ชุมชนติดกับป่า ชาวบ้านหลายคนจึงมีอาชีพหาของป่า ล่าสัตว์ และเลื่อยไม้แปรรูป ส่งผลให้ชุมชนประสบปัญหาความแห้งแล้งอย่างหนักในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในปี 2518 เป็นเหตุให้ชุมชนขณะนั้น เป็นผู้ริเริ่มให้มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำขึ้น โดยจัดเขตให้เป็นเขตป่าชุมชน มีการจัดการป่าโดยชาวบ้านเอง เป็นเครือข่ายต้นแบบของการอนุรักษ์ป่าชุมชนที่เข้มแข็งมาอย่างยาวนาน
คนรุ่นแรกที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดลำปาง เมื่อประมาณ พ.ศ. 2442 มีบ้านเรือนเพียงไม่กี่หลังคา ครั้งนั้นเรียกว่า "บ้านไฮ่แม่ต๊ำ" เพราะชาวบ้านทำไร่ข้าว ต่อมาได้พัฒนาเจริญก้าวหน้าเป็นชุมชนมีวัดและโรงเรียน ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านต๊ำใน"
ชุมชนติดกับป่า ชาวบ้านหลายคนจึงมีอาชีพหาของป่า ล่าสัตว์ และเลื่อยไม้แปรรูป ส่งผลให้ชุมชนประสบปัญหาความแห้งแล้งอย่างหนักในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในปี 2518 เป็นเหตุให้ชุมชนขณะนั้น เป็นผู้ริเริ่มให้มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำขึ้น โดยจัดเขตให้เป็นเขตป่าชุมชน มีการจัดการป่าโดยชาวบ้านเอง เป็นเครือข่ายต้นแบบของการอนุรักษ์ป่าชุมชนที่เข้มแข็งมาอย่างยาวนาน
ประวัติศาสตร์ชุมชนหมู่บ้านต๊ำใน
คำว่า “ต๊ำ” มีความเป็นมาอยู่ 2 แนวคิด คือ แนวคิดที่หนึ่งเป็นแนวคิดเชิงธรรมชาติมีน้ำขุนต๊ำไหลผ่านจึงได้นามตามขุนน้ำว่าบ้านต๊ำ แนวคิดที่สองเป็นแนวคิดเชิงนิทานพื้นบ้าน คือ มาจากคำว่าขะตั๊ม (ภาษาท้องถิ่น หมายถึงเครื่องมือดักสัตว์ชนิดหนึ่ง)มีเรื่องเล่าว่าพ่อขุนงำเมืองไล่จับพ่อขุนรามที่แปลงกายเป็นเสือไปติดกับดัก ณ บริเวณนี้ ดังนั้นบริเวณดังกล่าวจึงได้ชื่อว่าบ้านขะตั๊มต่อมาเพี้ยนเป็นบ้านต๊ำนั้นเอง (www.gotoknow.org, 2561)
พ.ศ. 2440-2449
- พ.ศ. 2442 พ่อแก้ว แม่ปัน (บ้านเดิมอยู่บ้านถ้ำ บ้านปอ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง) ย้ายมาอยู่บ้านต๊ำม่อน หมู่ที่ 6 ต.บ้านต๊ำ อ.เมืองพะเยา จ.เชียงราย ในขณะนั้นได้มาทำไร่ปลูกข้าว และได้สร้างบ้านพักแรมอยู่บริเวณบ้านต๊ำในปัจจุบัน
- พ.ศ. 2445 มีชาวบ้านลับแลเข้ามาสร้างบ้านอยู่ด้วย 3 หลังคาเรือน คือ พ่อเขียว แม่จันทร์ และแม่แดง มาพักทำไร่ข้าวโพดด้วยกันจึงชื่อว่า บ้านไร่แม่ต๊ำ และมีท้าวคำวัง เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีบ้านอยู่ 6 หลังคาเรือน
พ.ศ. 2450-2459
- พ.ศ. 2450 วัดบ้านต๊ำพระแล ได้เข้ามาชักชวนชาวบ้านไร่ แม่ต๊ำ ซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ 18 หลังคาเรือน ได้สร้างอารามขึ้น (บริเวณที่ตั้งประปาหมู่บ้านในปัจจุบัน) จัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและตั้งชื่อว่า สำนักสงฆ์ชัยคีรี โดยมีพระปินตาเป็นเจ้าอาวาส
- พ.ศ. 2456 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดให้มีการตั้งนามสกุลโดยให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2455 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2456 โดยท้าวคำวัง ผู้ใหญ่บ้านคนแรกจึงได้ใช้นามสกุล เดินอด โดยนามสกุลของกลุ่มเครือญาติในบ้านต๊ำในจะบ่งบอกถึงความสัมพันธ์กับป่าและการใช้ประโยชน์จากป่า เช่น เดินอด ท้าวล่า จักไม้ หมั่นไร่ เก่งแรง อ้อยหวาน (โครงการการจัดการความรู้ในลุ่มน้ำแม่ต๊ำเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น, 2548)
พ.ศ. 2460-2469
- พ.ศ. 2460 เริ่มมีการรักษาโรคด้วยการใช้ยาหม้อ การเป่า โดยใช้รากไม้จากป่าชุมชน และสมุนไพรจากในพื้นที่
- พ.ศ. 2464 ได้ย้ายสำนักสงฆ์จากหัวบ้านมาตั้งไว้ในบริเวณปัจจุบัน มีเนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 38.9 ตารางวา โดยมีพระจำปา เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
พ.ศ. 2470-2479
- พ.ศ. 2474 วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2474 กระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งสำนักสงฆ์ ชัยคีรี เป็นวัดโดยใช้ชื่อว่า วัดต๊ำใน โดยพระจำปาเป็นเจ้าอาวาส
พ.ศ. 2480-2489
- พ.ศ. 2483 ได้จัดตั้งโรงเรียนบ้านต๊ำในขึ้น โดยอาศัยศาลาวัดเป็นที่เรียน
- พ.ศ. 2486 มีบริษัทเข้ามาสัมปทานในพื้นที่ป่าแม่ต๊ำชาวบ้านในสมัยก่อนมีอาชีพ หาของป่า ล่าสัตว์ และเลื่อยไม้แปรรูปขาย ขณะนั้นการคมนาคมลำบากไม่มีถนน ใช้การเดินทางเข้าหมู่บ้าน โดยการเดินตามคันนา สภาพป่าในขณะนั้นอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าจำนวนมาก (ชะนี,นกยูง,นกกก,แร้ง,นกแก้ว,ไก่ป่า) สัตว์ป่ายังเข้ามาหากินในบริเวณชุมชนซึ่งติดป่า
- พ.ศ. 2488 มีร้านค้าร้านแรกคือร้านค้าพ่อใหญ่ โดยจะขายสบู่
พ.ศ. 2490-2499
- พ.ศ. 2490 เริ่มมีตะเกียงน้ำมันก๊าด
- พ.ศ. 2498 ได้สร้างอาคารเรียนชั่วคราว บริเวณหน้าวัดโดยมี นายศรีวรรณ ข่ายสุวรรณ เป็นครูใหญ่และเริ่มมีส้วมหลุมใช้สำหรับการสุขาภิบาล
พ.ศ. 2500-2509
- พ.ศ. 2500 เริ่มมีการตัดถนนเข้าหมู่บ้านแต่ยังคงไม่มีการราดยาง เริ่มมีส้วมซึม โดยตามพระราชบัญญัติปี พ.ศ. 2485 รัฐบาลได้ร่วมมือกับองค์การยูซ่อมของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2503 โดยเริ่มโครงการพัฒนาการอนามัยท้องถิ่นมีกิจกรรมสำคัญคือการสร้างส้วมและรณรงค์ให้ประชาชนขับถ่ายอุจจาระในส้วม จนถึงแผนพัฒนาสาธารณสุขฉบับที่ 6 (พ.ศ.2530-2534) ในปี พ.ศ. 2532 กระทรวงสาธารณสุขดำเนินงานให้ประชาชนในประเทศไทยมีส้วมถูกหลักสุขาภิบาลในทุกครัวเรือน (www.gotoknow.org, 2561)
- พ.ศ. 2506 ได้ย้ายโรงเรียนมาตั้งที่ ที่ตั้งปัจจุบัน โดยมีนายใหม่ หาทรัพย์ ได้บริจาคที่ดินให้จัดตั้งโรงเรียน จำนวน 8 ไร่ 16 ตารางวา โดยมี นายประเชิญ พรหมมิ เป็นครูใหญ่
- พ.ศ. 2508 เริ่มมีโทรทัศน์เครื่องแรกในหมู่บ้าน โดยใช้งานจากแบตเตอรี่ ชาวบ้านต่างพากันมาดูละคร และจ้อย ซอ ที่บ้านนายประเชิญ พรหมมิ
- พ.ศ. 2509 วัดต๊ำในได้รับพระราชทานวิสูงคามสีมา ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 1 พ.ศ. 2507 ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 (www.onab.go.th,2561) และได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดขุนต๊ำ โดยพระครูโสภณ ธรรมมุณี (พระธรรมโมลี วัดศรีโคมคำ) โดยมีพระสง่า สิริปุญโญ เป็นเจ้าอาวาส
พ.ศ. 2510-2519
- พ.ศ. 2515 เริ่มมีโรงสีข้าวหลังแรกหลังจากใช้วิธีการตำข้าว โดยโรงสีหลังแรกเป็นของนาย
- พ.ศ. 2516 ได้มีการสัมปทานป่าไม้โดยนายทุนจังหวัดพะเยา (บริษัทเชียงรายทำไม้) ชาวบ้านในชุมชนเริ่มหวั่นวิตกเพราะป่าไม้เริ่มหายไป ชุมชนกำลังประสบปัญหาไม่มีน้ำใช้จากที่เคยมีน้ำให้ตักได้ก็แห้งแล้งและเริ่มลดน้อยลงมาก
- ได้มีการจัดตั้งสถานีอนามัยบ้านต๊ำขึ้น โดยการพยายามเรียกร้องให้มีการกระจายระบบสุขภาพออกไปต่างจังหวัดมากขึ้นและมีการพัฒนาโครงการสาธารสุขมูลฐานขึ้นมาในช่วงแรก ๆ พ.ศ. 2511-2512 พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพคนในต่างจังหวัดมากขึ้น และเน้นการป้องกันมากขึ้น ในช่วง พ.ศ. 2515-2517 (www.hfocus.org, 2561)
พ.ศ. 2520-2529
- พ.ศ. 2520 ตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าจำนวน 5 คน และได้จัดวางกฎระเบียบหรือกฎเกณฑ์ร่วมกัน หากใครตัดไม้ให้มีการปรับเงินจำนวน 100-300 บาท
- พ.ศ. 2524 สมเด็จพระศรีนครินทร์บรมราชชนนี และสมเด็จพระพี่นางกัลยานิวัฒนาเสด็จเยี่ยมราษฎรจังหวัดพะเยา ณ โรงเรียนบ้านต๊ำใน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ทำหน้าที่ดูแลรักษาประชาชนที่ด้อยโอกาสในท้องถิ่นทุรกันดารในมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ พอ.สว (www.th.m.wikipedia.org, 2561) และบ้านทุกหลังได้สร้างบ่อน้ำเพื่อใช้สอยขึ้น
- พ.ศ. 2529 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดพะเยา ได้ติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับชาวบ้านต๊ำใน
พ.ศ. 2530-2539
- พ.ศ. 2530 เริ่มมีการก่อตั้งกลุ่ม อสม. ตามแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) จัดอบรมผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) และอาสาสมัตรสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) (www.hfocus.org, 2561) โดยมีนายอ้าย ท้าวล่า เป็น อสม. คนแรกของหมู่บ้าน
พ.ศ. 2540-2549
- พ.ศ. 2540 สำนักงานเร่งพัฒนาชนบท จังหวัดพะเยา ได้ก่อสร้างประปาหมู่บ้าน ให้ชาวบ้านต๊ำในได้ใช้อุปโภค-บริโภค ในช่วงปี พ.ศ. 2525-2534 ซึ่งเป็นช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 และ 6 คณะรัฐมนตรีได้มีมิติกำหนดให้เป็นช่วงทศวรรษการจัดหาน้ำสะอาดและสุขาภิบาล
- พ.ศ. 2542 สำนักงานเร่งพัฒนาชนบท จังหวัดพะเยา ได้ก่อสร้างถนนลาดยางเข้าสู่หมู่บ้าน และประชาชนต่างเข้ารับบริการทางด้านสุขภาพได้สะดวกมากขึ้น
- พ.ศ. 2544 ป่าชุมชนบ้านต๊ำได้มีการทำพิธีบวชป่าขึ้นพร้อมเปิดป้ายแหล่งเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติ
- พ.ศ. 2546 เริ่มมีถนนคอนกรีตและการประปาเพื่อการเกษตร
- พ.ศ. 2548 สมัยผู้ใหญ่บ้านคนที่ 11 (นายตรง ท้าวล่า) ได้เริ่มมีการสร้างแหล่งเรียนรู้ชุมชน และจัดตั้งโฮมสเตย์
พ.ศ. 2550-2559
- พ.ศ. 2553 ได้เปลี่ยนจากสถานีอนามัยตำบลบ้านต๊ำเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต๊ำ ตามนโยบายรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี พ.ศ.2552 ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณภายใต้ แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555
- พ.ศ. 2555 หมู่บ้านเข้าโครงการหมู่บ้านปลอดควันไฟป่า
- พ.ศ. 2559 หมู่บ้านได้เกิดอุทกภัยจากน้ำป่าไหลหลาก สร้างความเสียหายให้กับบ้าน 2 หลังคาเรือนบริเวณริมลำน้ำแม่ต๊ำและลำน้ำห้วยน้อยจึงทำให้เกิดการย้ายที่อยู่อาศัยเกิดขึ้น
พ.ศ. 2560-ปัจจุบัน
- ปัจจุบันบ้านต๊ำหมู่ที่ 9 ตำบลบ้านต๊ำ มีจำนวนหลังคาเรือน 201 หลังคาเรือน ประชากร 935 คน เป็นชาย 434 คน หญิง 501 คน มีพื้นที่หมู่บ้านประมาณ 150 ไร่ พื้นที่การเกษตร 325 ไร่ พื้นที่ป่าใช้สอย 1,000 พื้นที่สาธารณะ 25 ไร่ พื้นที่ป่าชุมชน 3,000 ไร่
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลท่าจำปี อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห้วยทรายคำ หมู่ 8 ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านต๊ำกลาง หมู่ 8 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติดอยหลวงและอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
สภาพภูมิประเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชน เป็นที่ราบกลางหุบเขา โดยมีลำห้วยแม่ต๊ำและลำห้วยน้อยเป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่าน พื้นที่เป็นดินร่วน และดินเหนียวซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูก ปลูกข้าว ทำสวนยางพารา สวนลำไย ทำไร่ ปลูกข้าวโพด และที่นาบางส่วนถูกขุดเพื่อทำสระเลี้ยงปลา
ภายในหมู่บ้านมีจำนวน 13 ซอย เป็นถนนคอนกรีต 9 ซอย และถนนลูกรัง 4 ซอย มีไฟข้างทาง (ไฟกิ่ง) ของภาครัฐแต่ยังไม่เพียงพอ ทำให้ภายในหมู่บ้านเวลากลางคืนมีแสงสว่างไม่เพียงพอในบางพื้นที่ ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้อย่างเพียงพอ ส่วนน้ำดื่ม ส่วนใหญ่จะซื้อน้ำบรรจุขวดสำเร็จรูปจากโรงน้ำของคนในชุมชนและของหมู่บ้านข้าง ๆ และในชุมชนมีวัด 1 แห่ง คือวัดขุนต๊ำ เป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชาชน และร้านขายของชำ 5 แห่ง
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของบ้านต๊ำใน หมู่ที่ 9 มีลักษณะทางนิเวศที่สมดุลเนื่องจากมีการอนุรักษ์แหล่งธรรมชาติ มีการบำรุงดิน มีการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพด้านเกษตรกรรม บ้านต๊ำใน หมู่ที่ 9 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4,000 ไร่ พื้นที่ป่าชุมชนจำนวน 3,000 ไร่ และพื้นที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรม จำนวน 1,000 ไร่
จำนวนประชากรบ้านต๊ำใน หมู่ที่ 9 จำนวน 201 หลังครัวเรือน มีประชากรที่อยู่จริงทั้งหมด 935 คน แบ่งได้ดังนี้ เพศหญิง 501 คน เพศชาย 434 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ
ประชากรบ้านต๊ำใน หมู่ที่ 9 ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 50-54 ปี คิดเป็นร้อยละ 8.99 รองลงมาอยู่ในช่วง 40-44 ปี คิดเป็นร้อยละ 8.67 ช่วงอายุที่น้อยที่สุด คือ 75-79 ปี คิดเป็นร้อยละ 0.96
อัตราส่วนวัยพึ่งพิงบ้านต๊ำใน หมู่ที่ 9 ต.บ้านต๊ำ อ.เมือง จ.พะเยา จำแนกตามสัดส่วนประชากรตามอายุปี พ.ศ. 2560 อายุ 0-14 ปี 128 คน คิดเป็นร้อยละ 13.70 อายุ 15-59 ปี 645 คน คิดเป็นร้อยละ 68.98 อายุ 60 ปีขึ้นไป 162 คน คิดเป็นร้อยละ 17.32
ชุมชนบ้านต้ำใน หมู่ที่ 9 ตำบลดงบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีองค์กรในการบริหารจัดการดูแลภายในหมู่บ้าน ซึ่งมีคณะกรรมการหมู่บ้านในการดำเนินการเป็นหลัก โดยมีนายณัฐพล ท้าวการ เป็นผู้ใหญ่บ้าน
โครงสร้างองค์กรชุมชน
- ผู้ใหญ่บ้าน : นายณัฐพล ท้าวการ
- ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน : นายไพโรจน์ ท้าวการ, นายประเสริฐ พรหมมิ และนายอุทัย จักไม้
- คณะกรรมการหมู่บ้าน : มีจำนวน 5 คน
- หัวหน้าคุ้ม : นายพล อ้อยหวาน (หัวหน้าคุ้มแพะใหม่พัฒนา), นายสมมี ท้าวล่า (หัวหน้าคุ้มชมวิวใหม่), นายอุทัย จักไม้ (หัวหน้าคุ้มร่วมใจพัฒนา), นายนัน เทียมแก้ว (หัวหน้าคุ้มสร้างสรรค์), นายคำปัน ชื่นใจ (หัวหน้าคุ้มพิทักษ์คุณธรรม), นายปีติกร เก่งแรง (หัวหน้าคุ้มทุ่งรวงกกองพัฒนา), นายบุญธรรม พรหมมิ (หัวหน้าคุ้มอิงคอยพัฒนา)
- กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำบ้าน : จำนวน 21 คน โดยมีประธาน คือ นางดารุณี หมั่นไร่
- ตำรวจบ้าน : โดยมีประธาน คือ นายบรรเจิด ดอนมูล
- อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน : มีจำนวน 14 คน โดยมีประธาน คือ นายเจริญ ดอนมูล
- กองทุนเงินล้าน : มีจำนวน 9 คน โดยมีประธาน คือ นายณัฐพล ท้าวการ
- กองทุน กขคจ (แก้ไขปัญหาความยากจน) : มีจำนวน 15 คน โดยมีประธาน คือ นายณัฐพล ท้าวการ
- ปราชญ์ชาวบ้าน : นายมา บัวสี (สานสุ่มไก่), นายถา คอดแก้ว (สานปลอกมีด), นายหลาน เมืองวงค์ (หมอเมือง)
- กลุ่มป่าไม้ชุนชน คณะกรรมการป่าชุมชน : มีจำนวน 20 คน โดยมีประธาน คือ นายทศพล สวนพันธ์
- กลุ่มศูนย์สงเคราะห์ : โดยมีประธาน คือ นายบด ท้าวล่า
- กลุ่มแม่บ้าน : มีจำนวน 15 คน โดยมีประธาน คือ นางจิรวรรณ ปนยะ
- กลุ่มผู้สูงอายุ : มีจำนวน 180 คน โดยมีประธาน คือ นายนนท์ อุดคำ
- กลุ่มฌาปาณกิจ : โดยมีประธาน คือ นายสมสุข รักษ์งาม
- กลุ่มเกษตรกร : โดยมีประธาน คือ นายณัฐพล ท้าวการ
- กลุ่มยางพารา : มีจำนวน 9 คน โดยมีประธาน คือ นายเจริญ แก้วเกตุ
- กลุ่มลำไย : มีจำนวน 50 คน โดยมีประธาน คือ นายตรง ท้าวล่า
- กลุ่มผู้เลี้ยงวัว : โดยมีประธาน คือ นายไพโรจน์ ท้าวการ
- กลุ่มผู้ใช้น้ำ ประปาหมู่บ้าน : โดยมีประธาน คือ นายมนัส สีเสียดงาม
- ประปาเกษตร (ประปาภูเขา) : โดยมีประธาน คือ นายคำปัน ชื่นใจ
ลักษณะการประกอบอาชีพของประชาชนในชุมชน
กิจกรรมด้านเศรษฐกิจ พบว่า ส่วนใหญ่กิจกรรมในหมู่บ้านจะเป็นเกี่ยวกับทางการเกษตร คือ ช่วงเดือนมิถุนายนจะเริ่มหว่านกล้า ปลูกข้าว และช่วงเดือน พฤศจิกายนถึงธันวาคม มีการเกี่ยวข้าว ช่วงเดือน มกราคมถึงพฤษภาคม จะมีการปลูกผักสวนครัว ข้าวโพด ถั่วลิสง มันสำปะหลัง ช่วงเดือน กรกฎาคมถึงตุลาคม จะเก็บลำไย ช่วงเดือน พฤษภาคมถึงกุมภาพันธ์ กรีดยางพารา และปิดหน้ายาง ในเดือน มีนาคมถึงเมษายน มีการค้าขายและเก็บของป่าตลอดทั้งปี ส่วนการประมง ทำบ่อเลี้ยงปลา ร่วมกับสหกรณ์เลี้ยงปลาขายตลอดทั้งปี
การประกอบอาชีพ ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 10,000-30,000 บาท/ปี
- อาชีพหลัก : อาชีพทำนา ทำสวนลำไย
- อาชีพรอง : ทำสวนยางพารา ปลูกข้าวโพด ถั่วลิสง ทำไร่มันสำปะหลัง สวนปาล์ม
- อาชีพเสริม : รับจ้างทั่วไป ปลูกผักสวนครัว ค้าขาย หาของป่า
- รายได้ของประชาชน : ภาคเกษตรกรรม
- รายจ่ายของประชาชน : ค่าใช้จ่ายทางการเกษตร เช่น ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าสารเคมี ค่าจ้างรถไถ รถเกี่ยว เป็นต้น ค่าอาหาร ค่างานสังคมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนบ้านต๊ำใน แบ่งออกเป็น ประเพณีทางพระพุทธศาสนา ประเพณีเกี่ยวกับป่าและประเพณีความเชื่อของคนในชุมชน ดังตาราง
- เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : วันขึ้นปีใหม่, กลางเดือนจัดทำพิธี “ตานข้าวใหม่”
- เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : เลี้ยงผีเจ้าบ้าน (เดือน 5 แรม 13 ค่ำ และเดือน 9 แรม 13 ค่ำ) เป็นกิจกรรมที่มีมาแต่เดิมซึ่งชาวบ้านให้ความเคารพ นับถือและเชื่อว่าการบูชาและให้ความเคารพจะทำให้หมู่บ้านปลอดภัยจากภัยอันตรายทั้งปวง และบางกรณี เช่น การสอบเข้าทำงาน การสอบเข้าเรียนต่อ หรือการทำธุรกิจต่างๆ ชาวบ้านก็จะมีการบนบานหอเจ้าบ้าน เพื่อให้กระทำต่าง ๆ สำเร็จด้วยดี
- เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ปีใหม่เมือง ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ โดยวันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่นบอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์) วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น วันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี วันที่ 15 เมษายน “วันพญาวัน” วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันข้าว” นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ เลี้ยงผีปู่ย่าในวันนี้ ส่วนวันที่ 16 เมษายน “วันปากปี” เป็นวันแรกของปี มารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน พิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่าง ๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว โดยในวันปากปีมีความเชื่อบางประการเกี่ยวกับ “แกงขนุน” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” ที่จะกินกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปี
- เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : เลี้ยงผีเจ้าที่
- เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : เลี้ยงผีเจ้าบ้าน (เดือน 5 แรม 13 ค่ำ และเดือน 9 แรม 13 ค่ำ) ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน เป็นกิจกรรมที่มีมาแต่เดิมซึ่งชาวบ้านให้ความเคารพ นับถือและเชื่อว่าการบูชาและให้ความเคารพจะทำให้หมู่บ้านปลอดภัยจากภัยอันตรายทั้งปวง และบางกรณี เช่น การสอบเข้าทำงาน การสอบเข้าเรียนต่อ หรือการทำธุรกิจต่างๆ ชาวบ้านก็จะมีการบนบานหอเจ้าบ้าน เพื่อให้กระทำต่างๆ สำเร็จด้วยดี, การสืบชะตาแม่น้ำ (เดือน 9) การสืบชะตาแม่น้ำเป็นการประยุกต์พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนามาเป็นกุศโลบาย ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำที่ประยุกต์มาจากการสืบชะตาคนเพื่อขอขมาลาโทษแม่น้ำที่ได้ใช้ประโยชน์และกระตุ้นจิตสำนึกการอนุรักษ์แม่น้ำของคนในชุมชนและคนภายนอกชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาป่าร่วมกันบางครั้งจะทำควบคู่กับการบวชป่าการสืบชะตาแม่น้ำจะทำในบริเวณลำห้วยแม่ต๊ำในเดือน 9 (มิถุนายน) โดยการนิมนต์พระสงฆ์ทำพิธีกรรมทางศาสนาจะไม่กระทำทุกปีจะกระทำก็ต่อเมื่อปีไหนที่ฝนไม่ตก น้ำแห้ง ชาวบ้านจะรวมตัวกันจัดทำการสืบชะตาแม่น้ำขึ้น
การบวชป่า (เดือน 9) การบวชต้นไม้เป็นกุศโลบายในการรักษาป่าที่ประยุกต์มาจากการบวชพระการนำผ้าเหลืองมามัดไว้กับต้นไม้ใหญ่แสดงว่า ต้นไม้ดังกล่าวได้ผ่านการบวช คนที่จะมาตัดฟันจะมีบาปเท่ากับฆ่าพระ การบวชป่าจึงเป็นกิจกรรมที่ชาวบ้านหลายพื้นที่ได้นำมาใช้ในการรักษาป่าซึ่งจะไม่มีการทำเป็นประจำทุกปีแต่ก็ทำเป็นบางครั้งโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่ารวมทั้งการระดมทุน ส่วนใหญ่การบวชป่าจะทำพร้อมกับการสืบชะตาแม่น้ำเพราะเป็นประเพณีที่พระสงฆ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมนอกจากนี้ยังมีการปลูกต้นไม้เพิ่มเติมในป่าด้วยในการเตรียมงานนำโดยพ่อหลวงบ้านและกรรมการป่าชุมชนบ้านต๊ำในจัดเตรียมสถานที่และนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 4 รูปหรือ 9 รูป พิธีกรรมจะเริ่มช่วงเช้า ณ หอพิธีกรรม พระสงฆ์กล่าวเจริญพระพุทธมนต์ ผู้สูงอายุชาวบ้านนำผ้าเหลืองไปผูกมัดต้นไม้ใหญ่ในป่า
ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ (เดือน 9 แรม 13 ค่ำ) ประเพณีการเลี้ยงผีขุนน้ำบ้านต๊ำใน เป็นความเชื่อของชาวบ้านที่เชื่อว่าในป่ามีผีที่ดูแลรักษาป่า ชาวบ้านที่ได้ใช้ประโยชน์จากป่าจากน้ำ จึงได้มีการแสดงความเคารพต่อผีเหล่านั้นโดยการเซ่นไหว้บูชาเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวบ้านได้เกิดจิตสำนึกในการดูแลรักษาป่าและเป็นการสืบทอดประเพณีพิธีกรรมไม่ให้สูญหายไปโดยผีที่ชาวบ้านทำวิธีเลี้ยงมี 4 ตน คือเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ผีเจ้าป่า ผีขุนต๊ำ ผีปกกะโล่ง ซึ่งเป็นทั้งผีเจ้าพ่อและผีป่า การเตรียมงานสมัยก่อนชาวบ้านจะเตรียมข้าวปลาอาหารเครื่องเซ่นไปร่วมงานกัน ตอนเช้าผู้ใหญ่บ้านจะเคาะกระบอกไม้ไผ่ให้ชาวบ้านไปรวมกันในป่าบริเวณป่าน้ำจำปัจจุบันแกนนำจะเป็นคณะกรรมการป่าชุมชนโดยจะมีการเก็บเงินชาวบ้านทุกครัวเรือน เพื่อนำไปซื้อเครื่องเซ่นเพื่อทำพิธีกรรม การเลี้ยงผีจะกระทำในเดือน 9 แรม 13 ค่ำ (เดือนมิถุนายน) ณ หอพิธีกรรมประจำหมู่บ้านประมาณ 9 โมงเช้าโดยจะนำไก่เป็นจำนวน 8 ตัว ไปต้มในป่าเครื่องเซ่นไหว้ผีทั้งหมดจะมีไก่ต้ม 8 ตัว เหล้าต้ม 4 ขวด มีธูป 2 เทียน 2 พร้อมข้าวตอกดอกไม้โดยมีผู้สูงอายุไปกล่าวคำอัญเชิญเจ้าป่าเจ้าเขามารับเครื่องสักการะบอกให้ช่วยให้ฝนตก ดูแลป่ามีน้ำใช้ในการเกษตร หลังจากเทียนหมดแสดงว่าผีได้มากินเครื่องเซ่นเรียบร้อยแล้ว พิธีกรรมจะเสร็จประมาณเที่ยงหลังจากนั้นชาวบ้านที่เข้ามาร่วมพิธีกรรมก็ รับประทานอาหารร่วมกัน
- เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญเข้าพรรษา ถวายเทียนพรรษาที่วัดต๊ำกลาง, ประเพณีฟังธรรมขอฝน (เดือน 10 แรม 8 ค่ำ) การฟังธรรมขอฝน ประเพณีการฟังธรรมขอฝนเป็นประเพณีของชาวบ้านต๊ำในที่เป็นความเชื่อสืบทอดกันมาแต่ช้านานมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลมีน้ำสำหรับทำการเกษตรและได้ผลผลิตดี การฟังธรรมขอฝนจะทำในเดือน 10 แรม 8 ค่ำ(เดือนกรกฎาคม) โดยพ่ออาจารย์ กล่าวนำชาวบ้านถวายทานและเจ้าอาวาสวัดต๊ำในเทศนาธรรมพญาคางคกซึ่งคางคกที่คนดั้งเดิมยุคก่อนประวัติศาสตร์เคารพว่าเป็น สัตว์ศักดิ์สิทธิ์เป็นสัญลักษณ์ของน้ำและฝนเพราะมักปรากฏตัวและส่งเสียงดังการเทศน์ธรรมพญาคางคกในการฟังธรรมขอฝนของบ้านต่ำในจะมีการทำจำนวน 18 ผูก เทศน์เป็นภาษาคำเมืองซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการขอฝนจากพญาคางคกเพื่อขอน้ำไปปลูกข้าวเสร็จแล้วพระสงฆ์ให้พรแก่ชาวบ้านที่เข้ามาร่วมพิธี
- เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ช่วงเดือนนี้จะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา มีการทำบุญตักบาตร
- เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ปล่อยเปรตปล่อยผี (ตาน) ถวายขันข้าวให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว, ตานก๋วยสลาก ช่วงเดือน 12 ล้านนาถึงเดือนยี่ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
- เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ทำบุญออกพรรษา อยู่ในช่วงตานก๋วยสลาก สิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ
- เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ทอดกฐิน มีเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยง(เดือนเกี๋ยงดับ) จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ, ประเพณียี่เป็ง
- เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : สวดมนต์ข้ามปี ชาวบ้านจะไปทำวัตรสวดมนต์ในตอนเย็น จะมีการสวดมนต์ข้ามปีที่วัดต๊ำกลาง
ปราชญ์ชาวบ้าน
1. นายมา บัวสี สานสุ่มไก่
2. นายถา คอดแก้ว สานปลอกมีด
3. นายหลาน เมืองวงค์ หมอเมือง
ชุมชนนั้นจะเป็นลักษณะที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ซึ่งชุมชนนี้จะมีป่าไม้จำนวนมาก มีทั้งหมด 4500 ไร่ ดังบนความเชื่อที่ว่า “คนอยู่กับป่า” ซี่งป่าชุมชนนี้ คนในชุมชนมีการใช้ประโยชน์จากมากมาย ได้แก่ ใช้แหล่งต้นน้ำลำธารในการผลิตเป็นประปาหมู่บ้านเพื่อการบริโภคอุปโภค, เป็นแหล่งอาหารที่หาได้จากป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด ผักผลไม้ ปลานานาชนิด และเป็นแหล่งยาสมุนไพรรักษาโรค ซึ่งเมื่อเกิดการเจ็บป่วยจะไปรักษากับแพทย์พื้นบ้าน หรือหมอเมือง ซึ่งด้านการแพทย์พื้นบ้านในชุมชนบ้านต๊ำใน มี 2 ประเภท คือ การรักษาโรคที่ใช้สมุนไพรเป็นยา ซึ่งรักษาทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เช่น ไข้หวัด ปวดศีรษะ ปวดท้องเป็นต้น และการไม่ใช้ยาจะเป็นการใช้ความเชื่อพื้นบ้าน การบีบ นวด ซึ่งโรคที่รักษาจะสัมพันธ์กับความเชื่อในชุมชน เช่น การเป่า การสะเดาะเคราะห์ สู่ขวัญ การดื่มน้ำมนต์ การแหก เลี้ยงผี เป็นต้น ซึ่งการเข้ารับบริการสุขภาพจากสถานบริการสาธารณสุขมีน้อย เพราะถนนลูกรัง ดินแดง ทำให้การคมนาคมไม่สะดวกและอยู่ไกล
ปัจจุบันชาวบ้านเล่าว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นทั้งด้านการคมนาคมที่สะดวกขึ้น การได้รับข่าวสารเพิ่มมากขึ้นทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป มีแหล่งอาหารเปลี่ยนแปลงไป มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ใช้สารเคมีต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นในการทำ
จากคำพูดของคนในชุมชน
- นายรบ ศรีวิชัย เหรัญญิกกลุ่มลำไย “ตอนนี้ชาวบ้านก็ใช้ปุ๋ยเคมีกันหมด มันช่วยเร่งผล ผลออกมาเยอะ ส่วนน้อยจะทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอกจากขี้วัว”
- นายฮาย อ้อยหวาน “ตอนนี้จาวบ้าน ใช้สารเคมี ใจ้ยาหมด ฮือผลเร็ว มีสอง สาม จ้าวเต่านั้น ใจ้ปุ๋ยคอก เพราะว่าเลี้ยงวัว สอง สามจ้าว”
- นายจันทร์ สุวฤทธ์ “พ่อทำเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ ทุกอย่างจะใช้จากธรรมชาติ อย่างเช่นปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก ไม่ใช้สารเคมี ทำเศรษฐกิจพอเพียงถวายในหลวง”
จากการสำรวจสภาพพื้นที่ในชุมชนมีการเพาะปลูกสวนลำไย ต้นปาล์ม ต้นยาง ถั่วลิสง ข้าวโพดแดง มักจะใส่ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง เนื่องจากให้ผลผลิตเร็ว และจะมีการปลูกพืชหมุนเวียน ได้แก่ ข้าวโพดหรือถั่วลิสงหรือ พืชผักนานาชนิด เพื่อสภาพดินให้มีการใช้งานตลอดปี ซึ่งในชุมชนบ้านต๊ำในมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งด้านอาหารการกิน คนในชุมชนมีการร่วมกิจกรรมในชุมชน มีการจัดงานสังสรรค์ต่าง ๆ ซึ่งสุรามีการหมักเอง ที่เรียกว่า “สาโธ” ทำให้มีการดื่มสุราและสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือด เพิ่มมากขึ้น
จากการสำรวจและการสัมภาษณ์พบว่ามีสิ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน ดังนี้
1. อาหาร
พบว่าประชากรมีการปลูกพืชผักสวนครัวไว้ที่หน้าบ้าน ที่สวนไว้รับประทานอาหาร และขาย มีการปรุงอาหารรับประทานเองทั้งหมู่บ้าน ซึ่งมักจะใช้เครื่องปรุงรสในการปรุงอาหาร
จากการสอบถามข้อมูล คำพูดของชาวบ้านรายหนึ่ง นางเพ็ญศรี ศรีเสียดงาม บอกว่า “ถ้าทำกับข้าวสุกขาย จะบ่ได้ขาย หมู่บ้านนี้ ทำอาหารกิ๋นเองกันหมด”
อาหารนั้นได้มานั้นส่วนใหญ่มาจากการหาของป่า ดั่งคำเชื่อที่ว่า “คนอยู่กับป่า” ได้แก่ หน่อไม้ ช่วงต้นเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนสิงหาคม เห็ด หาน้ำผึ้งช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ไข่มดแดง ต้นกล้วยป่า ปลาขาว ซึ่งนำวัตถุดิบนี้มาทำเป็นหลาม ได้แก่ หลามไข่มดแดง หลามหยวก เป็นต้น และหลังเลิกจากการทำงานเกษตร จะมีการกินสังสรรค์อาหารที่มักจะทำกินเป็นลาบปลา ลาบหมูดิบ หลู้ ก้อยปลาดิบ แหนม ปลาส้ม
การใช้แหล่งต้นน้ำลำธารในการผลิตเป็นประปาหมู่บ้านเพื่อการเกษตรและอุปโภค การบริโภคส่วนใหญ่จะเป็นน้ำดื่มบรรจุภัณฑ์จาก ชุมชนบ้านต๊ำใน หมู่ 9 จากการสำรวจและการสอบถามข้อมูลจากคนในชุมชน
2. การออกกำลังกาย
พบว่าประชากรส่วนใหญ่ไม่นิยมออกกำลังกาย เนื่องจากมีความเชื่อว่าการการทำงานถือว่าเป็นการออกกำลังกาย ซึ่งจะมีประชากรส่วนน้อยที่ออกกำลังกายนาน ๆ ครั้ง สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 15-20 นาที คือ การเดินเร็ว ปั่นจักรยาน
จากคำพูดของคณะกรรมป่าไม้ชุมชน นายศรีเนตร ดอนมูล กล่าวว่า “การเดินเข้าป่า ไปหาของป่า ไปทำไร่ทำสวน เดินไปกลับ ก็หลายโลแล้ว มีเหงื่อออก ก็เหมือนกับการออกกำลังกาย”
3. ความเชื่อทางไสยศาสตร์
พบว่าในปัจจุบันนี้การรักษาทางไสยศาสตร์นั้นยังคงมีอยู่ ซึ่งส่วนมากจะมีการรักษาโรคทางไสยศาสตร์ก็ต่อเมื่อรักษาแพทย์แผนปัจจุบันไม่หาย ซึ่งความเชื่อที่ชาวบ้านนิยมทำกันคือ การถามหมอดู การถามร่างทรง โดยหมอดูหรือร่างทรงจะบอกวิธีการแก้ไขให้ตามความเชื่อดั้งเดิมของบรรพบุรุษและมีพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อเรียกขวัญกลับสู่ร่างของเจ้าของหรือการเป่าด้วยมนต์คาถา ส่วนใหญ่หลังทำพิธีดังกล่าวแล้วผู้ที่เจ็บป่วยจะมีอาการดีขึ้น
ราชกิจจานุเบกษา. (2549). ประกาศจังหวัดพะเยา เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน. เล่ม 123 ตอน พิเศษ 128ง. 13 ธันวาคม 2549.
ราชกิจจานุเบกษา. (2556). ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. เล่ม 130 ตอนพิเศษ 45ง. 5 เมษายน 2556..
พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.
บุญศิริ สุขพร้อมสรรพ และอาทิตย์ ลิมปิยากร. (2564). ภูมินาม-ภาพสะท้อนเมืองพะเยา. วารสารวิชาการเพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่. 2(1). 88-94.
นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 28. (2563). รายงานการวินิจฉัยชุมชนบ้านต๊ำใน หมู่ 9 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา.