Advance search

ทับตะวัน

ชุมชนริมชายฝั่งทะเลอันดามันที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การอพยพย้ายถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกลน

หมู่ที่ 7
บ้านบางสัก
บางม่วง
ตะกั่วป่า
พังงา
นิฌามิล หะยีซะ
8 มิ.ย. 2023
นิฌามิล หะยีซะ
15 พ.ค. 2023
บ้านบางสัก
ทับตะวัน

จากประวัติศาสตร์การอพยพย้ายถิ่นของชาวมอแกลนเล่าขานว่าแต่เดินชุมชนแห่งนี้ไม่มีชื่อเรียกขานอย่างเป็นทางการ มีเพียงชื่อเรียกพื้นที่อยู่อาศัยของชาวมอแกลน เช่น นากก ท่องเค็ด (ทุ่งเค็ด) ท่องทุ่ (ทุ่งทุ) ท่องขี้ทราย (ทุ่งขี้ทราย) จนกระทั่งความเป็นชุมชนเริ่มก่อตัวขึ้นทำให้มีการเรียกขานพื้นที่นี้ว่า ‘บ้านบางสัก’ ปรากฏครั้งแรกในเอกสารประทานบัตรการทำเหมืองแร่ดีบุกช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จนกระทั่งในช่วงปลายทศวรรษ 1990 เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่เริ่มเติบโต มีการสร้างโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยวชื่อ ‘โรงแรมทับตะวัน’ โดยผู้เฒ่ามอแกลนเป็นคนตั้งชื่อให้ ทำให้มีการเรียกชุมชนนี้โดยเฉพาะบริเวณท่องทุอย่างไม่เป็นทางการว่า ‘บ้านทับตะวัน’


ชุมชนริมชายฝั่งทะเลอันดามันที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การอพยพย้ายถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกลน

บ้านบางสัก
หมู่ที่ 7
บางม่วง
ตะกั่วป่า
พังงา
82190
8.78889771199945
98.2624335587024
องค์การบริหารส่วนตำบลองค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วง

คำบอกเล่าของผู้เฒ่ามอแกลนระบุว่า ชาวมอแกลนมีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานบริเวณชายฝั่งพังงามาอย่างยาวนานกว่า 12 ชั่วอายุคน แต่เดิมชาวมอแกลนนำโดยผู้นำคนสำคัญคือ บ้าบสามพัน’ หรือพ่อตาสามพันชาวมอแกลนเดิมอาศัยอยู่เป็นชุมชนบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก หรือตำบลโมคลาน จังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ายุคก่อนพ่อตาสามพัน ชาวมอแกลนอาศัยอยู่อย่างเร่ร่อนในพื้นที่ทะเลเหมือนชาวมอแกนหรือไม่ รวมถึงช่วงเวลาและสาเหตุของการย้ายมาตั้งถิ่นฐานบนบกถาวรก็ไม่ปรากฏชัดเจน นักวิชาการตั้งข้อสันนิษฐานว่า ชาวมอแกลนแยกออกจากชาวมอแกนเกิดขึ้นในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากถูกจับและบีบบังคับให้กลายเป็นทาสในอาณาจักรหรือชุมชนชายฝั่งในเส้นทางข้ามช่องแคบ (โจรสลัด) หรือแรงงานสร้างวัดใหญ่ในเมืองแถบนครศรีธรรมราช แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานใดที่สามารถยืนยันที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกลน รวมถึงสาเหตุและช่วงเวลาที่ชาวมอแกลนเริ่มตั้งถิ่นฐานบนบกถาวร (Ferrari et al., 2006: 55-56, 62, 103)

การอพยพย้ายถิ่นตามเส้นทางการค้ามาถึงชายฝั่งทะเลฝั่งตะวันตก บริเวณแรกสุดที่มีการอ้างถึงคือหาดหลื่อฉั๊ก (หาดบางสัก) สถานที่เสียชีวิตของบ้าบสามพัน ลำปี และท่านุ่น แต่ก็ยังไม่มีการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร (นฤมล อรุโณทัย, 2549: 58-59ชาวมอแกลนได้เดินทางไปลงหลักปักฐานที่ อากูน’ ปัจจุบันคือ นากูนหรือต้นกูน ตำบลกระไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ตามการนำของเฒ่าทวดธานี หลานของบ้าบสามพัน และต่อมาภายหลังการลอบสังหารเฒ่าทวดธานี ลูกหลานได้อพยพกันไปอยู่บริเวณในหยง บริเวณอำเภอตะกั่วทุ่งในปัจจุบัน ไม่ไกลจากอากูน ภายหลังอพยพไม่นานก็มีปัญหาความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรกับพวกปาตั๊กหรือชาวมุสลิม จึงมีการกระจายตัวของชาวมอแกลนไปหลายพื้นที่ ทั้งเกาะพระทอง เกาะระ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา) ไปจนถึงท่องคา ท่านุ่น (ปัจจุบันคือพื้นที่รอยต่อระหว่างพังงาและภูเก็ต) และบ้านหินลูกเดียวหรือบ้านเหนือ (อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต)

ชาวมอแกลนกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาอยู่บริเวณ ‘ากก’ (ก่อนปี 1940-1945) ริมชายฝั่งหาดบางสักในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าช่วงเวลานั้นพื้นที่บริเวณนี้มีบึงน้ำที่มีต้นกกขึ้นจำนวนมาก าวมอแกลนจึงเรียกพื้นที่นั้นว่า ‘นากก’ ผู้เฒ่ามอแกลนร่วมยุคร่วมสมัยหลายคนเล่าว่า ช่วงเวลานั้นนากกยังเป็นป่าดงดิบ มีสัตว์ป่ามากมาย ถนนหนทางยังไม่มี มีเพียงทางสัญจรแคบ ๆ ที่ชาวมอแกลนเรียกว่า ทางควาย’ นายดัน กล้าทะเลเล่าย้ำว่า

 "ตอนลุงเล็กๆ ยังพอทันเห็นเรือใบของพวกเราชักแถวกันออกทะเล ย้ายไปอยู่ตามเกาะ แต่ลุงไม่เคยย้ายไปไหน เมื่อก่อนแถวนี้ยังเป็นป่าดิบ มีเสือ มีลิงอยู่เยอะแยะ ต้นไม้ก็ต้นโต ๆ ไม้สัก ไม้ตะเคียนมีทั้งนั้น (ดัน กล้าทะเล, สัมภาษณ์ ใน ภาสกร จำลองราช, 2560) 

ในยุคแรกที่ชาวมอแกลนมาตั้งรกรากที่บางสัก วิถีชีวิตของมอแกลนเป็นแบบผสมผสานระหว่างการเก็บของป่าล่าสัตว์ ทั้งสัตว์บกและสัตว์ทะเลน้ำตื้น (amphibious hunting-gathering) และการ เบาะนา เบาะกอมะ หรือการทำนาดำ ข้าวไร่ ทำสวน ภายในพื้นที่ชุ่มน้ำในชุมชนที่เรียกว่า นาหน่าย้ด (บ้านนา) ซึ่งเป็นร่องน้ำจืดธรรมชาติเพื่อการทำข้าวนา วัฒนธรรมการปลูกข้าวของมอแกลนเป็นหลักฐานหนึ่งที่ชี้ให้เห็นปฏิสัมพันธ์ของชาวมอแกลนกับชุมชนเกษตรกรรมในท้องถิ่น ปัจจุบันวัฒนธรรมการทำข้าวไร่ไม่ได้รับความนิยมดังในอดีตด้วยหลากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ

ช่วงเวลาที่ชาวมอแกลนอพยพตั้งถิ่นฐานบริเวณนากกนั้นคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ ได้แก่ สงครามมหาเอเชียบูรพา (1941-1945) เฒ่าตุ๊ เล่าว่าช่วงสงครามโลกเขายังเป็นวัยรุ่น ขณะนั้นประกอบอาชีพเป็นยามเฝ้าเหมืองแร่ดีบุกของนายทุน บางช่วงมีการปะทะและทิ้งระเบิดในบริเวณใกล้เคียงทำให้ต้องหลบหลีไปอยู่ในขุมเหมือง (เพียร หาญทะเล, สัมภาษณ์ 26 มิถุนายน 2557 ใน นฤมล อรุโณทัย และคณะ (บรรณาธิการ), 2558: 23) สงครามเกิดขึ้นคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ธุรกิจเหมืองแร่ดีบุกของกลุ่มทุนจีนโพ้นทะเลในเขตอำเภอตลาดใหญ่ จังหวัดตะกั่วป่า กำลังเติบโตรุ่งเรือง ประสบการณ์วัยเด็กของเฒ่าตุ๊ที่ช่วยแม่ตักทรายใส่รางเพื่อวิดน้ำหาแร่ (เพิ่งอ้างถึง) หรือคำบอกเล่าของป้านิดที่ว่าตอนเด็ก ๆ บริเวณหน้าบ้านของเธอจะมีขุมเหมืองน้ำจืดขนาดใหญ่ ชาวบ้านมักใช้เป็นที่อาบน้ำ (ป้านิด, สัมภาษณ์ 24 มิถุนายน 2557 ใน นฤมล อรุโณทัย และคณะ (บรรณาธิการ), 2558: 23) หรือประสบการณ์ของเฒ่าหีต หาญทะเลที่ว่า

 "แต่ก่อนที่นี่ชาวบ้านจะเรียกว่าบ้านในท่องทุ มีมอร์แกน(มอแกลน)อาศัยอยู่มานานแล้ว ประกอบอาชีพ รับจ้าง ประมง จนแปะเต็กเขาเข้ามาทำเหมืองแร่ มอร์แกน(มอแกลน)บางส่วนก็ไปรับจ้างขุดแร่ … ต่อมาเมื่อเลิกกิจการเหมืองแร่ แป๊ะเท่งได้เข้ามาดำเนินกิจการต่อและไล่ชาวบ้านออกจากบริเวณขุมเหมือง มอร์แกน(มอแกลน)จึงได้ปักหลักปักฐานรวมกันในที่ดินผืนนี้ (เฒ่าหีต หาญทะเล, สัมภาษณ์ ใน โครงการบ้านมั่นคง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), 2556)

กระนั้น ธุรกิจเหมืองแร่ดีบุกก็ไม่ได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงสงครามโลก แต่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-15 (คริสต์ศตวรรษที่ 7-10) โดยพ่อค้าชาวอินเดีย เรื่อยมาจนถึงยุคเจ้าภาษีนายอาการในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (1824-1851) มีการเก็บส่วยดีบุกในรูปแบบระบบเหมาเมืองที่เจ้าเมืองมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ จนกระทั่งต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (1851-1868) การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปทำให้ความต้องการแร่ดีบุกเพิ่มสูงขึ้น ธุรกิจดีบุกจึงสร้างผลกำไรให้กับทุนเจ้าภาษีนายกรได้อย่างมหาศาล เริ่มมีการพัฒนาเครื่องมือทันสมัยแทนการทำเหมืองแล่นหรือเหมืองคล้าที่ใช้แรงงานคน

ภายหลังการปฏิรูปการปกครองสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฐบาลได้จัดตั้งกรมราชโลหกิจและภูมิวิทยาเพื่อจัดระบบการทำเหมืองแร่ และมีการตั้งหน่วยราชการของกรมราชโลหกิจฯ ที่มณฑลภูเก็ต (ครอบคลุมพื้นที่ตะกั่วป่า) ในปี 1894 รวมถึงการตราพระราชบัญญัติทำเหมืองแร่ ร.ศ.120 (ประกาศใช้ 1 พฤษภาคม ร.ศ.121 [1902]) และพระราชบัญญัติทำเหมืองแร่ พ.ศ. 2461 กำหนดให้ผู้ทำเหมืองแร่ต้องขออาชญาบัตรตรวจแร่ ประทานบัตรทำเหมืองแร่ระบุขอบเขตบนแผนที่แน่นอนเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ทับซ้อน (นันทาวดี ไทรแก้ว, 2550: 30-33, 40-42; มธุรดา ประสิทธิ์วงษ์, 2564) ในบริบทของบ้านบางสัก กลุ่มทุนจีนที่มีบทบาทสำคัญในธุรกิจเหมืองแร่ดีบุกคือ ขุนจำนงภักดี ต้นตระกูลกุลวานิช

อุตสาหกรรมแร่ดีบุกได้เปลี่ยนแปลงสภาพโดยรวมของบ้านบางสัก ทั้งสภาพภูมิประเทศ เศรษฐกิจ และสังคม เรื่องราวของเฒ่าตุ๊ ป้านิด และเฒ่าหีตสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวมอแกลนเมื่อก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่เป็นอย่างดี ในทางกลับกันเศรษฐกิจระดับอุตสาหกรรมก็สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของชาวมอแกลนอย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือ การเกิดขึ้นของระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินภายหลังการตราและบังคับใช้พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ในมาตรา 5 กำหนดให้ผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต้องแจ้งการครอบครองที่ดินเพื่อขอเอกสารแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส..1)

จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าร่วมสมัยหลายคนเห็นตรงกันว่า มีชาวมอแกลนเพียงบางส่วนเท่านั้นที่รู้จักระบบกฎหมายกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นแรงงานในเหมืองที่มีเถ้าแก่ช่วยออกเอกสารส.ค.1 ให้ (เฒ่าหีต หาญทะเล, สัมภาษณ์ ใน อ้างถึงแล้ว) หรือคำบอกเล่าของป้านิดที่ว่า ในช่วงประมาณปี 1964 เธอเลิกทำแร่และเปลี่ยนมาทำสวนบริเวณบ้านบนไร่ เพราะบ้านที่ท่องขี้ทรายถูกเถ้าแก่ให้ย้ายออก (ป้านิด, สัมภาษณ์ 24 มิถุนายน 2557 ใน นฤมล อรุโณทัย และคณะ (บรรณาธิการ), 2558: 23-24) ทั้งนี้ก็มีชาวมอแกลนบางส่วนที่ย้ายไปอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านหลังเดิม เช่นคำบอกเล่าของลุงดัน กล้าทะเลที่ว่า

 สมัยนั้นตอนเขามาทำเหมืองแร่ที่นี่ ครอบครัวลุงก็ขยับบ้านออกมา แต่ก็ยังอยู่ในบริเวณนี้แหละ ลุงรับจ้างดำแร่บ้าง ออกทะเลบ้าง ไม่เดือดร้อนอะไร แม้คนข้างนอกเขาจะมองพวกเราสกปรก แต่พวกเราก็อยู่กันมาได้ด้วยดี (ดัน กล้าทะเล, สัมภาษณ์ ใน ภาสกร จำลองราช, 2560)

ขณะเดียวกันความเติบโตของอุตสาหกรรมการขุดแร่ดีบุกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคแรกที่บางสักได้กลายเป็นเมือง (urbanization) การตั้งถิ่นฐานของประชากรหนาแน่นขึ้นและมีกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์เข้ามาอาศัยอยู่ภายในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ในช่วงปี 1937-1957ชุมชนเริ่มมีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว มีร้านค้าริมถนนใกล้หมู่บ้านเกิดขึ้นมากมาย เช่น ร้านขายโกปี๊ ขนมจีน ร้านขายของชำ ชาวมอแกลนบางส่วนเริ่มประกอบอาชีพรับจ้างทำงานในเหมืองเก็บหิน ขุดดิน ฉีดน้ำ เก็บเศษไม้ในรางแร่ หรือเฝ้าเวรยาม โดยทำงานเป็นระบบกะเข้างาน (shift work) แบ่งเป็น ชั่วโมงต่อหนึ่งกะ 

นอกเหนือจากระบบเงินตราที่เข้ามาพร้อมกับการจ้างงานแล้ว กลุ่มคนภายนอกโดยเฉพาะชาวจีนโพ้นทะเลยังนำระบบการเงินรูปแบบสินเชื่อเข้ามา โดยในช่วงแรกเป็นระบบเงินเชื่อแบบง่าย คือ ติดเงินไว้ก่อน (ลงชื่อไว้) มีเงินแล้วค่อยนำมาจ่ายคืน ชาวมอแกลนแต่เดิมที่ใช้ชีวิตด้วยวิถียังชีพในแต่ละวัน ใช้ระบบการแลกเปลี่ยนสิ่งของ (Reciprocity) ปราศจากการใช้เงินตรา ทรัพยากรทุกประเภทมีคุณค่าในเชิงจิตวิญญาณ เป็นสมบัติร่วมกันของชาวเลทุกกลุ่ม ชาวมอแกลนเริ่มต้องปรับตัเข้าสู่เศรษฐกิจแบบทุนนิยมทั้งระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน ระบบทรัพย์สิน การจ้างงาน ระบบแบ่งงานกันทำในระดับสากลรูปแบบใหม่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจระดับอุตสาหกรรม ระบบเงินตรา ระบบการค้าขายสมัยใหม่ ระบบสินเชื่อ (นฤมล อรุโณทัย และคณะ (บรรณาธิการ), 2558: 14-15)

การกลายเป็นเมืองอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวมอแกลนที่มีโลกทัศน์เรื่องกรรมสิทธิ์และทรัพย์สินแบบร่วมกัน (common) ช่วงเวลาภายหลังการประกาศใช้กฎหมายที่ดินเป็นอีกหนึ่งระลอกที่มีการอพยพย้ายถิ่นของชาวมอแกลน ชาวมอแกลนบางส่วนยังอยู่ในพื้นที่เดิมเพราะอยู่นอกขอบเขตพื้นที่กรรมสิทธิ์ตามส.ค.ที่มีการจดทะเบียน หรือบางส่วนอาจมีเอกสารส.ค.1 ไว้ในครอบครองจากความช่วยเหลือของเถ้าแก่เหมืองแร่ ขณะเดียวกัน ชาวมอแกลนบางส่วนกระจายตัวไปอยู่ในบริเวณต่าง ๆ ไม่ไกลจากบ้านหลังเดิม ได้แก่ ได้แก่ ท่องขี้ทราย (1954-1964) บนไร่ (1954-ปัจจุบัน) นายาว (1964-ปัจจุบัน) และท่องทุ (1964-ปัจจุบัน)

         

พื้นที่หลักแห่งใหม่ที่ชาวมอแกลนกระจายตัวไปตั้งถิ่นฐานจำนวนมาก คือ ท่องทุ่ (ทุ่งทุ) เป็นบริเวณที่มีลูกโทะหรือต้นลูกทุอยู่เป็นจำนวนมาก ในช่วงแรกมีการตั้งเรือนกระจัดกระจายประมาณ 20 หลังคาเรือน มีทั้งชาวมอแกลนและคนไทยอาศัยอยู่ร่วมกัน และอีกพื้นที่คือบ้านบนไร่ หมู่บ้านบนควนหรือเนินเขาฝั่งตรงข้ามโดยมีถนนเพชรเกษมตัดผ่าน การตัดถนนเพชรเกษมหรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ตัดผ่านตะกั่วป่ายาวไปจนถึงภูเก็ต ในปี 1960 ทำให้โครงสร้างทางกายภาพของชุมชนเปลี่ยนแปลงไป บ้านบางสักจึงแบ่งออกเป็น 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ ฝั่งที่ราบชายฝั่งครอบคลุมตั้งแต่ท่องขี้ทราย นากก นายาว ท่องทุ เป็นต้น และฝั่งบ้านบนไร่

คำบอกเล่าของป้านิดที่ ผู้อพยพขึ้นไปอยู่บนไร่ยุคแรกที่เล่าว่าตนเปลี่ยนจากการทำแร่ไปทำสวนทำไร่บริเวณบนไร่ เพราะบ้านที่ท่องขี้ทรายถูกเถ้าแก่ให้ย้ายออก (ป้านิด, สัมภาษณ์ 24 มิถุนายน 2557 ใน อ้างถึงแล้ว) สันนิษฐานได้ในเบื้องต้นว่า ชาวมอแกลนบางส่วนที่อพยพมาอยู่บริเวณบ้านบนไร่ช่วงปี 1964 เป็นเพราะปัญหาจากเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินตามเอกสาร ส..1 กระนั้น ผู้ที่อพยพไปอยู่บนเขาสามารถทำสวนยางพารา สวนผลไม้ มีพื้นที่สำหรับการปลูกพืชสวนครัว บางรายสามารถจับจองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและยื่นคำร้องขอเอกสารสิทธิ์อย่างเป็นทางการได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีคนภายนอกเข้าไปอยู่อาศัยมาก

ช่วงเวลาเดียวกันนั้นรัฐบาลเริ่มปรับใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศ นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน รัฐบาลยังสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมสำคัญที่สามารถเพิ่มผลผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) ผ่าน 3 อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงอุตสาหกรรมประมง (นันทาวดี ไทรแก้วอ้างถึงแล้ว: 47-5560-65) ชาวมอแกลนเป็นกลุ่มประชากรหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาของรัฐในช่วงเวลานี้ ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นก็เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์เศรษฐกิจและสังคมของบ้านบางสักเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประกอบกับอุตสาหกรรมแร่ดีบุกที่เริ่มซบเซาลงตั้งแต่ช่วงปี 1984 เป็นต้นมา เนื่องจากปริมาณดีบุกในตลาดโลกล้นตลาด ราคาเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านจึงเริ่มหันมาประกอบอาชีพอื่นทดแทนมากขึ้น

การท่องเที่ยวในพื้นที่ตะกั่วป่าหรือจังหวัดพังงาเติบโตขึ้นต่อเนื่องพร้อมกับการส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดแถบทะเลอันดามันหรือชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันตกของไทย กระนั้น หากเปรียบเทียบกับจังหวัดใกล้เคียงอย่างภูเก็ตแล้ว จังหวัดพังงาได้รับความนิยมน้อยกว่าแม้ว่าจะมีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่ใกล้เคียงกับจังหวัดภูเก็ต การท่องเที่ยวในบริเวณชุมชนเริ่มเติบโตขึ้นภายหลังการจัดตั้ง 3 อุทยานสำคัญ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ปี 1981 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ปี 1982 และอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ปี 1991 การเกิดขึ้นของสามอุทยานแห่งนี้ได้พัฒนาให้เกิดย่านการท่องเที่ยว เขาหลัก’ ทำให้สภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจโดยรวมของพื้นที่ใกล้เคียงย่านเขาหลักเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

สำหรับชุมชนบ้านบางสักนั้น ก็ตั้งอยู่ในบริเวณรอบนอกของศูนย์กลางการท่องเที่ยวย่านเขาหลัก จึงกลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ชาวมอแกลนและชุมชนบ้านบางสักไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้ส่งผลระยะยาวคือ ความเข้าใจผิดของคนนอกว่าชาวมอแกลนคือประชากรกลุ่มเดียวกับคนพื้นเมือง ทั้งนี้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนว่าการท่องเที่ยวในชุมชนบ้านบางสักเกิดขึ้นช่วงเวลาใด แต่ความเติบโตของการท่องเที่ยวชุมชนเกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ผ่านการสร้างโรงแรมทับตะวัน ตามการตั้งชื่อของผู้เฒ่ามอแกลน รวมถึงการสร้างฟาร์มลูกกุ้งตะวันของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) จึงเริ่มมีคนต่างถิ่นเดินทางเข้ามาในชุมชนมากขึ้น จากนั้นธุรกิจด้านการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นรีสอร์ท ร้านอาหาร รถรับส่งสาธารณะก็เกิดขึ้นในพื้นที่ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2004

ชุมชนบางสักประกอบด้วยสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และภูมิประเทศที่หลากหลาย ทำให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนมีความหลากหลาย กล่าวคือ หากใช้เกณฑ์ทางภูมิศาสตร์วัฒนธรรม และนิเวศวัฒนธรรม จัดแบ่งพื้นที่ในชุมชนบางสัก สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และพื้นที่ทางศาสนาและความเชื่อ

เริ่มต้นด้วยพื้นที่อยู่อาศัย จากประวัติศาสตร์การอพยพย้ายถิ่นของชาวมอแกลนบ้านบางสักพบว่า พื้นที่แรกที่มีการตั้งรกรากอยู่อาศัยกันคือบริเวณ ‘นากก’ และบริเวณป่าสนริมชายหาดบางสักตั้งแต่ก่อนปี 1940-1945 สันนิษฐานว่าในช่วงเวลานั้นพื้นที่บริเวณนี้มีบึงน้ำที่มีต้นกกขึ้นจำนวนมาก ชาวมอแกลนจึงเรียกพื้นที่นั้นว่า ‘นากก’ นากกเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีชาวมอแกลนอาศัยอยู่จำนวน 30-40 หลังคาเรือน ในบริเวณละแวกชุมชนมีบ่อน้ำผุด บึงน้ำลึกเท่าต้นขา และพื้นที่ชุ่มน้ำและร่องน้ำสายเล็ก ผู้เฒ่ามอแกลนหลายคนเล่าว่าช่วงเวลานั้นพื้นที่ที่ชาวมอแกลนอาศัยอยู่ (นากก) ยังเป็นป่าดงดิบ มีสัตว์ป่ามากมาย ถนนหนทางยังไม่มี มีเพียงทางสัญจรแคบ ๆ ที่ชาวมอแกลนเรียกว่าทางควาย หรือคำบอกเล่าของลุงดัน กล้าทะเลที่ว่า

“ตอนลุงเล็กๆ ยังพอทันเห็นเรือใบของพวกเราชักแถวกันออกทะเล ย้ายไปอยู่ตามเกาะ แต่ลุงไม่เคยย้ายไปไหน เมื่อก่อนแถวนี้ยังเป็นป่าดิบ มีเสือ มีลิงอยู่เยอะแยะ ต้นไม้ก็ต้นโต ๆ ไม้สัก ไม้ตะเคียนมีทั้งนั้น” (ดัน กล้าทะเล, สัมภาษณ์ ใน ภาสกร จำลองราช, 2560)

ปัจจุบันบริเวณนากกคือถนนเส้นหลักของหาดบางสัก เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักของชุมชน มีร้านอาหาร รีสอร์ท บังกะโล มาตั้งเป็นจำนวนมาก บางช่วงเวลาในบริเวณนี้มีการจัดงานเทศกาลเฉพาะ จุดเด่นสำคัญของพื้นที่คือ หอหลบภัยสึนามิที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามสวนสาธารณะขนาดเล็กริมหาด ในละแวกใกล้เคียงเป็นที่ตั้งของศาลพ่อตาสามพันและป่าศักดิ์สิทธิ์ สถานที่สำคัญตามความเชื่อของชาวมอแกลน 

ในช่วงเวลาถัดมาชาวมอแกลนบางส่วนได้ย้ายไปอยู่อาศัยพื้นที่ตอนในมากขึ้น ได้แก่ ทุ่งเค็ด (1941-1954) บางส่วนอยู่ติดป่าพิธีกรรมของมอแกลน วิถีชีวิตของมอแกลนเป็นแบบผสมผสานระหว่างการเก็บของป่าล่าสัตว์ ทั้งสัตว์บกและสัตว์ทะเลน้ำตื้น (amphibious hunting-gathering) และการ ‘เบาะนา เบาะกอมะ’ หรือนาดำข้าวไร่ ทำสวนภายในพื้นที่ชุ่มน้ำที่เรียกว่า ‘นาหน่าย้ด’ (บ้านนา) ซึ่งเป็นร่องน้ำจืดธรรมชาติเพื่อการทำข้าวนา

ชาวมอแกลนมักปลูกบ้านอยู่บริเวณริมชายฝั่งหรือตามแนวคดเคี้ยวของคลองริมป่าชายเลน พื้นที่หลักที่มีชาวมอแกลนอยู่อาศัย ได้แก่ ท่องขี้ทราย (1954-1964) นายาว (1964-ปัจจุบัน) และท่องทุ (1964-ปัจจุบัน) โดยเฉพาะในเขตท่องทุที่มีการกระจุกตัวของประชากรอยู่มาก จนช่วงธุรกิจเหมืองแร่ดีบุกรุ่งเรืองประกอบกับบังคับใช้กฎหมายกรรมสิทธิ์ที่ดินตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ชาวมอแกลนบางส่วนก็อพยพไปอาศัยอยู่บริเวณบนไร่ (1954-ปัจจุบัน) ชุมชนบนเนินเขาที่มีถนนเพชรเกษมตัดผ่าน

ชาวมอแกลนจะสร้างบ้านจากวัสดุหาง่ายภายในท้องถิ่น ตัวบ้านยกใต้ถุน มีบันไดพาดขึ้นบ้านเพื่อป้องกันสัตว์ร้าย ขณะเดียวกันเพื่อป้องกันความอับชื้นที่อาจเกิดขึ้นจากพื้นผิวดินในช่วงหน้าฝน ลักษณะการจัดวางบ้านหรือผังภายในชุมชนมีความกระจัดกระจาย อาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มบ้านตามระบบเครือญาติ อาณาบริเวณบ้านของชาวมอแกลนแต่เดิมมีความกว้างขวางเพราะใช้สำหรับการจัดวางอุปกรณ์ประมง อุปกรณ์เกษตร และใช้สำหรับการเลี้ยงหมูขี้พร้าระบบเปิด จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2004 ความเสียหายที่เกิดขึ้นรวมถึงผลกระทบระยะยาวเกี่ยวกับกรณีพิพาทเรื่องที่ดินส่งผลกระทบต่อรูปแบบสถาปัตยกรรม การจัดวางผังเมืองและชุมชน รวมถึงการกำหนดอาณาเขตบ้านเรือนของชาวมอแกลนเปลี่ยนแปลงไป

สำหรับแหล่งทรัพยากรสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชนนั้นมีพื้นที่สำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ พื้นที่หัวกรังนุ้ย หรือที่ชาวมอแกลนเรียกว่า ‘หัวกรัง’ หรือหัวปะการัง ตั้งอยู่ในบริเวณหาดทับตะวัน หาดปะการังทอดยาวไปจนถึงหาดบางสัก หากน้ำลดจะปรากฏเป็นหาดทรายสลับกับปะการังเป็นทางยาวหลายกิโลเมตร บางส่วนมีลักษณะเป็นบึงน้ำเค็มแบบลากูน (Lagoon) แอ่งน้ำตื้นสลับกันหาดทรายที่เต็มไปด้วยปะการัง ชาวมอแกลนจะนิยมเดินหาปลาขนาดเล็ก กุ้ง หอย ปู และดาหวาก (หมึกสายโวยวาย) การแทงดาหวากทำกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ทั้งเพื่อกินเองและทำขาย ตั้งแต่กิโลกรัมละ 3-5 บาท จนกระทั่งราคากิโลกรัมละ 200-350 บาทในปัจจุบัน (นฤมล อรุโณทัย และคณะ (บรรณาธิการ), อ้างถึงแล้ว: 32-37)

ความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่แห่งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่ออุตสาหกรรมแร่ดีบุกเข้ามา เนื่องจากมีการใช้เรือขุดแร่ทำให้สภาพหน้าดินบริเวณหัวกรังทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับในช่วงเวลาถัดมามีการสร้างฟาร์มเพาะลูกกุ้งและการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียปล่อยทิ้งลงหัวกรัง ยังรวมถึงผลกระทบระยะยาวของการกัดเซาะชายฝั่งจากน้ำทะเลและความเสียหายจากภัยพิบัติสึนามิเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2004 ส่งผลให้สภาพแวดล้อมของหัวกรังเสื่อมโทรมมากขึ้น อรวรรณ หาญทะเล และลุงนิคม ธงชัย ร่วมกับเล่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับหัวกรังว่า

"ลุงไม่รู้เหมือนกันว่าวัดยังไง แต่ทุกอย่างมันดูกับตาก็รู้เรื่อง อย่างเมื่อก่อนหัวกรังเป็นหาดปะการังขนาดใหญ่เลย เดินไปตรงไหนก็มีอะไรให้เก็บไปกิน แทบไม่ต้องงมหา ขุมเขียวก็เหมือนกัน หอยกับปูแทบไม่ต้องหา ลงไปก็เจอ แต่พอช่วงหลังมามันเปลี่ยนไป ที่เห็นชัดเจนคือปลาตัวเล็กที่ว่ายน้ำกันเป็นฝูงที่ผิวน้ำลดลง ตามวัฏจักรของสัตว์เลยสัตว์ใหญ่ก็ลดลงไปด้วย คนเริ่มหากินกันเยอะขึ้น อ๋อ ถ้าวัดก็อาจจะดูจากสิ่งที่เก็บมาได้แต่ละวัน เมื่อก่อนเวลาออกไปหาหอยปูปลา ได้วันละ 5 โล(กิโลกรัม) หรือมากกว่านั้นนิดหน่อย แต่ปัจจุบันได้ไม่เกินวันละ 2 โล บางวันไม่ได้อะไรเลยก็มี” (อรวรรณ หาญทะเล และนิคม ธงชัย, สัมภาษณ์ 23 กรกฎาคม 2565 ใน นิฌามิล หะยีซะ, 2565)

อรวรรณขยายความเพิ่มเติมว่า

“นอกจากโครงสร้างคอนกรีตของรั้วที่สร้างขึ้นมาใหม่จะเปลี่ยนทิศของคลื่นแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องที่เขาล้างบ่อแล้วทิ้งน้ำล้างบ่อปนสารเคมีลงทะเล เดิมหาดทับตะวันหรือตรงหัวกรังก็มีการกัดเซาะเยอะอยู่แล้ว แต่พอมีการสร้างบ่อบำบัดของนายทุน มันยิ่งทำให้พื้นที่รวนมากขึ้น พอทิศคลื่นมันเปลี่ยน การกัดเซาะก็เปลี่ยนไป แต่มีแนวโน้มว่าจะแรงขึ้น แล้วยิ่งมีการปล่อยน้ำเสีย น้ำล้างบ่อลงทะเลโดยตรงอีก เราพยายามเรียกร้องกับหน่วยงานให้เขาเข้ามาช่วยจัดการ ช่วยประสานกับกลุ่มทุน จนเขายอมจัดการระบบบำบัดน้ำใหม่” (อรวรรณ หาญทะเล, สัมภาษณ์ 27 มกราคม 2565, 17 มิถุนายน 2565 ใน นิฌามิล หะยีซะ, 2565)

ลุงนิคมเสริมตบท้ายว่า

“มันไม่ใช่น้ำเสียธรรมดานะ มันคือน้ำปนสารเคมี เวลาลงไปในทะเลมันก็จะไปทำลายพวกหญ้าทะเลมันก็จะตาย พอแหล่งอาหารปลาหายไป ปลามันก็อพยพไปอยู่ที่อื่น” (นิคม ธงชัย, สัมภาษณ์ 23 กรกฎาคม 2565 ใน นิฌามิล หะยีซะ, 2565)

ระบบนิเวศอีกแห่งที่ได้รับผลกระทบในลักษณะใกล้เคียงกัน คือ ปาดังก่อมะเฒ่านึ่งหรือขุมเขียว ขุมน้ำลึกจากการขุดแร่น้ำใสจนกลายเป็นสีเขียว ลักษณะคล้ายทะเลสาบ (Lagoon) ประกอบกับขุมน้ำคดเคี้ยวกึ่งป่าชายเลน รอยต่อระหว่างปากแม่น้ำทางออกสู่ทะเล เดิมขุมเขียวเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นที่หากินของชาวมอแกลนมาตั้งแต่อดีตรวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับจอดเรือหลบลมและพายุในช่วงฤดูมรสุม ในบริเวณนี้มีป่าจากและป่าโกงกางลัดเลี้ยวตามคลอง เป็นสถานที่หาสัตว์ทะเลและพืชเพื่อการดำรงชีพของมอแกลน ได้แก่ เอี๊ยกกลาง (หอยแครง) เอี๊ยกแหม่มาย (หอยลาย) เอี๊ยกหอยลู (หอยโหล) หอยขาว หอยโข่ง หอยรู หอยติบ หอยหวาน หอยคราง หอยชักตีน กะต๊ามแก่ตำ (ปูดำ) กะต๊ามบ่าเตย (ปูหิน) บ่าต๊าง (เพรียงไชตามขอนไม้ในป่าโกงกาง) รวมถึงปลิงควาย (แลต๊ากกะบาว) และปลิงเข็ม (แลต๊ากด่าลุ่ม) เพื่อนำไปทำยา และผักหวานเล ผักเบี้ย ใบจาก เตย บู่ฮู้ด (เสม็ดชุน) ที่มอแกลนนำไม้มาใช้ประโยชน์ นำผลมากิน นอกจากนี้สตรีมอแกลนจะเก็บกกมาสานเสื่อและกระปุก และนำสะแขะพรุ (เตยพรุ) สะแขะกะโดง (เตยกะโดง) สะแขะหลังคาย (เตยหลังคาย) มาตัดและกรีดเป็นเส้นตอกแช่น้ำตากแดด แล้วนำมาสานเสื่อหรือกระชอบใส่ของ นายพันธ์ หาญทะเล ชาวประมงพื้นบ้านเล่าว่า

“ตรงนี้เมื่อก่อนชาวบ้านทำมาหากินเยอะ หาปู หาปลา หาได้เยอะเลย ไม่มีการไปซื้อกิน หาแบบหาเช้ากินค่ำ เมื่อก่อนขุมนี้จะไม่เปิดแบบนี้ เป็นขุมเหมืองใหญ่ เป็นเหมืองเก่า เมื่อก่อนเขาให้ชาวบ้านเข้ามาหากินได้” (พันธ์ หาญทะเล, สัมภาษณ์ ใน วรัญญา จันทราทิพย์, 2013)

ความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เกิดขึ้นในช่วงหลังเหตุการณ์สึนามิฯ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกชนเข้ามาปักปันเขตในพื้นที่ส่วนใหญ่ของขุมเขียว ทำให้ชาวมอแกลนไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ได้ เจ้าของพื้นที่ได้สร้างแนวไม้ไผ่กั้นแบ่งพื้นที่ระหว่างพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่เอกชน บางพื้นที่มีการนำท่อคอนกรีตขวางทางเข้า เริ่มมีการจัดเวรเฝ้ายามป้องกันการลักลอบเข้าใช้ทรัพยากรในพื้นที่ ป้ากล้วยสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับขุมเขียวว่า

“ฉันเข้าไปวางอวนในขุมเขียว มันมายึดข้าวห่อฉัน เอาหมากพลูของฉันไปหมด แล้วไล่ฉันอย่างกับหมูกับหมา ฉันว่าจะไม่ถอย แต่มันปล่อยหมาออกมาไล่กัด ฉันเลยต้องหนี... เราเคยจับปลา หากินกันมาแต่ปู่ย่า ถึงหน้ามรสุมก็เอาเรือเข้ามาจอดในขุมเขียว พอคลื่นลมสงบก็ขับเรือออกไปหาปลาในทะเล แล้วทำไมวันนี้ถึงมีคนมาขับไล่เรา” (กล้วย หาญทะเล, สัมภาษณ์ ใน ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล, 2016)

ขณะเดียวกัน นายพันธ์ในฐานะชาวประมงที่ได้รับผลกระทบเล่าในอีกมุมหนึ่งว่า

“เมื่อก่อนเขาให้ชาวบ้านเข้ามาหากินได้ แต่เมื่อเจอสึนามิ เขาไม่ให้เข้ามาหากิน และไม่ให้เข้ามาจอดเรือ ตอนแรกก็ไม่รู้เรื่องยังหากินสบาย พอหลังสึนามิ พวกผมได้เรือบริจาคมา 30 กว่าลำ พอเอาเรือมา เขาก็บอกว่าเป็นที่ของเขา เราเลยบอกว่าต้องเอาเอกสารมาดู เมื่อก่อนเป็นขุมเขียว พวกเราเข้ามาได้ตลอด แต่ตอนที่เอาเรือมาแล้ว ทำไมนายทุนไม่ให้เข้า” (พันธ์ หาญทะเล, สัมภาษณ์ ใน วรัญญา จันทราทิพย์, 2013)

อรวรรณ หาญทะเล และลุงนิคม ธงชัยได้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในขุมเขียวว่า

"มันไม่ใช่แค่เราเข้าไปหาไม่ได้นะ แต่ระบบนิเวศของพื้นที่ก็เปลี่ยน มีสัตว์หลายอย่างมากที่เดี๋ยวนี้มันลดลง บางอย่างแทบหาไม่ได้เลย ไม่รู้สาเหตุเหมือนกัน หอยบางอย่างนี่เมื่อก่อนแทบไม่ต้องตั้งใจหา เดินไปทางไหนก็มีให้เก็บเต็มไปหมด แต่ตอนนี้กว่าจะหาพอกินได้แต่ละวันนี่ ใช้เวลาทั้งวัน” (อรวรรณ หาญทะเล และนิคม ธงชัย, สัมภาษณ์ 23 กรกฎาคม 2565 ใน นิฌามิล หะยีซะ, 2565)

สุดท้ายคือพื้นที่ทางศาสนาและความเชื่อ โดยพื้นฐานชาวมอแกลนจะนับถือบรรพบุรุษเป็นหลัก ความเชื่อเหล่านี้กลายเป็นแก่นหลักของการสร้างความเป็นชุมชน รวมถึงการออกแบบบ้าน สถาปัตยกรรม ตลอดจนประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ภายในชุมชน พื้นที่ทางความเชื่อของชาวมอแกลนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พื้นที่สำหรับคนเป็น ได้แก่ ศาลพ่อตาสามพัน ป่าศักดิ์สิทธิ์ ธงสามสี ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพื้นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อบรรพบุรุษของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ และเปลว ‘อะบ้น’ ป่าช้าคลองหัก สุสานของชาวมอแกลน

พื้นที่ทางศาสนาและความเชื่อสำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ในชุมชนบ้านบางสัก เริ่มต้นด้วยศาลพ่อตาสามพัน ศาลาไม้ในลานต้นสนบริเวณริมชายหาดบางสัก บริเวณใกล้เคียงมีการตั้งเสาไม้ไผ่สูงยอดรูปนกและประดับธงผ้าขาวยาวติดกับป่าพิธีกรรม คำว่า ‘พ่อตา’ เป็นคำภาษาใต้ถิ่นที่ใช้เรียกวิญญาณบรรพบุรุษที่ศักดิ์สิทธิ์ สะท้อนความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษของชาวมอแกลนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ศาลแห่งนี้เป็นหลักฐานการอพยพย้ายถิ่นของชาวมอแกลนอีกด้วย ครั้งที่ชาวมอแกลนอพยพมาจากฝั่งตะวันออก (นฤมล อรุโณทัย และคณะ (บรรณาธิการ), อ้างถึงแล้ว: 26-28) อรวรรณเล่าเพิ่มเติมว่า

"ศาลพ่อตาสามพันดูเหมือนจะมีจุดเด่นอยู่ที่บริเวณศาล แต่ที่จริงมันมีอยู่สองส่วน ส่วนที่ทำพิธีกรรมและส่วนที่เตรียมของเซ่นไหว้ในพิธีกรรมอันนั้นเขาเรียกว่า ‘ตะโป๊ะ’ อยู่ในป่า เราไปทำในป่า มันเหมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ที่ทำมาเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว” (อรวรรณ หาญทะเล, สัมภาษณ์ 27 มกราคม 2565 ใน นิฌามิล หะยีซะ, 2565)

แม้จะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวมอแกลน แต่ก็ทับซ้อนกับพื้นที่การท่องเที่ยวในชุมชน อรวรรณสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับศาลพ่อตาสามพันว่า

“พื้นที่ตรงนี้มันไม่มีป้ายบอกว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ คนเดินผ่านไปผ่านมาก็คิดว่าเป็นศาลาไม้ธรรมดา มาหลบหลู่มาทำไม่ดีในพื้นที่ทางความเชื่อของเรา เราเคยทำรั้วไม้กั้นแบบง่าย ๆ ไม่กี่วันก็โดนรื้อออก ถ้ามีป้ายมาบอกว่าตรงนี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็คงจะดี” (อรวรรณ หาญทะเล, สัมภาษณ์ 27 มกราคม 2565 ใน นิฌามิล หะยีซะ, 2565)

พื้นที่อีกแห่งที่สะท้อนความเชื่อของชาวมอแกลนคือ เสาธงสามสี ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าบ้านของป้าดำในเขตซอยตาสุด ตาสุดเป็นพ่อหมอที่เก่ง มีชื่อเสียง และได้รับการยอมรับจากชาวมอแกลนมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีลูกหลานที่สืบตระกูลมาช่วยดูแลรักษาเสานี้ บริเวณฐานเสามีแคร่ขนาดเล็กเตี้ยที่ชาวมอแกลนเชื่อว่าเป็นสถานที่สิงสถิตของ ‘พ่อตา’ ธงสามสีเป็นสัญลักษณ์ของพ่อตาผู้ยิ่งใหญ่ คือ พ่อตาสามพัน พ่อตาคูห้อ และพ่อตาหมอ (นฤมล อรุโณทัย และคณะ (บรรณาธิการ), อ้างถึงแล้ว: 28-30)

สำหรับพื้นที่หลังความตายคือ เปลวอ่ะบ้นหรือป่าช้าคลองหัก เนื้อที่ 8 ไร่ 1 งาน 41 เศษ 3 ส่วน 10 ตารางวา ตั้งอยู่บริเวณบริเวณริมถนนเลียบหาดปากวีปขนาดกว้างพอรถยนต์วิ่งสวนกัน ความเชื่อของชาวมอแกลนเกี่ยวกับความตายก็จะทำการฝังในป่าช้าที่อยู่นอกพื้นที่อยู่อาศัย วิทวัส เทพสง บอกเล่าความทรงจำของผู้เฒ่ามอแกลนเกี่ยวกับป่าช้าคลองหักในอดีตว่า

“[เดิม]มีต้นไม้เยอะ มีเสือ มีควายป่า เพราะเดิมพื้นที่สุสานจะมีลักษณะเป็นป่า เราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ มีสมุนไพร มีต้นมะพร้าว ชาวบ้านก็มาเอาไปกินไปใช้ประโยชน์ได้” (วิทวัส เทพสง, สัมภาษณ์ ใน ชุติมา ซุ้นเจริญ, 2562)

กลุ่มเยาวชนมอแกลนทับตะวันร่วมกับนักวิชาการเข้าพื้นที่เก็บข้อมูลสัมภาษณ์ผู้เฒ่ามอแกลนในช่วงปี 2013 ใจความว่า

“เปลวอ่ะบ้น’ (อ่ะบ้น คือชาวมอแกลนที่ฝังคนแรก ) ใช้ฝังชาวมอแกลนมาหลายชั่วอายุคน สุสานแห่งนี้มีมาก่อนเฒ่าปูหลายชั่วคน ซึ่งในยุคก่อนพื้นที่แถบนี้เป็นป่าทึบ ต่อมามีการให้สัมปทานทำเหมืองแร่ 2 เหมือง แต่ไม่ได้ขุดเจาะในพื้นที่สุสาน เพราะเหมืองตั้งเพื่อบังหน้าการเอาแร่ในทะเลมาใช้ มากกว่าการขุดเจาะหาแร่บนบกตามใบสัมปทาน” (“ชาวเลมอแกลนร่ำไห้ เอกชนรุกพื้นที่สุสานบรรพบุรุษ ซ้ำกรมที่ดินยังเมินแก้ปัญหา,” 14 ตุลาคม 2561)

ชุมชนบางสักประกอบด้วยคนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ความเปลี่ยนแปลงของประชากรและการตั้งถิ่นฐานเริ่มต้นขึ้นในช่วงธุรกิจเหมืองแร่ดีบุกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในตะกั่วป่า ทำให้มีประชากรหลากหลายกลุ่มเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณของชุมชน กระนั้น ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนคือ กลุ่มชาติพันธุ์มอแกลน (Moklen) สายที่เชื่อว่าสืบเชื่อสายบรรพบุรษจาก 'บาบส้ามพัน (พ่อตาสามพัน) คำบอกเล่าของผู้เฒ่ามอแกลนคือ ในอดีตมอแกลนอาศัยอยู่กันเป็นชุมชนร่วมกันหลายเครือญาติ ีการสืบทอดผู้นำตามสายตระกูล คำเรียกตัวเองว่า หม่อแกล๊น’ มีที่มาจากชื่อผู้นำและชื่อของเมืองในอดีต

คำบอกเล่าของผู้เฒ่ามอแกลนคือ ในอดีตมอแกลนอาศัยอยู่กันเป็นชุมชนร่วมกันหลายเครือญาติ ีการสืบทอดผู้นำตามสายตระกูล คำเรียกตัวเองว่า หม่อแกล๊น’ มีที่มาจากชื่อผู้นำและชื่อของเมืองในอดีต ทั้งนี้การที่มอแกลนมีประวัติศาสตร์การอพยพย้ายถิ่นและการตั้งถิ่นฐานบริเวณชุมชนใกล้ชายฝั่งเป็นหลัก การสืบสายเลือดข้ามกลุ่มชาติพันธุ์จึงเกิดขึ้น Metawee Srikummool et al. (2022) ศึกษารหัสพันธุกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์แถบชายฝั่งทะเลอันดามันในภาคใต้ของไทย พบว่า ชาวมอแกลนมีอัตราการสืบสายเลือดข้ามกลุ่มชาติพันธุ์มากที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมของชาวมอแกลนกับคนกลุ่มต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน

ในเอกสารการจัดเก็บข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อประกอบการจัดทำพื้นที่คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในจังหวัดพังงา จัดทำโดยเครือข่ายชาวเลอันดามัน จังหวัดพังงา ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพังงา และสถาบันพัฒนาการเรียนรู้พังงาแห่งความสุข (2565: 97-98) สำรวจจำนวนประชากรในชุมชนบ้านบางสักในแต่ละพื้นที่ พบว่า พื้นที่บริเวณบนไร่ จำนวนประชากรชาย76 คน หญิง 50 คน รวม 55 หลังคาเรือนพื้นที่บริเวณซอยตาสุด จำนวนประชากรชาย 35 คน หญิง 31 คน รวม 32 หลังคาเรือนพื้นที่บริเวณในท่อง จำนวนประชากรชาย 46 คน หญิง 49 คน รวม 40 หลังคาเรือน และพื้นที่บริเวณทุ่งทุ จำนวนประชากรชาย 61 คน หญิง 57 คน รวม 29 หลังคาเรือน

กระนั้น ข้อมูลในเอกสารของ นฤมล อรุโณทัย, อุษา โคตรศรีเพชรกิ่งแก้ว บัวเพชร และพลาเดช ณ ป้อมเพชร (บรรณาธิการ) (2558) ที่สำรวจประชากรชาวมอแกลนบ้านบางสัก-ทับตะวันในช่วงปี 2013 ปรากฏว่า พื้นที่บริเวณบนไร่ จำนวนประชากรชาย 62 คน หญิง 66 คน รวม 43 หลังคาเรือน และพื้นที่บริเวณทุ่งทุ จำนวนประชากรชาย 124 คน หญิง 123 คน รวม 237 หลังคาเรือน

ในบริบทความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ มอแกลนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างชาติผ่านเทคโนโลยีการจัดการประชากรผ่านทะเบียนราษฎรและนามสกุล ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456 ส่งผลโดยตรงต่อมโนทัศน์เรื่องตัวตนและความสัมพันธ์ภายในชุมชน กระนั้น นามสกุลเริ่มมีบทบาทต่อชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมช่วงที่แนวคิดเรื่องกรรมสิทธิ์หรือการถือครองกรรมสิทธิ์เข้ามามีบทบาทในชุมชน นามสกุลของชาวมอแกลน ได้แก่ าญทะเล กล้าทะเล (นามสกุลพระราชทาน) นาวารักษ์ สมุทรวารี ณ ทะเล ปราบสมุทร วารี ธงชัย ชัยวงศ์ แดงเปียก ตันเก ตุหรัน เป็นต้น โดยนามสกุลที่พบได้มากที่สุด คือ าญทะเล และกล้าทะเล 

มอแกลน

การรวมกลุ่มของสมาชิกในชุมชนบางสักเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างก่อนและหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2004 โดยเฉพาะบทบาทของอรวรรณ หาญทะเล เยาวชนมอแกลนที่ริเริ่มการจัดตั้งกลุ่มพัฒนาชุมชนที่เน้นบทบาทของเยาวชน เดิมเธอเป็นนักข่าวพลเมืองและผู้ติดตามของทีมงานองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่ง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สึนามิฯ ทำให้เธอเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชุมชน รวมถึงผลกระทบที่ญาติพี่น้องเธอได้รับจากภัยธรรมชาติและคลื่นระลอกที่สองจากน้ำมือมนุษย์

ในช่วงเริ่มต้นมีการรวมกลุ่มของแกนนำเยาวชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ สตูล ระนอง ตรัง โดยมีการจัดค่ายรวมกลุ่มที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และริเริ่มจัดตั้งกลุ่มเครือข่ายเยาวชนรักและฟื้นฟูชายฝั่งอันดามัน (พลาเดช ณ ป้อมเพชร และปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว, กันยายน 2552) และในภายหลังมีการจัดตั้งกลุ่มเยาวชนมอแกลนบ้านทับตะวันขึ้น เพื่อเน้นการทำงานระดับภายในชุมชน ในช่วงแรกกลุ่มเยาวชนจะเน้นการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายโดยทำงานเชิงสนับสนุนและทำงานด้านจัดเก็บข้อมูลเป็นหลัก และในภายหลังเริ่มเข้ามามีบทบาทในงานสายพัฒนาและกิจกรรมชุมชน

จนกระทั่งมีการเสนอแผนฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล 2 มิถุนายน 2553 (มติ ครม. 53) แผนงานฟื้นฟูวิถีชีวิตและพัฒนาชุมชนเริ่มเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น ในแต่ละกิจกรรมจะมีการจัดตั้งคณะทำงานหรือการรวมกลุ่มเฉพาะ โดยมีกลุ่มเยาวชนฯ เป็นแกนหลักในการทำงาน กลุ่มต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ได้แก่ เครือข่ายชาวเลอันดามัน เป็นการขยายผลจากกลุ่มเยาวชนฯ โดยมุ่งทำงานในเชิงภาคีเครือข่ายชาวเลระดับภูมิภาค กลุ่มแปรรูปอาหารทะเลตำบลบางม่วง (กลุ่มสตรีแปรรูป) ทำงานด้านวิสาหกิจชุมชนด้านการแปรรูปอาหารทะเลในชื่อ ‘สถานีทะเลชุมชน และวางจำหน่ายที่ร้าน เฒ่าทะเล’ รวมถึงกลุ่มเฉพาะกิจอีกหลาย ๆ กลุ่ม เช่น กลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มร้องเพลงตันหยงและรำรองเง็ง กลุ่มมอแกลนพาเที่ยว เป็นต้น

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับโครงการนำร่องอันดามันและหน่วยวิจัยชนพื้นเมืองและทางเลือกการพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายชาวเลอันดามัน ได้จัดเก็บข้อมูลกิจกรรมทางวัฒนธรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชาวมอแกลนบ้านบางสัก ดังนี้

กิจกรรมทางเศรษฐกิจ

กิจกรรมม.ค.ก.พ.มี.ค.เม.ย.พ.ค.มิ.ย.ก.ค.ส.ค.ก.ย.ต.ค.พ.ย.ธ.ค.หมายเหตุ
หากาหยู (เม็ดมะม่วงหิมพานต์)ปัจจุบันหายาเหมือนเพชรเหมือนทอง
หาหอยหอยติบ (หอยนางรมตัวเล็ก) หอยตาพริก หอยโนราห์
ออกทะเล
ขุดหาโวยวาย
ร่อนแร่
วัฒนธรรมปลูกข้าวไร่ปัจจุบันเลิกปลูกแล้ว ในอดีตมีการทำขนมเลี้ยงคนที่มาทำนาประมาณ 50-70 คนมีพิธีไหว้แม่โพสพ แต่เลิกแล้ว
ปลูกข้าวเบา
ปลูกข้าวแกน
ดำนา
เก็บข้าวไร่
ขุดหามันทราย
รับจ้างโรงแรม, ฟาร์มลูกกุ้งซีพี

กิจกรรมทางศาสนาและความเชื่อ

กิจกรรมม.ค.ก.พ.มี.ค.เม.ย.พ.ค.มิ.ย.ก.ค.ส.ค.

ก.ย.

ต.ค.พ.ย.ธ.ค.หมายเหตุ
พิธีอิดูน เอาดะ (นอนหาด)
พิธีเซ่นไหว้พ่อตาสามพัน ธงสามสีทำพิธีที่ศาลพ่อตาสามพันก่อนแล้วมาไหว้ที่บ้าน ใช้ไก่ เต่านา ธูป เทียน ผลไม้ อาหาร ขนมขี้กวาง ขนมโค ข้าวเหนียวสามสี (ดำ เหลือง ขาว) ทำที่บ้านของยายสวน แป๊ะอิม
พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ (ซอยตาสุด)
พิธีเวสสุวรรณทำหลังพิธีไหว้พ่อตาสามพัน ต่อชะตาชีวิต
ประเพณีร้องเพลงบอกเดือนห้า
พิธีหาบคอน (ไหว้เปรต) สะเดาะเคราะห์ในห่อใส่เสื้อผ้า เล็บ ผม (ไม่ใช้เหล้า เต่า ไก่) ไปทำพิธีที่ศาลพ่อตาสามพัน และหน้าสุสานปากวีป
พิธีแต่งเปลวหลุมศพบรรพบุรุษใช้ขนมโค ขนมขี้กวาง ข้าวเหนียวสามสี
พิธีเซ่นไหว้หัวเรือ
พิธีเซ่นไหว้เจ้าที่
พิธีฉลองศาลบรรพชนพ่อตาสามพัน
พิธีกินบุญเดือนสิบ

ที่มา : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557 (เอกสารอัดสำเนา); เครือข่ายชาวเลอันดามัน จังหวัดพังงา และคณะ, 2565 (เอกสารอัดสำเนา); นฤมล อรุโณทัย และคณะ (บรรณาธิการ), 2558.

1. อรวรรณ หาญทะเล  แกนนำกลุ่มเยาวชนมอแกลนบ้านทับตะวัน, แกนนำกลุ่มแปรรูปสตรีมอแกลน, แกนนำเครือข่ายชาวเลอันดามัน

2. วิทวัส เทพสง  แกนนำเครือข่ายชาวเลอันดามัน, วิทยากรหลักสูตรมอแกลนทับตะวัน

3. ลาภ หาญทะเล  ครูภูมิปัญญาเรื่องสมุนไพร

ประเภททุนรูปธรรม
ทุนกายภาพ
  • หัวกรังนุ้ย หรือ แหลมปะการัง รวมถึงสิ่งมีชีวิตที่พบเจอในพื้นที่ เช่น ปลาขนาดเล็ก กุ้ง หอย ปู และดาหวาก (หมึกสายโวยวาย)
  • ปาดังก่อมะเฒ่านึ่ง หรือ ขุมเขียว รวมถึงสิ่งมีชีวิตที่พบเจอในพื้นที่ เช่น เอี๊ยกกลาง (หอยแครง) เอี๊ยกแหม่มาย (หอยลาย) เอี๊ยกหอยลู (หอยโหล) หอยขาว หอยโข่ง หอยรู หอยติบ หอยหวาน หอยคราง หอยชักตีน กะต๊ามแก่ตำ (ปูดำ) กะต๊ามบ่าเตย (ปูหิน) บ่าต๊าง (เพรียงไชตามขอนไม้ในป่าโกงกาง) ปลิงควาย (แลต๊ากกะบาว) ปลิงเข็ม (แลต๊ากด่าลุ่ม) ผักหวานเล ผักเบี้ย ใบจาก เตย บู่ฮู้ด (เสม็ดชุน) กก สะแขะพรุ (เตยพรุ) สะแขะกะโดง (เตยกะโดง) สะแขะหลังคาย (เตยหลังคาย)
  • หาดทราย และแร่ดีบุก
  • มอแกลนบีช
  • หาดบางสัก
  • ศูนย์การเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนมอแกลนทับตะวัน
ทุนเครือญาติ
  • ลูกหลานพ่อตาสามพัน
  • สายเลือดนามสกุลชาวเล เช่น หาญทะเล กล้าทะเล (นามสกุลพระราชทาน) นาวารักษ์ สมุทรวารี ณ ทะเล ปราบสมุทร วารี ธงชัย ชัยวงศ์ แดงเปียก ตันเก ตุหรัน เป็นต้น
ทุนความรู้
  • การแทงโวยวาย
  • การร่อนแร่
  • การทำอาหารทะเลแปรรูป
  • สมุนไพรรักษาโรค
  • การรำรองเง็งและร้องเพลงตันหยง
ทุนเศรษฐกิจ
  • สถานีทะเลชุมชน
  • ร้านเฒ่าทะเล
  • มอแกลนพาเที่ยว
  • งบประมาณกลางบริหารโดยเครือข่ายชาวเลอันดามัน
ทุนองค์กร
  • เครือข่ายชาวเลอันดามัน
  • กลุ่มเยาวชนมอแกลนบ้านทับตะวัน
  • กลุ่มแปรรูปอาหารทะเลตําบลบางม่วง (กลุ่มสตรีแปรรูป)
  • กลุ่มประมงพื้นบ้าน
ทุนการเมือง
  • แกนนำเยาวชนมอแกลนบ้านทับตะวัน
  • แกนนำเครือข่ายชาวเลอันดามัน
  • บทบาทของแกนนำชุมชนในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูวิถีชีวิต
  • บทบาทของแกนนำชุมชนในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน
  • พื้นที่นำร่องพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
  • มติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล 2 มิถุนายน 2553 (มติ ครม. 53)
  • ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

ทุนศาสนา
  • ความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษ (พ่อตาสามพัน, ธงสามสี)
  • ความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
  • ความเชื่อเรื่องสารทเดือนสิบ (ชิงเปรต)
ทุนภาคีเครือข่าย     
  • โครงการนำร่องอันดามันและหน่วยวิจัยชนพื้นเมืองและทางเลือกการพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
  • สถาบันการเรียนรู้พังงาแห่งความสุข
  • มูลนิธิชุมชนไท
  • ชุมชนชาวเลในเครือข่ายชาวเลอันดามัน
  • กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-Move
  • สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (CIPT)

ชาวมอแกลนพูดภาษามอแกลน (Moklen) เป็นหลัก จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรนีเชียน (Austronesian languagesกลุ่มภาษามลาโย-โพลีนีเซียนตะวันตก (Western Malayo-Polynesian languages) โดยทั่วไปไม่มีตัวอักษรหรือภาษาเขียน แต่มีภาษาพูดเฉพาะกลุ่ม งานศึกษาของนักมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์พบว่า ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมีการผสมผสานระหว่างกลุ่มหรือตระกูลภาษา เช่น กลุ่มชาติพันธุ์มอแกนและมอแกลนในทะเลอันดามันยังได้รับอิทธิพลทางภาษาจากกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic languages) กลุ่มภาษาโปรโตมลาโย-โพลีนีเซียนตะวันตก (Proto-Western Malayo-Polynesian language) ตระกูลภาษาขร้า-ไท (Kra-Tai language) รวมถึงกลุ่มภาษาอาเจะห์-จาม (Aceh-Cham language) (Blench, 2021: 157-176)


กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรม
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บทสัมภาษณ์

  • กล้วย หาญทะเล, สัมภาษณ์ ใน ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล. (23 กันยายน 2016). คนแปลกหน้าของทะเลอันดามัน. สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม. https://greennews.agency/
  • เฒ่าหีต หาญทะเล, สัมภาษณ์ ใน ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง. (16 มิถุนายน 2556). เฒ่าหีตผู้กล้าแห่งทับตะวัน. โครงการบ้านมั่นคง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน). https://ref.codi.or.th/2015-08-03-14-52-58/.
  • ดัน กล้าทะเล, สัมภาษณ์ ใน ภาสกร จำลองราช. (1 พฤศจิกายน 2560). คนไทยที่ชื่อ มอแกลน’. สำนักข่าวชายขอบhttps://transbordernews.in.th/
  • นิคม ธงชัย, สัมภาษณ์ 23 กรกฎาคม 2565 ใน นิฌามิล หะยีซะ. (2565). เรียนรู้ อยู่รอด ไปต่อบทเรียนกระบวนการสร้างความยืดหยุ่นทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกลนบ้านบางสัก-ทับตะวัน ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่ เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
  • ป้านิด, สัมภาษณ์ 24 มิถุนายน 2557 ใน นฤมล อรุโณทัย, อุษา โคตรศรีเพชรกิ่งแก้ว บัวเพชร และพลาเดช ณ ป้อมเพชร (บรรณาธิการ)ประวัติศาสตร์และเส้นทางเรียนรู้วัฒนธรรมบ้านบางสัก ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา. รุงเทพฯศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
  • พันธ์ หาญทะเล, สัมภาษณ์ ใน วรัญญา จันทราทิพย์. (4 ธันวาคม 2013). วิกฤติชีวิตชาวเล ตอน2 นายทุนอ้างสิทธิ์เหนือขุมเขียว’ รุกไล่ที่คนมอแกลนทับตะวัน. สำนักข่าวชายขอบhttps://transbordernews.in.th/
  • เพียร หาญทะเล, สัมภาษณ์ 26 มิถุนายน 2557 ใน นฤมล อรุโณทัย, อุษา โคตรศรีเพชรกิ่งแก้ว บัวเพชร และพลาเดช ณ ป้อมเพชร (บรรณาธิการ)ประวัติศาสตร์และเส้นทางเรียนรู้วัฒนธรรมบ้านบางสัก ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา.รุงเทพฯศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
  • วิทวัส เทพสง, สัมภาษณ์ ใน ชุติมา ซุ้นเจริญ. (1 เมษายน 2562). ความเป็นธรรมหลังความตาย มอแกลน’ บนแผ่นดินสุดท้าย. กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/
  • อรวรรณ หาญทะเล, สัมภาษณ์ 27 มกราคม, 17 มิถุนายน, 23 กรกฎาคม 2565 ใน นิฌามิล หะยีซะ. (2565). เรียนรู้ อยู่รอด ไปต่อบทเรียนกระบวนการสร้างความยืดหยุ่นทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกลนบ้านบางสัก-ทับตะวัน ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่ เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

เอกสาร สิ่งพิมพ์ และสื่อสารสนเทศ

  • Blench, R. (2021). “The Linguistic Background to Southeast Asian Sea Nomadism.” In Bellina, B., Blench, R. & Galipaud, J. (Eds.). Sea Nomads of Southeast Asia: From the Past to the Present, 157-176. Singapore: National University of Singapore.

  • Ferrari, O.Hinshiranan, N., Utpuay, K. & Ivanoff, I. (2006). Turbulence on Ko Phra ThongBangkok: AMARIN Printing and Publishing Company Limited.
  • Grundy-Warr, C. & Rigg, J. (2016). “The Reconfiguration of Political, Economic and Cultural Landscapes in Post-Tsunami Thailand.” In Daly, P. & Feener, R. M. (Eds.). Rebuilding Asia Following Natural Disasters: Approaches to Reconstruction in the Asia-Pacific Region, 210-235. Cambridge, United Kingdom: Cambridge University Press.
  • Srikummool, M., Srithawong, S., Muisuk, K., Sangkhano, S., Suwannapoom, C., Kampuansai, J. & Kutanan, W. (2022). Forensic and Genetic Characterizations of Diverse Southern Thai Populations Based on 15 Autosomal STRs. Scientific Reports, 12, 655. https://doi.org/10.1038/
  • เครือข่ายชาวเลอันดามัน จังหวัดพังงาสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพังงา และสถาบันพัฒนาการเรียนรู้พังงาแห่งความสุขารจัดเก็บข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อประกอบการจัดทำพื้นที่คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในจังหวัดพังงาเอกสารอัดสำเนา.
  • ชาวเลมอแกลนร่ำไห้ เอกชนรุกพื้นที่สุสานบรรพบุรุษ ซ้ำกรมที่ดินยังเมินแก้ปัญหา. ข่าวสดออนไลน์. 14 ตุลาคม 2561. https://www.khaosod.co.th/
  • ชุติมา ซุ้นเจริญ. (1 เมษายน 2562). ความเป็นธรรมหลังความตาย มอแกลน’ บนแผ่นดินสุดท้าย. กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/
  • ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล. (23 กันยายน 2016). คนแปลกหน้าของทะเลอันดามัน. สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม. https://greennews.agency/
  • นันทาวดี ไทรแก้ว. (2550). พัฒนาการทางเศรษฐกิจจังหวัดพังงา พ.ศ.2474-2544. [วิทยานิพนธ์ปริญญมหาบัณฑิต, สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ]. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
  • นิฌามิล หะยีซะ. (2565). เรียนรู้ อยู่รอด ไปต่อบทเรียนกระบวนการสร้างความยืดหยุ่นทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกลนบ้านบางสัก-ทับตะวัน ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่ เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
  • นฤมล อรุโณทัย. (2549). ประชาสังคมและชุมชนเข้มแข็งในบริบทของกลุ่มชายขอบ: กรณีศึกษากลุ่มชาวเลในประเทศไทย: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์กรุงเทพฯสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
  • นฤมล อรุโณทัย. (2557). ทักษะวัฒนธรรมชาวเลร้อยเรื่องราวชาวเล มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย ผู้กล้าแห่งอันดามันกรุงเทพฯศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
  • นฤมล อรุโณทัย, อุษา โคตรศรีเพชรกิ่งแก้ว บัวเพชร และพลาเดช ณ ป้อมเพชร (บรรณาธิการ). (2558). ประวัติศาสตร์และเส้นทางเรียนรู้วัฒนธรรมบ้านบางสัก ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา. รุงเทพฯศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
  • พลาเดช ณ ป้อมเพชร และปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว. (กันยายน 2552). น้องหญิง...ฉันคือ 'ลูกเล' แห่งทับตะวัน. Go To Know. https://www.gotoknow.org/
  • ภาสกร จำลองราช. (1 พฤศจิกายน 2560). คนไทยที่ชื่อ มอแกลน’. สำนักข่าวชายขอบhttps://transbordernews.in.th/
  • มธุรดา ประสิทธิ์วงษ์. (2564). การตั้งถิ่นฐานของเมืองในจังหวัดพังงาตั้งแต่ พ.ศ. 2325-2475. [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตสาขาวิชาโบราณคดี ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร]. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  • ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง. (16 มิถุนายน 2556). เฒ่าหีตผู้กล้าแห่งทับตะวัน. โครงการบ้านมั่นคง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน). https://ref.codi.or.th/2015-08-03-14-52-58/.
  • วรัญญา จันทราทิพย์. (4 ธันวาคม 2013). วิกฤติชีวิตชาวเล ตอน 2 นายทุนอ้างสิทธิ์เหนือขุมเขียว’ รุกไล่ที่คนมอแกลนทับตะวัน. สำนักข่าวชายขอบ. https://transbordernews.in.th/
  • ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสรุปการประชุมปฏิบัติการจัดทำข้อมูลเพื่อสื่อสารความเข้าใจอันดีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล วันพุธที่ 25 - วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน 2557 ณ โรงแรม เดอะบริษา บีช รีสอร์ท เขาหลัก ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา. เอกสารอัดสำเนา.