Advance search

บ้านท่าวัง

บ้านเรือนส่วนใหญ่ที่อยู่ในรั้วบริเวณเดียวกันจะเป็นเครือญาติกัน ลักษณะบ้านเรือนเป็นสัดส่วน มีการปลูกต้นไม้ พืชผักสวนครัว มีวัฒนธรรมที่ดีในชุมชนโดยมีศาลพ่อปู่เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เมื่อมีกิจกรรมต่าง ๆ ประชาชนมักจะมารวมกันที่บริเวณศาลาประชาคมกลางหมู่บ้านติดกับแม่น้ำปิง

หมู่ที่ 5
บ้านท่าวัง
ริมใต้
แม่ริม
เชียงใหม่
พรพรรณ มนสัจจกุล
14 พ.ค. 2023
พรพรรณ มนสัจจกุล
14 พ.ค. 2023
พรพรรณ มนสัจจกุล
14 พ.ค. 2023
บ้านท่าวังทอง
บ้านท่าวัง

เดิมบ้านหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านร่วมกับบ้านขอนตาลจากนั้นเริ่มรู้สึกว่าพื้นที่คับเเคบจึงแยกออกมาตั้งใหม่เป็น "บ้านใคร้ถี่" แต่เมื่อประมาณ 200 ปีก่อน ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า บริเวณชุมชนมีน้ำท่วมตลอดทุกปี และมีน้ำจากแม่น้ำปิงไหลผ่านจากวัดขอนตาลลัดเลาะเข้าไปในหมู่บ้าน เกิดน้ำลึกเป็นวังวน จึงได้เรียกชื่อหมู่บ้านว่า "ท่าวัง" ต่อมา บ้านท่าวัง ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านท่าวังทอง" เป็นชื่อที่ทางเทศบาลตั้งให้ เพราะเชื่อว่า คำว่า "ทอง" มีความหมายที่ดีอันหมายถึงความมั่งคั่ง ความอุดมสมบูรณ์


บ้านเรือนส่วนใหญ่ที่อยู่ในรั้วบริเวณเดียวกันจะเป็นเครือญาติกัน ลักษณะบ้านเรือนเป็นสัดส่วน มีการปลูกต้นไม้ พืชผักสวนครัว มีวัฒนธรรมที่ดีในชุมชนโดยมีศาลพ่อปู่เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เมื่อมีกิจกรรมต่าง ๆ ประชาชนมักจะมารวมกันที่บริเวณศาลาประชาคมกลางหมู่บ้านติดกับแม่น้ำปิง

บ้านท่าวัง
หมู่ที่ 5
ริมใต้
แม่ริม
เชียงใหม่
50180
18.90816931
98.97109196
เทศบาลตำบลแม่ริม

บ้านท่าวังเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ก่อตั้งมาอย่างช้านาน จากการที่ได้เข้ามาสำรวจโดยการเดินสำรวจหมู่บ้าน และจากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่บ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนในหมู่บ้านนั้น เล่าว่า เดิมบ้านหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านร่วมกับบ้านขอนตาลจากนั้นเริ่มรู้สึกว่าพื้นที่คับเเคบจึงแยกออกมาตั้งใหม่เป็น "บ้านใคร้ถี่" ซึ่งเรียกตามลักษณะภายในหมู่บ้านคือ ในหมู่บ้านแห่งนี้มีต้นใคร้จำนวนมากภายในหมู่บ้านต่างก็สันนิษฐานว่าก่อนหน้าน่าจะมีต้นตะใคร้ตามแนวถนนจำนวนมากจึงตั้งชื่อเป็น "บ้านใคร้ถี่" ต่อมาน่าจะประมาณ 200 ปีก่อน ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าต่ออีกว่า มีน้ำท่วมตลอดทุกปีและจนมีน้ำจากเเม่น้ำปิงไหลผ่านจากวัดขอนตาลลัดเลาะเข้าไปในหมู่บ้านเกิดน้ำลึกเป็นวังวนเป็นเวลานาน จึงได้เรียกชื่อหมู่บ้านว่า "ท่าวัง" ในปี พ.ศ. 2475 และในปี พ.ศ. 2523 จนถึงปัจจุบันหมู่บ้านท่าวังได้ เปลี่ยนชื่อเป็น "ท่าวังทอง" ซึ่งคำว่า "ทอง" เป็นเทศบาลตั้งให้ซึ่งชาวบ้านก็เชื่อว่าคำว่าทองคือการนำความมั่งมี ความอุดมสมบูรณ์เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ร่มเย็น ปัจจุบันจึงมีชื่อเรียกว่า “บ้านท่าวังทอง”

โดยหมู่บ้านมี ทิศเหนือติดกับหมู่บ้านขอนตาล ตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ทิศใต้ติดกับหมู่บ้านแม่สาหลวง ต.แม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ทิศตะวันออกติดกับแม่น้ำปิง (ชุมชนต้นผึ้ง) และทิศตะวันตกติดกับบริษัทกรีนวัลเล่ จึงทำให้ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงจากชุมชนชนบทกลายเป็นชุมชนกึ่งเมือง โดยบ้านท่าวังจะมีการใช้ศาสนสถาน (วัดลัฏฐิวัน) ร่วมกับหมู่บ้านขอนตาล หมู่ที่ 3 ตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งชาวบ้านบ้านท่าวังจะมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจและสักการะกราบไหว้บูชา คือศาลพ่อปู่ ซึ่งตั้งอยู่ 3 จุด คือ ศาลพ่อปู่ที่เป็นศาลหลักเมืองจะตั้งอยู่ที่กลางหมู่บ้านหรือศาลากลางหมู่บ้าน อีก 2 ศาล จะตั้งอยู่ที่ หน้าทางเข้าซอย 1 และท้ายซอย 8 โดยจะมีการสักการะบูชาศาลพ่อปู่ ทั้ง 3 จุด ในวันที่ 13 เมษายน (ปีใหม่เมือง) ของทุกปี สิ่งที่ใช้ในการสักการะไหว้บูชาหรือขอพร จะประกอบไปด้วย ดอกไม้ (ดอกเกตหวา,ดอกกระดังงา) ธูป 9 หรือ 12 ดอก ของคาว ของหวาน ซึ่งจะมีการล้มหมูในการสักการะบูชาศาลพ่อปู่ นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมประเพณีที่เปลี่ยนตามยุคสมัย แต่คนในพื้นที่ยังคงมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกันอยู่เสมอ เมื่อมีงานหรือประเพณีสำคัญก็จะมีการมารวมตัวช่วยกันที่ศาลากลางหมู่บ้าน และในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนบ้านท่าวังเป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ ติดเเม่น้ำปิง อาณาเขตของหมู่ที่ 5 ตั้งอยู่ในตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากว่าการอำเภอแม่ริมไปทางทิศตะวันออก 2.5 กิโลเมตร มีทางหลวงชนบทหมายเลข 1260 เส้นทางที่ 1 จากถนนโชตนา (เชียงใหม่-ฝาง) เข้าสู่ถนนสายแม่ริม-สันทราย เข้าวัดลัฏฐิวัน (วัดขอนตาล) เส้นทางที่ 2 จากถนนโชตนา (เชียงใหม่-ฝาง) เข้าทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (คณะการจัดการวิทยาเขตแม่สา) ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ มีเเหล่งน้ำจากน้ำแม่ปิงไหลผ่านทางทิศตะวันออก โดยทิศเหนือของหมู่บ้านท่าวังติดกับหมู่บ้านขอนตาล ตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ทิศใต้ติดกับเขตของตำบลแม่สา ทิศตะวันออกติดกับแม่น้ำปิง (ชุมชนต้นผึ้ง) และทิศตะวันตกติดกับตำบลเหมืองแก้ว ตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ขอบเขตบ้านท่าวัง หมู่ที่ 5 เริ่มต้นจากวัดลัฏฐิวัน (วัดขอนตาล) อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทิศตะวันตก ตรงไป 200 เมตร เข้าสู่พื้นที่หมู่บ้านท่าวัง หมู่ 5 บ้านท่าวัง ซึ่งมีจุดตัดบริเวณสถานฌาปนกิจศพของหมู่ 3 ภายในบริเวณวัดลัฏฐิวัน (วัดขอนตาล) ตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดินทางเข้ามาในหมู่บ้านจะเห็นว่าทั้งสองฝั่งถนนมีบ้านเรือน มีทั้งร้านค้า ร้านอาหาร บริเวณซ้ายมือ และถัดจากวัดลัฏฐิวัน (วัดขอนตาล) มาตามถนนสายหลักที่ตัดผ่านหมู่บ้าน เมื่อมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ประมาณ 280 เมตร เป็นที่ตั้งของแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ล้านนา บ้านอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ และถัดมาด้านซ้ายมือเป็นบ้านของผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน (พ่อหลวงเสาร์คำ จีนา) ทางทิศใต้ของหมู่บ้านติดกับเขตตำบลแม่สาโดยมีจุดตัดบริเวณสะพานสุขาภิบาล ซึ่งหมู่บ้านท่าวังมีการแบ่งออกเป็น 9 ซอย โดยในแต่ละซอยมีรายละเอียดดังนี้

  • พื้นที่ซอย 1 ท่าวังจะอยู่ทางด้านขวามือถนนเส้นหลักที่ตัดผ่านหมู่บ้านเมื่อมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ บริเวณปากซอยมีศาลพ่อปู่แห่งที่ 1 อยู่ทางซ้ายมือของถนนที่เข้าไปในซอย ภายในซอยจะมีบ้านเรียงรายทั้ง 2 ข้างทาง มีบ้านเรือนประมาณ 11 หลังคาเรือน เมื่อเข้าซอยไปประมาณ 50 เมตรจะพบทางสี่แยกที่เมื่อเลี้ยวขวาจะเป็นเส้นทางที่เชื่อมไปยังบริเวณซอย 2 ส่วนทางแยกอื่นจะเป็นซอยตันมีบ้านเรียงราย
  • พื้นที่ซอย 2 ท่าวังอยู่ถัดจากปากทางซอย 1 ท่าวังมาประมาณ 70 เมตร ด้านขวามือบนถนน เส้นหลักที่ตัดผ่านหมู่บ้านเมื่อมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ภายในซอยจะมีบ้านเรียงรายทั้ง 2 ข้างทาง มีบ้านเรือนประมาณ 12 หลังคาเรือน เมื่อเข้าซอยไปประมาณ 30 เมตร จะพบทางสี่แยกที่เมื่อเลี้ยวซ้ายจะเป็นเส้นทางที่เชื่อมไปยังบริเวณซอย 1 ส่วนทางแยกอื่นจะเป็นซอยตันมีบ้านเรียงราย
  • พื้นที่ซอย 3 ท่าวังอยู่ถัดจากซอย 2 ท่าวังมาประมาณ 60 เมตร ด้านขวามือบนถนนเส้นหลักที่ตัดผ่านหมู่บ้านเมื่อมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ เยื้องจากบริเวณปากซอยไปทางซ้ายประมาณ 10 เมตร จะเป็นอาคารอเนกประสงค์ของชุมชน ถนนภายในภายในซอยเป็นถนนคอนกรีต มีบ้านเรียงรายทั้ง 2 ข้างทาง มีบ้านเรือน ประมาณ 10 หลังคาเรือน ท้ายซอยเป็นบ้านของสมาชิก อสม.
  • พื้นที่ซอย 4 ท่าวังอยู่ถัดจากซอย 3 ท่าวังมาประมาณ 140 เมตรด้านขวามือบนถนนเส้นหลักที่ตัดผ่านหมู่บ้านเมื่อมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ก่อนเข้าซอยประมาณ 40 เมตร ฝั่งซ้ายมือจะเป็นศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน บ้านท่าวัง ศาลาประชาคมกลางหมู่บ้านติดกับแม่น้ำปิง และศาลพ่อปู่แห่งที่ 2 ถนนภายในภายในซอยเป็นถนนคอนกรีต มีบ้านเรียงรายทั้ง 2 ข้างทาง มีบ้านเรือน ประมาณ 13 หลังคาเรือน ท้ายซอยเป็นสวนลำไย
  • พื้นที่ซอย 5 ท่าวังอยู่ถัดจากซอย 4 ท่าวัง มาประมาณ 130 เมตร ด้านขวามือบนถนนเส้นหลักที่ตัดผ่านหมู่บ้านเมื่อมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ก่อนเข้าซอยประมาณ 20 เมตร ฝั่งซ้ายมือจะเป็นศูนย์สงเคราะห์ราษฎรประจำหมู่บ้าน ท่าวัง เมื่อเข้าซอยไปประมาณ 100 เมตรจะพบทางสามแยก เลี้ยวซ้ายจะเป็นทางเชื่อมไปยังซอย 7 ภายในซอยมีบ้านเรียงรายทั้ง 2 ข้างทาง มีบ้านเรือน ประมาณ 5 หลังคาเรือน ท้ายซอยเป็นถนนลูกรังติดนาข้าวและมีแอ่งน้ำบริเวณซ้ายขวา
  • พื้นที่ซอย 6 ท่าวังอยู่ตรงข้ามซอย 5 ท่าวังมาประมาณ 10 เมตรบนถนนเส้นหลักที่ตัดผ่านหมู่บ้านเมื่อมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ปากซอยเป็นพื้นที่รกร้างท้ายซอยมีบ้านเรือน ประมาณ 4 หลังคาเรือน
  • พื้นที่ซอย 7 ท่าวังอยู่ถัดจากซอย 6 ท่าวังมาประมาณ 150 เมตรด้านขวามือบนถนนเส้นหลักที่ตัดผ่านหมู่บ้านเมื่อมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ทางซ้ายมือเป็นพื้นที่ติดแม่น้ำปิง ภายในซอยมีบ้านเรียงรายทั้ง 2 ข้างทาง มีบ้านเรือน ประมาณ 16 หลังคาเรือน ท้ายซอยเป็นทางแยกเลี้ยวขวาซึ่งเป็นทางเชื่อมไปยังซอย 5
  • พื้นที่ซอย 8 ท่าวังอยู่ถัดจากซอย 6 ท่าวังมาประมาณ 150 เมตรด้านขวามือบนถนนเส้นหลักที่ตัดผ่านหมู่บ้านเมื่อมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ เมื่อเข้าซอยไปประมาณ 60 เมตรจะพบทางสามแยกซึ่งมีศาลพ่อปู่ จุดที่ 3 ถัดจากศาลพ่อปู่เป็นศาลาเก็บของและถังน้ำประปาหมู่บ้าน ภายในซอยมีบ้านเรียงรายทั้ง 2 ข้างทาง มีบ้านเรือน ประมาณ 23 หลังคาเรือน ท้ายซอยเป็นนาข้าว
  • พื้นที่ซอย 9 ท่าวังตรงข้ามซอย 8 ท่าวังมาประมาณ 10 เมตรบนถนนเส้นหลักที่ตัดผ่านหมู่บ้าน เมื่อมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ภายในซอยจะเป็นพื้นที่ทำการเกษตรต่าง ๆ ได้แก่ สวนดอกไม้ สวนลำไย และเป็นที่ตั้งของ บริษัทเอกชนต่าง ๆ เช่น บริษัทล้านนา ชาร์โคล จำกัด ฟาร์มปูนาท่าวัง เชียงใหม่ ท้ายซอยติดกับถนนเส้นหลักที่ตัดผ่านหมู่บ้านเมื่อมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ซึ่งตัดผ่านไปยังเขตสิ้นสุดการรับผิดชอบของตำบลริมใต้

จากการสำรวจพบว่าบ้านเรือนส่วนใหญ่ในชุมชนจะเป็นบ้านส่วนตัว มีทั้งบ้านปูนชั้นเดียว บ้านปูนสองชั้น บ้านไม้ และบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ บ้านส่วนใหญ่มีอาณาเขตหรือรั้วบ้านกั้น ส่วนใหญ่บ้านที่อยู่ในรั้วบริเวณเดียวกันจะเป็นเครือญาติกัน ลักษณะบ้านเรือนเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นสัดส่วน มีการปลูกต้นไม้ พืชผักสวนครัว มีศาลพ่อปู่บริเวณ 3 จุด เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ชุมชนมีร้านขายของชำติดถนนหลักที่ตัดผ่านหมู่บ้านจำนวน 3 ร้าน เมื่อมีกิจกรรมต่าง ๆ ประชาชนมักจะมารวมกันที่บริเวณศาลาประชาคมกลางหมู่บ้านติดกับแม่น้ำปิง สวนสุขภาพของหมู่บ้านเป็นสถานที่รวมตัวของผู้สูงอายุ เพื่อออกกำลังกายในช่วง ตอนเย็น โรงพยาบาลนครพิงค์ ศูนย์มะเร็ง ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง บ้านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จำนวน 12 หลังคาเรือน บ้านผู้พิการติดเตียง จำนวน 1 หลังคาเรือน และบ้านซึ่งชุมชนร่วมสนับสนุน จำนวน 4 หลังคาเรือน ทั้งนี้ภายในหมู่บ้านไม่มีวัด โรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเมื่อต้องการใช้สถานที่เหล่านี้คนในหมู่บ้านจะไปสถานที่บริเวณหมู่ 3 แทน

บ้านท่าวัง หมู่ที่ 5 ตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2565 มีครัวเรือนทั้งหมด 174 ครัวเรือน ระบบเครือญาติส่วนใหญ่เป็นระบบครอบครัวขยาย มีความเชื่อมโยงและคนในชุมชนรู้จักกันเป็นอย่างดี ส่วนใหญ่อยู่อาศัยแบบดั้งเดิม คนย้ายถิ่นค่อนข้างน้อย ตัวอย่างระบบเครือญาติที่ศึกษา ได้แก่ ตระกูล “ชิดทอง” ในหมู่ 5 บ้านท่าวัง แต่เดิมมีประวัติความเป็นมาของตระกูลเดิมมาเป็นคนใน พื้นที่มาตั้งแต่บรรพบุรุษตระกูล “ชิดทอง” เป็นตระกูลที่มีจำนวนสมาชิกในครอบครัวจำนวนมากและ เป็นครอบครัวที่มีคนนับหน้าถือตา คณะนักศึกษาจึงเลือกสัมภาษณ์บทบาทตระกูล “ชิดทอง” โดยจากการสัมภาษณ์ นายศรีโบ ทาแก้ว ซึ่งเป็นบุตรเขย ของตระกูล “ชิดทอง”และ นางสุพิน ชิดทอง บุตรคนที่ 5 ซึ่งเป็นสมาชิกในตระกูล“ชิดทอง”

โดยนายศรีโบ ทาแก้ว อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านท่าวัง ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533-2555 ปัจจุบันมีบทบาทในชุมชน คือ เป็นประธานกลุ่มคณะกรรมการผู้สูงอายุ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบ้านท่าวัง ซึ่งตำแหน่งหน้าที่ของ นายศรีโบ ทาแก้ว มีหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ในชุมชน ซึ่งนายศรีโบ ทาแก้ว จะให้คำปรึกษาและตอบคำถามในเรื่องต่าง ๆ ภายในหมู่บ้านท่าวังได้เป็นอย่างดี ซึ่งได้ให้ข้อมูลว่า ต้นตระกูล “ชิดทอง” คือนายปั๋น ชิดทอง ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่บ้านท่าวัง ได้แต่งงานกับ นางหวัน ชิดทอง ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่บ้านท่าวัง เช่นกัน ซึ่งปัจจุบัน นายปั๋น ชิดทอง ได้เสียชีวิตลงเมื่ออายุ 87 ปี และนางหวัน ชิดทอง ได้เสียชีวิตลง เมื่ออายุ 91 ปี ซึ่งทั้ง 2 คนมีบุตรด้วยกัน 9 คน เป็นชาย 2 คน เป็นหญิง 7 คน

โครงสร้างชุมชนพบว่า มีกลุ่มองค์กรการทำงานในหมู่บ้าน โดยในแต่ละองค์กรจะมีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกัน มีรายละเอียด ดังนี้ 

กลุ่มองค์กรในชุมชนบ้านท่าวัง

กลุ่มองค์กรเป็นทางการ

  • กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน
  • กลุ่มคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบ้านท่าวัง
  • กลุ่มคณะกรรมการผู้สูงอายุ
  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน (เงินล้าน)
  • กลุ่มสตรีพัฒนา
  • กลุ่มคณะกรรมการกลุ่มแม่บ้าน
  • กลุ่มคณะกรรมการสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์

กลุ่มองค์กรไม่เป็นทางการ

  • รำวงย้อนยุค (เป็นกลุ่มนางที่เวลามีงานจะนำคนที่สามารถรำได้มาทำกิจกรรมโดยไม่มีข้อจำกัด)
  • ฟ้อนเล็บ (เป็นกลุ่มที่ใช้เวลามีงานสำคัญจะใช้สมาชิกในชุมชนที่ทำกิจกรรมเป็นมาทำกิจกรรมให้โดยไม่มีข้อจำกัด)กลุ่มองค์กรที่เป็นทางการ

1. กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน  

กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้านท่าวังมีสมาชิกในกลุ่มจำนวนทั้งหมด 11 คน มีประธาน 1 คน รองประธาน 1 คน เหรัญญิก 1 คน เลขานุการ 1 คน และกรรมการทั้งหมด 7 คน กลุ่มงานคณะกรรมการหมู่บ้านมีการทำงานในรูปแบบการทำงานที่ชัดเจนซึ่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2563 เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นที่เรียบร้อยจะเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนเมื่อมีปัญหาหรือเมื่อต้องการความช่วยเหลือ โดยโครงสร้างหมู่บ้านแบ่งออกเป็น  3 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 1 หัวหน้าหมวดคือ นายเทียน ทาแก้ว รับผิดชอบซอย 1 ถึงซอย 3 หมวดที่ 2 หัวหน้าหมวด คือ นายหลวง สุเพชรอำภา รับผิดชอบซอย 4 ถึงซอย 5 หมวดที่ 3 คือ นายมูล ติ๊บสม รับผิดชอบตั้งแต่ซอย 5 เป็นต้นไป ซึ่งหัวหน้าหมวดจะเป็นผู้ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งต่าง  ๆ ที่มาติดต่อแล้วจึงกระจายข้อมูลต่อให้แก่สมาชิกทุกคนในกลุ่ม และหากสมาชิกมีปัญหามีความเดือดร้อนหรือบุคคลในซอยมีปัญหา  มีเรื่องทุกข์ใจต้องการสอบถามหรือปรึกษาสามารถปรึกษาได้ตลอดและกลุ่มงานคณะกรรมการหมู่บ้านยังมีหน้าที่ในส่วนเวลามีงานวัดหรือมีกิจกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้านจะเป็นส่วนที่นำทุกคนในชุมชนทำกิจกรรมให้เสร็จสิ้น ซึ่งรายชื่อของกลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน ของบ้านท่าวังทอง มีดังนี้

   1. นายนิยม   จันทรทรัพย์       ประธาน
   2. นายสวัสดิ์   ชิดทอง      รองประธาน
   3. นายสมเพชร   อำภา      เหรัญญิก
   4. นายประพันธ์   ชิดทอง      กรรมการ
   5. นายสุขสัน   ต่างแก้ว      กรรมการ
   6. นายมูล   ติ๊บสม      กรรมการ
   7. นายบุญธรรม   ชิดทอง      กรรมการ
   8. นายเยงสักดิ์   นวลโรจน์      กรรมการ
   9. นายบุญสม   โพดกาลง      กรรมการ
   10. นางระวิวรรณ   รอดวัฒนกุล      เลขานุการ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อช่วยบริหารจัดการกิจกรรมในชุมชนให้เป็นระเบียบมากขึ้น
  2. เพื่อพัฒนาหมู่บ้านให้มีความเจริญก้าวหน้าและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
  3. เพื่อบริหารจัดการการทำงานหรือทำกิจกรรมที่ดำเนินร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง

กิจกรรมที่ดำเนินการ

  1. ดูแลความสงบ ความเป็นระเบียบ และรับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชนในเขตรับผิดชอบ
  2. ดูแลการจัดกิจกรรมในชุมชนให้เสร็จสิ้นได้อย่างราบรื่น
  3. ประสานงาน รวมทั้งเสนอโครงการต่าง ๆของหมู่บ้านให้ตำบล อำเภอ หรืองานส่วนต่าง ๆ  ของภาครัฐบาล
  4. จัดประชุมประจำเดือนทุกเดือน หากมีงานที่เร่งด่วนจะมีการประชุมทางออนไลน์ร่วมด้วย
  5. ควบคุมดูแลประชาชนในหมู่บ้านให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบทางราชการอย่างเคร่งครัด

2. กลุ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบ้านท่าวัง

คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ทางการทำงานสูงทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ท่านสามารถให้คำแนะนำและชี้แนวทางที่ถูกต้องให้กับชุมชนได้ ซึ่งเมื่อมีกิจกรรมที่ต้องการให้ท่านชี้แนะแนวทาง ทั้งในเรื่องการประชาคมคณะผู้ทรงคุณวุฒิถือเป็นบุคคลสำคัญใน การร่วมประชุมในแต่ละครั้งเพื่อร่วมกันตัดสินใจ ซึ่งกลุ่มคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิยินดีจะร่วมงานและให้ความช่วยเหลือทางด้านต่างๆ ในชุมชน คณะกรรมการเป็นบุคคลที่คนในชุมชนนับถือเป็นผู้หลักผู้ใหญ่จึงให้ความสำคัญในการร่วมการตัดสินใจและร่วมรับฟังเมื่อมีปัญหา หรือเมื่อมีกิจกรรมที่ต้องหาฤกษ์งามยามดีในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งกลุ่มคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีจำนวน 6 คน โดยมีรายชื่อ ดังนี้

   1. พ่อศรีโบ   ทาแก้ว
   2. พ่อนิยม   จันทรทรัพย์
   3. พ่ออินสอน   ป่านคำ
   4. พ่อทอง   ตาวงค์
   5. พ่อสวัสดิ์   ชิดทอง
   6. พ่อประพันธ์   ชิดทอง

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้คำปรึกษาแก่ชุมชนในการทำงานในด้านต่าง ๆ

กิจกรรมที่ดำเนินการ

  1. ช่วยอ่านพิจารณาการทำกิจกรรมหรือการดำเนินงานต่างๆในชุมชน
  2. ให้ข้อมูล คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ คำปรึกษา และความคิดเห็น ด้านวิชาการ เมื่อกลุ่มงานหรือชุมชนร้องขอ
  3. ให้ความรู้แก่คนรุ่นหลังในเรื่องประวัติความสำคัญต่าง ๆ ในชุมชน

3. กลุ่มคณะกรรมการผู้สูงอายุ

คณะกรรมการผู้สูงอายุ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมีความน่าเชื่อถือ และเป็นแบบอย่างที่ดีของชุมชนเป็นผู้นำในการนำทำกิจกรรมทางศาสนา และกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ท่านสามารถให้คำแนะนำและชี้แนวทางที่ถูกต้องให้กับชุมชนได้ ซึ่งเมื่อมีกิจกรรมที่ต้องการให้ท่านชี้แนะแนวทางในทุก ๆ ด้านทั้งทางด้านศาสนาที่มีการทำพิธีกรรมต่าง ๆ คณะกรรมการที่มีอยู่จะชี้แนวทางให้คนในชุมชนและนำพาทำกิจกรรมในแต่ละครั้ง ถือเป็นบุคคลสำคัญในชุมชนที่นำพาคนรุ่นหลังทำกิจกรรมและพิธีกรรมต่าง ๆ โดยมีคณะกรรมการผู้สูงอายุจำนวน 7 คน โดยมีรายชื่อ ดังนี้

   1. พ่อหลวงศรีโบ   ทาแก้ว      ประธาน
   2. พ่อหลวงสมเพชร   อำภา      รองประธาน
   3. พ่ออินสอน   ป่านคำ      เหรัญญิก
   4. พ่อบุญเทียน   ณ เชียงใหม่      กรรมการ
   5. พ่อวิรัตน์   บัวลูน      กรรมการ
   6. พ่อทวี   ดมดอก      กรรมการ
   7. พ่อสมบุญ   โพดกาลง      กรรมการ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้คำปรึกษาเรื่องการจัดกิจกรรมและการทำตามประเพณีต่าง ๆ ให้ถูกต้องเหมาะสม

กิจกรรมที่ดำเนินการ

  1. เมื่อมีกิจกรรมประเพณีจะมีการปรึกษาหารือกันในกลุ่มคณะกรรมการผู้สูงอายุก่อนนำทำกิจกรรม
  2. เมื่อมีกิจกรรมตามประเพณีจะหาฤกษ์งามยามดี และชี้แจงในชุมชน

4. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในเรื่องการดูแลสุขภาพในชุมชน ซึ่ง อสม. มีทั้งหมด 12 คน จะแบ่งหน้าที่กันโดย แบ่งเขตดูแลเป็นซอยเพื่อสะดวกต่อการติดตามดูแลและติดตามข้อมูล ซึ่งในชุมชนจะมีการทำการแจ้งทรายอะเบท รณรงค์ลูกน้ำยุงลายและมีการส่งรายงานเฝ้าระวัง Covid-19 ในชุมชน ช่วยพัฒนาหมู่บ้านรวมถึงมีการแจ้งเรื่องพ่นยุง และมีการแจ้งการคัดกรอง ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแนะนำการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองในชุมชนและยังมีการสำรวจสุนัขแมว เพื่อส่งข้อมูลให้เทศบาลเพื่อจะได้ฉีดวัคซีนป้องกันไม่ให้เกิดโรค ซึ่งมีปีละครั้งในการรายงาน ซึ่งมีผู้ที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ดังนี้

   1. นางสมศรี   แสนปัญญา      ประธาน
   2. นางนิตยา   ณ เชียงใหม่      รองประธาน
   3. นางสุพิณ   ทนดี      เหรัญญิก
   4. นางสาวกอบเเก้ว   ชิดทอง      ประชาสัมพันธ์
   5. นางนิตยา   แสนปาง      สมาชิก
   6. นางไร   ทาแก้ว      สมาชิก
   7. นางบัวรุ่ง   เสียโต      สมาชิก
   8. นายจักรภะพงศ์   พรมลา      สมาชิก
   9. นายบัวนำ   จันทร์ทรัพย์      สมาชิก
   10. นางบัวผัด    นวลดี      สมาชิก
   11. นางอัมพร    ทรายคำ      เลขานุการ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อมีผู้ดูแลคัดกรองและติดตามความเจ็บป่วยในชุมชน 

กิจกรรมที่ดำเนินการ

  1. การรณรงค์ลูกน้ำยุงลาย
  2. การแจกทรายอะเบท
  3. คัดกรองความดันโลหิตสูงและเบาหวาน
  4. ตรวจเช็คสัตว์เลี้ยงส่งให้เทศบาล เพื่อจะได้รับวัคซีนป้องกันไม่ให้เกิดโรค
  5. กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน (เงินล้าน)

5. กองทุนหมู่บ้านท่าวัง

กองทุนหมู่บ้านท่าวัง หมู่ 5 ตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล 2,000,000 บาท ในทุกไตรมาส ครัวเรือนสามารถกู้ยืมเงินกองทุนหมู่บ้านได้ไม่เกิน 90,000 บาท/หลังคาเรือน ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน โดยจะต้องมีผู้ค้ำประกัน 2 คน ซึ่งในแต่ละปีจะมีเงินปันผลร้อยละ 6 ต่อปี โดยปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มกองทุนหมู่บ้านจำนวน 9 คน โดยมีรายชื่อ ดังนี้

   1. นางสมศรี   แสนปัญญา      ประธาน
   2. นายทอง   ดาวงศ์      รองประธาน
   3. นายสิวิทย์   ณ เชียงใหม่      เลขานุการ
   4. นายชรินทร์   จินา      เหรัญญิก
   5. นางศิรินันท์   ติ๊บสม      ผู้ช่วยเหรัญญิก
   6. นางสายสวาท   ณ เชียงใหม่      กรรมการ
   7. นางแสงจันทร์   วงศ์จันทร์      กรรมการ
   8. นางอรทัย   ขันแก้ว      กรรมการ
   9. นายจำลอง   ยิ่งดี      กรรมการ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อช่วยเหลือประชาชนในหมู่บ้านให้มีแหล่งเงินหมุนเวียนสำหรับการลงทุนการประกอบอาชีพ
  2. เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำรองในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน

กิจกรรมที่ดำเนินการ

  1. บริหารจัดการกองทุน การกู้ยืมเงินของสมาชิกในหมู่บ้าน
  2. กระจายรายได้กู้ยืม โดยสมาชิกจะสามารถกู้ยืมเงินได้สูงสุดครัวเรือนละ 90,000 บาท ซึ่งจะต้องมีผู้ค้ำประกัน จำนวน 2 คน

6. กลุ่มสตรีพัฒนา

กลุ่มสตรีพัฒนาทำหน้าที่เสริมสร้างความแข็งแรงของชุมชน ในการเสริมสร้างการทำกิจกรรมหรือการเป็นแกนนำในการดำเนินการต่าง ๆ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีทักษะการทำงาน ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ทำให้การทำงานในชุมชนเกิดความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะมีการจัดการของตนเองในชุมชนและในกลุ่มงานจะมีการแบ่งงานตามความถนัดในการเป็นแกนนำในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งจะใช้การประสานงานกันในกลุ่มร่วมกับความร่วมมือของประชาชนซึ่งกลุ่มงานนี้สามารถปฏิบัติงานด้วยใจรักและมีความเสียสละและมีจิตอาสา สามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่ร้องขอค่าตอบแทน โดยในกลุ่มสตรีพัฒนามีจำนวน 15 คน โดยมีรายชื่อ ดังนี้

   1. นางจำเรียง   ประศิริ      ประธาน
   2. นางสาววราลักษณ์   ภิรมย์เลิศอมร      รองประธาน
   3. นางสุภา   ออนศรี      เหรัญญิก
   4. นางผ่องศณี   แสนสุข      กรรมการ
   5. นางจงรักษ์   ชิดทอง      กรรมการ
   6. นางจำเรียง   จอกคง      กรรมการ
   7. นางสุเพชร   ทองคำ      กรรมการ
   8. นางบุญเย็น   ดมดอก      กรรมการ
   9. นางนิตยา   ณ เชียงใหม่      กรรมการ
   10. นางอัมภร   ทรายคำ      กรรมการ
   11. นางจันทการต์   ชิดทอง      กรรมการ
   12. นางผ่องศรี   ชิดทอง      กรรมการ
   13. นางสาวศรีนวล   ชิดทอง      กรรมการ
   14. นางสาวกอบแก้ว   ชิดทอง      กรรมการ
   15. นางยุพิณ   ปัญญาเพิ่ม      เลขานุการ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเป็นแกนนำในการทำกิจกรรมในชุมชนให้เกิดความแข็งแรงและมีศักยภาพ

กิจกรรมที่ดำเนินการ

  1. แบ่งหน้าที่ต่าง ๆ ตามความถนัดของคนอยู่ในกลุ่ม เพื่อได้งานที่มีคุณภาพ
  2. เมื่อมีกิจกรรมจะเป็นแกนนำในการทำงานต่าง ๆ
  3. สร้างให้ชุมชนมีความแข็งแกร่งสามารถพึ่งพาตัวเองได้

7. กลุ่มคณะกรรมการกลุ่มแม่บ้าน

กลุ่มแม่บ้านเป็นกลุ่มงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านการส่งเสริมการทำกิจกรรมและการเกษตร ทั้งการเสนออุปกรณ์ ซึ่งมีบริบทมากในชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงและสร้างบุคคลในชุมชนให้มีพื้นฐานในการงาน ทั้งทางด้านประเพณี และทางด้านเกษตรกรรม ซึ่งทำให้ชุมชนได้มองเห็นคุณค่าทางการทำเกษตรกรรมมากขึ้น และเห็นได้ว่าสตรีแม่บ้านนั้นมีบทบาทเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้งานการส่งเสริมการเกษตรสามารถบรรลุความสำเร็จได้ง่ายขึ้น เนื่องจากในชุมชนให้ความยอมรับความสามารถของสตรีมากขึ้น ซึ่งกลุ่มสตรีเป็นแกนนำการกระจายความรู้ให้แก่คนในชุมชน

   1. นางยุพิน   ปัญญาเพิ่ม      ประธานแม่บ้าน
   2. นางผ่องศรี   แสนสุข      รองประธาน
   3. นางสุภา   ออนศรี      เลขานุการ
   4. นางนิตยา   ณ เชียงใหม่      เหรัญญิก
   5. นางจำเรียง   จอกคง      กรรมการ
   6. นางสาววราลักษณ์   ภิรมเลิศอมร      กรรมการ
   7. นางอัมพร   ทรายคำ      กรรมการ
   8. นางบัวผัด   นวลศรี      กรรมการ
   9. นางสุดารัตน์   เขาคำ      กรรมการ
   10. นางจำเรียง   ประศิริ      กรรมการ
   11. นางโสภา   ถ้ำทอง      กรรมการ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเป็นแกนนำการกระจายความรู้ให้ประชาชนมีพื้นฐานในการทำเกษตรกรรม และทางด้านประเพณี

กิจกรรมที่ดำเนินการ

  1. มีการแบ่งกลุ่มงานในการกระจายความรู้ในชุมชน เพื่อให้มีพื้นฐาน
  2. สร้างให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกลุ่มงานการปฏิบัติงานในชุมชน
  3. เป็นแกนนำในการเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานเกษตรและประเพณี

8. กลุ่มคณะกรรมการสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์

กลุ่มคณะกรรมการสมาคมปนกิจสงเคราะห์เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชน เมื่อมีผู้เสียชีวิตจะมีการช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยมีการเก็บเงินครัวเรือนละ 200 บาท สำหรับผู้ที่มีประกันหมู่บ้าน ส่วนผู้ที่ไม่มีประกันหมู่บ้านจะมีการเก็บเงินครัวเรือนละ 30 บาท โดยคณะกรรมการในกลุ่มงานสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์จำนวน 8 คน โดยมีรายชื่อ ดังนี้

   1. นางสงวน   อำภา      นายกสมาคม
   2. นายทวี   ดมดอก      รางนายกสมาคม
   3. นางอัมพร   ทรายคำ      เหรัญญิก
   4. นางยุพิณ   ปัญญาเพิ่ม      ทะเบียน
   5. นายสมเพชร   อำภา      กรรมการ
   6. นายก๋องคำ   โพดกลาง      กรรมการ
   7. นายเสาร์คำ   จีนา      ที่ปรึกษา
   8. นางนิตยา   ณ เชียงใหม่      เลขานุการ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต เมื่อมีสมาชิกในชุมชนเสียชีวิต

กิจกรรมที่ดำเนินการ

  1. เมื่อมีสมาชิกในหมู่บ้านเสียชีวิต จะมีการเก็บเงินค่าสมาชิกแต่ละครัวเรือน ครัวเรือนละ 200 บาท ซึ่งหากผู้ประกันไม่เป็นสมาชิกหมู่บ้านหรือเรียกว่าไม่มีประกันหมู่บ้าน จะเก็บเงินช่วยเหลือเพียงครัวเรือนละ 30 บาท และนำเงินที่เก็บรวบรวมได้นั้น นำไปมอบให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต 

ปฏิทินชุมชน เป็นตารางกิจกรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งรวบรวมเหตุการณ์  และปรากฏการณ์ในชีวิตประจำวันของชุมชนในรอบปี รอบเดือน หรือช่วงระยะเวลาหนึ่ง  โดยปฏิทินชุมชนนั้นแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ ปฏิทินทางสังคมและวัฒนธรรม ปฏิทินทางเศรษฐกิจ และปฏิทินด้านสาธารณสุข ซึ่งปฏิทินชุมชนบ้านท่าวังมีรายละเอียดดังนี้ 

1. ด้านสังคมและวัฒนธรรม 

จากการประเมินและสอบถามภายในชุมชนบ้านท่าวังเกี่ยวกับด้านสังคมและวัฒนธรรมพบว่าประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาจะมีการรวมตัวกันที่วัดลัฏฐิวันเพื่อทำบุญตักบาตร และฟังธรรมเนื่องจากบ้านท่าวังมีการใช้วัดร่วมกับบ้านขอนตาล หมู่ 3 โดยในการจัดประเพณี และวัฒนธรรมต่าง ๆ มักจะมีผู้นำและประชาชนไปร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงมีข้อกำจัดในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น  แต่ชาวบ้านในชุมชนก็ยังให้ความสำคัญต่อประเพณี วัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมา ซึ่งประเพณีของชุมชนบ้านท่าวัง มีดังนี้

  • ปอยหลวง ซึ่งจะจัดกิจกรรมในช่วงมกราคม - มีนาคม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับทางวัดวัดลัฏฐิวันว่าจะมีการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ เช่น วิหาร ศาลา เจดีย์ กุฏิ  หรือบูรณะสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัด ซึ่งจะนิยมจัดงานปอยหลวงขึ้นหลังจากการก่อสร้างสำเร็จแล้ว โดยก่อนหน้างานปอยหลวง 1 วันบ้านแต่ละหลังจะมีชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นนำเงินมาร่วมทำบุญ และเจ้าบ้านจะทำอาหารเลี้ยงแก่แขกที่มาร่วมทำบุญ เช่น แกงอ่อม ลาบ ขนมจีน หลังจากนั้นวันที่สองหัวหมวดจะรวบรวมเงินทำบุญแต่ละหมวดบ้านจัดทำต้นครัวตาน และนำถวายวัด ส่วนวันสุดท้ายจะมีแต่ละอำเภอหรือจังหวัดที่มีการติดต่อสื่อสารกันจะตั้งขบวน และแห่ขบวนต้นครัวตานเข้าวัดขอนตาลเรียกว่าวันหัววัด
  • วันเด็ก ซึ่งจะจัดกิจกรรมในช่วงมกราคมของทุกปีโดยจัดขึ้นที่เทศบาลตำบลแม่ริม ซึ่งเทศบาลจะมีหนังสือเชิญมาทางผู้ใหญ่บ้าน หลังจากนั้นผู้ใหญ่บ้านจะมีการประกาศเสียงตามสายเพื่อให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปร่วมงานวันเด็ก
  • วันมาฆบูชา โดยประชาชนบ้านวังจะมีการทำบุญตักบาตร สวดมนต์ นั่งสมาธิ กันที่วัดลัฏฐิวัน
  • รดน้ำดำหัวพ่อปู่ ผู้สูงอายุ พ่อหลวง ซึ่งจะจัดกิจกรรมในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี จัดขึ้น ณ ศาลากลางหมู่บ้าน ในตอนเช้าหัวหมวดแต่ละหมวดจะนำหัวหมูไปถวายพ่อปู่ทั้ง 3 ศาลาของหมู่บ้านได้แก่ หัวบ้าน กลางบ้าน และท้ายบ้าน และจะมีพระจากวัดวัดลัฏฐิวันมาให้ธรรมเทศนา มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว หลังจากเสร็จพิธีชาวบ้านจะนั่งรวมกันเพื่อฟังซอพื้นเมืองที่ผู้ใหญ่บ้านจัดขึ้นตลอดทั้งวัน
  • ประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหลี ซึ่งจะจัดกิจกรรมในวันที่ 15 เมษายนของทุกปี ในช่วงเช้าจะมีการสรงน้ำพระกันที่วัดวัดลัฏฐิวัน และในช่วงหัวค่ำแต่ละหมวดจะมีการจัดขบวนรถ มีดนตรีทั้งขนาดเล็กหรือใหญ่ แห่ไม้ค้ำ ไปจนถึงวัดลัฏฐิวัน แต่ปัจจุบันเนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีการปรับกิจกรรมโดยจะให้ชาวบ้านจะนำไม้ค้ำสะหลีไปถวายวัด โดยไม่มีขบวนแห่
  • วันวิสาขบูชา โดยประชาชนบ้านวังจะมีการทำบุญตักบาตร สวดมนต์ นั่งสมาธิ กันที่วัดลัฏฐิวัน
  • วันอาสาฬหบูชาโดยประชาชนบ้านวังจะมีการทำบุญตักบาตร สวดมนต์ นั่งสมาธิ กันที่วัดลัฏฐิวัน
  • วันเข้าพรรษาโดยประชาชนบ้านวังจะมีการทำบุญตักบาตร สวดมนต์ นั่งสมาธิ กันที่วัดลัฏฐิวันหลังจากเสร็จพิธีชาวบ้านในหมู่บ้านท่าวังจะร่วมกันพัฒนาหมู่บ้าน
  • วันแม่แห่งชาติจะตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี ในหมู่บ้านท่าวังจะไม่มีการจัดงานวันแม่แต่ชาวบ้านหมู่บ้านท่าวังจะร่วมกันพัฒนาหมู่บ้าน
  • ประเพณีชะตาหมู่บ้าน ซึ่งจะจัดกิจกรรมในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี จะมีการไหว้พระสวดมนต์ ฟังธรรมะบรรยาย หลังจากเสร็จพิธีจะมีการโยงสายสิญจน์จากวัดลัฏฐิวันไปยังบ้านต่าง ๆ และให้ชาวบ้านแต่ละหลังคาเรือนนำสายสิญจน์ โยงรอบบ้านของตนเองและโยงสายสิญจน์ไปจนถึงเขตสิ้นสุดของหมู่บ้านท่าวังทางทิศใต้ที่เชื่อมต่อกับบ้านแม่สาโดยมีความเชื่อว่าเป็นการต่ออายุหรือชีวิตของชุมชน หรือของประชาชนในหมู่บ้าน
  • ประเพณีทอดผ้าป่าจะจัดในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี โดยบ้านแต่ละหลังคาเรือนจะมีการจัดทำต้นผ้าป่าขึ้นและนำถวายวัดลัฏฐิวัน
  • วันออกพรรษา โดยประชาชนบ้านวังจะมีการทำบุญตักบาตร สวดมนต์ นั่งสมาธิ กันที่วัดลัฏฐิวันหลังจากเสร็จพิธีชาวบ้านในหมู่บ้านท่าวังจะร่วมกันพัฒนาหมู่บ้าน
  • ประเพณีวันลอยกระทงซึ่งจะจัดกิจกรรมในช่วงพฤศจิกายนของทุกปี โดยจะมีการจัดซุ้มวันลอยกระทงที่ท่าน้ำบริเวณศาลากลางหมู่บ้าน และชาวบ้านจะนำกระทงที่ตนจัดทำขึ้นมาลอยบริเวณแม่น้ำปิงเพื่อเป็นการขอขมาพระแม่คงคา
  • ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่าทุกเดือนมิถุนายนซึ่งแต่ละหลังคาเรือนที่มีการเลี้ยงผีปู่ย่าจะจัดเตรียมข้าวนึ่ง ไก่หรือหมูทอดตามจำนวนลูกสาวของแต่ละบ้าน และนำไปยังบ้านหลักของตนเองเพื่อทำการยกขันดอกแก่ผีปู่ย่า
  • วันเป็งปุ๊ดจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธโดยจะไม่ได้เจาะจงว่าเป็นเดือนใด ซึ่งในวันนี้พระจากวัดลัฏฐิวันจะออกบิณฑบาตคืนวันอังคารหลังเวลาเที่ยงคืน ถ้าหากชาวบ้านคนไหนพลาดการตักบาตรเที่ยงคืนสามารถไปตักบาตรได้ที่วัดลัฏฐิวันในตอนเช้า

2. ด้านเศรษฐกิจ

จากการประเมินและสอบถามภายในชุมชนบ้านท่าวังเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจพบว่าบ้านท่าวังมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป มีการทำเกษตรกรรม ท่าวังเป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท โดยเกษตรกรรมของหมู่บ้านนี้คือการนำนาแบ่งเป็นนาปี ช่วงเดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน และนาปรังในช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม และทำสวน เช่น ปลูกกะหล่ำ มะเขือยาว ผักกาด พริกขี้หนู ข้าวสาลี ปลูกดองหงส์เหิน แต่ในปัจจุบันหมู่บ้านนี้มีการทำเกษตรกรรมลดลงเนื่องจากบ้านท่าวังเป็นพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท จึงมีการปรับตัวมาทำอาชีพรับจ้างทั่วไป และบางส่วนประกอบอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ข้าราชการ ธุรกิจส่วนตัว ค้าขาย และเลี้ยงไก่ชน

3. ด้านสาธารณสุข

จากการสอบถามจากประธาน อสม. บ้านท่าวังพบว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขอนตาลจะมีการประสานและแจ้งข่าวด้านสุขภาพไปยังประธาน อสม.ของบ้านท่าวังเพื่อกระจายไปยัง อสม.ที่รับผิดชอบแต่ละเขตในการแจ้งชาวบ้านให้รับทราบถึงบริการสาธารณสุขที่จะจัดขึ้น โดยกิจกรรมต่าง ๆ จะเน้นเป็นการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค การรักษาโรค และการฟื้นฟูสุขภาพ ดังนี้

  • การเยี่ยมผู้สูงอายุของทางเทศบาล
  • การตรวจสุขภาพประจำปี
  • คลินิกวัคซีนเด็ก
  • การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง
  • การรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลาย
  • การติดตามเยี่ยมมารดาหลังคลอด
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
  • โครงการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
  • โครงการการจัดเอ็กซเรย์ปอดเคลื่อนที่
  • การตรวจพยาธิ และมะเร็งลำไส้ใหญ่

1. พ่อเสาร์คำ จีนา  ผู้ใหญ่บ้าน

พ่อเสาร์คำ จีนา อายุ 59 ปี เกิด พ.ศ. 2506 รูปร่างสมส่วน ผิวสีสองสี เป็นคนใจกว้าง มีสัมพันธภาพที่ดี รักครอบครัว ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านท่าวัง

พ่อเสาร์ จีนาเป็นคนบ้านท่าวังตั้งแต่กำเนิด มีพี่น้องร่วมกัน 4 คน เป็นชาย 4 คน เป็นหญิง 3 คน พ่อเสาร์คำเป็นคนที่ 4 ในวัยเด็ก พ่อเสาร์คำเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดขอนตาล หลังจากจบ พ่อเสาร์คำได้บวชเป็นพระ ได้ 6 พรรษา จึงลาสิกขา ออกมาทำงาน เช่น ทำนา ทำสวน ก่อสร้าง เมื่อปี 2527 พ่อเสาร์คำอายุได้ 21 ปี ได้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร 2 ปี หลังจากเข้ารับเกณฑ์ทหาร พ่อเสาร์คำได้สมรสกับแม่จำเรือง จ่อคง มีลูกด้วยกัน 1 คน คือ นางสาวสุรีรัตน์ จีนา ซึ่งครอบครัวได้ทำอาชีพทำนา ทำสวน ก่อสร้าง เลี้ยงดูครอบครัว

จากนั้นได้เข้าเรียนต่อที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในระดับชั้นประถมศึกษา จบเมื่อปี 2549, จบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเมื่อปี 2552 และจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเมื่อ 2554 ในปี พ.ศ. 2552 พ่อเสาร์คำได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ปี พ.ศ. 2555 ได้เข้าร่วมกองลูกเสือชาวบ้าน ในปี พ.ศ. 2559 พ่อเสาร์คำได้ลาออกจากการเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แล้วลงสมัครผู้ใหญ่บ้านในปี พ.ศ. 2563 และได้การดำรงตำแหน่งมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันพ่อเสาร์คำ จีนา อยู่บ้านเลขที่ 6 หมู่ที่ 5 บ้านท่าวัง อาศัยอยู่กับภรรยา 2 คน ไม่มีโรคประจำตัว ทำงานตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน มีการใช้ชีวิตประจำวันแบบพอเพียง เป็นคนที่รักและดูแลครอบครัวเป็นอย่างดี โดยพ่อเสาร์คำเล่าว่า การทำงานควรเป็นการทำงานซื่อตรง และพ่อเสาร์คำยังเล่าอีกว่า ท่านจะเป็นคนใจกว้าง ไม่ชอบคนเห็นแก่ตัว เวลามีปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลืออะไร จะต้องช่วยเหลือตนเองก่อน จะไม่ชอบขอความช่วยเหลือจากใคร ซึ่งเป็นดังสุภาษิตที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน และหลักนี้พ่อเสาร์คำก็ได้นำไปสอนลูกหลานของตนให้ดูแลช่วยเหลือตนเอง 

ประชากรของบ้านท่าวังเป็นประชากรที่อาศัยในพื้นที่ตั้งแต่ดั้งเดิม ซึ่งจะมีลักษณะความเป็นอยู่ที่พึ่งพาอาศัยกันและกันบางพื้นที่ของบ้านแต่ละหลังมีรั้วบ้านแบ่งเขตชัดเจนบางหลังอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเครือญาติในละแวกรั้วเดียว ทุนชุมชนที่มี ได้แก่  มีแม่น้ำปิงไหลผ่าน  มีแหล่งเพาะปลูกที่สำหรับการดำรงชีวิต มีผู้นำที่เข้มแข็งในการบริหารงานชุมชน มีการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือในงานต่างๆของหมู่บ้าน มีแหล่งรวมจิตใจได้แก่ศาลพ่อปู่ มีกลุ่มผู้สูงอายุเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมีความน่าเชื่อถือและเป็นแบบอย่างที่ดีของชุมชน มีกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในเรื่องการดูแลสุขภาพในชุมชน  มีสถานที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในชุมชน เช่น ศาลากลางบ้าน ลานกีฬา สถานที่ประชุมของชุมชน เป็นต้น 

ใช้ภาษาถิ่นได้แก่ ภาษาเหนือ และเกือบร้อยละ 100 เข้าใจภาษากลาง สื่อสารได้ 


ด้านการปกครองของชุมชนมีการปกครองผ่านผู้นำ ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน มีการแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการต่าง ซึ่งผู้ที่ได้รับการยอมรับในชุมชน คือ นายเสาร์คำ จีนา เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน คือ นายสุขสัน ต่างแก้ว และนางจำเรียง ประศิริ ได้รับการยอมรับทั้งจากคนในชุมชนให้มาเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนในชุมชนเมื่อมีปัญหาในชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือ การปกครองร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้านท่าวังมีสมาชิกในกลุ่มจำนวนทั้งหมด 11 คน มีประธาน 1 คน รองประธาน 1 คน เหรัญญิก 1 คน เลขานุการ 1 คน และกรรมการทั้งหมด 7 คน กลุ่มงานคณะกรรมการหมู่บ้านมีการทำงานในรูปแบบการทำงานที่ชัดเจนเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนเมื่อมีปัญหาหรือเมื่อต้องการความช่วยเหลือกัน 


บ้านท่าวังมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป มีการทำเกษตรกรรม ท่าวังเป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท โดยเกษตรกรรมของหมู่บ้านนี้คือการนำนาแบ่งเป็นนาปี ช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน และนาปรังในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม และทำสวน เช่น ปลูกกะหล่ำ มะเขือยาว ผักกาด พริกขี้หนู ข้าวสาลี ปลูกดอกหงส์เหิน แต่ในปัจจุบันหมู่บ้านนี้มีการทำเกษตรกรรมลดลงเนื่องจากบ้านท่าวังเป็นพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท จึงมีการปรับตัวมาทำอาชีพรับจ้างทั่วไป และบางส่วนประกอบอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ข้าราชการ ธุรกิจส่วนตัว ค้าขาย และเลี้ยงไก่ชน  


ประชาชนบ้านท่าวังเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยมีช่วงอายุส่วนใหญ่อยู่ระหว่างอายุ 55-59 ปี ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาจะมีการรวมตัวกันที่วัดลัฏฐิวันเพื่อทำบุญตักบาตร และฟังธรรมเนื่องจากบ้านท่าวังมีการใช้วัดร่วมกับบ้านขอนตาล หมู่ 3 โดยในการจัดประเพณี และวัฒนธรรมต่าง ๆ มักจะมีผู้นำและประชาชนไปร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ชุมชนให้ความสำคัญต่อประพณี วัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมา 


ประชาชนทุกคนในชุมชนมีสิทธิ เสรีภาพในการอยู่อาศัย ในฐานะพลเมืองไทย ได้รับการคุ้มครอง ได้รับสิทธิในการศึกษา รวมทั้งสิทธิอื่น ๆ เช่น การรักษาพยาบาล เป็นต้น


การใช้น้ำในชุมชนส่วนใหญ่ใช้น้ำจากการประปาส่วนภูมิภาค ส่วนน้ำที่ใช้บริโภคส่วนใหญ่จะซื้อน้ำบรรจุขวดในชุมชนทั้งหมดมีวิธีทำให้น้ำสะอาดโดยการกรอง มีถนน และระบบบริการขนส่งสาธารณะจากอำเภอ เข้าสู่ตัวจังหวัด มีระบบไปรษณีย์/การสื่อสาร หรือการขนส่ง และวัสดุ ครุภัณฑ์ทั้งภาครัฐและเอกชน มีการกำจัดขยะโดยอบต.  /เทศบาล


เมื่อ พ.ศ. 2522 ได้การพัฒนาระบบสาธารณสุข โดยมีการสร้างสถานีอนามัยบ้านขอนตาล (โรงพยาบาลเสริมสุขภาพตำบลบ้านขอนตาล) โดยผ่านเกณฑ์ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข มีการทำงานเชิงรุก และเน้นการส่งเสริมสุขภาพเพื่อการเข้าถึงบริการของประชาชนได้อย่างครอบคลุม และปฏิรูประบบการบริหารจัดการที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน

เมื่อเจ็บป่วยประชาชนส่วนใหญ่จะดูแลสุขภาพตนเองด้วยระบบการแพทย์วิชาชีพ รองลงมา คือ การดูแลสุขภาพตนเองด้วยระบบการแพทย์ภาคประชาชน ระบบการแพทย์วิชาชีพร่วมกับระบบการแพทย์ภาคประชาชน ตามลำดับ อย่างไรก็ตามพบว่าประชาชนบางส่วนยังใช้ระบบการแพทย์วิชาชีพร่วมกับระบบการแพทย์ภาคประชาชนร่วมกับระบบการแพทย์พื้นบ้าน ทั้งนี้อาจเนื่องจากเป็นชุมชนที่มีบริบททางสังคมแบบกึ่งเมืองกึ่งชนบท จึงทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนส่วนใหญ่มีความรู้และสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลได้หลากหลายในการดูแลสุขภาพขณะเจ็บป่วย จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เลือกระบบการแพทย์วิชาชีพในการดูแลสุขภาพมากกว่าระบบการแพทย์ภาคประชาชนและระบบการแพทย์พื้นบ้าน โดยมีรายละเอียดในแต่ละองค์ประกอบหลักของระบบสุขภาพชุมชน ได้แก่ อาหาร ยา สถานพยาบาล การรักษาโดยใช้การแพทย์พื้นบ้าน ดังนี้

ระบบการแพทย์วิชาชีพ

ประชาชนในชุมชนมีการใช้ระบบการแพทย์วิชาชีพเป็นส่วนใหญ่ หากมีการเจ็บป่วยเล็กน้อยจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านขอนตาล ตามสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากมีการเจ็บป่วยที่รุนแรงขึ้น จะเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลของรัฐบาล เช่น โรงพยาบาลนครพิงค์ ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง โรงพยาบาลดารารัศมี โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลสันทราย ตามสิทธิ บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสิทธิข้าราชการ สำหรับผู้ที่มีรายได้สูงหรือมีสิทธิประกันสังคม จะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เช่น โรงพยาบาลลานนา โรงพยาบาลแมคคอร์มิค โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม และมีประชาชนบางส่วนเข้ารับการรักษาที่คลินิก

ระบบการแพทย์ภาคประชาชน

อาหาร

ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาหารรับประทานเองภายในครอบครัว โดยหาวัตถุดิบมาจากพืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้ในบ้าน ร้านขายของชำในหมู่บ้าน หรือตลาดในพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากสามารถควบคุมรสชาติเองได้ อาหารที่ประกอบส่วนใหญ่จะเป็นอาหารพื้นเมือง เช่น แกงผักปลัง จอผักกาด แกงแค แกงหน่อไม้  เป็นต้น โดยเครื่องปรุงหลักที่ใช้ปรุงอาหารพื้นเมือง ได้แก่ กะปิ ปลาร้า เกลือ น้ำปลา พริกแห้ง ถั่วเน่า น้ำปู เป็นต้น และมีบางครอบครัวที่ซื้ออาหารปรุงสุกมารับประทาน เนื่องจากไม่มีเวลา

ยา/สมุนไพร

ประชาชนบางส่วนในชุมชนเมื่อมีการเจ็บป่วยเล็กน้อย มักจะซื้อยาสามัญหรือยาสมุนไพรมารับประทานเอง เช่น ยาลดไข้/แก้ปวด ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาแก้แพ้/แก้คัน ยาแก้ไอ ยาหอม  ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น โดยซื้อยาจากร้านขายยา และร้านขายของในหมู่บ้านระบบการแพทย์พื้นบ้าน

ประชาชนในชุมชนส่วนน้อยยังมีการใช้ระบบแพทย์พื้นบ้าน เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และไสยศาสตร์  เมื่อมีการเจ็บป่วยจะเข้ารับการรักษากับหมอพื้นบ้าน เช่น การเป่าน้ำมนต์ โดยจะเป่าบริเวณอวัยวะที่เจ็บหรือปวด พร้อมกับท่องคาถา ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยบรรเทาอาการป่วยให้ทุเลาลงได้ และไข่มนต์ดำ โดยจะมีการนำไข่ไปต้มจากนั้นนำไข่มากลิ้งบริเวณตัว แล้วนำเหรียญสิบบาทมาผ่าไข่ออกเป็นซีกเพื่อดูลักษณะ หากไข่ที่ผ่าออกมามีสีดำ ซึ่งเชื่อว่ามีสิ่งไม่ดีอยู่ในตัว นอกจากนี้ยังมีการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมีการจัดงานประเพณีการไหว้ศาลพ่อปู่ขึ้นทุกปี ซึ่งเชื่อว่าช่วยคุ้มครองและช่วยเหลือดูแลลูกหลานในยามเจ็บป่วย


กลุ่มผู้สูงอายุได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษา และในระดับปริญญาตรี/มัธยมศึกษาในกลุ่มผู้ใหญ่


ประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนบ้านท่าวัง ที่โดดเด่นได้แก่

  • ประเพณีปอยหลวงที่วัดลัฏฐิวัน หากมีการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ เช่น วิหาร ศาลา เจดีย์ กุฏิ  หรือบูรณะสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัด จะนิยมจัดงานปอยหลวงขึ้นหลังจากการก่อสร้างสำเร็จแล้ว โดยก่อนหน้างานปอยหลวง 1 วันบ้านแต่ละหลังจะมีชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นนำเงินมาร่วมทำบุญ และเจ้าบ้านจะทำอาหารเลี้ยงแก่แขกที่มาร่วมทำบุญ เช่น แกงอ่อม ลาบ ขนมจีน หลังจากนั้นวันที่สอง หัวหมวดจะรวบรวมเงินทำบุญแต่ละหมวดบ้านจัดทำต้นครัวตานและนำถวายวัด ส่วนวันสุดท้ายแต่ละอำเภอหรือจังหวัดที่มีการติดต่อสื่อสารกันจะตั้งขบวน และแห่ขบวนต้นครัวตานเข้าวัดขอนตาล
  • รดน้ำดำหัวพ่อปู่ ผู้สูงอายุ พ่อหลวง ซึ่งจะจัดกิจกรรมในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี จัดขึ้น ณ ศาลากลางหมู่บ้าน ในตอนเช้าหัวหมวดแต่ละหมวดจะนำหัวหมูไปถวายพ่อปู่ทั้ง 3 ศาลาของหมู่บ้าน ได้แก่ หัวบ้าน กลางบ้าน และท้ายบ้าน และจะมีพระจากวัดวัดลัฏฐิวันมาให้ธรรมเทศนา มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว หลังจากเสร็จพิธีชาวบ้านจะนั่งรวมกันเพื่อฟังซอพื้นเมืองที่ผู้ใหญ่บ้านจัดขึ้นตลอดทั้งวัน
  • ประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหลี
  • ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า ทุกเดือนมิถุนายนซึ่งแต่ละหลังคาเรือนที่มีการเลี้ยงผีปู่ย่าจะจัดเตรียมข้าวนึ่ง ไก่หรือหมูทอดตามจำนวนลูกสาวของแต่ละบ้าน และนำไปยังบ้านหลักของตนเองเพื่อทำการยกขันดอกแก่ผีปู่ย่า
  • วันเป็งปุ๊ด จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ โดยจะไม่ได้เจาะจงว่าเป็นเดือนใด ซึ่งในวันนี้พระจากวัดลัฏฐิวันจะออกบิณฑบาตคืนวันอังคารหลังเวลาเที่ยงคืน ถ้าหากชาวบ้านคนไหนพลาดการตักบาตรเที่ยงคืนสามารถไปตักบาตรได้ที่วัดลัฏฐิวันในตอนเช้า


ในชุมชนมีแม่น้ำปิงไหลผ่านด้านข้างของชุมชน ช่วยส่งเสริมการประกอบอาชีพการทำนา ทำสวน โดยเฉพาะการปลูกดอกไม้เพื่อตัดดอก และการปลูกข้าวโพด 


มีที่ดินที่ใช้ร่วมกันในชุมชนริมน้ำปิง เพื่อการออกกำลังกาย และการประชุมในชุมชน

การมีศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนท่าวัง ได้แก่ ศาลเจ้าบ้านตั้งอยู่ที่ทางเข้าซอย 1 สร้างเมื่อ 24 มิถุนายน 2549, ศาลพ่อปู่ตั้งอยู่ที่ ศาลากลางหมู่บ้าน สร้างเมื่อ 13 เมษายน 2552, ศาลพ่อปู่ซึ่งตั้งอยู่ที่ท้ายซอย 8 สร้างเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2563  และศาลากลางหมู่บ้าน 

นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเชียงใหม่. (2565). รายงานการพัฒนาอนามัยชุมชน บ้านท่าวัง หมู่ที่ 5 ตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: สาขาวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.