทั่วไป หาของป่า ค้าขาย ทำสวนยางพารา และเลี้ยงวัว
- ฤดูฝน : อยู่ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคมจะมีปริมาณฝนตกมากในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนช่วงนี้ชาวบ้านจะทำนา ทำไร่ ได้แก่ ไร่ข้าวโพด ถั่วลิสง ทำสวน ได้แก่ สวนยางพาราและสวนผลไม้ ( ลำไย)
- ฤดูหนาว : อยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ และจะหนาวจัดในช่วงเดือน ธันวาคมถึงเดือนมกราคม ช่วงนี้เป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าว เก็บยางพารา เลี้ยงปลา หาของป่า ค้าขาย และเลี้ยงวัว
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีลักษณะทางนิเวศที่สมดุลเนื่องจากมีการอนุรักษ์แหล่งธรรมชาติ มีการบำรุงดิน มีการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งส่วนประชาชนในหมู่บ้านส่วนใหญ่มีอาชีพด้านการเกษตร บ้านต๊ำกลาง หมู่ที่ 8 มีพื้นที่ของหมูบ้านมีทั้งหมด 2,960 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตร 1,400 ไร่ พื้นที่ทำนา 700 ไร่ และเป็นที่อยู่อาศัย 860 ไร่พื้นที่ประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่เกษตรกรรมลักษณะทั่วไปของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยพืชพรรณการเกษตร เช่น ลำไย ข้าวโพด ถั่วลิสง ยางพาราและข้าว ลักษณะดินในหมู่บ้านต๊ำกลาง หมู่ที่ 8 โดยทั่วไปเป็นดินร่วน และดินเหนียวในทุ่งนาซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูก การทำนา และดินร่วนปนทรายในพื้นที่ตั้งบ้านเรือน
การคมนาคม
บ้านต๊ำกลาง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดพะเยาห่างจากตัวอำเภอเมืองพะเยาประมาณ 17 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 30 นาที (Google Maps) การเดินทางมายังบ้านต๊ำกลาง หมู่ 8 ตำบลบ้านต๊ำสามารถเดินทางมาได้โดยใช้ถนน สายเอเชีย พะเยา-เชียงราย จุดเริ่มต้นอยู่ที่หน้าศูนย์ราชการจังหวัดพะเยา เลี้ยวซ้ายผ่านสี่แยกไฟแดงหน้าตลาดสดมณีรัตน์ และสามแยกไฟแดงบ้านร่องห้าเลี้ยวเข้าสู่ถนนพหลโยธินหมายเลข 1 ตรงมาประมาณ 10 กิโลเมตร เลี้ยวขวาที่สี่แยกบ้านต๋อมเข้าสู่ทางหลวงชนบทหมายเลข 1001 ประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกไฟแดงบ้านต๊ำ หมู่ที่ 5 ผ่านบ้านต๊ำม่อน ต๊ำพระแล เข้าสู่หมู่บ้านต๊ำกลางโดยจะมองเห็นจุดสังเกต คือ ร้านกาแฟบ้านปลา และเห็นบ่อปลาสลับกับทุ่งนาจำนวนมาก และจะเห็นโรงเรียนบ้านต๊ำกลางอยู่ทางขวามือถัดมาเป็นวัดต๊ำกลาง ถนนในหมู่บ้านเป็นถนนลาดยาง
สภาพบ้านเรือน ส่วนใหญ่ปลูกสร้างเป็นบ้านสองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้ เนื่องจากในสมัยก่อนพื้นที่รอบหมู่บ้านเต็มไปด้วยป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ชาวบ้านจึงนิยมใช้ไม้ในการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและนิยมทำเป็นสองชั้นเพื่อสามารถใช้ประโยชน์จากใต้ถุนบ้านได้เช่นการเก็บของ หรือทำเป็นคอกให้สัตว์เลี้ยง ปัจจุบันมีความเจริญทางวัตถุเข้ามา มีการนำอิฐบล็อกและคอนกรีตสร้างบ้านเรือนมากขึ้น
บ้านต๊ำกลาง หมู่ที่ 8 มีบ้านเรือนทั้งหมด 130 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมด 505 คน แบ่งเป็น เพศหญิง 250 คน เพศชาย 255 คน มีประชากรช่วงอายุระหว่าง 60-64 ปี มีมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 10.52 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 40-44 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 9.59 และ ช่วงอายุ 55-59 คิดเป็นร้อยละ 7.75
อัตราส่วนวัยพึ่งพิงบ้านบ้านต๊ำ พบว่าประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุวัยแรงงาน (15-59 ปี) จำนวน 277 คน คิดเป็นร้อยละ 60.88 รองลงมาอยู่ในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 127 คน คิดเป็นร้อยละ 27.91 และน้อยที่สุด คือ ช่วงกลุ่มอายุ 0-14 ปี จำนวน 51 คน คิดเป็นร้อยละ 11.21 ตามลำดับ
ครอบครัวของกลุ่มตัวอย่างบ้านต๊ำกลาง หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา พบว่าเป็นครอบครัวเดี่ยวจำนวน 58 หลังคาเรือน คิดเป็นร้อยละ 72. 5 และเป็นครอบครัวขยาย จำนวน 22 หลังคาเรือน คิดเป็นร้อยละ 27.5
ลัวะ (ละเวือะ)บ้านต๊ำกลาง หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีองค์กรในการบริหารจัดการดูแลภายในหมู่บ้าน มีคณะกรรมการหมู่บ้านในการดำเนินการเป็นหลัก โดยมีนายประยุทธ เกษมเศรษฐพัฒน์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านต๊ำกลาง หมู่ที่ 8 เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในชุมชน ซึ่งคนในชุมชนให้ความยอมรับนับถือและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ภายในหมู่บ้านยังมีการรวมกลุ่มในหมู่บ้านต่าง ๆ
- ผู้ใหญ่บ้าน : นายประยุทธ เกษมเศรษฐพัฒน์
- ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน : นายชาคร ทาทอง
- เลขานุการ : นายเสาร์แก้ว สันสุวรรณ
- เหรัญญิก : นายประพันธ์ เขียวสีมา
- คณะกรรมการหมู่บ้าน : มีจำนวน 10 คน
- หัวหน้าคุ้ม : มีจำนวน 6 คุ้ม
- กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำบ้าน : มีจำนวน 13 คน ประธาน นายควร อ้อยหวาน
- อาสาพัฒนาชุมชน : มีจำนวน 2 คน
- ตำรวจบ้าน : นายสายันห์ ปัญหารอบรู้
- อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน : มีจำนวน 5 คน
- กองทุนหมู่บ้าน
- กองทุนเงินล้าน : มีจำนวน 9 คน
- กองทุนกขคจ (แก้ไขปัญหาความยากจน) : มีจำนวน 8คน
- นักปราชญ์ชาวบ้าน : พ่อเปล่ง ตามแผ่น (หมอเมือง), พ่อพันธ์ ดวงต๋า, พ่อมี เป่าไม้ (จักสาน)
กลุ่มในชุมชน
- กลุ่มศูนย์สงเคราะห์ : ประธาน นายอิ่นคำ เป่าไม้
- กลุ่มแม่บ้าน : มีจำนวน 15 คน ประธาน นางวันเพ็ญ ทาทอง
- กลุ่มผู้สูงอายุ : ประธาน นายมูล หาดไร่
- กลุ่มฌาปาณกิจ : ประธาน นายบุตร หาดไร้
- กลุ่มเกษตรกร : ประธาน นายแก้ว หมั่นเหมี้ยง
- กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร : นางบัวหลัน คนดี
- กลุ่มจักสาน : นางศรีจันทร์ เกษมเศรษฐพัฒน์, นายฟอง สันสุวรรณ์
- กลุ่มเยาวชน : นายบุญธรรม ท้าวล่า
- กองทุน SML : นายประพันธ์ เขียวสีมา
- กลุ่มผู้ใช้น้ำ
- ประปาหมู่บ้าน, เกษตร : ประธาน นายนิรา อ้อยหวาน
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
- อาชีพหลัก : ทำนา, ทำสวนลำไย, ทำสวนยางพารา, ทำบ่อเลี้ยงปลา, เลี้ยงวัว
- อาชีพรอง : ปลูกข้าวโพด, ถั่วลิสง
- อาชีพเสริม : รับจ้างทั่วไป, ปลูกผักสวนครัว, ค้าขาย, หาของป่า
- รายได้ของประชาชน : รายได้จากภาคเกษตรกรรม
- รายจ่ายของประชาชน : ค่าใช้จ่ายทางการเกษตร, ค่าดำรงชีพ, ค่าสาธารณูปโภค, ค่างานสังคม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
- หนี้สินของประชาชน : ส่วนใหญ่เป็นหนี้กู้ยืม ธกส., กองทุนหมู่บ้าน
- แหล่งเงินทุน : ธกส., กองทุนหมู่บ้าน
ปฏิทินประเพณีและวัฒนธรรม ประชาชนบ้านต๊ำกลาง หมู่ที่ 8 นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 100 การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาส่วนใหญ่ประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดต๊ำกลาง ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน เป็นสถานที่ทำบุญและทำกิจกรรมของหมู่บ้าน เป็นสถานที่ที่เอื้อประโยชน์ชุมชนที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ในรอบ 1 ปี ของชาวบ้านบ้านต๊ำกลาง หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีกิจกรรมทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา เทศกาลประจำปี ที่หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน มีดังนี้
- เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : วันขึ้นปีใหม่, กลางเดือนจัดทำพิธี “ตานข้าวใหม่”
- เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : เก็บส้มป่อย เป็นการเก็บในวันที่สำคัญของวันใดวันหนึ่งของเดือนเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ในการนำส้มป่อยในประกอบพิธีต่าง ๆ, บวงสรวงศาลเจ้าบ้าน
- เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : สรงน้ำพระธาตุ ที่วัดแม่สุกธาตุหมู่ 9
- เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ปีใหม่เมือง ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ โดยวันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่นบอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์) วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น วันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี วันที่ 15 เมษายน “วันพญาวัน” วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันข้าว”นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ เลี้ยงผีปู่ย่าในวันนี้ ส่วนวันที่ 16 เมษายน “วันปากปี” เป็นวันแรกของปี มารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน พิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่าง ๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว โดยในวันปากปีมีความเชื่อบางประการเกี่ยวกับ “แกงขนุน” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” ที่จะกินกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปี
- เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : เลี้ยงผีเจ้าที่
- เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า, เลี้ยงผีเจ้าบ้าน และเลี้ยงผีขุนน้ำ, สืบชะตาแม่น้ำ, บวชป่า ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จะเป็นการเลี้ยงผีบรรพบุรุษที่ท่านได้ปกป้องลูกหลานจากภัยอันตรายต่าง ๆ และเลี้ยงผีขุนน้ำ เป็นพิธีเลี้ยงขุนน้ำต๊ำซึ่งเป็นแม่น้ำที่ไหลพาดผ่านหมู่บ้าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ใช้สำหรับเกษตรกรรม
- เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญเข้าพรรษา ถวายเทียนพรรษาที่วัดต๊ำกลาง
- เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ช่วงเดือนนี้จะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา มีการทำบุญตักบาตร
- เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ตานก๋วยสลาก ช่วงเดือน 12 ล้านนาถึงเดือนยี่ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
- เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ทำบุญออกพรรษา อยู่ในช่วงตานก๋วยสลาก สิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ
- เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ทอดกฐิน มีเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยง (เดือนเกี๋ยงดับ) จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ, ประเพณียี่เป็ง
- เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : สวดมนต์ข้ามปี ชาวบ้านจะไปทำวัตรสวดมนต์ในตอนเย็น จะมีการสวดมนต์ข้ามปีที่วัดต๊ำกลาง
1. นายเปล่ง ตามแผ่น
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2490 อายุ 75 ปี เกิดที่ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ภูมิลำเนาเดิม วังเหนือ จังหวัดลำปาง ย้ายมาเมื่อปี พ.ศ. 2522
ประวัติการศึกษา
- ปี พ.ศ. 2502 : จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านผาแดง
- ปี พ.ศ. 2502 : บวชเรียนที่วัดผาแดง บวชได้ 7 พรรษา โดยเรียนภาษาเมือง ภาษาบาลี
- ปี พ.ศ. 2515 : ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการวัดตำแหน่งเหรัญญิก
- ปี พ.ศ. 2523-2540 : ได้รับการแต่งตั้งเป็นอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน(อสม.) รุ่นแรก เป็นระยะเวลา 17 ปี
- ปี พ.ศ. 2541 : ได้เข้าอบรมความรู้กฎหมายเบื้องต้น
- ปี พ.ศ. 2541 : ได้เข้าอบรมเป็นสมาชิกแจ้งข่าวอาชญากรรม
- ปี พ.ศ. 2542 : ได้เข้าร่วมการอบรมเป็นลูกเสือชาวบ้าน รุ่นที่ 41 จนถึงปัจจุบัน
- ปี พ.ศ. 2543 : ได้เข้าอบรมโครงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและกระบวนการยุติกรรมเบื้องต้นสำหรับประชาชน
ประวัติการทำงานอื่น ๆ
- มัคทายกวัดต๊ำกลาง 2546-ปัจจุบัน
- สมาชิกชมรมมัคทายก ปัจจุบัน
อุทยานแห่งชาติดอยหลวง ที่เป็นแหล่งต้นน้ำ ลำธารในการผลิตเป็นประปาหมู่บ้านเพื่อการบริโภคอุปโภค, เป็นแหล่งอาหารที่หาได้จากป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด ผักผลไม้ ปลา นานาชนิด และเป็นแหล่งยาสมุนไพรรักษาโรค ซึ่งเมื่อเกิดการเจ็บป่วยจะไปรักษากับ แพทย์พื้นบ้าน หรือหมอเมือง ซึ่งด้านการแพทย์พื้นบ้านในชุมชนบ้านต๊ำกลาง มี 2 ประเภท คือการรักษาโรคที่ใช้ สมุนไพรเป็นยา ซึ่งรักษาทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เช่น ไข้หวัด ปวดศีรษะ ปวดท้องเป็นต้น และการไม่ใช้ยาจะเป็น การใช้ความเชื่อพื้นบ้าน การบีบ นวด ซึ่งโรคที่รักษาจะสัมพันธ์กับความเชื่อในชุมชน เช่น การเป่า การสะเดาะ เคราะห์ สู่ขวัญ การดื่มน้ำมนต์ การแหก เลี้ยงผี เป็นต้น ซึ่งการเข้ารับบริการสุขภาพจากสถานบริการสาธารณสุขมีน้อย เพราะถนนลูกรังดินแดง ทำให้การคมนาคมไม่สะดวกและอยู่ไกล
น้ำออกรู การอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งต้นน้ำ "น้ำออกรู ขุนต๊ำ" บริเวณป่าชายเขาดอยหลวง บ้านต๊ำกลาง หมู่ 8 ตำบลต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยจะทำการเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ แบบธรรมชาติ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคตลอดจนการเกษตร ให้กับ 13 หมู่บ้านในตำบลต๊ำ ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีผีหรือเจ้าพ่อขุนน้ำปกปักรักษาและมีเพียงแห่งเดียวของตำบลที่มีขุนน้ำออกรูที่ได้ไหลตลอดทั้งปี ไม่มีแห้งจึงได้หารือกันอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของตำบล ต่อไป
บริเวณแหล่ง "น้ำออกรู ขุนต๊ำ" อยู่แนวเขตของผืนป่าดอยหลวง มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมไปทั่วบริเวณ สร้างความชุ่มเย็นให้กับพื้นที่โดยจุดที่พบน้ำไหลออกจากรูนั้นน้ำได้ไหลออกมาจากใต้ดินใต้ต้นไม้ใหญ่ ลักษณะของน้ำจะใสสะอาดเย็น และจะไหลออกมาจากรูใต้ดินตลอดเวลาทั้งปีไม่มีแห้ง โดยน้ำจะไหลลงสู่ลำน้ำแม่ต๊ำและไหลลงสู่กว๊านพะเยา นับว่าน้ำออกรู ขุนต๊ำ เป็นแหล่งน้ำสำคัญแห่งหนึ่งของตำบลบ้านต๊ำ ชาวบ้านจึงทำการพัฒนาและอนุรักษ์ไว้และเตรียมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติโดยมีป่าไม้และขุนเขาล้อมรอบและทางเข้าดูชมสะดวก ปลอดภัยโดยใช้เส้นทางน้ำตกจำปาทอง เข้าไปวังขุนน้ำออกรู แยกซ้ายมือก่อนถึงน้ำตกตำปาทอง ระยะทางเพียง 200 เมตรเท่านั้น
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลักษณะทางนิเวศวิทยา แหล่งน้ำกินน้ำใช้ น้ำการเกษตร แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคของหมู่บ้าน ได้แก่
- แหล่งน้ำดื่ม ได้แก่ น้ำบรรจุสำเร็จรูป
- แหล่งน้ำใช้ ได้แก่ น้ำประปาภูมิภาค น้ำบ่อ น้ำบาดาล น้ำฝน
- แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ได้แก่ ห้วยน้ำต๊ำที่ไหลผ่านหมู่บ้าน , น้ำตกจำปาทอง
กิจกรรมด้านการเกษตร พบว่า ส่วนใหญ่กิจกรรมในหมู่บ้านจะเป็นเกี่ยวกับทางการเกษตร คือช่วงเดือนมิถุนายนจะเริ่มหว่านกล้า ปลูกข้าว และช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม มีการเกี่ยวข้าว ช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม จะมีการกรีดยาง ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมจะเก็บลำไย ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ กรีดยางพารา และปิดหน้ายางในเดือนมีนาคมถึงเมษายน มีการค้าขายและเก็บของป่าตลอดทั้งปี ส่วนการประมง ทำบ่อเลี้ยงปลา ร่วมกับสหกรณ์เลี้ยงปลาตลอดทั้งปี
ภาษาถิ่นเหนือ (ล้านนา), ภาษากลางไทย, ภาษาลั๊วะ
ปัจจุบันชาวบ้านเล่าว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นทั้งด้านการคมนาคมที่สะดวกขึ้น การได้รับข่าวสารเพิ่มมากขึ้นทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป การประกอบอาชีพก็หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะด้านการเกษตร เช่น ปลูกข้าวโพด ลำไย ถั่วลิสง เป็นต้น
การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการทำนา มาเป็นการเลี้ยงปลาจนเกิดสหกรณ์เลี้ยงปลาเมืองพะเยา ซึ่งเป็นสหกรณ์เลี้ยงปลาที่ใหญ่ที่สุด ทำให้ชาวบ้านหันมาขุดบ่อเลี้ยงปลาแทนการทำนาดั่งเช่นที่บรรพบุรุษได้ทำมา
จากการปลูกพืชเพื่อการยังชีพปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกยางพารา และชาวบ้านจะมีเงินหมุนเวียนทุกสองสัปดาห์ที่องค์การยางเข้ามารับยางถึงในหมู่บ้าน
ปัจจุบันวิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากที่เคยเลี้ยงสัตว์ไว้ใต้ถุนบ้านปัจจุบันมีการเลี้ยงแบบฟาร์มมากขึ้นชาวบ้านเลิกการเลี้ยงสัตว์และหันมาทำเกษตรสมัยใหม่เป็นส่วนใหญ่ ทำให้การสร้างบ้านเรือนมีการเปลี่ยนแปลงตามวิถีชีวิตของผู้คนจึงเกิดการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมการสร้างที่อยู่อาศัยแบบเดิมกับสมัยใหม่เกิดเป็นบ้านสองชั้นที่เป็นชั้นที่เป็นครึ่งตึกครึ่งไม้อย่างที่เห็นในปัจจุบัน บ้านเรือนแต่ละหลังล้อมรอบด้วยรั้วเพื่อแสดงขอบเขตของบ้าน มีบ้านบางหลังที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันและมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ สภาพบ้านเรือนในปัจจุบันมีความมั่นคงถาวร การตั้งบ้านเรือนตั้งตามถนนภาพในหมู่บ้านแบ่งออกเป็น 9 ซอย สภาพภายในหมู่บ้านเป็นชุมชนที่แวดล้อมด้วย สวน ไร่นา บ่อเลี้ยงปลา ภูเขา มีแม่ต๊ำไหลผ่าน และมีน้ำตกจำปาทองซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากชาวบ้านละแวกใกล้เคียงและจากที่อื่นๆจำนวนมาก ชาวบ้านต๊ำกลางมีการพึ่งพาอาศัยกันและกัน อยู่ด้วยกันแบบพี่น้อง มีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ชาวบ้านต๊ำกลางจะประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีการทำการเกษตรแบบหมุนเวียนตลอดทั้งปี มีความยึดมั่นในขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมของคนในหมู่บ้านที่สืบทอดต่อกันมา
คนในชุมชนมีการใช้ประโยชน์จากแหล่งธรรมชาติมากมาย ได้แก่ ใช้แหล่งต้นน้ำ ลำธาร ในการผลิตเป็นประปาหมู่บ้านเพื่อการบริโภคอุปโภค, เป็นแหล่งอาหารที่หาได้จากป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด ต่างๆ ผักผลไม้ ปลาต่างๆนาๆชนิด และเป็นแหล่งยาสมุนไพรรักษาโรค ซึ่งเมื่อเกิดการเจ็บป่วยจะไปรักษากับ แพทย์พื้นบ้าน หรือหมอเมือง ซึ่งด้านการแพทย์พื้นบ้านในชุมชนบ้านต๊ำกลาง มี 2 ประเภท คือการรักษาโรคที่ใช้ สมุนไพรเป็นยา ซึ่งรักษาทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เช่น ไข้หวัด ปวดศีรษะ ปวดท้องเป็นต้น และการไม่ใช้ยาจะเป็น การใช้ความเชื่อพื้นบ้าน การบีบ นวด ซึ่งโรคที่รักษาจะสัมพันธ์กับความเชื่อในชุมชน เช่น การเป่า การสะเดาะ เคราะห์ สู่ขวัญ การดื่มน้ำมนต์ การแหก เลี้ยงผี เป็นต้น ซึ่งการเข้ารับบริการสุขภาพจากสถานบริการสาธารณสุขมีน้อย เพราะถนนลูกรังดินแดง ทำให้การคมนาคมไม่สะดวกและอยู่ไกล
ราชกิจจานุเบกษา. (2549). ประกาศจังหวัดพะเยา เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน. เล่ม 123 ตอน พิเศษ 128 ง. 13 ธันวาคม 2549.
ราชกิจจานุเบกษา. (2556). ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. เล่ม 130 ตอนพิเศษ 45 ง. 5 เมษายน 2556..
พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.
บุญศิริ สุขพร้อมสรรพและอาทิตย์ ลิมปิยากร. (2564). ภูมินาม-ภาพสะท้อนเมืองพะเยา. วารสารวิชาการเพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่. 2(1). 88-94.
นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 30 (2565). รายงานการวินิจฉัยชุมชนบ้านต๊ำกลาง หมู่ 8 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา.
เทคโนโลยีชาวบ้าน. (2559, 26 กรกฏาคม). ‘สหกรณ์เลี้ยงปลาพะเยา’เจ๋ง ชูเลี้ยงปลานิล โกยเงินปีละหลายล้าน ช่วยกระจายรายได้ชุมชนเต็มที่. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. มติชนออนไลน์. ค้นจาก https://www.technologychaoban.com/