Advance search

ชุมชนบ้านหัวถนนเป็นชุมชนที่มีชาวไทดำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยยังคงมีการดำรงอัตลักษณ์ในด้านต่าง ๆ เช่น การทำผ้าซิ่นลายแตงโม เสื้อไทและเสื้อฮี และชุมชนบ้านหัวถนนยังมีพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตไทยทรงดำบ้านหัวถนน ที่ได้นำเสนอเกี่ยวกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวไทดำ

บ้านหัวถนน
ดอนพุทรา
ดอนตูม
นครปฐม
สุพิชญา สุขเสมอ
19 พ.ค. 2023
สุพิชญา สุขเสมอ
19 พ.ค. 2023
บ้านหัวถนน


ชุมชนบ้านหัวถนนเป็นชุมชนที่มีชาวไทดำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยยังคงมีการดำรงอัตลักษณ์ในด้านต่าง ๆ เช่น การทำผ้าซิ่นลายแตงโม เสื้อไทและเสื้อฮี และชุมชนบ้านหัวถนนยังมีพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตไทยทรงดำบ้านหัวถนน ที่ได้นำเสนอเกี่ยวกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวไทดำ

บ้านหัวถนน
ดอนพุทรา
ดอนตูม
นครปฐม
73150
13.930783
100.110756
องค์การบริหารส่วนตำบลดอนพุทรา

จากหลักฐานคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนบอกว่า บ้านหัวถนนแต่เดิมเป็นที่ดอนสูง ค่อนข้างแห้งแล้งและไม่ค่อยมีผู้คนอาศัยอยู่มากมายนักด้วยความที่เป็นป่ารกและมีไม้พุ่มไม้หนามขึ้นจำนวนมาก ต่อมาในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ประมาณ พ.ศ. 2473 ชาวไทดำหรือลาวโซ่งจากอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ได้เข้ามาทำงานรับจ้างและจับจองซื้อหาที่ดินทำกินในบริเวณนี้ เนื่องจากชาวลาวโซ่งกลัวน้ำท่วมและต้องการตั้งบ้านเรือนอยู่บนที่ดอนหรือที่สูง ต่อมาจึงได้มีการอพยพโยกย้ายเข้ามาอยู่กันเพิ่มมากขึ้น เมื่อชุมชนมีการขยายตัวมากขึ้น ทางราชการและหน่วยงานราชการได้มาสำรวจและสร้างถนนดินขนาดกว้างกว่าถนนเกวียนดั้งเดิม ทำให้พื้นที่บริเวณนี้สามารถเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างตำบลดอนพุทราไปยังชุมชนอื่น ๆ ภายนอกได้ ปัจจุบันบ้านหัวถนนมีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 4 หมู่บ้าน

ประวัติของหมู่บ้านหัวถนน จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชนบอกว่าเดิมทีคนที่อยู่กลุ่มแรกในชุมชนบ้านหัวถนนเป็นคนไทยเข้ามาอาศัยอยู่ก่อน ผู้คนในบริเวณลุ่มน้ำนครชัยศรีเรียกคนดอนพุทราว่า "คนบ้านป่าบ้านดอน" ต่อมาคนไทดำอพยพเข้ามาจากเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เข้ามาตั้งรกรากอยู่บริเวณบ้านหัวถนนโดยการเข้ามาจับจองที่ดินแบบหักร้างถางพง ใครมีกำลังจับจองได้มากก็ได้ที่ดินมาก ในช่วงเวลานั้นก็เริ่มมีชาวจีนเข้ามาอพยพมาอยู่บริเวณบ้านหัวถนน ได้สร้างศาลเจ้าโรงเจชื่อศาลเจ้าเล่าตาแป๊ะกง และมีการสร้างโรงเรียนบ้านหัวถนนในช่วงปี พ.ศ. 2514 อยู่ต้านข้างของโรงเจต่อมาก็ย้ายไปตั้งอยู่ในพื้นที่ตรงกันข้ามกับวัดหัวถนนในปัจจุบัน คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนบอกว่า ปู่ย่าตายายเข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2410 กว่า ๆ ต่อมาก็เป็นรุ่นพ่อแม่และตัวเองเป็นรุ่นที่สาม ซึ่งในช่วงที่ไทยมีการค้าขายกับจีน การอพยพของคนจีนเข้ามาทางแม่น้ำท่าจีน ส่งผลต่อการเกิดการอพยพของคนจีนเข้ามาในพื้นที่เพื่อทำการค้าขายและการเพาะปลูก บางพื้นที่กลายเป็นชุมชนคนจีนและเป็นตลาดสินค้าที่สำคัญอย่างชุมชนบ้านเกาะแรต ตำบลบางปลา อำเภอบางเลน ที่ยังคงมีชุมชนจีนดั้งเดิมหลงเหลืออยู่ ในขณะเดียวกันบ้านหัวถนน ตำบลดอนพุทรา อำเภอดอนตูมก็มีร่องรอยการเข้ามาของคนจีนในพื้นที่ ทั้งการซื้อหาครอบครองพื้นที่ การเป็นตัวแทนของรัฐและผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองในชุมชนด้วยเหตุผลว่าคนท้องถิ่นอย่างไทดำชอบทำนามากกว่า ดังการปรากฏของศาลเจ้าโรงเจในพื้นที่บ้านหัวถนนที่ยังคงมีประเพณีไหว้ศาลเจ้าเล่าตาแป๊ะกงสืบมาถึงปัจจุบัน

ตำบลตอนพุทราอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม โดยมีอาณาเขตพื้นที่ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลบางปลา ตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลห้วยด้วน ตำบลบ้านหลวง อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลห้วยพระ ตำบลห้วยด้วน อำเภอตอนตูม จังหวัดนครปฐม
  • ทิศตะวันใต้ ติดต่อกับ ตำบลห้วยพระ อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม

ตำบลดอนพุทรามีพื้นที่ครอบคลุมทั้งสิ้น 10 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ที่ 1 บ้านหัวถนน 146 ครัวเรือน หมู่ที่ 2 บ้านดอนพุทรา 130 ครัวเรือน หมู่ที่ 3 บ้านดอนพุทรา 130 ครัวเรือน หมู่ที่ 4 บ้านปากหว้า 215 ครัวเรือน หมู่ที่ 5 บ้านหนองบอน 155 ครัวเรือน หมู่ที่ 6 บ้านหัวถนน 59 ครัวเรือน หมู่ที่ 7 บ้านหนองควายเฒ่า 146 ครัวเรือน หมู่ที่ 8 บ้านหัวถนน 72 ครัวเรือน หมู่ที่9 บ้านหนองปรง 69 ครัวเรือน หมู่ที่ 10 บ้านหัวถนน 83 ครัวเรือน โดยในพื้นที่อำเภอดอนตูม มีสองตำบลที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำหรือลาวโซ่ง ประกอบด้วย ตำบลลำลูกบัวและตำบลดอนพุทรา ซึ่งประกอบด้วยบ้านหัวถนนและบ้านแหลมกระเจาโซ่ง โดยอาณาเขตติดต่อของบ้านหัวถนนประกอบด้วย

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลสามง่าม
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลห้วยด้วน
  • ทิศตะวันออก ติดกับ หมู่ที่ 5 บ้านหนองบอน และหมู่ที่ 10 บ้านหัวถนน ตำบลดอนพุทรา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ หมู่ 6 และหมู่ 8 ตำบลดอนพุทรา

ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธ์ุไทดำหรือไทยทรงดำ และชาวจีน เข้ามาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านหัวถนน ตำบลดอนพุทรา เป็นจำนวนมาก ประชากรในหมู่บ้านหัวถนน มีจำนวน 4 หมู่บ้าน ภายในตำบลดอนพุทรา โดยมีหมู่ที่ 1 บ้านหัวถนน มีจำนวนหลังคาเรือน 142 หลังคาเรือน โดยมีประชากรทั้งหมด 604 คน แยกเป็นชาย 306 คน หญิง 298 คน  

  • หมู่ที่ 6 บ้านหัวถนน มีจำนวนหลังคาเรือน 58 หลังคาเรือน โดยมีประชากรทั้งหมด 257 คน แยกเป็นชาย 116 คน หญิง 141 คน 
  • หมู่ที่ 8 บ้านหัวถนน มีจำนวนหลังคาเรือน 71 หลังคาเรือน โดยมีประชากรทั้งหมด 336 คน แยกเป็นชาย 160 คน หญิง 176 คน 
  • หมู่ที่ 10 บ้านหัวถนน มีจำนวนหลังคาเรือน 83 หลังคาเรือน โดยมีประชากรทั้งหมด 436 คน แยกเป็นชาย 208 คน หญิง 228 คน 

การแบ่งเป็นตระกูลหรือ สิง คือสิงเดียวกันจะเกี่ยวข้องเป็นญาติกันแต่เดิม นามสกุลของไทดำขึ้นต้นด้วยคำว่า สิงแล้วต่อด้วยชื่อสกุล เช่น สิงลอ สิงคำ แต่ในปัจจุบันที่หมู่บ้านแห่งนี้ได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุลลักษณะเช่นเดียวกับคนไทยกันหมดแล้ว เช่น ออเข้าย้อย อินทร์เขาย้อย เตี๊ยะตาช้าง เป็นต้น คือไม่มีใครใช้ สิงนำหน้าชื่อสกุลอีกแล้วแต่ยังคงรู้ว่าเครือญาติพี่น้องกันเคยใช้ สิงอะไรในเรื่องการตั้งชื่อสกุลมักเป็นการนำชื่อของบรรพบุรุษหรือสถานที่เกิดมาตั้ง เช่น ลุงเปียง ปานเขาย้อย ชนชั้นผู้ท้าวเล่าว่านามสกุลปานเขาย้อยนี้ได้มาจากปู่ของลุงชื่อปาน และเกิดที่เขาย้อย จึงนำมาตั้งเป็นชื่อสกุลในปัจจุบัน เป็นต้น

จีน, ไทดำ

เนื่องจากลักษณะของพื้นที่มีป่าไม้และทุ่งนา ทำให้อาชีพหลักของคนที่นี่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำไร่ทำนา อย่างไรก็ตามปัจจุบัน การประกอบอาชีพทำนานับว่ามีน้อย มักประกอบอาชีพอื่นมากกว่า เช่น เลี้ยงไก่ ปลา เป็ด หมู และไปทำงานกรุงเทพฯ หนุ่มสาวส่วนใหญ่ไปทำงานกรุงเทพฯ กันเกือบหมด ส่วนที่อยู่บ้านบางคนก็มีอาชีพเย็บผ้าเหลือง ทำเครื่องไตรจีวรของพระ ซึ่งร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์เอาไปส่งให้เย็บ และเนื่องจากพื้นที่ใช้ทำนามีมากแต่ชาวไทดำในพื้นที่ทำนากันน้อยลง ลูกหลานชาวไทดำบ้านหัวถนนได้รับการศึกษาสูงขึ้น เมื่อจบการศึกษาจึงเลือกที่จะหางานทำตามที่ตนเองได้เรียนมา และส่วนมากได้งานทำนอกพื้นที่ ทำให้ไม่มีใครรับช่วงทำนาต่อจากรุ่นผู้สูงอายุที่บางท่านเริ่มทำนาไม่ไหวแล้ว ที่นาที่ขายไปบางส่วนปัจจุบันกลายเป็นกิจการบ่อดิน

วิถีทางวัฒนธรรม

ชาวไทดำบ้านหัวถนนทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ มีวัดดอนพุทรา และวัดหัวถนนในตำบล มีการทำบุญตักบาตรอยู่เสมอ มีการถือศีลปฏิบัติธรรมที่วัดในทุกวันพระ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาจะเตรียมอาหารคาวหวาน ผลไม้ เพื่อมาทำบุญที่วัด ฟังเทศน์ฟังธรรมในเทศกาลต่าง ๆ ห้อยพระเป็นเครื่องรางของขลัง มีการกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปยังสรรพสิ่งทั้งหลายและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่เคยได้รับการบวชเรียนมาเป็นส่วนใหญ่และนิยมให้ลูกชายบวชทุกคนตามความเชื่อแบบพุทธ แสดงให้เห็นถึงความเคารพ ศรัทธา และเลื่อมใสในพุทธศาสนาของชาวไทดำแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้นำศาสนาพุทธเข้ามาร่วมในพิธีกรรมด้วย เช่น พิธีศพของชาวไทดำแบบดั้งเดิมไม่มีพระสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในปัจจุบันพิธีศพจะปฏิบัติตามพิธีแบบดั้งเดิมโดยเพิ่มพิธีทางพุทธศาสนาเข้ามาในการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดศพที่บ้าน มีการบวชหน้าไฟ มีการแห่ศพรอบเมรุก่อนทำพิธีเผาศพ การเผาศพทำที่วัดบนเมรุแทนการเผาศพที่ป่าแห่ว (ป่าช้า) ตามประเพณีดั้งเดิม เป็นต้น มีการรับความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์เข้ามาด้วยคือมีการสร้างศาลพระภูมิกันมากในเกือบทุกบ้าน

ด้านความเชื่อ มีการนับถือผี มีการเซ่นบวงสรวงผีเป็นประจำ มีการบอกกล่าวผีเรือนก่อนออกจากบ้านเพื่อให้คุ้มครอง หรือบอกกล่าวเมื่อมีคนแปลกหน้ามาหรือให้ขึ้นบ้าน หรือมีการสังสรรค์ดื่มเหล้าภายในบริเวณบ้านต้องนำเหล้าไปเซ่นผีเรือนก่อน เชื่อว่าผีจะทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยได้หรือเรียกว่าการผิดผี ถ้ามีผู้ไม่ทำตามประเพณีดั้งเดิม เช่น ไม่ทำพิธีเสนเรือน พิธีปาดตงเมื่อถึงเวลาต้องมีพิธีไหว้ขอขมาหรือมีเครื่องเซ่นไหว้

  • พิธีปาดตง ชาวไทดำบ้านหัวถนนทุกครัวเรือนที่มีผีเรือนหรือมีกะล่อหองอยู่ ยังคงทำปาดตงทุกบ้าน โดยมีข้าว กับข้าว ขนมนำใส่ถาดไปวางไว้ที่มุมห้องของกะล่อหอง โดยทำวันละสองครั้งคือเช้าและกลางวัน อาหารที่เซ่นเป็นอาหารที่กินกันอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่ต้องเซ่นให้ผีเรือนกินก่อน โดยถ้าเป็นผู้ท้าวทำทุกห้าวันและถ้าเป็นผู้น้อยทำทุกสิบวัน เชื่อว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อระลึกถึงพ่อแม่และบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว การกล่าวเชิญผีเรือนมากินมีการใช้ภาษาไทยแต่ส่วนบ้านหัวถนนนี้จะนิยมกล่าวคำเชิญเป็นภาษาไทดำ โดยต้องดูวันเซ่นไหว้ด้วยโดยมากมักเป็นวันขึ้นบ้านใหม่ที่เชิญผีมาขึ้นเรือนและต้องไม่ตรงกับวันตายของพ่อแม่

  • พิธีเสนเรือน เป็นพิธีสำคัญของชาวไทดำ โดยทำทุกสามถึงห้าปีและห้ามมีญาติผีเดียวกันตายในปีนั้นไม่อย่างนั้นต้องเลื่อนออกไป ส่วนใหญ่ทำพิธีกรรมวันที่ตรงกับวันขึ้นบ้านใหม่หรือวันที่นำผีขึ้นเรือนและต้องไม่ตรงกับวันตายของพ่อแม่ ถือเป็นอัตลักษณ์สำคัญของชาวไทดำบ้านหัวถนนแห่งนี้ยังคงดำรงไว้อยู่อย่างเหนียวแน่น
  • งานสืบสานวัฒนธรรมไทดำประจำปี สำหรับท้องถิ่นอำเภอดอนตูม และอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ทุกวันที่ 13 เมยายน จะจัด "งานทรงดำ" ณ วัดหัวถนน อำเภอดอนตูม วันที่ 14 เมษายน จัดที่หมู่บ้านเกาะแรต อำเภอบางเลน และวันอื่นก็มีที่อื่น ๆ อีก สลับวันมิให้ซ้ำกัน ชาวไทดำเห็นประโยชน์ของการจัด "งานทรงดำ" ว่ามีข้อดีที่เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีให้ชนรุ่นหลังได้พบเห็น ได้มีโอกาสอิ้นคอน เป่าแคน มีการขับเรื่องการเล่นคอน และมีการขับเกี้ยวกันบ้าง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น

ด้านเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ชาวไทดำบ้านหัวถนนยังทำอยู่ เป็นผู้ชายที่ทำและเหลืออยู่เพียงสองถึงสามคนเท่านั้น ทั้งที่ทำใช้เองและมีการจ้างทำและขายให้ แต่ไม่ได้ทำจำหน่ายเป็นธุรกิจ เพราะยังไม่ละเอียดพอที่จะทำเป็นอาชีพได้ ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ไผ่และยังคงใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ซุ่ม ค่อง ชะลอม ไซ กระจาด ที่กรอด้าย เป็นต้น สำหรับไซ ถ้าใครปลูกบ้านนิยมมีไว้เชื่อว่าให้โชคลาภ ดักเงินดักทองมีความเชื่อว่าคล้ายกับนางกวัก และใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ปานเผือน ที่ใช้ใส่หมูและขนมในพิธีเสนเรือน เรือนหอที่ให้คนอายุเจ็ดสิบปีขึ้นไปในพิธีศพที่ป่าช้า เป็นต้น แต่การดำรงอัตลักษณ์ในด้านการจักสานนี้แทบไม่มีใครสานต่อ ด้วยเหตุผลว่าซื้อหาเอาง่ายกว่า

ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นหญิงยังมีการทอผ้า เย็บหน้าหมอน ผ้าเปียว สไบ กระเป๋าใส่มือถือ แต่เหลือน้อยเต็มทีเช่นกัน มีการทำผ้าซิ่นลายแตงโม โดยการทอผ้าแบ่งออกเป็นสามส่วน สามพับคือ ส่วนแรกเรียกว่าต้นซิ่นเป็นสีครามหรือสีดำโดย ทอทีเดียวยาวไปเลยพับหนึ่ง ต่อมาทอตัวซิ่น คือ ส่วนที่เห็นเป็นลายแตงโมนั่นเอง ทอยาวต่อกันไปหลายผืนในทีเดียว โดยประมาณแล้วใช้เวลาหนึ่งเดือนจึงได้ผ้าสองถึงสามพับ นอกจากผ้าที่ออกสีครามหรือสีดำแล้วยังมีการทอ ผ้าที่เป็นสีส้มแดงและเขียวไว้เป็นพับ ๆ เช่นเดียวกันเพื่อนำไปทำอย่างอื่นต่อไป เช่น การเย็บหน้าหมอนมีวิธีการคือก่อนที่จะทำนุ่นใส่ ต้องมีการเย็บใส่นุ่น ด้านข้างของการใส่นุ่นนั้นจะมีการเย็บลวดลายต่าง ๆ ด้วยผ้าสีสันต่าง ๆ ที่ทอไว้ เมื่อยัดนุ่นเสร็จแล้วทำการเย็บติดกันกลายเป็นหมอนที่มีด้านข้างเป็นลายที่เย็บหน้าหมอนแล้วหุ้มอีกทีหนึ่งโดยนำผ้าที่ทอไว้นำมาเย็บติดกันคล้ายปลอกหมอนสีสันต่าง ๆ กันไป สายสะพายหรือสายสไบ ทั้งที่เป็นลายแบบดั้งเดิมและลายใหม่ที่คิดขึ้นเองบ้าง กระเป๋าเล็ก ๆ ใส่สตางค์ นอกจากนี้ยังมี ผ้าฮ้างนม ผ้าเปียวหรือผ้าคาดอกโดยใช้สีครามหรือดำที่ทอไว้นำมาตัดเย็บและต้องมีการเย็บลายดอกต่าง ๆ แบบดั้งเดิมโดยเป็นการเย็บสดคือไม่มีการวาดลายก่อน

พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตไทยทรงดำบ้านหัวถนน เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมีการจัดการบริหารเป็นรูปแบบชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีไทยทรงดำอันเป็นมรดกศิลปะบรรพบุรุษไม่ให้สูญหาย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์และเป็นศูนย์วัฒนธรรมวิถีชีวิตไทยทรงดำในท้องถิ่นชุมชนและเพื่อเป็นที่รวบรวมวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แสดงถึงภูมิปัญญาชาวบ้านและปราชญ์ชาวบ้าน

ภาษาชาวไทดำ บ้านหัวถนนแทบไม่มีใครที่อ่านและเขียนภาษาไทดำได้แล้ว มีแต่หมอพิธีหนึ่งถึงสองคนยังคงอ่านและเขียนพอได้ พูดและฟังรู้เรื่อง ส่วนมากโดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือแม้แต่รุ่นหนุ่มสาวบางคนเมื่อเจอคนไทดำด้วยกันส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทดำในการสื่อสารกัน

ปัจจุบันนี้ภาษาพูดสำเนียงไม่ใช่แบบเดิมแต่กลายไปตามอายุ คือ คนแก่ในหมู่บ้านยังคงใช้ภาษาไทดำอยู่มากและค่อนข้างชัดเจนเป็นแบบดั้งเดิม แต่คนอายุน้อยก็จะใช้ภาษาไทยกันมากกว่า เนื่องจากได้รับการศึกษาแบบไทย ส่วนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่ค่อยได้พูดไทดำกับลูกแล้ว ทำให้เห็นได้ว่าในกระบวนการดำรงอัตลักษณ์ในด้านนี้ของคนไทดำในพื้นที่ไม่เห็นถึงความสำคัญมากนัก


ผู้สนับสนุนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำรงอัตลักษณ์ของชาวไทดำบ้านหัวถนน มีโครงการ SML และ โครงการอยู่ดีมีสุขของรัฐบาล ให้งบประมาณมาทางหมู่บ้านตกลงกันว่านำมาจัดสร้างเป็นศาลาเอนกประสงค์และจัดซื้อโต๊ะ เก้าอี้ จานชาม และเครื่องครัวต่าง ๆ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2548 ตั้งอยู่ด้านหลังศาลประพ่อปู่ประจำหมู่บ้านเป็นส่วนหนึ่งของหมู่ 6 ใช้ประโยชน์เมื่อมีการประชุมหมู่บ้าน การเลือกตั้ง หรือในการจัด กิจกรรมต่าง ๆ ของคนในหมู่บ้านสามารถยืม โต๊ะ เก้าอี้ และเครื่องครัวต่าง ๆ ไปใช้ได้  และมีการสร้างเรือนพักอาศัยของชาวไทดำเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับชาวไทดำ แต่ทั้งสองสถานที่มีการก่อสร้างที่ล่าช้า ซึ่งมีปัญหาเกิดจากผู้รับเหมาหนีงานมาอย่างเนิ่นนาน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จตุพล ทองสกล. (2553). การดำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทดำ บ้านหัวถนน ตำบลคอนพุทรา อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

นัฐวุฒิ สิงห์กุล. (2561). การเดินทางของชีวิต: ความหมายต่อความชราภาพและการใช้ชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุไทดำ กรณีศึกษา บ้านเกาะแรต หมู่ที่ 12 ตำบลบางปลา อำเภอบางเลน และบ้านหัวถนน ตำบลดอนพุทรา อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐมกรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research