Advance search

น้ำตกแม่เหยี่ยนชุบชีวี ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ เลิศล้ำหัตถกรรมจักสาน ถิ่นฐานคูเมืองเก่าลือชื่อ ข้าวซ้อมมือดีมีในตำบล ป่าชุมชนระบือนามทั่ว บึงงามนามหนองบัว อุตสาหกรรมครอบครัวหน่อไม้ปี๊บ

หมู่ที่ 8
บ้านใหม่นคร
บ้านใหม่
เมืองพะเยา
พะเยา
ขวัญเรือน สมคิด
1 พ.ค. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
8 พ.ค. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
19 พ.ค. 2023
บ้านใหม่นคร

ตำบลบ้านใหม่และบ้านใหม่นคร มีความเป็นมาดังนี้ จากหลักฐานหุบเขาของเมืองพะเยามีขนาดใหญ่มีพื้นที่ราบ กว้างขวาง มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ พะเยาจึงเป็นเมืองใหญ่ที่ประกอบไปด้วยชุมชนใหญ่น้อยจำนวนมาก แบ่งออกเป็นพันนาต่าง ๆ 36 พันนา การแบ่งพื้นที่ของเมืองพะเยาสมัยโบราณมีจำนวนใกล้เคียงกับการแบ่งเขตตำบลต่าง ๆ ในหุบเขาเมืองพะเยาปัจจุบัน พันนาม่วงเป็นหนึ่งใน 36 พันนา โดยหนึ่งในพันนานั้นคือ พันนาใหม่ ซึ่งหมายถึงพื้นที่ในเขตตำบลบ้านใหม่ อ.เมืองพะเยา และบางส่วนของ อ.แม่ใจ ในปัจจุบัน


น้ำตกแม่เหยี่ยนชุบชีวี ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ เลิศล้ำหัตถกรรมจักสาน ถิ่นฐานคูเมืองเก่าลือชื่อ ข้าวซ้อมมือดีมีในตำบล ป่าชุมชนระบือนามทั่ว บึงงามนามหนองบัว อุตสาหกรรมครอบครัวหน่อไม้ปี๊บ

บ้านใหม่นคร
หมู่ที่ 8
บ้านใหม่
เมืองพะเยา
พะเยา
56000
19.288251
99.814322
เทศบาลตำบลบ้านใหม่

ชื่อบ้านใหม่ ปรากฏหลักฐานในจารึกเมืองพะเยาเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตตั้งแต่ยุคสมัยของอาณาจักรภูกามยาว มีกษัตริย์ปกครองสืบสันตติวงศ์ตั้งแต่ราชวงศ์ลวจังคราช ปฐมกษัตริย์แห่งนครเงินยางเชียงแสน ที่มีเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายคือพญางำเมือง จากที่เมืองพะเยาต้องสูญเสียอิสรภาพแก่ข้าศึก ทำให้สูญสิ้นราชวงศ์งำเมืองไปด้วย แว่นแคว้นพะเยาไม่สามารถตั้งตัวได้ ก็ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนา พะเยาก็มีลักษณะเช่นเดียวกับเมืองอื่นๆในล้านนา คือมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในหุบเขา ในหุบเขาประกอบด้วยชุมชนใหญ่น้อยหลายแห่ง ชุมชนบางแห่งที่มีความสำคัญจะมีการสร้างคูน้ำ คันดินหรือกำแพงล้อมรอบ ในเมืองพะเยามีชุมชนหรือคูน้ำคันดินล้อมรอบที่เรียกว่า “เวียง” ทั้งหมด 11 แห่ง ความสัมพันธ์ระหว่างเวียงต่างๆทั้ง 11 แห่ง แบ่งออกได้ถึง 36 พันนา โดยมีชุมชนหลักที่เป็นศูนย์กลางการบริหารขอบเขตของแต่ละพันนา ก็มีลักษณะคล้ายกับตำบลในปัจจุบัน โดยประกอบไปด้วยชุมชนระดับหมู่บ้านหลายแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้ๆกัน และใช้ระบบชลประทานเหมืองฝายเดียวกัน โดยที่พันนาม่วง คือบริเวณตำบลบ้านใหม่และบางส่วนของอำเภอแม่ใจในปัจจุบัน โดยที่พันนาม่วงมีลักษณะเป็นเวียงโบราณตั้งอยู่บริเวณชายขอบของที่ราบต่อกับเชิงเขาของดอยต่างๆ ที่รายรอบหุบเขาของเมืองพะเยาไว้ โดยห่างกันเป็นระยะตั้งแต่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเวียงโบราณใกล้บ้านเหยี่ยน ตำบลบ้านใหม่ (พระธรรมวิมลโมลี อัครดุษฎีบัณฑิตแห่งภูกามยาว, ขรรค์ชัย บุนปาน, 2552)

ตำบลบ้านใหม่และบ้านใหม่นคร ได้มีความเป็นมาดังนี้ จากหลักฐานหุบเขาของเมืองพะเยามีขนาดใหญ่มีพื้นที่ราบ กว้างขวาง มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ พะเยาจึงเป็นเมืองใหญ่ที่ประกอบไปด้วยชุมชนใหญ่น้อยจำนวนมาก แบ่งออกเป็นพันนาต่าง ๆ 36 พันนา การแบ่งพื้นที่ของเมืองพะเยาสมัยโบราณมีจำนวนใกล้เคียงกับการแบ่งเขตตำบลต่าง ๆ ในหุบเขาเมืองพะเยาปัจจุบัน พันนาม่วงเป็นหนึ่งใน 36 พันนา โดยหนึ่งในพันนานั้นคือพันนาใหม่ ซึ่งหมายถึงพื้นที่ในเขตตำบลบ้านใหม่ อ.เมืองพะเยา และบางส่วนของ อ.แม่ใจในปัจุบัน และได้เริ่มแต่งตั้งให้มีผู้ใหญ่บ้านครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 โดยมีนายเมืองแก้ว สาคร เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

ปี พ.ศ. 2367 ถือเอาปีนี้เป็นปีที่สร้างวัดใหม่หลวง ตามที่ท่านครูบาอิ่นแก้ว อินทสาโร เจ้าอาวาสวัดใหม่หลวงได้บอกเล่าให้นายมา บ้านใหม่ดง ต.บ้านใหม่ ว่าตอนเมื่อสมัยจ้าง (เชียง) แสนมีชื่อว่าอย่างนั้น ต่อมามีชื่อว่าเชียงแสนในเวลานี้ชาวบ้านราษฎรในเมืองเชียงรายเมืองพะเยายังไม่ได้ร่วมกับรัฐบาลไทยหรือเรียกอย่างหนึ่งว่าไม่ได้อยู่ในการปกครองเดียวกันกับประเทศไทยเพราะแต่ละเมืองก็ปกครองตนเองไม่ได้รวมเป็นผืนแผ่นดินไทยเดียวกัน เหมือนปัจจุบันนี้ ก็มีข้าศึกเข้ามาข่มแหงทำร้ายราษฎรชาวบ้านชาวเมืองก็คือทหารประเทศใกล้เคียง เช่น พม่า เป็นต้น เรียกว่าทหารแย เขาเหล่านั้นได้เข้ามาทำร้ายข่มแหงปล้นฆ่า ทำให้ชาวบ้านชาวเมืองจ้างแสนจ้างฮายได้รับความเดือดร้อนมากอยู่ไหนกินไหนก็ไม่ได้มีแต่ภัยสงครามลำบากมาก ทุกข์ยากรำเค็ญ ก็มีครูบาวงศ์ท่านเป็นคนจ้างแสนหรือเชียงแสนในปัจจุบัน ได้นำเอาพ่อแม่พี่น้องศรัทธาชาวบ้านเชียงแสนอพยพมาอยู่ทางตอนใต้ คือ ตอนเหนือของเมืองพะยาว (พะเยา) มาตอนนั้นมาไม่มากไม่รู้ว่า พ.ศ.ไหน (ก่อนปี 2367) สมัยนั้นไม่มีหนังสือ เอาแต่จำ ไม่มีการจดบันทึกไว้เหมือนสมัยนี้ และท่านได้นำเอากลองสะบัดไจย (กองหลวงอยู่ที่หอระฆัง) บรรทุกด้วยช้างม้าไว้ที่วัดใหม่หลวง

ครูบาวงศ์และคณะศรัทธา มาตั้งรกรากสร้างถิ่นฐานที่ตรงนี้และก็สร้างวัดขึ้นมีชื่อวัดใหม่หลวง (พ.ศ. 2367) ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ครูบาวงค์ท่านเป็นพระที่เก่งกล้าสามารถและมีคาถาอาคมพลังเก่งกล้า ท่านสามารถหายตัวได้ (ตามคำเล่าของครูบาอิ่นแก้ว อินทสาโร) ทหารแยหาตัวท่านครูบาวงศ์ไม่พบ ท่านจึงสามารถนำผู้คนหลบหนีจากทหารแยมาตั้งถิ่นฐานที่พะเยาได้ หลังจากนั้นก็ได้สร้างเสนาสนะ ประกอบด้วยอุโบสถ ศาลาการเปรียญ สร้างกุฏิหลังเก่าเมื่อ พ.ศ.2367 วิหารหลังเก่าไม่มีหน้ามุขมีประตูเข้าด้านตะวันออกสองที่และด้านเหนือหนึ่งที่ ได้รับพระราชทานวิสุงคสีมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2489

ปี พ.ศ. 2448 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยมีการแบ่งการปกครองออกเป็นภูมิภาค ในหัวเมืองฝ่ายเหนือที่ตั้งบริเวณแห่งนี้ ทางราชการได้รวบรวมแต่ละหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงกันเป็นตำบล โดยหมู่บ้านได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2450 โดยบ้านใหม่นครยังเป็นส่วนหนึ่งของบ้านใหม่หลวง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดเชียงราย

ประมาณปี พ.ศ.2450 ได้เริ่มมีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ เป็นที่ราบเชิงเขา โดยที่ภูเขาสูงล้อมรอบทางทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทิศใต้ มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ และแหล่งน้ำจำนวนมากจึงได้ตั้งครอบครัวอยู่พื้นที่นี้ โดยมาถากถางป่าไม้บางส่วนและสร้างบ้านอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ และเมื่อมีครอบครัวขยายมากขึ้น 

พ.ศ. 2470 ประชากรอพยพมาจากเกาะคาและแม่ทะ จ.ลำปาง ต่อมาได้มีประชาชนอพยพเข้ามาเรื่อย ๆ และประชากรส่วนใหญ่ในขณะนั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่

พ.ศ. 2484 ตำบลบ้านใหม่แยกออกมาจากตำบลแม่ปืมเนื่องจากมีแม่น้ำอิงขวางกั้นไว้ทำให้การปกครองของแคว่น (กำนัน) ไม่ทั่วถึง ปกครองลำบาก

พ.ศ. 2480 สร้างวัดใหม่หลวงดงนครเป็นวัดอย่างทางการ และได้บันทึกปีพุทธศักราชไว้ที่กำแพงวัดว่า พ.ศ. 2580 ได้บันทึกปีพุทธศักราชที่สร้างวัดใหม่หลวงดงนครไว้ที่กำแพงวัด

พ.ศ. 2490 มีการระบาดของโรคห่า (อหิวาห์ตกโรค) กับประชาชนในหมู่บ้าน รักษาโดยหมอเมืองโดยการใช้ใบตองรองนอนและใช้ใบลูกยอต้มให้ดื่ม

พ.ศ. 2495 การเดินทางโดยใช้รถขายข้าวสาร รถคอกหมู

พ.ศ. 2500 มีการระบาดของโรคห่า (อหิวาห์ตกโรค) กับประชาชนในหมู่บ้าน รักษาโดยหมอเมืองโดยการใช้ใบตองรองนอนและใช้ใบลูกยอต้มให้ดื่ม ผู้เจ็บป่วยเดินทางโดยล้อเกวียนไปโรงพยาบาลพะเยา โดยออกมาเส้นทางบ้านแม่ปืม

พ.ศ. 2502 นายศิริ เพชรโรจน์ นายอำเภอพะเยาได้พัฒนาท้องที่ตำบลรอบนอกส่วนใหญ่พัฒนาทำถนนหนทาง พัฒนาปรับปรุงถนนต่อจากตำบลบ้านต๋ำ-ผ่านตำบลแม่นาเรือ ตำบลตุ่น ต๋อม ต๊ำ และตำบลใหม่ 28 กิโลเมตร ติดต่อกับเขตอำเภอแม่ใจ ปัจจุบันถนนสาย1993

พ.ศ. 2503 เริ่มต้นมีโรงสีข้าวในหมู่บ้าน (การบอกเล่าของผู้อาวุโสในหมู่บ้านใหม่นคร ได้แก่ พ่อสว่าง ธรรมยืน อายุ 71 ปี แม่ปัด พรหมเผ่า อายุ 78 ปี แม่สวย ปันโย อายุ 67 ปี แม่ขันคำ ยอดยา อายุ 70 ปี แม่คำแปง ชัยบุญเลิศ อายุ 66 ปี และอีกหลายท่าน ได้ให้ข้อมูลไว้วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 )

ในปี พ.ศ.2507 จากการเล่าของผู้อาวุโสในหมู่บ้านใหม่นครบอกว่า มีโทรทัศน์เครื่องแรกที่บ้าน พ่อเมืองแก้ว สาคร โดยใช้เครื่องปั่นไฟเป็นเครื่องผลิตไฟฟ้าจะเก็บเงินคนที่มาดูคนละสลึงไปซื้อนั้นที่ตลาด ลิตรละ 2 บาท 50 สตางค์ 

พ.ศ. 2510 มีการใช้ยาฝน ยาต้ม ยาเป่า (การบอกเล่าของผู้อาวุโสในหมู่บ้านใหม่นคร ได้แก่ พ่อสว่าง ธรรมยืน อายุ 71 ปี แม่ปัด พรหมเผ่า อายุ 78 ปี แม่สวย ปันโย อายุ 67 ปี แม่ขันคำ ยอดยา อายุ 70 ปี แม่คำแปง ชัยบุญเลิศ อายุ 66 ปี และอีกหลายท่าน ได้ให้ข้อมูลไว้วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 )

พ.ศ. 2519 รัฐบาลได้จัดงบประมาณสร้างถนนลาดยางในหมู่บ้าน ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2520 พะเยาจึงได้การยกฐานะจากอำเภอพะเยา ขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา และได้มีการตั้งชื่อตำบลและชื่อหมู่บ้านขึ้นมาใหม่ตั้งชื่อตามลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละหมู่บ้าน

ปี พ.ศ. 2520 วันที่ 28 กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยาตามปรากาศในราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2520  จังหวัดพะเยา ตั้งขึ้นในวันที่ 28 สิงหาคม 2520 โดยแยกออกมาจากจังหวัดเชียงราย ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก

พ.ศ. 2523 มีการไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้าน พ.ศ.2524 มีทีวีเครื่องแรก และมีคนในหมู่บ้านป่วยเป็นโรคไข้มาลาเรีย มีนายชุมพร ใจทน เป็นหมออนามัย จากสถานีอนามัยบ้านใหม่ ให้การดูแลรักษา

พ.ศ. 2524 แยกหมู่บ้านใหม่นคร จากบ้านใหม่ดงหมู่ 2 ออกมาเป็นหมู่8 บ้านใหม่นคร มีผู้ใหญ่บ้านคนแรก ชื่อนายเมืองแก้ว สาคร, ผู้ช่วย นายสว่าง ธรรมยืน แยกออกจากหมู่2 เนื่องจาก พรบ.ปกครองท้องที่ในการแยกหมู่บ้านที่มีจำนวนมากกว่า 200 หลังคาเรือน เพื่อความทั่วถึงในการปกครอง และชื่อบ้านใหม่นครมาจากนามสกุลของผู้ใหญ่บ้านคนแรก (จากคำบอกเล่าของพ่อสว่าง ธรรมยืน)

พ.ศ. 2545 มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 ชื่อนายประสิทธิ์ ปัญโย และเริ่มมีการปลูกยางพารา

พ.ศ. 2550  มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 ชื่อนายสมบูรณ์ เงินวงศ์

พ.ศ. 2560  จัดตั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปูนา คือ อ่องปู, น้ำปู และในปีเดียวได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่หลวงดงนคร

พ.ศ. 2561 เริ่มเกิดวิกฤตภัยแล้ง ทำให้น้ำไม่เพียงพอสำหรับการทำการเกษตร ปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2562 ภัยแล้งเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ต้องมีการเลื่อนการทำเกษตร เช่น การปลูกข้าว แต่ได้รับการช่วยเหลือจากทางราชการ ซึ่งมีงบประมาณเข้ามาในหมู่บ้าน เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ได้มีการประปาส่วนภูมิภาคเข้ามาในหมู่บ้าน

พ.ศ. 2562 มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 ชื่อนายกระวี เงินสม และมีการแพร่ระบาดของโรค Covid 19 ทำให้หมู่บ้านมีมาตรการในการป้องกันโดยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือและถ้าไม่จำเป็นจะไม่ออกไปต่างจังหวัด ส่วนคนที่กลับจากต่างจังหวัดต้องมีการกักตัว 15 วัน ชาวบ้านจะต้องพึ่งพาตนเองและแบ่งปันเพื่อนบ้านในเรื่องของผักหรือาหารที่มีในชุมชน เพื่อให้ทุกคนสามารถผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปด้วยกัน

พ.ศ. 2563 พบบุคคลในตำบลแม่ปืม ติดเชื้อ Covid 19 และปัจจุบันการดำเนินงานยังคงดำเนินต่อไปโดยประชาชนให้ความช่วยเหลือและร่วมมือกันเป็นอย่างดีและเมื่อพบอุปสรรคปัญหาก็จะมีการปรึกษาและช่วยกันแก้ไข เพื่อให้งานประสบความสำเร็จและงานลุล่วงไปด้วยดี

บ้านใหม่นคร หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ตั้งอยู่ทิศเหนือของเทศบาลตำบลบ้านใหม่ ห่างจากเทศบาลตำบลบ้านใหม่ ประมาณ 1 กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอเมืองพะเยา ประมาณ 18 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1993 มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 161 ครัวเรือน อยู่ในเขตการให้บริการด้านสุขภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านใหม่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1,300 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ที่อยู่อาศัยประมาณ 60 ไร่ พื้นที่การเกษตรประมาณ 1,200 ไร่ แบ่งออกเป็น พื้นที่ทำนา 800 ไร่ พื้นที่ทำไร่ 400 ไร่ พื้นที่ทำสวน 80 ไร่ พื้นที่สาธารณะและป่าสงวน จำนวน 1400 ไร่ แหล่งน้ำสาธารณะ จำนวน 1 แห่ง คือ ลำห้วยแม่เหยี่ยน

ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม มีทุ่งนารายรอบ ทิศตะวันตกเป็นที่ราบเชิงเขา ซึ่งประชาชนในหมู่บ้านใช้พื้นที่ในการทำนา ปลูกสวนยาง สวนลิ้นจี่ สวนมันสำปะหลัง มีแหล่งน้ำที่สำคัญคือ แม่น้ำเหยี่ยน อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน โดยน้ำตกจะไหลลงมาที่อ่างเก็บน้ำแม่เหยี่ยนและไหลไปตามหมู่บ้านโดยเส้นทางน้ำไหลจะไหลผ่านบ้านท่ากลอง หมู่ 2 และไหลมาที่บ้านใหม่นคร หมู่ 8 ซึ่งแหล่งน้ำดังกล่าวมีประโยชน์ด้านอุปโภค บริโภค และเกษตรกรรม คือ การทำนา เป็นส่วนใหญ่ ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนกระจายไปตามแนวถนน

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลแม่สุก อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลท่าจำปี อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลแม่ปืม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลวังแก้ว อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

โครงสร้างองค์กรชุมชน

  • คณะกรรมการบริหารหมู่บ้าน : จำนวน คน
  • หัวหน้าคุ้ม : จำนวน 9 คน
  • อาสาสมัครชุมชน : จำนวน 4 คน
  • อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน : จำนวน 17 คน
  • อาสาสมัครเกษตร : จำนวน 1 คน 
  • ตัวแทนเกษตรกร : จำนวน 1 คน
  • คณะกรรมการบริหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเกษตรประจำตำบล : จำนวน 11 คน 
  • กลุ่มอาชีพเลี้ยงไก่ พันธุ์ไข่ : จำนวน 6 คน 
  • กลุ่มแปรรูปจากปูนา : จำนวน 13 คน 
  • กลุ่มผู้สูงอายุ : จำนวน 77 คน (ประธานกลุ่ม 3 คน)
  • กลุ่มออมทรัพย์หมู่บ้าน : จำนวน 4 คน 
  • กลุ่มแม่บ้าน : จำนวน 4 คน 
  • ปราชญ์ชาวบ้าน : จำนวน 3 คน 
  • กลุ่มน้ำปลา : จำนวน 17 คน 
  • กลุ่มหน่อไม้ : จำนวน 12 คน

วิถีชีวิตเศรษฐกิจ

  • อาชีพหลัก : เกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา กรีดยางพารา และเลี้ยงปลา
  • อาชีพเสริม : รับจ้างทั่วไป และค้าขาย
  • รายได้ของประชาชน : ส่วนใหญ่มาจากการทำเกษตรกรรม เช่น ทำนา, กรีดยางพารา, เลี้ยงปลา, ปลูกลำไย, ปลูกหอมกระเทียม, ปลูกข้าวโพด, มันสำปะหลัง, พืชผัก, ไข่ไก่, ทั่วไป, ค้าขาย และรายได้จากการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชน เช่น โครงการปูนา, โครงการน้ำปลา, โครงการไก่พันธุ์ไข่, โครงการนาแปลงใหญ่ เป็นต้น และอื่น ๆ เช่น เบี้ยยังชีพ และเงินจากลูกหลาน
  • รายจ่ายของประชาชน : ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าน้ำมัน, ค่าโทรศัพท์, ค่าเล่าเรียนบุตร, ค่าอุปโภคบริโภค, ค่าสารเคมีทางการเกษตร, ค่าหวย, ค่าปุ๋ย, ค่าบุหรี่-สุรา
  • หนี้สินของประชาชน : ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากกองทุนเงินล้าน 
  • เงินทุน : กองทุนเงินล้านในหมู่บ้าน, ออมทรัพย์

ปฏิทินวัฒนธรรมประเพณีล้านนา แต่ละพื้นที่มีดังนี้

  • เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : วันขึ้นปีใหม่, กลางเดือนจัดทำพิธี “ตานข้าวใหม่”, ตานหลัวหิงไฟพระเจ้า
  • เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : เก็บส้มป่อยศักดิ์สิทธิ์ เป็นการเก็บในวันที่สำคัญของวันใดวันหนึ่งของเดือนเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ในการนำส้มป่อยในประกอบพิธีต่าง ๆ, บวงสรวงศาลเจ้าบ้าน
  • เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : ประเพณีปอยหลวง คือ งานฉลองถาวรวัตถุของวัดหรือการฉลองสิ่งก่อสร้างที่ประชาชนช่วยกันทำขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ แก่สาธารณชน มีโรงเรียน หอประชุม เป็นต้น ประชาชนในล้านนาไทย นิยมทำการฉลองครั้งใหญ่หลังจากการก่อสร้างสำเร็จแล้ว ทำเป็นการใหญ่โต เรียกว่า ปอยหลวง อุทิศสิ่งก่อสร้างเป็นของสงฆ์ และอุทิศบุญกุศลแก่บรรพชนด้วย ถ้าทำส่วนตัวเรียกอุทิศกุศลไว้ภายหน้า หากอุทิศแก่คนตายเรียกว่า อุทิศะกุศลไปหา
  • เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ปีใหม่เมือง ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ โดย

วันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่นบอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์)

วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น วันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี

วันที่ 15 เมษายน “วันพญาวัน” วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันข้าว” นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ เลี้ยงผีปู่ย่าในวันนี้

วันที่ 16 เมษายน “วันปากปี” เป็นวันแรกของปี มารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน พิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่าง ๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว โดยในวันปากปีมีความเชื่อบางประการเกี่ยวกับ “แกงขนุน” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” ที่จะกินกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปี

  • เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ ฟังธรรมปลาช่อนเพื่อขอน้ำให้เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม โดยชาวบ้านจะมีการนำของคาวของหวานมาเซ่นไหว้ซึ่งทำพิธีที่ฝายน้ำของหมู่บ้าน หมู่ที่ 1
  • เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า ไหว้ผีมดผีเม็ง, ประเพณีเลี้ยงผีป่า เจ้าที่นาเลี้ยงโดยเหล้าไห ไก่คู่ เป็นการเลี้ยงเจ้าที่ก่อนลงทำนาเพื่อให้การทำนาราบรื่นและได้ผลผลิตดี
  • เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญเข้าพรรษา, การเก็บข้าวเชื้อ หรือพันธุ์ข้าวของคนโบราณล้านนาไทยนั้น เมื่อชาวนาต้องการข้าวพันธุ์อะไร เขาจะออกไปดูตามนาของคนอื่น ถ้าติดใจอยากได้ก็จะไปตกลงขอข้าวเชื้อ โดยขอเก็บเอารวงข้าวที่มีเมล็ดและน้ำหนักที่ดีที่สุด ทีละรวง จนกว่าจะครบต๋าง หรือตวง แม้แต่เจ้าของนาเองก็เหมือนกัน พอข้าวในนาสุกก็จะมาเก็บเอาข้าวเชื้อหรือพันธุ์ข้าวทีละรวง จนเพียงพอแก่ความต้องการนำไปเก็บไว้ในกระบุง หรือบุ่งข้าวสำหรับใช้เป็นพันธุ์หว่านในปีต่อไป
  • เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ช่วงเดือนนี้จะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา มีการทำบุญตักบาตร
  • เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ปล่อยเปรตปล่อยผี (ตาน) ถวายขันข้าวให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว, ตานก๋วยสลาก ช่วงเดือน 12 ล้านนาถึงเดือนยี่ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
  • เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ทำบุญออกพรรษา อยู่ในช่วงตานก๋วยสลาก สิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ
  • เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ทอดกฐิน มีเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยง(เดือนเกี๋ยงดับ) จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ, ประเพณียี่เป็ง
  • เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : ส่งท้ายปีเก่า

1. ช่างซอพื้นเมือง คณะทองใบบัวลอยศิลป์

  • วัดใหม่ดงนคร
  • น้ำตกแม่เหยี่ยน
  • อ่างเก็บน้ำแม่เหยี่ยน

ภาษาพื้นเมืองล้านนา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ขณะที่เข้าไปศึกษาเรียนรู้ในชุมชนพบการทำพิธีกลางบ้าน ชาวบ้านให้ข้อมูลว่า คือ พิธีกุม ทำเมื่อบุตรหลานเจ็บป่วย ผอมแห้งแรงน้อย พ่อแม่ทำเครื่องบูชา 4 ทิศ และนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเป็นทิศทั้ง4 ให้เด็กนั่งอยู่ใต้ผ้าเหลือง

Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านใหม่นคร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps

ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.

พระครูโสภณปริยัติสุธี, รศ.ดร. ถิรธมฺโม. ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอแม่ใจ.

บุญเลิศ  ครุฑเมือง. (2537). ผีปู่ย่า : ศรัทธาแห่งล้านนาไทย. สารคดี “ฮีตฮอยเฮา”กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ