วัดท่าไคร้
บ้านท่าไคร้เป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่มากกว่า 213 ปี ก่อตั้งเมื่อประมาณพุทธศักราช 2375 ตามประวัติความเป็นมา บ้านท่าไคร้เป็นหมู่บ้านที่มีแม่น้ำไหลผ่านหลายสาย ประกอบกับบริเวณริมแม่น้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้านจะมีต้นไม้ไคร้อยู่ริมแม่น้ำเป็นจำนวนมาก ดังนั้นชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านท่าไคร้” มาจนถึงปัจจุบันนี้ บ้านท่าไคร้แต่เดิมเรียกว่า “ตำบลท่าไคร้” แต่หลังจากทหารเวนที่ดินของส่วนทหารไป หมู่บ้านที่เหลืออยู่หมู่บ้านเดียว คือ บ้านท่าไคร้ จึงขึ้นกับตำบลแม่สาอยู่จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
วัดท่าไคร้
บ้านท่าไคร้ปัจจุบันตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่ริม ประมาณ 3 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 18 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3,950 ไร่ จากคำบอกกล่าวของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน บ้านท่าไคร้เป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่มากกว่า 213 ปี ก่อตั้งเมื่อประมาณพุทธศักราช 2375 ตามประวัติความเป็นมา บ้านท่าไคร้เป็นหมู่บ้านที่มีแม่น้ำไหลผ่านหลายสาย ประกอบกับบริเวณริมแม่น้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้านจะมีต้นไม้ไคร้อยู่ริมแม่น้ำเป็นจำนวนมาก ดังนั้นชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านท่าไคร้” มาจนถึงปัจจุบันนี้ บ้านท่าไคร้แต่เดิมเรียกว่า “ตำบลท่าไคร้” แต่หลังจากทหารเวนที่ดินของส่วนทหารไป ซึ่งกินพื้นที่อย่างกว้างขวาง เลยส่งผลให้หมู่บ้านที่เหลือพื้นที่อยู่หมู่บ้านเดียวคือบ้านท่าไคร้ จึงขึ้นกับตำบลแม่สาอยู่จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
สมัยก่อนบ้านท่าไคร้ มีวัดอยู่ 2 แห่ง คือ วัดต้นโชคหลวง และวัดท่าไคร้ โดยมีพระครูบาสุรินทร์ เป็นผู้บุกเบิกทางพุทธศาสนา ซึ่งวัดต้นโชคหลวงในสมัยนั้นจะมีพระครูบาก้อนเป็นเจ้าอาวาส โดยที่วัดต้นโชคหลวงมีความเจริญรุ่งเรือนมากกว่าวัดท่าไคร้ เนื่องจากว่าประชาชนมีบ้านเรือนใกล้วัดต้นโชคหลวง จึงมีผู้ไปทำบุญให้การอุปถัมภ์วัดเป็นจำนวนมาก แต่ต่อมาภายหลังมีทหารเวนคืนที่ดินของส่วนทหารคืนเพื่อเป็นที่ตั้งแห่งกองรบพิเศษ จนทำให้ประชาชนชาวบ้านต้นโชคหลวงต้องอพยพออกจากพื้นที่ไปอยู่หลายแห่ง ได้แก่ บ้านท่าไคร้ บ้านท้องฝาย บ้านแม่สาน้อย บ้านน้ำงาม แต่ส่วนมากได้อพยพมาอยู่ ณ บ้านท่าไคร้ เพราะถือเอาตามหลักทางภูมิศาสตร์ เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะต่อการทำการเกษตร ตลอดจนมีความหวังว่าจะมีความเจริญในการดำเนินชีวิตต่อไป โดยสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจได้ดีที่สุดก็คือ วัดท่าไคร้ ซึ่งเป็นวัดที่เหลืออยู่ของหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบันนี้
ถนนที่ใช้ในหมู่บ้านแต่เดิมเป็นถนนดิน เป็นถนนที่มีขนาดเล็ก ส่วนมากใช้เป็นทางสำหรับคนเดินเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนเป็นถนนลูกรัง และถนนคอนกรีต ตามลำดับ ส่วนบ้านพักอยู่อาศัยจะเป็นบ้านขนาดเล็กๆ มุงด้วยใบหญ้าคา ใบตองตึง ใบจาก หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนมาเป็นสังกะสี และกระเบื้อง ส่วนไฟฟ้าในสมัยแต่ก่อนนั้นก็จะใช้ไม้เกี๊ยะจุดไฟ เพื่อเป็นแสงสว่างในเวลากลางคืน หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้เทียนไขและตะเกียง และภายหลังที่ไฟฟ้ามาถึงหมู่บ้านจึงเปลี่ยนมาใช้หลอดไส้แทน รวมทั้งในสมัยนั้นยังไม่มีเตาแก๊สใช้ในการหุงต้ม ซึ่งจะใช้ฟืนในการก่อไฟโดยใช้ไม้เกี๊ยะเป็นเชื้อเพลิงในการก่อไฟ แล้วหลังจากนั้นประมาณ 30 ปี จึงเปลี่ยนมาใช้เตาแก๊สในการหุงต้มแทน และอีกสาเหตุหนึ่งก็คือ เนื่องจากทหารได้เวนคืนพื้นที่ของส่วนทหารคืนซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ในการหาฟืน ทหารก็ได้ประกาศห้ามไม่ให้ชาวบ้านมาตัดไม้หรือหาฟืนในพื้นที่ของทหาร รวมทั้งห้ามไม่ให้เลี้ยงสัตว์ต่างๆในเขตพื้นที่ของทหารด้วย ซึ่งในสมัยนั้นสัตว์ที่นิยมเลี้ยงก็คือ กระบือ (ควาย) แต่หลังจากที่ทหารได้ประกาศห้ามจึงทำให้ชาวบ้านบางส่วนเลิกเลี้ยงกระบือ เนื่องจากไม่มีอาหารให้กินได้อย่างเพียงพอ สำหรับน้ำที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภคในสมัยนั้นจะเป็นน้ำบ่อและน้ำบาดาล แล้วจึงเปลี่ยนมาเป็นน้ำประปา แต่หลังจากที่หมู่บ้านมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นจึงไปซื้อน้ำขวดที่ผ่านการกรองมาบริโภคแทน ส่วนน้ำประปาก็จะใช้ในการรดน้ำสวน รดน้ำต้นไม้แทนมาจนถึงปัจจุบันนี้
บ้านท่าไคร้ หมู่ที่ 2 ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่ริม ประมาณ 3 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ 13 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3,950 ไร่ บ้านท่าไคร้เป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำไหลผ่านหลายสาย ซึ่งทำให้ดินอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับทำการเกษตร จึงทำให้มีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลริมใต้-น้ำงาม
ทิศใต้ ติดกับ บ้านท้องฝ่าย หมู่ที่ 6
ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านศรีบุญเรือง หมู่ที่ 1
ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านป่าม่วง ตำบลแม่แรม
บ้านท่าไคร้ หมู่ที่ 2 ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีประชากรทั้งหมด 1,393 คน จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2560 แยกเป็นชาย 810 คน และหญิง 583 คน และมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 305 หลังคาเรือน ประชากรของหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมือง (ล้านนา) ซึ่งสืบทอดเชื้อสายมาจากผู้ที่มาตั้งรกรากอยู่ในอดีต บางส่วนเป็นคนจากพื้นที่อื่นย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ เนื่องจากเข้ามาทำการค้าขายหรือหรือหางานทำในพื้นที่ใกล้เคียง ลักษณะครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว และรองลงมาเป็นครอบครัวขยาย โดยเฉพาะประชาชนดั้งเดิม
ผู้คนในชุมชนบ้านท่าไคร้ มีการรวมกลุ่มทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนี้
กลุ่มที่เป็นทางการ เป็นการรวมตัวกันขององค์กรที่มีความเกี่ยวข้างกับฝ่ายราชการ และเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อผลประโยชน์ของชุมชน ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 7 กลุ่มได้แก่
1. กลุ่มแม่บ้าน มีสมาชิกทั้งหมด 18 คน โดยมีการรวมกลุ่มเพื่อนส่งเสริมรายได้แก่สตรีในชุมชน ให้มีอาชีพและรายได้เสริมเพื่อที่จะสามารถนำไปจุนเจือภายในครอบครัว ช่วยเหลือและทำกิจกรรมงานต่างๆของหมู่บ้าน เช่น งานประเพณี งานวัด งานศพ และมีบทบาที่สำคัญในการส่งเสริมการให้ความสำคัญกับสตรีในชุมชน
2. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) มีสมาชิกทั้งหมด 22 คน มีบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้ประสานงานสุขภาพอนามัยของประชาชนในชุมชนกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รพ.สต. แม่สาหลวง ให้คำชี้แนะและให้บริการประชาชนในด้านสุขภาพ อนามัย พร้อมช่วยคัดกรองโรคต่างๆ รวมถึงการแจ้งและกระจายข่าวอันเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ การสาธารณสุข ให้กับประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข่าวสารในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ
3. พลังแผ่นดิน มีสมาชิกทั้งหมด 15 คน มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชนในชุมชนในยามวิกาล ตรวจตราและเฝ้าระวังสิ่งที่จะเกิดขึ้นในหมู่บ้านทุกๆ ด้าน ตลอดจนป้องกันกปัญหาด้านยาเสพติดในชุมชน
4. กลุ่มกองทุนเงินล้าน (สถาบันการเงินชุมชนต้นแบบ) มีสมาชิกทั้งหมด 18 คน มีหน้าที่ในการเป็นสถาบันการเงินชุมชนที่ให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาทางด้านการเงินแก่ชาวบ้าน ทั้งเงินกู้ เงินออม และหุ้น 9ตลอดจนใช้เงินหมุนเวียนในกองทุนไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ขาดเงินทุน ซึ่งเป็นการถ่ายโอนเงินทุนจากสถาบัน การเงินชุมชน ไปยังชาวบ้านที่ขาดทุน
5. กลุ่มผู้สูงอายุ มีคณะกรรมการดำเนินงาน 12 คน มีหน้าที่ในการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุในหมู่บ้านร่วมทำกิจกรรมในหมู่บ้าน เช่นการเข้าวัดทำบุญตักบาตร กิจกรรมทางศาสนา เป็นต้น และมีการรวมกลุ่มในการทำกิจกรรมสร้างอาชีพเสริมและรายได้ให้กับผู้สูงอายุ เช่นการทำไม้กวาด ดอกไม้ประดิษฐ์ เป็นต้น ถือเป็นการรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมความสามัคคีในกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน
6. กลุ่มตำรวจบ้าน มีสมาชิกกลุ่มทั้งหมด 20 คน ทำหน้าที่ในการเป็นอาสาสมัครฝ่ายพลเรือนเฝ้าระวังดูแลความปลอดภัย ความสงบและความมั่นคงของหมู่บ้านทั้งในยามปกติและงานเทศกาลรื่นเริงต่างๆ รวมถึงการติดต่อประสานงานด้านยาเสพติดเพื่อแจ้งเบาะแสยาเสพติดกับตำรวจ เพื่อลดการเกิดปัญหาด้านยาเสพติดภายในหมู่บ้าน
7. กลุ่มเกษตรกรบ้าน มีการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตกรในหมู่บ้าน เพื่อดูแลให้ความช่วยเหลือในด้านการเกษตร ให้กับเกษตรกรบ้านท่าไคร้ สนับสนุนการให้ความรู้ด้านการเกษตร และการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ อันจะทำให้เกษตรกรมีผลผลิตที่ดีขึ้น
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ เป็นการรวมตัวกันของประชาชนในหมู่บ้านโดยความสมัครใจ ยินดีให้ความร่วมมือ มีการร่วมแรงร่วมใจ เห็นชอบร่วมกันในการจัดตั้งกลุ่มขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน มีจำนวนทั้งหมด 1 กลุ่มได้แก่
1. กลุ่มจิตอาสา เป็นการรวมกลุ่มกันของคนในชุมชนเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะกลุ่มสูงอายุหรือวัยทำงาน เพื่อช่วยเหลือกิจกรรมในชุมชนอย่างเฉพาะกิจ ไม่มีจำนวนสมาชิกตายตัว โดยแต่ละครั้งจะมีการประสานงานกันเป็นครั้งคราว หรือประกาศรวมกลุ่มกันผ่านทางหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน โดยผู้มีจิตอาสาจะเข้าร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การพัฒนาวัด เป็นต้น
ในรอบปีประชาชนดั้งเดิมของหมู่บ้านท่าไคร้มีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่ความโดดเด่นดังต่อไปนี้
ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณเดือนมิถุนายนของทุกปี เพื่อกราบไหว้ผีบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วของแต่ละตระกูล การเลี้ยงผีปู่ย่าเป็นความเชื่อเชื่อดังดั้มของคนเมือง (ล้านนา) การทำพีธีเลี้ยงผีปู่ย่าจะมีการบวงสรวงผีบรรพบุรุษด้วยหมูหรือไก่ต้ม เครื่องอาหารคาวหวานทั่วไป นอกจากนี้แต่ะลครอบครัวในหมู่บ้านจะไปรวมตัวกันเพื่อบวงสรวงศาลเจ้าบ้าน ซึ่งเชื่อว่าเป็นผีที่ปกปักษ์รักษาหมู่บ้านให้สงบสุข เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตของสมาชิกในครอบครัว
ประเพณีปี๋ใหม่เมือง (สงกรานต์) เป็นประเพณีดั้งเดิมที่อยู่คู่กันคนล้านนามาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะมีความคล้ายคลึกกันเกือบทุกที่ในสังคมคนเนือง โดยจะมีการขนทรายเข้าวัด มีการเตรียมข้าวปลาอาหารเพื่อไปทำบุญตักบาตรเพื่อทำบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับที่วัด เพื่อความเป็นศิริมลคลแก่ชีวิตทและถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี จากนั้นในวันที่ 16 เมษายน ของทุกปี จะมีการรวมตัวกันในเครือญาต เพื่อไปรดน้ำดำหัวขอพรญาติผู้ใหญ่ที่เคารพ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตของลูกหลานในตระกูล
ประเพณีแห่ไม้ก้ำ (ค้ำ) ซึ่งจะทำขึ้นทุกปีในช่วงสงกรานต์ ประชาชนจะช่วยกันหาตัดไม้ที่มีลักษณะเป็นง่ามสามทาง แล้วนำมาตกแต่งลวดลาย แล้วช่วยกันแห่เข้าไปในวัดเพื่อนำไม้ดังกล่าวไปค้ำไว้บริเวณต้นสลี๋ (ต้นโพธิ์) ตามความเชื่อที่ว่า จะเป็นการค้ำจุนให้ชีวิตมีแต่สิ่งดีๆ เกิดขึ้น
นายอุดม เตจินะ (ผู้ใหญ่บ้าน)
ผู้ใหญ่บ้านอุดม เตจินะ หรือที่คนในชุมชนเรียกว่า “ป้อหลวงอุดม” เป็นผู้ที่มีความเป็นผู้นำ
มุ่งมั่นในการทำงาน พ่อหลวงเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี สีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ แต่เดิมเกิดที่อำเภอฝาง แต่มาเติบโตที่บ้านท่าไคร้ ปี 2537 ได้รับเลือกให้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจนถึงปี 2542 พ่อหลวงเล่าว่าตอนเป็นรองผู้ใหญ่ บ้าน มักจะโดนตำหนิ พ่อหลวงก็ยกตัวอย่างเหตุการณ์ว่า “เมื่อก่อนหมู่บ้านชอบมีคนทะเลาะกัน แล้วก็จะมีลูกบ้านมาแจ้ง เราเป็นพวกที่ไม่เหมือนใคร คิดว่าถ้ามัวแต่ทะเลาะกัน เสียงมันก็จะดังอยู่อย่างนั้นรบกวนคนอื่น เลยจับมันมาชกกันเลย พ่อรุ่งเช้า เอาละ ผู้ใหญ่ก็จะมาถามทำไมทำอย่างนั้น” (พูดไปยิ้มไป) จนมาถึงปี 2544 พ่อหลวงก็ได้เป็นสมาชิกอบต.แม่สา จนถึงปี 2548 และในปี 2548 ได้เป็นรองนายกอบต.แม่สา เป็นเวลา 4 ปี (ถึงปี 2552) และในปี 2552 นั้นก็ได้เป็นนายกอบต.แม่สา จนถึงปี 2557 หลังจากช่วงปี 2557-2558 ก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งอะไร แต่ก็อยู่ในคณะกรรมการหมู่บ้าน พอมาปี 2559 ก็ได้ลงสมัครผู้ใหญ่บ้าน บ้านท่าไคร้ หมู่ 2 โดยมีสโลแกนว่า “ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้” นอกจากจะเป็นสโลแกนของคณะแล้วยังถือเป็นคติประจำใจอีกหนึ่งอย่างในการทำงานของพ่อพลวงด้วย ซึ่งนั้นทำให้พ่อหลวงได้รับความไว้วางใจจากคนในชุมชนจึงกลายมาเป็น”ผู้ใหญ่บ้าน”มาจนถึงปัจจุบัน พ่อหลวงบอกว่า “เป้าหมายหลักในการทำงานคือ ทำหมู่บ้านและตำบลให้ดีที่สุด ทำอะไรต้องประกาศ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ทำอะไรต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ยึดประชนเป็นหลัก ดูแลความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข ” พ่อหลวงยังบอกอีกว่าการทำงานเราจะต้องใช้เหตุผล ไม่ใจร้อนค่อยๆแก้ปัญหาไปทีละขั้น ในทุกๆเดือนก็จะมีการประชุมหมู่บ้าน คอยรับฟังปัญหาของชาวบ้านแล้วก็จะนำปัญหามาช่วยกันแก้ไข
ทุนวัฒนธรรม
วัดท่าไคร้ เดิมบ้านท่าไคร้ มีวัดอยู่ 2 แห่ง คือ วัดต้นโชคหลวง และวัดท่าไคร้ โดยมีพระครูบาสุรินทร์ เป็นผู้บุกเบิกทางพุทธศาสนา ส่วนดต้นโชคหลวงในสมัยนั้นจะมีพระครูบาก้อนเป็นเจ้าอาวาส โดยที่วัดต้นโชคหลวงมีความเจริญรุ่งเรือนมากกว่าวัดท่าไคร้ เนื่องจากว่าประชาชนมีบ้านเรือนใกล้วัดต้นโชคหลวง จึงมีผู้ไปทำบุญให้การอุปถัมภ์วัดเป็นจำนวนมาก แต่ต่อมาภายหลังมีเวนคืนพื้นที่เพื่อสร้างกรมรบพิเศษที่ 5 ทำให้ประชาชนมีการย้ายออกจากพื้นที่ไปเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนมากได้อพยพมาอยู่ ณ บ้านท่าไคร้ เพราะถือเอาตามหลักทางภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะต่อการทำการเกษตร ตลอดจนมีความหวังว่าจะมีความเจริญในการดำเนินชีวิตต่อไป ปัจจุบันวัดท่าไคร้ถือเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจทางศาสนาของประชาชนในหมู่บ้าน และยังเป็นศูนย์รวมในการพบประของผู้คนในชุมชนเมื่อมีกิจกรรมต่างๆของชุมชนอีกด้วย
ความเชื่อทางด้านสุขภาพ ประชาชนในหมู่บ้านท่าไคร้จะนับถือผีปู่ย่าและผีบ้านผีเรือน ชาวบ้านบางส่วนที่ยังรักษาโดยแพทย์พื้นบ้าน หมอพื้นบ้านในหมู่บ้านนี้คือ หมอต๋องโดยจะเป็นหมอเป่าลงการคาถาแล้ว เป่า พ่น เวลาน้ำร้อนลวก เป็นงูสวัด รวมถึงมีการใช้ยาสมุนไพรในการรักษา เป็นต้น
ความเชื่อ ประชาชนบ้านท่าไคร้ส่วนใหญ่นับถือผีปู่ย่า โดยผีปู่ย่านั้นจะมีทุกตระกูล โดยมีความเชื่อว่าผีปู่ย่าจะคอยปกปักรักษาคุ้มครองคนในบ้าน และหากมีความเจ็บป่วยเล็กน้อยหรือไม่สบายทั้งกายและใจจะไปเลี้ยงผีปู่ย่า ซึ่งทำให้อาการเจ็บป่วยที่เป็นทุเลาลงได้ สำหรับศาลหอเจ้าพ่อจะมีเพียง 3 ที่ภายในหมู่บ้านคือ โรงเรียนผู้สูงอายุ บริเวณเขต8 และกลางทุ่งนาหน้าวัดที่มีต้นไม้ใหญ่ มีความเชื่อว่าคอยปกปักษ์คุ้มครองบ้านและคนที่อยู่ในบ้านให้อยู่ดีมีสุข
ศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี ประเพณี วัฒนธรรม ของชุมชนบ้านท่าไคร้ โดยส่วนมากแล้วมักจะคล้ายคลึงกับหมู่บ้านอื่นๆ ในตำบลแม่สา ซึ่งประเพณีและวัฒนธรรมที่สำคัญ เช่น งานทำบุญทานข้าวใหม่ งานทำบุญถวายทานสลากสัต เป็นต้น
ภาษาเมือง (ล้านนา) เป็นภาษาดังเดิมของคนล้านนา มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน (ตั๋วเมือง) แต่ภาษาเขียนได้ถูกลืมเลือนไปและไม่เป็นที่นิยมใช้ในคนสมัยปัจจุบัน มีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่บางคนเท่านั้นที่สามารถเขียนตั๋วเมืองได้
แต่เดิมนั้นหมู่บ้านท่าไคร้เป็นตำบลท่าไคร้ที่มีพื้นที่กว้างขวาง แต่หลังจากที่มีการก่อตั้งกรมรบพิเศษที่ 5 ในปี พ.ศ. 2526 จึงทำให้มีการเวนคืนที่ดินไปเพื่อสร้างค่ายทหาร จึงทำให้ตำบลท่าไคร้เหลือพื้นที่เพียงหมู่บ้านเดียว ในเวลานั้นบ้านท่าไคร้จึงถูกยุบรวมอยู่ในเขตการปกครองของตำบลแม่สา
ธนัชพร ศรีแก้ว และคณะ. (2560). รายงานการพัฒนาอนามัยชุมชน วิชาปฏิบัติการพยาบาลครอบครัวชุมชน 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 : กรณีศึกษาบ้านท่าไคร้ หมู่ที่ 2 ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. สาขาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.
Google Map. (2566). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านท่าไคร้. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566. เข้าถึงได้จาก:https:// https://www.google.co.th/maps/@18.9036784,98.9240671,14z