ภูมิปัญญาการทำเหมืองฝาย ระบบชลประทานพื้นบ้าน การใช้ทรัพยากรน้ำที่มีในชุมชนอย่างคุ้มค่า รวมถึงนับถือถือครูบามหาป่าเจ้าเกสรปัญโญ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ภูมิปัญญาการทำเหมืองฝาย ระบบชลประทานพื้นบ้าน การใช้ทรัพยากรน้ำที่มีในชุมชนอย่างคุ้มค่า รวมถึงนับถือถือครูบามหาป่าเจ้าเกสรปัญโญ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนไหล่หินเป็นชุมชนที่เกิดจากการรวมตัวของผู้คน ซึ่งตั้งเป็นกลุ่มบ้านอยู่ฝั่งน้ำแม่ยาว มีหอผีเสื้อบ้านหรือผีเจ้าบ้าน ตั้งอยู่ตรงต้นขะจาวใหญ่ใกล้บริเวณกลางบ้าน เป็นสัญลักษณ์แสดงบริเวณแรกตั้งชุมชน ซึ่งบทบาทของผีเสื้อบ้าน คือ ดวงวิญญาณบรรพบุรุษผู้ร่วมก่อสร้างบ้านนั้น จะคอยคุ้มครองปกป้องลูกหลานให้มีความสุขความเจริญ พ้นจากอันตราย การตั้งถิ่นฐานของผู้คนในชุมชนไหล่หินตั้งอยู่ด้านตะวันออกของเทือกเขาผีปันน้ำ เป็นพื้นที่เนินเขาเตี้ย ๆ ลาดลงเป็นที่ราบระหว่างเนินเขา ลงจนถึงฝั่งแม่น้ำวัง ลักษณะภูมิประเทศแบบนี้มีผลต่อความแรงของน้ำ ซึ่งไหลจากพื้นที่สูงลงสู่พื้นที่ต่ำ ความแรงของน้ำจะลดลงเมื่อไหลผ่านบริเวณที่ราบ ซึ่งเหมาะสมกับการตั้งถิ่นฐาน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีการทำนา เพราะต้องอาศัยน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำนา ชุมชนไหล่หินจึงสร้างฝายกั้นน้ำขึ้นตามลำน้ำแม่ยาวระหว่างช่วงที่น้ำไหลผ่านบริเวณที่ราบ
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ส่วนภูมิศาสตร์ของการตั้งถิ่นฐานในบริเวณลุ่มน้ำแม่ยาว พบว่าบ้านที่ตั้งอยู่ตามสองฝั่งของลำน้ำแม่ยาว ได้แก่ บ้านเข้าซ้อน บ้านไหล่หิน บ้านมะกอกนาบัว ส่วนลักษณะที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน คือ เรือนแบบดั้งเดิมสร้างจากไผ่และมุงหลังคาด้วยหญ้าคา เมื่อมีฐานะมากขึ้นชาวบ้านจะปลูกเรือนยกพื้นสูง หลังคาทรงปั้นหยา เรือนหันหน้าไปทางทิศเหนือหรือทิศใต้ ภายในแบ่งพื้นที่ใช้สอย เช่น ร้านน้ำ ครัวไฟ ชานเกี้ยว ข่ม และห้องนอน บริเวณใต้ถุนเรือนใช้เก็บเครื่องมือการเกษตร เลี้ยงสัตว์ เป็นที่พักผ่อนตอนกลางวัน ปัจจุบันเรือนแบบดั้งเดิมของคนไหล่หินยังเหลือให้เห็นอยู่เพียง 2 – 3 หลัง ได้แก่เรือนของบ้านพ่อหลวงสุข จินาการ เรือนของสล่าทิพย์ และเรือนของบ้านแม่หลวงหอม เนื่องจากเรือนของคนไหล่หินแบบดั้งเดิมถูกรื้อสร้างใหม่จนเกือบหมด เพราะได้เงินจากการไปทำงานที่เมืองนอกมาปลูกสร้าง
ทรัพยากรทางธรรมชาติ
- ป่า เป็นพื้นที่หากินที่สำคัญของคนไหล่หินมาตั้งแต่ในอดีต เป็นทั้งแหล่งอาหารและเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้แก่ ฟืน ไม้สร้างบ้าน สมุนไพร ป่าที่ชาวบ้านไหล่หินไปได้แก่ ป่าฮวก ป่าแม่เถา ป่าแพะหัวต่ำ แพะไหล่หิน ห้วยเหีย ห้วยห้า ห้วยโป่ง ห้วยข่อย ป่าที่อยู่ใกล้บ้านไหล่มากที่สุดคือแพะไหล่หิน แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน บางแห่งเปลี่ยนเป็นสวน เช่น ดงปูม่อม และบางแห่งรัฐบาลได้ประกาศเป็นป่าสงวน ห้ามไม่ให้ชาวบ้านไปตัดไม้และล่าสัตว์ แต่อนุญาตให้เข้าเก็บผักเก็บเห็ด และเก็บไม้ได้
- น้ำแม่ยาว เป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของบ้านไหล่หินและหมู่บ้านใกล้เคียง เพราะเป็นเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวนาตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ลุ่มน้ำยาวเป็นลุ่มน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำวัง ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอเมืองลำปาง อำเภอห้างฉัตร และอำเภอเกาะคา ลักษณะของลุ่มน้ำแม่ยาววางตัวตามแนวเหนือใต้ สภาพภูมิประเทศตอนบนของลุ่มน้ำเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ตอนกลางเป็นเนินสลับที่ราบ ตอนล่างเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ไปถึงปลายลำน้ำ ที่แม่น้ำยาวบรรจบกับแม่น้ำวังที่ตำบลเกาะคา อำเภอเกาะคา น้ำแม่ยาวไหลผ่านทางทิศใต้ของชุมชนไหล่หิน คนบ้านไหล่หินและหมู่บ้านใกล้เคียงใช้แม่น้ำยาวในการทำนา เป็นแหล่งอาหาร และใช้ทรายที่อยู่ริมตลิ่งในการก่อสร้างบ้านเรือน
ประชากร
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากร บ้านไหล่หิน จำนวน 448 หลัง ประชากรรวมทั้งหมด 1,055 คน แบ่งเป็นประชากรชายได้ 507 คน แบ่งเป็นประชากรหญิงได้ 548 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2565)
ระบบเครือญาติ
เมื่อพิจารณาภูมิศาสตร์ของลุ่มน้ำแม่ยาวคือส่วนหนึ่งในลุ่มน้ำแม่วัง สันนิษฐานได้ว่าบรรพบุรุษของคนไหล่หินเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมการเพาะปลูกข้าวบนพื้นที่ราบ รู้จักวิธีการใช้น้ำจากแม่น้ำขึ้นมาใช้ในที่นา ด้วยระบบเหมืองฝาย ซึ่งเป็นระบบชลประทานพื้นบ้านที่พบได้ในบริเวณที่ตั้งชุมชนของกลุ่มคนไท พบวัฒนธรรมการปลูกข้าวแบบดั้งเดิม ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาระหว่างคนในชุมชน ระหว่างคนต่างชุมชน รวมถึงการพึ่งพาธรรมชาติ และสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยระบบความสัมพันธ์เดิมของชุมชนจะมีประเพณีพิธีกรรมเป็นเครื่องตอกย้ำคุณภาพของมิตรภาพนั้น รวมถึงความสัมพันธ์ในชุมชนกับการแลกเปลี่ยนผลผลิตระหว่างบ้าน
กลุ่มอาชีพ
- การทำนา ชาวนาบ้านไหล่หินจะทำนาปีละครั้งในฤดูฝน อาศัยน้ำฝนและน้ำจากเหมืองฝายที่ผันจากลำน้ำแม่ยาว น้ำห้วยแม่เรียงและห้วยแม่ฮวก ในเดือนมิถุนายนชาวนาจะเริ่มไถนา แบ่งพื้นที่เป็น ฮิ้ว และไฮ่ หลังจากนั้นจึงหาวันดีหว่าน เมื่อก่อนใช้ควายไถนา นา 10 ไร่ ใช้เวลาประมาณครึ่งเดือนจึงไถเสร็จ แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนมาใช้รถไถ ใช้เวลา 1 – 2 วันก็เสร็จ คนไหล่หินมีระบบแรงงานในการทำงานต่าง ๆ แบบ “เอามื้อ” เช่นเอ่มื้อหว่านข้าว เอามื้อเกี่ยวข้าว เอามื้อตัดอ้อย ซึ่งคล้ายกับการลงแขกเกี่ยวข้าวของทางภาคกลาง เป็นการช่วยงานกันในหมู่เครือญาติและบ้านใกล้เคียง โดยเมื่องานเสร็จเจ้าของนาจะเลี้ยงข้าว เลี้ยงน้ำ เลี้ยงเหล้าให้กับผู้ที่มาช่วยเกี่ยวข้าว ครั้งต่อไปหากคนที่มาช่วยต้องการคนเจ้าของนาก็จะไปช่วยเช่นกัน นอกจากนี้คนบ้านไหล่หินยังมีวิธีการทำนาที่เรียกว่า ทำนาผ่า หรือ “เยียะผ่า” เป็นการหุ้นกันทำนา โดยชาวนาที่เป็นเจ้าของที่ดินบางคนอาจไม่ได้ทำนาเอง แต่จะออกทุนให้กับผู้ที่เป็นหุ้นส่วน ส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้องกัน และให้ทำนาในพื้นที่ของตน หุ้นส่วนจะเป็นคนลงแรงทำนาทุกขั้นตอน เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วเจ้าของที่ดินจะได้ส่วนบ่งครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าเจ้าของนาไม่ได้ออกทุน หุ้นส่วนจะแบ่งข้าวให้หนึ่งในสามหรือตามแต่ตกลงกันไว้ การทำผ่านี้ใช้กับการเลี้ยงวัวด้วย เมื่อข้าวเสร็จทุกขั้นตอนชาวบ้านจะหาวันดีในการเอาข้าวขึ้นหลอง (ยุ้งข้าว) นิยมให้คนที่เกิดปีเสือและปีงูเป็นผู้หาบข้าวขึ้นหลอง เพราะเชื่อว่างูกับเสือไม่กินข้าว การนำข้าวขึ้นหลองชาวบ้านจะทำพิธีการ “ช้อนขวัญข้าว” เชื่อว่าเป็นการช้อนขวัญข้าวมาอยู่กับข้าว ชาวนาจะแบ่งข้าวออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนที่เก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ในปีต่อไป ส่วนที่เก็บไว้กิน ส่วนที่จะไว้ขาย จะนำออกมาขายในช่วงที่ราคาข้าวดี จะมีพ่อค้าจากลำพูนและเชียงใหม่มารับซื้อข้าว บางครั้งอาจจะนำไปขายให้กับโรงสี หลังเก็บเกี่ยวแล้วชาวนาจะมีพิธีเลี้ยงผีนา ชาวนาจะนำไก่ เหล้าและข้าว ไปเลี้ยงผีนาและขอให้ผีนาหรือผีเจ้าที่ดูแลรักษาไม่ให้ข้าวเป็นเพลี้ย สมัยก่อนเมื่อทำนาเสร็จก็จะทำขวัญควาย เอาข้าวเอาน้ำ เอาหญ้ามาป้อนให้ควายกิน บอกควายให้อยู่ดีมีสุข ไม่ฆ่าควายมากินเพราะไม่คุ้มกับเงินและแรงงานที่จะต้องเสียไป หลังจากสิ้นสุดการทำนาในเดือนธันวาคม ชาวนาก็มีเวลาว่าง คนที่มีที่ดินหรือนาอยู่ใกล้แม่น้ำยาวจะปลูกหอม ปลูกถั่วเหลือง บางคนซ่อมแซมบ้าน หรือรับจ้างทำงานในหมู่บ้าน และในเมือง ส่วนมากจะไปทำโรงงานเซรามิก
- การทำสวนอ้อย นอกจากการทำนาแล้ว เมื่อก่อนอาชีพที่สำคัญกับคนไหล่หินคือ การปลูกอ้อยหรือการทำสวนอ้อย ในช่วงนั้นการปลูกอ้อยสามารถสร้างรายได้จำนวนมากให้กับคนไหล่หิน รวมถึงหมู่บ้านใกล้เคียง แต่เดิมชาวบ้านปลูกอ้อยอยู่แล้วไว้เพื่อบริโภค ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2478 โรงงานน้ำตาลมาตั้งที่อำเภอเกาะคา ทางโรงงานได้ส่งใบปลิว และเจ้าหน้าที่มาชักชวนให้ชาวบ้านปลูกอ้อย เริ่มแรกมีผู้ปลูกไม่กี่ราย เมื่อมีคนปลูกแล้วนำส่งโรงงานได้ราคาดีชาวบ้านจึงหันมาปลูกกันมากขึ้น และปลูกมากที่สุด พ.ศ. 2510 ถึง พ.ศ. 2520 พื้นที่ปลูกอ้อยเป็นที่จับจอง จัดสรร แล้วแต่ใครบุกเบิกได้ รัฐตีตราให้ ส่วนใหญ่ปลูกตามแพะ ตามป่าเช่น ดงปู่ม่อม ส่วนพันธุ์อ้อยที่ปลูกได้มาจากโรงงานน้ำตาล และมีเจ้าหน้าที่เข้าไปแนะนำการปลูกอ้อยให้กับชาวบ้าน โรงงานน้ำตาลจะเป็นผู้ออกทุนให้ผู้ปลูกทั้งหมดทั้งพันธุ์อ้อยและปุ๋ย ชาวบ้านจะต้องนำอ้อยไปขายที่โรงงาน เมื่อขายแล้วโรงงานก็จะหักทุนคืน ส่วนคนที่ปลูกอ้อยโดยไม่ใช่ทุนของโรงงานก็จะไม่รับซื้อ ราคาอ้อยขึ้นอยู่กับความหวาน ถ้าความหวานดีจะขายได้ในราคาตันละ 300 บาท ถ้าความหวานไม่ดีขายได้ 200 บาท นอกจากการปลูกอ้อยจะสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่ทำสวนอ้อยแล้ว โรงงานน้ำตาลยังสร้างความเจริญให้กับชุมชนของผู้ปลูกอ้อยด้วย เช่น การสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน เพื่อให้บริการแก่ชาวไร่อ้อย
- การไปทำงานเมืองนอก อาชีพสำคัญอย่างหนึ่งของคนบ้านไหล่หินภายหลังจากการเลิกทำสวนคือ การเดินทางไปค้าแรงงานที่ต่างประเทศ หรือที่คนไหล่หินเรียกไปเมืองนอก นิยมไปกันมากตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เรียกว่า ไปตกทอง เพราะไปแล้วร่ำรวยกลับมา มีเงินสร้างบ้านแบบสมัยใหม่ มีรถขับ การไปทำงานเมืองนอกจะมีนายหน้ามาติดต่อ หรือมีบริษัทเปิดรับสมัคร การไปทำงานแต่ละประเทศมีสัญญา 3 ปี ถ้าอยู่จนหมดสัญญาแล้วไม่ยอมกลับจะถูกจับ ความจำเป็นของชาวบ้านที่ไปทำงานเมืองนอกคือ ต้องการเก็บเงินเป็นก้อน ต้องการเงินมาใช้หนี้ ไปหาประสบการณ์การณ์ชีวิต ที่ประเทศไทยหาเงินไม่พอใช้ เป็นต้น ประเทศที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไปทำงานได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย ลิเบีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ คูเวต ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ งานที่ไปทำส่วนใหญ่ได้แก่คนงานทำความสาด คนขับรถบรรทุก คนงานก่อสร้าง ช่างทาสี ช่างปูน ทำเฟอร์นิเจอร์ งานโรงงานทอผ้า โรงงานผลิตพลาสติก โรงงานอาหารกระป๋อง โรงงานผลิตยางรถยนต์ โรงงานทำปุ๋ย ทำสวน เป็นต้น การเดินทางไปทำงานเมืองนอกของคนไหล่หินไม่เพียงสร้างฐานะให้กับครอบครัวของผู้ไปเท่านั้น แต่ยังสร้างความเจริญให้กับหมู่บ้าน วัด และโรงเรียน เพราะผู้ที่ไปจะนำเงินมาพัฒนาวัดและหมู่บ้านเช่น การทอดผ้าป่า ทำให้สิ่งปลูกสร้างในวัดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น การสร้างทางเดินในวัด หอฉัน รั้ววัด และถนนเข้าโรงเรียนบ้านไหล่หิน เป็นต้น
ปัจจุบันคนไหล่หินประกอบอาชีพทำไร่ทำนาน้อยลง ส่วนใหญ่อยู่ในวัยประมาณ 40 ปีขึ้นไป ส่วนหนุ่มสาวนอกจากจะไปค้าแรงงานต่างประเทศแล้ว ยังนิยมเข้าไปทำงานในเมือง ส่วนมากไปทำงานในโรงงานเซรามิคในตัวอำเภอเกาะคา และอำเภอห้างฉัตร
ปฏิทินวัฒนธรรม
คนไหล่หินมีประเพณีสำคัญหลายประเพณี เรียงลำดับตั้งแต่เดือนมกราคม หรือเดือนสี่ (คนเหนือนับเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่หนึ่ง เรียกว่าเดือนเกี๋ยง) ดังนี้
- มกราคม : ประเพณีตานข้าวใหม่ หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวบ้านจะนำข้าวใหม่ที่ได้มา ทำเป็นข้าวหลามไปทำบุญที่วัด แต่ไม่มีวันกำหนดว่าจะต้องตานข้าวเมื่อไหร่ ใครพร้อมไปทำบุญที่วัดได้ไม่ต้องรอพร้อมกันทั้งหมู่บ้าน
- กุมภาพันธ์ : ประเพณีปอยหลวง
- เมษายน : ประเพณีปีใหม่เมืองหรือสงกรานต์
- พฤษภาคม : ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 จะมีการจุดบั้งไฟ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว เพราะมีบ้านเรือนในชุมชนหนาแน่น การจุดบั้งไฟอาจทำให้บั้งไฟตกไปโดนบ้านเรือนและอาจทำให้เกิดไฟไหม้สร้างความเสียหายได้
- มิถุนายน : เลี้ยงผีฝาย
- กรกฎาคม : ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 มีการทำบุญเข้าพรรษา ชาวบ้านจะนำข้าวปลาอาหาร ประกอบด้วยห่อข้าวเหนียว ขนมจ้อก ห่อเมี่ยง บุหรี่ ไปตานขันข้าว (ใส่บาตร) ที่วัดและในทุกวันพระ (วันศีล) ช่วงบ่ายชาวบ้านจะมาฟังธรรม และนอนค้างคืนที่วัดเพื่อถือศีล จะกลับบ้านในเช้าของวันรุ่งขึ้น
- กันยายน : ประเพณีตานก๋วยสลาก
- ตุลาคม : หรือเดือนเกี๋ยง จะเป็นช่วงออกพรรษาและการทอดกฐิน
- พฤศจิกายน : จะมีการจัดประเพณียี่เป็งและสวดเบิก
- ธันวาคม : จะมีการจัดประเพณีเรียกขวัญข้าว
วิถีชีวิต
สังคมของคนไหล่หินเป็นสังคมเกษตรกรรมที่ยังคงพึ่งพาธรรมชาติ โดยเฉพาะการทำนาทำสวนที่ต้องอาศัยน้ำฝน และน้ำจากน้ำแม่ยาว ทำให้ชาวนาทำนาได้เพียงปีละ 2-3 ครั้ง เนื่องจากอุปสรรคทางด้านพื้นที่ที่สูง ๆ ต่ำ ๆ ของบ้านไหล่หิน ทำให้ระบบชลประทานสมัยปัจจุบันที่ส่งน้ำในพื้นที่ราบไม่สามารถนำมาใช้กับพื้นที่นี้ได้ อย่างไรก็ตามภูมิปัญญาของชาวบ้านในอดีตก็สามารถคิดค้นระบบการส่งน้ำที่มีประสิทธิภาพมาใช้ ระบบการส่งน้ำดังกล่าวคือ ระบบเหมืองฝาย ซึ่งเป็นระบบชลประทานพื้นบ้านที่คนไหล่หินใช้ส่งน้ำมาเป็นเวลานาน และช่วงตัดอ้อยชาวบ้านจะเก็บอ้อยมากิน กล่าวกันว่าหน่ออ้อยเป็นอาหารสุดยอด กินคู่กับน้ำพริกน้ำปูหรือนำไปยำกับหน่อไม้ หรือแกแค นอกจากนี้ในสวนอ้อยยังเป็นที่อยู่อาศัยของตัวตุ่น เมื่อมีเวลาว่างชาวบ้านก็จะดักตัวตุ่นมาบริโภค โดยนำมาทำแกงตุ่น อ่อมตุ่น
ครูบามหาป่าเจ้าเกสระปัญโญ เป็นพระเถระอดีตอาวาสวัดไหล่หิน เก่งในการอ่านพระธรรมและจารคัมภีร์ใบลาน บารมีของท่านทำให้วัดไหล่หินหลวงสมัยนั้นเจริญรุ่งเรืองด้วยคนศรัทธาจำนวนมาก วัดไหล่หินจึงเป็นศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่งในการเผยแพร่พุทธศาสนาในบริเวณแอ่งลำปาง ยังได้ปฏิบัติสมณะอย่างเคร่งครัดจนจิตเป็นสมาธิ ทำให้ผู้คนจากหลายชุมชนเข้ามาศรัทธาเป็นจำนวนมาก และเมื่อครูบามหาเจ้าป่าได้บิณฑบาตถึงชุมชนไทใหญ่เมืองเชียงตุงอยู่หลายครั้ง ทำให้อุบาสกอุบาสิกาพากันศรัทธา จนกระทั่งพากันตามมาสร้างวิหารถึงที่บริเวณไหล่หินนี้ เพื่อถวายแด่ครูบามหาป่า สันนิษฐานว่าแล้วเสร็จในปี 2226
ทุนวัฒนธรรม
เหมืองฝาย : การชลประทานแบบพื้นบ้านของคนบ้านไหล่หิน เนื่องจากบ้านไหล่หินตั้งอยู่ในพื้นที่สูง ไม่มีระบบชลประทานของรัฐแต่มีระบบเหมืองฝายใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณทำหน้าที่ผันน้ำจากแม่น้ำยาวมาใช้หล่อเลี้ยงต้นข้าวในนาให้เจริญงอกงาม ฝายของตำบลไหล่หินมี 3 ลูก คือ ฝายทุ่งเตียม ฝายทุ่งหัวขัว และฝายเตาปูน บ้านไหล่หินมีฝายทุ่งเตียม ตั้งอยู่บ้านทุ่งขามใต้ ผันน้ำให้กับพื้นที่นาด้านซ้ายของแม่น้ำยาว บ้านมะกอกนาบัว และบ้านไหล่หินหมู่ 2 ฝายเตาปูน ฝายบ้านเข้าซ้อน ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านเข้าซ้อน ผันน้ำมาใช้ในพื้นที่บ้านเข้าซ้อนหมู่ 1 บ้านไหล่หินหมู่ 2 บ้านหนองหล่าย (เกาะคา) บ้านน้ำล้อม (ตำบลลำปางหลวง) บ้านตำบลลำปางหลวง (ตำบลลำปางหลวง) สิ้นสุดที่ตำบลลำปางหลวง นอกจากนี้ยังมีฝายไหล่หิน เป็นฝายใหม่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2545-2546 ใช้กักเก็บน้ำเท่านั้น ฝายอยู่ในพื้นที่บ้านไหล่หิน ใช้ป้องกันไม่ให้น้ำบ่อของชาวบ้านแห้ง ใช้ทำประปาหมู่บ้านเพื่อใช้อุปโภคและบริโภค
- การเอาขี้เหมือง : ก่อนถึงฤดูทำนา ผู้ดูแลเหมืองฝายหรือเรียกว่านายเหมือง นำชาวบ้านที่ใช้น้ำจากเหมืองมาขุดลอกเหมืองเพื่อให้น้ำที่ผันมาจากแม่น้ำยาวไหลผ่านไปได้สะดวก วันเอาขี้เหมืองนายเหมืองจะเช็คชื่อสมาชิกเหมือง จะมีการแบ่งงานกันทำเป็นกลุ่ม ๆ เช่น กลุ่ม 1 วัดไม้ต่า กลุ่ม 2 ลงไปขุดลอกจนถึงที่กั้นน้ำ จากนั้นสมาชิกจะแยกไปขุดลอกลำเหมืองที่จะลำเลียงน้ำไปที่นาของตน จึงมีผู้กล่าวว่าคนที่มีที่นาอยู่ท้ายสุดมักจะได้รับเลือกให้เป็นนายเหมือง เพราะเขาต้องดูแลน้ำให้ไปถึงนาตัวเอง หมายถึงว่านาของสมาชิกคนอื่น ๆ จะต้องได้รับน้ำอย่างแน่นอน การเอาขี้เหมืองของแต่ละคนจะทำไม่พร้อมกัน ชาวนาบางคนมีนาอยู่หลายที่และใช้น้ำจากเหมืองต่างกัน ปัจจุบันการเอาขี้เหมืองทำวันเดียวก็เสร็จ
- การเลี้ยงผีฝาย : หลังจากการเอาขี้เหมืองเสร็จแล้ว นายเหมืองและลูกเหมืองจะร่วมกัน “เลี้ยงผีฝาย” ในเดือน 9 ขึ้นหรือแรม 9 ค่ำ จะมีการทำอาหารเลี้ยงผีฝายโดยจะทำพิธีใกล้กับฝายเพื่อบอกกล่าวผีฝาย เจ้าที่ว่าขอให้น้ำไหลดี ให้ฝายอย่าพัง หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง นายเหมืองและลูกเหมืองจะกินอาหารร่วมกัน นอกจากจะใช้ประโยชน์ด้านการส่งน้ำแล้ว ยังถือเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านอีกด้วย
- ที่พึ่งทางใจ : ชาวบ้านนับถือครูบา เนื่องจากเมื่อยามที่ชาวบ้านไปทำงานที่เมืองนอกก็จะมีการอธิษฐานให้ตนเดินทางปลอดภัย มีการพกเหรียญครูบา หินกู่ครูบา เพื่อให้ช่วยคุ้มครอง และบางครั้งไม่สบายก็เอาหินครูบาแช่น้ำนำมาดื่ม เมื่อกลับมายังบ้านตนก็นำหัวหมูมาเลี้ยงที่กู่ครูบา
- ประเพณีตานก๋วยสลาก : หรือที่คนภาคกลางเรียกว่าบุญสลากภัต จัดขึ้นในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 12 งานบุญนี้เป็นการอุทิศข้าวของเครื่องใช้ให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยก่อนวันงานจะมีการจัดเตรียมของใส่ก๋วย จะสานด้วยไม้ไผ่เป็นรูปทรงคล้ายชะลอมขนาดเล็ก ปัจจุบันชาวบ้านใช้ถุงย่าม กะละมัง ถุงพลาสติกหรือจัดเป็นถุงสังฆทานแทนก๋วยแบบเดิมเพราะสะดวกกว่า ภายในก๋วยประกอบด้วย ข้าวเหนียวนึ่ง อาหาร ขนมจ้อก ผลไม้ บุหรี่ ไม้ขีด และมีการเสียบเงินไว้บนยอด จำนวนก๋วยจะเท่ากับจำนวนคนที่เราจะตานให้ หรือบางบ้านทำหลายคนอาจจะทำตานใหญ่ และจะมีการติดหงส์ไว้บนยอดเสาที่ใช้แขวนของเพราะเชื่อว่าจะช่วยนำของเหล่านี้ไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ เมื่อก่อนทำจากใบลาน ปัจจุบันทำจากโฟมและตกแต่งให้มีสีสันสวยงาม
- ประเพณียี่เป็งและสวดเบิก : จัดในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนยี่ (พฤศจิกายน) ก่อนถึงวันงานชาวบ้านจะมาช่วยกันตกแต่งอาสนะและสถานที่สวดเบิก มีการนำฝ้ายมงคลไปโยงรอบวัตถุมงคล เครื่องราง พระพุทธรูป เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล เสริมบารมี ในวันงานตอนกลางวันจะมีการทอดกฐิน กลางคืนจะมีการปล่อมโคมเพราะเชื่อว่าเป็นการปล่อยเคราะห์ไปกับโคม หลังจากนั้นจะมีการสวดเบิก วัตถุสำคัญในการสวดเบิกคือ วี มีลักษณะคล้ายตาลปัตรและใบลาน จะนำมากางก็ต่อมาพระเริ่มสวด หลังเสร็จพิธีชาวบ้านจะนำฝ้ายมงคลกลับบ้าน นำไปติดประตู และผูกข้อมือให้กับคนในครอบครัวเพื่อความเป็นสิริมงคล
- วันดี วันเสีย : คนบ้านไหล่หินมีความเชื่อในเรื่องฤกษ์ยาม จะทำอะไรก็ต้องดูวันดีเพื่อให้ทำสิ่งที่ประสบผลสำเร็จ เช่น การปลูกข้าว ปลูกข้าว ปลูกเรือน และหลีกเลี่ยงวันเสียเพื่องดทำสิ่งต่าง ๆ หากทำก็จะเกิดผลเสีย และในแต่ละปีแต่ละเดือนวันดีวันเสียต่างกัน
- ประเพณีปีใหม่เมือง : หรือป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง เป็นเทศกาลปีใหม่ของบ้านไหล่หิน จัดขึ้นในวันที่ 13 17 เมษายน วันที่ 13 วันสังขารล่องเป็นวันทำความสะอาดและทำรั้วราชวัตร เตรียมไว้สำหรับขนทรายเข้าวัด วันที่ 14 วันเนาจะขนทรายเข้าวัด นำตุงประจำปีเกิดไปปักที่กองทรายและเตรียมของทำตานขันข้าว เรียกว่า หมากแจก วันที่ 15 ชาวบ้านจะทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศให้แก่บรรพบุรุษ หลังจากนั้นจะเป็นการรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ วันที่ 16 ชาวบ้านจะทำสะตวง 9 ช่อง และนำเสื้อผ้าคนในครอบครัวมาทำพิธีในวิหาร เรียกว่า บูชาข้าว หลังจากนันมีการเผาฝ้ายเท่าจำนวนคนในบ้าน แล้วกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ วันที่ 17 ชาวบ้านไหล่หินและหมู่บ้านใกล้เคียงจะร่วมกันแห่ครัวตาน (เครื่องใช้ในครัวเรือน) มาที่วัดไหล่หินหลวงเพื่อถวายครัวตานให้วัด
คนไหล่หินจะพูดภาษาไทยวนหรือคำเมือง แต่คนไหล่หินสามารถจำแนกความแตกต่างระหว่างตนกับคนในชุมชนละแวกเดียวกันได้ โดยใช้สำเนียงพูดเป็นเครื่องบ่งบอกอัตลักษณ์ เพราะสำเนียงพูดคนไหล่หินจะคล้ายสำเนียงทางเชียงใหม่ เพราะสำเนียงของคนชุมชนอื่นจะสูงกว่า เช่น คำว่า กินน้ำ คนไหล่หินออกเสียงเป็น กิ๋นน้ำ ชุมชนอื่นออกเสียง กิ๋นน้าม
ช่วงปี พ.ศ. 2510 ถึง พ.ศ. 2520 บ้านไหล่หินมีการปลูกอ้อยมากที่สุด แต่ในระยะหลัง ๆ ราคาอ้อยตกต่ำลงเหลือเพียง 80 – 100 บาทต่อตัน ในขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายในการปลูก ทั้งค่าไถ ปลูก พันธุ์อ้อยและราคาปุ๋ยสูงขึ้น แรงงานในหมู่บ้านก็มีน้อยลงเพราะชาวบ้านไหล่หินและหมู่บ้านใกล้เคียงเริ่มเดินทางไปทำงานที่อื่นโดยเฉพาะไปทำงานที่ต่างประเทศ การทำสวนอ้อยจึงต้องจ้างแรงงานต่างถิ่นมากขึ้น หลายรายเลิกทำสวนอ้อย พ.ศ. 2525 – 2526 ชาวบ้านก็เลิกปลูกอ้อยทั้งหมู่บ้าน โรงงานน้ำตาลก็เกือบยุบเพราะคนไม่ปลูกอ้อยโรงงานก็ไม่มีอ้อยหีบ อ้อยที่ส่งให้กับโรงงานในปัจจุบันมาจากต่างถิ่น หลังจากการเลิกปลูกอ้อยชาวบ้านบางคนขายสวนอ้อยให้กับนายทุน บางคนปรับที่ดินเป็นนาปลูกข้าว และเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนที่ในป่าสงวนปล่อยให้กลับเป็นป่าเหมือนเดิม
ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ. (2551). โครงการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น : ระยะที่ 2 ปีที่ 2 ศึกษากรณีพิพิธภัณฑ์วัดท่าพูดและพิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวง. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2564). ไหล่หิน. ค้นคืนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2566 , จาก คลังข้อมูลชุมชน: https://communityarchive.sac.or.th/community/LaiHin