Advance search

บ้านร่องห้า

บ้านฮ่องห้า

ท่าจำปีกลิ่นหอมกรุ่น ร่วมทำบุญประเพณีผีขุนน้ำ ธรรมชาติงดงามห้วยแม่ตุ้ม แหล่งชุมนุมผลิตภัณฑ์งานจักสาน

หมู่ที่ 3 ถนน 1193
บ้านร่องห้า
ท่าจำปี
เมืองพะเยา
พะเยา
ศศิธร ปัญจโภคศิริ
24 เม.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
1 พ.ค. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
16 พ.ค. 2023
บ้านร่องห้า
บ้านฮ่องห้า

บ้านแห่งนี้เดิมทีมีลำห้วยไหลผ่านมีต้นไม้ขึ้นตามลำห้วยซึ่งมีทั้งมะห้าและต้นตะเคียนเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกชุมชนที่อยู่บริเวณดังกล่าวว่า บ้านร่องห้าห้วยเคียน ต่อมาเมื่อหมู่บ้านขยายตัวมากขึ้นจึงแยกหมู่ที่ 3 ออกเป็นหมู่ที่ 10 (บ้านห้วยเคียน) โดยอาศัยลำห้วยฝากละด้านแล้วตั้งชื่อตามลักษณะพื้นที่ดังกล่าว (พระครูโสภณปริยัติสุธี, รศ.ดร. ถิรธมฺโม)


ชุมชนชนบท

ท่าจำปีกลิ่นหอมกรุ่น ร่วมทำบุญประเพณีผีขุนน้ำ ธรรมชาติงดงามห้วยแม่ตุ้ม แหล่งชุมนุมผลิตภัณฑ์งานจักสาน

บ้านร่องห้า
หมู่ที่ 3 ถนน 1193
ท่าจำปี
เมืองพะเยา
พะเยา
56000
เทศบาลตำบลท่าจำปี โทร. 0-5446-3088
19.23947166
99.82652485
เทศบาลตำบลท่าจำปี

เดิมบ้านร่องห้าขึ้นอยู่กับตำบลบ้านต๊ำ หมู่ที่ 14 อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย ประมาณปี พ.ศ. 2492 มีชาวบ้านจำนวน 3 ครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานโดยมีนายอ้าย ยานะ เป็นผู้นำชุมชนคนแรกของหมู่บ้าน หมู่บ้านร่องห้าเดิมมีประเพณีการฝังศพภายหลังมาเปลี่ยนเป็นวิธีการเผาเนื่องจากป่าช้าเต็ม

ปี พ.ศ. 2520 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ยกฐานะอำเภอพะเยา ขึ้นเป็น จังหวัดพะเยา ในวันที่ 28 สิงหาคม 2520 ตำบลท่าจำปีเดิมขึ้นกับตำบลบ้านต๊ำ ต่อมามีหมู่บ้านมากขึ้น ซึ่งพอจะแยกเป็นตำบลได้ สภาตำบลจึงพิจารณาขอเสนอแยกตำบล โดยใช้ชื่อว่า "หมู่บ้านทุ่งผาสุก" แต่ไม่ได้รับอนุมัติ ต่อมาจึงขอแยก ใช้ชื่อว่า "ตำบลตุ้มท่าเจริญชัย" ก็ยังไม่ได้รับอนุมัติ กระทั่งปี 2529 ได้รับการอนุมัติจากทางราชการ แยกเป็น “ตําบลท่าจําปี”

เมื่อปี พ.ศ. 2524 มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านคนแรกของหมู่บ้านชื่อ นางขาว หาขาย ต่อมาปีพ.ศ. 2528 ได้ก่อตั้งสถานีอนามัยท่าจำปีขึ้นกระทั่งปี

วันที่ 17 ตุลาคม 2529 ตั้งตำบลท่าจำปี แยกออกจากตำบลบ้านต๊ำ มา 7 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ 1 บ้านต๊ำนกกก, หมู่ 2 บ้านต๊ำเหล่า, หมู่ 3 บ้านร่องห้า, หมู่ 4 บ้านท่าต้นศรี, หมู่ 5 บ้านตุ้มท่า, หมู่ 6 บ้านท่าจำปี, หมู่ 7 บ้านตุ้มดง บ้านร่องห้า ได้ปรับเปลี่ยนจากหมู่ที่ 14 ตำบลบ้านต๊ำ เป็นหมู่ที่ 3 ตำบลท่าจำปี

ต่อมาในปี ในปี พ.ศ. 2530 ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างสถานีอนามัยตำบลท่าจำปีแห่งใหม่ บนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ซึ่งได้รับบริจาคที่ดินจาก นายคำตั๋น โตปินใจ และนางคำ มินบำรุง ทั้งนี้ได้เปิดให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2530 มีนางสาววรวรรณ คำดี เป็นหัวหน้าสถานีอนามัยตำบลท่าจำปี คนแรก

ตำบลท่าจำปี เป็นตำบลเล็ก ๆ ตำบลหนึ่งในเขตพื้นที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา แยกมาจากตำบลบ้านต๊ำ ในปี 2529 ปัจจุบันมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 1,057 หลัง ประชากรอาศัยอยู่จริง 3,233 คน

  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองพะเยา
  • ทิศใต้ ติดกับ ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมืองพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลแม่ปืม อำเภอเมืองพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ เขตอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง

ตำบลท่าจำปี แบ่งเขตการปกครองออกเป็นหมู่บ้าน จำนวน 11 หมู่บ้าน ในพื้นที่ตำบลมีหน่วยงานราชการ/ท้องถิ่น และสถานประกอบการที่สำคัญ ดังนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 แห่ง คือ เทศบาลตำบลท่าจำปี โรงเรียนมัธยม จำนวน 1 แห่ง โรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 2 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 1 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในกำกับของเทศบาล จำนวน 1 แห่ง มีศูนย์การเรียนรู้ตามอัธยาศัย 1 แห่งตั้งอยู่ในเทศบาล และวัดต่าง ๆ รวม 8 แห่ง นอกจากนั้นมีโรงงานผลิตท่อใยหิน 1 แห่ง ร้านขายวัสดุงานก่อสร้าง จำนวน 3 แห่ง ตลาดสดประเภทที่ 1 ไม่มี ตลาดสดประเภทที่ 2 มีจำนวน 1 แห่ง ไม่มีร้านอาหาร มีเฉพาะแผงลอยจำหน่ายอาหารสด/แห้งในตำบล 20 แห่ง ร้านค้าร้านชำ จำนวน 24 แห่ง ในจำนวนแผงลอยที่จำหน่ายอาหารในพื้นที่ พบว่าขายอาหารตามสั่ง 2 แห่ง ขายก๋วยเตี๋ยว 7 แห่ง ขายส้มตำ 2 แห่ง และในทุกวันจันทร์ตอนเย็นจะมีตลาดนัดขายอาหารสดและแห้งบริเวณทางแยกเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตุ้มตรงข้ามวัดตุ้มท่าต้นศรี

สภาพภูมิประเทศ เขตตำบลท่าจำปี ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ชนบท เป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีทุ่งนารายรอบ ทิศตะวันตกเป็นที่ราบเชิงเขา ทำไร่ข้าวโพด ถั่วดำ และสวนยางพารา ไม้สัก มีแหล่งน้ำที่สำคัญ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตุ้ม ไหลลงสู่ห้วยแม่ตุ้ม ผ่านหมู่บ้านตุ้มเหนือ หมู่ที่ 6 บ้านท่าจำปี หมู่ที่ 5 บ้านตุ้มท่าต้นศรี หมู่ที่ 4 บ้านตุ้มดง หมู่ที่ 7 และบ้านสัน หมู่ที่ 9 ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำอิง นอกจากนั้นยังมีลำน้ำห้วยเคียน ซึ่งมีต้นน้ำจากห้วยหนองปึ๋ง ไหลผ่านบ้านห้วยเคียน หมู่ที่ 10 ก่อนไหลมาบรรจบกับลำน้ำร่องห้า ซึ่งมีต้นน้ำส่วนหนึ่งมาจากหนองปึ๋ง และดาดน้ำเหมืองจากอ่างเก็บน้ำแม่ตุ้ม ไหลผ่านจากบ้านสายน้ำงาม หมู่ที่ 11 มาบ้านร่องห้า หมู่ที่ 3 แม่น้ำทั้งสองสายจะไหลมาบรรจบกันก่อนไหลไปสู่แม่น้ำอิงทางทิศตะวันออก ลงสู่กว๊านพะเยาต่อไป

แหล่งน้ำดังกล่าวมีประโยชน์อย่างมากในด้านเกษตรกรรม คือ การทำนา ทำสวนไม้ผล โดยเฉพาะปัจจุบันนี้บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตุ้มมีเกษตรกรส่วนหนึ่งหันมาขุดบ่อสำหรับเลี้ยงปลานิลส่งขายทั้งในและนอกพื้นที่ อีกทั้งอ่างเก็บน้ำยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของตำบลท่าจำปี มีนักท่องเที่ยวนิยมมาท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดรายได้หลายแสนบาทในแต่ละปี แต่ก็เริ่มมีผลกระทบต่อแหล่งน้ำกินน้ำใช้ในครัวเรือนหมู่บ้านใกล้ ๆ อ่างเก็บน้ำ เนื่องจากการปล่อยน้ำเสียออกจากบ่อเลี้ยงปลานิลลงสู่แม่น้ำห้วยแม่ตุ้มโดยไม่มีการบำบัด ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งเดือดร้อนจากน้ำบ่อและแม่น้ำห้วยแม่ตุ้มไม่สะอาดเหมือนแต่ก่อน และมีกลิ่นเหม็น จนเป็นเหตุร้องเรียนเกิดขึ้น ยังอยู่ในระหว่างการพูดคุยแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกอบกับในปัจจุบันนี้ทางเทศบาลได้ทำเรื่องการขยายเขตไฟฟ้าเข้าไปถึงอ่างเก็บน้ำ ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานมาอาศัยใกล้ ๆ กับอ่างเก็บน้ำมากขึ้นทุกปี ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนติดกับแหล่งน้ำตลอดแนวทิศตะวันตก-ทิศตะวันออก อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน ไม่กระจัดกระจาย

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านตุ้มท่าต้นศรี หมู่ที่ 4 ตำบลท่าจำปี
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านห้วยเคียน หมู่ที่ 10 ตำบลท่าจำปี
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านสัน หมู่ที่ 9 ตำบลท่าจำปี
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านสายน้ำงาม หมู่ที่ 11 ตำบลท่าจำปี
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและด้านวัฒนธรรมของชุมชน บ้านร่องห้า หมู่ที่ 3 ต.ท่าจำปี อ.เมือง จ.พะเยา พบว่า ส่วนใหญ่กิจกรรมในหมู่บ้านจะเป็นเกี่ยวกับทางการเกษตร คือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทำนาปรัง ช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม มีการปลูกผักสวนครัว เตรียมดินไถนา ช่วงเดือนมิถุนายน หว่านกล้า ปลูกยางพารา และช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคน มีการเกี่ยวข้าวและมีการค้าขายตลอดทั้งปี 

กลุ่มองค์กรในชุมชน มีดังนี้

  • กลุ่ม/กองทุนของหมู่บ้าน
  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน : สมาชิกจำนวน 90 คน
  • กลุ่มสมาชิกตำรวจบ้าน : สมาชิกจำนวน 15 คน
  • กลุ่มแม่บ้าน : สมาชิกจำนวน 15 คน
  • กลุ่ม อสม. : สมาชิกจำนวน 9 คน
  • กลุ่มเลี้ยงวัว : สมาชิกจำนวน 16 คน
  • กลุ่มผู้สูงอายุ : สมาชิกจำนวน 50 คน
  • กลุ่ม กขคจ. : สมาชิกจำนวน 40 คน
  • กลุ่มผักตบชวา : สมาชิกจำนวน 7 คน

วัฒนธรรมชุมชนบ้านร่องห้า หมู่ที่ 3 ตำบลท่าจำปี อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา พบว่าวัฒนธรรมส่วนใหญ่จะเหมือนประเพณีวัฒนธรรมตามล้านนา คือ 

  • เดือนมกราคม : ตานข้าวใหม่
  • เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม : พิธีบวงสรวงเจ้าพ่อประจำหมู่บ้าน, เลี้ยงผีปู่ย่า
  • เดือนเมษายน-พฤษภาคม : ประเพณีวันสงกรานต์ปีใหม่เมือง, วันรดน้ำดำหัวผู้นำชุมชน ผู้สูงอายุ  บิดามารดา, วันสืบชะตาหมู่บ้าน,งานทอดกฐิน ผ้าป่าสามัคคี และมีบรรพชา/อุปสมบทพระภิกษุสามเณร
  • เดือนกรกฎาคม : ประเพณีแห่งเทียนเข้าวัด และเข้าพรรษา
  • เดือนตุลาคม : งานสลากภัต
  • เดือนพฤศจิกายน : ประเพณีเดือนยี่เป็ง, ประเพณีลอยกระทง

1. แม่สมศรี หาขาย  ปราชญ์ด้านสมุนไพร

2. แม่น้อย วงศ์กันทิยะ  ปราชญ์ด้านสมุนไพร

3. พ่อสมบูรณ์ สพานแก้ว  ปราชญ์ด้านสมุนไพร

4. แม่ฟอง มูลเรือน  ปราชญ์ด้านสมุนไพร

5. แม่น้อย เอื้อเฟื้อ  ปราชญ์ด้านสมุนไพร

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบ้านร่องห้า หมู่ที่ 3 มีลักษณะทางนิเวศที่สมดุล มีการทำไร่ทำนา มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 450 ไร่ พื้นที่ทางการเกษตรประมาณ 380 ไร่ และพื้นที่ตั้งบ้านเรือน 70 ไร่ มีลักษณะดินในหมู่บ้านร่องห้า หมู่ที่ 3 โดยทั่วไปเป็นดินร่วนเหมาะแก่การเพาะปลูก การทำนา การเกษตร แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค คือ ตู้กดน้ำอัตโนมัติหมู่บ้าน น้ำบาดาล บ่อน้ำตื้น และมีแหล่งน้ำสาธารณะ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตุ้ม และ แม่น้ำอิง

ภาษาพื้นเมืองล้านนา


ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ การทำเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา (ข้าวเหนียว กข. 6, ข้าวจ้าว กข. 5), การทำไร่ (ข้าวโพด, ถั่วดำ), การทำสวน (ลำไย, ยางพารา, ไม้สัก) ควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์บ้าง ได้แก่ วัวมีทั้งพันธ์ผสมและพื้นเมือง, ควายมีส่วนน้อย, ฟาร์มสุกรขนาดเล็ก การทำประมงน้ำจืด ได้แก่ การเลี้ยงปลานิล นอกจากนั้นมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ และค้าขาย ตามลำดับ ดังนั้นรายได้หลักจึงได้มาจากการขายผลผลิตทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ส่วนรายได้เสริมหลังช่วงฤดูเก็บเกี่ยวทางเกษตรกรรม ได้แก่ อาชีพรับจ้างทั่วไป ผลิตภัณฑ์ชุมชนในครัวเรือน (ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา, ผลิตภัณฑ์จักสาน, ไม้กวาด) นอกจากนี้ยังมีรายได้จากอื่น ๆ เช่น หาของป่าขาย (เห็ด, หน่อไม้, ไข่มดแดง), หาสัตว์น้ำตามธรรมชาติแบ่งขาย เช่น หอย ปู ปลา มีบางรายเพาะเห็ดฟาง เห็ดนางรม รวมถึงการปลูกผักสวนครัวส่งแม่ค้าในตลาด         

พบว่าช่วงกลางวัน กลุ่มวัยทำงานจะไปทำงานนอกบ้านเป็นส่วนใหญ่ ทั้งภาคเกษตรกรรม รับจ้างทั่วไป กรรมกรก่อสร้าง จะมีเฉพาะผู้สูงอายุ คนเจ็บป่วย และเด็กเล็ก ๆ อยู่บ้านเท่านั้น ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ค่อยดี การทำมาค้าขายได้เงินน้อย ราคาผลผลิตทางเกษตรตกต่ำ ชาวบ้านมีภาระหนี้สินและค่าใช้จ่ายในครัวเรือนค่อนข้างสูงจากสินค้าราคาแพง จึงต้องใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 10,000-30,000 บาท/ครัวเรือน/ปี รายจ่ายของประชาชน ค่าดำรงชีพสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายทางการเกษตร ค่างานสังคม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ หนี้สินของประชาชน ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการกู้ยืมกองทุนหมู่บ้าน, หนี้ ธกส., แหล่งเงินทุนกองทุนหมู่บ้านและกองทุน กขคจ. 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ราชกิจจานุเบกษา. (2549). ประกาศจังหวัดพะเยา เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน. เล่ม 123 ตอนพิเศษ 128 ง. 13 ธันวาคม 2549.

ราชกิจจานุเบกษา. (2556). ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. เล่ม 130 ตอนพิเศษ 45 ง. 5 เมษายน 2556.

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.

บุญศิริ สุขพร้อมสรรพและอาทิตย์ ลิมปิยากร. (2564). ภูมินาม-ภาพสะท้อนเมืองพะเยา. วารสารวิชาการเพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่. 2(1). 88-94.

นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 30 (2565). รายงานการวินิจฉัยชุมชนบ้านร่องห้า หมู่ 3 ตำบลท่าจำปี อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา.