Advance search

แหล่งทำกินหนองเล็งทราย ชุบชีวิตสิ่งแวดล้อม

หมู่ที่ 3
สันขวาง
แม่ใจ
แม่ใจ
พะเยา
วันเพ็ญพร แสงโทโพ
17 เม.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
24 เม.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
19 พ.ค. 2023
บ้านสันขวาง

บ้านสันขวาง ด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านที่มีสันยาวตลอดหมู่บ้าน จนทำให้มองไม่เห็นหมู่บ้าน


แหล่งทำกินหนองเล็งทราย ชุบชีวิตสิ่งแวดล้อม

สันขวาง
หมู่ที่ 3
แม่ใจ
แม่ใจ
พะเยา
56130
19.36344934
99.81019422
เทศบาลตำบลแม่ใจ

พ.ศ. 2346 หมู่บ้านสันขวาง ความเป็นมาครั้งอดีตก่อนเก่า ในสมัยก่อนนั้นเป็นป่าไม้หนาทึบมีทั้งต้นหนาม ต้นไผ่มากมาย เป็นพื้นที่ พักวัว พักควาย ตอนกลางคืน เพราะเป็นเนื้อที่เป็นสอนดอนสูง มีน้ำหนองเล็งทรายที่เป็นทรัพยากรและไม่สามารถท่วมถึงได้ หนองเล็งทราย เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ที่ไหลลงมาสมทบกับกว๊านพะเยา ซึ่งไหลลงสู่น้ำอิงและผ่านหลายอำเภอของจังหวัดพะเยา-จังหวัดเชียงราย จนไปสิ้นสุดที่แม่น้ำโขง

จากตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาในอดีตกาลนานมาแล้ว บริเวณหนองเล็งทรายแห่งนี้ มีเมืองๆ หนึ่งซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ อยู่ด้วยกันอย่างผาสุก เจ้าผู้ปกครองก็แบ่งปันให้ทำมาหากิน อยู่กันแบบพี่แบบน้องถ้อยทีถ้อยอาศัย โดยแต่ละคนเมื่อหาข้าวปลาอาหารมาได้ก็แบ่งกันกินตามประสาญาติมิตร

อยู่มาวันหนึ่ง ได้มีชาวบ้านไปหาปลาบริเวณหนองน้ำแห่งหนึ่งและได้เห็นปลาไหลเผือกยักษ์ตัวขนาดเท่าลำตาลตัวหนึ่งเข้า ด้วยความดีใจ จึงไปบอกเพื่อนบ้านมาช่วยกันดักจับ ขณะที่จับได้แล้วนั้น ก็นึกถึงคุณงามความดีของท่านเจ้าเมือง จึงพากันนำไปถวายท่านเจ้าเมือง พอท่านเจ้าเมืองเห็นก็คิดว่าตัวเราและเหล่าบริวารจะกินแต่ผู้เดียวก็ย่อมแสดงถึงความคับแคบแห่งจิตอย่างไรเสีย ต้องให้ชาวเมืองได้มีส่วนร่วมด้วย จึงสั่งให้เสนาอำมาตย์ป่าวประกาศให้คนทั้งหลายได้ทราบถึงพระราชอัธยาศัยในความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พร้อมกับรับส่วนแบ่งเนื้อปลาไหลเผือกไปกินกันทั่วทุกคน

ชาวเมืองเมื่อได้รับส่วนแบ่งพร้อมนำไปประกอบอาหารมื้อเย็นกินกันทั่วทุกครอบครัวเรียกได้ว่ากินกันทั้งเมืองก็ว่าได้ พร้อมกันนี้ยังได้มีการเฉลิมฉลองอย่างเมามัน สนุกสนานจนอ่อนล้าและหลับไปในรัตติกาลนั้นเอง ในขณะที่ชาวเมืองพากันหลับใหลในปฐมยามนั้นเอง ได้เกิดพายุฝนตกกระหน่ำอย่างบ้าคลั่ง แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ฟ้าคำรามเสียงดังสนั่น แต่ชาวเมืองที่ได้ลิ้มรสของเนื้อปลาไหลในตอนเย็นนั้น กลับคิดว่าฝนตกฟ้าร้องตามธรรมชาติ เป็นธรรมดา ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ก็พากันหลับใหลเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แม้ปฐมยามผ่านไปอย่างไร ชาวเมืองก็ไม่รู้สึกเกรงกลัวต่อสถานการณ์ที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่นั้น

พอย่างเข้าในมัชฌิมยาม ก็เกิดพายุแผ่นดินไหวฟ้าคำรามหนักยิ่งขึ้นไปอีก คราวนี้ชาวบ้านที่อยู่นอกเมืองที่เข้าไปในเมืองตอนเย็นและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกินอาหารเมนูปลาไหลใส่สลัด ก็พากันกลับได้สติตกใจตื่นกลัว ได้พากันแตกตื่นอพยพทั้งลูกเด็ก

ณ กระท่อมแม่หม้ายในเมือง กลับมีชายสูงวัยลึกลับนุ่งขาวห่มขาว เดินเข้ามาเรียกแม่หม้ายให้ออกมา แล้วกล่าวกำชับว่าในคำคืนนี้ จะมีอันตรายใหญ่หลวงต่อชะตาและชีวิตของชาวเมืองทั้งหมด ซึ่งกรรมครั้งนี้นางไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ขอให้นางอยู่แต่ภายในบ้านอย่าได้ออกมาจนกว่าจะสว่างเท่านั้น ว่าแล้วชายลึกลับก็เดินจากไปหายไปในความมืดมิดแห่งรัตติกาลนั่นเอง ปล่อยให้แม่หม้ายยืนงงอยู่แต่ผู้เดียว

พอถึงปัจฉิมยาม ก็เกิดพายุฝนตกกระหน่ำลงมาอย่างบ้าคลั่งอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งกว่าครั้งไหน ๆ ฟ้าคำรามเสียงสนั่นจนแสบแก้วหู ฝ่ายแม่หม้ายได้ยินเสียงและคาดเดาเหตุการณ์ต่าง ๆ ออก แม้จะรู้สึกถึงความน่ากลัวของเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น แต่เพราะเชื่อคำของชีปะขาว จึงไม่กล้าแม้แต่จะย่างกายลุกออกจากเตียงนอน หัวใจของนางนึกถึงแต่พ่อแก้วแม่แก้ว คุณของพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ และบุญกุศลที่นางได้เฝ้าบำเพ็ญมาทั้งชีวิต

ลำดับนั้น แผ่นดินกลับพลิกกลับไปมาอย่างรุนแรง บริเวณเมืองนั่นก็ยุบตัวลงพร้อมกับการล่มสลายแห่งเมืองโบราณในอดีต ผู้คนล้มตาย ทรัพย์สินบ้านเรือน และสรรพสิ่งจมดิ่งลงสู่ใต้แผ่นดินในชั่วพริบตา จนเกิดโศกนาฏกรรมที่สลดหดหู่เป็นอย่างยิ่ง

รุ่งขึ้น ขุนพันนาและชาวบ้านรอบนอกต่างก็พากันออกมาดูว่า เมื่อคืนนี้เกิดอะไรขึ้น เมื่อเห็นเมืองทั้งเมืองหายไปอย่างนั้น ก็พากันพูดถึงสาเหตุและโจษขานกันไปต่าง ๆ นานา ว่าเป็นเพราะเหตุอันใดที่ทำให้บ้านเมืองถล่ม บ้างก็ว่าพญานาคพิโรธที่ไปทำลายญาติมิตรของเขา บ้างก็ว่าเป็นกรรมเก่าที่ชาวเมืองได้กระทำร่วมกันมาในอดีตชาติ

เกาะกลางน้ำนั้น ได้ชื่อว่า "ดอนแม่หม้าย" ส่วนบริเวณที่ล่มลงของเมืองโบราณนั้นได้ชื่อว่า "เมืองหนองหล่ม" ต่อมาได้ชื่อใหม่ว่า "หนองเล็งทราย"

คนแรกที่ มาอาศัยบริเวณหมู่บ้านคือ พ่ออุ้ยพ้อย โดยมีพวกที่มาอาศัยด้วย 3 ครอบครัว จากนั้นก็มีครอบครัวอื่นมาอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อยและตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านสันขวางตามลักษณะภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านที่มีสันยาวตลอดหมู่บ้าน จนทำให้มองไม่เห็นหมู่บ้าน

พ.ศ. 2470 มีการก่อสร้างวัดโพธารามขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนและในปีนี้เองก็หมู่บ้านสันขวางก็ได้มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรกอย่างเป็นทางการคือ พ่อหลวงจันทร์ ไชยเลิศ

พ.ศ. 2485 เป็นเหตุการณ์ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามบูรพาเอเชีย โดยสมัยนั้นได้มีกองทัพญี่ปุ่นเข้ามาพื้นที่ มาตั้งฐานกองทัพที่วัดโพธารามและประพฤติไม่เหมาะสมกับขนบธรรมเนียมประเพณีของหมู่บ้าน จึงทำให้ชาวบ้านได้รวมตัวกันขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกจากบริเวณวัดโพธาราม และในปีเดียวกันนี้ ทางวัดโพธารามและชาวบ้านได้มีการจัดพิธีผูกพันธสีมาขึ้นเพื่อเป็นการทำบุญรวมกัน

พ.ศ. 2488 เกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้าน คือ โรคไข้ทรพิษ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า โรคตุ่มสุก จากโรคระบาดนี้เป็นเหตุให้ชาวบ้านในหมู่บ้านเจ็บป่วยและล้มตายเป็นจำนวน จากเหตุการณ์นี้เองทำให้มีหมอรากไม้หรือหมอพื้นบ้านที่รักษาด้วยสมุนไพร เดินทางมายังหมู่บ้านเพื่อให้การรักษาโรคดังกล่าว

พ.ศ. 2492 มีการตัดถนนเข้ามายังหมู่บ้านเป็นครั้งแรก เพื่อให้สะดวกต่อการคมนาคมภายในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน

พ.ศ. 2493 มีการนำรถจักรยานซึ่งเป็นพาหนะในการเดินทางมาใช้ในหมู่บ้านคันแรก ซึ่งบุคคลที่นำมาใช้คือบุตรชายของพ่อหลวง(ผู้ใหญ่บ้าน)ในสมัยนั้น

พ.ศ. 2512 ได้มีการเปลี่ยนสถานที่ ที่ทำการเผาศพของคนในหมู่บ้าน จากบริเวณหมู่บ้าน ไปยังบ้านศรีถ้อย ซึ่ง เป็นสถานที่เผาศพรวมไว้ของ 5 หมู่บ้าน

พ.ศ. 2513 มีการก่อตั้งโรงเรียนของหมู่บ้านโรงเรียนแรก คือ โรงเรียนบ้านสันขวาง โดยสมัยนั้นมีครูประจำโรงเรียนคนแรกคือ ครูศรีแก้ว โดยโรงเรียนสันขวางนั้นได้เปิดสอนมาจนถึง 2544 ก็ต้องปิดตัวลง

พ.ศ. 2522 ทางกรมการไฟฟ้าไฟฟ้าได้เข้ามาติดตั้งในหมู่บ้านบ้านสันขวางในเป็นครั้งแรก

พ.ศ. 2530 มีตู้โทรศัพท์สาธารณะตู้แรกใช้ในหมูบ้านสันขวาง เพื่อสะดวกในการติดต่อสื่อสารกัน

พ.ศ. 2535 มีโรงพยาบาลประจำอำเภอโรงพยาบาลแรก คือ โรงพยาบาลแม่ใจ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่ชาวบ้านบ้านสันขวางนิยมไปรับบริการในขณะนั้น 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ หมู่บ้านสันสลี หมู่ 7 ตำบลเจริญราษฎร์ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดกับ หนองเล็งทราย
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านแม่ใจหางบ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านต้นตะเคียน หมู่ที่ 2 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

การคมนาคม

เดิมหมู่บ้านมีทางเข้าทางออกทางเดียว ระยะทางจากปากทางถึงตัวหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร ท้ายหมู่บ้านติดหนองเล็งทราย ปัจจุบันมีการตัดถนนท้ายหมู่บ้านบริเวณที่ติดกับหมู่บ้านหนองเล็งทราย เพื่อติดต่อกันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงเป็นถนนลูกรังอยู่ การคมนาคมในหมู่บ้านนอกหมู่บ้านใช้รถยนต์ส่วนตัว รถมอเตอร์ไซต์และจักรยาน

พื้นที่ของบ้านสันขวางจะล้อมรอบด้วยทุ่งนา เพราะส่วนใหญ่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และบริเวณที่ตั้งของชุมชน บ้านเรือนจะอยู่ชิดกัน จะตั้งบ้านเรือนใกล้กันหรืออยู่ภายในคุ้มเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวร มีรั้วรอบขอบชิด บางครอบครัวมีการปลูกพืชผักสวนครัวไว้ประกอบอาหาร และมีการเลี้ยงสัตว์ไว้ประกอบอาหารเช่น ไก่ ปลา และสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อความเพลิดเพลิน ได้แก่ สุนัข แมว เป็นต้น และมีพื้นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน คือ ศาลาอเนกประสงค์และมีโรงสีข้าวไว้ในหมู่บ้าน มีศาลเจ้าพ่อหลวงคำแดงอยู่ในคุ้มที่ 4 และมีศาลพ่อหนองเล็งทรายอยู่ที่หนองเล็งทรายท้ายหมู่บ้าน ไว้ให้คนในหมู่บ้านได้สักการบูชาตามความเชื่อของคนในหมู่บ้าน ภายในหมู่บ้านจะมีอยู่ 9 คุ้ม 21 ซอย แต่ละซอยจะมีถนนคอนกรีต มีไฟข้างทาง (ไฟกิ่ง) ของภาครัฐแต่ยังไม่เพียงพอ ทำให้ภายในหมู่บ้านเวลากลางคืนมีแสงสว่างไม่เพียงพอในบางพื้นที่ ในหมู่บ้านมีการใช้น้ำดื่มบรรจุขวดที่ผลิตในหมู่บ้านมาบริโภคและส่วนใหญ่ใช้น้ำประปาในการอุปโภค

จำนวนประชากรของบ้านสันขวาง หมู่ที่ 3 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา จำนวนครัวเรือน 192 หลัง มีประชากร 825 คน แบ่งได้ดังนี้ เพศหญิง จำนวน 392 คน เพศชาย จำนวน 433 คน

องค์กรชุมชนในหมู่บ้าน ข้อมูลด้านการบริหารหมู่บ้าน

1. นายกเทศมนตรีตำบลแม่ใจ        

2. กำนันตำบลศรีถ้อย                

3. ผู้ใหญ่บ้านบ้านสันขวาง           

4. คณะกรรมการหมู่บ้าน

5. หัวหน้ากลุ่ม/องค์กรในหมู่บ้าน/ชุมชน

  • กลุ่มอสม. : จำนวน 27 คน
  • กลุ่มผู้สูงอายุ : จำนวน 140  คน                         
  • กลุ่มกองทุนเงินล้าน : จำนวน 28 คน                 
  • กลุ่มออมทรัพย์ : จำนวน 185 คน *สมาชิกกลุ่ม คือ ทุกคนในหมู่บ้าน                       
  • กลุ่มสหกรณ์สตรีอำเภอแม่ใจ : จำนวน 185  คน *สมาชิกกลุ่ม คือ ทุกคนในหมู่บ้าน
  • กลุ่มพันธุ์ข้าว : จำนวน 271 คน *สมาชิกกลุ่ม คือ ทุกคนในหมู่บ้าน                         
  • กลุ่มร้านปลาเผา : จำนวน 35 คน                     
  • กลุ่มเลี้ยงกระบือ : จำนวน 5 คน                     
  • กลุ่มครัวหนองเล็งทราย : จำนวน 28 คน               
  • กลุ่มโรงน้ำ : จำนวน 271  คน *สมาชิกกลุ่ม คือ ทุกคนในหมู่บ้าน

ปฏิทินชุมชนบ้านสันขวาง หมู่ที่ 3

กิจกรรมด้านเศรษฐกิจ

สภาพทางเศรษฐกิจ ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 50,000  บาท/คน/ปี

  • อาชีพหลัก : ของประชาชน บ้านหินขาวกลางหมู่ 8 คือ อาชีพทำนา
  • อาชีพรอง : ปลูกแคนตาลูป ประมง ปลูกหอม และรับจ้าง
  • อาชีพเสริม : ปลูกพืชผักสวนครัว หาของป่า เลี้ยงปลา ปลาแห้ง และค้าขาย รายได้ของประชาชน  มาจากภาคเกษตรกรรม
  • รายจ่ายของประชาชน : ค่าใช้จ่ายทางการเกษตร ค่าดำรงชีพค่าสาธารณูปโภค ค่างานสังคมและ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
  • หนี้สินของประชาชน : ส่วนใหญ่เป็นหนี้กู้ยืมของ ธกส. และหนี้ของกองทุนต่างๆในหมู่บ้าน
  • แหล่งเงินทุน : ออมทรัพย์หมู่บ้าน กลุ่มเงินล้าน และ ธกส.
  • ผลิตภัณฑ์ชุมชน : ได้จากกลุ่มส่งเสริมอาชีพต่างๆ เช่น แหนม  ปุ๋ยอินทรีย์  ไข่ไก่  ปลาแห้ง
  • ภูมิปัญญาท้องถิ่น : การถนอมอาหาร นำปลามาตากแห้ง ทำให้สามารถเก็บปลาไว้ได้นานขึ้น และเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว

ปฏิทินเศรษฐกิจ

  • ทำสวนแคนตาลูป : ให้ชุมชนจะทำ 2  รอบ คือ รอบแรกหลังฤดูทำนาปี ทำในช่วงเดือนมกราคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนเมษายน รอบที่ 2 ทำในช่วงเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนสิงหาคม ผลผลิตที่ได้นอกจากจะขายแล้วบางส่วนยังถูกเก็บไว้รับประทานในครัวเรือน
  • ทำสวนลิ้นจี่ : เริ่มทำในเดือนกุมภาพันธ์และเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
  • ปลูกสับปะรด : เริ่มทำในเดือนกุมภาพันธ์และเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
  • ปลูกข้าวโพด : จะเริ่มปลูกในช่วงเดือนธันวาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ผลผลิตที่ได้ก็จะนำไปขาย
  • ทำนา : การทำนาจะมีทั้งนาปีและนาปรัง นาปีจะเริ่มหว่านกล้าข้าวในเดือนมิถุนายนและเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน ส่วนนาปรังจะทำในเดือนมกราคมและเก็บเกี่ยวในเดือนพฤษภาคมผลผลิตที่ได้จะนำไปขายและเก็บไว้รับประทาน
  • ปลาตากแดด : ค้าขายปลาตากแดดเป็นอาชีพที่สามารถทำได้ตลอดทั้งปี
  • หาของป่า : การหาของป่าจะประกอบไปด้วย การหาผัก หน่อไม้ เห็ด ซึ่งในชุมชนทำกันค่อนข้างน้อย
  • ทำน้ำปู : ทำในเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
  • ทำการประมง : หมู่บ้านอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำตลอดทั้งปีชาวบ้านจึงสามารถจับปลาได้ตลอดทั้งปี

ปฏิทินวัฒนธรรมประเพณี ส่วนใหญ่เป็นวัฒนธรรมประเพณีล้านนาที่สืบทอดกันมา ที่โดดเด่น คือ การสักการะเจ้าหลวงคำแดง และการบวงสรวงผีต้นน้ำหนองเล็งทราย

การเลี้ยงผีหนองเล็งทราย เป็นความเชื่อเก่าแก่ของชาวอำเภอแม่ใจที่สืบทอดกันมากว่า 70 ปี ประเพณีนี้เกิดจากความเชื่อที่มีมาแต่อดีตว่า หนองเล็งทรายมีผีที่คอยปกปักรักษา ถ้าปีไหนไม่เลี้ยงผีจะเกิดอาเพศ ฝนจะไม่ตกตามฤดูกาล ชาวบ้านจะเจ็บไข้ได้ป่วย ชาวบ้านจึงร่วมกันจัดพิธีเลี้ยงผีหนองเล็งทรายขึ้นเพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาล ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ พิธีเลี้ยงผีนี้จะจัดขึ้นในเดือน 7 (เดือน 9 เหนือ) แรม 9 คํ่า อีกประการหนึ่งเพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้แก่ชาวบ้านให้ช่วยกันดูแลรักษาหนองเล็งทราย

บทบาทที่สะท้อนจากตำนาน คือ พิธีกรรมเลี้ยงผีขุนน้ำของชุมชนรอบหนองเล็งทราย สะท้อนให้เห็นการเคารพต่อธรรมชาติ พิธีกรรมเลี้ยงผีขุนน้ำ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับหนองเล็งทราย เป็นการสร้างสำนึกร่วมของชาวบ้านเพื่อตอบแทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยดูแลรักษาหนองเล็งทรายให้คงอยู่กับชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีประเพณีสืบชะตาหนองเล็งทราย โดยการนำพุทธประวัติ ประยุกต์เข้ากับพิธีกรรมทางศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีพื้นบ้าน ซึ่งมีรากฐานมาจากสืบชะตาบ้าน และสืบชะตาคน ที่มีคุณค่าและความหมายต่อชาวบ้าน นอกจากเป็นการเรียกขวัญกำลังใจกับคืนมาแล้ว ยังก่อให้เกิดความร่วมมือ ความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูล และร่วมกันแก้ไขปัญหาเกิดความเลื่อมใส เคารพต่อพิธีกรรม เลี้ยงผีขุนน้ำประเพณีนี้ยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน (จิรภิญญา คำเผ่าและตุลาภรณ์ แสนปรน, 2563)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • หนองเล็งทราย แหล่งน้ำธรรมชาติ ปัจจุบันใช้ประโยชน์ในเชิงเกษตรกรรม ประมงพื้นบ้าน และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
  • เครือข่ายป่าชุมชน

ภาษาพื้นเมืองล้านนา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านสันขวาง (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps

ประวัติจังหวัดในล้านนาจังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.

บุญศิริ สุขพร้อมสรรพ และอาทิตย์ ลิมปิยากร. (2564). ภูมินาม-ภาพสะท้อนเมืองพะเยา. วารสารวิชาการเพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่. 2(1). 88 – 94.

พระครูโสภณปริยัติสุธี, รศ.ดร. ถิรธมฺโม. ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอแม่ใจ.

บุญเลิศ ครุฑเมือง. (2537). ผีปู่ย่า : ศรัทธาแห่งล้านนาไทย. สารคดี “ฮีตฮอยเฮา”กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ. เล่ม 80 ตอนที่ 14. 5 กุมภาพันธ์ 2506.

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอดอกคำใต้ อำเภอเม่ใจ อำเภอจุน ฯลฯ. เล่ม 82 ตอนที่ 59. 27 กรกฎาคม 2508

มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ ในพระบรมราชินูปถัมภ์. หนองเล็งทราย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. http://www.maechai.ac.th/

จิรภิญญา คำเผ่าและตุลาภรณ์ แสนปรน. (2563). ตำนานหนองเล็งทราย : อนุภาคและบทบาทที่มีต่อชุมชนบ้านสันขวาง. วารสารมังรายสาร. 8(2). 35-46.