Advance search

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล

'สมาคมคนทาม' เครือข่ายชุมชนที่เกิดจากการรวมตัวของภาคประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ คือ โครงการโขง ชี มูน โครงการผันน้ำขนาดใหญ่ของรัฐเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอีสาน โดยดำเนินงานภายใต้แนวคิดสามก้อนเส้า ได้แก่ สมาคมคนทาม ในฐานะองค์กรเครือข่ายเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตวิถีชุมชน เศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติ, กองทุนสวัสดิการ และศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเครือข่ายทามมูน

100 หมู่ที่ 1
หนองแค
ราษีไศล
ศรีสะเกษ
นิฌามิล หะยีซะ
22 พ.ค. 2023
นิฌามิล หะยีซะ
16 พ.ค. 2023
สมาคมคนทาม
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล

'สมาคมคนทาม' เกิดจากการรวมตัวของเครือข่ายชาวบ้าน 2 องค์กร คือ เครือข่ายองค์กรชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ป่าทามแม่น้ำมูน (เครือข่ายฝั่งเขื่อนราษีไศล) และเครือข่ายฮักแม่มูนเมือองศรีสะเกษ (เครือข่ายฝั่งเขื่อนหัวนา) ซึ่งล้วนเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ภายใต้โครงการโขง ชี มูน โครงการผันน้ำขนาดใหญ่ของรัฐเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอีสาน สมาชิกเครือข่ายครอบคลุมประชากรใน อำเภอ จังหวัด ได้แก่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ และอำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีการจัดตั้งสมาคมคนทามขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553 และจดทะเบียนเป็นองค์กรนิติบุคคลอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อ 'สมาคมคนทาม' เมื่อวันที่ 7 เดือนมกราคม พ.ศ. 2554 เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้แก่สมาชิกในเครือข่าย ให้รัฐและสังคมภายนอกให้การยอมรับ (แม่ศรี, สัมภาษณ์ มิถุนายน 2565; อาภาพรรณ ทองเรือง, 2564; เครือข่ายองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม, 2558)


เครือข่ายชุมชน

'สมาคมคนทาม' เครือข่ายชุมชนที่เกิดจากการรวมตัวของภาคประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ คือ โครงการโขง ชี มูน โครงการผันน้ำขนาดใหญ่ของรัฐเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอีสาน โดยดำเนินงานภายใต้แนวคิดสามก้อนเส้า ได้แก่ สมาคมคนทาม ในฐานะองค์กรเครือข่ายเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตวิถีชุมชน เศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติ, กองทุนสวัสดิการ และศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเครือข่ายทามมูน

100 หมู่ที่ 1
หนองแค
ราษีไศล
ศรีสะเกษ
33160
15.349730158752132
104.09914113781052
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแค

ประวัติศาสตร์ของสมาคมคนทามเกี่ยวข้องโดยตรงกับประวัติศาสตร์ของเขื่อนราษีไศลและประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวภาคประชาชนเพื่อต่อสู้เรียกร้องการเยียวยาจากโครงการสร้างเขื่อน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ช่วงเวลาที่รัฐบาลเริ่มเปลี่ยนแนวนโยบายทางเศรษฐกิจคือ การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ช่วงเวลานั้นมีการเสนอโครงการพัฒนาโดยรัฐเพื่อการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะในภูมิภาคอีสานอันเป็นพื้นที่ภูมิรัฐศาสตร์สำคัญในช่วงสงครามเย็น กลายเป็นที่มาของโครงการอีสานเขียว หนึ่งในโครงการพัฒนาย่อยคือ โครงการโขง ชี มูน โครงการผันน้ำขนาดใหญ่ของรัฐเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอีสาน โดยมีการดำเนินการสร้าง ‘ฝายราษีไศล ในปี พ.ศ. 2535

จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน พบว่า ในช่วงเวลาของการสร้างเขื่อนเจ้าหน้าที่รัฐแจ้งให้ไทบ้านทราบว่าเป็นการสร้างเป็นฝายยางเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง เมื่อถึงหน้าฝนก็จะมีการปล่อยลมยางเพื่อระบายน้ำให้ล้นออก แต่เมื่อดำเนินการสร้างเสร็จสิ้นฝายยางได้กลายมาเป็นเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่ จำนวน 7 บานประตู และเป็นโครงการพัฒนาที่ไม่มีการศึกษาผลกระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้ชาวบ้านไม่ได้มีการรับรู้ข้อมูลการสร้างเขื่อนที่ชัดเจนและบิดเบือนความจริง จึงเกิดความไม่พอใจและนำมาสู่การต่อสู้เรียกร้องของประชาชน สิริภัทร นาคนาม (2565) แบ่งช่วงเวลาเคลื่อนไหวของประชาชนออกเป็น 3 ยุค ดังนี้

ยุคการต่อสู้เรียกร้องสิทธิค่าชดเชยที่ดินทำกินภายหลังการสร้างเขื่อน (พ.ศ. 2535-2542)

ภายหลังการสร้างเขื่อนเสร็จสิ้นลงในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2536 กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้ทดลองกักเก็บน้ำโดยการปิดประตูเขื่อนราษีไศลที่ระดับ 119 ม.รทก ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมหนักในพื้นที่ป่าทามบริเวณสองฝั่งแม่น้ำมูน และในช่วงปลายปีเดียวกัน ชาวบ้านฟากอำเภอราษีไศลจำนวน 2-3 หมู่บ้านได้เก็บรวบรวมข้อมูลความเสียหาย โดยร่วมมือกับโครงการทามมูลขององค์กรพัฒนาเอกชนที่เข้ามาศึกษาผลกระทบจากโครงการโขง ชี มูล ทั้งสองฝ่ายร่วมมือในการร้องเรียนให้มีการแก้ไขปัญาในระดับอำเภอและโครงการเขื่อนแต่ไม่ได้รับการตอบรับหรือแก้ปัญหาใด

ช่วงเวลาถัดมา ชาวบ้านจึงลงพื้นที่สำรวจผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด และอำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ พบว่า มีผู้ได้รับความเดือดร้อนมากขึ้นจำนวนหลายพันคน ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจึงได้รวมตัวจัดตั้งเป็นองค์กรชาวบ้านครั้งแรกในนาม คณะกรรมการร่วมอนุรักษ์ป่าทามแม่น้ำมูน 3 จังหวัด (คอปม.) เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2538 เพื่อร่วมกันติดตามผลักดันการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล ข้อเสนอของชาวบ้านคือให้มีการลดระดับนํ้าลงมาอยู่ที่ 114 ม.รทก ตามข้อมูลโครงการเดิม เพื่อไม่ให้น้ำท่วมป่าทามและที่ทำกินของชาวบ้าน รวมถึงให้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมนอกอ่างเก็บน้ำและปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็ม และน้ำเค็มในที่นาของชาวบ้าน นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดระดับการกักเก็บน้ำและช่วงเวลาในการปิด-เปิดเขื่อนในแต่ละฤดูกาล และในพื้นที่บางส่วนที่ได้รับผลกระทบให้ทางรัฐชดเชยอย่างเป็นธรรม

เครือข่ายชาวบ้านฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องความเดือดร้อนตามขั้นตอนของระบบราชการตั้งแต่สภาตำบล อำเภอ จังหวัด จนถึงระดับกระทรวงวิทยาศาสตร์ และสำนักนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ตลอดระยะเวลา 2 ปี (ต.ค. 2536 - ธ.ค. 2538) แต่ไม่ปรากฏความคืบหน้า มีการโยนภาระรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาระหว่างกระทรวงฯและโครงการฝ่าย ราษีไศล มิหนำซ้ำทางราชการยังจัดตั้งมวลซนขึ้นมาต่อต้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้เรียกร้องอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยบทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านและข้าราชการในพื้นที่ มีการแจกใบปลิวและขึ้นป้ายไล่องค์กรพัฒนาเอกชน โครงการทามมูล การข่มขู่ คุกคามและปองร้ายผู้นำชาวบ้าน และมีการจัดม็อบชนม็อบระหว่างกลุ่มผู้เรียกร้องและกลุ่มผู้ต้องการน้ำ

วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 บริเวณหัวเขื่อนราษีไศล ผลจากการจัดม็อบชนม็อบโดยราชการในครั้งนั้นทำให้เกิดกระแสกดดันอย่างรุนแรงให้ราชการต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน จนมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเขื่อนราษีไศลขึ้น โดยมีราษฎรร่วมเป็นคณะกรรมการร่วมกับฝ่ายราชการ และมีการกำหนดขั้นตอนในการตรวจสอบสิทธิในที่ดินทำกินของราษฎร 5 ขั้นตอน คือ

  1. ราษฎรยื่นคำร้อง
  2. คณะอนุกรรมการสอบสวนสิทธิ์ราษฎรโดยใช้แบบสอบสวนอิงตามแบบสปก.
  3. นำผลการสอบสวนมาปูลงในแผนที่ทางอากาศกรมที่ดิน ป้องกันการทับซ้อน
  4. ให้พยานบุคคลรับรอง
  5. ให้ติดประกาศผลการตรวจสอบ 30 วัน เพื่อให้มีการคัดค้าน

แม้จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาร่วม แต่ราชการก็พยายามสร้างความยุ่งยาก ไม่ทำตามมติที่ประชุมหรือข้อตกลงร่วมกัน โดยเฉพาะสัดส่วนกรรมการระหว่างราชการกับชาวบ้านไม่เท่ากัน ทำให้ขั้นตอนและกระบวนการแก้ไขปัญหายืดเยื้อออกไป (วราลักษ์ ไชยทัพ, 2561; ดารารัตน์ กันทวงศ์, 2560; ปราณี มรรคนันท์, สัมภาษณ์ 8 มิถุนายน 2565 ใน สิริภัทร นาคนาม, 2565)

ช่วงเวลาเดียวกันนั้น เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐทั่วประเทศ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมกับสมัชชาคนจน ในช่วงเดือนมีนาคม – เดือนเมษายน พ.ศ. 2539 มีการจัดชุมนุมใหญ่ที่หน้าทำเนียบ 28 วัน เพื่อเรียกร้องให้มีการจ่ายค่าชดเชยและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนอกอ่าง และให้มีการลดระดับการกักเก็บน้ำในระดับ 114 ม.รทก.

รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ได้รับพิจารณาแก้ไขปัญหาและประกาศมติครม.วันที่ 22 เมษายน 2539 อ้างอิงถึงมติ ครม. วันที่ 11 กรกฎาคม 2532 ให้รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยแกราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในที่ดินทุกประเภท ทั้งที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ ในกระบวนการตรวจสอบให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลาง(ระดับชาติ) คณะกรรมการระดับจังหวัด (3 จังหวัด) คณะอนุกรรมการ 3 อำเภอ (ใน 3 จังหวัด) โดยกรรมการทุกระดับให้มีฝ่ายราชการและฝ่ายราษฎรอย่างละครึ่ง

ตลอดปี พ.ศ. 2539 การแก้ไขปัญหาเน้นอยู่ที่กระบวนการตรวจสอบสิทธิในที่ดินทำกินเพียงด้านเดียว และราชการยังคงสร้างความยุ่งยากในกระบวนการทำงาน ทำให้ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านอื่น ๆ สาเหตุหนึ่งคือ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเจ้าของโครงการเขื่อนราษีไศล ไม่ได้มีแผนการชดเชยที่ดินทำกินมาตั้งต้น เพราะถือว่าที่ดินนั้นเป็นที่สาธารณะประโยชน์ตามกฎหมายที่ดินเป็นของรัฐ และหากจ่ายค่าชดเชยค่าที่ดินให้ราษฎรเขื่อนราษีไศลแล้ว จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อโครงการโขงซีมูล ราคา 22,800 ล้านบาททั้งระบบ จึงเกิดการพยายามคัดค้านและหน่วงเหนี่ยวกระบวนการที่จะนำสู่การจ่ายค่าชดเชยทุกวิถีทาง ทำให้ซาวบ้านต้องชุมนุมหลายครั้งเพื่อผลักดันให้เกิดการประชุมของคณะกรรมการ ทั้งยังต้องเผชิญกับม็อบจัดตั้งของฝ่ายราชการมาเคลื่อนไหวคัดค้านกระบวนการตรวจสอบสิทธิในทุกขั้นตอน จนกระทั่งรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา หมดวาระลง

ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลชวลิต ยงใจยุทธ กลุ่มผู้เรียกร้องในนามสมัชชาคนจนได้ชุมนุมพร้อมกันทั่วประเทศเป็นระยะเวลา 99 วัน บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล (25 มกราคม พ.ศ. 2540 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2540) นำไปสู่การเปิดการประชุมเจรจาระหว่างกลุ่มผู้เรียกร้องกับคณะกรรมการทุกชุด ทุกระดับ ฝ่ายตัวแทนรัฐบาลคือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม คือ นายอดิศร เพียงเกษ ประชุมร่วมกัน 6 ครั้ง คือวันที่ 10, 11, 18 ,25 ,26 กุมภาพันธ์ และ 6 มีนาคม พ.ศ. 2540 ได้ข้อยุติ คือ รัฐบาลยอมจ่ายค่าชดเชยให้แก่ราษฎรผู้เรียกร้องจำนวน 1,154 ราย ในพื้นที่ที่ผ่านการตรวจสอบ 11,485 ไร่ งาน ในราคาไร่ละ 32,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 363,484,000 ล้านบาท

คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2540 อนุมัติให้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแก่ราษฎรผู้เรียกร้อง พร้อมให้คณะกรรมการและอนุกรรมการชุดเดิมดำเนินการตรวจสอบสิทธิ์ราษฎรที่เรียกร้องเพิ่มเติม 1,525 ราย (ซึ่งเดิมคือกลุ่มที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นมาคัดค้านสมัชซาคนจนแต่เมื่อมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะจ่ายค่าชดเชยจึงเรียกร้องให้จ่ายแก่กลุ่มตนด้วย) และให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมคือ ตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากน้ำท่วมที่นานอกพนังกั้นน้ำ ตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศลและให้เปิดเผยข้อมูลโครงการโขง ซี มูล ต่อสาธารณะชน โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ให้ใช้งบประมาณจากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในการจ่ายค่าชดเชย ให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเป็นผู้เบิกจ่ายภายใน 1 เดือน

กระนั้น กระบวนการจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านผู้เดือดเป็นไปด้วยความลำบากเช่นเคย เนื่องจากมวลชนของฝ่ายราชการและนักการเมืองท้องถิ่นกว่า 2,000 คน ยกขบวนเข้ามาทำร้ายกลุ่มชาวบ้านไม่ให้มีการจ่ายค่าชดเชย ทั้งที่โรงเรียนราษีไศลและศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ จนกระทั่งชาวบ้านต้องเดินทางลงมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพราะไม่สามารถจัดการจ่ายค่าชดเชยในระดับพื้นที่ แต่กลุ่มมวลชนจัดตั้งก็ยังไม่ลดละ เดินทางมาชุมนุมที่หน้ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เสนอให้ระงับการจ่ายค่าชดเชยแก่กลุ่มสมัชชาคนจน กลุ่มผู้ชุมนุมไม่สามารถควบคุมมวลชนที่เมาอาละวาดได้ มีการขว้างปาก้อนหินจนกระจกตึกปลัดสำนักปลัดกระทรวงแตกไปหลายบาน (พ่อประดิษฐ์ โกศล, สัมภาษณ์ 11 กรกฎาคม 2565 ใน สิริภัทร นาคนาม, 2565)

ท้ายที่สุดรัฐบาลมีมติ ครม. วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ให้ดำเนินการตามมติ ครม. เดิมต่อไป จึงมีการจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านจำนวน 1,154 ราย ในวันที่ 7-14 ตุลาคม พ.ศ. 2547 รวมระยะเวลาเกือบ 4 เดือน ภายหลังการรับค่าชดเชย คณะกรรมการชาวบ้านร่วมอนุรักษ์ป่าทามแม่น้ำมูน (คอปม.) และสมัชชาคนจน ได้มีการเปิดบริจาคและระดมทุนเพื่อจัดตั้งกองทุนอนุรักทามมูล (กอปม.) เพื่อร่วมพื้นฟูป่าทามที่เสื่อมโทรมลงไป รวมถึงการส่งเสริมอาชีพและการจัดสรรสวัสดิการสำหรับผู้ด้อยโอกาส มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ ๒ กลุ่มคือ กลุ่มหัตถกรรม และกลุ่มเกษตรทามมูล เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตและทรัพยากรป่าทามจนเกิดรูปธรรมในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชนภายใต้ชื่อโครงการทามมูลเป็นผู้ผลักดันร่วมกับชาวบ้านในระดับพื้นที่ (ประภาส ปิ่นตบแต่ง, 2541; ดารารัตน์ กันทวงศ์, 2560; วราลักษณ์ ไชยทัพ, 2561; พ่อประดิษฐ์ โกศล, สัมภาษณ์ 11 กรกฏาคม 2565 ใน ใน สิริภัทร นาคนาม, 2565)

ยุคการสร้างความรู้ของไทบ้าน การเรียกร้องให้ศึกษาผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล (พ.ศ. 2542 - 2552)

ภายหลังที่กลุ่มสมัชชาคนจนได้รับค่าชดเชย ชาวบ้านที่เคยเป็นกลุ่มจัดตั้งของราชการได้แยกออกมาจัดตั้งกลุ่มเรียกร้องค่าชดเชยย่อยเป็นจำนวนมาก เช่น สมัชชาเกษตรกรอีสาน สมัชชาลุ่มน้ำมูน ฯลฯ ชาวบ้านเรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า  "12 ราษี" ด้านเครือข่ายชาวบ้านร่วมอนุรักษ์ป่าทามฯ ภายใต้สมัชชาคนจน ลุกขึ้นมาชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อยืนยันสิทธิความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวเรียกร้องอีกครั้ง ประกอบกับผลกระทบในระดับพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงต้องชุมนุมพร้อมกับโดยการตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 2 แห่ง บริเวณดอนหลักสั่นในท้องอ่างเก็บน้ำราษีใศล เพื่อขอให้มีการเปิดประตูระบายน้ำเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและปัญหาดินเค็มแพร่กระจาย และให้มีการศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

ทางโครงการไม่ยอมแก้ไขปัญหาจนชาวบ้านบุกเข้าไปตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 3 แห่ง และร่วมกันขุดคันดินบริเวณทางทิศใต้เพื่อให้ทางโครงการเปิดประตูระบายน้ำเพื่อบรรเทาผลกระทบ จนมีชาวบ้านถูกแจ้งคดีความเพิ่มเติมข้อหาการบุกรุกและขัดขวางการทำงานของเจ้าพนักงาน มีชาวบ้านและที่ปรึกษาจำนวน 11 คน แจ้งข้อหาดำเนินคดี "11 กบฏราษี" นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ลงพื้นที่และได้ทำข้อเสนอให้รัฐบาลมีมติแก้ไขปัญหาเขื่อนราษีไศลตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน แต่ไม่มีความคืบหน้าจนชาวบ้านต้องเดินทางลงไปชุมนุมร่วมกับชาวบ้านที่ผลกระทบจากเขื่อนปากมูลที่หน้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง

รัฐบาลนายชวน หลีกภัย มีมติเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ให้เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 7 บานเพื่อบรรเทาปัญหาผลกระทบและให้มีการพิสูจน์สิทธิที่ดินเพื่อความชอบธรรม รวมถึงให้มีการศึกษาผลกระทบทางสังคมโดยสถาบันศึกษาและนำผลการศึกษามาประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับกับการดำเนินการโครงการฝ่ายราษีไศลต่อไป นอกจากนี้ยังมีการอนุมัติค่าชดเชยครั้งที่ 2 จำนวน 57 ล้านบาทให้กับกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2544 ภายหลังการเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 7 บาน เสมือนว่าป่าทามได้กลับฟื้นคืนมาหายใจอีกครั้งหนึ่ง ต้นไม้ท้องถิ่น พืชพรรณไม้ พันธุ์ปลาเริ่มกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าจะต้องผจญสู้กับไมยราพยักษ์จำนวนมหาศาลที่แพร่กระจายเต็มพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีใศลหลังน้ำลดก็ตาม (ดารารัตน์ กันทวงศ์, 2561; ปราณี มรรคนันท์, สัมภาษณ์ 8 มิถุนายน 2565 ใน สิริภัทร นาคนาม, 2565)

ยุคฟื้นฟูและการสร้างทางเลือกการพัฒนาสู่การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชาวบ้าน (พ.ศ. 2553 - ปัจจุบัน)

เหตุการณ์การชุมนุมจำนวน 189 วันบนสันเขื่อนราษีไศลเมื่อปี พ.ศ. 2552 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบกลับมาทบทวนแนวทางขบวนการการเคลื่อนไหวของตน ตลอดระยะเวลาอันยาวนานเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้อันยาวนาน นำมาซึ่งความเหนื่อยล้า ปัญหาการดำรงชีพ ปัญหาความมั่นคงภายในครอบครัวของสมาชิก ในช่วงการชุมนุมครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 7 ที่ทางรัฐทำการจ่ายค่าชดเชยให้กับสมาชิกเครือข่ายจำนวน 700 กว่าล้านบาท ทางแกนนำและเหล่าสมาชิกจึงเกิดการถอดบทเรียนร่วมกันว่า หากเมื่อภายหลังพ้นไปของการได้รับค่าชดเชยแล้ว เงินใช้มาก็หมด เราจะอยู่อย่างไรกันต่อ

“เฮาสู้มา ได้อิหยังแหน่? บางคนได้ค่าชดเชยเป็นล้านแล้วมันเหลือบ่? พี่น้องบางคนบอกว่าหมดแล้ว พี่น้องที่อยู่กกับเรามา ที่ได้ค่าชดเชยตอนปี 40 เหลืออยู่กี่คน ถ้าเราแยกกันอยู่ เราจะอยู่กัน ต่อไปอย่างไรในอนาคต ลูกหลานจะอยู่อย่างไร ถ้าเกิดคดีใครจะช่วยใคร เราจะทำอย่างไรเราถึงจะช่วยกันได้ ดูรณีผู้ใหญ่วิทย์ พี่เดือน สู้กันไป แต่ครอบครัวพัง มันจะเหลืออะไร เลยเป็นที่มาของการมาคิดว่า เราต้องเริ่มจากความมั่นคงในครัวเรือนก่อน เป็นประชาธิปไตยที่กินได้” (แม่ผา กองธรรม, สัมภาษณ์, 9 มิถุนายน 2565 ใน สิริภัทร นาคนาม, 2565)

การสรุปบทเรียนร่วมกันในครั้งนั้นนำมาซึ่งการรวมกันจัดตั้งเป็นสมาคมคนทามอย่างเป็นทางการ มีพื้นที่ทำการเป็นหลักแหล่งไม่ต้องสัญจรไปมา ดำเนินงานด้วยฐานแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนและสิทธิชุมชน ทั้งนี้ภายในเครือข่ายคนทามได้มีการคิดค้นหลักคิดเพื่อเป็นการดำเนินงานภายในกลุ่มของตนที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ทฤษฎีสามก้อนเส้า” ที่นับว่าเป็นหลักการสำคัญในการดำเนินงานของเครือข่ายคนทามที่มีฐานคิดที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตแบบท้องถิ่นอีสาน

สำนักงานของสมาคมคนทามตั้งอยู่ในที่ดินใกล้แม่นํ้ามูลบริเวณตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล ทางทิศเหนือของจังหวัดศรีสะเกษ ระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร พื้นที่โดยรอบโอบล้อมด้วยป่าทาม แม่น้ำมูน และเขื่อนราษีไศล รวมถึงสำนักงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง (กรมชลประทาน) ทิศเนือติดต่อกับเขตอนุรักษ์วังปลาและปลาทาม ทิศใต้มีอาณาเขตติดกับเขื่อนราษีไศล ทิศตะวันออกมีอาณาเขตติดกับพื้นที่ป่าทาม และทิศตะวันตก มีอาณาเขตติดกับแม่น้ำมูนตอนล่าง

ศูนย์กลางของสมาคม คือ อาคารและพื้นที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเครือข่ายทามมูล โดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-2555 และกรมชลประทานสนับสนุนที่ดินบริเวณใกล้ตัวเขื่อนและสำนักงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่างจำนวน 23 ไร่ ภายในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ มีการจัดสรรพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์และเรียนรู้ให้กับทั้งสมาชิกในเครือข่ายเองและบุคคลภายนอก เช่น พื้นที่อนุรักษ์วังปลา พื้นที่เพาะพันธุ์กล้าไม้ พื้นที่ป่าทาม พื้นที่ทำการเกษตรสาธิตและพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ข้าวท้องถิ่น เป็นต้น สำหรับพื้นที่สำนักงานเป็นอาคารชั้นเดียว 2 ห้องติดกัน ฝั่งหนึ่งเป็นสำนักงานของสมาคม และอีกฝั่งเป็นห้องสมุดสนั่น ชูสกุล ที่รวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับชุมชนเครือข่ายคนทาม

นอกจากนี้ยังมีศาลาเอนกประสงค์จำนวน 3 ศาลา ศาลาเอนกประสงค์หลังใหญ่ใช้เป็นที่ประชุมวงแกนนำบ้านในทุกวันที่ 7 ของทุกเดือน ศาลาพ่อครัวใหญ่หลังเล็กใช้เป็นที่ประชุมวงในขนาดเล็ก และศาลาขนาดย่อมที่ใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตประมง บ้านพักรับรองจำนวน 1 หลัง กลุ่มบ้านพักของเจ้าหน้าที่โครงการทามมูลและสมาชิกเครือข่ายที่เป็นชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบที่อาศัยอยู่ถาวร จำนวนประมาณ 3 หลัง ใกล้กับยุ้งฉางส่วนกลางของสมาคม สำหรับจัดเก็บข้าวที่ได้จากการรวบรวมในงานประเพณีบุญกุ้มข้าวใหญ่ประจำปีบริเวณรอบข้างตรงส่วนใกล้ทางเข้ามีศาลเจ้าพ่อปู่ดำ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนในบริเวณนี้ให้ความนับถือ ซึ่งเชื่อกันว่าพ่อปู่ดำคือผู้ดูแลรักษาอาณาเขตบริเวณที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้ฯ และเขื่อนราษีไศล ส่วนร้านกาแฟทามคอฟฟี่ เป็นส่วนหนึ่งของวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่โครงการทามมูล

การรวมตัวกันภายใต้ 'เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล' หรือ 'สมาคมคนทาม' ก็ตาม ทำให้ชาวบ้านมีการประกอบสร้างอัตลักษณ์ร่วม (collective identity) ขึ้นใหม่เพื่อใช้ร่วมกันในนาม 'คนทาม' ในบทเพลงคนทาม โดยวงคนทาม (2556) ได้สะท้อนอัตลักษณ์ร่วมของคนทามว่า

“คนทามจึงประกาศศักดิ์ศรี รวบรวมน้องพี่สร้างชีวิตใหม่ จัดตั้งองค์กรให้เข้มแข็ง รวมหมู่ รวมแฮง เป็นพลังยิ่งใหญ่ แม้ใครจะเหยียดหยามแต่เราคนทามยังสู้ต่อไป" ("บทเพลงคนทาม," วงคนทาม, 2556)

คนทามที่วงคนทามนำเสนอหมายถึง กลุ่มคนที่รวมกลุ่มกันจัดตั้งองค์กรของตนให้มีความเข้มแข็งและรวมพลังเพื่อจะร่วมกันสู้ต่อไป กระนั้น ความหมายข้างต้นคือการนิยามคนทามในลักษณะองค์กรหรือสถาบัน สิริภัทร นาคนาม (2565) ได้พูดคุยกับไทบ้านเกี่ยวกับการนิยามตัวตนและอัตลักษณ์ของตนเองในนาม 'คนทาม' ที่แตกต่างออกไป 

แม่เพ็ง บ้านนางเข็ม ตำบลยางสว่าง อำเภอรัตนบุรี แกนนำรุ่นแรกเป็นหนึ่งในคนที่เสนอให้เรียกกันว่า “คนทาม” เพราะเรามีลุ่มน้ำ มีบ้านอยู่ในทาม ทามในเขตรัตนบุรีใหญ่มาก เป็นทามในห้วยทับทัน เป็นน้ำสาขาของแม่น้ำมูน (แม่เพ็ง, สัมภาษณ์ มิถุนายน 2565 ใน สิริภัทร นาคนาม, 2565) 

หรือในกรณีของพ่อเที่ยง แกนนำรุ่นแรกผู้ได้รับผลกระทบในช่วงแรกของการสร้างเขื่อนและเข้าร่วมขุมนุมตั้งแต่ปี 40 มองว่า “ความเป็นทามอยู่ในสำนึก ถึงจะไม่มีทามแล้ว แต่ยังเหลือชื่อไว้ก็ยังดี อย่างพ่อ เมื่อก่อนเคยเลี้ยงควาย 20 ตัวแต่พอเขื่อนมา ทามโดนน้ำท่วม วัวควายก็เลี้ยงไม่ได้ เลยต้องขายทิ้งหมด” (พ่อเที่ยง, สัมภาษณ์ 8 มิถุนายน 2565 ใน สิริภัทร นาคนาม, 2565)

และแม่ทับทิมแกนนำรุ่นสอง ผู้สืบทอดและสานต่ออุดมการณ์ของแม่ตนเอง เล่าว่า “กว่าจะเห็นว่าทามสำคัญ มันเหมือนไม้งามยามขวานบิ่น กว่าจะเห็นว่าทามสำคัญกับชีวิตคือตอนนี้แทบจะไม่มีทามแล้ว” (แม่ทับทิม, สัมภาษณ์ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ใน สิริภัทร นาคนาม, 2565)

แม้จะมีความเห็นที่ต่างกัน แต่จุดร่วมกันอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ การนิยามว่า "คนทาม" คือ ผู้มีชีวิตอาศัยอยู่ในระบบนิเวศบุ่งทาม พื้นที่ทามมีความสำคัญเท่ากับพื้นที่ชีวิต ชาวบ้านมีการยังชีพด้วยการเข้าไปหากินในบุ่งทาม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าวในนาทาม การเลี้ยงวัวควาย การทำประมง การหามันแซง การต้มเกลือ การหาเห็ด แต่เมื่อการสร้างเขื่อน ทำให้ระบบนิเวศทามเปลี่ยนแปลงไปการดำรงชีพที่เคยพึ่งพิงทามก็เปลี่ยนไป

การกลายมาเป็นคนทาม (becoming 'Tam') ซ้อนทับกับอัตลักษณ์ผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ การเลือกใช้คำว่า “ทาม” เป็นการสะท้อนความเป็นท้องถิ่นเพื่อยืนยันตัวตนของคนทาม และความเป็นคนทามยังยึดโยงกันด้วยความเป็นเครือข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอใน 3 จังหวัดของผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา คือ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด และอำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ อัตลักษณ์ 'คนทาม' ราษีไศล จึงไม่ได้จำกัดอยู่ตามภูมิรัฐศาสตร์ที่กำหนดโดยกรอบรัฐชาติ แต่เป็นเครือข่ายอัตลักษณ์ที่อยู่ร่วมกันภายในนิเวศวิทยาเดียวกัน

นอกจากนี้การประกอบสร้างความเป็นชุมชนเครือข่ายคนทามยังวางอยู่บนแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมชุมชนและสิทธิชุมชน โดยการนำวิถีชีวิต วัฒนธรรม ตลอดจนประเพณีของความเป็นอีสานแบบสังคมเกษตรกรรม มาประกอบกันเป็นอัตลักษณ์ที่ซ้อนทับอีกชั้นหนึ่ง

สามก้อนเส้า หุงข้าวกินได้ สามก้อนเส้าหมู่เฮาภูมิใจ สามก้อนเส้าสิพาก้าวไป สร้างชีวิตใหม่ สดใส สมบูรณ์ อีกหนึ่งความหมายของสามเส้านี้ คือทฤษฎีของเฮาคนจน เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ศูนย์การเรียนรู้ สมาคม และกองทุนสวัสดิการ ("บทเพลงสามก้อนเส้า," วงคนทาม, 2556)

แม้สมาคมคนทามจะมีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นองค์กรนิติบุคคล แต่ก็มีการนำภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอีสาน/ทาม อันเป็นอัตลักษณ์ร่วมกันของสมาชิกภายในเครือข่ายมาพัฒนาเป็นหลักบริหารจัดการองค์กร นั่นคือ 'ทฤษฎีสามก้อนเส้า' โดยเปรียบเทียบโครงสร้างองค์กรกับเสาการค้ำของหม้อข้าว การคํ้าจุนหม้อข้าวด้วยก้อนเส้าทำให้หม้อข้าวไม่เอียง หลักคิดดังกล่าวสะท้อนผ่านบทเพลงสามก้อนเส้าของวงคนทาม (2556) โดยแต่ละก้อนเส้าสะท้อนบทบาทขององค์กร ดังนี้

ก้อนเส้าที่ 1 สมาคมคนทาม: องค์กรเครือข่ายเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตวิถีชุมชน เศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติ

สมาคมคนทามเกิดขึ้นจากการรวมตัวขององค์กรเครือข่ายชาวบ้าน 2 องค์กร คือ เครือข่ายองค์กรชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ป่าทามแม่น้ำมูน (เครือข่ายฝั่งเขื่อนราษีไศล) และเครือข่ายฮักแม่มูนเมือองศรีสะเกษ (เครือข่ายฝั่งเขื่อนหัวนา) ซึ่งเป็นเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ส่วนหนึ่งของโครงการโขง ชี มูน โครงการผันน้ำขนาดใหญ่ของรัฐเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอีสาน สมาชิกเครือข่ายคนทามอยู่อาศัยครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ และอำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด ก่อนหน้านี้ได้มีการรวมตัวกันภายใต้ชื่อ “สมัชชาคนจน” มาก่อน และปัจจุบันก็ยังคงประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศเพื่อประสานงานดำเนินงาน และเจรจาต่อรองกับภาครัฐ

ภายหลังการชุมนุมอันยาวนานจำนวน 189 วันบนสันเขื่อน ในนามสมัชชาคนจน ช่วงปี พ.ศ. 2552 เครือข่ายดำเนินการถอดบทเรียนและกำหนดทิศทางในการดำเนินงานใหม่เพื่อการสร้างสรรค์อนาคต สร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบเองตลอดจนกลุ่มคนบริเวณลุ่มน้ำมูนตอนกลาง จึงมีมติร่วมกันให้จัดตั้งสมาคมคนทามเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553 และจดทะเบียนเป็นองค์กรนิติบุคคลอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อ “สมาคมคนทาม” เมื่อวันที่ 7 เดือนมกราคม พ.ศ. 2554 เพื่อเป็นองค์กรหลักในการสร้างอำนาจต่อรองให้แก่สมาชิกในเครือข่าย ให้รัฐและสังคมภายนอกให้การยอมรับ อีกทั้งยังเป็นหลักยึดร่วมกันเพื่อสร้างความสามัคคีกลมเกลียวให้แก่สมาชิก (แม่ศรี, สัมภาษณ์ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ใน สิริภัทร นาคนาม, 2565; อาภาพรรณ ทองเรือง, 2564; เครือข่ายองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม, 2558)

สมาคมคนทามจะทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของเครือข่าย โดยจะแบ่งการทำงาน 2 ลักษณะควบคู่กันไป ได้แก่ งานด้านการพัฒนาต่าง ๆ (งานเย็น) จะดำเนินกิจการภายใต้ชื่อ “สมาคมคนทาม” และงานด้านการเคลื่อนไหวเรียกร้องค่าชดเชย (งานร้อน) ดำเนินงานภายใต้ชื่อ “สมัชชาคนจน” โดยแบ่งโครงสร้างการดำเนินเคลื่อนไหวเรียกร้องค่าชดเชยเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ฝั่งเขื่อนราษีไศล และฝั่งเขื่อนหัวนา

คณะทำงานหลักของสมาคมคนทาม คือ กองเลขา ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จากองค์กรพัฒนาเอกชน “โครงการทามมูล” ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินงานหลักร่วมกับชาวบ้าน โดยทำหน้าที่เป็นแกนกลางจัดการ ประสานงาน ขับเคลื่อน ดูแลภาพรวมของการทำงานเครือข่าย และทำงานใกล้ชิดกับสมาชิกส่วนแกนนำชาวบ้านในวงตัดสินใจ (เรียกว่า วงสาวน้อย) ซึ่งประกอบไปด้วย นายกสมาคมคนทาม อุปนายกสมาคม และแกนนำหลักจากส่วนงานอื่น ๆ จำนวนประมาณ 10-12 คน รวมกองเลขา

ในวงประชุมการตัดสินใจแต่ละครั้งจำนวนแกนนำหลักจะยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ นอกจากนี้ยังมีแกนนำหลักที่อยู่ในวงแกนนำชาวบ้านเป็นตัวแทนของสมาชิกจากหมู่บ้านต่าง ๆ ครอบคลุมพื้นที่ที่สมาชิกเครือข่ายอาศัยอยู่ (เรียกว่า วงพ่อครัวใหญ่) สมาชิกเหล่านี้จะเข้ามาร่วมการประชุมประจำเดือนของสมาคมคนทามทุกวันที่ 7 ของเดือน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน พูดคุย รายงานความก้าวหน้าและแจ้งข่าวสารของแต่ละบ้าน รวมถึงมาดำเนินกิจการของสมาคมร่วมกัน เช่นการจัดการเรื่องเงินออมในกองทุนสวัสดิการ เป็นต้น

ก้อนเส้าที่ 2 กองทุนสวัสดิการ

กองทุนสวัสดิการทำหน้าที่สร้างหลักประกันให้กับสมาชิก เป็นการสร้างสังคมภายในที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยสนับสนุนให้มีการเก็บออม มีสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพ มีการลงทุนด้านต่าง ๆ ทั้งของกลุ่มสมาชิกและการจัดการสวัสดิการให้แก่สมาชิกอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 มีการดำเนินงานโดยระบบเงินออมวันละ 1 บาท ปัจจุบันมีสมาชิกกองทุนจำนวน 2,009 คน และเงินออมรวมประมาณ 1.7 ล้านบาท

กองทุนมีการจัดสรรสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกเมื่อมีการเกิดเจ็บป่วย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือกรณีเสียชีวิต เป้าหมายในการดำเนินงาน คือ การสร้างความเข้มแข็งของการจัดระบบสวัสดิการให้แก่สมาชิกด้วยการพัฒนาทักษะของสมาชิกผู้ดูแลกองทุน และพัฒนาระบบการทำงานให้มีความทันสมัย ตลอดจนมีการคิดริเริ่มจะพัฒนาธนาคารสินเชื่อคนทามขึ้นในการดำเนินงานต่อไป

ก้อนเส้าที่ 3 ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเครือข่ายทามมูน

สมาคมได้รับการจัดสรรที่ดินส่วนที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจเครือข่ายทามมูน (ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกันกับที่ตั้งของสำนักงาน) จากกรมชลประทาทน เพื่อสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ แหล่งประสานงาน และจัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในอนาคต ในการดำเนินงานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนแผนงานศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงจากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นพื้นที่เรียนรู้ปฏิบัติทดลองอาชีพ การฟื้นฟูทรัพยากร พลังงานทางเลือก เพื่อขยายผลสู่สมาชิก เป็นศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป (วราลักษณ์ ไชยทัพ, 2561) ปัจจุบันในส่วนของศูนย์การเรียนรู้มีการแบ่งการทำงานออกเป็นกิจกรรมย่อยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ตลาดนัดสีเขียวคนทาม จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2557 เป็นตลาดรวมผลผลิตอินทรีย์ปลอดสารของสมาชิกเครือข่ายมาขายเพิ่มพูนรายได้แก่สมาชิก ปัจจุบันมีสมาชิกผู้เป็นแม่ค้าในตลาดจำนวน 25 ราย จัดจำหน่ายสินค้าบริเวณที่ว่าการอำเภอราษีไศล เวลาเช้าตรู่ไปจนกระทั่งสายของทุกวันอังคารและพฤหัสของสัปดาห์ (เดิมตลาดมีเพียง 1 วันต่อสัปดาห์ ภายหลังมีการเพิ่มจำนวนวันขายเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2565) สินค้าภายในตลาดมีความหลากหลายตามแต่ช่วงเวลาของผลผลิตที่ได้ มีทั้งที่เป็นผักผลไม้ตามฤดูกาล ข้าวเหนียว และเมนูอาหารคาวหวานปรุงสุกพร้อมรับประทาน

วิสาหกิจชุมชน จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2563 เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าจากท้องถิ่น ได้แก่ กิมจิไทบ้านจากต้นหอมอินทรีย์และผักกาดขาวซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ได้จากสมาชิกภายในเครือข่าย นอกจากนี้ยังมีปลากรอบที่ทำการอบแห้งเพื่อนำไปประกอบอาหารอื่นๆและปลากรอบปรุงรสรับประทานเป็นอาหารว่าง ซึ่งเป็นสินค้าแปรรูปที่ใช้ประโยชน์จากปลาขนาดเล็กที่ได้จากแม่น้ำมูน

ร้านกาแฟคนทาม เริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2563

สภาพสังคมของผู้คนที่อาศัยอยู่รอบป่าทามราษีไศลในลุ่มนํ้ามูนตอนกลาง ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มีลักษณะวัฒนธรรมและวิถีชิวิตในรูปแบบคล้ายคลึงกัน หมู่บ้านหลายแห่งยังดำรงวิถีความสัมพันธ์แบบครอบครัวและเครือญาติ รวมถึงการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าทามเพื่อการดำเนินชีวิต ดังในบทเพลงผู้คุ้มครอง ของวงคนทามที่สะท้อนวิถีแบบนี้ว่า

“กินอยู่อย่างเข้าใจดิน ทำมาหากินอย่างเข้าใจฟ้าสั่งสอนลูกหลานสืบมา ฮีตคองปู่ย่าเจ้าจงจดจำ” ("บทเพลงผู้คุ้มครอง", วงคนทาม, 2556)

รูปแบบวิถีชีวิตที่สะท้อนผ่านประเพณีและความเชื่อของผู้คนในพื้นที่ คือ “ประเพณีฮีตสิบสองคองสิบสี่” ซึ่งวิถีปฏิบัติเฉพาะแบบพื้นถิ่นอีสานที่มีการหมุนเวียนกันไปในแต่ละเดือนของปี คำว่า "ฮีต" หมายถึง จารีตการปฏิบัติที่สืบต่อกันมาจนกลายเป็นเพณีสิบสองเดือนตามปฏิทินจันทรคติ (สิทธิชัย ระหานนอก และคณะ, 2565คำว่า "ฮีตสิบสอง" จึงหมายถึงประเพณี 12 เดือนที่เกี่ยวเนื่องกับหลักทางพุทธศาสนา ความเชื่อและการดำรงชีวิตทางเกษตรกรรม ซึ่งชาวอีสานยึดถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ แต่ละเดือนมีประเพณีหรือเทศกาลที่สำคัญ ดังนี้

  • เดือนอ้าย (เดือนธันวาคม) : งานบุญข้าวกรรม ประเพณีที่พระสงฆ์จะปฏิบัติธรรมเพื่อให้พ้นจากกิเลส มีการให้ทานรักษาศีลภาวนาและแผ่เมตตา
  • เดือนยี่ (เดือนมกราคม) และเดือนคู่ : งานบุญคูนลาน หรือ บุญกุ้มข้าวใหญ่ ทำในช่วงที่ผู้ปฏิบัติกำหนดฤกษ์วันที่ดีและเหมาะสม เหมาะสำหรับการประกอบพิธีงานบุญหรืองานมงคลต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น สำหรับงานบุญคูนลานหรืองานบุญกุ้มข้าวใหญ่ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ทำบุญจะทำที่ยุ้งฉางในบ้านหรือวัดประจำหมู่บ้าน ภายหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ชาวบ้านจะนำข้าวมานวดบริเวณลานนวดข้าวก่อนใส่ในยุ้งฉาง และทำการเลี้ยงผีหรือพระแม่โพสพ
  • เดือน 3 (เดือนกุมภาพันธ์) : งานบุญข้าวจี่ ทำในช่วงที่ไทบ้านว่างเว้นจากการทำไร่ทำนาและมีการเดินทางไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องในต่างบ้าน จึงมีการเตรียมข้าวจี่หรือข้าวเหนียวปิ้งไว้เป็นเสบียง รวมถึงทำไว้เพื่อถวายให้พระสงฆ์ที่วัดก่อนที่ตนจะออกเดินทาง เพราะเกรงว่าเมื่อตนไม่อยู่บ้าน และพระสงฆ์บิณฑบาตจะไม่ได้รับบิณฑบาต
  • เดือน 4 (เดือนมีนาคม) : งานบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติ เกิดขึ้นในช่วงหลังเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวและนิยมทำในช่วงเวลาออกพรรษา โดยมีการจัดงานทำบุญและฟังเทศน์มหาชาติ ภายในงานยังมีพิธีที่เรียกว่า “แห่ข้าวพันก้อน” คือการนำข้าวเหนียวที่นึ่งแล้วมาปั้นแล้วเสียบกับไม้ให้ได้จำนวน 1,000 ก้อน เพื่อนำไปปักไว้ที่เสาธงที่ใช้ประกอบพิธีกรรมในวัดโดยมีความเชื่อว่าการทำบุญด้วยข้าวพันก้อนจะได้บุญ
  • เดือน 5 (เดือนเมษายน) : ประเพณีสงกรานต์ หรือการขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ
  • เดือน 6 (เดือนพฤษภาคม) : งานประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีขอฝนของคนอีสาน จัดในช่วงต้นฤดูฝนก่อนเข้าสู่ฤดูทำนา เพื่อเป็นการบูชาพญาแถน ซึ่งเป็นเทพารักษ์หรือเทวดาผู้รักษาท้อองฟ้าให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
  • เดือน 7 (เดือนมิถุนายน) งานบุญชำฮะ หรือ ชำระ เป็นงานบุญเพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก เรื่องเศร้าหมอง และมลทิน โดยทำความสะอาดสิ่งของต่าง ๆ เช่น เครื่องนุ่งห่มต่างๆ เครื่องใช้ที่สกปรก แล้วนำไปถวายทานที่วัด เพื่อส่งผลให้ร่างกายจิตใจสะอาดผ่องใสและอยู่เย็นเป็นสุข
  • เดือน 8 (เดือนกรกฎาคม) : งานบุญเข้าพรรษา เป็นช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูกาลทำนาของเหล่าไทบ้าน พระสงฆ์ต้องจำพรรษาในวัดโดยไม่ออกไปสถานที่ต่างๆ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในช่วงนี้จะมีประเพณีแห่เทียนพรรษา ไทบ้านจะทำการบริจาคขี้ผึ้งเพื่อมาหล่อเทียนพรรษาและประดับตกแต่งต้นเทียนให้มีความสวยงาม และนำไปถวายให้แก่พระสงฆ์ไว้ใช้ในช่วงเข้าพรรษา
  • เดือน 9 (เดือนสิงหาคม) : งานบุญข้าวประดับดิน จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับเหล่าผีไม่มีญาติ โดยนำพาหวาน (ข้าวคลุกน้ำตาล) ข้าว ปลาร้าปลาแดก ผลไม้ต่างๆ วางไว้ตามบริเวณต่าง ๆ ตามวัดเพื่อเลี้ยงผี เชื่อกันว่าในรอบหนึ่งปี ยมบาลจะปล่อยผีเปรตให้ออกมาหากินปีละครั้ง โดยจะปล่อยเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้นในช่วงเวลา ตีสี่ถึงหกโมงเช้า
  • เดือน 10 (กันยายน) งานบุญข้าวสาก เป็นการทำบุญให้กับพ่อแม่และบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงการทำบุญให้กับผีไฮ่ (ผีไร่) ผีนา ผีสวน โดยมีความเชื่อว่าวันนี้จะเป็นวันที่เทวดาเปิดภูมิอีกโลกหนึ่งให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วมารับของที่ญาติพี่น้องทำทานไปให้
  • เดือน 11 (เดือนตุลาคม) : งานบุญออกพรรษา ภายหลังเสร็จสิ้นจากการเก็บเกี่ยวข้าวในนา พระสงฆ์ที่วัดก็จะออกจากการจำพรรษา ในงานบุญจะมีการาห่อข้าวต้ม ห่อขนมเช่นงานบุญเดือนอื่น ๆ มีการทอดกฐินไปจนถึงเดือนสิบสอง โดยมีการเตรียมการตั้งแต่เดือนสิบ
  • เดือน 12 (เดือนพฤศจิกายน: ในช่วงเดือนนี้มีการเสร็จสิ้นการทอดกฐิน และเป็นมีงานบุญอัฐถาเพื่อทำบุญให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้ว โดยมีการห่อข้าวต้ม ห่อขนมเพื่อนำไปทำบุญทที่วัดเช่นกัน

นอกจากประเพณีงานบุญตามประเพณีฮีตสิบสองแล้ว ในส่วนของคองสิบสี่ อันหมายถึง บทบัญญัติทางสังคมของชาวอีสานให้เป็นหลักปฏิบัติต่อกัน เป็นคำบอกเล่าขานสืบต่อกันมา มีการสันนิษฐานไว้ใน 2 ความหมายว่า คอง มาจากคำว่า คลอง หรือ ครรลอง หมายถึง ครรลองคลองธรรม หรือคำว่า ครอง ซึ่งเป็นคำกริยาอันมีความหมายถึง การรักษาไว้ ซึ่งรวม ๆ แล้วหมายถึง แนวทางที่ประชาชนทั่วไปและและพระสงฆ์พึงปฏิบัติ 14 ประการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ประเภทของทุนรูปธรรม
ทุนกายภาพ
  • เขื่อนราษีไศล
  • อาคารศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเครือข่ายทามมูล
  • ป่าบุ่งป่าทามราษีไศล
  • ศาลเจ้าพ่อปู่ดำ
ทุนความรู้
  • ทฤษฎีสามก้อนเส้า
  • งานบุญกุ้มข้าวใหญ่
ทุนเศรษฐกิจ
  • กองทุนสวัสดิการ
  • ตลาดสีเขียวคนทาม
ทุนองค์กร
  • คณะกรรมการร่วมอนุรักษ์ป่าทามแม่น้ำมูน 3 จังหวัด (คอปม.)
  • เครือข่ายองค์กรชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ป่าทามแม่น้ำมูน (เครือข่ายฝั่งเขื่อนราษีไศล)
  • เครือข่ายฮักแม่มูนเมืองศรีสะเกษ (เครือข่ายฝั่งเขื่อนหัวนา)
  • สมาคมคนทาม
ทุนการเมือง
  • ส่วนกองเลขาสมาคมคนทาม
  • แกนนำหลักในวงตัดสินใจ (วงสาวน้อย)
  • แกนนำชาวบ้านที่เป็นตัวแทนของสมาชิกจากหมู่บ้านต่าง ๆ (วงพ่อครัวใหญ่)
  • นายกสมาคมคนทาม
  • อุปนายกสมาคม
ทุนศาสนา
  • ฮีตสิบสองคองสิบสี่
  • ความเชื่อเรื่องญาพ่อ
  • ศาลเจ้าพ่อปู่ดำ
ทุนภาคีเครือข่าย
  • สมัชชาเกษตรกรอีสาน
  • สมัชชาลุ่มน้ำมูน 
  • สมัชชาคนจน
  • เครือข่ายองค์กรชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ป่าทามแม่น้ำมูน (เครือข่ายฝั่งเขื่อนราษีไศล)
  • เครือข่ายฮักแม่มูนเมืองศรีสะเกษ (เครือข่ายฝั่งเขื่อนหัวนา)
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เขตอนุรักษ์วังปลาและปลาทาม
เขื่อนและพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บทสัมภาษณ์

  • แม่ผา กองธรรม, สัมภาษณ์, 9 มิถุนายน 2565 ใน สิริภัทร นาคนาม. (2565). รวมคน รวมทุน รวมความรู้การศึกษาบทเรียนการรวมกลุ่มอย่างมีส่วนร่วม ผ่านกลไกงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ของชุมชนเครือข่ายคนทาม (รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์). เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่.
  • แม่ศรี, สัมภาษณ์,  มิถุนายน  2565 ใน สิริภัทร นาคนาม. (2565). รวมคน รวมทุน รวมความรู้การศึกษาบทเรียนการรวมกลุ่มอย่างมีส่วนร่วม ผ่านกลไกงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ของชุมชนเครือข่ายคนทาม (รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์). เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่.
  • พ่อประดิษฐ์ โกศล, สัมภาษณ์, 11 กรกฎาคม 2565 ใน สิริภัทร นาคนาม. (2565). รวมคน รวมทุน รวมความรู้การศึกษาบทเรียนการรวมกลุ่มอย่างมีส่วนร่วม ผ่านกลไกงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ของชุมชนเครือข่ายคนทาม (รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์). เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่.
  • ปราณี มรรคนันท์, สัมภาษณ์, 8 มิถุนายน 2565 ใน สิริภัทร นาคนาม. (2565). รวมคน รวมทุน รวมความรู้การศึกษาบทเรียนการรวมกลุ่มอย่างมีส่วนร่วม ผ่านกลไกงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ของชุมชนเครือข่ายคนทาม (รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์). เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่.

เอกสาร สิ่งพิมพ์ และสื่อสารสนเทศ

  • เครือข่ายองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม. (ม.ป.ป.). รายละเอียดข้อมูลสมาชิกสมาคมคนทาม. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2566. https://datacenter.deqp.go.th/
  • ดารารัตน์ กันทวงศ์. (2560). การต่อสู้และการฟื้นฟูวิถีชีวิตผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล. [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม]. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
  • ประภาส ปิ่นตบแต่ง. (2541). การเมืองบนท้องถนน: 99 วัน สมัชชาคนจนและประวัติศาสตร์การเดินขบวน ชุมนุมประท้วงในสังคมไทย. กรุงเทพฯศูนย์วิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก.
  • ราลักษ์ ไชยทัพ. (2561). ป่าทาม ป่าไทย วิถีชีวิต คุณค่า และการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชุ่มน้ำอีสาน. กรุงเทพฯ: กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
  • สิทธิชัย ระหาญนอก, ฉลอง พันธ์จันทร์ และธีระพงษ์ มีไธสง. (2565). พลวัตวัฒนธรรมการใช้ธุงกับประเพณีฮีตสิบสอง ในบริบทวัฒนธรรมอีสาน. วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยวิทยาเชิงพุทธ. 7(4), 180-198.
  • สิริภัทร นาคนาม. (2565). รวมคน รวมทุน รวมความรู้การศึกษาบทเรียนการรวมกลุ่มอย่างมีส่วนร่วม ผ่านกลไกงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ของชุมชนเครือข่ายคนทาม (รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์). เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่.
  • อาภาพรรณ ทองเรือง. (2564)การสื่อสารของสมาคมคนทามในการอนุรักษ์แม่น้ำมูล. [วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการเมืองการปกครอง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม]. มหาสารคามมหาวิทยาลัยมหาสารคาม.